• ตีพิมพ์แล้วใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2561 ในชื่อบทความ "11,762 ก้าวบนเส้นทางเจริญกรุง"
  • ได้รับอนุญาตในการนำลงเว็บไซต์นี้แล้ว โดย text ทั้งหมดในบันทึกนี้เป็นต้นฉบับก่อนการ Edit โดยบรรณาธิการ
  • ผู้เขียน - วนิดา แก่นจันทร์

เคยไหมคะ ที่เดินทางไปในพื้นที่หนึ่งอยู่บ่อยครั้ง อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เราก็เห็นอยู่หลายหน เห็นว่าก็เป็นแบบนั้น แบบนี้ด้วยความธรรมดาตามแบบที่มันเป็น แต่ใครจะไปรู้... ว่าสถานที่นั้น อาคารหลังนั้น จะมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ... วันนี้เรามีโอกาสเดินเท้าหมื่นกว่าก้าว เพื่อไปดู ไปเห็น และเข้าใจกับเรื่องราวที่เดิมรู้เพียงผิวเผินให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น... กับ "ศิลปะอิสลามบนเส้นทางเจริญกรุง"


ก้าวที่ 0

โปรแกรมการเดินทางเพื่อดูศิลปะอิสลามของฉันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มจากเห็นโพสต์ใน Facebook ชี้ชวนให้เรากดเข้าอ่านกิจกรรม Walk with The Cloud 07 Islamic Art ที่จะพาทุกคนเดินชมศิลปะอิสลามในย่านเจริญกรุง... ฉันไม่รีรอรีบกดเข้าอ่านรายละเอียด เข้าต่อเข้าไปกรอกแบบฟอร์มใบสมัครเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทันที และฉันก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้คนที่จะได้ร่วมสัมผัสความลึกซึ้งของศิลปะอิสลามด้วยกัน...

เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา พวกเราถูกนัดหมายกันที่สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย ซอยเจริญกรุง 36 ผู้คนเริ่มทยอยกันเข้ามา ต่างทักทายกันอย่างเป็นมิตร บ้างมาร่วมเดินกันแล้วหลายครั้ง บ้างก็มาเป็นครั้งแรก...

เอกสารประกอบการเดินในวันนี้

อะไรคือเสน่ห์ของการเดินเท้าไปหาสิ่งใหม่ ประสบการณ์ใหม่ และอะไรคือมูลเหตุที่ทำให้เว็บไซต์หนึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการปลุกระดมคนในร่วมเดินไปกับเขา ทรงกลด บางยี่ขัน อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day (แน่นอนฉันเองก็เป็นแฟนคลับนิยตสารหัวนี้อยู่ด้วย) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Cloud ได้เดินไปเล่าไปให้ฟังว่า...

"The Cloud เป็นเว็บไซต์ แต่เราไม่อยากสื่อสารเรื่องผ่านแค่ตัวหนังสือ หรือวิดีโอเท่านั้น เราคิดว่าการทำสื่อยุคใหม่มันควรจะใช้ประเภทของสื่อที่หลากหลาย และการเดินทางสามารถนำมาใช้เล่าเรื่องแต่ละอย่างได้ดี เราจึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเดินเที่ยวที่กรุงเทพฯ ชื่อ Walk with The Cloud เป็นกิจกรรมที่เราจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ผ่านการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งตั้งแต่ครั้งแรกจนมาครั้งที่ 7 ก็มีคนสมัครเข้ามาเยอะจนน่าตกใจเลยครับ ทุกๆ ครั้งเรารับคนเพียง 30 คนเพื่อได้คนที่สนใจจริง ๆ แต่มีครั้งที่มีคนสมัครเข้ามามากที่สุดกว่า 700 คน แสดงว่าสถานที่ที่เราไปมีคนสนใจมากมาย และมีทั้งคนที่พาลูก ๆ มาร่วมด้วย คนที่พาคุณพ่อคุณแม่มาร่วมเดินด้วยก็มีครับ แต่สิ่งที่ทำให้เห็นเลยก็คือ เว็บไซต์ก็เป็นพื้นที่ ที่เหมือนจะทำให้คนอยู่ในสังคมก้มหน้า คนอยู่กับมือถือตัดขาดจากโลกภายนอก แต่สุดท้ายแล้วเว็บไซต์ก็ทำให้คนได้เจอเพื่อนใหม่ ได้ใช้เวลากับครอบครัวด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ได้ค้นพบครับ"

