หลังจากที่เครียดกับงานเขียนบทละครมาทั้งปี ผมตัดสินใจหอบเอาลูกและเพื่อนของลูกเดินทางไปยังเกาะสีชังเพื่อที่จะพักผ่อนสักสองวัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ปารีฮัท รีสอร์ท” ซึ่งเพียงเห็นครั้งแรกในอินเตอร์เน็ต ก็รู้สึกถูกใจ อยากจะมาพักสักสองสามคืนให้สะใจ เพราะชอบกระท่อมไม้ไผ่ที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาเหนือทะเลแบบนี้

และที่สำคัญ มันเป็นที่พักในฝัน ตั้งแต่ผมได้เห็นจากละครเรื่อง “เกมร้าย เกมรัก” ซึ่งมีบ้านไม้ไผ่หลังหนึ่งเป็นที่พักของ “ณเดชน์ คุกิมิยะ” พระเอกของเรื่อง แต่ในตอนนั้น ยังไม่รู้หรอกว่า บ้านพักหลังนี้มันอยู่ที่ไหน จนกระทั่งได้เดินทางมายังเกาะสีชัง และได้พบกับคุณพรรษพร หงศ์ลดารมภ์ เจ้าของรีสอร์ทปารีฮัทนี่แหละ ผมจึงได้รู้ว่าที่นี่เคยถ่ายละครเรื่อง “เกมร้าย เกมรัก” มาก่อน

และคุณพรรษพร ก็เลยจัด “บ้านปลาวาฬ” ซึ่งใช้ถ่ายละครเรื่องนั้น ให้ผมนอนพักซะเลย

สองคืนสามวันที่อยู่บนเกาะสีชังนั้น ผมก็เลยได้เดินทางไปทุกที่ ทุกมุมเกาะ เพื่อที่จะเก็บภาพสวยๆและเรื่องราวต่างๆมาเล่าลงในหนังสือและถือโอกาสนี้ สืบเสาะข้อมูลต่างของเกาะสีชัง จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ และถือว่าเป็นผู้ที่สืบทอดมาจากตระกูลผู้บุกเบิกเกาะสีชังอย่างแท้จริง นั่นก็คือคุณปู่อำพัน พงษ์ไพฑูรย์ สถาปนิกชั้นครู ผู้ปั้นรีสอร์ทมาลีบลูขึ้นมาจากอิฐก้อนด้วยมือสองมือ โดยที่ไม่มีเครื่องจักรกลมาเป็นเครื่องช่วยเลยแม้แต่น้อย

คุณปู่อำพัน หรือที่หลายท่านเรียกกันว่า “อาจารย์อำพัน”นั้น ท่านเป็นน้องชายแท้ๆของคุณพรเพ็ญ หงศ์ลดารมภ์ หรือที่ใครๆเรียกกันว่า “คุแม่เฮียง” ภรรยาของท่าน “มหากิม”หรือ “คุณทอง หงศ์ลดารมภ์” ผู้เป็นต้นตระกูล “หงศ์ลดารมภ์” และเป็นเจ้าของที่ดินบนเกาะสีชังกว่าครึ่งเกาะนั่นเอง

สำหรับความเป็นมาของเกาะสีชังนั้น ชื่อนี้ "สีชัง" นี้ จะมีมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานจากหนังสือกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๒๓๕ เรียกเกาะสีชังว่า สระชัง จึงเชื่อกันว่า จากหลักฐานดังกล่าวนั้น เมื่อสมัยก่อน เกาะแห่งนี้ คงจะมีคนเรียกว่า “สระชัง” จริงๆ ซึ่งต่อมาคำว่า “สระชัง” เรียกไป เรียกมาก็อาจจะเพี้ยนเป็น “สีชัง” ไปก็ได้ในปัจจุบัน

