หากการได้พบเจอ เป็นเรื่องของพรมลิขิต

การได้มาพบเธอ ก็เหมือนได้เจอรางวัลของชีวิต



ไม่รู้เป็นรอบที่เท่าไหร่แล้วที่ผมตื่น เพราะรถที่ผมนั่งมันไม่นิ่ง เสียงของโช๊คบ่งบอกถึงสภาพถนน กว่า10ชั่วโมงแล้ว ที่ผมนั่งอยู่ในรถที่ยังไม่รู้จะไปถึงปลายทางเมื่อไหร่ นาฬิกาบอกเวลา 19:37 น. ท้องฟ้าควรจะมืดไปแล้ว แต่ไม่ใช่กับที่นี่ ผมมองเห็นเนินเขาที่ไม่มีต้นไม้ ก้อนหินสีน้ำตาลที่ไม่มีต้นหญ้าแซม ได้ยินเสียงลมที่แทรกเข้ามาในช่องกระจกที่ปิดไม่สนิท ป้ายบอกทางบอกว่าเรากำลังถึง Moonland ดินแดนโลกพระจันทร์ ไม่ผิดหรอก ผมยังอยู่โลกใบเดียวกับคุณ



หิมาลัย

ผ่านมา2ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่ผมเดินลงจาก อันนาปุรณะเบสแคมป์ ฐานค่ายของภูเขาที่สูงที่สุด ลำดับที่10 1ในคอลเลคชั่นของหิมาลัย ตลอดเกือบสองสัปดาห์ที่เดินไต่ไหล่เขา เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่กลับสร้างความทรงจำดีๆมากมายกับผม ตั้งแต่ต้องทนกับสภาพอากาศที่มนุษย์เขตร้อนไม่ชิน อาหารที่เลือกไม่ได้ น้ำไม่ได้อาบแถมต้องแชร์ห้องส้วมกับคนอื่น ร่างกายที่อ่อนล้าจากการต้องเดินวันละสิบกว่ากิโล เรื่องเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติกับผมอย่างมาก

หิมาลัย เทือกเขาที่คนเนปาล เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกกับสวรรค์ สถานที่ที่เป็นทุกอย่างของเนปาล ประเทศที่เป็นเมืองหลวงของการเทรคกิ้ง หลายคนมาที่นี่เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อเอาชนะตัวเองเช่นเดียวกันกับผมเอง อันนาปุรณะเบสแคมป์เป็นเป้าหมายของผม เริ่มต้นตั้งแต่กาฐมาณฑุนั่งรถกว่าเจ็ดชั่วโมงไปยังโพคารา เมืองที่มีทะเลสาบอยู่ด้านหน้ามียอดเขาหิมาลัยอยู่ด้านหลัง และเราก็เริ่มเดินด้วยเท้าจากที่นี่ขึ้นไปไต่ระดับความสูงเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านคน ข้ามแม่น้ำ เดินขึ้นเขาลูกแล้วลูกเล่า ผ่านขั้นบันไดนับพัน เจออุณหภูมิที่ต่ำลงจากความสูงที่สูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับมือใหม่อย่างผม แม้จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน ดังนั้นผมจึงนับถือหลายคนที่มาถึงเบสแคมป์ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่ได้ไปยืนอยู่ในจุดที่แม้แต่หายใจยังลำบาก สภาพร่างกายที่อ่อนล้ามาตลอดหลายวัน

หัวใจคนเรามีขนาดแค่กำมือ น้ำหนักแค่300กรัม แต่กลับมีความสำคัญต่อร่างกายมาก นอกจากสูบฉีดเลือด ให้เรามีชีวิต หัวใจยังสามารถ ควบคุมร่างกาย สั่งให้เสียใจ ร้องไห้เป็นวันๆ สั่งให้ดีใจ มีความสุข สั่งให้รัก และทำในสิ่งที่เกินลิมิตของตัวเองได้ จริงๆแล้ว หัวใจมีขนาดแค่กำปั้นมือจริงๆหรอ บางคนเปรียบเทียบขนาดของหัวใจกับสิ่งที่เขาทำ ถ้าอย่างนั้นคนที่สามารถขึ้นไปจนถึงยอดเอเวอเรสต์ได้ จะมีขนาดของหัวใจใหญ่ขนาดไหน คงต้องใหญ่พอที่จะฉุดร่างกาย เอาชนะความคิด ผลักตัวเองขึ้นไปในระดับที่เครื่องบินบินผ่านได้


อินเดีย

โลกเล็กลงเพราะเราเดินทางเร็วขึ้น มนุษย์ทำสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ เป็นสิ่งที่เชื่อได้ หากไม่มีพาหนะที่เรียกว่าเครื่องบิน อินเดียคงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผม อดคิดไม่ได้เมื่อหลายชั่วโมงก่อนหน้านี้ผมพึ่งนั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน ห้าชั่วโมงต่อมาผมอยู่ในประเทศที่ห่างจากบ้าน หลายพันกิโล เราเดินทางข้ามประเทศได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง อินเดียกับเนปาลมีความเชื่อมโยงกันที่ว่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่อยู่ติดหิมาลัยเหมือนกัน

เราหกคนไทยมาถึงสนามบินศรีนาการ์ตั้งแต่เช้า หลังจากรอเวลาต่อเครื่องจากนิวเดลีเก้าชั่วโมง นานกว่าเวลาเดินทางเสียอีก เราติดต่อที่พัก รถ และวางโปรแกรมต่างๆผ่านอาลีคนอินเดียที่มีภรรยาเป็นคนไทย อาลีเป็นคนจัดแจงทุกอย่างให้เรา เพราะเราเลือกความสะดวกแทนที่จะทำเองทุกอย่าง

ศรีนาการ์เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลัก คนที่นี่ส่วนใหญ่นับถืออิสลาม และด้วยเหตุที่มีพรมแดนติดกับประเทศปากีสถานที่เป็นมุสลิมเหมือนกัน หลังจากอังกฤษให้อิสรภาพแก่อินเดีย ที่นี่จึงเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ปกครองการระหว่างอินเดีย กับ ปากีสถานมาโดยตลอด ตั้งแต่ออกจากสนามบินตลอดเส้นทาง ผมสังเกตุเห็นทหารยืนถือปืน ประจำการแทบทุกร้อยเมตร ด่านทหารที่ตั้งอยู่บนถนน เห็นรถบรรทุกบรรทุกทั้งทหารและเสบียงไม่ก็อาวุธจำนวนหลายสิบคันตลอดเส้นทาง แปลกที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้แตกตื่นอะไร มันคงเป็นเรื่องปกติของที่นี่ ทหารหลายคนโบกมือให้เราพร้อมกับปืนกลที่สะพายหลังอยู่ พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกกำกับโดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นทหาร ไม่ว่าจะเข้าหรือผ่านไปที่ไหนจำเป็นต้องขออนุญาต จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องพกพาสปอร์ตติดตัว

อาห์เมด คนขับรถหน้าตาดูเหมือนคนปากีสถานมากกว่าอินเดีย พาเรามาสัมผัสมื้อแรกในร้านที่มีแต่คนอินเดีย เราตกเป็นเป้าสายตาตั้งแต่เข้ามาในร้าน คนที่นี่กินโรตีเป็นของคาว ไม่ใช่ของหวานหรืออาหารว่าง เราสั่งอาหาร จากการสังเกตุที่คนรอบโต๊ะสั่ง สั่งโรตีมาลองชิม ข้าวผัด ผัดหมี่ และเมนูที่เรียกว่า มาซาล่า โดซ่า แป้งที่คล้ายๆโตเกียวกินกับเครื่องจิ้มสองแบบ นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมรู้จัก เครื่องเทศที่เรียกว่า “มาซาล่า” เดิมทีผมเคยคิดว่าตัวเองเป็นคนกินง่าย หรือพูดง่ายๆว่าไม่กินเลือกนั่นแหละ ผมเคยผ่านเครื่องเทศที่เนปาลแล้ว และก่อนมานี่ก็คิดว่าอาหารรสชาติคงไม่ต่างกัน แต่มันไม่ใช่เลย มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม และผมก็เข้ากับมันไม่ได้เลย และที่หนักกว่านั้น แทบทุกวันผมจะได้ยินคำ “มาซาล่า” ผ่านหูตลอด

