"จิบกาแฟแกล้มวรรณกรรม ฮัมเพลงชนเผ่า ฟังเรื่องเล่าจากขุนเขา" คือสโลแกนของโครงการกาแฟโรงเรียนที่ถูกเรียกกันในนามว่า "มาลา กาแฟ"

ครั้งนี้...อายจะพาทุกคนไปลองสัมผัสกับมุมมองใหม่ๆที่อายได้ไปเจอมา และเชื่อว่าทุกคนต้องไม่เคยพบกับอะไรแบบนี้แน่นอน ซึ่งพระเอกตัวหลักที่นำพาพวกเราไปพบกับเรื่องราวสุดตระการตาในบทนี้ นั่นก็คือ "กาแฟ" เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา อายไม่ได้มีแผนเที่ยวอะไร ด้วยความเหงามากเลยหอบผ้าหอบผ่อนหนีผู้ชายกรุงเทพฯ กลับไปหาคุณพ่อสุดหล่อที่เชียงใหม่555 ดูละครมากเว่อร์ (จริงๆช่วงนั้นก็มีข่าวเรื่องฝุ่น PM2.5 แต่ตอนอายไปถึง ฝุ่นก็น้อยลงแล้วค่ะ) เริ่มเดินทางกันเลย...

เรื่องมันเริ่มจากที่อายนั่งอยู่ในบ้านเฉยๆ เนื่องจากไม่มีแพลนในวันหยุด พ่อเลยถามว่าอยากทำอะไร อยากไปที่ไหนเป็นพิเศษมั้ย เราก็ตอบไปแบบมึนๆว่าไม่รู้ดิ หมดแพสชั่น555 อยากพาไปไหนก็ไปเลย ได้หมด พ่อนิ่งไปครู่นึงแล้วก็พูดว่า "ป่ะ...คั่วกาแฟกัน"

ณ ศุนย์วิจัยชุมชนฟาร์มรักษ์ . . .

พ่อเปิดกระชุ (ตะกร้าสานจากไม้)ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดกาแฟกะลาที่ยังไม่ผ่านการกระเทาะเปลือกสีเหลืองนวลอ่อน ถมกองพะเนินขึ้นมาจนเกือบเต็มกระชุ กาแฟโฮมเมดหอมๆของที่นี่ก็เริ่มมาจากเจ้าพวกนี้นี่แหละ จากนั้นพ่อก็เริ่มเล่าเรื่อง...ที่อายเคยฟังมาแล้วหลายครั้ง แต่วันนี้จะไม่แค่ฟังแล้วเก็บไว้คนเดียว ขอแชร์ต่อให้ทุกคนได้ฟังกันนะคะ

คุณพ่อ หรือที่ทุกคนเรียกันว่า "ผู้กอง" ได้ให้กำเนิดโครงการกาแฟโรงเรียนนี้ขึ้นมาเพราะมีเหตุพัดพาให้ต้องไปเจอคุณครูคนหนึ่ง ชื่อครูต้า เป็นครูโรงเรียนบ้านสินชัย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นดอยอ่างขาง ในชุมชนชาวไทยใหญ่เชื้อสายจีนยูนนาน ห่างจากตัวเมืองไปหลายร้อยกิโล ครูต้าอายุยังน้อย แต่ไฟแรง ต้องการช่วยเหลือเด็กๆบนดอยให้มีโอกาสในชีวิต และห่างไกลยาเสพติด

เพราะชุมชนบ้านสินชัยนี้จัดเป็นพื้นที่สีแดงของประเทศไทย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใช้ในการลักลอบขนยาเสพติดจากชายแดน หมู่บ้านนี้ก็จะมีทหารและตำรวจตระเวนชายแดนคอยตรวจตราอยู่เป็นระยะ 

แต่ก็นะ...ปัญหามันก็ไม่ได้ถูกแก้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีผลมาจากระบบข้าราชการไทย

