บุญผะเหวด หรือบุญพระเวส หมายถึง บุญพระเวสสันดร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ ชาวอีสานจะนิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ (เดือนมีนาคม) เป็นบุญประจำปีในฮีตสิบสอง ดังที่ปราชญ์อีสานได้ประพันธ์ผญา (บทกลอน) เกี่ยวกับการทำบุญในช่วงเดือนสามและเดือนสี่ไว้ว่า “เถิงเมื่อเดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ตกเมื่อเดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มัทรี” แปลว่า เมื่อถึงเดือนสามพระภิกษุสามเณรจะรอชาวบ้านทำบุญข้าวจี่ และเมื่อถึงเดือนสี่ สามเณรเทศน์กัณฑ์มัทรีในงานบุญมหาชาติ บุญผะเหวดของชาวอีสานถือเป็นงานบุญสำคัญที่จะจัดกันใหญ่โตอย่างจังหวัดร้อยเอ็ดที่เราเห็นอยู่ทุกปี แต่ที่กาฬสินธุ์ในบางหมู่บ้านก็จัดแบบไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน ที่สำคัญที่นี่ชาวบ้านก็มักจะรวมตัวกันมาทำธุงใยแมงมุมที่มีหลากหลายขนาดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้ประดับในงานบุญผะเหวด รวมทั้งธงผะเหวดที่จัดทำและมีการประกวดด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องความงดงามนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะสวยแตกต่างกันไป




ประเพณีบุญผะเหวด เริ่มจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 และจะจัดเป็นประจำทุกปี ช่วงอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บริเวณสวนสมเด็จฯ และบึงพลาญชัย ซึ่งนอกจากจะได้ชมขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองแล้ว ยังได้ร่วมกิจกรรมการทำข้าวปุ้นในสวน และชิมฟรีตลอดทั้งงานอีกด้วย หากใครอยากมาสัมผัสบอกเลยว่าเป็นงานบุญที่เต็มไปด้วยสีสันและความน่ารักจากผู้คนที่นี่อย่างมาก



ขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองทั้ง 13 กัณฑ์ 16 ขบวน ที่ได้รับความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ที่เตรียมพร้อมมาสำหรับงานนี้อย่างเต็มที่ มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ที่เก็บรายละเอียดและผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี แค่เราเริ่มเดินเข้างานก็รับรู้ได้ถึงความศัทธาของคนที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย



แต่ละขบวนจะมีการประดับตกแต่งจากธงผะเหวด ธุงใยแมงมุม พวงดอกสะแบงแห้ง มาลัยข้าวตอก และดอกไม้นานาชนิดที่หาได้ตามฤดูกาลในท้องถิ่น รวมทั้งการแต่งกายของคนร่วมขบวนก็สวยงาม บวกกับรอยยิ้มที่ส่งให้คนที่รอดูขบวนรู้สึกสดชื่นตามไปด้วย เรียกว่ายืนรอดูกันเพลิน ผ่านหน้าเราไปขบวนแล้วขบวนเล่า




ขบวนแห่หนึ่งใน 13 กัณฑ์ ที่ได้รับความนิยมจากผู้คน ที่มีช้างเผือกขนาดใหญ่ โดดเด่นมาก แม้ว่าจะไม่ใช่ช้างจริงๆ ก็ตาม คือ กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ เพราะเป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรให้ช้างเผือกแก่พราหมณ์ทั้ง 8 ที่มาทูลขอ เพื่อกลับไปยังเมืองกลิงคราษฎร์ เพราะที่นั่นฝนแล้ง ซึ่งทุกครั้งที่พระเวสสันดรขี่ช้างคู่บารมีไปไหนก็จะมีฝนโปรยปรายชุ่มฉ่ำไปทั้งแคว้น เมื่อพราหมณ์นำช้างไปถึงเมือง ฝนก็ตกลงมา ส่วนชาวบ้านเมืองสีพีก็มาร้องทุกข์ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากนคร เพราะเกรงว่าภายภาคหน้าอาจจะยกบ้านยกเมืองให้อีกก็เป็นได้




แม้ว่าขบวนแห่จะเริ่มทยอยเดินเข้าเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นระเบียบ อย่างสวยงาม ผู้คนก็ยังคงทยอยเดินทางมาเพื่อร่วมงานอยู่เรื่อยๆ มีทั้งแบบมาเดี่ยว มาคู่ แต่มากันแบบครอบครัวกลุ่มใหญ่ก็มีไม่น้อย ทั้งคนในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากเราจะได้ชมขบวนแห่แล้วสถานที่รอบๆ ก็ถูกประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงามจากดอกไม้แห้งอย่างดอกสะแบง และธุงใยแมงมุมสีสันที่หลากหลาย แม้ว่าวันนี้แดดจะแรงและร้อนมากก็ตาม แต่ด้วยแรงศัทธาที่มี ผู้คนก็เตรียมความพร้อมในการมาร่วมงานเป็นอย่างดี ร่มถูกกางเพื่อบังแดดและผู้คนก็ยืนรอชมขบวนแห่อย่างเป็นระเบียบ ส่วนขบวนแห่ก็เช่นกัน เพราะความศัทธาที่แรงกล้า ทำให้การเดินขบวนไม่ติดขัดใดๆ ขบวนหน้าผ่านไป ขบวนหลังก็ตามกันมาเรื่อยๆ




ภายในงานก็มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี มีพยาบาลอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก สำหรับผู้คนที่มาร่วมงานบุญนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนเราเตรียมความพร้อมที่จะสู้กับแดดที่ร้อนและแรงมาตั้งแต่เช้า ด้วยอุปกรณ์กันแดดทุกส่วน ซึ่งโชคดีมากที่มีร่มจากต้นไม้ใหญ่ให้ได้หลบอยู่รอบๆ บึงพลาญชัย ที่สำคัญแดดร้อนขนาดนี้ แต่เพื่อไม่ให้การชมขบวนขาดช่วง เราก็พกน้ำเพื่อจิบตลอดเวลา ให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ที่สำคัญเราช่วยลดขยะได้ด้วยจากการดื่มน้ำของเรา ด้วยการพกขวดส่วนตัวอยู่แล้ว




เมื่อแดดร่ม ลมตก บรรยากาศที่นี่ก็ยังเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมใจกันออกมาดูการแสดง แสง สี เสียง ชุด พระเวสสันดร ผู้เปี่ยมด้วยบารมี แค่เปิดฉากแรกก็ทำให้เราไม่กล้าลุกออกไปไหน เพราะเดี๋ยวดูไม่รู้เรื่อง เริ่มจากที่พระนางผุสดีที่เมื่อชาติก่อน เคยถวายจันทน์หอมเป็นพุทธบูชาและอธิษฐานขอให้ได้เป็นพุทธมารดาพระพุทธเจ้า เมื่อนางสิ้นใจก็ไปเกิดในเทวโลก เมื่อถึงเวลาที่ต้องมาจุติในโลกมนุษย์ พระอินทร์ได้ประทานพรสิบประการแก่นางด้วย ซึ่งพระนางได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสญชัยแห่งเมืองสีพี จนพระนางได้ทรงประสูตรพระโอรสนามว่า พระเวสสันดร