อาร์เมดเล่าให้ฟังว่า หากสังเกตดีๆเราจะไม่ค่อยเห็นผู้หญิงอินเดีย เดินพลุกพล่านไปมาตามท้องถนน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านเพราะต้องแต่งงานตั้งแต่เด็ก ถ้าเห็นว่าเดินอยู่ข้างนอกก็สันนิษฐานได้เลยว่ายังโสดอยู่ ผมเคยอ่านในหนังสือ New Delhi –Boras เรื่องราวของผู้ชายวรรณะจัณฑาล เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ปั่นจักรยานตามหารักแท้ที่สวีเดน เขียนถึงความรักของผู้หญิงอินเดีย ที่ต้องถูกกำหนดโดยครอบครัว และความเหมาะสมในชนชั้นวรรณะ ยิ่งถ้าคุณเกิดในวรรณะที่ต่ำและเป็นผู้หญิง คุณค่าของคุณจะยิ่งถูกมองข้าง ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยเห็นผู้หญิงที่มาคนเดียว นั่งตามร้านชา กาแฟเลย

เราหมดเวลาครึ่งวันบ่ายไปกับการตะเวนเที่ยวตามสวนสาธารณะ แต่ละสวนไม่ได้ไกลกันมาก และก็เสียค่าเข้าไม่เกินยี่สิบห้ารูปี หรือไม่ถึงสิบห้าบาทต่อคน มีหนึ่งสวนที่น่าสนใจ ชื่อ สวนนิชาร์ท ตั้งอยู่ข้างหน้าทะเลสาบ สวนนี้ใหญ่มาก มีต้นเมเปิ้ลอยู่ข้างในสุด ผมพึ่งสังเกตุว่ามีแต่คนท้องถิ่นมาเที่ยว ไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเลย ส่วนมากเป็นคนท้องถิ่นเสียมากกว่า

ทะเลสาบดาล(Dal Lake)

ทะเลสาบใจกลางศรีนาการ์ เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่

หากได้มาพักที่นี่ก็ควรจะลองพักบ้านเรือดู เพราะเป็นสถานที่ขึ้นชื่อ

เดิมทีบ้านเรือถูกสร้างขึ้นจากสมัยที่เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์

ไม่อนุญาติให้อังกฤษมีสิทธิ์ในที่ดิน เมื่อไม่มีที่ดินสำหรับคนอังกฤษ คนอังกฤษจึงสร้างบ้านในน้ำ

แต่หลังจากอังกฤษออกไป บ้านเรือจึงตกเป็นของคนพื้นที่



Fairy Land ชื่อบ้านเรือที่เราพัก

ในเรือมีห้องพัก3ห้องพอสำหรับหกคนพอดี

อาห์เมดมาส่งเราก่อนที่พระอาทิตย์จะตก เราจึงมีเวลาได้นั่ง เรือชมพระอาทิตย์รอบทะเลสาบที่เรียกว่า

ชิคารา (Shikara) หรือแท็กซี่เรือนั่นแหละ เราได้นั่งฟรี

เพราะเป็นบริการจากการเข้าพัก ออกเรือไปซักพักก็มีพ่อค้าแขกพายเรือเอาของมาขาย

อาทิ ผ้า เครื่องประดับ ขนม แต่มีแขกคนหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจจากผม

เขาเอาปลาที่จับจากบนภูเขามาย่างขาย แล้วก็ชี้ให้ผมดูภูเขาที่เขาจับมา

ผมจึงช่วยเขาซื้อสามไม้ ไม้ละหกสิบรูปี ด้วยความอ่อนล้า เพลียจากการเดินทาง

จึงไม่ได้คำนึงถึงราคา ระหว่างกินก็สงสัยว่าปลาบนภูเขาอะไรเนื้อสีขาวๆ

ระหว่างคิดก็ไปมองไปรอบๆทะเลสาบ เห็นคนกำลังตกปลาอยู่ ผมหวังว่าปลาในมือผมคงไม่ได้อาศัยอยู่ในทะเลสาบนี้นะ



Pahalpam

กาแฟสำเร็จรูปแบบฉีกซอง ไข่ต้มขนมปังกินคู่กับเนยและแยมสตอเบอรี่ เมนูอาหารเช้าแบบง่ายๆก่อนนั่งรถเดินทางไกล การมา (Road trip) ที่นี่สิ่งสำคัญหนึ่งเรื่องคือการทำอย่างไรให้นั่งรถได้นานๆ โดยเฉพาะผม ที่ถ้าหากไม่ได้เป็นผู้บังคับแล้ว ก็จะเมาทุกอย่างที่เรียกว่า พาหนะ เพื่อไม่สร้างปัญหาต่อตัวเองและคนอื่น ยาแก้เมารถจึงสำคัญต่อผมมาก และทริปนี้เป็นการใช้ยาแก้เมาที่เปลืองที่สุดเลย

จะว่าไปก็เริ่มจะชินกับกิจวัตรประจำวันบนท้องถนนที่นี่แล้ว ตั้งแต่ปล่อยสัตว์เลี้ยง(ลา) ให้เดินตามสบายขัดขวางทางจราจร ผู้คนเดินขวักไขว่ เสียงแตรที่เป็นสัญญาณขอทาง และเสียงด่า ช่วยให้เช้าวันเดินทางดูกระชับกระเฉงขึ้น ห่างไกลออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ90กิโลเมตร จากศรีนาการ์คือพาฮาลแกม หุบเขาแกะ สวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย ที่ถูกขนานนามไว้อย่างนั้น เพราะด้วยความงามของวิว ทุ่งหญ้าสีเขียว ป่าสนสลับแนวเขา สายน้ำลำธาร เสมือนกับยกสวิตมาตั้งอยู่บนนี้ (เขาว่าอย่างนั้นนะ)

ที่พาฮาลแกมยังเป็นแหล่งผลิตหญ้าฝรั่น (Saffon) ที่ใหญ่สุดในแคชเมียร์ หญ้าฝรั่นเป็นดอกไม้สีม่วง มีเกสรสีเหลืองทอง ใน1ต้นจะมีเกสรแค่ 2-3 เส้น ดังนั้นราคาจึงสูงมาก เอาเกสรไปตากแห้งทำเป็นชาผสมน้ำร้อน มีสรรพคุณลดโคเลสเตอรอลในร่างกาย เดิมทีผมเห็นเกสรแห้งของหญ้าฝรั่นตั้งแต่ที่ศรีนาการ์ ที่คนอินเดียเอาใส่ถุงซิปใสเล็กๆมายื่นขายให้ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าเป็นพวกไส้ยาสูบหรือเปล่า เพราะดูท่าทางของคนขายที่เป็นผู้ชาย และลักษณะคล้ายของผิดกฏหมาย

ก่อนเข้าถึงเขตฮาลแกม จะมีด่านตรวจใหญ่ที่ทุกคนจะต้องลงจากรถ และทิ้งสัมภาระทุกอย่างไว้ในรถ แยกแถวหญิงชายอย่างชัดเจน ผู้หญิงจะถูกเข้าตรวจในห้องตรวจที่มีเจ้าหน้าที่หญิงเป็นผู้ตรวจที่ละคน ส่วนแถวผู้ชายที่ดูจะง่ายกว่าแต่ก็ไม่ได้เร็วกว่า เพราะคนถิ่นแทรกเข้ามาแซงคิวแบบไม่มีระบบระเบียบ ยิ่งแถวต้นๆยิ่งแน่น เบียดเสียดใกล้ชิดกันราวกับคนในครอบครัวเดียวกัน คนไหนที่กินมาซาลาตอนเช้ามาคงเดาไม่ได้ยาก