เรื่องราวที่เกี่ยวกับชื่อของเกาะสีชังนั้น เป็นภาษาที่ถือเอาความหมายได้ยากยิ่ง แม้แต่ปราชญ์ทางภาษาก็เพียงแต่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความหมายและที่มาของคำว่า "สีชัง" แตกต่างกันไป บ้างก็ว่า“สีชัง” เป็นภาษาของชนชาติหนึ่งที่เป็นชนเผ่าของเขมร เรียกว่า “ซำเร” โดยอาศัยหลักชาติพันธุ์วิทยาเป็นข้อสันนิษฐานเท่านั้น และไม่ทราบความหมายที่แท้จริง

บ้างก็ว่า “สีชัง” มาจากภาษาจีน คือ “ซีซัน” ซึ่งหมายถึง “สี่คนทำไร่” โดยมีเรื่องราวเล่าว่ามีพ่อค้าเรือสำเภาจีน 4 นาย ล่องเรือค้าขายมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในธุรกิจการค้ามาตั้งรกราก และหันมาประกอบอาชีพทำไร่อยู่บนเกาะ ซึ่งต่อมาคำว่า "ซีซัน" จึงแผลงมาเป็น "สีชัง"

บางคนก็บอกว่า “สีชัง” มาจากคำว่า "สีห์ชงฆ์" ซึ่งหมายถึง แข้งสิงห์ เพราะเกาะนี้มีรูปร่างคล้ายแข้งสิงห์

ยิ่งไปกว่านั้น บ้างก็ยกตำนาน ขั้นมาอ้างว่า ฤๅษีองค์หนึ่งเกิดเบื่อหน่ายโลกีย์วิสัย มาพำนักบำเพ็ญพรตจนมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือชาวบ้าน ต่อมาจึงเรียกเกาะนี้ว่า "เกาะฤษีชัง" บางคนก็บอกว่า มาจากคนชื่อ “สี” กับคน ชื่อ “ชัง” ที่มาอาศัยอยู่บนเกาะนี้เป็นคู่แรก

ด้วยความสับสนไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ จึงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า คำว่า "สีชัง" นั้น จะมีมาแต่ครั้งใด เพราะไม่ปรากฏ หลักฐานแน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานจากหนังสือ กำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งแต่งไว้เมื่อราวปี พุทธศักราช ๒๒๓๕ ในบทที่ 78 ซึ่งเรียกเกาะสีชังว่า “ สระชัง”

สำหรับความคิดของผู้เขียนเองคิดว่า น่ามาจากชื่อ “สระชัง”ที่ศรีปราชญ์ท่านเรียกเอาไว้แล้วนั่นแหละ ซึ่งคำว่า “สระ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง “น้ำ” หากแต่หมายถึง “ล้าง” อย่างเช่น “สระผม” ก็คือ “ล้างผม” ดังนั้น คำว่า“สระชัง” น่าจะหมายถึง “ล้างความเกลียดชัง” อย่างเช่น “สระบาป” ที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งมีความหมายว่า “ล้างบาป” นั่นเอง

แต่จากคำว่า “สระชัง” เปลี่ยนมาเป็น “สีชัง” ตอนไหนไม่ทราบได้ แต่เท่าที่พบใน “นิราศถลาง” ของ นายมี” ศิษย์สุนทรภู่ซึ่งได้แต่งเอาไว้ ตอนที่เดินทางไปเมืองถลางเมื่อ ปีพุทธศักราช 2370 ว่า

“ เหลียวเห็นเกาะสีชังนั่งพินิจเฉลียวคิดถึงนุชที่สุดหวัง

ให้นึกกลัวน้องหญิงจะชิงชังถ้าเป็นดังชื่อเกาะแล้วเคราะห์กรรม”

ก็ทำให้เชื่อได้ว่า เมื่อมาถึง พ.ศ.2370 แล้วนั้น เกาะสระชัง ก็ถูกเรียกชื่อเป็น เกาะสีชัง เรียบร้อยแล้ว