อายเคยได้มีโอกาสมาที่นี่ครั้งหนึ่ง ที่นี่เองที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นดี สายพันธุ์อาราบิก้า ปลูกแบบอินทรีย์ในแหล่งที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,300 กิโลเมตร แต่เป็นการปลูกแบบทิ้งขว้าง ต้นกาแฟขึ้นตามป่าเขากระจัดกระจายอยู่หลายพันต้น จนเรียกได้ว่าเป็นกาแฟออแกนิคอย่างแท้จริง 

เพื่อตอบสนองแนวคิดของครูต้า โครงการกาแฟโรงเรียนจึงถูกคิดขึ้นจากที่นี่เป็นที่แรก เพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนมีการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติจริง และสร้างโอกาสให้กับเด็กๆและชุมชนที่นี่ด้วย

แต่โครงการเมื่อถูกริเริ่มก็ได้มีการขยายผลต่อจากชุมชนชาวเขาจีนยูนนาน ไปยังโรงเรียนบ้านทุ่งหลวงซึ่ง 95% เด็กนักเรียนเป็นชาวเขา หรือ กะเหรี่ยงเผ่าปกาเกอะญอ

เราค้นพบว่าที่ชุมชนบ้านทุ่งหลวงก็มีการปลูกกาแฟเช่นกัน เป็นกาแฟที่ขึ้นตามป่าด้วยกรรมวิธีแบบอินทรีย์ 100% แล้วยังเป็นกาแฟพันธุ์พระราชทานจากในหลวงร.9 ที่ทรงนำพันธุ์กาแฟมาจากโคลัมเบียอีกด้วย

ในระหว่างที่กระเทาะเปลือกกาแฟกะลาเพื่อเตรียมนำเมล็ดไปคั่ว...ผู้กองเล่าต่อว่า...แต่โครงการนี้ก็ได้รับความเมตตาจากศิลปินล้านนา "พ่อครูมาลา คำจันทร์" ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรด์ ได้เข้ามาร่วมกันผลักดันให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นผ่านงานเขียน ซึ่งทำให้คนที่มาดื่มดำกับกาแฟออแกนิคได้อรรถรสเพิ่มขึ้นจากการอ่านเรื่องราวในหนังสือด้วย จึงเป็นที่มาของ "จิบกาแฟแกล้มวรรณกรรมจาก...มาลา กาแฟ"

เมล็ดกาแฟในหม้อคั่วดินเผาเริ่มส่งกลิ่นหอมกรุ่น การคั่วด้วยกรรมวิธีนี้จะทำให้เราสามารถเลือกระดับของรสชาติได้ตั้งแต่คั่วอ่อนรสเปรี้ยว ไปจนถึงคั่วเข้มรสข้น ตามเฉดสีของเมล็ดกาแฟ

บางคนสงสัยว่าทำไมเราต้องใช้หม้อคั่วที่ทำจากดินเผาซึ่งใช้เวลานาน ทำไมไม่ใช้เครื่องคั่วไฟฟ้าซึ่งช่วยให้คั่วกาแฟได้เร็วกว่าและไม่เปลืองแรง คำตอบคือ...วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้ทุกคนที่อยากคั่วกาแฟสามารถนำอุปกรณ์นี้ไปใช้คั่วกาแฟโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้บรรยากาศความเป็นธรรมชาติที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ที่สำคัญการคั่วด้วยหม้อดินเผาซึ่งจะช่วยให้ความร้อนค่อยๆซึมไปในเมล็ดกาแฟ ทำให้น้ำมันเคลือบผิวเมล็ดกาแฟมีความหอม ไม่เหม็นไหม้จนเสียรสชาติ และสามารถดึงศักยภาพของมนุษย์ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่โดยไม่พึ่งเทคโนโลยี