เมื่อได้เวลารวมตัว ทรงกลดกล่าวเปิดงาน และให้พวกเราทุกคนได้แนะนำตัวเองให้เพื่อนผู้ร่วมทริปได้รู้จักกันถ้วนหน้า มองไปบนท้องฟ้าเห็นก้อนเมฆลอยเอื่อยๆ สีฟ้าของท้องฟ้าบอกกับฉันว่า รีบออกเดินเท้ากันได้แล้ว ฟ้ากำลังสวย แดดกำลังดี ลมกำลังพัด ไปเถอะ ออกไปเก็บประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ กัน!!


สถาบันอันยุมันอิสลาม


ก่อนการเดินเท้า วิทยากรให้ข้อมูลเบื้องต้นเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน


ผู้เชี่ยวชาญการเขียนอักษรประดิษฐ์ หรือ Calligraphy


Calligraphy คำนี้อ่านว่า วนิดา


เอกสารสำคัญ และข้าวของเครื่องใช้เดิมต่างๆ ยังถูกเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

  • ก้าวที่ 5,882

ทริปเดินเท้าชมศิลปะอิสลามบนเส้นทางเจริญกรุง เริ่มต้นที่สมาคมอันยุมันอิสลาม ก่อนจะเดินต่อไปยังมัสยิดฮารูณ ที่มัสยิดแห่งนี้นับว่าเป็นแหล่งรวมมุสลิมหลากเชื้อชาติ เพราะด้วยพื้นที่ตั้งถูกห้อมล้อมด้วยชุมชนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ มัสยิดฮารูณจึงเป็นแห่งเดียวในเมืองไทย ที่เทศน์วันศุกร์ด้วยภาษา 3 ภาษา ไทย อาหรับ และภาษาอังกฤษ ความงดงามที่เรียบง่ายของศิลปะภายในมัสยิดแห่งนี้ ยังทำให้ฉันเปิดโลกทรรศ์ใหม่ เพราะลวดลายประดับโถงละหมาดสีทองสวยบนพื้นสีเขียวที่อยู่บนฝาผนังรายรอบห้องอยู่นั้น คืออักษรประดิษฐ์ หรือ Islamic Calligraphy ถ้อยคำช่วงต้นของคัมภีร์อัลกุรอาน ในสไตล์การเขียนแบบมูซันนา หรือการสะท้อนสองด้านอย่างสมมาตรกัน...

ศาสนาอิสลามห้ามมีรูปเคารพ หรือสัญลักษณ์แทนตัวพระผู้เป็นเจ้า แล้วอะไรคือศิลปะอิสลาม?

การเดินเท้าเข้าร่วมชมศิลปะอิสลามในครั้งนี้ ทำให้ฉันได้ทำความเข้าใจ... เอกลักษณ์ของศิลปะอิสลามอยู่ที่รูปทรงและลวดลาย มี 3 องค์ประกอบหลักในการออกแบบคือการใช้เรขาคณิต การใช้ตัวอักษร โดยนำข้อความมาจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน มาประดิษฐ์ให้เกิดเป็นลวดลวย และการสร้างแพตเทิร์นลายเถาไม้อย่างอาหรับ...

ศิลปะเป็นสิ่งที่อ่อนโยน และทรงพลังในคราวเดียวกัน การนำศิลปะเชื่อมโยงกับศาสนาจึงเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องที่อาจจะยากให้ง่ายมากขึ้น ด้าน สุนิต จุฑามาศ นักวิจัยด้านโบราณคดีอิสลาม หนึ่งในวิทยากรนำเดินเท้าในครั้งนี้ เสริมต่อถึงที่มาที่ไปในการเดินชมศิลปะในครั้งนี้อีกด้วยว่า...

