เมือง “เสียมเรียบ” หรือ “เสียมราฐ” เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อยู่ริมฝั่งทะเลสาบเขมร ห่างจากกรุงพนมเปญ 314 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 5 ชั่วโมงจากพนมเปญ และ 2-3 ชั่วโมงจากชายแดนไทยซึ่งในปัจจุบันถนนหนทางได้รับการปรับปรุงจนใช้การได้ดีแล้วตลอดเส้นทาง
คำว่า “เสียมราฐ” นั้น หมายถึง “ดินแดนของสยาม” เนื่องจากในอดีตเมืองแห่งนี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทย จนกระทั่งเราต้องสูญเสียดินแดนด้านชายแดนเขมร คือเสียมราฐ ,ศรีโสภณ,พระตะบองและโพธิสัตว์ ให้กับฝรั่งเศสไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้นเมื่อได้รับเอกราชประเทศกัมพูชาจึงเปลี่ยนชื่อเมืองเสียมราฐเสียใหม่ว่า “เสียมเรียบ” หมายถึง “สยามพ่ายแพ้ราบเรียบ” เนื่องมาจากสงครามที่เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าพญาจันทราชา) ซึ่งเป็นการศึกระหว่างกัมพูชากับสยามในปี พ.ศ. 2089 อันปรากฏในพงศาวดารเขมร จ.ศ. 1217 เพียงฉบับเดียวเท่านั้น มีความว่า...
"...พระองค์ทรงราชย์ ลุศักราช ๑๔๖๒ (จ.ศ. ๙๐๒) ศกชวดนักษัตรได้ ๒๕ ปี พระชันษาได้ ๕๕ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึ่งยกทัพมาถึงพระนครหลวง ในปีชวดนั้น พระองค์ยกทัพไปถึงพระนครหลวงรบชนะพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาหนีไป พระเจ้าจันทร์ราชาจับได้เชลยไทยเป็นอันมากแล้วเสด็จกลับเข้ามาครองราชสมบัติ...”
แต่นักวิชาการบางคนก็สันนิษฐานว่าชื่อ "เสียมเรียบ" ตั้งขึ้นใหม่แทน "เสียมราฐ" หลังจากเกิด กรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อพันตรีแปลก พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการกองทัพอีสานและบูรพาในขณะนั้น ได้เคยบุกข้ามชายแดนขับไล่ฝรั่งเศสออกจากดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง พระตะบอง และเสียมราฐ แต่พ่ายแพ้ ดังนั้นเมืองเสียมราฐจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เสียมเรียม” ในที่สุด
สรุปง่ายๆ คำว่า “เสียม” หมายถึง “สยาม” และคำว่า “เรียบ” นั้นหมายถึงตายหรือพ่ายแพ้นั่นเอง เสียมเรียบจึงมีความหมายที่กินใจมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “สยามพ่าย”
มื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อแรกในกัมพูชาของผมวันนั้น เราไปทานอาหารกันที่ร้านอาหารริมทะเลสาบ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมาถึง “โตนเลสาบ” ดินแดนซึ่งได้ชื่อว่า ปลาชุกชุมที่สุดในโลกแล้ว อาหารที่ต้อนรับเราในวันนั้น จะเป็นอะไรไปเสียไม่ได้นอกจากปลา และกุ้ง แต่กระนั้นก็ยังมีเซอร์ไพรซ์ให้เราได้ฮือฮากันเมื่อมีอาหารชุดหนึ่ง เป็นไข่ซึ่งมีแต่ไข่แดงเม็ดเล็กๆคั่วแห้งมากับสมุนไพร ตะไคร้ ใบมะกรูด อร่อย แต่รสชาติแปลก
หลายคนตักกินชอบใจโดยเฉพาะลูกชายผมชอบมาก ตักกินเข้าไปเยอะเลย พอดีเหลือเกินในช่วงที่ผมกำลังตักอาหารเข้าปากอยู่นั้น ช่วงที่กำลังจะกินเข้าไป สายตาที่ฉับไวของช่างภาพแก่ๆจากเมืองไทยก็เหลือบไปเห็น ตัวอะไรนอนตายอยู่ในไข่แดง ก็เลยวางช้อนลง และเขี่ยออกมาดู
มันเป็นลูกงูครับ ลูกงูตัวเล็กๆที่นอนขดตายอยู่ในไข่ที่มันถือกำเนิดขึ้นมา
เท่านั้นเองทุกคนก็ฮือฮา เจ้าของงานก็เลยบอกกับพวกเราว่า อาหารที่เรากินอยู่นั้น ถือเป็นอาหารที่มีเกียรติและแพงที่สุดในร้านอาหารรอบๆโตนเลสาบ เพราะมันคือ “ไข่งูคั่วแห้งสมุนไพร” ที่ขึ้นชื่อที่สุดของเสียบเรียบนั่นเอง
ยัง...ไม่พอ เพราะหลังจากที่รู้ว่านั่นคือไข่งู ที่เขาจับและหามาจากในทะเลสาบ แล้วเอามาทำอาหารให้เรากินกัน ทุกคนก็หันไปทานต้มโคล้งที่ไม่ค่อยมีรสชาติในหม้อไฟแทน เพราะถึงอย่างไร กินปลาก็ยังดีกว่ามานั่งกินไข่งูเป็นไหนๆ แต่กินไป กินไป ก็เริ่มมีคนสงสัยขึ้นมาอีก นี่มันปลาอะไร ทำไมรสชาติจืดจัง ไม่เหมือนปลาทั่วไป
“ปลาช่อนมั้ง...”
