เคยได้ยินข่าวการแสดงโชว์ต่าง ๆ ของสยามนิรมิต มาพักใหญ่ ว่าเป็นโชว์ที่อลังการงานสร้างไม่ว่าจะเป็นการใช้ผู้แสดง ฉาก พื้นที่ต่าง ๆ จนกระทั้งได้รับรางวัล เวทีการแสดงอลังการยิ่งใหญ่จาก Guinness World Records และการแสดงเวทีทางวัฒนธรรม ททท. ในที่สุดวันนี้ก็ได้มีโอกาสเดินทางมาชมด้วยตาตัวเองแล้วค่ะ

เริ่มจากการเดินทางก่อน การเดินทางก็สะดวกสบาย เพียงแค่มาลงที่สถานีรถใต้ดิน ศูนย์วัฒนธรรมฯ (MRT-ศูนย์วัฒนธรรม) ทางออกหมายเลข 1 เลี้ยวขวา จะมีบริการรถรับ-ส่งฟรีของสยามนิรมิต ออกทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 17.00 น. – 19.45 น. และเวลา 21.30 น. – 22.00 น. ของทุกวัน แต่ถ้าอยากขับรถมาเองแบบไม่เกรงรถติด ทางสยามนิรมิตก็มีที่จอดรถมากมาย ต้องเรียกว่าเป็นลานจอดรถที่แท้จริงเลยก็ว่าได้

เมื่อลงจากรถมาก็จัดแจงซื้อตั๋วเข้าชม หรือบางท่านอาจจะซื้อตั๋วเข้าชมมาจากเวปไซด์ต่าง ๆ ที่จะมีส่วนลดพิเศษเฉพาะสมาชิกใด ๆ ก็ตาม จะมีน้อง ๆ แต่งกายชุดไทยสวยงามออกมาต้อนรับ สามารถขอถ่ายภาพร่วมได้ หรือหากไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไป หรืออยากได้ภาพความละเอียดสูง ก็มีเจ้าหน้าที่อาสาทำหน้าที่ให้บริการอยู่ด้านหน้า โดยมีค่าบริการที่เหมาะสม (ถามมาแล้วค่ะ แต่ลืม แต่จำได้ว่าไม่แพงเลย)

ตั๋วเข้าชมมีสองประเภทนะคะ คือ เฉพาะตั๋วเข้าชม และตั่วเข้าชมพร้อมบุฟเฟต์มื้อเย็น รับตั๋วแล้ว ตรวจสอบตั๋วของท่านให้เรียบร้อย เมื่อผ่านการต้อนรับและการตรวจตั๋วแล้ว ก็เข้ามาสู่ด้านในกันค่ะ

ผ่านอาคารขายตั๋ว และทำการตรวจตั๋วแล้ว เราจะเดินผ่านร้านขายของที่ระลึกหลากหลาย ชมสินค้าที่ได้รับการคัดสรรมาจากทั่วประเทศ ในร้านจำหน่ายของที่ระลึก มีทั้งงานศิลปะ และหัตถกรรมตรงนี้มีหลายจุดที่มีการวางพร๊อพอย่าง รถสามล้อถีบ ฯลฯ เอาไว้ให้ถ่ายภาพได้

ผ่านอาคารออกมาเป็นลานกว้าง มีน้ำพุตรงกลาง รายรอบด้วยกิจกรรมตามซุ้มต่าง ๆ มากมาย ซึ่งลานกว้างตรงนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงกลางแจ้งตอนค่ำ ๆ

กิจกรรมตามซุ้มต่าง ๆ บริเวณลานกว้างด้านหน้า

ด้านในถูกจัดเป็นหมู่บ้านชนบทในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เป็นการย้อนอดีตไปชมวิถีชีวิตเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน กิจกรรมต่าง ๆ งานศิลปะ และ หัตถกรรม ในแต่ละภูมิภาค

เส้นทางเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านวิถีไทย

การตำข้าว และการทำข้าวเม่า จากภาคกลาง

ข้าวเม่าค่ะ กินได้จริง แจกให้ผู้เข้าชมชิมฟรี

วิถีริมน้ำที่ต้องสัญจรทางเรือ

เจ้าหน้าที่สาวแต่งกายเป็นแม่ค้าขนมครก มาแคะขนมครกให้ผู้เข้าชมได้ชิมกันอย่างทั่วถั่วถึง
การแสดงสาธิตการร้อยมาลัย