เราเดินขึ้นไปไม่ได้ใช่ไหม

ใช่! ไหนๆก็มาแล้วขี่ม้าด้วยกันเถอะ

(คำเชื้อเชิญจากเพื่อนสาวที่ไม่ใช่แฟน)

รถมาจอดตรงที่นายหน้าเช่าม้ายืนอยู่หลังจากผ่านจุดตรวจพิสูจน์กลิ่นได้ไม่นาน ฝนตกตั้งแต่เช้า เรามาถึงพาฮาลแกมตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 2 ไม่นานม้าสำหรับทุกคนก็พร้อมกับคนจูง3คน เราตั้งใจจะไปกันแค่ Baisaran (สถานที่ใกล้ที่สุด) เพราะด้วยฝนที่ดูท่าจะไม่ยอมหยุดง่ายๆ

บนอานม้าไม่ได้สูงอย่างที่คิด แต่เพราะนี่เป็นครั้งแรกของผม ถึงแม้จะพยายามไม่ฝืน แต่ท่านั่งก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับตอนม้าเดินเสียเท่าไหร่ ผมไม่รู้ว่าการที่ก้นกระแทรกกับอานม้าเป็นท่าที่ถูกหรือเปล่า เพราะเคยได้ยินว่าคนที่จะผ่านการฝึกขี่ม้าได้ก้นต้องแตกเสียก่อน เราผ่านแนวป่าสนที่ข้างล่างเป็นธารน้ำตก ผมสังเกตุเห็นแคมป์ชั่วคราวของชนเผ่า เรร่อน ยิปซี ที่หลบความหนาวเย็น ลงมาตั้งแคมป์ที่นี่ ผู้หญิงยิปซีเอากระต่ายที่เลี้ยงมาให้เราถ่ายรูปแลกกับสตางค์ ตรงที่เราหยุดพักถ่ายรูปที่น้ำตก พวกเธอคงทำแบบนี้กับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมา พวกเราไม่ได้ให้เงินให้เพียงแต่ขนมที่ติดกระเป๋ามา แลกกับขอถ่ายรูปกับเด็กๆที่นี่ พื้นดินที่เปียกฝนติดมากับเกือกม้า สะบัดมาติดรองเท้าผมทีละนิดสะสมจนเป็นก้อนดิน กว่าจะถึง Baisaran ก็เล่นเอา เละเทะพอดู ที่ ไบซาราน เป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ท่ามกลางป่าสน หมอกที่หนาทำเอาเรามองไม่เห็นภูเขาด้านหลัง คนที่นี่นอกจากมาถ่ายรูปกันแล้วก็จะเล่นซอร์บบอล (ลูกบอลใสขนาดใหญ่) เราอยู่ที่นี่กันพักใหญ่ก่อนจะกลับลงมา ระหว่างทางกลับศรีนาการ์เราให้อาห์เมดจอดรถตรงลำธารข้างทาง ผมเอารองเท้าที่เปื้อนดินไปล้างน้ำ น้ำในลำธารเย็นมากคนอินเดียหลายคนมาจอดรถที่นี่ บางคนเอาอาหารมาด้วย บรรยายกาศตอนเย็นที่นี่ดีมาก และเรื่องราวตลอดทั้งวันนี้เป็นสิ่งใหม่ที่ผมได้เรียนรู้


เตียมตัวตาย

เหตุการณ์ของวันนี้มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวที่ผมเคยนั่งรถทางไกลที่เนปาล

เพลงในลำดับแรกของอัลบั้ม dharmajati (ดัม-มะ-ชา-ติ) ของวง Bodyslam ที่อยู่ในเพลลิสต์ในไอพอดที่ผมเปิดฟังระหว่างนั่งรถดังขึ้น ในขณะที่รถกำลังผ่านทางแคบๆตามแนวไหล่เขาสูงชัน เป็นเส้นทางจากกาฐมาณฑุไปโพคารา ความสูงของทางที่แคบบวกความเร็วของรถบัสชั้นเดียว ไม่อาจทำให้ผมข่มตาหลับได้

มันคงไม่ต่างกับวันนี้

ฝนลงเม็ดตั้งแต่เช้า ยิ่งทำให้ผมไม่อยากลุกออกจากเตียง น้ำฝนไหลลงจากหลังคากระทบชายคาหน้าต่าง คล้ายเสียงเคาะประตูปลุกให้ผมตื่น อาการปวดก้นที่ถูกกระแทรกบนอานม้าตลอดบ่ายเมื่อวาน พี่งแสดงอาการให้รู้สึก อย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่า “ความรู้สึกช้า”

7 : 30 เช้าวันอำลาศรีนาการ์ ไดร์เวอร์คนใหม่มารอตั้งแต่เช้า โดยมีอัสมานน้องชายเพื่อน ที่เรียนที่นี่ขอติดรถมาด้วย อัสมานไม่ได้ติดรถมาเฉยๆแต่ยังเป็นล่ามให้คนขับกับเรา เส้นทางจากศรีนาการ์ไปเลห์ ไกลมากเราอาจจะไปถึงดึก ดังนั้นผมจึงทำหน้าที่เป็นผู้นั่งที่ดี กินยาแก้เมารถแล้วนอนยาวๆ รถขับผ่านโซนามาร์ค ซึ่งสวยมากแต่เราไม่มีเวลาพอที่จะเดินเล่นถ่ายรูป เรามีเวลาแค่พักกินข้าวเที่ยง ท้องฟ้าข้างบนเริ่มเปลี่ยนเป็นสีหม่นๆ อากาศข้างนอกเริ่มเย็นขึ้นจนสัมผัสได้ชัดเจน ผมมองเห็นคนงานผู้ชาย ที่ทำถนนนั่งเอาชายเสื้อมาคลุมเข่า(ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหนาว) ฝูงแกะทั้งหลายกำลังกินหญ้าในท่าหันก้นให้รถที่เรานั่ง(มันคงไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบนี้) เราจอดพักเข้าห้องน้ำเป็นระยะตามด่านทหารที่ต้องยื่นใบขออนุญาตเข้าพื้นที่

คนขับรถแวะบ้านตัวเอง ผมเห็นเขาถือกล่องเหล็กจากหลังรถเดินเข้าไปในบ้านสองชั้น เรามีเวลาเดินเล่นที่หมู่บ้านคนขับ ผมเห็นเด็กผู้ชายหน้าตาอาหรับยื่นหน้าออกมาจากหน้าต่างให้เราถ่ายรูป เด็กผู้หญิงคลุมผ้าฮิญาบนั่งเล่นอยู่กลางทุ่งนา ไม่นานคนขับก็ขับรถออกมารับเรา อัสมานถามเราถึงเรื่องการพักที่ เมืองการ์กิล (kargil) เพื่อไม่ให้เราเหนื่อย แต่คนขับอยากส่งเราถึงเลห์เลย ซึ่งเวลานั้นอัสมานบอกว่าเราน่าจะไปถึงประมาณ เที่ยงคืน พวกเราเกรงว่าจะกระทบถึงแผนที่วางไว้ เลย ไม่สนใจพักที่การ์กิล แต่เราจะแวะกินข้าวเย็นที่นั่น ระหว่างทางไปการ์กิล คนขับซื้อ แอปริคอต ข้างทาง เป็นผลไม้สีส้มลูกเล็ก รสชาติออกหวาน แบ่งพวกเรา พวกเราตื่นเต้นมาก คนขับรถกับอัสมาน หัวเราะตลกในความตื่นเต้นของพวกเรา เพราะที่นี่แอปริคอตหาง่ายมาก คงคล้ายๆกับที่บ้านเรามีมะยม แล้วแบ่งให้คนฝรั่งนั่นแหละ

