รีวิวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง แหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรักธรรมชาติ เอาใจคนชอบเดินป่า เดินเที่ยวแนวลุย ๆ ที่นี่ต้องไป! ตามสโลแกนประจำอุทยานที่บอกว่า "ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง" ประโยคโดน ๆ ที่ถูกเขียนอยู่บนป้ายไม้ขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนใบรับรองของความสำเร็จที่บอกได้ว่า เรานี่แหละไปมาแล้ว!

สำหรับทริปนี้จะเน้นการรีวิวจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง โดยจะใช้เวลา 4 วัน 3 คืน รวมถึงการเตรียมตัวและขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนขึ้นภูกระดึงว่าต้องทำอะไรกันบ้าง?

 

ชมคลิ๊ปวีดีโอจุดท่องเที่ยวบนภูกระดึง

 

 จุดท่องเที่ยวบนภูกระดึงที่น่าสนใจ

  • ชมศิลปะแสงและเงาของพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น

 

  • ชมใบเมเปิ้ลแดงตัดกับมอสเขียวที่น้ำตกถ้ำใหญ่


  • เดินทางไกลไปเก็บตะวันที่ผาหล่มสัก


  • ถ่ายรูปยืนยันรักนิรันดร์กันที่ผาหมากดูก


  • กิจกรรมขี่จักรยานชมป่าสน


เตรียมวางแผนไปเที่ยวภูกระดึงอย่างไรดี

1. เลือกวันที่ต้องการท่องเที่ยว แนะนำให้ไปในฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม เนื่องจากอากาศจะเย็นสบาย (เปิดฤดูการท่องเที่ยว 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม)

2. จองเต็นท์หรือบ้านพักผ่านเว็ปไซต์ของทางอุทยานฯ

Website: http://nps.dnp.go.th//reservation.php

3. เตรียมสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 3 เดือน

4. เตรียมรองเท้าให้เหมาะกับการเดินป่า


เดินทางจากกรุงเทพไปภูกระดึงได้อย่างไรบ้าง

1. เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

  • ใช้ Google map ในการเลือกเส้นทาง
  • เส้นทางขาไป กรุงเทพฯ - เพชรบูรณ์ - อำเภอน้ำหนาว - อำเภอภูกระดึง
  • เส้นทางขากลับ อำเภอภูกระดึง - ชัยภูมิ - อำเภอสีคิ้ว - สระบุรี - กรุงเทพฯ

2. เดินทางด้วยรถทัวร์

  • ขึ้นรถที่หมอชิตใหม่ เลือกบริษัทรถทัวร์ได้ตามต้องการ แนะนำเที่ยวรถประมาณรอบ 21:00 น. โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง ทำให้สามารถถึงท่ารถผานกเค้าได้ประมาณ ตี 4 ตี 5
  • นั่งรถสองแถวแดงต่อมายังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง อัตราค่าบริการ 30 บาท/คน (หรือเหมา 300 บาทต่อเที่ยว)

 

ชำระค่าธรรมเนียมก่อนขึ้นภูกระดึง

1. ชำระค่าบริการเข้าอุทยานฯ

รถยนต์ 4 ล้อคันละ 30 บาท, จักรยานยนต์ 20 บาท, บุคคล เด็กคนละ 20 บาท, ผู้ใหญ่ 40 บาท

2. ชำระ/ติดต่อที่พัก (บ้านพัก, เต็นท์, พื้นที่กางเต็นท์)

2.1 เต็นท์ของอุทยานฯ 150 บาท/2ท่าน, 200 บาท/3ท่าน (นำเต็นท์มาเองเสียค่าบำรุงสถานที่ 30 บาท)

2.2 หมอน 10 บาท, ผ้ารองนอน 20 บาท, ถุงนอน 30 บาท

2.3 ซื้อประกันชีวิต 10 บาท/คน

3. จัดเตรียมสัมภาระโดยใช้บริการลูกหาบ

3.1 ค่าป้ายติดสัมภาระ (สีฟ้า) ใบละ 5 บาท

3.2 ค่าบริการ 30 บาท/กก./ต่อเที่ยว


วันที่ 1 เริ่มเดินขึ้นภูกระดึง (ระยะทางรวม 9 กม.)

หลังจากชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว สมาชิกพร้อมออกเดินทาง โดยเริ่มจากป้ายแรก "ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอพิชิต ภูกระดึง" ว่าแล้วก็ไปกันเลย

จากตีนภูไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบนภูกระดึง ระยะทางรวม 9 กม. ช่วงที่ 1 ระยะ 5.5 กม. เป็นทางชันตลอดเส้นทาง และช่วงที่ 2 เป็นทางพื้นราบ ระยะทาง 3.5 กม.

