พูดได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า พวกผมคือ "คนไทย" กลุ่มแรกที่บุกป่าในดินแดนของเขมรแดง เข้าไปจนพบกับ "มเหนทรบรรพต" เมืองหลวงโบราณแห่งแรกที่หายสาบสูญของเขมร ก่อนที่ทั่วโลกจะได้เห็นภาพจริงๆทั้งหมดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และนี่คือภาพพร้อมกับเรื่องราวของเราในตอนนั้นครับ....
ในตอนนั้นหนังสือพิมพ์ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ของออสเตรเลีย ได้ลงภาพข่าวการค้นพบ “มเหนทรบรรพต” ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรเขมร และเป็นที่มาของลัทธิเทวราชา เมื่อกว่า 1212 ปีมาแล้ว
คณะสำรวจได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ไลดาร์” หรือ “ Light detection and ranging data” ติดตั้งไว้กับเฮลิคอปเตอร์บินในลักษณะกากบาทเหนือภูเขาลูกหนึ่งทางเหนือของปราสาทนครวัดเป็นเวลา 7 วัน เลเซอร์จากเครื่องไลดาร์ส่องทะลุยอดไม้ช่วยให้นักโบราณคดีสามารถมองเห็นสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นโบราณสถานของเมืองเก่าอยู่ในใจกลางยอดเขาท่ามกลางป่าดิบที่รกชัฏ
และนั่นเองที่ทำให้ชื่อเสียงของ “พนมกุเลน” โดดเด่นขึ้นมาทันที หลังจากที่ทุกคนรู้จักเพียงแค่ “พระองค์ธม” หรือ “พระเจ้าใหญ่” พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่สกัดจากหินบนโบสถ์ลอยฟ้าบนเขาพนมกุเลน
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาพนมกุเลนเป็นพื้นที่ในการยึดครองดูแลของกลุ่มเขมรแดง อีกทั้งยังเป็นภูเขาที่ยังเต็มไปด้วยป่าดิบ ยากที่นักสำรวจหรือใครจะเข้าไปค้นได้ เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้ เขมรแดงจะสลายตัวไปแล้ว แต่เส้นทางบนภูเขาก็เต็มไปด้วยกับระเบิดที่ยากจะฝ่าเข้าไปได้
หลังจากพักผ่อนจนหายเหนื่อยแล้ว เราตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ในวันรุ่งขึ้นที่เสียมเรียบ....
เพราะการที่จะขึ้นภูเขาพนมกุเลนนั้น ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมด้วยการซื้อบัตรเข้าโบราณสถานเตรียมเอาไว้ ซึ่งในประเทศกัมพูชากำหนดราคาเอาไว้ที่ 20 ดอลลาร์ต่อคนสำหรับชาวต่างประเทศ
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า การขึ้นสู่พนมกุเลนนั้น มีข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นั่นก็คือ ขึ้นได้เฉพาะช่วงเช้าก่อนเที่ยงเท่านั้น ช่วงบ่ายห้ามขึ้น เพราะหลังเที่ยงไปแล้วจะเป็นจะเป็นเวลาลงของรถทุกคัน เนื่องจากเส้นทางขึ้นสู่เขาพนมกุเลนนั้น แคบมาก รถแล่นสวนกันไม่ได้ จะทำให้เกิดอันตราย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาจึงตัดปัญหาให้รถนักท่องเที่ยววิ่งขึ้นได้ในช่วงเช้า และให้ลงได้ในช่วงบ่าย ใครทำผิดกฎ ฝ่าฝืนขับรถสวนทางกัน “คุก” อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีปรับ
หลังจากที่รับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ในวันนี้ สารถีของเราก็ขับรถมุ่งหน้าพาเราทุกคนไปยังพนมกุเลนทันทีจากตัวเมืองเสียมเรียบ เราใช้เวลา 3 ชั่วโมง ก็มาถึงเชิงเขาพนมกุเลน ให้เจ้าหน้าที่ตรวจบัตรเรียบร้อย ก็ผ่านได้ ซึ่งเส้นทางที่เราขับขึ้นไปนั้น เป็นถนนดินแดงบ้าง ถนนกรวดบ้าง ความกว้างแค่รถคันเดียววิ่งได้ เรียกว่า ถ้ามีใครฝ่าฝืนขับสวนลงมา ก็ต้องดิ่งลงเหวเท่านั้น เพราะมันแคบมากขนาดรถมอเตอร์ไซค์ถ้ามีใครขับสวนลงมาก็เรียกได้ว่า ลำบากที่ผ่านได้
ระหว่างทางเราได้รับประสบการณ์ในการเดินทางในกัมพูชาแล้วว่า หาอาหารทานได้ลำบาก เพราะหากไม่สะอาดพอแล้ว อาจจะทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นทางเดียวที่จะมีเสบียงกรังตุนเอาไว้ได้ ก็คือซื้อผลไม้ติดรถเอาไว้ และผลไม้ที่ทานง่ายและหาซื้อง่ายที่สุด ก็คือ “กล้วย” นั่นเอง กล้วยไข่ กับกล้วยนาคที่มีมากบนเขาพนมกุเลนจึงถูกเราซื้อมาใส่ไว้ในรถหลายหวีด้วยกัน เพื่อเอาไว้รับประทานในระหว่าง
เกือบหนึ่งชั่วโมงให้หลังจากที่ขับรถขึ้นเขามา เราก็ข้ามสะพานไปจนถึงหน้าลานวัดพระองค์ธม ซึ่งชาวเขมรเรียกว่า “วัดพระใหญ่” แต่คนนำทางไม่ได้ให้เราแวะที่วัดแห่งนี้ เนื่องจากเรายังมีจุดหมายที่สำคัญกว่านั้น นั่นก็คือวันนี้ เราจะเป็นทีมงานถ่ายทำสารคดีกลุ่มแรกจากประเทศไทยที่จะได้เดินทางขึ้นไปสู่ เมืองเก่าของเขมรโบราณ ที่มีอายุประมาณ 1212 ปีล่วงมาแล้ว และยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เนื่องจากเพิ่งจะค้นพบเมื่อไม่นานมานี่เอง
จากหน้าวัดพระองค์ธม เราเลี้ยวขวาขึ้นไปบนเส้นทางเล็กที่เป็นเพียงทางเกวียน เต็มไปด้วยโคลนเลนและก้อนหินที่ขรุขระ นานๆจึงจะเจอหมู่บ้านสักสองสามหลัง เป็นเส้นทางที่เปลี่ยว รกเรื้อด้วยป่าฝนที่เปียกชื้น เต็มไปด้วยตะไคร้และไลเคนตามแง่หินสองข้างทาง หลายครั้งที่ผมคิดว่า รถเราคงจะผ่านไปไม่ได้แล้ว แต่คนขับก็เก่งมาก พาเราผ่านอุปสรรคไปได้ทุกครั้ง ซึ่งคนนำทางก็บอกกับเราว่า
“ อย่าพูดเป็นลาง อย่าพูดว่าไปไม่ได้ ให้พูดว่าไปได้ เพราะถ้าไปไม่ได้จริงๆ เราจะต้องเดินไกลมาก”
สำหรับภูเขาพนมกุเลนนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่นี่ตกอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มเขมรแดง และทุกวันนี้ ก็ยังมีเขมรแดงอาศัยอยู่ในพนมกุเลนมากมาย จนทำให้หลายๆคนไม่ค่อยกล้าที่จะออกนอกเส้นทางไปยังสถานที่โบราณต่างๆเพราะไม่มั่นใจว่า จะปลอดภัยไหม
แต่จากการเดินทางของพวกเราครั้งนี้ ขอบอกได้เลยว่า ชาวบ้านที่นี่อัธยาศัยดีมาก มีบ้างบางคนที่ขี้สงสัยตามประสาคนเขมรที่ผ่านเรื่องราวต่างๆมาเยอะแยะมากมาย อาจจะชวนเราคุยซอกแซก จนทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ คุยไปเถอะครับ พวกเขาเหล่านั้นไม่มีอะไร ขอเพียงอย่างเดียว เราไม่ไปทำผิดกฎหมายอะไรของเขา หรือทำตัวน่าสงสัย เพราะไม่เช่นนั้น คนเหล่านี้จะรีบรายงานต่อเจ้าหน้าที่ทัน เพราะอยากได้หน้านั่นเอง
เราขับรถฝ่าโคลนเลนระหว่างทางไปตามทางเกวียนจนถึงวัด “เปรี๊ยะกร่าน” หรือ “วัดพระกาฬ” ที่อยู่บนยอดเขาพนมกุเลนในเส้นทางที่เราจะไปเทวาลัยร้างในเมืองเก่า เราจอดเราเอาไว้ที่นี่ เพราะมีพระภิกษุซึ่งเป็นเจ้าอาวาสพอที่จะพูดไทยได้บ้าง ท่านเมตตาให้พวกเรายืมร่วม และมอบน้ำขวดให้เด็กวัด และเด็กๆชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นและรับอาสาพาเราไปเดินเข้าป่าหิ้วติดตัวไปด้วย