รถมาจอดส่งเราในตลาดของการ์กิล เป็นช่วงประมาณห้าโมงเย็นเห็นจะได้ ผู้คนพลุกพล่านเดินไปมา ผมเห็นนักท่องเที่ยวผู้หญิงผมบรอนสี่คนเดินอยู่ในตลาด ดูจากชุดที่ใส่คงเดาไม่ผิดว่าพวกเขาคงมาเทรคกิ้ง นี่เป็นบ้านของอัสมาน เดิมทีอัสมานต้องลาเราที่นี่ แต่เพราะเราสื่อสารกับคนขับไม่ได้อัสมานจึงอาสานั่งรถไปกับเราถึงเลห์เลย ระหว่างอาหารเย็นอัสมานบอกว่าเรา ติดต่อคนขับรถไม่ได้ไม่รู้เอารถไปจอดที่ไหน ซักพักอัสมานก็ออกไปตาม ความคิดในแง่ร้ายเริ่มทำงานในหัวผม ไม่นานอัสมานกลับมากับคนขับรถที่หน้าตาดูแดงๆ ไม่รู้ว่าไปดื่มอะไรมา เราออกเดินทางกันต่อ นี่เป็นการนั่งรถนานที่สุดสำหรับผม และยาแก้เมารถยังคงออกฤทธิ์ทำผมหลับๆตื่นๆเป็นช่วง

ไม่รู้เป็นรอบที่เท่าไหร่แล้วที่ผมตื่น เพราะรถที่ผมนั่งมันไม่นิ่ง เสียงของโช๊คบ่งบอกถึงสภาพถนน กว่า12ชั่วโมงแล้ว ที่ผมนั่งอยู่ในรถที่ยังไม่รู้จะไปถึงปลายทางเมื่อไหร่ นาฬิกาบอกเวลา 19:37 น. ท้องฟ้าควรจะมืดไปแล้ว แต่ไม่ใช่กับที่นี่ ผมมองเห็นเนินเขาที่ไม่มีต้นไม้ ก้อนหินสีน้ำตาลที่ไม่มีต้นหญ้าแซม ได้ยินเสียงลมที่แทรกเข้ามาในช่องกระจกที่ปิดไม่สนิท ป้ายบอกทางบอกว่าเรากำลังถึง Moonland ดินแดนโลกพระจันทร์ ไม่ผิดหรอก ผมยังอยู่โลกใบเดียวกับคุณ

รถจอดเติมลมยาง นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่คนขับหยุดรถเพื่อเช็คสภาพยาง จากครั้งแรกในเมืองศรีนาการ์ แม้แต่ล้อยางยังล้า คนขับรถเราก็คงไม่ต่างกัน เราน่าจะอยู่ที่ไหนสักที่ของ Lamayuru มันคงจะใกล้เลห์เข้าไปทุกที ไม่นานท้องฟ้าก็มืดลง เรายังคงอยู่บนถนนไหล่เขาในทางแคบๆ ที่ไม่ไฟข้างทางในถนนที่มีแต่รถของเราวิ่งอยู่เดี่ยวๆ แล้วอยู่คนขับก็จอดรถแล้วก็ลงจากรถดื้อๆ อัสมานบอกว่าคนขับรถเขาเหนื่อย เขาเลยลงไปอาบน้ำ ผมลงไปเดินเล่นโดยที่ไม่รู้เลยว่า อากาศข้างนอกหนาวเกินกว่าจะอาบน้ำได้ คนขับรถเอาถังไปรองน้ำจากรอยแตกของท่อน้ำข้างทาง ผมเริ่มเป็นห่วงคนขับรถเราว่าจะไปส่งเราถึงเลห์หรือเปล่า เที่ยงคืนเรายังไม่ถึงเลห์คนขับจอดรถอีกรอบเพื่อกินชาแก้ง่วง แล้วในที่สุดผมดูนาฬิกาเวลา ตีหนึ่งกว่า คนขับจอดรถแล้วทิ้งตัวลงไปทางอัสมาน มันคงดีกว่าหากเราฝืนไปให้ถึง เรามาถึงโรงแรมที่เลห์ ราวๆตีห้าได้ ตลอดทางเรารู้สึกขอบคุณคนขับรถที่พาเรามาถึง ถึงแม้เราจะมารู้ที่หลัง ว่าเราควรจะมาถึงตั้งแต่หัวค่ำแล้ว แต่เป็นเพราะคนขับเลือกเส้นทางที่ไกลกว่าเพื่อที่จะแวะเอาของให้ที่บ้าน ในส่วนเราผมไม่ได้รู้สึกโกรธคนขับเลย บางทีเราก็ไม่รู้ว่าการทำอาชีพแบบนี้เขาจะมีโอกาสกลับมาบ้านบ่อยแค่ไหน หากมันทำให้คนได้เจอครอบครัวมันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่ใช่หรอ


เหนือระดับน้ำทะเล

โรงแรม Noble House ตั้งอยู่บนถนน Fort Road หน้าโรงแรมจะมีร้านขายผ้า ผมจำร้านนี้ได้เพราะเจ้าของร้าน พยายามชวนเราทุกครั้งที่เราเดินผ่าน

เรามีเวลาย้ายที่นอนจากบนรถ มานอนบนเตียงอีกสามชั่วโมงก่อนที่ ออกเดินทางตามแผนที่วางไว้ ด้วยความจำเป็นที่ว่าคนขับรถคนเก่าไม่สามารถขับรถต่อได้ เราจึงได้พบกับ มานสุ ชายวัยสี่สิบต้นๆ ท่าทางสุขุม สุภาพดูไว้ใจได้ ต่อแต่นี้ไปมานสุ จะเป็นคนขับรถให้เราตลอด เส้นทางจากเลห์ ไปนูบร้า ประมาณ120 กิโลเมตร ไกลเช่นเดิมแต่คงไม่ไกลกว่าจากที่เรานั่งมาเมื่อคืน ถนนเริ่มไต่จากพื้นขึ้นไปตามสันเขา เราจอดรถถ่ายรูปเป็นระยะ มานสุเริ่มรู้ว่าพวกเราชอบถ่ายรูปตรงที่ไม่มีคนเยอะ เราจึงได้จอดในจุดที่ไม่ค่อยมีคนจอดกัน


จากที่สูง ผมเห็นเมืองเลห์ในมุมกว้าง เลห์ลาดักห์จากที่สูงที่ผมเห็นอาคารที่อยู่อาศัย กระจายตัวอยู่ในสองพื้นที่ คือพื้นที่สีเขียวมีต้นไม้ และพื้นที่ทะเลทรายที่ไม่มีต้นไม้เลยสักต้น ไม่นานเราก็ขึ้นมาถึง Khardung La ที่ระดับความสูง 5,602 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถนนที่สูงที่สุดเส้นหนึ่งของโลก เป็นความสูงที่ใกล้ท้องฟ้าที่สุดในชีวิตของผม (ไม่รวมนั่งเครื่อง) เดิมทีตั้งแต่ออกจากศรีนาการ์ พวกเราก็เริ่มกินยา Diamox ที่หาซื้อจากร้านยาในศรีนาการ์ เป็นยาช่วยให้เราปรับตัวในที่สูงได้ ส่วนตัวผมเคยใช้ยาชนิดนี้ เมื่อตอนเทรคกิ้งที่ ABC แล้ว และตัวเองก็ไม่เคยมีอาการแพ้ความสูงแบบเห็นได้เลย แต่อาจเพราะขึ้นมาที่นี่เร็ว(นั่งรถ)หรือเปล่า ร่างกายเลยไม่ทันได้ปรับตัว ผมเลยมีอาการเวียนหัวนิดหน่อย ความหนาวเย็นที่พัดเข้ามาจากประตูรถที่เปิดทิ้งไว้ของคนอื่นที่ลงไปถ่ายรูป ยิ่งทำให้ผมไม่อยากจะลงไป