ระหว่างการเดินขึ้นภูกระดึงขอแนะนำว่าให้นำสัมภาระติดตัวไปให้น้อยที่สุด เนื่องจากระยะ 5.5 กม.แรกเป็นทางชันตลอดเส้นทาง หากนักท่องเที่ยวมีการเตรียมตัวมาอย่างดี ก็สามารถขึ้นไปได้อย่างไม่ยากนัก ในระยะ 5.5 กม. แรกเราสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 เริ่มจากตีนภูไปยังจุดพักแรก ซำแฮก ระยะทางประมาณ 1 กม. เป็นทางค่อนข้างชันมาก นั่นหมายถึงต้องเหนื่อยกันหน่อยและค่อย ๆ เดินกันไปเรื่อย ๆ โดยเวลาเฉลี่ยๆ จากหลาย ๆ คนจะอยู่ที่ประมาณ 40 นาที

ช่วงที่ 2 จากซำแฮกผ่านไปถึงซำแคร่ ระยะทางรวมประมาณ 3.2 กม. เป็นระดับความชันปกติ โดยมีจุดพักระหว่างทางอยู่หลายจุด (ซำแฮก - 700 เมตร - ซำบอน - 440 เมตร - ซำกกกอก - 200 เมตร - ซำกอซาง - 140 เมตร - พร่านพรานแป - 440 เมตร - ซำกกหว้า - 460 เมตร - ซำกกไผ่ - 300 เมตร - ซำกกโดน - 450 เมตร - ซำแคร่)

นักท่องเที่ยวสามารถรับประทานอาหารตามร้านอาหารได้ในระหว่างทาง สำหรับไม้เท้าที่เป็นไม้ไผ่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยพยุงน้ำหนัก และเป็นการลดภาระการทำงานของขาทั้งสองข้างได้ในระดับหนึ่ง

ช่วงที่ 3 จากซำแคร่ไปถึงยอดภู หรือเรียกว่าหลังแป ระยะทางประมาณ 1.3 กม. จะเป็นทางชันค่อนข้างมากอีกครั้ง ดังนั้นจึงขอแนะนำนักท่องเที่ยวให้ประมาณกำลังที่ต้องใช้ในงานการเดินทางตามความเหมาะสม

เกือบจะได้เป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงแล้วครับ น้องพุทธศาสตร์กำลังรวบรวมพลังในช่วงสุดท้ายเพื่อเดินให้ถึงยอดภู

และจุดนี้เองน่าจะเป็นเสน่ห์ของการมาเที่ยวภูกระดึงแบบหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ความพยายามอยู่พอสมควรถึงจะได้พบความสวยงามของธรรมชาติที่อยู่ด้านบน โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย

อุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 ครอบคลุมพื้นที่ 348.13 ตารางกิโลเมตร (217,576.25 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึงประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 400 – 1,200 เมตร

สำหรับทริปนี้ผู้นำกลุ่มใช้เวลาเดินขึ้นมายังยอดภูประมาณ 4.5 ชม. และรอสมาชิกคนสุดท้ายขึ้นมาด้วยเวลา 5.5 ชม. ถือว่าทำเวลาได้ไม่แย่นัก 555+ ดังนั้นระหว่างรอเพื่อน ๆ ทยอยกันเดินขึ้นมา ขอเดินสำรวจและเก็บภาพสวย ๆ กันหน่อย

ต้นเมเปิ้ลกำลังออกใบสีแดงสดอยู่บริเวณป่าสนใกล้ ๆ ทางขึ้นพอดี

เด็กน้อยอายุ 5 ขวบกำลังชื่นชมกับความงามของใบเมเปิ้ล น้องมากับคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเราเจอกันตั้งแต่เริ่มออกเดินด้านล่าง น้องเก่งมาก ๆ เลย

และระยะสุดท้ายสำหรับวันที่ 1 เดินกินลม ชมวิวป่าสนเพื่อเข้าไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีกระยะ 3.5 กม.