เช่นเดียวกับหลักฐานของทางราชการเอง ก็ได้มีบันทึกไว้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่กัว รัชกาลที่ 4พระองค์ได้เสด็จประพาสเกาะสีชังโดยเรือกลไฟที่ต่อในประเทศไทย ชื่อ “สยามอรสุมพล” และได้มีการยกเกาะสีชังขึ้นมาเป็น อำเภอเกาะสีชัง ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการยุบอำเภอเกาะสีชังเป็นกิ่งอำเภอเกาะสีชัง ขึ้นกับอำเภอเมืองสมุทรปราการ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2546กระทรวงมหาดไทยได้โอนกิ่งอำเภอเกาะสีชังจากอำเภอเมืองสมุทรปราการ ไปขึ้นกับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ปัจจุบันนี้เกาะสีชัง ได้ถูกยกฐานะเป็น อำเภอเกาะสีชังขึ้นกับจังหวัดชลบุรี และถือว่าเป็น “อำเภอที่เล็กที่สุด” ในประเทศไทย

ที่สำคัญ เกาะสีชังเป็นเกาะที่มีสภาพอากาศที่ดีมากแห่งหนึ่ง เหมาะแก่การพักผ่อนหรือพักฟื้นว่ากันว่า ชาวเกาะสีชังส่วนใหญ่จะอายุยืน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ น่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดีจาก พระราชวังจุฑาธุชราชฐาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างไว้ตรงบริเวณแหลมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ พระตำหนัก 14 หลัง ศาลา 1 หลัง มีสวนดอกไม้ สระ ธารน้ำ ละน้ำพุจากถ้ำและหน้าผาที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้ทดน้ำมาใช้ในพระราชฐาน

ระหว่าง พ.ศ.2430- พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้พระราชวงศ์ชั้นสูง เสด็จประทับแรมตากอากาศ รักษาพระอาการประชวร ณ เกาะสีชังมีพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินาถ ,สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ,สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธโดยเฉพาะ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี นั้นพระองค์ทรงมีพระประสูติพระราชกุมารที่เกาะสีชัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก” และทรงพระราชทานนามพระราชฐานที่ทรงสร้างใหม่แห่งนี้ตามพระนามพระราชโอรสว่า “ พระจุฑาธุชราชฐาน”

นานมาแล้ว เมื่อสมัยอดีตนั้น เกาะสีชังตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือทะเล โดยเลียบชายฝั่งเวียดนาม เขมร มาสู่จันทบุรี ผ่านสัตหีบและเกาะสีชัง ก่อนที่จะเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขา บังคลื่นลมได้ดี ที่นี่จึงเป็นจุดจอดเรือเพื่อหลบมรสุมบ้าง หรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่คือสถานที่ซึ่ง “โจรสลัด” ในอดีตมักจะมาหลบเร้นแฝงกานกันอยู่ที่นี่ เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะต่อการหลบซ่อนและหลบหนี เนื่องจากที่บนเกาะสีชังแห่งนี้ เต็มไปด้วยถ้ำเล็กถ้ำใหญ่มากมาย

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอาจารย์อำพัน พงษ์ไพฑูรย์ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชฐานขึ้นบนเกาะสีชังนั้น บรรพบุรุษของท่าน เดินทางมาจากเมืองจีน เพื่อขนหินอ่อนมาขายที่ในบางกอก และได้มาพักจอดเรือสำเภาที่เกาะสีชัง ซึ่งในครั้งนั้น เกาะสีชังยังไม่มีค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่เท่าไหร่

อาจารย์อำพันเล่าว่า เมื่อจอดเรือสำเภาแล้ว จึงได้ขึ้นมาหาอะไรกันที่บนเกาะ แล้วจึงพบว่า มีคนอาศัยอยู่บนเกาะก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อเห็นมีเรือชาวจีนมาจอด จึงได้พากันออกมาจากถ้ำที่ซ่อนตัวอยู่หัวหน้าของคนที่ออกมาจากถ้ำเหล่านั้น ก็ถามว่า เป็นใคร มาจากไหนและจะไปไหน ทุกคนก็บอกว่า เป็นพ่อค้า มาจากเมืองจีน จะมาค้าขายที่บางกอก หัวหน้าของคนเหล่านั้นก็มองดูอย่างพิจารณาอยู่นาน แล้วจึงกลับเข้าไปในถ้ำ เอาอะไรบางอย่างมาให้ ซึ่งทุกคนก็ไม่รู้จัก แต่เขาก็บอกว่า “ เอาไปเถอะ เอาไปลงทุนทำมาหากิน”