นี่ก็คือหน้าตาของหม้อคั่วจ้า ถูกออกแบบใหม่โดยผู้กอง ประยุกต์มาจากศิลปะล้านนา

ผสมผสานให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งาน

เล่าต่อ...แต่สุดท้ายแล้ว มาลากาแฟพยายามอยู่ 3 ปี ไม่ประสบความสำเร็จกับกาแฟโรงเรียนที่อยู่ในระบบ เนื่องจากระบบการศึกษาไทยที่มักเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนตามวาระ (ซึ่งน้อยคนจะทำเพื่อส่วนรวม) และมักจะต้องรองบประมาณเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ 

ไม่มีงบ = ไม่มีกิจกรรม

มาลากาแฟที่โรงเรียนบ้านสินชัย และโรงเรียนทบ้านทุ่งหลวงจึงหยุดชะงักไปเพราะผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน

มาลากาแฟ ได้เดินทางไปพบกับปกาเกอะญอคนหนึ่งชื่อ “เก่อเส่ทู ดินุ” แต่เราเรียกเขาว่า "ครูคิขุ" ไม่ใช่อะไรอะเพราะเรียกยาก555 ซึ่งไม่ได้เป็นคุณครูจริงๆโดยสายอาชีพ แต่เป็นครูด้วยจิตใจ 

ครูคิขุอยู่ในชุมชนบ้านหนองเต่าไม่ห่างจากโรงเรียนบ้านทุ่งหลวงเท่าไร เป็นครูสอนดนตรีพื้นเมืองให้กับเด็กๆในหมู่บ้าน แต่สิ่งที่ฉุกใจเราคือครูคิขุสอนเด็กๆฟรี ไม่คิดเงิน แล้วนอกจากจะสอนดนตรีแล้ว ครูคิขุยังสอนเด็กๆให้รู้จักรักษ์บ้านเกิดรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการพาทีมเด็กๆไปเก็บขยะตามป่าที่คนมาทิ้งเอาไว้เกลื่อนกลาด และก่อตั้งวงดนตรีขยะลอแอะขึ้นมา เพื่อเล่นดนตรี (เพื่อชักจูงความสนใจของเด็กๆ) และดึงมาช่วยกันเก็บขยะ

จะเรียกได้ว่าที่นี่เป็นโรงเรียนนอกระบบก็ว่าได้เพราะเด็กๆ ที่อยู่กับครูคิขุ มักจะเป็นเด็กที่โรงเรียนต่างบอกว่าเป็นเด็กไร้ความสามารถ เรียนไม่เก่ง เป็นเด็กหลังห้อง แต่หลังจากมาอยู่กับครูคิขุ เราถึงได้รู้ว่าเด็กพวกนี้ก็แค่ ปลาที่ปีนต้นไม้ไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง
เมื่อมาลากาแฟได้พบครูคิขุ ระเบิดที่อยู่ภายในใจจึงถูกจุดขึ้น ครูคิขุได้มาร่วมกับโครงการและพาเด็กๆเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างทางและโอกาสในอาชีพให้เด็กๆในอนาคต

หากใครที่อยากชิมกาแฟอินทรีย์คั่วสด จากชาวเขาก็ต้องขึ้นไปชิมเองกับเด็กๆที่หมู่บ้านนี้ เพราะนอกจากจะได้ชิมกาแฟดีๆแล้ว ผู้ที่ขึ้นไปยังจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตปกาเกอะญอแบบดั้งเดิมด้วย

ทุกกรรมวิธีของมาลากาแฟถูกทำด้วยมือตั้งแต่การแกะเมล็ด คั่วและบด ซึ่งถ้าใครที่ได้มาเยี่ยมก็สามารถลองทำเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วยังสามารถซื้อชุดคั่วกาแฟกลับไปทำเองที่บ้านได้ด้วย

