ถ้าพูดถึงการเดินขึ้นเขา หลายๆคนคงมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะลองพิชิตยอดเขาช้างเผือก ซึ่งขึ้นชื่อ เรื่องการโทรจองที่ยากที่สุด เนื่องจากในแต่ละปี จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เพียงวันละ 60 คนเท่านั้น และที่ยากไปกว่านั้นคือสามารถจองล่วงหน้าได้ 7 วัน แต่ถ้าคุณโทรติดแล้วเชื่อว่าหลายๆคนก็สามารถทำตัวเองให้ว่างได้ เพื่อมาลิ้มรสในสถานที่แห่งนี้...
เวลา 08.30 น. สายโทรศัพท์ของอุทยานคงจะร้อนและดังถี่มากๆ ใครที่โทรถี่ โทรย้ำ บวกแต้มบุญที่สูง คงจะได้ลิ้มลองการขี่ช้างเผือกในครั้งนี้
ใช่ค่ะ ทางเราก็ตื่นตั้งแต่เช้า รอคอยเวลาเพื่อจะที่จองการขี่ช้าง ป่านและเพื่อนๆโทรย้ำโทรถี่ จนท้ายที่สุดเครื่องรางของป่าน(เพื่อนที่ดวงดีมากๆ) ได้รับการตอบกลับจากปลายสายว่า “วันอาทิตย์ยังว่าง ขอชื่อ, เลขบัตรประชาชน และเบอร์โทรของแต่ละคนด้วยค่ะ”
หลังจากจองทางโทรศัพท์แล้วเราจะต้องส่ง สำเนาบัตรประชาชนของสมาชิกผ่านทางอีเมล และรอการยืนยันจากเจ้าหน้าที่อีกครั้ง
เราเริ่มต้นกันที่ ขนส่งหมอชิต และเลือกที่จะใช้บริการรถของ บขส กรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งมีวันละ 1 รอบเท่านั้นตอน 06.30 น. และเลือกลงที่ตลาดทองผาภูมิ ราคาตั๋วอยู่ที่ 236 บาทต่อคน(มีบริการขนมทานเล่น+มื้อเที่ยง)
ใช้เวลาอยู่บนรถประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง เราก็มาถึงที่ตลาดทองผาภูมิ ซึ่งพอลงรถปุป ก็จะเจอรถสองแถวสีเหลืองที่จะพาเรามุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านอีต๋องทันที ซึ่งเส้นทางไปยังหมู่บ้านอีต๋องคือ เป็นเส้นทางซ้อมการขึ้นปายย่อมๆ โค้งเก่งมาก!!! แถมฝุ่นฟุ้งประหนึ่ง pm2.5 บนถนนที่พากันแสบคอตลอดเส้นทาง ใครที่เมารถง่าย คงมีการขย่อนเอามื้อเที่ยงออกมาอย่างแน่นอน และใช่ค่ะ ป่านคือ 1 ในนั้นที่พามื้อเที่ยงออกมาระหว่างทาง
***สารภาพเลยว่าลืมถ่ายรูปรถแบบชัดๆมา เอารูปนี้ไปก่อนนะคะ เป็นรูปที่เห็นตัวรถเยอะที่สุดเท่าที่จะหาได้***
นั่งอย่างทุกข์ทนทรมานมาประมาณ 2 ชม. ก็มาถึง อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ (บอกให้คุณลุงสองแถวจอดให้) เพื่อไปเช็คอินกับทางอุทยานว่าเราทุกคนมีตัวตนจริงๆนะ สามารถเช็คอินล่วงหน้าได้ 1 วันเท่านั้น และไปเช่าพวกอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกเต้นท์และเครื่องนอนต่างๆ กับทางอุทยาน ถ้าเป็นเต้นท์หลังใหญ่ราคาอยู่ที่ 240 บาท เครื่องนอนชุดละ 70 บาท