"ผมมองว่า ด้วยความที่ในปัจจุบัน ในสื่อหลายๆ อย่าง อิสลามถูกมองเป็นภาพลบไปหมดเลย จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นแกนหลักของศาสนา ไม่ใช่ตัวที่จะนำเสนอหลักการของศาสนาออกมา ผมเรียนโบราณคดีมาผมก็เลยมองว่า ทำไมเราไม่ลองมองศาสนาผ่านความสวยงามล่ะ มองผ่านศิลปะต่างๆ ผมว่ามันเป็นประตูหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจศาสนาได้ครับ"

ซ้าย-วรพจน์ ไวยเวทา และขวา-สุนิติ จุฑามา


ลวยลาย Calligraphy เทคนิคมูซันนา ที่มัสยิดฮารูณ


ก้าวที่ 11,762

พวกเราสมาชิก Walk with The Cloud ชมศิลปะอิสลามกันมาตลอดเส้นทางเจริญกรุง ทั้งเดินเท้าหลายกิโลเมตร บ้างขึ้นรถสองแถวเพื่อไปยังจุดหมายต่อไปซึ่งอยู่ไกลเกินการเดิน พวกเรานั่งรถสองแถวมายังมัสยิดดารุ้ลอาบิดีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ มัสยิดตรอกจันทน์ ด้วยตั้งอยู่บนถนนจันทน์ไม่ไกลจากแยกตรอกจันทน์เท่าใดนัก มัสยิดแห่งนี้มีูรูปทรงคล้ายปราสาท เพราะมีหออาซานตั้งทั้ง 4 ด้านของตัวอาคาร จุดเด่นอีกอย่างคือภายในโถงละหมาดโล่งกว้าง เพราะมัสยิดแห่งนี้ไม่มีเสาเข็ม รากฐานของมัสยิดคือโอ่งใส่ทรายวางเรียงต่อกัน จากการออกแบบของสถาปนิกที่คำนวณมาอย่างดีทำให้ไม่ว่าจะไฟไหม้ หรือรถวิ่งผ่านสักเท่าไหร่ มัสยิดแห่งนี้ก็ยังไม่เคยพังเลยสักครั้ง...

พวกเราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ แนวคิดและหลักศาสนา ตลอดจนเรื่องราววิถีชีวิตของคนในชุมชน เดินเท้าเรื่อยมาจนถึงจุดหมายสุดท้าย...

มัสยิดบางอุทิศ มัสยิดซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และประเทศตุรกี ด้วยเพราะต่างฝ่ายเคยได้รับการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จุดเด่นของมัสยิดแห่งนี้คือตราสัญลักษณ์ของจักรวรรดิออตโตมัน ที่อยู่เหนือทางเข้า...

เดินทางกันมาทั้งวัน เมื่อถาม วรพจน์ ไวยเวทา เลขานุการสถาบันศิลปะอิสลามถึงผลลัพท์ที่ได้จากการเดินชมศิลปะอิสลามในครั้งนี้ วรพจน์กล่าวว่า...

"ในวันนี้มีคนที่สนใจทั้งที่ไม่ใช่มุสลิม หรือเป็นมุสลิมเดิมอยู่แล้วให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทำให้เราได้เปิดมุมมอง ได้บรรยาย ได้แบ่งปันความรู้ต่าง ๆ แลกเปลี่ยนกัน เมื่อเราเห็นศิลปะเราก็จะเห็นวิถีชีวิต เมื่อเราเห็นวิถีชีวิตแล้วก็จะเห็นความงามของวัฒนธรรมต่าง ๆ หรือสิ่งที่มันมีความแตกต่างกันทางความเชื่อ แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีความเป็นคนไทยที่อยู่ร่วมกันในสังคมนี้อย่างมีความสุขเป็นเวลานาน ในอนาคตข้างหน้าเราก็หวังว่าจะมีความเข้าใจกันมากขึ้น นำไปสู่ความสงบสันติในภายภาคหน้า"