ซึ่งในระหว่างนั้นช้างต้นของพระเจ้าสญชัยก็ตกลูกเป็นช้างเผือกเพศผู้ ได้ชื่อว่า ปัจจัยนาเคนทร์ ช้างต้นคู่บุญบารมีของพระเวสสันดร เมื่อพระกุมารเจริญวัยขึ้นทรงมีจิตใจยินดีในการบริจาคทาน จนเติบใหญ่ และเสวยราชสมบัติพร้อมทั้งอภิเษกสมรสกับพระนางมัทรี มีพระราชโอรสชาลี และพระราชธิดากัณหา หลังจากนั้นก็มีพาหมณ์ทั้ง 8 คนมาทูลขอช้างคู่บุญ เพื่อไปยังเมืองกลิงคราษฎร์ ซึ่งพระเวสสันดรก็โปรดประทานให้ตามที่ขอ ทำให้ชาวเมืองไม่พอใจ และขับไล่ให้พระเวสสันดรออกจากเมืองสีพีไป ซึ่งพระองค์ก็ทรงขอโอกาสบริจาคทานครั้งใหญ่ก่อนที่จะเสด็จออกจากพระนคร การทำพิธี สัตตสตกมหาทาน คือการบริจาคทานเจ็ดสิ่ง สิ่งละเจ็ดร้อย ได้แก่ช้าง ม้า รถ และสตรี เป็นการแสดงที่ทำให้เราเข้าใจง่าย และสนุกมาก จนผู้ชมที่มีตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนไปถึงผู้เฒ่าผู้แก่ดูกันอย่างใจจดใจจ่อ เต็มอิ่มงานบุญวันนี้ได้เป็นอย่างดี




รุ่งขึ้นเป็นเช้าวันงานวันสุดท้ายกับพิธีแห่ข้าวพันก้อนที่เริ่มตั้งแต่ ช่วงตี 4 ครึ่ง ซึ่งมีผู้คนพร้อมใจกันแต่งกายชุดขาวมาร่าวพิธี ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวปั้น วางไว้ตามจุดต่างๆ ทั้ง 8 ทิศ ที่มีตะกร้าตั้งไว้ จำนวน 1,000 ก้อน เพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า ”ข้าวพันก้อน” มีหัวหน้ากล่าวคำบูชา “นะโม นะไม จอมไตรปิฎก ยกออกมาเทศนาธรรม ขันหมากเบ็งงานสะพาส ข้าวพันก้อนอาดบูชา ซาเฮาซา สามดวงยอดแก้ว ข้าไหว้แล้วถวายอาดบูชา สาธุ” แม้ว่าเราจะฟังหลายคำในบทสวดไม่ค่อยรู้เรื่องแต่เราก็รู้ได้ถึงความตั้งใจของทุกคนที่มาในงานบุญนี้ รวมทั้งเราด้วยเช่นกัน




สถานที่ถูกตกแต่งด้วยดอกตะแบงแห้ง ปลาตะเพียนที่สานจากใบมะพร้าว และสิ่งของที่หาได้จากชุมชน รวมทั้งของเหลือใช้ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างลงตัว ส่วนคนที่นำข้าวเหนียวมาใส่ ก็มีทั้งกระติ๊บเล็ก กระติ๊บใหญ่ แบบธรรมดาที่เราคุ้นเคย และแบบใหม่ที่มีการทำลวดลายอย่างสวยงาม และสดใส บางคนถือมาหลายกระติ๊บ แต่บางคนก็ถืออันใหญ่มาอันเดียว หรืออย่างคุณยายแก่หน่อยก็ใส่อย่างเดียว เพราะจะมีคนมาช่วยถือตะกร้าให้




งานนี้เป็นงานบุญที่บอกเลยว่าเต็มไปด้วยความน่ารักของบรรดาผู้คนที่มาร่วมงาน จากการเห็นข้าวเหนียวที่นำมาในงานแทบจะทุกคน ใส่ภาชนะที่มีอยู่ในบ้าน และที่สำคัญเป็นสิ่งของที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกระติ๊บ ตระกร้า เครื่องเงินที่คล้ายกระเป๋า หรือแม้นแต่ขันที่เราคุ้นเคย อิ่มบุญ อิ่มใจ แบบไม่สร้างขยะ ทำทุกอย่างตามวิถีที่ใช้ในทุกๆ วันแบบเรียบง่าย



ไม่ว่าในงานจะมีผู้คนมาเดี่ยว มาคู่ แต่งกายนุ่งขาว ห่มขาว หรือหลากสีสัน พร้อมข้าวที่นำมาอยู่ในภาชนะแตกต่างกัน แต่มีจุดหมายเดียวกัน คือการมาร่วมงานบุญ งานใหญ่ในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นงานที่จัดเช้ามาก แต่คนที่มาร่วมก็มีทุกเพศทุกวัย และหลากช่วงอายุจริงๆ ซึ่งแต่ละคนที่มาก็รู้ได้เลยว่ามีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ใบหน้าอิ่มเอม และก็คงอิ่มบุญไปตามๆ กันอย่างแน่นอน เพราะเรามาครั้งแรกยังรับรู้ได้เลย




หลังจากที่นำข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนใส่ตามจุดต่างๆ จนข้าวหมดแล้ว เราก็เตรียมตัวที่จะมานั่งฟังเทศน์สังกาด คือการเทศน์บอกปีศักราช เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนาเริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน ซึ่งเราสามารถเลือกหาที่นั่งตามใจชอบ มีทั้งแบบที่เป็นเก้าอี้ และที่ปูเป็นเสื่อก็สามารถนั่งได้ ส่วนตะกร้า ขัน หรือภาชนะที่ทุกคนใส่ข้าวถือมาก็วางอยู่ข้างๆ ตัว ดูน่ารักไปอีกแบบ จนแอบคิดว่าถ้าคนกรุงเดินถือตะกร้าแบบนี้ไปใส่ของตามท้องตลาดก็คงเหมือนย้อนอดีตกลับไปให้เหมือนสมัยก่อน ซึ่งบอกเลยตะกร้าที่คุณยายถือแต่ละใบของแต่ละคน งดงามมาก