ออกจากอุทยานได้ไม่นานนัก เราก็ถึงที่หมู่บ้านอิต๋องปิล็อก ซึ่งเป็นตั้งต้นของการเดินขึ้นเขาช้างเผือก โดยในคืนแรกเราเลือกพักผ่อนที่ บ้านเด็กเหมืองปิล็อก ซึ่งที่พักที่นี้ก็จะมีทั้งแบบที่เป็นห้องพักและแบบกางเต้นท์ที่ดาดฟ้า ใครชอบดูดาวตอนกลางคืนเราแนะนำเลยค่ะ อากาศดี บรรยากาศดีมากๆ
เราใช้เวลาในอีต๋องกันแบบชิวๆ เดินเล่นทุกซอกทุกมุม ใครอยากรู้ว่ามีอะไรที่หน้าหลงใหลในหมู่บ้านแห่งนี้
Wander Around l อิต๋องปิล็อก https://th.readme.me/p/34727
หลังจากใช้เวลาเดินเล่น เดินลัดเลาะทุกซอกทุกมุมของอิต๋อง ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเดินหาที่พักในคืนที่ 2 กัน ซึ่งเอาดีๆ เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะหาที่พักในวันหยุด แนะนำอย่าห้าวหาญ โปรดจองค่ะ ไม่งั้นคุณจะเหนื่อยลากเลือดแบบพวกเรา แต่ถ้าใครชอบความท้าทายเชิญเลยค่ะ เราโชคดีได้พักที่ ปิล๊อก แคมป์ คอฟฟี่ & โฮมสเตย์ เป็นที่พักสไตล์โฮมสเตย์ ชิวๆริมน้ำ พี่ๆที่ที่พักคือน่ารักมากกก นี่ให้ไปเลย 5 ดาว ประทับใจมากๆๆๆๆ เป็นที่พักๆนึงถ้าคนถามก็อยากบอกต่อว่าให้ไปพักที่นี่ ไอเลิ้บบบ
ถึงเวลาที่จะต้องสละสัมภาระที่ไม่จะเป็นออกไปจากกระเป๋า เพื่อที่จะพาน้องๆผู้ได้รับการถูกเลือกขึ้นไปบนเขา หลักๆแล้วคงหนีไม่พ้นปัจจัย 4 น้ำ ยา อาหาร และเสื้อผ้า(แนะนำน้ำประมาน 3 ขวดใหญ่/คน, เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเพราะเหงื่อ+ฝุ่นหนักมาก,อาหาร 4 มื้อ) และข่มตานอน ด้วยใจที่ตื่นเต้น สารภาพเลยว่าคืนนั้นนอนไม่หลับเพราะตื่นเต้นหนักมาก
06.00 น.
เสียงนาฬิกาปลุกดังพร้อมกัน 2 เครื่องจะว่าได้ เราเริ่มทยอยกันเคลียตัวเอง กว่าจะเสร็จกันก็ปาไป 07.30 น. ทางที่พักมีบริการอาหารเช้าไว้ให้ หลังจากท้องอิ่มก็มุ่งหน้าไปยัง ศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน เพื่อไปรับเต้นท์+ เป็นจุดบริการลูกหาบ ค่าบริการถ้าเหมาลูกหาบ 1 คนก็ 1500 บาทแบกได้ 30 กิโลกรัม// เป็นกิโล กิโลละ 50 บาท เราใช้บริการพี่เต(ลูกหาบ) ผู้ที่คอยบริการแบกของบางส่วน+กางเต้นท์+ต้มน้ำ เป็นทุกอย่างแล้วจริงๆ หลังจากดีลกันเป็นที่เรียบร้อย ก็มุ่งหน้าไปยังจุดเริ่มต้นของการเดินทางในครั้งนี้
จุดเริ่มต้นจะอยู่ที่ซอยกลางหมู่บ้าน ให้สังเกตว่าจะมีร้านขายของชำตรงหัวมุม ก็จะเจอป้ายนี้