ความสวยงามของลวยลายศิลปะอิสลามที่มัสยิดบางอุทิศ


มัสยิดดารุ้ลอาบิดีน


มัสยิดบางอุทิศ


การเดินชมศิลปะอิสลามในวันนี้ สำหรับฉันนับเป็นก้าวแรกในการทำความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์
เข้าใจสังคมและวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากศาสนาที่นับถือ
เพราะสิ่งที่ฉันหวังในอนาคตคงไม่ต่างไปจากทุกคน...
ความสงบสุข และความปลอดภัย... และจะทำอย่างไรให้โลกสงบสุข
นอกจากการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน แม้จะต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์
หากมีความเข้าใจในธรรมชาติของทุกฝ่ายแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น


Checklist > > Walk with The Cloud – Islamic Art

ชมความสวยงามของศิลปะอิสลาม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านมัสยิดโบราณและอาคารเก่าบนเส้นทางย่านเจริญกรุง ที่ฉันได้ไปนั้น ประกอบด้วยสถานที่อายุกว่า 100 ปีมากมายที่ตั้งตะหง่านอยู่ร่วมกับชุมชน บางสถานที่อยู่ในซอยหากไม่เข้าไปคงมองไม่เห็น บางสถานที่ก็ตั้งเด่นอยู่ริมถนนเชิญชวนให้แวะเวียนเข้าไปทำความรู้จัก

1. สถาบันอันยุมันอิสลาม

บ้านไม้หลังสีเขียวหลังนี้เป็นบ้านพักของอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย ปัจจุบันสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยเข้ามาดูและ และปลุกให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอิสลามอีกครั้ง

2. มัสยิดฮารูณ

โดดเด่นด้วยอักษรประดิษฐ์ ถ้อยคำช่วงต้นของคัมภีร์อัลกุรอาน ในสไตล์การเขียนแบบมูซันนา หรือการสะท้อนสองด้านอย่างสมมาตรกัน

3. มัสยิดบ้านอู่

มัสยิดเก่าแก่ย่านอู่ต่อเรือแห่งนี้ ได้ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ด้านในโถงละหมาดนับเป็นแห่งเดียวที่มีลวดลายอักษรประดิษฐ์ชื่อสาวกทั้งสิบของท่านนบีมุฮัมหมัด

4. มัสยิดยะวา

ความพิเศษของมัสยิดแห่งนี้ คือมีหลังคามัสยิดซ้อนกัน 2 ชั้นคล้ายคลึงกับ จันทิ ศาสนสถานของฮินดู ซึ่งรูปทรงมัสยิดแบบนี้จะพบเห็นยากในเมืองไทย สำหรับที่มัสยิดยะวายังคงรูปทรงไว้เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชาวชวา อันเป็นบรรพบุรุษของคนที่นี่นั่นเอง

5. มัสยิดดารุ้ลอาบิดิน

เป็นมัสยิดสร้างโดยไม่ใช้เสาเข็ม และมีหออาซานครบทั้ง 4 ด้านของตัวอาคาร เมื่อมองจากริมถนนแล้วจะพบว่าตัวมัสยิดมีรูปร่างหน้าตาคล้ายปราสาทขนาดเล็ก

6. มูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าของสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทยฯ

แพตเทิร์นแบบมูก็อรอนัส ที่มูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าของสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทยฯ

ตึกของมูลนิธิแบ่งออกเป็น 4 ตึก ตั้งชื่อตามประเทศที่มอบทุนสนับสนุนหลัก คือ ตึกอียิปต์-ซาอุ ตึกคูเวต ตึกมอรอคโค และตึกลิเบีย ความโดดเด่นที่เห็นเด่นชัดจากภายนอกคือรูปทรงที่ตัดทอนแพตเทิร์นแบบมูก็อรอนัส หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของศิลปะอิสลามนั่นเอง

7. มัสยิดบางอุทิศ

ความสวยงามของลวยลายศิลปะอิสลามที่มัสยิดบางอุทิศ

จุดเด่นของมัสยิดแห่งนี้คือตราสัญลักษณ์ของจักรวรรดิออตโตมัน ที่อยู่เหนือทางเข้า ภายในได้ช่างจากตุรกีมาช่วยบูรณะอีกด้วย

ตราสัญลักษณ์จักรวรรดิออตโตมัน



Nida Mailo

 วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 23.01 น.

ความคิดเห็น