เมื่อเทศน์สังกาดจบทุกคนก็จะนำอาหารมาใส่บาตร ซึ่งบางคนก็เตรียมของมารอตั้งแต่เช้า ใส่มาจนเต็มตะกร้า และกระติ๊บ ซึ่งจะมีการจัดสถานที่เตรียมไว้ให้เป็นโต๊ะยาว คุณยายหน้าตาอิ่มเอิบ ยิ้มแย้ม ทักทายคนมาเที่ยวอย่างเราจนไม่รู้สึกขัดเขินที่ร่วมอยู่ในงาน หลังจากที่ใส่บาตรเสร็จ ก็จะมีการเริ่มเทศน์ผะเหวด โดยเริ่ม จากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงนครกัณฑ์ รวมทั้งหมดสิบสามกัณฑ์ ซึ่งต้องใช้เวลาตลอดทั้งวันจนถึงค่ำ มีความเชื่อกันว่าหากใครฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร จบผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์มาก จบแล้วจัดขันขอขมาโทษพระสงฆ์ให้พรเป็นอันเสร็จพิธี




และในวันนี้ชาวบ้านชาวเมืองจะแห่กัณฑ์หลอนมาร่วมถวายกัณฑ์เทศน์ตลอดทั้งวัน กัณฑ์เทศน์จะมี 2 ลักษณะ

กัณฑ์หลอน เป็นการแห่กัณฑ์เทศน์มาถึงบริเวณที่พระกำลังเทศน์ก็ถวายกัณฑ์เทศน์โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็นพระสงฆ์รูปใด ส่วน กัณฑ์จอบ เป็นกัณฑ์เทศน์ที่กลุ่มผู้ถวายปรารถนาจะถวายเฉพาะภิกษุที่ตนชอบ เคารพศรัทธา จึงมีการส่งคนไปสอดแนมว่าขึ้นเทศน์หรือยัง ภาษาอีสานเรียกว่า “จอบ” คือแอบดู จึงเรียกกัณฑ์เทศน์ประเภทนี้ว่า “กัณฑ์จอบ” เป็นการส่งท้ายงานบุญแบบสนุกสนาน ผู้คนที่มาร่วมงานยังคงแต่งตัวด้วยผ้าพื้นเมือง ที่มีลวดลายสวยงาม บอกเลยว่าหลายต่อหลายครั้งที่เรามัวแต่มองชุดที่ชาวบ้านใส่มาร่วมงานจนเพลิน ประหนึ่งว่าเป็นงานประกวดลวดลายผ้าเลยก็ว่าได้ ซึ่งกิจกรรมท้ายนี้ แม้ว่าจะทำท่ามกลางแสงแดดที่ร้อน และแรงมาก แต่ใบหน้าผู้คนที่มาร่วมงานกลับเต็มไปด้วยรอยยิ้ม จนทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมไปด้วย



ส่วนข้าวปุ้นที่เราจะเห็นตามหน้าบ้านในช่วงที่มีงานบุณก็คือ บุญข้าวปุ้น เป็นงานบุญงานหนึ่งที่อยู่ในประเพณีบุญผะเหวด เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวอีสาน ซึ่งงานบุญ ชาวบ้านจะทำข้าวปุ้น เพื่อไปตักบาตรที่วัดและต้อนรับแขกที่มาเยือนเป็นอาหารประจำงานบุญเลยก็ว่าได้ หากใครไม่ได้กินถือว่ายังไม่ได้ร่วมงานบุญนั้น ข้าวปุ้นมีความสำคัญ คือ เส้นที่ยาวแสดงถึงความเหนียวแน่น กลมเกลียว มีความรักความสามัคคีซึ่งกันและกัน โดยในสมัยก่อนเวลามีงานบุญชาวบ้านจะช่วยกันลงแรงทำข้าวปุ้น ตั้งแต่ช่วยกันตำ ช่วยกันบีบ จนออกมาเป็นเส้นข้าวปุ้น แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้มีการทำขั้นตอนนี้แล้ว แต่ความรัก ความสามัคคีของชาวบ้านก็ไม่ได้น้อยลงไปเลย จึงมีคำกล่าวที่ว่า “กินข้าวปุ้น บุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ” และบอกเลยว่าพวกเรานั้นก็ไม่พลาดในการกินข้าวปุ้นที่เขาทำมาวางไว้ตามหน้าบ้าน หรือหน้าร้านขายของ พร้อมด้วยน้ำยารสเด็ด กับผักเครื่องเคียงแบบตักได้ไม่อั้นด้วยนะ แต่เราก็กินแบบพออิ่มอย่างน้อยก็แสดงว่าเรามาร่วมงานบุญในครั้งนี้ด้วย






ไหนๆ ก็มาถึงที่แล้วนอกจากเที่ยวงานบุญผะเหวดก็เลยถือโอกาสเที่ยวตามแหล่งที่น่าสนใจของสองจังหวัดนี้ด้วยเลย เพราะในการออกเดินทาง แม้ว่าจะมีโอกาสได้ออกเดินทางบ่อยๆ แต่ภาคอีสานเป็นภาคที่ไม่ได้เดินทางมาสักเท่าไร เรียกว่าน่าจะน้อยที่สุดในบรรดาภาคต่างๆ จังหวัดร้อยเอ็ดบอกเลยว่าไม่มีข้อมูลอะไรในหัวเลย ส่วนกาฬสินธุ์ยิ่งน้อยมากที่จะรู้ว่าจังหวัดนี้มีอะไร รู้แค่เพียงว่ามีวิถีวัฒนธรรมที่มากมาย และงดงามไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ก็เท่านั้น ซึ่งครั้งนี้ก็ดีใจที่เราจะได้ไปในจังหวัดที่เราไม่รู้เลยว่ามีอะไร และอยากไปแบบข้อมูลไม่ต้องแน่นมากก็ได้ เพราะอยากไปสัมผัสมากกว่าแค่ได้รู้ข้อมูล พร้อมเปิดใจและจะเรียนรู้ในทุกอย่างที่เป็นร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ซึ่งเราจะได้เจอแน่ๆ



การเดินทางของเราค่อนข้างเช้าสักหน่อยเพื่ออย่างน้อยจะได้ไปสัมผัสวิถียามเช้าของคนเมืองนี้อย่างเต็มที่ สายการบินแอร์เอเชีย พาเราออกเดินทางจากดอนเมืองถึงสนามบินร้อยเอ็ดในเวลาไม่มาก มีอาหารและเครื่องดื่มที่สั่งไว้ล่วงหน้าสำหรับคนที่ไม่ได้ทานมื้อเช้ามาด้วย ทานให้เรียบร้อยบนเครื่องเลย ลงเครื่องจะได้เที่ยวต่ออย่างสบายไร้กังวลและไม่เพิ่มขยะ เพราะเขาจะไม่แจกถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้นะ แต่ถ้าใครจำเป็นต้องใช้จริงๆ มีถุงผ้าเล็กๆ น่ารักให้ในราคา 10 บาท สามารถนำเอาไปใช้ต่อได้อีก เราลงเครื่องแล้วขึ้นรถตู้ต่อ เพื่อไปรู้ ไปเห็นกับเมืองนี้ เมืองร้อยเอ็ด




เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ ต่อศักดิ์ สุทธิสา ประธานกลุ่มเมืองไม้บาติก ที่เล่าประวัติของที่นี่ให้เราฟังคร่าวๆ ว่า เรียนจบด้านศิลปะมาและตอนนี้ก็ยังเป็นครูสอนศิลปะอีกด้วย ได้มีโอกาสไปอบรมเกี่ยวกับงานบาติกในระยะสั้นๆ จากวิทยากรที่มาจากทางภาคใต้ ซึ่งได้เรียนรู้การทำผ้าเช็ดหน้าอย่างเดียวเลย โดยหลังจากนั้นก็ทำเป็นงานอดิเรกและแจกเป็นของขวัญ จนมีลูกค้าจากญี่ปุ่นนำผ้าไหมมาให้ลองเพ้นต์ดู และมีงานเพ้นท์บนผ้าไหมที่ได้เอาไปโชว์ในงานศิลปหัตถกรรมที่ขอนแก่น ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นก็เลยเน้นงานเพ้นต์บาติกบนผ้าไหมเรื่อยมา อาจารย์เป็นคนชอบงานไม้ ไปเจอที่ไหนก็เก็บสะสมไว้เรื่อยๆ มีงานทีก็จะขนไม้ต่างๆ เอามารวมกัน เป็นจำนวนมาก ก็เลยเกิดเป็นเมืองไม้จึงเอามารวมกับคำว่า บาติก และเกิดเป็นเมืองไม้บาติกจนถึงปัจจุบัน อาจารย์ได้พาเราไปจุดทำงานบาติก ให้ได้ทำผ้าบาติกด้วยเช่นกัน แต่ละคนไม่รอช้า ลงมือทำทันที ตั้งแต่ขั้นตอนแรก โดยเริ่มจากการร่างลวดลายที่เราชอบ ใช้จินตนาการได้เต็มที่




แต่ถ้าใครคิดว่ายังไม่ถนัด อยากลงสีอย่างเดียวก็สามารถบอกลวดลายหรือมีแบบให้อาจารย์ช่วยร่างให้ก็ได้ ก่อนที่จะทำการเขียนเทียนตามลายเส้นที่เราได้วาดไว้ ขั้นตอนนี้ดูเหมือนรวดเร็วมาก เพราะมีลุงช่วยเขียนเทียนให้ จากนั้นก็ถึงหน้าที่เราต้องทำให้เต็มที่ แม้ว่าจะมีการแบ่งช่องจากเส้นเทียนแต่การที่ไม่เคยระบายสีก็ทำให้หลายคนใช้เวลาในขั้นตอนนี้นานสักหน่อย ใครลงทึบก็เลือกสีแล้วใช้พู่กันจุ่มมาระบายในส่วนที่ต้องการได้เลย แต่ใครที่อยากไล่สีก็ต้องลงน้ำก่อน ใส่สีแรกลงไปตามด้วยอีกสีที่ต้องการ ทำไปลุ้นไป มีเสียงฮือฮากันตลอดเวลา ระบายออกนอกช่องกันก็เยอะ แต่นี่แหละ งานชิ้นเดียวในโลก ฝีมือเราเอง สามารถใช้เทียนเขียนชื่อลงบนผลงานได้ด้วยนะ แต่ต้องเป็นส่วนผ้าสีขาวที่ยังไม่ได้ลงสี สำหรับเรามือใหม่ลงแค่ผ้าป่านก็ลุ้นจะแย่ นี่นึกไม่ออกเลยว่าถ้าต้องลงผ้าไหมต้องฝึกฝนมานานและใจรักมากแค่ไหนถึงทำออกมางดงามขนาดนั้น พอลงสีจนเต็มพื้นสีขาวแล้วก็นำไปตาก ก่อนที่จะนำไปต้มเอาเทียนออก บอกเลยว่าลุ้นมาก ซึ่งผลงานที่เราทำได้ถูกส่งมาให้ยังที่พัก ให้ได้ชื่นชม สวยงามทุกผืนอยู่แล้ว งานที่มีชิ้นเดียวในโลก




ผลิตภัณฑ์ที่เมืองไม้บาติกผลิตนั้นจะเน้นไปทางผ้าไหมลูกแก้ว แต่ก็ยังคงมีบาติกสีสันสดใสอย่างที่เราคุ้นเคยด้วย ซึ่งที่นี่จะมีการทำบนผ้าไหมสีเข้ม เน้นไปทางโทนทึบๆ มากกว่า ส่วนลวดลายก็จะเน้นความเป็นอีสานชัดเจน อย่างลายดอกอินทนิล ดอกสีม่วง เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด รวมไปถึงลายใยแมงมุม ที่เป็นสัญลักษณ์ของงานบุญผะเหวดอีกด้วย แม้ว่าวิธีการทำจะคล้ายๆ เดิม แต่ก็จะมีขั้นตอนยุ่งยาก และใช้เวลาสักหน่อยในการทำผ้าไหม ตอนเราไปเลือกซื้อถ้าเห็นราคาก็อย่าตกใจเพราะมันคุ้มค่าและพิถีพิถันในการทำแต่ละขั้นตอนมาก ตั้งแต่การทอผ้าที่สั่งตรงจากชาวบ้าน ที่เริ่มต้นตั้งแต่การเลี้ยงไหม กว่าจะได้แต่ละผืนต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์จะเน้นเป็นผ้าคลุมไหล่มากกว่า แต่ก็มีอย่างอื่นให้เลือกซื้อด้วย




ที่เมืองไม้บาติกนอกจากจะรับทำผลิตภัณฑ์ตามแบบที่สั่งแล้ว ก็ยังเปิดสอนผู้คนที่สนใจอยากมาทำผ้าบาติกอีกด้วย ซึ่งจะคิดราคาต่อหัว หลักสูตรหนึ่งวัน ได้ทำทั้งผ้าบาติก และผ้ามัดย้อมจากฝีมือตัวเอง มีอาหารกลางวันและขนมเบรคตอนบ่ายด้วยนะ ที่สำคัญมีน้ำให้ดื่มได้ตลอด มีแก้วมาวางตั้งให้ข้างๆ ถังน้ำหมักเลม่อนเลย กดดื่มสดชื่นมาก น้ำเย็นๆ หอมเลม่อนอ่อนๆ แถมไม่เพิ่มขยะจากแก้วที่ดื่มน้ำด้วย ชื่นใจจากเรื่องเล็กๆ ส่วนอีกที่ที่เราควรจะต้องมาเมื่อถึงร้อยเอ็ดคือ การมากราบสักการะบูชา พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ที่ประทับยืนเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากระยะไกล เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทย อยู่คู่บ้านคู่เมืองคอยปกป้องคุ้มครองชาวร้อยเอ็ดให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุข ด้วยความสูงขององค์พระทำให้เกิดความเชื่อว่า หากได้มากราบไหว้ จะได้อานิสงส์สูงเทียมเมฆ เทียมฟ้าทำการสิ่งใดก็สำเร็จผลด้วยประการทั้งปวง อีกส่วนที่ดึงดูดสายตาเราตั้งแต่เข้ามาเลยคือ พระพุทธไสยยาสน์ที่อยู่ใต้อาคารที่ปกคลุมไปด้วยรากไม้ของต้นโพธิ์ ที่ตอนนี้แยกกันไม่ออกแล้ว ที่นี่ยังมีอีกหลายส่วนที่น่าสนใจ เพราะมีพื้นที่กว้างขวางให้สามารถเดินดูรอบๆ ได้ วัดนี้เดิมชื่อ วัดหัวรอ เปลี่ยนเป็น วัดบูรพา และเปลี่ยนอีกครั้งที่ใช้จนถึงปัจจุบัน คือ วัดบูรพาภิราม