เราลงมากินข้าวเที่ยงที่จุดพักรถข้างล่าง เป็นจุดแรกหากลงมาจาก Khardung La ข้างล่างนี้มีร้านอาหารที่เป็นลักษณะแคมป์อยู่3-4ร้าน ร้านที่เราเลือกอยู่บนเนินเขาชื่อ Sonam Restaurant เป็นร้านเล็กๆที่แม่กับลูกสาว3คนช่วยกันทำ เราสั่งข้าวผัดผักมากินกับน้ำพริกแห้งที่เราเตียมมาจากไทย กับผัดกระเพราถุงยี่ห้อโรซ่าของเพื่อน ช่วยให้รสชาติถูกปากเราขึ้นกิจกรรมส่วนใหญ่บนรถ ถ้าไม่หลับ หรือพูดคุยปล่อยมุขเสี่ยวๆกันแล้ว เราก็จะแบ่งขนมกันกินที่เตรียมจากที่ไทยกัน มันช่วยรองท้องระหว่างเดินทางได้ดี หลายครั้งที่เรากินข้าวเที่ยงไม่ตรงเวลา เพราะจากหนึ่งที่ไปอีกหนึ่งที่ใช้เวลาหลายชั่วโมง เรามาถึงที่นูบร้าช่วงบ่ายแก่ๆ ที่นูบร้าจะมีวัดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเขตนูบร้า วัดดิสกิต (Disket Gompa) เป็นพุทธมหายานแบบทิเบต สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1420 หลายคนที่มาจะขึ้นไปดูวิวนูบร้ามุมสูงข้างบนด้วย หลังออกจากวัดเป็นช่วงบ่ายใกล้เย็นพอดี เรายังมีเวลาลงไปทะเลทรายฮุนเดอร์ ข้างล่างนี้สวยมากเป็นอีกหนึ่งที่ที่ไม่เหมือนอินเดียที่เราเคยเห็น ทะเลทราย ต้นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอๆ ภูเขา รถสีขาว และอูฐ เราน่าจะเห็นภาพแบบนี้ได้ในประเทศอาหรับ





Turtuk ดอกไม้บานในรั้วเหล็ก



รถกำลังแล่นไปบนทางไหล่เขา ที่ด้านขวาเป็นเหวลึก ลงไปเห็นธารน้ำ ด้านซ้ายเป็นหน้าผาที่มีก้อนหินจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็กและใหญ่กว่ารถ เรียงรายพร้อมที่จะกลิ้งลงมาเมื่อไหร่ก็ได้ ถนนที่บังคับให้เดินหน้าอย่างเดียว มันไม่ได้กว้างพอให้รถวิ่งสวนกันได้ และแน่นอนไม่สามารถกลับหลังได้ สิ่งที่ทำได้คือวิ่งไปข้างหน้า






ผมสังเกตุเห็นป้ายตามแนวผาหิน จริงๆก็เห็นตั้งแต่ทางที่มาจากเลห์แล้ว เป็นป้ายเตือนให้รถชะลอ ส่งเสียงขอทางข้างหน้า หรือป้ายเตือนให้มีสติในการขับรถ ทั้งยังมีสีที่แต้มก้อนหินเป็นแนวริมทาง ให้เห็นอย่างชัดเจน มันช่วยให้เราเดินทางง่ายขึ้นบนถนนที่เผลอไม่ได้เลย หากแต่เส้นทางชีวิตของเราไม่ได้เหมือนกับเส้นทางของวันนี้ ชีวิตไม่ได้มีป้ายบอกทาง เราไม่รู้หรอกว่าข้างหน้าเราจะเจออะไร หลายครั้งที่เราเสียเวลาจากการเลือกเส้นทางที่ผิด เราผิดหวังจากที่เราเร่งจังหวะทั้งที่ควรจะชะลอ และพลาดโอกาสจากการที่ชะลอแทนที่จะต้องเร่งจังหวะ


แต่เชื่อเถอะ สุดท้ายแล้วเราก็จะผ่านมันมาได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการก้าวไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง มีสติในเส้นทางที่กำลังเดินอยู่ มันคงใช้ได้เช่นเดียวกับเส้นทางชีวิต


เส้นทางจาก Nubra ไป Turtuk ยังคงไกลเหมือนทุกครั้ง Turtukหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพรมแดน อินเดียปากีสถาน คนที่นี่หน้าตาออกไปทางอาหรับมากกว่าอินเดีย นิสัยน่ารักเป็นมิตร อาจเพราะมีนักท่องเที่ยวผ่านมาที่นี่บ่อย ตั้งแต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้ตั้งแต่ปี2009 เราเดินผ่านหมู่บ้านขึ้นไปที่จุดชมวิว ผมเห็นต้นแอพริคอตหลายต้นกำลังออกลูก เห็นลาที่ผูกไว้อยู่ในบ้านคน แปลงดอกไม้ที่กำลังบานอยู่ในรั้วบ้าน เด็กผู้หญิงตาสีฟ้ากำลังซักผ้าอยู่บนทางเท้า ผู้ชายหลายคนกำลังซ่อมเครื่องมือการเกษตรอยู่กลางทุ่งนา และพวกผู้หญิงกำลังเอาข้าวที่เกี่ยวไปตากกลางแจ้ง วิถีชีวิตเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ความเรียบง่ายสร้างความสุข จนไม่น่าเชื่อว่าที่นี่ครั้งหนึ่งเคยมีสงคราม ก่อนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียในปี1971 แม้ที่นี่จะพูดได้ไม่เป็นเต็มปากว่าปลอดภัย แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วอินเดียกับปากีสถาน สามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับ เด็กหลายคนที่หมู่บ้านนี้ ที่มีทั้งอินเดียกับปากีสถานอยู่ในคนเดียวกัน.










เชฟ พนักงานต้อนรับ และคนทำสวน

จากจุดชมวิวข้างบนทำให้รู้ว่าเราเดินทางมาไกลมาก เราเดินทางกลับมานอนที่นูบร้าอีกครั้งแต่เป็นโซนหน้าๆ ชื่อNubra Ecolodge เป็นรีสอร์ทที่มีความเป็นส่วนตัว แบ่งออกเป็นสองโซนนอกจากอาคารที่เป็นห้องรับรองก็มีที่พักแบบเป็นแคมป์ พนักงานอินเดียที่ชื่อ วิคกี้ บอกว่าที่นี่มียอดจองเต็มตลอดโดยเฉพาะ แคมป์ ถึงแม้พวกเราจะไม่ได้พักที่แคมป์แต่ก็สามารถมีรูปเสมือนพักอยู่ที่แคมป์จริงๆ จากเพื่อนคนไทยที่พบกันที่อินเดียให้ยืมใช้สถานที่ได้ตามใจชอบ ความน่ารักของที่นี่ยังมี การปลูกผักปลอดสารพิษไว้ให้ลูกค้าด้วย ผมเห็นแปลงผักที่ขุดร่องน้ำไว้ให้น้ำไหลผ่านได้ตลอดเวลา และเช่นเคยผมเริ่มเคยชินกับเจ้าต้นแอปริคอตแล้ว มันกำลังออกลูกที่ยังเป็นสีส้มไม่เข้มดี