วัดพระกาฬ หรือวัดเปรี๊ยะกร่าน เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ถึง 10 ปี นับตั้งแต่พนมกุเลน เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาได้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสซึ่งเคยบวชที่ในประเทศไทย ก็มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ ค่อยๆเรียกศรัทธาจากชาวบ้านให้เข้ามาร่วมกันสร้างวัดขึ้นทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นวัดที่สวยงามน่าสนใจไม่น้อย ด้วยทำเลที่ และเป็นจุดพักผ่อน ก่อนที่ทุกคนจะเดินทางขึ้นไปยังเมืองร้าง เทวาลัยโบราณที่อยู่ในป่าไกลออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร ซึ่งต้องเดินอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ในวันที่เราไปนั้น มีชาวอินเดีย และฝรั่งนักท่องเที่ยว เหมานั่งมอเตอร์ไซค์ คันละ 400 บาท จากวัดพระองค์ธมด้านล่าง ขึ้นไปยังเทวาลัยแห่งนี้ ก็ถือว่าทุ่นแรงดี เพราะพวกเราที่เดินเข้าป่าไปนั้น บอกตรงๆว่า เหนื่อยแทบขาดใจ เพราะเส้นทางเดินป่ามันไกล อีกทั้งลำบากหากต้องเดินเท้ากันจริงๆ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องบอกกันตรงๆว่า “คุ้มค่า” กับการเสียเวลาที่ได้มา “คุ้มค่า” กับเงินทุกบาทที่เสียไปในการที่จะเดินทางมายังที่นี่จริงๆ
ท่ามกลางเม็ดฝนที่เริ่มปรอยๆลงมา เราเดินลัดลานหิน ด้านหลังวัดพระกาฬเข้าสู่ป่า ไปบนทางเดินเล็ก ที่บางช่วงมีน้ำขังนอง และบางช่วงเป็นโขดหินที่จะต้องปีนข้ามไป เรามองเห็นรอยล้อรถมอเตอร์ไซค์ อ้อมไปอีกทางหนึ่ง แต่เด็กๆที่นำทางบอกพวกเราว่า อย่าไปทางนั้น ให้ตามพวกเขาไป เส้นทางจะใกล้กว่า
แต่ถึงแม้ว่าจะใกล้ เราก็ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง กับการเดินป่าเพียงแค่ 7 กิโลเมตรเท่านั้น
ภาพเทวาลัยร้างที่ยังหลงเหลือเพียงแค่ รูปหินที่แกะสลัก เป็น กิเลน เป็นเหรา และเป็นช้าง รวมไปถึงรูปโคที่หมอบอยู่บนเนินสูงท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ที่มีตะไคร่น้ำจับเกาะเป็นสีเขียวนั้น มันทำให้เราอึ้ง ตะลึง นึกไม่ถึงว่าจะได้มาเยือนดินแดนที่เคยได้ชื่อว่า เป็นจุดกำเนิดของประเทศกัมพูชาเมื่อ 1212 ปีกว่าล่วงมาแล้ว
คำว่า “พนม”ในภาษากัมพูชา แปลว่า “ภูเขา” ในขณะที่คำว่า “กุเลน” นั้นหมายถึง “ลิ้นจี่” แปลง่ายๆตรงนี้ ก็คือ “เทือกเขาแห่งป่าลิ้นจี่” เพราะที่นี่มีต้นลิ้นจี่ขึ้นอยู่มากมาย นั่นเอง แต่ที่เราขึ้นเขามาครั้งนี้ เรายังไม่เจอต้นลิ้นจี่เลยแม้แต่ต้นเดียว จะเห็นผลไม้ที่เขาวางขายอยู่บ้าง ก็คล้ายกับลำไย แต่เม็ดเล็กมากคล้ายลูกหวายรสชาติหวานอมเปรี้ยว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นลูกอะไร แต่ลิ้นจี่นี่ไม่มีจริงๆ
เพื่อนร่วมทางสองคน ที่มาด้วยจึงเหมาโมเมเอาว่า จะเป็นไปได้มั้ยว่า คำว่า ภูเขากุเลนนั้น ความจริงแล้วมันมาจาก หินที่แกะสลักเป็นกิเลนที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้านี้
