ตื่นเต้นและดีใจมากที่ตัดสินใจใส่โปรแกรมเที่ยว "เวียงกุมกาม" ไว้ในทริปเชียงใหม่ครั้งนี้ ที่นี่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก

โบราณสถานเหล่านี้มีอายุถึง 732 ปีแล้วนะคะ (แก่กว่าเชียงใหม่ตั้ง 10 ปี)

ถือว่าเป็นโบราณสถานที่อยู่มายาวนานมาก และอึด ถึก บึกบึน สุดๆ เพราะผ่านการน้ำท่วมในปี 2554 มาแล้วอีกด้วยค่ะ

ป่ะ...ตามข้าพเจ้ามา

เริ่มจาก ศูนย์ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงกุมกาม ตอนที่เราไป ที่นี่เพิ่งเปิดได้ 1 เดือนเท่านั้นค่ะ

การเที่ยวชมเวียงกุมกาม มีรถบริการ 2 แบบค่ะ ที่เห็นในภาพนี้คือรถแทรม เหมาคันละ 400 บาท นั่งเต็มคันก็ได้ 10 กว่าคนอยู่นะคะ มีไกด์อาสา คอยให้ข้อมูลตลอดทางค่ะ

อีกแบบก็คือ การนั่งรถม้าทัวร์รอบ ๆ เวียงกุมกาม คันละ 300 บาทค่ะ นั่งได้ 2 คนค่ะ ตรงนี้คนขับรถม้าจะเป็นผู้บรรยายรายละเอียดให้กับเราค่ะ

สายลุยแบบเรา เลือกรถม้าโดยไม่ลังเล ปรากฏว่า เราได้รถม้าคันนี้ ซึ่งม้าสีขาวที่เทียมรถตัวนี้ เป็นตัวเก๋าของที่นี่เลย ชื่อเจ้าดอกรักค่ะ อายุมากที่สุดในแก๊งค์ คนขับได้เตือนว่า อย่าเข้าใกล้หน้าม้า เดี๋ยวจะโดนงับ นี่แอบเดินไปส่องฟันม้า แล้วก็คิดว่าไม่เสี่ยงจะดีกว่าค่ะ

ตรงนี้เราถามเขาว่า ทำไมเลือกตัวดื้อให้เรา เขาบอกว่า จัดเป็นรอบวนๆกันไป (ซึ่งเราเป็นชาวกุดมณีอยู่แล้ว จะต้องได้ม้าตัวดื้อสุดเป็นธรรมดาค่ะ )

ป.ล. เจ้าดอกรัก รถม้าเบอร์ 13 นะคะ เผื่อใครอยากลองของ

จุดแรกคือ วัดอีค่าง (วัดอีก้าง ในภาษาเหนือ)
วูบแรกที่เห็นคือตื่นเต้นเว่อร์วัง เพราะวัด 732 ปีนี่สมบูรณ์กว่าที่คิดไว้มากๆค่ะ

ชื่อวัดอีค่าง เพราะตอนที่ค้นพบมีตัวค่างมาทำรังอาศัยบนเจดีย์เต็มไปหมด

ต่อด้วยวัดหนานช้าง

การตั้งชื่อวัดเพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหลังนะคะ จากที่คณะโบราณคดี และกรมศิลป์ฯ ไปขุดเจอตามสถานที่ต่าง ๆ ที่วัดฝังตัวอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่จับจองของชาวบ้านในสมัยนั้น

ชื่อ หนานช้าง มาจาก ชายชื่อช้าง ที่เพิ่งสึกออกมาจากบวช ตอนนั้นเป็นเจ้าของที่บริเวณนี้ค่ะ

หนาน (ภาษาเหนือ) = ทิด ในภาษากลาง ที่ใช้เรียกชายที่เพิ่งสึกจากบวชพระ ค่ะ

ต่อด้วย วัดกู่ป้าด้อม

ก็อีกเช่นเคย ป้าแกเป็นเจ้าของสถานที่ เลยตั้งตามชื่อป้าเช่นกันค่ะ

วัดนี้ก็พีค เห็นแล้วตะลึงลาน ในความอลังการ
ขนาดผ่านน้ำท่วมมาแล้ว ยังคงรูปความสวยงามอยู่เลย

วัดนี้คือ วัด ปู่เปี้ย ค่ะ

ชายแก่ตัวเล็ก ๆ เตี้ย ๆ เป็นเจ้าของสถานที่ คนเหนือเรียกคำว่า เตี้ย เป็น เปี้ย เลยกลายเป็นชื่อ ปู่เปี้ย ค่ะ

วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)

ถึงตรงนี้ เราจึงได้รับทราบว่า ในพื้นที่อุโบสถ ตามขนบล้านนา หรือชาวเหนือ จะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปด้านในตัวอุโบสถนะคะ เดาว่า อาจเป็นเพราะเมื่อก่อน นิยมฝังพระไว้ใต้ฐานอุโบสถกันด้วย จึงไม่อยากให้แม่หญิงเดินข้ามหรือเดินผ่านจ้า