เครื่องบดเมล็ดกาแฟ แบบบดด้วยมือจ้า

มาแล้ววว...ผงกาแฟที่ได้จากเครื่องบดมือ

ทีนี้มาชมกาแฟฝีมืออายกัน อิอิ ที่นี่เขาดื่มกาแฟกันเพื่อสุขภาพ ดังนั้น เราจึงไม่ใช้น้ำตาลนะคะ แต่ใช้น้ำผึ้งแทนความหวาน ใส่เพียงเล็กน้อยให้พอทานได้สำหรับคนไม่เคยดื่มกาแฟ รับรองได้ว่าหลับสบาย ใจไม่สั่นเหมือนกาแฟที่เราเคยดื่มแน่นอน



ถ้าจะเอาให้เข้าคอนเซ็ปของมาลากาแฟต้องไปหาวรรณกรรมสักเล่มมาอ่านแล้วจ้า ซึงถ้าจะให้เข้ากับเรื่องราวที่อายจะพาทุกคนไปเจอ ขอยกวรรณกรรมเยาวชนของพ่อครูมาลา คำจันทร์ เรื่อง "ลูกป่า" มาอ่านแกล้มกาแฟถ้วยนี้แล้วกันนะคะ

สำหรับใครที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์วิจัยชุมชนฟาร์มรักษ์ ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้การสาธิตด้านสัมมาชีพ รวมไปถึงศูนย์สาธิตมาลากาแฟ ซึ่งไม่ได้มีแค่กาแฟร้อนแบบดั้งเดิมอย่างเดียว กาแฟเย็นก็มีนะ


ถ้าใครอยากลอง Ice Americano Soda หรือ Coffee Juice เพิ่มความสดชื่น

มาลองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มรักษ์ บ้านกาด อ.แม่วางค่ะ

พูดถึง ศูนย์วิจัยชุมชนฟาร์มรักษ์ ที่นี่มีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ต้องการมาจัดอบรมด้วยนะคะ
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีแผนการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร สามารถจัดสรรเลือกแผนเองได้
ภายใต้ "concept : Eco-Voluntourism by local people" การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งเป็นไอเดียการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ณ สถานที่ที่เราไปเที่ยวผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ จากคนพื้นที่ด้วย

ศูนย์วิจัยชุมชนฟาร์มรักษ์เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสัมมาชีพ หลักๆคือเรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นแหล่งให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติจริง แปลงผักสาธิตและโรงคั่วกาแฟ ทุกคนสามารถมาลองใช้ชีวิตปลูกผัก คั่วกาแฟ และเรียนศิลปะจากกากกาแฟได้ที่นี่ค่ะ

ศูนย์วิจัยชุมชนฟาร์มรักษ์ หน้าตาก็จะประมาณนี้เป็นบ้านไม้ทรงไทยโบราณคลาสิค หาที่ไหนไม่ได้แล้วเด้อ ออกแบบและอำนวยการสร้างโดนสล่าสอน หรือ ปู่สอน แต่โบราณแค่ภายนอกเท่านั้นนะ จริงๆที่นี่เทคโนโลยีพร้อม ทั้งวายฟาย น้ำอุ่นและแอร์คอนดิชั่น คืนนี้เราจะนอนที่นี่กัน (แต่เอาจริงนะ กลางคืนหนาวมากแทบไม่ต้องเปิดแอร์นอนเลย5555)

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คุยทั้งวันก็ไม่จบ และฟังอย่างเดียวคงไม่เห็นภาพ...พ่อเราเลยบอกว่าวันต่อไปจะพาขึ้นดอยหนองเต่าไปหาครูคิขุและเด็กๆ ไปฟังเรื่องราวจากชาวเขาตัวเป็นๆเลยดีกว่า

ณ ชุมชนบ้านหนองเต่า . . .