เมื่อครั้งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กษัตริย์แห่งศรีวิชัยผู้ทรงเชื้อสายมาจากเกาะชวา มาครองราชย์สมบัติอยู่ในกัมพูชาเป็นพระองค์แรก และทรงนำเอาลัทธิไศเลนทร์หรือลัทธิเทวราชา ที่มีความเชื่อกันว่า กษัตริย์คือเทพเจ้าที่อวตารลงมาเกิดในโลกมนุษย์ดังนั้น พระราชาทั้งหลายรวมไปถึงศาสนสถานทั่วไปจึงมักจะมีการสร้างศิวลึงค์ขึ้นมาเพื่อการบูชาแทนองค์พระศิวะ ซึ่งถือว่าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่เหนือเทพทั้งปวง
เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงครองราชย์แล้วก็ทรงขยายพระราชอาณาจักรออกไป ในครั้งแรกนั้นพระองค์ทรงประทับที่ เมืองอินทรปุระ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ “กำปงจาม” ในปัจจุบัน ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่จารึกเอาไว้ในปราสาทสดกก๊อกธมเขียนเอาไว้ว่า พระองค์ทรงราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.1345
แม้ว่าพระองค์ทรงย้ายที่ตั้งของเมืองหลวงไปเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้น เมืองหลวงที่ทรงโปรดให้ตั้งขึ้นมาก็หาได้อยู่ไกลไปจากทะเลสาบไม่ ซึ่งเมืองหลวงที่มีความยิ่งใหญ่ในสมัยพระองค์ก็คือ “หริหราลัย” ซึ่งในปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ที่ ตำบลโรลั๊วะ ห่างจากเมืองเสียมเรียบไปประมาณ 15 กิโลเมตร
แต่หลังจากประทับอยู่ที่หริหราลัยได้ไม่นาน ก็ทรงย้ายไปสร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่ ที่ “อมเรนทรปุระ” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขาพนมกุเลน ซึ่งพระองค์ทรงให้สถาปนา “มเหนทรบรรพต” ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่สถิตของเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งมเหนทรบรรพตนั้น ในปัจจุบันก็คือยอดเขาพนมกุเลนนั่นเอง
หลังจากที่ทรงสร้างความเชื่อถือให้กับชาวเมืองถึงเรื่องราวของลัทธิเทวราชา และทรงสถาปนาขุนเขาที่อยู่ของเทพเจ้าขึ้นมาบนยอดเขาพนมกุเลนแล้วนั้น ก็ทรงเสด็จกลับไปประทับอยู่ที่เมืองหริหราลัย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตพระองค์
และภายหลังจากที่พระองค์ทรงสวรรคตแล้วนั้น ก็ทรงได้รับพระนามว่า “ปรเมศวร” และขุนเขาพนมกุเลนก็ได้กลายมาเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของกัมพูชามานับแต่บัดนั้น จวบจนกระทั่งได้มีการสร้างปราสาทหินนครวัดขึ้นในอีก 300 ปี ให้หลังต่อมา เทือกเขาพนมกุเลนก็ได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวกัมพูชา
และเมื่อวันเวลาผ่านไป อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งเทวราชาได้ล่มสลายลงไป เรื่องราวทั้งหลายที่ผ่านมา จึงกลายเป็นเพียงแค่เรื่องราว เป็นเรื่องราวที่ในตำนาน เพราะหลังจากนั้นไม่มีใครทราบว่า “มเหนทรบรรพต” ที่สถิตของเทพเจ้าที่พวกเขานับถือนั้นตั้งอยู่ที่ใด
