การเอาตัวรอดและการดำรงชีพในประเทศซูดานใต้ในพื้นที่ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า เต็มไปด้วยโรคร้ายแรง เป็นเวลา 1 ปีเต็ม แต่สนุกและประทับใจในมิตรภาพของเพื่อนๆจากทั่วโลกรวมถึงประชาชนในพื้นที่ ...

ประเทศซูดานเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกามี ประชากรที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือจะมีลักษณะความเป็นอยู่ และ วัฒนธรรมคล้ายกับชาติอาหรับ นับถือศาสนาอิสลามส่วนประชากรที่อยู่ทางใต้มีลักษณะความเป็นอยู่และวัฒนธรรมคล้ายกับชาติแอฟริกา ภาษาที่ใช้เป็นภาษาอาราบิก และภาษาพื้นเมือง อาชีพส่วนใหญ่คือ การเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ ประชาชนพื้นเมืองส่วนใหญ่มีความเป็นมิตร ร่าเริง สนุกสนาน มีความสุขตามอัตภาพของตัวเอง ที่สำคัญมีน้ำใจและรู้จักแบ่งบัน




***บ้านดิน เรียกว่า ตุ๊กกรู และห้องอาบน้ำชั่วคราว



***ภายในบ้านดิน


***อุปกรณ์ทุกอย่างใช้แบตเตอรรี่

*** รูปน้องๆ ชาวซูดานใต้ มีความเป็นกันเองและทักทายด้วยดีทุกครั้งที่เจอกัน

มีแม่น้ำไนล์เป็นเสมือนสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงชาวชูดาน นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำมันจำนวนมหาศาลที่เปรียบเสมือนอนาคตของประเทศ ซึ่งพบมากบริเวณรอยต่อระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้


***รูปบ้านและร้านค้าในเมืองหลวง

ประสบการณ์ “ครั้งหนึ่งในชีวิต กับการทำงาน ทูตสันติภาพขององค์การสหประชาชาติกับ ความภูมิใจ ของคนไทย ระยะเวลา ๑ ปี ในการเป็นตัวแทนของไทยในหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ที่ประเทศซูดาน ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างซูดานเหนือและซูดานใต้


***ในชุมชนทั่วไปโดย บทบาทและ หน้าที่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางทหาร (United Nation Military Observer; UNMO) เป็นระยะเวลาเกือบ ๑๒ เดือน นั้น มีภารกิจ แยกได้ ดังนี้

๑) ตรวจสอบ และ รายงาน ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดกำลัง การถอนกำลังทหาร ความเคลื่อนไหว ของทั้งสองฝ่าย
๒) ตรวจสอบการรวมกำลังของกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธต่างๆ เช่น กลุ่มทหารผ่านศึก กลุ่ม Wildlife Protection หรือ กลุ่มทหารรับจ้างอื่นๆ

๓) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน และ แลกเปลี่ยนความรู้ หาข่าวสารข้อมูลให้กับหน่วยงานอื่นๆขององค์การสหประชาชาติ

๔) ทำการตรวจสอบ การอพยพเคลื่อนย้ายผู้พลัดถิ่นภายในค่ายผู้อพยพ จากไหน ไปไหน รายงานให้หน่วยเหนือทราบ และ ทำการเฝ้าระวังโรคที่จะมากับผู้อพยพเหล่านั้นด้วย

๕) การปฏิบัติงานทางด้านกิจการพลเรือน งานด้านสุขอนามัย ตามโรงเรียนและชุมชนต่างๆ

ชีวิตความเป็นอยู่ อาหาร และที่พักอาศัยในพื้นที่ซูดานใต้

***ชีวิตความเป็นอยู่ ที่ซูดานใต้ นั้น จะต้องฝ่าอันตรายและภัยรายวัน ทั้งจากการดักปล้นของกลุ่มโจร รวมถึงการเสี่ยงภัยจากสภาพแวดล้อมที่ยังขาดความเจริญ



***การค้าขายในตลาดทั่วไปหน้าโรงแรมและร้านอาหารในเมืองรุมแบ็ค ซูดานใต้

ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากโรคติดต่อในพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากการสาธารณสุข, การสาธารณูปโภค, การรักษาพยาบาล และการควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ปฏิบัติการของประเทศซูดานนั้นยังไม่ดีพอ ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจ ต่อการติดโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ อาทิ มาลาเรีย, อหิวา, ไทฟอยด์, ไวรัสตับอักเสบ, กาฬโรค, ไข้กาฬหลังแอ่น ฯ จึงต้องดำรงชีพแล้วความระมัดระวัง รวมถึงสุขอนามัยในเรื่องอาหารการกินและน้ำดื่มเพราะเสี่ยงต่อการติดโรคในพื้นที่สูง


***น้ำดื่ม น้ำใช้ มาจากบ่อน้ำบาดาล

****ชาวบ้านใช้กิ่งไม้ในการแปรงฟัน


อาหาร ตลอดเวลา ๑ ปี ในประเทศซูดาน นั้น ได้ทานอาหารอยู่ ๒ แบบ คือ อาหารพื้นเมืองและแบบปรุงเอง โดยใช้เตาน้ำมันก๊าซ ตามรูป ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ในการต้มน้ำให้เดือด