เช้าวันนี้พ่อจะพาเราขึ้นดอยหนองเต่าไปหาครูคิขุ
ขึ้นไประหว่างทางในช่วงสาย ก็พบกับทีมของครูคิกขุและเด็กๆ พร้อมกับรถขนขยะคู่ใจของพวกเขาพอดี เราเลยแวะไปทำกิจกรรมกับพวกเขาด้วยเลยแล้วกัน

น้องๆกำลังตั้งใจเก็บกันมาก ครูคิขุเล่าให้ฟังว่าตอนแรกก็มีเด็กๆที่มาช่วยกันอยู่แค่ 3 คน แต่พอมีเรื่องกาแฟเข้ามาดึงดูด ก็มีเด็กๆหลายคนอยากจะเข้าร่วมกลุ่มด้วย เด็กๆในกลุ่มของครูคิขุนี้จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ครูคิขุเป็นชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านส่วนน้อยที่ได้มีโอกาสไปเรียนในเมืองจนจบปริญญาโท แต่...ครูก็เลือกที่จะกลับมาที่บ้านเกิดของตัวเองเพื่อมาใช้ชีวิตแบบปกาเกอะญอ
ครูคิขุตั้งชื่อกลุ่มว่า "ลอแอะ2" หรือ วงดนตรีเก็บขยะผู้น่ารัก (ลอแอะ แปลว่า น่ารัก) จริงๆเริ่มแรกเป็นวงดนตรีพื้นเมืองเล็กๆ (เครื่องดนตรีพื้นเมืองชื่อเต๊หน่า) ที่ครูคิขุเป็นคนสอนเอง เพื่อสืบสานวัฒนธรรมปกาเกอะญอให้คงอยู่ต่อและทำให้เด็กๆห่างไกลจากยาเสพติด เมื่อเล่นดนตรีแล้วก็ต้องเก็บขยะด้วยเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กๆ แล้วไปต่อยอดพัฒนาสังคม ของพวกเขาต่อไป


สังเกตได้ว่าน้องๆไม่ได้เก็บอย่างเดียว แต่แยกขยะตามประเภทด้วย
ผู้ใหญ่บางคนยังต้องอายจ้า เพราะคนเรามักชอบเหยียดคนด้วยเชื้อชาติ การศึกษาและชนชั้น
แต่การแยกขยะซึ่งเป็นความรู้และจิตสำนึกขั้นพื้นฐานกลับไม่ได้ถูกนำไป "ปฏิบัติจริง" ในกลุ่มคน "บางกลุ่ม" ที่เรียกตัวเองว่า "ผู้มีการศึกษา"

ดังนั้น อายคิดว่าน้องๆกลุ่มนี้น่ายกย่องและควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างให้กับสังคมเรามากๆค่ะ


ทุกคนเหนื่อยแบบนี้ทุกวัน แต่ก็ยังมีคนเอามาทิ้งเรื่อยๆทุกวัน น่าเห็นใจมากๆ เคยถามน้องๆว่าเหนื่อยมั้ย น้องตอบว่า "ก็ต้องเหนื่อยสิ ขยะเยอะมาก พวกผมมีคนน้อยเดียว แต่ผมก็จะเก็บต่อไปนะ จะเก็บขยะต่อไปเรื่อยๆ"
นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่สามารถทำกิจกรรมเก็บขยะร่วมกับน้องๆได้ รับรองเลยว่า ตัวเราจะรู้สึกมีคุณค่ากับสังคมขึ้นมากเลยล่ะ ตอนเราขึ้นไปก็เจอนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้เราได้เจอเพื่อนใหม่เยอะแยะเลย

หลังจากเก็บขยะเราก็ขึ้นมาพักที่โรงคั่วกาแฟมาลาลอแอะ

(ตั้งตามชื่อวงดนตรี แต่ยังคงเป็นโครงการของมาลา กาแฟ)

โรงคั่วตั้งอยู่ใกล้กับแปลงผักออแกนิคที่ครูคิขุปลูก มีหลากหลายชนิดทั้งเบบี้แครอท ผักสลัด เสาวรส อะโวคาโด เลมอน และอื่นๆอีกมากมาย ที่สำคัญ...สามารถเด็ดกินกันสดๆได้ตรงนั้นเลย สุดยอดดด