ทุกคนบอกกันเอง และช่วยกันเขี่ยดูปลาในหม้อ ก็แปลกใจอยู่ว่า การหั่นปลาของคนเขมรที่โตนเลาสาบ เหมือนไม่มีความชำชาญเอาเสียเลย ทั้งที่นี่เป็นเป็นถิ่นที่มีปลาน้ำจืดชุกชุมากที่สุดในโลกแท้ แต่ทำไม หั่นปลาเป็นท่อนยาวๆแบบนี้ แทนที่จะหั่นเป็นบ้องๆซึง่มันจะแกงหรือต้มได้เข้าเนื้อกับน้ำแกงมากกว่า
แต่ว่ามันเป็นปลาอะไรหนอ...
แล้วก็เกือบหงายหลังตึง เมื่อไกด์ได้เฉลย ความจริงให้พวกเราได้ฟังว่า มันคืองูน้ำชนิดหนึ่งของกัมพูชาที่มีชุกชุมในโตนเลสาบ ซึ่งเหมือนกับงูสิงในบ้านเรา ที่เขาจะเอามาลอกหนังแล้วเอามาผัดเผ็ด ผัดสมุนไพร และเอามาต้มโคล้งกินกัน เท่านั้นแหละทุกคนก็ขอตัวเข้าห้องน้ำกันเป็นแถว ไม่เอาแล้วอาหารมื้อนี้ ทีหลังจะให้กินอะไร ถามกันก่อนได้มั้ย นั่นคือคำสั่งย้ำไปยังไกด์ ว่า
“อย่าให้เกียรติเราเกินไป ด้วยการให้กินอาหารที่มีเกียรติของคุณแบบนี้”
โตนเลสาบหรือ ทะเลสาบเขมรนั้นเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 7 เท่า ทะเลสาบดังกล่าวนี้เกิดจากแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านมีความยาวถึง 500 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ กำปงธม กำปงชะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ และนับได้ว่าเป็นทะเลสาบที่มีปลาน้ำจืดชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีปลาประมาณ 300 ชนิดอาศัย ว่ากันว่า ในสมัยก่อนนั้นที่นี่มีปลาชุมมากถึงขนาดที่ว่า ถ้ามีใครพุ่งฉมวกลงไปในน้ำ ก็จะติดปลาขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องเล็ง ดังนั้นด้วยเหตุนี้ จึงมีชาวกัมพูชาเป็นจำนวนมากที่ประกอบอาชีพประมงในบริเวณทะเลสาบแห่งนี้โดยรอบ
ปัจจุบันนี้ “โตนเลสาบ”เป็น ดินแดนของคนไร้แผ่นดินที่ทางการของกัมพูชา เปิดสัมปทานให้บริษัท ซูจิง จำกัดเข้ามาดูแลจัดการในเรื่องเกี่ยวกับเรือโดยสารท่องเที่ยวในโตนเลสาบและตัดถนนเข้ามายังท่าเรือซึ่งกำลังก่อสร้างขึ้นมาใหม่อย่างใหญ่โตมโหฬารรวมทั้งในโอกาสต่อไป ก็จะมีที่พักกลางทะเลสาบให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับชีวิตชาวโตนเลสาบได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
สำหรับโตนเลสาบที่เราได้ไปเที่ยวชมกันนั้น เป้าหมายของทัวร์ ก็คือนำนักท่องเที่ยวออกไปสัมผัสกับชีวิตของคนผู้ไร้แผ่นดินในกัมพูชากลุ่มหนึ่งซึ่งสร้างบ้านอยู่บนเรือ อาศัยกินนอนอยู่ในนั้น และไม่มีวันที่จะได้ขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกทั้งนี้ เพราะเบื้องหลังและที่มาของพวกเขานั้น ว่ากันว่าส่วนหนึ่งมาจากการอพยพของชาวเวียดนามที่หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่ในกัมพูชา และที่สำคัญ พื้นเพดั้งเดิมของคนในทะเลสาบแถบนี้นั้นก็คือทหารเวียดนามกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมกลับบ้านหลังที่สงครามเลิกแล้ว