***เตาน้ำมันก๊าซ


***อาหารปรุงเอง

สำหรับอาหารพื้นเมืองนั้นหาทานได้ทั่วไปในตลาด ราคาก็ไม่แพงมาก แต่จะมีความสะอาดค่อนข้างน้อย จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ดังตัวอย่างเช่น แป้งทอด เป็นแผ่นคล้ายแป้งโรตี เรียกว่า ชาบาติ ชาวบ้านนิยมทานเป็นอาหารเช้า กับน้ำชา หวานๆ ที่มักใส่น้ำตาลในปริมาณมาก (เรียกว่า ชาย แปลว่า น้ำชา) ชาบาติ อาจทานกับแกงเนื้อก็ได้ (เนื้อแพะ หรือ เนื้อ วัว) ทานเป็นอาหารเย็น


***หมูป่า หมูบ้าน เห็นได้ทั่วไป แต่ไม่นิยมนำมารับประทาน

อาหารหลักคือแป้งโรตี ชาบาติที่นี่ราคา แผ่นละ ๑ ปาวน์ (ประมาณ ๑๕ บาท) และ ชาใส่นมราคา ๑ ปาวน์ เช่นกัน สำหรับแกงเนื้อ วัว หรือ แพะ หรือ ตับ มักกินกับขนมปังก้อน บางครั้งอาจมีข้าวด้วย แกงเนื้อ ใส่มันฝรั่ง ไม่เผ็ดมาก ไม่มีเครื่องเทศมาก ชาวบ้านทั่วไปอาจกินข้าวฟ่าง หรือ ข้าวโพด บดละเอียดคล้ายแป้ง กินกับน้ำแกง ๑ จานใหญ่ โดยนั่งกินล้อมวงกัน บางครั้งกินถั่วต้ม ถั่วบด ไม่มีผักมากมาย มีอยู่ประมาณ ๒-๓ ชนิดเท่านั้น เช่น ผักคะน้า, ผักกระหล่ำ, ฝักทอง, แตงกวา เป็นต้น


***ผัดผักคะน้าใส่เนื้อวัว

ชาวบ้านที่นี่ไม่นิยมปลูกพืช ผัก เพราะยังต้ออพยพไปเรื่อยๆในยามสงคราม ทำให้ชาวบ้านต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บฟืน, หาของป่ามาขาย หรือ เลี้ยงสัตว์ วัวและแพะ เป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะวัว เพราะประเพณีในการสู่ขอเจ้าสาวจะใช้วัวเป็นสินสอด เช่น วัว ๓๐ ตัว เป็นต้น ราคาวัวที่นี่มีราคาสูงมาก ถ้าเป็นวัวที่มีลักษณะดีราคาอาจสูงถึง ๕๐๐- ๑,๐๐๐ ยูเอส ดอลล่าร์ แพะก็เช่นเดียวกันถ้าตัวไหนกำลังตั้งท้อง ราคาอาจสูงถึง ๒๐๐- ๓๐๐ ยูเอส ดอลล่าร์ เลยทีเดียว

ตัวอย่าง ราคาอาหาร ในตลาด RUMBEK (๑ ปาวน์ = ๑๕ บาท อัตราแลกเปลี่ยนช่วงปี 2009)
• ข้าวสาร ๔ ปาวน์ / กก. ( ๖๐ บาท) กินเฉลี่ยวันละ ครึ่งกิโล / ๒ คน
• ไข่ไก่ ๒๐ ปาวน์ / แผง ๓๐ ฟอง ( ๓๐๐ บาท)
• เนื้อวัว ๑๐ ปาวน์ / กก. ( ๑๕๐ บาท)
• ผักสด ๑ ปาวน์ / กำเล็กๆ ( ๑๕ บาท)
• โค็ก ๒ ปาวน์ / ขวด ๕๐๐ มล. ( ๓๐ บาท)
• น้ำผลไม้ ๘ ปาวน์ / กล่อง ๑.๕ ล. ( ๑๒๐ บาท)
• แตงโม ๑๐ ปาวน์ / ผล ( ๑๕๐ บาท) นานๆมีขายเพราะ ต้องส่งมาจากประเทศยูกันด้า
• ฝักทอง ๑๐ ปาวน์ / ผล (๑๕๐ บาท จากประเทศยูกันด้า)
• กล้วยหอม ๑ ปาวน์ / ผล (๑๕ บาท จากประเทศยูกันด้า)
• สัปปะรด ๑๐ ปาวน์ / ผล (๑๕๐ บาท จากประเทศยูกันด้า)
• มันฝรั่ง ๑ ปาวน์ / ๒ ผล ( ๑๕ บาท)
• หอมใหญ่ ๑ ปาวน์ / ๓ หัวเล็ก ( ๑๕ บาท)
• น้ำตาล ๕ ปาวน์ / กก. ( ๗๕ บาท)
• ขนมปังโดนัท ๑ ปาวน์ / ๒ ชิ้น ( ๑๕ บาท)
• ปลาน้ำจืด ๕ ปาวน์ / ตัวประมาณ ๒-๕ กก. (นานๆ มีให้กิน เพราะ ต้องซื้อจาก หมู่บ้าน SHAMBE ที่ติดกับแม่น้ำไนล์ ซึ่งห่างจากที่พัก ประมาณ ๑๐๐ กม.)