หลังจากนั้นเราก็มุ่งหน้าไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อไปยังบ้านเสมา เดิมชื่อเมืองฟ้าแดดสงยาม ซึ่งมีวัดโบราณประจำเมืองนี้คือ วัดโพธิ์ชัยเสมาราม พอเราลงจากรถชาวบ้านก็มาต้อนรับเราด้วยพวงมาลัยดอกไม้ และนำไปไหว้พระ กับตีฆ้องใหญ่ก่อนที่จะพาเดินชมรอบๆ บริเวณ



ในระหว่างพาเดินชมและเล่าประวัติความเป็นมาก็มีคุณป้าเอาน้ำมาเสิร์ฟให้เราด้วย น้ำใบเตยเย็นๆ ดื่มจากแก้ว สดชื่นมากๆ ซึ่งในระหว่างที่เราฟังบรรยาย สายตาเราก็มองชุดลุงๆ ป้าๆ ที่แต่งมาด้วย แม้ว่าจะเป็นผ้าพื้นเมืองเหมือนกันแต่ทุกคนจะมีเอกลักษณ์เล็กน้อยที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งบางคนก็ถือตะกร้ามาด้วย ตอนแรกคิดว่าใส่ของอะไรมาขาย แต่เปล่าเลย ตะกร้าที่คุณป้าถือเป็นเหมือนกระเป๋าที่เราเอาไว้ใส่ของส่วนตัวดีดีนี่เอง ดูน่ารักไปอีกแบบ เพราะมันเข้ากับชุดและการแต่งตัวมาก




ที่นี่มีการขุดค้นพบใบเสมาและนำไปเก็บในหลายๆ ที่ ซึ่งบางส่วนก็ยังคงไว้ให้อยู่ในตำแหน่งเดิม บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม และบางส่วนก็ได้เริ่มนำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฟ้าแดด ที่ทำขึ้นมาแบบเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยใบเสมาหินทรายอายุกว่าพันปี ซึ่งบางใบก็ยังคงเห็นภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติอย่างชัดเจน แต่บางใบก็ดูเลือนลางมาก โดยที่นี่มีจุดเช็คอินด้วยนะ อยู่ข้างๆ พิพิธภัณฑ์เลย เป็นจุดที่ทำให้เราตื่นเต้นและอยากเช็คอินจริงๆ เพราะตรงนี้เต็มไปด้วยธุงใยแมงมุม ที่มีสีสันมากมาย และหลายขนาด




เรารีบเดินตรงเข้าไปยังจุดที่มีแคร่นั่งไม้ไผ่ปูด้วยผ้าขาวม้าหลายลวดลาย ตัดกับสีของธุงใยแมงมุมที่นำมาประดับตกแต่งที่อยู่ด้านข้างได้อย่างลงตัว มีตั้งแต่อันเล็กๆ อย่างปิ่นปักผม ใช้แขวนตกแต่งตามงานพิธีต่างๆ รวมทั้งเป็นเครื่องสักการะ เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งธุงใยแมงมุมจะทำจากเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ผูกโยงกันคล้ายๆใยแมงมุม และเราก็มีโอกาสได้ลองทำด้วยเช่นกัน มีให้เลือกทำหลายขนาดเลย อย่างเราทำอันเล็กๆ อย่างปิ่นปักผมก็พอ เริ่มจากนำไม้มาขัดกัน 3 อัน และเริ่มจากการพันเส้นฝ้ายตามสีที่ชอบได้เลย ใครเลือกไม่ถูกก็ทำตามแบบที่มีก็ได้ แค่เริ่มพันไม้ให้มันได้ 6 มุมแบบเท่าๆ กัน ยังยากเลย ทำไปดูไป ขอให้ทำให้ดูอีกหลายๆ รอบ อันเล็กแต่ไม่ง่ายเลย เสียงสนทนาของเราเริ่มเงียบลงเรื่อยๆ จนแทบจะแทนที่ด้วยเสียงถอนหายใจ กว่าจะได้หนึ่งอันต้องมีสติและใช้สมาธิเป็นอย่างมาก ในขณะที่กำลังใจจดใจจ่อนั่งทำของตัวเองอยู่นั้น ก็เงยหน้ามามองพวกป้าๆ ที่ทั้งสอนและทำไปด้วย อ้าวเสร็จไปหลายอันแล้วเรายังคงวนอยู่กับอันแรกอยู่เลย ส่วนกลุ่มข้างๆ ก็ทำธุงใยแมงมุมเช่นกันแต่เป็นอันใหญ่กว่าใช้เส้นไหมพัน ดูเหมือนง่ายกว่าเรา ซึ่งมันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ยากพอกันแค่คนละขนาด หลังจากนั้นเราก็หันมาตั้งใจของตัวเองจนเสร็จ




ผลงานของคนสอนเสร็จแล้ว ทั้งๆ ที่ทำพร้อมๆ กัน สวยงามตามท้องเรื่อง ทั้ง 6 มุมเท่ากันเป๊ะ ส่วนของเรานะเหรอก็ต้องสวยอยู่แล้วเช่นกันจากการช่วยเหลือเป็นระยะๆ แต่เรื่องสีเราเลือกเองล้วนๆ ซึ่งก็ใช้สีที่มีเกือบทั้งหมดนั่นแหละ แม้ว่าดูไปดูมามันจะดูทรงแปลกๆ กว่าต้นฉบับไปหน่อยนะ เป็นปิ่นปักผมที่ขนาดใหญ่กว่านิ๊ดนึง แต่ก็ภูมิใจที่ทำได้ หลังจากที่ทุกคนทำจนเสร็จแล้ว ได้คนละหนึ่งชิ้นงาน ก็ได้เวลาพักและเที่ยงพอดี ถาดขันโตกที่เต็มไปด้วยอาหารพื้นเมืองแบบเรียบง่าย อย่างน้ำพริก ผักต้ม และปลา ข้าวเหนียวร้อนๆ หมดไปคนละหลายห่อ อิ่มแบบพอดีๆ พร้อมไปทำภารกิจต่อ