ทาโร่ ! ! ! นายจะเอาน้องบุ้งมาเล่นแบบนี้ม่ายด้ายยย

หลังจากจิบกาแฟแกล้มวรรณกรรม ฟังเพลงชนเผ่าจากเต๊หน่าแล้ว ก็มาถึงพาร์ทที่จะต้องฟังเรื่องเล่าจากขุนเขาแล้ว


นอกจากเราจะได้ชิมกาแฟอินทรีย์คั่วสด และผักผลไม้อินทรีย์ปลูกเองจากปกาเกอะญอ แล้วเรายังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของพวกเขาด้วยทั้งผ่านการเล่าสู่กันฟังและเสียงดนตรี อายกับน้องนั่งเล่นกันอยู่พักใหญ่ก่อนที่จะชวนกันไปเล่นน้ำที่ลำห้วยลับในหมู่บ้าน

ลำห้วยที่นี่เป็นต้นน้ำของน้ำตกแม่วางที่นักท่องเที่ยวชอบไปล่องแพกันนั่นแหละค่ะ แต่เด็กๆใช้ที่นี่เป็นสระว่ายน้ำไว้เล่นกันหน้าร้อน ลำธารน้ำใสแจ๋วมีปลาตัวเล็กๆว่ายไปมาด้วย ร่มรื่นมากๆ

ระหว่างที่น้องๆเล่นน้ำ ครูคิขุก็เอากระสอบมาเก็บขี้ช้างไปทำปุ๋ย

ใครมาเดินแถวนี้ก็ระวังเหยียบกับระเบิดหน่อยเด้อ

ระหว่างที่เอาขาแช่น้ำเล่นเพลินฟังเสียงเจี๊ยวจ๋าวของเจ้าพวกตัวแสบที่กำลังเล่นน้ำ จอตือปกาเกอะญอเพื่อนครูคิขุก็เด็ดสิ่งนี้มาให้ลองชิม ตอนแรกอายก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร คิดว่าเป็นดอกไม้ป่าธรรมดานั่นแหละ สวยมากกก (กลับมากรุงเทพฯมีผู้รู้บอกว่ามันคือดอกข่าคม หรือ ข่าโคม) ลองชิมดูรสมันค่อนข้างเฝื่อน จอตือบอกว่าถ้าเอาไปแกงก็จะอร่อยมาก

สุดท้ายแล้ว...ประสบการณ์ทั้งหมดที่เล่ามามันยังไม่หมดจริงๆ วันนี้อายเพียงรวบรวมเรื่องราวหลักๆของมาลากาแฟว่ามันมีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นมากแค่ไหน พาย้อนเส้นทางไปหาแหล่งกำเนิดของกาแฟอินทรีย์ที่ไม่ได้มีแค่กาแฟ

แต่กาแฟทุกหยดนั้น...แฝงไปด้วยเรื่องราวของขุนเขา 

ที่ทุกคนต้องมาสัมผัสเองเท่านั้น

สำหรับใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์ดีๆแบบอาย

สามารถเข้าไปติดต่อที่เพจ MALA CAFEI นะคะ

ทางไป "ศูนย์วิจัยชุมชนฟาร์มรักษ์" : https://bit.ly/2O88ZS3

ขอบคุณที่อ่านเรื่องราวยาวเหยียดมาถึงตอนสุดท้าย
อายขอฝากมาลากาแฟ - จิบกาแฟแกล้มวรรณกรรม ฮัมเพลงชนเผ่า ฟังเรื่องราวจากขุนเขา - ไว้ในใจทุกคนด้วยนะคะ ไว้เจอกันใหม่ตอนหน้า สวัสดีค่าาา

ติดตามเรื่องราวการเดินทางแบบนี้ได้อีกใน Facebook fanpage : A Y E S I G H T
หรือ กดเข้าไปที่ โปรไฟล์ของอาย เพื่อเลือกอ่านเรื่องราวดีๆได้เลยนะค้าบบบ

AYESIGHT

 วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 22.19 น.

ความคิดเห็น