อาจารย์เล่าถึงตอนนี้ว่า คนเหล่านั้น น่าจะเป็นโจรสลัด หรือว่าเป็นชาวเกาะ ที่พอเห็นคนมาจากแดนไกล เพื่อมาทำมาหากิน ก็อาจจะสงสาร จึงเลยได้เอาเงินที่ซุกซ่อนไว้มาให้ เพราะเมื่อไปถึงในเมืองหลวงที่บางกอกแล้วจึงรู้ว่า สิ่งที่คนบนเกาะสีชังให้มานั้นก็คือ เงินพดด้วงนั่นเอง

ต่อมาเมื่อทางเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังก่อสร้าง“ พระจุฑาธุชราชฐาน” อยู่บนเกาะสีชังทราบว่า มีพ่อค้าและนายช่างเดินทางมาจากเมืองจีน เพื่อขายหินจึงเลยติดต่อมาให้เอาหินไปส่งและได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้เข้าถวายการรับใช้ด้วยการจัดหาหินเพื่อสร้างพระราชฐานแห่งนี้ จนทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จับจองที่ดินบนเกาะสีชังและหลังจากนั้น ก็กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านเอาบ้าง สะสมไปเรื่อยๆ จนทำให้มีที่ดินมากมายบนเกาะสีชัง แต่ก็ถูกทิ้งร้างเอาไว้ไม่ได้ทำอะไร

จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ที่ตระกูลหงศ์ลดารมภ์เพิ่งจะเข้ามาบุกเบิกทำธุรกิจบนเกาะสีชัง อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ ปารีฮัท รีสอร์ท ซึ่งถือได้ว่า เป็นจุดขายของเกาะสีชังอย่างหนึ่ง เพราะเป็นรีสอร์ทแนวกรีน คือเน้นธรรมชาติ ไม่เน้นการปรุงแต่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ก็ทำให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด อาหารการกินก็เช่นเดียวกันซึ่งที่นี่จะไม่มีการปรุงแต้งด้วยผงชูรสและเน้นผักที่ปลอดสารเคมี

“สาเหตุที่ทำรีสอร์ทแห่งนี้ ขึ้นมา เนื่องจากว่าตอนแรกคุณอุ๋ย นนทรี นิมิบุตร เขามาถ่ายหนังเรื่อง “ปืนใหญ่จอมสลัด” เขาก็มาดูที่ตรงที่ตั้งรีสอร์ทนี่แหละ แล้วสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมาตรงนี้ เป้นกระท่อม เป็นอะไรต่างๆที่เรามองเห็นแล้วรู้สึกว่ามันชอบ เมื่อเขาถ่ายหนังจบ เราก็เลยเริ่มปลูกสร้างรีสอรืทขึ้นมาตามแนวที่เขาเคยวางเอาไว้ โดยเน้นธรรมชาติให้เหมือนกับชาวเกาะมากที่สุด” คุณพรรษพร หงศ์ลดารมภ์ผู้ซึ่งทำหน้าที่บริหาร ปารีฮัท รีสอร์ทอยู่เล่าให้ผู้เขียนฟัง

“คำว่า ปารีฮัท ก็มาจากชื่อของพระเอกในเรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด เพราะพระเอกในเรื่องนั่น ชื่อ “ปารี” ส่วนที่พักทุกหลังเราจะตั้งชื่อเป็นสัตว์น้ำตามวิชา “ดูหลำ” ของพระเอกที่สามารถเรียกปลา เรียกสัตว์น้ำได้เหมือนมนต์จินดามณี ก็เลยมี กระท่อมปลาวาฬ กระท่อมปลาดาว และท่อมปลาโลมา ซึ่งทุกกระท่อมจะมีชื่อเป็นสัตว์น้ำทั้งหมด”