ไข่ป่ามจากภาคเหนือ

เข้าสู่โซนหมู่บ้านไทย ทางภาคเหนือ

บ้านทางภาคเหนือจะประดับตุง และโคมสีสันสวยงาม

การทำร่ม และ การทำบายศรี เพื่อต้อนรับแขกมาเยือน จากภาคเหนือ

นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันมาก

สาวชาวเขา และแผงขายของจำลอง

การเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมไหม

กระบวนการทำไหม จากภาคอีสาน

การสาธิตการทอผ้า

การทอผ้าด้วยการใช้กี่เป็นลวดลายวิจิตรต่าง ๆ

การจำลองชีวิตความเป็นอยู่ ของหมู่บ้าน และชาวภาคอีสาน

การระบายสีผ้าบาติก จากภาคใต้

การแสดงหนังตะลุง โดยใช้เรือกอและเป็นแท่นกรอบฉาก ตัวแทนศิลปทางภาคใต้

โรงทำหนังตะลุง จากภาคใต้

(ซ้าย) หน้ากากผีตาโขนขนาดยักษ์
(ขวา) เรือนไทยกลางน้ำสาธิต
การสานปลาตะเพียน จากใบลาน ของภาคกลาง

การสาธิตการสานปลาตะเพียน จากใบลาน ของภาคกลาง

การแสดงดนตรีไทย

การแสดงมวยไทย

ทุ่งนาจำลอง

เดินชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในภาคต่าง ๆ ซึ่งบางกิจกรรมที่มีให้ชม บางอย่างหาชมได้ยาก บางอย่างก็ยังคงอยู่ตามวิถีเดิมของท้องถิ่น เราเดินเป็นวงกลมย้อนกลับมาที่ลานกว้างสำหรับการแสดงกลางแจ้งอีกครั้ง เห็นนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนเริ่มมานั่งรอชมการแสดงกันแล้ว

นอกจากการแสดงกลางแจ้งที่จะมีให้ชมในเวลา 19.00 น. แล้ว ยังมีนักแสดงที่แต่งเครื่องแต่งกายรอเข้าฉากแสดง ออกมาให้ความบันเทิงกับบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชม บ้างก็ขอเข้าถ่ายภาพ บ้างก็มาพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

เนื่องจากบัตรเข้าชมที่เรามี เป็นแบบรวมบุฟเฟต์อาหารเย็น เราเลยตัดสินใจขึ้นไปที่ห้องอาหารชั้น 2 เพื่อรับประทานอาหารกันก่อน เพราะการแสดงในโรงละครจะเริ่มในเวลา 20.00 น.

การแสดงกลางแจ้ง ที่ลานกว้างด้านในสยามนิรมิต

เมื่อเราขึ้นมาถึงชั้นสอง เราก็ได้พบกับห้องอาหารขนาดใหญ่ มีที่นั่งและไลน์อาหารเยอะมาก มีทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง อาหารจีน อินเดีย รวมถึงอาหารจานเดียวที่ขึ้นชื่อของไทย เช่น ข้าวซอย ข้าวมันไก่ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ของหวานก็มีทั้งร้อนและเย็น ผลไม้ ไอศครีมเรียกว่านั่งแช่กันเสียจนไม่ได้ลงไปดูการแสดงกลางแจ้งเลยทีเดียว


บรรยากาศของโรงละครขนาดใหญ่ ความจุ 2,000 ที่นั่ง

ออกจากห้องอาหารเราก็ตรงไปยังส่วนของโรงละคร ที่จะจัดการแสดงในเวลา 20.00 น. เป็นประจำทุกวัน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตลอดทาง ทางเดินเข้าไปภายในโรงละครถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงามบรรจง เป็นลายพญานาคขดสองตัว ทางเดินไม่มืดจนเกินไป ขนาดของที่นั่งก็กว้างสบาย

การแสดง "สยามนิรมิต มหัศจรรย์ วัฒนธรรมสยาม" ถูกแบ่งออกเป็นองค์ต่าง ๆ 3 องค์ คือ ย้อนรอยประวัติศาสตร์ / ท่องไปในไตรภพ / รื่นเริง สนุกสนาน สืบสานประเพณีไทย ดังนี้

องค์ที่ 1 : ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องราวเมื่อ ๗๐๐ ปีก่อน สยามเป็นศูนย์รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม และได้แบ่งเป็นภาคต่าง ๆ ดังนี้

ศรัทธา...ล้านนานคร ว่าด้วยพิธีลอยโคมบูชา โดยกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาและมหาเทวี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีที่พระบรมธาตุเจดีย์