เราเดินทางไปยังพระธาตุยาคูเพื่อรำบูชาพร้อมกันกับชาวบ้านที่จัดเตรียมผ้าถุงมาให้เราเปลี่ยนด้วย พอไปถึงบริเวณลานด้านหน้าพระธาตุก็เต็มไปด้วยธุงที่นำมาปักบูชามากมาย แม้ว่าวันที่เราไปธุงจะถูกถอดออกลงไปเยอะแล้ว หลังจากสนุกกับการวิ่งในทะเลธุง เราก็เปลี่ยนใส่ผ้าถุงและพร้อมที่ รำบูชาพระธาตุยาคู ซึ่งบอกเลยว่าหวั่นใจมาก แน่ใจเหรอที่จะให้พวกเราร่วมรำด้วย แต่พอจัดเรียงแถวและเสียงเพลงมาเราทุกคนก็พร้อมรำตาม ป้าๆ แบบที่ดูเก้ๆ กังๆ ไปสักหน่อยในช่วงแรก แต่พอจับจังหวะได้ก็เริ่มผ่อนคลายไปได้หน่อย และจบลงไปได้ด้วยดีเป็นเกียรติแก่พวกเรามากที่ได้มา ร่วมรำบูชาพระธาตุยาคู ในครั้งนี้




ไหนๆ วันนี้เราก็มาเที่ยวที่กาฬสินธุ์จนเกือบค่ำ ก็เลยปิดท้ายมื้อเย็นที่ ตลาดโรงสี ซึ่งดัดแปลงมาจากโรงสีข้าวสมัยก่อน ให้กลายเป็นแหล่งรวมร้านค้า และร้านอาหาร ของกิน ของฝากมากมาย ภายในจะแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ด้านซ้ายก็จะเป็นโซนของโรงสีมีหลังคาและชั้นบนให้เดินดูได้ ส่วนชั้นล่างเป็นร้านค้าที่ขายอาหารท้องถิ่นหลากหลาย ด้านขวาจะเป็นโต๊ะนั่งลานกลางแจ้ง สามารถซื้ออาหารตามร้านต่างๆ มาได้ มีเวทีแสดงดนตรีและงานศิลปะ อย่างงานปั้นรูปไดโนเสาร์ ที่ดึงดูดให้ใครต่อใครเดินไปถ่ายรูปด้วย ที่สำคัญที่นี่มีการจัดการถังขยะที่ใหญ่และเด่นพอสมควร โดยมีรูปแสดงในการให้แยกขยะที่จะทิ้งด้วย เราไปทิ้งก็แค่ทิ้งให้ถูกฝั่งเพื่อการจัดการที่ง่ายต่อไป





แต่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเมื่อเราเข้ามาเที่ยวที่จังหวัดกาฬสินธ์ุ เราควรมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากที่นี่ให้ได้สักครั้งกับการเดินชมพิพิธภัณฑ์ แม้นว่าหลายต่อหลายครั้งที่เรามักจะคิดว่าสิ่งที่มาใหม่จะมีคุณค่ากับเรามากกว่าสิ่งเก่า แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีสิ่งเก่าอีกหลายอย่างที่เรารู้สึกว่ายิ่งค้นเจอ ยิ่งได้รู้ คือ การขุดค้นพบ ไดโนเสาร์ ของจังหวัดนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีการอ้างอิงจากแหล่งต่างๆ มันทำให้เราตื่นเต้นและลุ้นทุกครั้งว่า จะเป็นตัวที่มีอยู่แล้ว หรือตัวใหม่ นอกจากที่เราจะรู้ประวัติศาสตร์แล้วเราก็ยังรู้จักโลกที่เราอยู่มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งในทางกลับกันที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมาย ดูเหมือนทุกคนจะทันสมัย ก้าวไปทันโลก แต่หลายสิ่งที่เราทำกลับทำลายโลกซะมากกว่า สิ่งใหม่ที่เราใช้กันอย่างเคยชินอย่างพลาสติก ทั้งๆ ที่มันเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เมื่อมนุษย์เริ่มใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาเคมี และทำพลาสติกขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1868 ซึ่งมันดูเป็นเหมือนว่ามาช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้นจากการมีมัน และเราก็ใช้กัน จนเคยชิน และอยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เราออกจากบ้าน เราก็สามารถสร้างขยะให้เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบางอย่างมันยังไม่คุ้มค่าที่นำมาใช้ก็ต้องทิ้งให้กลายเป็นขยะแล้ว และดูเหมือนว่าขยะพลาสติกยังคงเกิดขึ้นทุกวันและไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย ในแต่ละวันจะมีขยะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและไหลลงสู่ทะเลกว่า 8 ล้านตัน กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับสัตว์อย่างที่เราเห็นตามข่าวอยู่ทุกวี่วัน และถ้าวันนี้เรายังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและลดใช้พลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขยะพลาสติกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีวันจบ แล้วเราจะตื่นเต้นไหมกับการขุดค้นเจอมันในอีก 450 ปีข้างหน้า หรือแม้ว่าบางตัวจะย่อยสลายไปจนกลายเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ว มันจะยังทิ้งสารตกค้างอย่างไมโครพลาสติกที่มีพิษต่อคนและสัตว์ไปอีกนานแค่ไหน วันนี้คุณพร้อมแล้วรึยัง ที่จะช่วยกัน ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อไม่ให้มันเป็นตัวทำลายโลกไปมากกว่านี้




พิพิธภัณฑ์สิรินธร เดิมชื่อ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่ที่ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายในตัวอาคารนิทรรศการได้จัดแสดงเกี่ยวกับยุคเริ่มแรกการกำเนิดโลก จนเกิดวิวัฒนนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ทั้งหมด 8 โซน การจัดนิทรรศการภายในแต่ละโซนให้เดินวนเป็นก้นหอย (แอมโมไนต์) หรือฟอสซิลหอย โดยเริ่มจากการต้อนรับและพาเราเดินชมตั้งแต่โซน 1 จักรวาลและโลก รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ และไดโนเสาร์ด้วย โดยยึดทฤษฎีการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาล ส่วนนี้จะแสดงในห้องที่มืดให้เสมือนอยู่ในช่วงเกิดสุริยะจักรวาลจริงๆ จากนั้นเราได้ไปเรียนรู้มาตราธรณีกาลที่มีการจัดแสดงอยู่ที่พื้น ซึ่งธรณีกาลเป็นชื่อเรียกระยะช่วงเวลา ได้แบ่งเป็น บรมยุค มหายุค ยุค และสมัย ทำให้เรารู้ว่าโลกเราได้ถือกำเนิดมาแล้ว 4,600 ล้านปี และได้ค้นพบว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคแรกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหน้าตาคล้ายหนูซึ่งถือกำเนิดมาเมื่อ 65 ล้านปี มีชื่อเรียกว่า Hypothetical Placental Ancestor ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นตัวการในการแพร่เชื้อจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธ์ก็เป็นได้




