วัดพะเยาว์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นที่ระลึกถึงชาวบ้านที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ทางเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในตำบลศาลารีไทย อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โดยชาวบ้านพะเยาว์เชื่อกันว่า บรรพบุรุษของตนได้อพยพมาจากทางเมืองเหนือ คราวเดียวกับที่ชาวเชียงแสนที่อพยพมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๔๗ ในสมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้จนทุกวันนี้คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีอีกทั้งสำเนียงและภาษาในการพูดแบบเมืองเหนือ (ภาษายวน)

พระพุทธรูปทองคำ ประดิษฐานอยู่ในศาลาจตุรมุข สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเนื้อทองคำบริสุทธิ์ถึง 70%

ภายในอาคารจตุรมุจที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ

พระพุทธรูปทองคำ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระวรกายสมสัดส่วน สง่างาม เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิแบบขัดสมาธิราบหน้าตักกว้าง 110 เซนติเมตร สูง 170 เซนติเมตร พระพักตร์กลม พระโอษฐ์ยิ้ม ยอดเศียรเปลวอุนาโลม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

สำหรับความเป็นมาของพระพุทธรูปทองคำองค์นี้เดิมทีประดิษฐานอยู่บริเวณ วัดร้างแห่งหนึ่งในเขต อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยองค์พระลงรักพอกปูนไว้ทั้งองค์ สันนิษฐานว่าคงเป็นพระพุทธปฎิมาที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และแรกเริ่มคงประดิษฐานอยู่ในวัดแถบชานเมืองหลวง ชาวบ้านคงเกรงว่าพม่าข้าศึกที่มาตีกรุงศรีอยุธยาราชธานีจะทำลายพระพุทธรูปองค์นี้ จึงทำการพอกปูนไว้เพื่อปิดบังมิให้เห็นองค์จริงด้านในว่าเป็นโลหะทองคำ จวบจนประมาณปีพ.ศ.๒๔๒๐ ชาวบ้านบ้านศาลารีไทย หมู่ที่๓ อ.เสาไห้ ได้เริ่มสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นชื่อว่า “อุทิศสโมสร” จึงได้ไปเชิญพระพุทธคำองค์นี้มาจาก วัดร้างที่อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อประดิษฐานไว้ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ (ต่อมาคือวัดอุทิศสโมสร)

ประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๘ ชาวบ้านแถบวัดอุทิศสโมสร ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจาก ฝนแล้งจึงพากันอพยพหนีภัยธรรมชาติ ทำให้วัดอุทิศสโมสรกลายเป็นวัดร้าง และเมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๔ ชาววัดพะเยาว์ ต้องการพระประธานในโบสถ์องค์ใหม่ เนื่องจากองค์เดิมมีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาจากวัดอุทิศสโมสร และในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ชาวบ้านพะเยาว์ได้ช่วยกันกะเทาะปูนที่พอกองค์พระออกทั้งหมดตามคำแนะนำของพระเทพวิมลโมลี (อดีตเจ้าคณะจ.สระบุรี) ที่เห็นว่าเริ่มมีรอยกะเทาะของปูน ก็พบว่าองค์พระเป็นโลหะทองทั้งองค์ ซึ่งในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ทางวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ก็มีพระพุทธรูปทองคำ(พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร) เช่นเดียวกัน ด้านอาจารย์ ปรีดา วีรสวัสดิ์ อดีตอาจารย์โรงเรียนวัดไตรมิตรฯ จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาที่วัดพะเยาว์ ผลการตรวจสอบและวิเคาระห์พบว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีสัดส่วนของเนื้อโลหะเป็นทองคำถึง ร้อยละ ๗๐ ชาวบ้านจึงพากันเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อทองคำ” เป็นพระพุทธรูป ขนาดหน้าตักกว้าง ประมาณ ๑เมตร สูง๑.๕เมตร ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารจัตุรมุข ภายในวัดพะเยาว์ อ.เสาไห้ จ.สรับุรี เป็นศูนย์รวมความศรัทธาคู่บ้านควรเมืองของชาวสระบุรี

และเมื่อวันที่ ๔ ก.ค. พ.ศ. ๒๕๕๒ สมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ถวายนามพระพุทธรูปทองคำ วัดพะเยาว์ อ.เสาไห้จ.สระบุรี ว่า “พระพุทธรัชสุวรรณมงคล” พร้อมกันนี้ทางวัดได้เททองหล่อองค์พระพุทธรูปทองคำ องค์จำลองขึ้นเพื่อให้ศรัทธาสาธุชนที่มานมัสการ ขอพรสามารถปิดทองที่องค์จำลองได้

การเดินทาง ใช้เส้นทางสายสระบุรี-บ้านยาง (ทางหลวงหมายเลข 3041) ก่อนถึงอำเภอเสาไห้ มีทางแยกขวาทางหลวงหมายเลข3041) ข้ามสะพานแม่น้ำป่าสัก ถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 100 เมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองสระบุรีประมาณ9 กิโลเมตร ด้านหลังวัดมีถนนสายปากบาง-สระบุรี

เบอร์ติดต่อ วัดพะเยาว์ โทร. ๐๘๗ ๙๙๘ ๕๑๖๖



เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วทิศ

 วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16.20 น.

ความคิดเห็น