บางครั้งสามารถหาซื้ออาหารแช่แข็งจากร้าน PX ที่ JUBA แต่ ต้องนั่งเครื่องบินไปซื้อจาก ร้าน PX ที่ JUBA
• ไก่แช่แข็ง ๗ ดอลล่าร์ / ตัว
• กุ้งแช่แข็ง ๑๕ ดอลล่าร์ / ๑ กก.
• ช็อคโกเล็ต ๓- ๑๕ ดอลล่าร์ / ถุง
สรุป อาหารหลัก ในมื้อเช้า คือ ขนมปัง คุกกี้ กับ นมกล่อง หรือโอวันติน สำหรับมื้อเที่ยงและมื้อเย็น คือ ข้าวสวย กับข้าวอย่างน้อย ๒ อย่าง เช่น ม่าม่า รสต่างๆ กินแทนน้ำซุบ, แกงเขียวหวานไก่ หรือแกงที่ปรุงจากเครื่องแกงสำเร็จรูป ปลากระป่อง ทูน่ากระป่อง ผัดผัก, ไข่เจียวใส่ หอมใหญ่และ เนื้อ,แกงเนื้อ ปลา ไก่ และ น้ำพริกต่างๆ

บ้านพักอาศัย ตลอดระยะเวลา ๑ ปี กระผมได้เปลี่ยนที่พัก รวม ๓ แห่ง เนื่องจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและต้องการหาที่พักที่เหมาะสมที่สุดในการดำเนินชีวิต คือในช่วงแรกได้พักในค่ายของ ยูเอ็น เป็นเวลา ๗ วัน เป็นห้องพักแบบตู้คอนเทนเนอร์ ราคา ๒๑ ยูเอสดอลล่าร์ ต่อ คืน มี แอร์ น้ำ ไฟฟ้า ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ตู้เสื้อผ้าพร้อม แต่ราคาแพงไม่เหมาะสำหรับผม



***ภายในห้องพักแบบตู้คอนเทนเนอร์ ราคา ๒๑ ยูเอสดอลล่าร์ ต่อ คืน

อมาได้ย้ายไปพักที่ชุมชน LAW SOCEITY เป็นเวลา ๑ เดือน เป็นลักษณะ บ้านที่ทำจากดิน ใช้ไม้ไผ่ หรือ ท่อนไม้เป็นเสาและแกนอยู่ภายใน ทนแดด ทนฝนได้เป็นอย่างดี หลังคามุงแฝกสวยงานมาก เรียกว่า ตุ๊กกรู โดยทั่วไปตุ๊กกรูจะมีขนาดเล็กประมาณ ๓x๓ ม. ราคาค่าเช่าประมาณ ๑๐๐ ยูเอสดอลล่าร์ / เดือน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า


ค่อนข้างสะอาดและปลอดภัย แต่ ไกลจากที่ทำงานมาก ประมาณ ๓ กม. ทำให้ไม่ปลอดภัยถ้าต้องเดินทางกลับบ้านในเวลากลางคืน สุดท้าย เลยตัดสินใจย้ายไปพักที่ชุมชน WFP เป็นเวลา ๑๐ เดือน ลักษณะตุ๊กกรูเป็นบ้านดิน ขนาดใหญ่กว่าเดิมคือ ประมาณ ๖x๓ ม. ราคา ๒๕๐ ยูเอสดอลล่าร์ / เดือน พักได้เต็มที่ประมาณ ๔ คน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า แต่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะได้มีการจ้างตำรวจและเวรยามตลอดทั้งคืน การคมนาคมก็สะดวง อยู่ห่างจากค่ายของยูเอ็นประมาณ ๑ กม. สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ได้เตรียมไปทั้งหมด ได้ใช้งานจริงประมาณ ๖๐ % เท่านั้นเพราะการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ทำงานมากกว่าที่บ้านพัก ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ อาหาร โดยให้เตรียมไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้



***บ้านพักที่ใหม่ พร้อมห้องอาบน้ำที่สร้างขึ้นเองชั่วคราว


***ในชุมชนจะมีห้องส้วมอยู่ที่เดียว กลางคืนไม่มีไฟฟ้าอันตรายในการเดินไปใช้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมตามธรรมชาติ


สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีความเดือดร้อนจากภัยสงคราม การให้คือสิ่งที่ดีที่สุด เช่น การให้มิตรภาพ ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้อาหาร การศึกษา ยารักษาโรค เป็นต้น ซึ่งผลจากการให้จะทำให้ประชาชนอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนต่อไป


Chai smile

 วันพฤหัสที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 21.32 น.

ความคิดเห็น