มาถึง วัดช้างค้ำ (หรือวัดกานโถม)

เป็นจุดแรกที่ค้นพบเวียงกุมกามนะคะ ก่อนหน้าที่จะมีศูนย์ให้ข้อมูลเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะมาเริ่มต้นขึ้นรถม้าและรถแทรมกันที่สุดนี้ค่ะ ถือว่าเป็นจุดนัดพบ ก่อนจะสร้างศูนย์ฯ ค่ะ

จริง ๆ แล้วการค้นพบเวียงกุมกาม ได้ขุดพบทั้งหมดทั้งมวล 42 วัดนะคะ แต่ต่างก็กระจัดกระจายกันไป ในบริเวณที่พอจะนำเที่ยวได้จากจุดเวียงกุมกามจุดนี้ จะมีแค่ 9 วัดเท่านั้นค่ะ (นี่ก็เก็บภาพมาไม่ครบ)

มาเดินชมในศูนย์ให้ข้อมูลเวียงกุมกาม ที่เพิ่งเปิดใหม่มาบ้าง ในนี้เป็นส่วนแสดงนิทรรศการทั้งหมด เกี่ยวกับ พญามังราย และเวียงกุมกามค่ะ

ในนี้มีแอร์เย็นๆค่ะ...(เย้ ดีใจได้หนีร้อนบ้าง)

ในห้องพญามังราย คุณจะได้พบกับ อนิเมชั่น พญามังราย กันเลยทีเดียว ไฮเทคและสวยงามมากค่ะ มีความ 4.0 ที่แท้ ปรบมือให้ทีม animation เลย

ในห้องถัดมา จะมีตัวอย่างชิ้นส่วนโบราณที่ขุดพบจากเวียงกุมกาม มาจัดแสดงค่ะ

นอกจากศิลาจารึก และเครื่องถ้วยแบบจีน ซึ่งเป็นของจำลองแล้ว ชิ้นส่วนอื่น ๆ เป็นของจริงที่ขุดพบจากวัดทั้งนั้นเลยค่ะ

ศิลาจารึกที่ค้นพบค่ะ
ชิ้นนี้เป็นของจำลองค่ะ ใครอยากดูของจริงต้องไปที่พิพิธภัณฑ์เชียงใหม่จ้า

สิ่งที่เหมือนก้นหอยนี้ เรียกว่า ตัวเหงา ค่ะ
พบที่วัดกู่ป้าด้อม เห็นว่ามีเรื่องราวว่า ใครที่เอาไปออกแบบตกแต่งบ้าน จะทำให้บ้านนั้นเงียบเหงา ก็เลยตั้งชื่อว่า ตัวเหงา

ลายปูนปั้นที่เป็นรูปเศียรนาค

นี่ก็เป็นปูนปั้นรูปเศียรนาคอีกชิ้นที่ขุดพบค่ะ
เห็นว่ามีศิลปะในแบบหริภุญไชยผสมๆอยู่ค่ะ

ห้องโบราณคดี ที่พูดถึง กระบวนการทางโบราณคดีระหว่างที่ทำการขุดค้นและศึกษาเวียงกุมกามค่ะ

อุปกรณ์ขุดค้นทางโบราณคดีค่ะ

บอร์ดนี้เป็นเรื่องเล่าระหว่างขุดค้น และศึกษาประวัติของเวียงกุมกามค่ะ

ท้ายสุด เราจึงได้รู้ว่า คนขับรถม้าเจ้าดอกรักจอมดื้อ คือผู้ใหญ่บ้าน!

ผู้ใหญ่ฯเล่าว่า ศูนย์ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวเวียงกุมกาม สร้างขึ้นเพื่อให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งต่างชาติและคนไทยมาเที่ยวมากขึ้น และยังมีอีกหลายจุดที่เชื่อว่าหากทำการขุดค้นลงไป ก็จะพบซากโบราณสถานอีกเป็นจำนวนมาก แต่สถานที่เหล่านั้นตอนนี้มีชาวบ้านจับจองใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องหางบมาเพื่อหาที่อยู่ให้ชาวบ้านย้ายออกไปก่อน จึงจะทำการขุดค้นต่อได้ค่ะ

ถ้าพวกเราอยากสนับสนุนแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์นี้ ก็ไม่ยาก แค่พาตัวเองไปเที่ยว และกระจายรายได้เท่านั้นเอ๊งงง ไปกันค่ะซิส

ป.ล. ความพลาดที่สุดคือลืมถามชื่อ ผู้ใหญ่บ้าน แต่ดันถามชื่อม้ามาซะงั้น ไหวมะ?

INKEY

 วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 19.16 น.

ความคิดเห็น