ภาคใต้ - ทะเลใต้...การค้าขายโพ้นทะเล กล่าวถึง ดินแดนทางใต้ วัฒนธรรมที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม พ่อค้าจากโพ้นทะเลเดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า แลกเปลี่ยนความสัมพันธุ์ระหว่างกัน

ภาคอีสาน - ตำนานปราสาทหิน กล่าวถึงการเฉลิมฉลองเทศกาลงานบุญกันอย่างสนุกสนานของหนุ่มสาวชาวอีสาน ที่หน้าปราสาทหินโบราณอันเป็นตำนานของชาวขอม

ภาคกลาง - กรุงศรีฯ...ราชธานีที่รุ่งโรจน์ กล่าวถึง วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวนา การปลูกข้าวบนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของภาคกลาง ซึ่งแตกต่างจากขีวิตอันโอ่อ่าของชาววัง

  • การเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีของชาติตะวันตก
  • กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่งดงามตระการตา
  • ฉากการเข้าเฝ้าและถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายร์มหาราช ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท โดย ราชทูตฝรั่งเศส เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์

องค์ที่ 2 : ท่องไปในไตรภพ กล่าวถึงความเชื่อในภพภูมิต่าง ๆ ดังนี้

นรกภูมิ การจำลองให้เห็นถึง นรกภูมิ ที่ซึ่งคนบาปต้องโทษทนทุกข์ทรมานด้วยไฟนรก พญายมราช ผู้ปกครองนรกภูมิทำหน้าที่พิพากษาให้ทุกดวงวิญญาณได้รับโทษทัณฑ์ ตามกรรมที่ได้ก่อไว้

ป่าหิมพานต์ จำลองความเชื่อถึงป่าหิมพานต์ อันเร้นลับซึ่งเป็นทางผ่านจากโลกสู่สรวงสวรรค์ และที่อยู่ของบรรดาสรรพสัตว์ ในจินตนาการ

สวรรค์ จำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ซึ่งพระอินทร์ เทพยดาสูงสุดประทับอยู่ ชมนางฟ้าร่ายรำล่องลอยในอากาศตามความเชื่อแต่โบราณ

การสรงน้ำพระวันสงกรานต์

องค์ที่ 3 : รื่นเริง สนุกสนาน สืบสานประเพณีไทย ด้วยความเชื่อของขาวพุทธที่ว่า ทำดีได้ไปสวรรค์ ชนชาวสยามจึงมีประเพณีงานบุญมากมายที่มักจะมีงานรื่นเริง และการละเล่นต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย

การร่ายรำเนื่องในโอกาสต่าง ๆ

จบท้ายด้วยประเพณีการลอยกระทง นางนพมาส และความเชื่อเกี่ยวกับต้นกำเนิดการลอยกระทง องค์นี้ นอกจากนักแสดงจะลอยกระทงกลางสายน้ำแล้ว ยังมีการเชิญผู้ชมมีส่วนร่วมลอยกระทงด้วย ถือเป็นฉากจบการแสดง 80 นาที ได้อย่างตื่นตาตื่นใจทุกองค์ ทุกฉาก


หลังจากจบการแสดง ที่ลานกว้างภายในสยามนิรมิต ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมและผู้ร่วมแสดงได้พบปะกันอย่างใกล้ชิด ร่วมถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ท่ามกลางฉากอันสวยงาม น่าประทับใจ

กลุ่มคนธรรม์ และนางฟ้านางสวรรค์

ก่อนกลับออกมาขึ้นรถ ยังพอมีเวลาแวะชมศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ที่รวบรวมมาจากทั่วประเทศเพื่อมาวางขายอยู่ในบริเวณร้านขายของที่ระลึกของสยามนิรมิต นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ มุมด้านนอกที่วางประดับตกแต่งของเก่า ของสะสม โบราญที่หาชมได้ยากในปัจจุบันไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพความประทับใจเก็บไ้ว้ร่วมกัน ก่อนที่จะลาจากไปขึ้นรถบริการของทางสยามนิรมิต เพื่อกลับบ้านกันต่อไป

ท่านที่สนใจ ติดตามข่าวสาร การแสดง โปรโมชั่นต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่ ::

สยามนิรมิต กรุงเทพ
สถานที่ตั้ง : 19 ถนนเทียมรวมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320
โทรศัพท์ : +66 2649 9222 แฟกซ์ : +66 2649 9275

เว็บไซด์ : www.siamniramit.comwww.facebook.com/siamniramit

สายลม ที่ผ่านมา

 วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 19.52 น.

ความคิดเห็น