เราเดินชมนิทรรศการไปเรื่อยๆ จนถึง โซนที่ 4.1 มีโซโซอิก มหายุคแห่งสัตว์เลี้อยคลานและไดโนเสาร์ ทุกอย่างเริ่มทำให้เราตื่นเต้นกับสิ่งที่จัดแสดง ทั้งโครงไดโนเสาร์ที่ห้อยอยู่ข้างบนอย่างอีลาสโมซอรัส พลาทิยูรัส ที่มีลำคอยาวถึงห้าเมตร ลำตัวอ้วนใหญ่ หางสั้น มีขาทั้งสี่เป็นครีบ ซึ่งดูไปดูมาพวกมันก็เหมือนกับเต่าทะเลที่ไม่มีกระดอง ส่วนด้านล่างก็มีภาพจำลองที่ปั้นและจัดแสดงได้อย่างสวยงาม ทำให้เราเห็นภาพ ตั้งแต่ยุคกำเนิดไดโนเสาร์ มหายุคมีโซโซอิก 65-225 ล้านปี

แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคไทรแอสซิก ยุคจูแรสซิก และยุคครีเทเชียส ซึ่งในยุคไทรแอสซิก มีสภาพอากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ทำให้ต้นไม้ในเขตร้อนสามารถเจริญเติบโตได้ดี จนกระทั่งไดโนเสาร์ตัวแรกกำเนิดขึ้น และกลายเป็นผู้ครองโลก เป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ วิวัฒนาการขึ้นจากสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งทวีจำนวนและชนิดกระทั่งสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก ยุคนี้จะมีพวกสน เฟิร์น ทำให้มีพวกไดโนเสาร์กินพืชคอยาวมีเยอะมากอย่างพวกตระกูลซอโรพอด จนมาถึงยุคทองของบรรดาสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ อย่างที่หลายคนรูจักดีอย่าง ไทรันโนซอรัส เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ พืชนานาชนิดเริ่มออกดอกบานสะพรั่งงดงาม และสมบูรณ์ที่สุดสมกับที่เป็นยุคทอง


อีกส่วนที่เราเดินชมอย่างช้าๆ คือ โซน 4.2 ไดโนเสาร์ไทย มีการจัดแสดงโครงกระดูกของภูเวียงโกซอรัส สิริรธรเน เป็นสัตว์เลื้อยคลานยักษ์แห่งภูเวียง เป็นไดโนเสาร์กินพืช คอยาว นอกจากนี้ยังมีอิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานมาก่อนเป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ เดิน 4 ขา คอยาว หางยาว ซึ่งเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ และชนิดใหม่ ส่วนฮิปซิโลโพดอน เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กมีต้นขาสั้นและมีกระดูกหน้าแข้งยาวทำให้สามารถกระโดดได้ไกล และวิ่งเร็วมาก จุดนี้มันยิ่งทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าเราตัวเล็กมาก นี่เห็นแค่กระดูกยังรู้สึถึงความยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ถ้าเราได้เจอตัวจริงจะรู้สึกขนาดไหน ส่วนในโซน 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์ ที่มีทั้งโครงกระดูกจำลองกับภาพวาดด้านหลังที่ทำให้เราเห็นว่าหน้าตาจริงๆ จะเป็นเช่นไร มีทั้งแบบที่กินพืชและกินเนื้อ ดูง่ายๆ ตัวไหนกินอะไรจากฟันของตัวนั้นๆ ส่วนแบบที่แหลมคมก็รู้ได้เลยว่าเป็นสัตว์กินเนื้อ




เรายังคงเดินชมไปเรื่อยๆ พร้อมคำบรรยายตลอดทางให้เราได้รับความรู้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญเราได้เพลิดเพลินกับจุดต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจทำแต่ละจุด ในแต่ละส่วนได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับรู้เรื่องไดโนเสาร์มากขึ้นเยอะเลย เหมือนได้ไปท่องอยู่ในยุคนั้น รวมทั้งโซน 6 ห้องที่คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์ที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ส่วน โซน 7 มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และปิดท้ายด้วย โซน 8 เรื่องของมนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัย ที่มีการแสดงกระโหลกและภาพวาดวิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์




เราปิดท้าย การชมที่อาคารนิทรรศการ ด้วยภาพซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ก่อนที่จะไปชมของจริงที่พิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว วัดสักกะวัน ซึ่งที่นี่มีการขุดค้นสำรวจอย่างเป็นระบบ และพบซากไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากกว่า 700 ชิ้น เป็นไดโนเสาร์กินพืชอย่างน้อย 7 ตัว ทับถมกันอายุประมาณ 130 ล้านปี และมี 1 ตัวที่เป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ มีเพียงส่วนหัวเท่านั้นที่ขาดหายไป นับเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์กินพืช สกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก ชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ซึ่งช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเริ่มมีการขุดเพิ่มเติมอีกครั้ง และเจอซากชิ้นส่วนหัว ซึ่งต้องใช้เวลาในการขุดและศึกษากันต่อไป ว่าเป็นส่วนหัวของตัวไหน และเป็นพันธ์ุอะไร นี่แค่ได้ยินยังตื่นเต้นขนาดนี้ แล้วคนที่ขุดจะตื่นเต้นขนาดไหน แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์มาทางด้านนี้โดยตรง แต่การได้มายืนอยู่ตรงจุดที่มีการขุดค้นพบไดโนเสาร์ รับรู้ได้เลยว่ามันเป็นการขุดค้นเจอที่ยิ่งใหญ่ และน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ในทางกลับกันถ้าพลาสติกที่เราใช้ๆ กันอยู่แบบที่ไม่คิดถึงอนาคตของลูกหลาน เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปีแล้วมีการขุดค้นพบพลาสติกที่เราทิ้งพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร มันถึงเวลาแล้วรึยังที่พวกเราควรจริงจังกับการลดใช้พลาสติก