กิจกรรมในวันที่ 1 พิชิตภูกระดึงก็จบลงไปด้วยดี หลังจากสมาชิกทุกท่านเดินถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกันเรียบร้อย ภาระกิจต่อไปเป็นการจัดการเรื่องเต็นท์ที่พัก รวมถึงตรวจรับสัมภาระต่าง ๆ พร้อมชำระเงินค่าบริการลูกหาบ จากนั้นก็แยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัว และนัดรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อไปรับประทานอาหารเย็นที่แสนอร่อยเป็นมื้อแรกบนภูกระดึง

 


วันที่ 2 ชมศิลปะแสงและเงาของพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ประกาศออกอากาศของเย็นวันที่ 1 สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้นขอให้มาเจอกันบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ เวลา 05:00 น. พวกเราตื่นกันประมาณตี 4 กว่า ๆ เผื่อเวลาสำหรับทำกิจวัตรประจำวันนิดหน่อยก่อนที่จะถึงเวลานัดหมาย 

จากที่ทำการอุทยานฯ เดินไปเป็นขบวนจนถึงผานกแอ่น ระยะทางประมาณ 2 กม. พอไปถึงก็จับจองที่นั่งรอชมพระอาทิตย์ขึ้นกันตามสะดวก เวลาประมาณ 6:30 น. เริ่มเห็นพระอาทิตย์ค่อย ๆ เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาทีละนิด

แสงบนท้องฟ้าที่เริ่มสว่างขึ้นมาทีละนิด ปนกับเสียงตื่นเต้นของนักท่องเที่ยวที่รีบเร่งกันถ่ายภาพก่อนที่พระอาทิตย์จะหายไปในเวลาอันสั้นเป็นอีกสีสันของทริปการท่องเที่ยวในครั้งนี้

ผานกแอ่นหนึ่งในสีสันบนยอดภูกระดึงที่ไม่ควรพลาด แม้จะต้องแลกกับการตื่นเช้าสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่าที่ได้มาสัมผัสถึงงานศิลปะอันงดงามของธรรมชาติ

และระหว่างทางเดินกลับยังคงเก็บความสวยงามของป่าไม้ที่สวยงามได้อีกด้วย พืชเล็ก ๆ ที่ขึ้นตามสองข้างทางรูปทรงหลากหลาย เป็นงานศิลปะของธรรมชาติซึ่งกระจายตัวอยู่ตามพื้นดิน สลับด้วยความสวยงามของป่าสนสูงที่มีให้เห็นอยู่รอบๆ

กลับมาจากผานกแอ่นยังมีเวลาอีกทั้งวันขอใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ให้เต็มที่ นั่ง ๆ นอน ๆ ตากลมเย็น ๆ กันอย่างชิล ๆ

หมวกไหมพรมและถุงเท้าอุ่น ๆ สิ่งที่จำเป็นของการท่องเที่ยวในครั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลากลางวัน แต่ลมเย็น ๆ รวมกับอากาศประมาณ 15 องศา (c) ทำให้พวกเรารู้สึกว่ามันหนาวเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน เพื่อน ๆ รู้ใจ รวมตัวกันปูเสื่อใต้ต้นเมเปิ้ล สั่งข้าวเหนียวหมูทอด กับส้มต้มรสแซ่บมานั่งกินกันอย่างเอร็ดอร่อย  อารมณ์นี้มันช่างฟินน์ซะเหลือเกิน

ตกบ่าย ๆ เรี่ยวแรงเริ่มกลับมา ขอออกเดินป่ากันอีกรอบในระยะทางใกล้ ๆ "ผาหมากดูก" ระยะทางประมาณ 2 กม. ดูเป็นอีกจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจทีเดียว

จบทริปวันที่ 2 ได้ชมแสงแรกที่ผานกแอ่น และดูแสงสุดท้ายกันที่ผาหมากดูก เริ่มกิจกรรมเบา ๆ ของวันแรก ๆ เพื่อเก็บแรงไว้ตะลุยกันให้เต็มในวันถัดไป

 


วันที่ 3 เดินทางไกลไปเก็บตะวันที่ผาหล่มสัก

เส้นทางจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไปยังผาหล่มสักสามารถเดินทางไปได้หลายเส้นทาง สำหรับวันนี้พวกเราเลือกที่จะขี่จักรยานชมป่าสนสองข้างทาง แวะไหว้พระพุทธเมตตา ผ่านไปทางน้ำตกถ้ำใหญ่ ผ่านสระอโนดาต ไปออกทางผาเหยียบเมฆ ผ่านผาแดง และไปถึงผาหล่มสัก เรียกว่าลุยเที่ยวกันทั้งวัน

จักรยานเช่าสำหรับการเดินทาง เป็นรถล้อโต (Fatbike) สำหรับปั่นลุยพื้นทราย และพื้นขรุขระ ราคาเช่า 410 บาทต่อวัน มีบริการช่วยเหลือหากรถเกิดเสียหรือเกิดอุบัติเหตุในระหว่างทาง