วิคกี้ จากพนักงานต้อนรับ ช่วงเย็นเขาต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มมาเป็นหัวหน้าเชฟ ซึ่งบุคลิคเขาก็เปลี่ยนไปด้วย จากเป็นคนร่างเริง เอนเตอร์เทนเก่ง เมื่อได้เปลี่ยนเป็นเชฟความขี้เล่นของเขาก็ลดลงจริงจังมากขึ้น วิคกี้ทำอาหารอินเดียที่ค่อนข้างถูกปากพวกเรา และหนึ่งไฮไลท์ที่จะตราตรึงใจพวกเราในค่ำคืนนั้น คือเมนูที่ชื่อ ผัดผักกระหล่ำน้ำปลา เมนูธรรมดาที่กลายเป็นเมนูพิเศษขึ้นมา เพราะคนอินเดียไม่กินน้ำปลาหรือซอสหมักที่คนไทยคุ้นเคย ไม่น่าเชื่อว่าที่นี่จะมีเครื่องปรุงแบบนี้ หลังอาหารเรานั่งคุยกันกับเพื่อนคนไทยที่ลงมากินข้าวเย็นพร้อมกัน วิคกี้เข้ามาร่วมวงสนทนาด้วยทันทีที่เขาเปลี่ยนชุด เราสอนภาษาไทยเขาเอาไว้ใช้กับลูกค้าคนไทย ที่มาพักที่นี่ค่อนข้างเยอะ แบบง่ายๆ จากของที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ อาทิ

น้ำผึ้ง แต่วิคกี้ออกเสียงเป็น น้ำเพิ่ง

คนสวย แต่วิคกี้ออกเสียงเป็น คนซวย

ชาเขียว แต่วิคกี้ออกเสียงเป็น ชาเคียว

สอนไปสอนมา ชักเริ่มไปกันใหญ่กับการออกเสียงของคนอินเดียเลยหยุดสอนดีกว่า ก่อนวงแตกแยกย้ายกัน วิคกี้บอกว่าจะทำไข่ต้ม ไข่ทอด ไข่ตุ๋น (อันนี้ไม่ได้สอน คงเรียนมาจากคนไทยก่อนหน้านี้) สารพัดไข่ให้เรากินตอนเช้าก่อนออกเดินทาง

แล้วเช้าวันถัดมา....บรรดาเมนูไข่ทั้งหลายของ เชฟวิคกี้ มันกลายเป็น ไก่ทอด ขนมปังปิ้ง และไข่ต้ม ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมเชฟถึงออกเสียงไทยยาก...


ปันกอง E02

ภาพที่29ในม้วนฟิล์มที่3ของกล้องฟิลม์รุ่นใหม่ล่าสุด เมื่อ10กว่าปีที่แล้วที่ผ่านมาถึงมือผม เป็นภาพสุดท้ายที่มันทำงานก่อนที่จะตายในหน้าที่ ภาพวัวที่หน้าร้านแม่ลูกกำลังก้าวขึ้นบันไดอย่างเชื่องช้า คงไม่ต่างกับกล้องกล้องฟิลม์วัยชราของผม แล้วสุดท้ายมันก็ก้าวต่อไม่ไหว สีของภาพฟิล์ม ระบบกลไก รูปลักษณ์ กลายเป็นเสน่ห์ ความล้าสมัยกลายเป็นความทันสมัย





ตลอดเส้นทางไปปันกอง เราเห็นสัตว์เยอะมาก ฝูงม้าหลายสิบตัวเดินบนถนน รถขับผ่านพวกมันช้าๆ ราวกับอยู่ในซาฟารี ฝูงแพะและแกะแทะเล็มหญ้าสองข้างทาง ดึงความสนใจไม่อาจจะละสายตาได้ เราหยุดรถถ่ายรูปฝูงแพะของคุณยายท่านหนึ่ง เธอใจดีมากไม่ได้เรียกเก็บสตางค์พวกเรา แถมยังให้พวกเราอุ้มลูกแพะถ่ายรูปได้ตามใจชอบฟรีๆ ถัดจากฝูงแพะเราหยุดรถอีกครั้งที่รังของ (Marmot) มาร์มอต กระรอกภูเขาที่ทำรังใต้ดิน สายพันธุ์ที่เราเจอเป็นสายพันธุ์ (Himalayan Marmot หรือ Tibetan Snow Pig) พวกมันเป็นสัตว์หายาก จะอาศัยอยู่ที่สูงตามแนวแถบหิมาลัย มาร์มอตเป็นดาราของที่นี่เลย เป็นจุดที่รถทุกคันต้องจอด เราได้เห็นครอบครัวของมาร์มอตอยู่หลายตัว



ตั้งแต่ที่เข้าเขตของเลห์มา วิวสองข้างทางที่เห็น จะเป็นทะเลทรายปนหิน โล่งๆกว้างๆไม่มีต้น พื้นที่สีเขียวและที่พักส่วนมากจะมีลักษณะคล้ายๆกับโอเอซิส ไม่เหมือนปันกอง ทะเลสาบขนาดใหญ่แต่กลับไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย ริมทะเลสาบมีชาวบ้านเอาจามรี (Yak) มาบริการให้ขี่ถ่ายรูป น้ำทะเลสีฟ้าเข้มตัดกับสีของภูเขาที่มองเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ ความกว้างใหญ่ของที่นี่ย้ำเตือนเราอีกครั้ง ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆเท่านั้น ที่ปันกองที่พักจะอยู่รวมกันไม่ได้กระจัดกระจาย ไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่คนอาศัยถาวร อาจเพราะที่นี่เพาะปลูกไม่ได้ ส่วนมากจะเป็นเต็นท์ น้อยมากที่จะเป็นอาคาร กลางคืนที่นี่หนาวมาก ไฟฟ้าที่มาจากเครื่องปั่นไฟ ถูกใช้อย่างจำกัด แต่น้ำเย็นที่สูบจากทะเลสาบมีให้ใช้อย่างไม่จำกัด ที่นั่นผมไม่จำเป็นต้องอาบน้ำ เพราะคิดไปเองว่า ไม่สกปรก เหงื่อไม่ได้ออก ผ้าไม่ได้เปียก และเราก็ไม่ได้บอกใคร





จำได้ว่าเย็นวันนั้นหนาวมาก และก็ด้วยความที่เรากระโดดโลดเต้นมากเกินควร จากการเห็นวิวที่นี่ ไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายที่ระดับความสูงกว่าสี่พัน ผมเลยแยกตัวมานั่งพักให้หายเวียนหัวข้างหน้าแคมป์คนเดียว ลมเย็นๆพัดมาบ่อยๆก็ทำให้หนาว แต่เพราะวิวข้างหน้ามิอาจให้ผมเดินกลับเข้าไปในแคมป์ได้ ก็ตั้งกล้องถ่ายเก็บไว้


ลมพัดเข้าหาเต็นท์ จนได้ยินเสียงผ้าใบกระพือตลอดทั้งคืน เต็นท์กันลมแต่ไม่ได้กันหนาว ผ้าห่มกำมะหยี่สองชั้นต้านทานความหนาวเย็นได้ดี มีแค่ใบหน้าที่เผชิญความเย็นแบบไม่มีอะไรปกปิด ผมรู้สึกแสบจมูกที่สูดเอาอากาศเย็นเข้าไปเป็นเวลานาน เซนเซอร์ของนาฬิกาที่ผมถอดไว้ข้างเตียงแสดงอุณภูมิ ณ ตอนเช้าที่สิบองศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าเราผ่านคืนที่ปังกองที่เลขตัวเดียว