จนกระทั่งเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่กลุ่มคณะนักสำรวจโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งศูนย์กลางศิลปะและโบราณคดีเอเชียของออสเตรเลีย ในนครซิดนีย์ เสี่ยงตายกับดงระเบิดสำรวจป่าในเขตอำเภอเสียมเรียบ จนเข้ามาเจอ “มเหนทรบรรพต” เมืองหลวงแห่งแรกของกัมพูชาในที่สุด
และในวันนี้ ที่พวกเราชาวไทยทั้ง 4 ชีวิต ได้มายืนอยู่หน้าเทวาลัยร้างซึ่งยังไม่ได้มีการบูรณะแก้ไขซ่อมแซมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่เพิ่งจะค้นพบใหม่ๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักของใคร สถานที่แห่งนี้ จึงยังคงความดิบเอาไว้ ทั้งสถานที่ซึ่งบอกตรงๆว่า รู้สึกวังเวงมากๆ เมื่อยืนอยู่บริเวณนั้น รวมไปถึงป่าที่รายล้อมอยู่นั้น ก็รกทึบน่ากลัวเช่นเดียวกัน
ที่บริเวณด้านหน้าของรูปปั้นช้างและกิเลนบนเทวาลัยนั้น มีบ่อน้ำอยู่บ่อหนึ่ง เด็กๆบอกว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เราถามว่า ทำไมถึงเรียกบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เด็กๆบอกว่า บ่อน้ำแห่งนี้ไม่เคยแห้ง พ่อแม่ของพวกเขาบอกว่า น้ำในบ่อ สามารถรักษาบาดแผลได้ ซึ่งคนนำทางของพวกเราก็ให้การสนับสนุนเรื่องนี้ว่า...
บ่อน้ำดังกล่าวนี้ เป็นบ่อน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และได้รับบารมีจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนี้ เพราะเป็นน้ำที่ผุดขึ้นมาหน้าเทวาลัย และเป็นต้นธาตุที่ไหลลงไปสู่เบื้องล่าง จนกลายเป็นลำธารอันเป็นที่ตั้งของ “กะบาลสะเปียน”ที่อยู่ห่างออกไป
และในอดีตที่ผ่านมานั้น บนยอดเขาพนมกุเลน คือที่ตั้งสำคัญของกองกำลังทหารเขมรแดง ซึ่งพวกเขามีความเชื่อกันว่า ไม่ว่าพวกเขาจะต่อสู้ชนะ หรือว่า พ่ายแพ้ แต่ถ้าหากถอยกลับมายังที่ตั้งมั่นที่เขาพนมกุเลนนั้น พวกเขาจะไม่มีวันตาย ไม่ว่าจะบาดเจ็บสักแค่ไหน ก็จะหายเป็นปกติในเร็ววัน
ความเชื่อเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไป เพราะมีคนเล่ากันว่า เห็นทหารเขมรแดงบาดเจ็บปางตาย ถูกหามกลับมา แต่ว่าเพียงไม่กี่วัน คนเหล่านั้นก็ลุกขึ้นเดินได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งแต่ก่อนหน้านั้น คนภายนอกไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เมื่อนานๆไป พวกเขาจึงได้คิดว่า น่าจะมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่หน้าเทวาลัยแห่งนี้ ที่แทรกซึมออกไป จนกลายเป็นลำธารอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วยต่อชีวิต รักษาบาดแผลให้คนและสัตว์ที่บาดเจ็บนั่นเอง
และเพื่อไม่ให้ความเชื่อเหล่านั้น ที่คนนำทางของเราบอกกล่าวต้องสูญเปล่า ผู้เขียนก็เลยแอบกระซิบสั่งให้เด็กวัดที่ช่วยหิ้วของและนำทางขึ้นเขา ไปเอาขวดน้ำเปล่า ตักน้ำในบ่อที่วามาด้วยขวดหนึ่ง ตามธรรมเนียมของคนไทยที่ไปถึงไหน ถ้ามีอะไรซึ่งเขาว่าศักดิ์สิทธิ์ก็อย่าลังเลหรือรีรอ
เพราะถึงไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ลบหลู่ครับ.....!!!
ขอขอบคุณ
- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด
- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ
อาร์ม อิสระ
วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 15.28 น.