ในการที่เราจะเริ่มทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทุกอย่างมันต้องเริ่มจากตัวเรา จากสิ่งเล็กๆ ที่ดูเหมือนว่าจะช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่เชื่อไหมว่าการพกหลอดส่วนตัวที่สามารถล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป ไม่ว่าวันวันหนึ่งเราดื่มน้ำกี่แก้ว จะสั่งน้ำหวาน ชา หรือกาแฟ อีกกี่ร้าน เราก็ลดการสร้างขยะชิ้นเล็กชิ้นนี้ไปด้วย มันเป็นขยะชิ้นเล็กก็จริง แต่กว่ามันจะย่อนสลายก็ต้องใช้เวลา 400-450 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีสัตว์น้ำเสียชีวิตจากการกินหลอดไปเป็นจำนวนมาก เพราะสัตว์เหล่านี้กระเพราะมันไม่สามารถย่อยได้ ชิ้นเล็กแต่อันตราย จนสามารถฆ่าสัตว์ได้ ไม่ต้องคิดถึงคนเลยถ้ากินเข้าไปก็คงไม่ต่างจากสัตว์แน่ๆ แล้วแบบนี้มันถึงเวลารึยัง กับการงดใช้หลอดพลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง




แม้ว่าหลายคนจะบอกว่ามันอาจจะดูยุ่งยากไปสักหน่อยกับการพกแก้ว หรือกระบอกน้ำส่วนตัวไปไหนต่อไหนก็ตาม แต่สมัยนี้ก็มีกระบอกน้ำให้เลือกมากมาย ที่สะดวกกับการพกพา รวมทั้งหลายแบบที่สามารถเก็บความเย็นและทำให้น้ำแข็งละลายช้าได้ตรงตามความต้องการของแต่ละคน หยิบติดตัว ใส่กระเป๋า แค่นี้ไปดื่มน้ำที่ไหนก็นำกลับได้แบบสบาย ไม่ต้องกลัวหกเลอะเทอะ แถมไม่ต้องหาถังขยะให้วุ่นวายใจ เพราะทั้งแก้วพลาสติก ฝาคลอบ รวมทั้งถุงหูหิ้วก็ต้องใช้เวลานานถึง 450 ปี ที่ไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ มันจะย่อยสลายไปหมดหรือไม่




ในยุคปัจจุบันมีการเปิดร้านกาแฟอย่างมากมาย ตอนที่เราเดินเข้าร้านนี้ก็ไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากร้านอื่นๆ สักเท่าไร ก็ยังมีการใช้หลอดพลาสติก แก้วนำกลับที่เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่เมื่อเราไปนั่งและสั่งจนเริ่มเห็นความน่ารักในอีกหลายๆ สิ่ง จากแก้วน้ำเปล่าที่ใช้เป็นอลูมิเนียม ส่วนในการเสิร์ฟเราเลือกทานที่ร้าน แต่ละเมนูก็ถูกเสิร์ฟมาแบบไม่ใช่พลาสติกเลย อย่างกาแฟร้อนก็เป็นแก้วเซรามิค จาน ช้อนส้อม มีด เป็นแบบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด เสิร์ฟมาพร้อมครัวซองรสเด็ดหลากหลายไส้ให้ได้ลอง ทำให้เราถ่ายรูปกันเพลิน ร้านนี้มีผู้คนทยอยเข้ามาอุดหนุนเรื่อยๆ เพราะนอกจากเมนูน้ำ และขนมก็ยังมีอาหารคาวอีกหลากหลายแนวให้เราได้ชิม เรียกว่ามาทั้งครอบครัวนั่งได้ทั้งวัน ร้านนี้อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดชื่อ Been Around cafe and bar ร้านน่ารัก คนขายอัธยาศัยดี อยากบอกต่อ




หากว่าการเข้าร้านกาแฟที่ไม่ได้มีแค่กาแฟเป็นเหมือนการพักผ่อน หลบแดด และไม่ได้เร่งรีบอะไร เราก็จะสั่งเป็นแก้วเพื่อทานที่ร้าน ให้ใช้แก้วที่ไม่ใช่พลาสติก เพราะการเสิร์ฟจากแก้วใสๆ ถ่ายรูปมายังไงก็ดูสวยกว่า แถมในการดื่มหนึ่งครั้งลดขยะจากการดื่มไปได้ตั้งหลายชิ้น ถ้าทุกคนช่วยกันวันหนึ่งมันก็ลดไปได้มาก เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ช่วยกันทีละน้อย หยิบถุงผ้าหนึ่งใบ กระบอกน้ำหนึ่งอัน เพิ่มกล่องเล็กๆ อีกอันก็เข้าท่า ใส่ติดกระเป๋าไปด้วยทุกที่ แค่นี้เราก็ลดการสร้างขยะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปตั้งหลายชิ้น สัตว์ที่ต้องตายเพราะกินขยะอาจจะน้อยลงจากการเป็นข่าวอย่างทุกวันนี้




ตอนนี้ในหลายๆ ที่ หลายๆ คนก็ตระหนักถึงเรื่องนี้เหมือนเช่นกันกับเรา และหลายครั้งที่เราเห็นผู้คนหันมาถือปิ่นโต ตระกร้าไม้ ติดมือเพื่อไปซื้อของในตลาด ก็ทำให้เราอมยิ้มทุกครั้งที่ได้เห็น เหมือนเราย้อนกลับไปในยุคสมัยเก่า ที่ใช้วัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นที่หาได้ง่าย และยิ่งน่าภูมิใจไปใหญ่ที่แม่ค้าบางร้านก็ยังคงใช้ใบตองในการวางของขาย คิดดูถ้าเป็นแบบนี้ทั้งตลาด ทำกันทุกร้าน ภาพที่เราเห็นคงน่ารักมากกว่านี้อีกเยอะเลย แม้ว่าการเริ่มทำช่วงแรกๆ บางคนก็อาจจะมองแปลกๆ และดูว่าเราเรื่องเยอะ แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ แม่ค้าบางคนก็จะเริ่มยิ้มให้เรา แถมได้ส่วนลดอีกด้วย เห็นไหมแค่ไม่สร้างขยะก็มีแต่เรื่องดีๆ และที่มันดีกว่านั้นคือ หลายคนก็เริ่มลงมือทำแล้วเช่นกัน เริ่มเล็กๆ เริ่มที่ตัวเรา




ขอบคุณทุกสิ่งที่ทำให้เราได้ออกเดินทางไปยังจังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่เราไม่เคยคิดว่ามันมีประวัติศาสตร์หลายอย่างที่น่าค้นหา ยิ่งได้เรียนรู้ ยิ่งรักเมืองนี้ หากมีโอกาสเราคงได้พบกันอีกไม่ช้าก็เร็ว เพราะการเดินทางไปยังสองจังหวัดนี้ก็ง่ายมาก และประหยัดเวลาอีกด้วย บินตรง ถึงเร็ว อย่าลังเลเลยหากคิดว่าจะไปจงรีบไป เพราะนั่นจะทำให้เรารู้สึกอิ่มใจแม้ว่าจะกลับมาแล้วก็ตาม อยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก แค่เริ่มออกเดินทาง แบบรักษ์โลก




ติดตามรีวิวอื่นๆ ของเราได้ที่ http://www.rsatieow.com

ความคิดเห็น