มันก็คงเหมือนการวิ่งมาราธอนนั่นแหละ

ถ้าเธอมัวแต่ท้อแท้ไม่ก้าวไปข้างหน้าเสียที

แล้วเมื่อไหร่เธอจะไปถึงเส้นชัยล่ะ

ข้อความที่ผมส่งให้เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง

ผมเชื่อ ว่าการที่เรามาพบเจอใครคนหนึ่งมันต้องมีเหตุผลบางอย่าง บางคนเข้ามาเพื่อสอนบทเรียน หรือเข้ามาทดสอบเรา หรืออาจแค่ขอมือให้เราช่วยพยุงเขาขึ้นมา เช่นเดียวกันกับผมและเธอ เดิมทีผมไม่ได้คิดกับเธอ เหมือนอย่างที่เธอคิดกับผม ผมรู้จักเธอผ่านเพื่อนอีกคน เธอเป็นผู้หญิงหน้าตาดี ดีกรีนักเรียนนอก แต่ความรักที่เธอเจอไม่ได้ดีเหมือนหน้าตา เธอผิดหวัง และโทษตัวเอง จมอยู่กับอดีตมาตลอดหลายเดือน ทุกครั้งในบทสนทนาระหว่างเรา เต็มไปด้วยข้อความให้กำลังใจและเรื่องของเธอ เธอไม่เชื่อว่าในชีวิตนี้เธอจะโชคดีเจอผู้ชายที่รักและจริงใจกับเธอ หลายสัปดาห์ต่อมาเธอดีขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างเราก็ถูกพัฒนาไปเป็นคำว่าเพื่อนมากกว่า ผมหวังว่าเธอจะกล้าเผชิญโลกความจริง และค้นพบสิ่งที่เธอปรารถนา เหมือนอย่างเช่น เช้าที่ปันกอง ผมออกมาดูพระอาทิตย์ขึ้น ช่วงเวลาที่ความสวยงามจะไม่ทำร้ายเรา ปรากฏว่า

“ข้างนอก อุ่นกว่า ข้างใน”

ถึงตอนนี้ผมเข้าใจแล้วว่า การที่ผมได้มาพบเธอผมแค่เข้ามาเพื่อให้กำลังใจและให้ความเชื่อมั่นว่าเธอจะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

ทุกอย่างมีวาระของมัน เมื่อถึงเวลาผมเชื่อว่าความสดใสของเธอจะกลับมาอีกครั้ง




ความสวยงามที่ปังกองผ่านไปเร็ว เราเดินทางกลับมาที่เลห์ ก่อนจะถึงที่เลห์มีคาเฟ่อยู่หนึ่งที่ชื่อ Café’Cloud เป็นคาเฟ่ชานเมืองที่บรรยากาศดีมาก เราไม่ค่อยเห็นคาเฟ่ในลักษณะทันสมัยแบบนี้บ่อยนัก เราสั่งพิซซ่า สปาเก็ตตี้ มันทอด ไก่ทอดเผ็ดๆแบบอินเดีย สลัดกุ้ง แซนวิช ตามด้วยกาแฟกันคนละแก้ว สั่งอาหารเหมือนกับคนอดข้าวมาหลายวัน เราอยากให้มานสุมาจอยกับเรา แต่เขาอยากพักที่รถ เขาหยิบเซเว่นอัพสองกระป๋องกับไอติมหนึ่งโคน เราสังเกตุว่าเขาน่าจะชอบเซเว่นอัพนะ มานสุมาส่งพวกเราที่โรงแรมเดิม ครั้งนี้เรามีเวลาพอจะได้สำรวจเลห์ หากมาที่เลห์ต้องเดินเที่ยวในตลาดเลห์ leh main bazaar ที่นี่มีทุกอย่างที่ต้องการ ร้านหนังสือ อุปกรณ์เทรคกิ้ง ของใช้ถ้าไม่ได้เตรียมมา หาซื้อที่นี่ได้ ร้านขายผ้า pashmina ของขึ้นชื่อที่นี่ มีตั้งแต่ทอด้วยเครื่องราคาหลักร้อย ไปจนถึงทอด้วยมือราคาหลายพันไปจนถึงหลักหมื่นขึ้นอยู่กับความยากง่าย ผมเจอคนไทยในร้านครีม คนบ้านเรามาซื้อครีมที่นี่เยอะมาก จนมีร้านยาอยู่หนึ่งร้านให้คนไทยเขียนรีวิวร้านให้ ผมเห็นภาษาไทยติดอยู่หน้าร้าน พอได้อ่านแล้วก็ตลกดีเลยถ่ายรูปเก็บไว้ เป็นการทำการตลาดที่ได้ผลนะ เพราะคนไทยเข้าเยอะมาก ที่นี่มีคาเฟ่ร้านกาแฟน่านั่งเยอะ ตั้งใจไว้ว่าถ้ากลับจากโมริริ ก่อนกลับไทย คงได้มีเวลาเข้าไปนั่ง แต่ตอนนี้ต้องรีบกลับไปโรงแรมให้ทันเวลาน้ำร้อนยังทำงาน ที่โรงแรมทำอาหารให้เราเป็นพิเศษ เป็นต้มยำ ผัดไทย กับหมูผัดขิง แม้รสชาติจะสู้ที่ไทยไม่ได้ แต่มันก็ช่วยแก้ความคิดถึงอาหารไทยได้ดีกว่าหลายๆวันที่ผ่านมาตั้งเยอะ เป็นอีกหนึ่งมื้อที่ประทับใจมาก หลังอาหาร อาลีมารอพบเราเพื่อคุยเรื่องโปรแกรมที่เหลือ เป็นครั้งแรกที่พบกับเขาหลังจากได้คุยผ่านโทรศัพท์มาตลอด และตอนนั้นเราถึงรู้ความจริงว่าทำไมเราถึงเลห์ตอนมาจากศรีนาการ์ช้า อาลีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือหลังลดราคาให้ เนื่องจากเขาอยากรับผิดชอบเรื่องคนขับรถวันนั้นด้วย ซึ่งเราก็พอใจกับการรับผิดชอบของเขา



ท้องฟ้าสวยงามเช่นเคย

แม้ว่ามันไม่เหมือนกันเลย

สักวัน...


โมริริ, ปลายทาง

ผมยังจำเช้าวันนั้นได้ดี มันเริ่มต้นวันไม่ดีนัก กล้องดิจิตอลที่ผมพกมาถ่ายตลอดสิบกว่าวัน มันไม่ทำงาน หากเลือกวันให้มันหยุดทำงานได้ผมจะไม่เลือกวันนี้แน่ๆ เพราะเป็นวันที่พวกเราจะเดินขึ้นถึงABC ผมพายายามด้วยการเอาชาร์จไฟ แต่ถึงอย่างนั้นกล้องของผมก็ไม่อาจทนอุณหภูมิที่ติดลบได้ ผมแบกเอาความผิดหวังที่ไม่คาดคิดขึ้นไป ABC

ระหว่างทางผมคิดได้ว่า ผมคงไม่มีโอกาสกลับมาที่นี่อีกแล้วแน่ๆคงมีน้อยคนที่จะกลับมาเดินที่เดิมอีก ดังนั้นผมคงจะพลาดโอกาสเก็บภาพบนนี้ ถ้าผมยังจะหวังให้กล้องมันทำงาน สุดท้ายแล้วผมก็เก็บมันใส่กระเป๋าแล้วหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่าย แม้ผมจะไม่ค่อยชอบทำแบบนี้นัก เพราะผมไม่ถนัดถ่ายภาพด้วยมือถือ แต่มันก็ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย จริงไหม...

ลมเย็นๆพัดมาเบาๆบนดาดฟ้าของโรงแรมตอนเช้า

แสงของพระอาทิตย์ช่วยอุณหภูมิอุ่นขึ้น

ท้องฟ้าเปิดโล่งพร้อมรับเรื่องราววันใหม่

9:30น. เลยเวลานัดที่มานสุจะมารับเราครึ่งชั่วโมงแล้ว หวังว่าคนอินเดียจะไม่หลอกเรานะยิ่งเมื่อวานพึ่งรับเงินส่วนที่เหลือไปหมดแล้วด้วย มานสุคงไม่ทำกับเราแบบนี้ ยิ่งเวลาล่วงเลยยิ่งทำให้ความคิดดังขึ้น ไม่นานเสียงที่คุ้นเคยก็เข้ามาพร้อมกับชายหน้านิ่งๆคนนั้นเอง (เย้) เสียงดีใจลั่นโรงแรม.


