บางลำพู หนึ่งในย่านการค้าเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ หลายคนอาจจะคุ้นเคยในการไปหาซื้อของหรือซื้อชุดนักเรียน-นักศึกษาที่นั่น แต่ไม่ทราบเรื่องราวของชุมชนในย่านนี้มากนัก เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเดินชุมชนย่านบางลำพูกับไกด์เด็กบางลำพู จึงอยากมาบอกเล่าเรื่องราวในครั้งนี้

โดยกิจกรรมคร่าวๆ คือ เดินชุมชนวัดสังเวช, ชุมชนวัดสามพระยา, ชุมชนวัดใหม่อมตรส และชุมชนบ้านพานถม (ฝั่งริมคลองบางลำพู) ไปดูของดีชุมชน ทานขนมหวาน ชมบรรยากาศในชุมชน และถ่ายภาพ Street Art เก๋ๆ

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

จุดนัดหมายของเราอยู่ที่พิพิธบางลำพู เมื่อมาถึงก็ลงทะเบียนและเราก็จะได้แผนที่ท่องเที่ยวในย่านบางลำพู


ชุมชนที่อยู่ในย่านบางลำพู ได้แก่ ชุมชนเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้, ชุมชนวัดสังเวช, ชุมชนวัดสามพระยา, ชุมชนวัดใหม่อมตรส, ชุมชนบ้านพานถม และชุมชนมัสยิดจักรพงษ์



เมื่อสมาชิกมาครบแล้ว ก่อนออกเดินทางน้องๆ ได้แนะนำตัว โดยแต่ละคนมาจากชุมชนวัดสังเวช, ชุมชนวัดสามพระยา และชุมชนวัดใหม่อมตรส


เส้นทางการเดินจะเริ่มต้นที่พิพิธบางลำพู-ชุมชนวัดสังเวช-ชุมชนวัดสามพระยา-ชุมชนวัดใหม่อมตรส-ชุมชนบ้านพานถม และกลับมาที่พิพิธบางลำพู


สะพานฮงอุทิศ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2460 โดยพ่อค้าชาวจีนชื่อนายฮง หรือ ยี่กอฮง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เมื่อข้ามสะพานก็จะเข้าสู่ชุมชนแรก คือ ชุมชนวัดสังเวช


ภาพวาดเรือสุพรรณหงส์ริมคลองบางลำพู (คลองรอบกรุง)


บ้านดุริยประณีต สำนักดนตรีไทยเก่าแก่ในชุมชนวัดสังเวช เปิดสอนดนตรีไทยและนาฏศิลป์ให้กับเด็กๆ

และผู้ที่สนใจ


เดินลัดเลาะไปตามซอกซอยเพื่อเข้าสู่ชุมชนวัดสามพระยา น้องๆ บอกว่าปัจจุบันภายในซอยเล็กๆ มีที่พัก, เกสเฮ้าส์เพิ่มมากขึ้น


ตัวการ์ตูนสีชมพูสดใสนี้คือ แรดจีจี้ขี่พญานาค อยู่บริเวณกำแพงรร.เพ็ญภาค เพลส


รร.เพ็ญภาค เพลส เดิมเคยเป็นบริษัทยาสตรีเพ็ญภาค


ใกล้ๆ กันมีภาพวาด "ท่าเรือเก่า ชุมชนวัดสามพระยา" สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ริมน้ำ


สวนสามพระยา สวนสาธารณะขนาดเล็กริมน้ำ เดิมเป็นพื้นที่ตาบอดและมีกรณีพิพาท แต่ทางสำนักงานเขตพระนครได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาที่ดินนี้ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว


ข้างๆ สวนสามพระยา คือ ร้านกินลม ชมสะพาน


วิวแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระรามแปด

เดินข้ามสะพานไม้เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไปยังจุดหมายต่อไป


ข้าวต้มน้ำวุ้น ของดีชุมชนวัดสามพระยา มีที่มาจากขนมบ๊ะจ่างของชาวจีน การทำข้าวต้มน้ำวุ้นเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่บ้านที่ยังทำข้าวต้มน้ำวุ้นส่งขายอยู่


ภาพ Street Art บ่งบอกถึงของดี, ของขึ้นชื่อภายในชุมชน นั่นก็คือ ข้าวต้มน้ำวุ้น

บ้านจอมพลประภาส จารุเสถียร ปัจจุบันมีเพียงคนดูแลบ้านอาศัยอยู่


วัดสามพระยา อุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีสันสวยงาม ภายในอุโบสถประดิษฐาน "พระพุทธเกสร" เชื่อว่าหากได้ไปกราบไหว้จะทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า