ป้ายนี้คือจุดรวมพลก่อนขึ้นไปยังเขาช้างเผือก ต้องรอให้จำนวนนักท่องเที่ยวประมาน 10 คนต่อกลุ่มถึงจะถูกปล่อยตัวออกไปตามเส้นทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานคอยดูแลตลอดเส้นทาง ป่านได้ไปเป็นกลุ่มที่ 2 นำทีมโดยป๋าตือ(เจ้าหน้าที่อุทยาน) ก่อนออกเดินทางก็จะต้องถ่ายรูปหมู่ หลังจากนั้นก็เดินไปเรื่อยๆ วอมเท้ากันไปประมาณ 1 กิโลเมตร สารภาพเลยว่าช่วง 1 กิโลแรกคือเหนื่อยมากก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเริ่ม แบบหายใจไม่ค่อยทันเลยทีเดียว เดินไปเรื่อยๆก็จะเจอจุดเริ่มต้นของจริง ซึ่งทางเราก็หันไปถามพี่ๆเค้าว่า” 8 กิโลนี่นับจากหมู่บ้าน หรือป้ายนี้คะ?” พี่เค้าบอก “ที่เดินมาไม่นับนะ” พร้อมยิ้มมุมปาก จุดนี้เราจะต้องแวะเช็คชื่ออีกรอบ+ถ่ายรูปหมู่(อีกแล้ว) หลังจากนี้แหละค่ะ คือของจริง...
ตลอดเส้นทางการเดินเขาช้างเผือก ถ้าเป็นทางเรียบ เดินง่ายจะได้ยินเสียงผู้คนคอยแลกเปลี่ยนบทสนทนาตลอดทาง เดินไปเรื่อยๆ เราก็พบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มเมื่อวานที่กำลังลงมา และส่วนใหญ่ทุกคนจะกล่าวกันว่า “สู้ๆนะครับ” “อีกนิดเดียวนะคะ” “สวัสดีปีใหม่ค่ะ” เป็นคำพูดสั้นๆ ที่เปลี่ยนคู่สนทนาตลอดเส้นทาง เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจในการเดินทางในครั้งนี้ไม่ใช่เล่น
ขึ้นเขา ลงเขา ทางราบ สลับกันไปมาไม่รู้จบ นับเล่นๆแบบคร่าวๆคง 6-7 ครั้ง ตลอดเส้นทางที่มีความชัน เราจะได้ยินเพียง เสียงลม เสียงฝีเท้า และเสียงลมหายใจของผู้ร่วมเดินทาง ที่ถี่สลับไปมาพอๆกับเส้นทางที่เราเดิน เพราะทุกคนโฟกัสไปที่จุดเดียวกัน คือ ชีวิต เพราะสองข้างทางคือเหวค่ะ พี่ๆเจ้าหน้าที่บอกว่า พยายามจับหญ้าไว้ เพราะหญ้าที่นี่เหนียวมาก ตลอดทางเลยจะเห็นหญ้าถูกมัดรวมกันเป็นช่อๆ ตลอดทั้งทาง
โดยส่วนตัวแล้ว ป่านว่าเส้นทางเดินขึ้นเขาช้างเผือก เดินไม่ยาก อาจจะมีบางจุดที่ควรระมัดระวัง แต่สิ่งที่ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์มากๆ คือ วิวสองข้างทาง และความน่าหวาดเสียวของเส้นทาง
เราใช้เวลาในการเดินไปทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมงก็มาถึงที่จุดกางเต้นท์ ถือว่าเป็นเวลาที่โอเค ไม่ได้แย่มาก(ปลอบใจตัวเองอยู่) พอมาถึงพี่เต ก็กางเต้นท์ให้เสร็จสรรพ สิ่งที่ทุกคนทำคือรีบวางทุกอย่างลง สลัดสัมภาระบนบ่า และล้มตัวลงนั่งหน้าเต้นท์ กลางดินกลางทรายก็ไม่หวั่น นาทีนี้ต้องล้มตัวอย่างเดียวค่ะ