ก่อนจะไปถึงโมริริ

ถ้าไม่สังเกตุดีๆก็คงมองไม่เห็น ทีแรกผมเข้าใจว่ารถที่มาจอดกัน คงจะมาดูมาร์มอต แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ กลับเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตามหน้าผา ใช่แล้วมันคือแพะภูเขา สีที่กลมกลืนไปกับหน้าผาถ้าไม่สังเกตุดีๆก็คงมองไม่เห็น


ตามเส้นทางต้องผ่านทะเลสาบคาร์ก่อน เป็นทะเลสาบขนาดเล็กถ้ามาช่วงฤดูร้อนอาจได้เห็นน้ำลดลงจนตกผนึกเป็นเกลือได้ และนับตั้งแต่คาร์ถึงโมริริ เป็นเส้นทางที่สวยจนลืมไปเลยว่าเรายังดูที่อินเดีย ผมหยิบกล้องขึ้นมาจับภาพหลายครั้ง ภูเขาสีน้ำเงินที่ยอดเป็นสีขาวเรียงซ้อนกันสลับไปมา ทุ่งหญ้าสีเขียวอ่อนโล่งกว้าง ถูกตัดด้วยถนนสีดำเส้นเล็กๆ เป็นวิวในอุดมคติของใครหลายๆคนที่อยากจะเห็นเลย




ณ ระดับความสูงที่แม้แต่หายใจยังลำบาก ผมสามารถมีความสุขได้โดยไม่ได้ต้องเสแสร้ง จากจุดที่ผมยืนอยู่ ผมเห็นความสุขอย่างชัดเจน เป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการครอบครอง ผมไม่ได้ต้องการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ หรือ เป็นเจ้าของพื้นที่มากมายที่นี่ ผมแค่ชื่นชม ชื่นชอบที่ได้เห็น ได้มองได้สัมผัส มันเป็นความสุขที่เบิกบานใจจริงๆแล้วทำไมกับบางคนเราจะคิดแบบนี้ไม่ได้

ข้างในโมริริมีหมู่บ้านคน เรานั่งรถผ่านเข้าไปมีโรงเรียนที่นักเรียนกำลังเลิกเรียนพอดี ที่นี่ไม่ได้กว้างใหญ่แต่ดูอบอุ่น ผมเห็นเด็กกำลังเล่นกีฬากลางแจ้ง ที่ใช้ไม้ตีลูกคล้ายเบสบอลแต่ไม่ใช่ หลายคนโบกมือต้อนรับเรา มองเห็นก้อนหินที่ถูกก่อเป็นกำแพงสองข้างทาง บางก็เอาไปก่อเป็นผนังบ้าน บางก็ถูกกองไว้ข้างทาง เพื่อเตียมเอาไว้สร้างอาคารไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะขยายตัว ที่พักของเราอยู่ข้างหลังหมู่บ้านติดกับเขา เป็นเต็นท์สีขาวมีห้องน้ำข้างใน เหมือนกับที่ปันกอง ข้างๆเต็นท์มีลำธารที่ไหลลงไปที่ทะเลสาบ หลังจากเอากระเป๋าไปไว้ที่เต็นท์ เรามารวมตัวกันที่เต็นท์ส่วนรวม เป็นที่เดียวที่มีไฟฟ้าใช้เพื่อรอมื้อเย็น

พระอาทิตย์ร่ำลา เป็นเวลาค่ำคืน ผมออกมายืนดูความมืด ไม่ได้ไกลจากแคมป์นัก ทุกสิ่งรอบตัวดูมืดสนิทไปหมด เสียงของเครื่องปั่นไฟเพิ่งหยุดทำงานทำให้แสงนีออนดับลง มีเพียงดวงดาวที่สว่างไสว กระจายไปทั่วท้องฟ้า คืนนี้เป็นหนึ่งคืน ที่ผมเห็นดาวมากที่สุด

รู้ไหมทำไมกลางคืนถึงมีดาว

คงมีใครสักคนอยากบอกเราว่า

ไม่มีความมืดไหนไม่มีแสงสว่าง


มานสุ

มานสุ

นี่น่าจะเป็นวันที่เหนื่อยที่สุดสำหรับเขา เราออกจากโมริริตั้งแต่หลังอาหารเช้า ที่ผมกินได้แต่

คอนเฟลกผสมกับน้ำผึ้ง อาการอ่อนล้าจากการนั่งรถหลายวัน

ทำให้เราไม่อยากจะไปที่ไหนอีก คงเหนื่อยกว่าหลายเท่าถ้าเป็นคนขับอย่างมานสุ

เรามุ่งตรงไปที่เลห์อย่างเดียวโดยแทบไม่ได้ลงจากรถเลย เขาจะจอดรถให้เรากินมื้อเที่ยง

แต่เราจากไปกินที่

Café’ Cloud ซึ่งมันคงไปถึงประมาณบ่ายสอง เราเห็นใจเขา

เพราะการที่เราได้พักกินข้าวก็เท่ากับว่าเขาจะได้พักด้วย พวกเราอยากจะซื้อ

เซเว่นอัพในเขา แต่เขาปฎิเสธ เขาบอกว่าเขาไม่เหนื่อยและไม่อยากให้เราถึงช้า วิวภูเขาในเส้นทางกลับมายังเลห์เป็นภูเขาสีแดงสลับน้ำตาล

ไม่มีแม้แต่สีเขียวไปแต้มเลยจะมีก็แต่วัดสีขาว แต้มบ้างประปราย

ถนนดีกว่าช่วงเช้าที่ผ่านมา




เรากลับมาที่เลห์อีกครั้งในช่วงบ่าย เป็นวันสุดท้ายก่อนวันเดินทางกลับ เราเดินไปที่ Leh main bazaar อีกครั้ง ผมเดินเข้าไปในโซนทิเบต ที่ขายพวกสายถัดข้อมือ กำไล เครื่องประดับที่ทำจากสัตว์เพื่อซื้อเป็นของฝาก ไม่นานนักไฟก็ดับทั้งตลาด พึ่งรู้ว่าแม้แต่ที่นี่ไฟก็ยังดับ แต่ทุกคนกลับไม่ได้แตกตื่นอะไร คงเป็นเรื่องปกติ หลายร้านเอาเครื่องปั่นไฟออกมาใช้ พอเลือกเสร็จผมจึงเดินกลับไปที่ถนน Old Fort Roadเข้าไปนั่งเล่นในคาเฟ่ชื่อ Leh café’ เป็นร้านกาแฟอยู่ตรงหัวมุมพอดี

เป็นการร่ำลา ลาห์เลลาดักห์ ในวันสุดท้าย


มานสุมารอเราตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดี วันนี้เขาไม่ได้มาสาย ตลอดหลายวันที่ผ่านมาชีวิตของเราฝากไว้กับมานสุ หากมีสักครั้งที่มานสุวูบหลับขณะขับรถ เราคงมาไม่ถึงวันนี้ เขาทำหน้าที่ดีมากๆ เราให้พิเศษเขามากพอที่อยู่เฉยๆไปอีกหลายวัน ผมจำนาทีที่มานสุขับรถออกไปได้ เราโบกให้เขา แล้วเขาก็ยิ้มให้เรา นั่นเป็นรอยยิ้มครั้งแรกและครั้งเดียวที่เราได้เห็น.


wiri

 วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 22.07 น.

ความคิดเห็น