วิหารพระนั่ง-พระนอน ชาวบ้านในย่านนี้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระนั่ง-พระนอนมาก มีตำนานเล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่วัดไม่ถูกระเบิดลง เพราะหลวงพ่อทั้ง 2 องค์ใช้พระหัตถ์ปัดป้องลูกระเบิดให้ไปตกที่แม่น้ำเจ้าพระยาและบริเวณอื่นแทน



ออกจากชุมชนวัดสามพระยา แล้วข้ามฝั่งเพื่อไปชุมชนวัดใหม่อมตรส

วัดใหม่อมตรส เป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดบางขุนพรหม วัดนี้มีชื่อเสียงในเรื่องวัตถุมงคล คือ พระสมเด็จ กรุวัดใหม่อมตรส


ภาพสิงโตทั้ง 2 ตัวอยู่ภายในชุมชนวัดใหม่อมตรส ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ฝึกซ้อมการเชิดสิงโตของคณะสิงโต-มังกรทองลูกเจ้าพ่อพระกาฬ

ใกล้เคียงกันมีภาพวาดของนางงามวิสุทธิกษัตริย์ ซึ่งมีการประกวดเป็นประจำทุกปีในช่วงวันสงกรานต์


เดินลัดเลาะไปเรื่อยๆ เพื่อเข้าสู่ชุมชนบ้านพานถม ก็จะเจอภาพวาดตัวการ์ตูนและสีสันสดใสบนกำแพงยาว

เดินมาสักพักได้เวลาแวะเติมน้ำตาลกันที่ ร้านเปาะเปี๊ยะ ร้านนี้ทำแป้งเปาะเปี๊ยะขาย แต่ก็ได้นำแผ่นเปาะเปี๊ยะมาห่อสายไหมแทนแผ่นโรตี แป้งเปาะเปี๊ยะเหนียวนุ่มหนึบ ยิ่งได้ทานหลังจากที่ทำแป้งเสร็จใหม่ๆ ยิ่งอร่อย



ออกเดินกันต่อที่ทางเดินเลียบคลองบางลำพู เพื่อไปยังร้านขนมร้านต่อไป

โบ๊กเกี้ย หวานเย็นสูตรไหหลำ เจ้าประจำบางลำพู เปิดมานานกว่า 20 ปี ตั้งอยู่ข้างๆ ศาลเจ้าพ่อหนู


เดินมาเหนื่อยๆ บวกกับอากาศร้อนๆ แบบนี้ ได้โบ๊กเกี้ยสักถ้วยก็ชื่นใจไม่น้อย น้ำเชื่อมน้ำลำไย หอม หวานไม่มาก เครื่องต่างๆ เช่น มันเชื่อม, ถั่วแดง, เม็ดบัว ก็จัดเต็ม ส่วนตัวแป้งโบ๊กเกี้ยนั้น บอกเลยว่าเคี้ยวหนึบมาก เคี้ยวทีเด้งสู้ฟันกันเลยทีเดียว

หลังจากทานเสร็จก็แวะขึ้นไปไหว้สิ่งศักด์สิทธิ์ภายใน ศาลเจ้าพ่อหนู ซึ่งชาวบ้านศรัทธาในเรื่องการปัดเป่าโชคร้าย (โดยเฉพาะเรื่องอัคคีภัย) และการขอพรให้ประสบความสำเร็จ



ขนมหวานร้านสุดท้ายที่ได้ไปชิมกันคือ ขนมไทยแม่งามจิตต์ ร้านนี้มีขนมไทยมากมายหลายชนิด เช่น ทองหยิบ-ทองหยอด, ฝอยทอง, ขนมชั้น และวุ้นกะทิ ขนมรสชาติดีและราคาไม่แพง



ชุมชนสุดท้ายที่เราไปเยี่ยมชมคือ ชุมชนเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ ซึ่งภายในชุมชนมีการปักชุดโขน, ชุดละคร และในอดีตริมคลองบางลำพูเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงมหรสพ เช่น ลิเกหอมหวล, ละครร้องแม่บุญนาค

ผลงาน บ้านปักชุดโขนละคร


บริเวณภาพวาดมี QR Code ให้สแกนเพื่อตามรอยเส้นทางภาพวาด Street Art ในโครงการ Pipit Banglamphu Street Art

สุดสัปดาห์นี้ใครที่กำลังหาที่เที่ยวในกรุงเทพฯ ย่านบางลำพูก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ นอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแต่ละสถานที่แล้ว ยังได้ไปทำบุญ-ไหว้พระ ไปถ่ายรูปเก๋ๆ และได้ทานของอร่อยๆ อีกด้วย หรือหากใครสนใจกิจกรรมเดินเที่ยวชุมชนย่านบางลำพูกับน้องๆ ไกด์เด็กบางลำพู ก็สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่แฟนเพจ "เสน่ห์บางลำพู"


Whereyorgo

 วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 17.03 น.

ความคิดเห็น