ล้างเนื้อล้างตัวนิดหน่อย ทานข้าวเที่ยง(ที่แพคมาจากในตัวหมู่บ้าน) นั่งชิว นั่งพักผ่อน ปลดปล่อยความเหนื่อยล้าให้กับพื้นดิน มองวิวที่สุดลูกหูลูกตา กับแสงแดดยามเที่ยงที่มีร่มไม้บังและลมอ่อนๆ ที่พัดผ่านตลอดเวลา เราแค่นั่งเปื่อย แลกเปลี่ยนบทสนทนากัน รู้ตัวอีกทีก็มีเจ้าหน้าที่เดินมาบอกว่า บ่าย3 เตรียมตัวขึ้นจุดสูงสุดนะครับ สิ้นสุดเสียงนั้น พวกเราก็ลุกเพื่อเตรียมตัวไปกันต่อเพื่อจุดไฮไลท์ของทริปนี้
จากจุดกางเต้นท์เราต้องเดินไปต่ออีกเล็กน้อย ซึ่งใช้เวลาประมาน 1 ชั่วโมงในการปีนป่าย เพราะค่อนข้างชัน และอันตราย ซึ่งทุกคนไม่ต้องห่วงนะคะ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเยอะมากๆๆ แบบจุดต่อจุด แต่ก็ไม่ควรประมาทนะคะ สติสำคัญที่สุดในทริปนี้
****ความชันนี้ไม่ใช่มุมกล้องแต่อย่างใดนะคะ ของจริงค่ะ****
ปีนป่ายกันไปเรื่อยๆ ปีจนไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่ เกาะแล้ว ดึงเเล้ว ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเดินขึ้นไปอีก เส้นทางที่ไม่สิ้นสุด บางจุดชันมาก น่ากลัวมากจนไม่สามารถทำการถ่ายได้จริงๆค่ะ หลายๆคน คงได้ยินเสียงลือ เสียงเล่าอ้าง เรื่องสันคมมีดกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งจุดนี้คือจุดวัดใจเลยค่ะ เป็นฮึบเดียวจริงๆที่เราเอาตัวเองไปเสี่ยง เพื่อความท้าทาย ความตื่นเต้น การข้ามผ่านความกลัวของตัวเอง
***ภาพนี้คือขนาดของสันคมมีดในตำนานค่ะ ความกว้างเท่ากับหนึ่งช่วงตัวของเรา***
ตอนที่ป่านเดินบนสันคมมีด มันจะมีแว่บหนึ่งที่ถามตัวเองในหัวว่า "มาทำอะไรที่นี้วะ" เป็น 10 วินาทีสั้นๆที่ต้องกลั้นหายใจเดิน ใจเต้นเหมือนจะหลุดออกจากอก รู้สึกเหมือนมีผีเสื้อบินวนอยู่ในท้อง ทุกก้าวที่ย้ำลงไปเหมือนมีไฟฟ้าช็อตที่หัวทุกย่างก้าว มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกจริงๆค่ะ ไม่รู้จะอธิบายยังไง ป่านอยากแนะนำให้ทุกคนไปสัมผัสด้วยตัวเอง รับรองคุ้มค่าเหนื่อยแน่นอน เป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ได้ทบทวนตัวเองค่ะ
หลังจากผ่านจุดสันคมมีด เราก็เดินกันไปต่อเล็กน้อยบนเนินเขาที่ทางค่อยข้างลื่น เพราะมีเศษหินเล็กๆและทรายตลอดทั้งทาง ล้มกันบ้าง ลื่นกันบ้างตามสภาพค่ะ
ในที่สุดเราก็มาถึงจุดสูงสุดของเขาช้างเผือกค่ะ ที่แลกมาด้วยก้นช้ำๆสองข้าง ขาสองข้างที่อ่อนล้า หน้าที่ไหม้แดด
จากความสูง 1249 เมตรจากความสูงระดับน้ำทะเลนี้ จะได้สัมผัสกับแดดบ่ายแก่ๆ ลมที่โกรกตลอดเวลา และวิวแบบพาโรนาม่า 360 องศา เราใช้เวลานี้พูดคุย พักผ่อน นอนเกลือกกลิ้งไปกับหญ้าบนนี้