เมื่อพูดถึงสงครามเวียดนามกับกัมพูชา ก็เลยอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ตรงนี้สักเล็กน้อย เพื่อย้อนถึงความเป็นมาของผู้คนในโตนเลสาบ กล่าวคือ เมื่อหลังจากที่คอมมิวนิสต์เวียดนามและเขมรแดงร่วมมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อสู้รบกับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังจนกระทั่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลของนายพลลอนนอลลงไปได้อย่างเด็ดขาดเมื่อ ปี พ.ศ. 2518 แต่ผู้นำเขมรแดงเกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกำลังวางแผนจัดตั้งสหพันธ์อินโดจีนโดยมีเวียดนามเป็นแกนนำ ดังนั้น เพื่อชิงตัดหน้าความพยายามของเวียดนามในการครอบงำพวกตน ผู้นำเขมรแดงจึงเริ่มกวาดล้างกำลังพลที่ได้รับการฝึกจากเวียดนามในกองทหารของตนเอง
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่โดยเขมรแดง เริ่มทำสงครามกับเวียดนาม โดยโจมตีเกาะฝูกว๊กของเวียดนาม ซึ่งหลังจากนั้นการสู้รบแบบเล็กๆก็ยังดำเนินไประหว่างสองประเทศตลอด เวลา โดยมีประเทศจีนพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่ไม่บรรลุการประนีประนอมที่ยอมรับได้ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ผู้นำเวียดนามตัดสินใจรุกเข้าไปในกัมพูชาเพื่อล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยที่มีเขมรแดงบงการอยู่ โดยมองว่าเขมรแดงนิยมจีนและเป็นปรปักษ์ต่อเวียดนามเกินไป ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ทหารเวียดนาม 150,000 นายรุกรานกัมพูชาประชาธิปไตยและชนะกองทัพปฏิวัติกัมพูชาได้ในเวลาเพียงสองสัปดาห์
วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2522 ได้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่นิยมเวียดนามในกรุงพนมเปญ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามที่มีเวลายาวนานถึง 10 ปี ก่อนที่เวียดนามจะถอนตัวออกไป ในปี พ.ศ.2532 เพราะถูกบีบถูกกดดันทางการฑูตและเศรษฐกิจอย่างหนักจากประชาคมนานาชาติ
แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านไปนั้นทหารชาวเวียดนามส่วนหนึ่งได้ปักหลักอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาด้วยการแต่งงานกับผู้หญิงกัมพูชาตามนโยบายกลืนชาติ แต่เมื่อเวียดนามยอมปล่อยให้กัมพูชาเป็นเอกราชแล้วพวกเขาก็ไม่ยอมกลับไป และยังคงอาศัยอยู่ในโตนเลสาบแห่งนี้ โดยที่ไม่มีโอกาสที่จะได้รับสัญชาติเป็นกัมพูชาและไม่มีโอกาสที่จะได้มีสิทธิ์บนแผ่นดินใหญ่
พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยอยู่ในทะเลสาบ เหมือนคนที่ๆไร้แผ่นดินอยู่ โดยมีหน่วยงานสาธารณกุศลของเวียดนามเข้ามาช่วยเหลือดูแลช่วยเหลือชุมชนในการสร้างโรงเรียนให้
และในปัจจุบันนี้ ประเทศเกาหลีซึ่งเข้ามาดำเนินการลงทุนในประเทศกัมพูชาได้เข้ามาสร้างโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีขึ้นมา เพื่อที่จะให้เด็กๆรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และพูดภาษาเกาหลีได้ เพื่อปรับตัวเข้าทำงานในโรงงานที่เกาหลีร่วมมือกับรัฐบาลจัดสร้างขึ้นมา
ขอขอบคุณ
- บริษัท อินฟินิตี้ พลัสเทรดดิ้ง จำกัด
- FOTOPRO THAILAND สนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพ
อาร์ม อิสระ
วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 00.52 น.