รถพร้อมและคนก็พร้อม งั้นจะรออะไร เริ่มออกเดินทางกันได้เลย

ป่าสนสองข้างทางช่างสวยงาม สามารถสร้างบรรยากาศ และความสนุกสนานในการเดินทางของวันนี้ได้ดีเกินคาด สำหรับพื้นทรายและเนินสูง ๆ อาจต้องใช้กำลังขามากสักหน่อย ใครไม่ไหวก็สามารถเดินจูงให้พ้นไปก่อนแล้วก็ค่อยขี่กันไปต่อ

จุดหมายแรกแวะไหว้พระกันที่ลานพระพุทธเมตตา องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บนภูกระดึง

จากนั้นขี่จักรยานไปตามทางอีกไม่ไกลจะถึงน้ำตกถ้ำใหญ่ จุดชมใบเมเปิ้ลที่สวยงาม ในช่วงเวลาที่พวกเราเข้าไปถึง เป็นเวลาที่ใบล่วงลงจากต้นหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามโขดหินที่เต็มไปด้วยมอสและเฟิร์นสีเขียว ตัดกับใบเมเปิ้ลสีแดงสด ยังคงสร้างความน่าตื่นเต้นให้พวกเราได้ไม่น้อย

อยู่ที่นี่ได้ไม่นานนักก็ต้องออกเดินทางกันต่อ ที่สำคัญต้องเผื่อเวลาไว้สำหรับการเดินทาง เพื่อให้ไปถึงผาหล่มสักก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน ในระยะทางอีกไม่ไกลจะผ่านสระน้ำใหญ่ "สระอโนดาต" ยังคงมีน้ำอยู่พอสมควร เป็นจุดที่พบนักท่องเที่ยวหลายคนมาหยุดพัก และถ่ายรูปกันที่นี่อยู่เช่นกัน

จากสระอโนดาตผ่านไปทางผาเหยียบเมฆ จะสามารถพบเห็นป่าสนที่สวยงามอยู่เต็มสองข้างทาง ซึ่งทำให้พวกเราอดใจไม่ไหวที่จะหยุดจักรยานและแวะลงไปถ่ายรูปอยู่เป็นระยะ

ตอนนี้พวกเราก็มาถึง "ผาหล่มสัก" กันเป็นที่เรียบร้อย กำลังเตรียมตัวเก็บพระอาทิตย์ตกดินกัน บนหน้าผาที่ยื่นออกไปในอากาศด้านบนเป็นกิ่งต้นสนขนาดยักษ์อยู่บนศีรษะ มุมสุดคลาสสิคที่เป็นอมตะของนักท่องเที่ยวรุ่นแล้วรุ่นเล่า

จบทริปการเดินทางในวันที่ 3 หลังจากพระอาทิตย์ตกดินแล้วนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกันเดินทางกลับเข้าที่พักโดยใช้เส้นทางเดียวกันทั้งหมด จากผาหล่มสักไปถึงผาหมากดูก และเลี้ยวซ้าย อีก 2 กม. ก็จะถึงที่พักนักท่องเที่ยว

 

ข้อแนะนำให้ใช้จักรยานสำหรับการท่องเที่ยว

  • ต้องเป็นรถล้อโตเท่านั้น สำหรับการเดินทางผ่านพื้นทรายและโขดหิน
  • ปรับเกียร์ให้เหมาะกับความลาดชันของเนินเขา
  • ควรลงเนินด้วยความเร็วพอเหมาะ และแตะเบรคเบา ๆ เพื่อชะลอความเร็ว

  


วันที่ 4 การเดินลงจากภูกระดึง

สำหรับวันสุดท้ายพวกเราตื่นกันแต่เช้า ทํากิจวัตรประจําวันเสร็จก็รีบจัดการเรื่องการคืนเต็นท์และอุปกรณ์เครื่องนอนต่าง ๆ ก่อนที่จะเตรียมสัมภาระให้ลูกหาบอีกครั้ง การเดินลงจะเหนื่อยน้อยกว่าตอนขึ้น แต่ที่สำคัญคือขาทั้งสองข้างจะทำงานหนักมาก ดังนั้นขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวเตรียมตัวให้พร้อม บางท่านจะทายานวดกล้ามเนื้อ หรือพันผ้าก็อตเพื่อช่วยซัพพอร์ตกล้ามเนื้อ สัมภาระต่าง ๆ ให้นำติดตัวลงมาเท่าที่จำเป็น ที่เหลือควรใช้บริการจากลูกหาบ


ข้อมูลอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

สถานที่ติดต่อ: หมู่ที่ 1 บ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย 42180
โทรศัพท์ : 042-810833 , 042-810834
อีเมล์ : [email protected]

http://nps.dnp.go.th//index.php

ลุงสายเที่ยว

 วันพฤหัสที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 10.29 น.

ความคิดเห็น