นั่งไปเรื่อยๆ จนตอนนี้เป็นเวลา 5 โมงกว่า ก็ได้เวลาอำลาเขาช้างเผือกแห่งนี้ ไปยังจุดกางเต้นท์ ซึ่งขาลงใช้เวลาไม่นานนัก อาจเป็นเพราะเราเริ่มคุ้นกับเส้นทาง และเป็นเส้นทางเดินลงอย่างเดียว แต่ก็นั่นแหละค่ะ ลื่นมากกก สองมือนี้ต้องกำเชือกกำหญ้า ตลอดเส้นทาง เพราะก้นพร้อมโดนธรณสูบติดพื้นตลอดเวลา
หลังจากกลับมาที่จุดกางเต้นท์เราก็ติดต่อพี่เต(ลูกหาบ)ให้ต้มน้ำร้อนให้ สำหรับมื้อเย็นของเราก็หนีไม่พ้นอาหารกระป๋องอาหารสำเร็จรูปที่โซเดียมพุ่งกว่าความต้องการใน 1 วัน หนังท้องเต็ม หนังตาก็เริ่มหย่น พวกเรารีบเคลียทำความสะอาดตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสำหรับสุภาพสตรีแบบเราๆนะคะ ผ้าปิดจมูกและไฟฉายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งจากคำรีวิวหลายๆเพจ ห้องน้ำที่นี้คือที่สุดค่ะ น้องเป็นส้วมหลุมที่มีไม้กระดานพาดผ่านบ่อ และทุกคนค่ะส้วมแห่งนี้เปิดบริการมาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว ฉะนั้นเศษซากการสร้างแลนด์มาร์กของนักเดินทางที่มาแวะเวียนมาที่เขาช้างเผือก ก็ทับถมกันตามเวลารอวันย่อยสลาย คือไม่รู้จะอธิบายคำไหน แต่คมคอมาก แบบว่าอยากกริ๊ดในนั้น ทางนี้ทำใจนานมากกว่าจะเข้าไป เป็น 5 นาทีที่ทนทุกข์ทรมานมาก ใครอยากทดสอบความแข็งแกร่งทางจิตใจ ที่นี้คือ 1 จุดคือควรมาลองค่ะ อย่าก้มลงไปมอง ทางนี้เตือนเเล้วนะคะTT
ด้วยความเหนื่อยล้าของทั้งร่างกายและจิตใจ(ที่ไปเข้าห้องน้ำมา) จึงเป็นเรื่องง่ายๆมากๆที่เราจะหลับได้ภายใน 3 วินาทีที่หัวถึงหมอน แต่ก็ต้องตื่นมากลางดึก เพราะความเหนื่อยล้าของเสียงอะไรบางอย่างที่ดังลั่นมาจากทุกทิศ ตอนแรกนึกว่าเสียงเครื่องบิน หรือเสียงเครื่องยนต์ที่ไหน สรุปเสียงกรนจากเพื่อนและเต้นท์ข้างๆที่ประสานเสียงกันดั่งวงออเครสต้าร์ที่บรรเลงในยามค่ำคืนที่เงียบสงัด คงเหนื่อยกันน่าดูค่ะ
พวกเราตื่นเช้าขึ้นมาด้วยเสียงเต้นท์ข้างๆที่เริ่มเก็บพับเต้นท์และข้าวของเพื่อเตรียมเดินทางลงจากเขา พวกเราก็ไม่รอช้ารีบล้างหน้าล้างตา ทานมื้อเช้าง่ายๆอย่างขนมปัง ปลากระป๋องและนม เพื่อเตรียมตัวเดินลงจากเขาช้างเผือก อำลาพื้นที่แห่งความทรงจำนี้
ตอนเดินลงพวกเราใช้เวลาไม่นานมากประมาน 2 ชั่วโมงนิดๆจะว่าได้ เพราะร่างกายเริ่มคุ้นชินและเป็นทางลงเขาซะส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมากๆสำหรับการเดินลง
เมื่อเรามาถึงตัวหมู่บ้าน มีแม่ๆในชุมชนคอยตะโกนให้กับนักท่องเที่ยวว่า "ตรงนี้มีน้ำเย็นให้ดื่มนะคะ" หลังจากนั้นพวกเรารีบอาบน้ำอาบท่า เพราะที่พักคืนที่ 2 ของเราแนะนำให้มาอาบที่ที่พัก(มีห้องอาบน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ลานเอนกประสงค์ของหมู่บ้านด้วยนะคะ) หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จพวกเราก็ขอติดรถเจ้าของที่พักที่จะมาทำธุระที่ตลาดทองผาภูมิพอดิบพอดี พี่ๆเค้าก็มาส่งที่คิวรถตู้ทองผาภูมิ-บขสกาญฯ ซึ่งค่ารถอยู่ที่ 90 บาท เรานั่งกันประมาน 2 ชั่วโมงได้ก็มาถึง บขสกาญ และขึ้นรถตู้จก บขสกาญฯ-หมอชิต ราคา 120 บาท/คน
ทริปนี้ใช้เวลาทั้งหมด 4 วัน 3 คืน ซึ่งเม็ดเงินที่เสียไปเพียงประมาน 2500 บาทถ้วน/คน ซึ่งถือว่าเป็นทริปที่งบน้อย แต่คุ้มค่ามากๆ ทั้งประสบการณ์และความท้าทายในชีวิต ซึ่งจังหวัดกาญฯ เป็นจังหวัดที่มาครั้งเดียวไม่มีทางพอ และเป็นอีกจังหวัดนึงที่ป่านมาบ่อยมากๆ แต่ไม่เคยเที่ยวครบสักที มี UNSEEN ที่น่าสนใจเยอะมากๆ มีความผสมผสานระหว่างธรรมชาติ, วัฒนธรรม และคนในชุมชนได้อย่างครบถ้วน เป็นจังหวัดที่ห้ามพลาดเลยค่ะ หวังว่าเราจะพบกันอีกครั้งนะ กาญจนบุรี
สรุปค่าใช้จ่าย
ค่ารถทัวร์ หมอชิต-ทองผาภูมิ 236 บาท/คน
รถเหลืองจากทองผาภูมิ-หมู่บ้านอิต๋องปิล็อก 30 บาท/คน
ค่าเต้นท์(ใหญ่) 240 บาท หาร 4 = 60 บาท/คน
เครื่องนอน 1 ชุด 70 บาท
ที่พักคืนแรก 350 บาท/คน
ที่พักคืนที่สอง 600 บาท/คน
ค่าลูกหาบ 1500 บาท หาร 4 = 375 บาท/คน
ค่าอาหาร(ขึ้นอยู่กับแต่ละคน) 500 บาท +-300 บาท
***ขากลับพวกเราโบกรถมาลงที่จุดบริการรถตู้ ทองผาภูมิ-บขสกาญ 90 บาท/คน
ค่ารถตู้บขสกาญ-หมอชิต 120 บาท/คน
รวม 2056 บาท ***ไม่รวมค่ารถนำเที่ยวรอบหมู่บ้านอิต๋อง 50 บาท/คน
สิ่งของจำเป็น น้ำเปล่าประมาน 3 ขวดใหญ่ต่อคน, ทิชชู่เปียก, เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน(ฝุ่นเยอะมากๆ), ไฟฉาย, อาหารสำเร็จรูป, ยาสามัญทั่วๆไป, หน้ากากกันฝุ่น, หมวก, ถุงมือ(ปีนป่ายจับเชือกตลอด) และเสื้อแขนยาวหรือปลอกแขน เพราะหญ้าบนนั้นค่อนข้างคมและอากาศร้อนมากๆค่ะ
ที่พัก
บ้านเด็กเหมืองปิล็อก https://www.facebook.com/%E0%B...
ปิล๊อก แคมป์ คอฟฟี่ & โฮมสเตย์ https://www.facebook.com/pilok...
เครดิตภาพ IG : @abcdefilm.l @mudmeeandherjpg @beemergencyi
Wander Around
วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 21.32 น.