สำหรับที่ตั้งของปารีฮัทรีสอร์ทนั้น จะตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของเกาะ ซึ่งมีความส่วนตัวสูง และเน้นให้ผู้ที่เข้ามาพักได้สัมผัสกับกลิ่นอายของชาวเลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในกระท่อมที่พักทุกอย่างจะเป็นธรรมชาติ ไม่มี แม้กระทั่งน้ำดื่มที่ใส่โอ่งไว้ให้และที่ใส่ในขวดก็เป็นน้ำฝนจากธรรมชาติแท้ๆ

นอกจากจุดเด่นของรีสอร์ทที่เน้นความเป็นธรรมชาติอย่างที่สุดแล้ว ปารีฮัทก็ยังมีกิจกรรมทางน้ำสนุกๆให้กับลูกค้าได้กระโดดหน้าผาลงสู่ทะเลเล่นกัน โดยมีครูฝึกคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับคนที่ต้องการความโรแมนติค หากเดินเลยขึ้นไปตามหน้าผาข้างหลังที่พัก ก็จะพบกับ “ผาประกาศรัก”ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด

ไม่เพียงแต่จะทำธุรกิจโรงแรมที่พักอย่างเดียวเท่านั้นสำหรับบนเกาะสีชังแห่งนี้ หากแต่ตระกูลหงศ์ลดารมภ์ ก็ได้ยื่นมือเข้ามาเพื่อก่อตั้งโครงการรักษาสภาพแวดล้อมของเกาะสีชังด้วย ซึ่งนอกจากจะบริจาคที่ดินส่วนหนึ่งให้เทศบาลนำไปทำสนามกีฬา และที่ทิ้งขยะแล้ว ก็ยังได้เริ่มโครงการปลอดขวด ปลอดขยะขึ้นมา รวมทั้งยังได้สร้างวัดขึ้นบนเกาะสีชัง และกำลังจะสร้างสถานที่นั่งวิปัสสนาสำหรับคนที่ใฝ่ธรรมมะบนยอดเขาที่สูงที่สุดและเป็นจุดที่มีฮวงจุ้ยดีที่สุดบนเกาะสีชังอีกด้วย

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจจะเดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะสีชัง ขอแนะนำว่า เมื่อมาถึงแล้วเช่ารถมอเตอรไซค์ ซึ่งมีให้เช่าวันละ 250 บาท ขับเที่ยวไปบนถนนรอบเกาะซึ่งเที่ยววันเดียวก็หมดแล้ว โดยจุดแรกขึ้นไปยังจุดชมวิวที่ช่องเขาขาด แล้วขึ้นไปยังจดชมวิวที่สูงจนสามารถมองเห็นเกาะสีชังได้ทั้งเกาะที่มณฑปพระพุทธบาทซึ่งตั้งอยู่เหนือศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่

และบนยอดสุดนั้นก็จะมีศิลาที่จารึกลายฝีพระหัตถ์ของ รัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อชมเสร็จแล้วก็สามารถที่จะเดินหรือขับรถลงมายังศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ซึ่งถือได้ว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเกาะนี้ที่ใครจะพลาดไม่ได้เลยเชียว......

การเดินทาง

นั่งรถจากกรุงเทพที่ขนส่งหมอชิต หรือเอกมัย ไปลงที่ศรีราชา

นั่งเรือข้ามฝั่งจากศรีราชาไปยังเกาะสีชัง สามารถถามหาที่พักมากมายได้ที่ท่าเรือได้เลย แต่ถ้าไปพักที่ปารีฮัท ควรที่จะจองก่อน ทางรีสอร์ทจะส่งรถมารับที่ท่าเรือ เพื่อพาไปยังที่พักซึ่งเป็นที่พักส่วนตัวอีกฝั่งหนึ่งของเกาะ

ขอขอบคุณ

- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด

- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ

ขอบคุณคุณพรรษพร หงส์ดลารมภ์

ร.ศ. ๑๑๐ โทรฯ 038-216-262

ปารี ฮัท รีสอร์ท โทรฯ 038-100-700

อาร์ม อิสระ

 วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 17.30 น.

ความคิดเห็น