ณ เฟสบุ๊ค ... ‘บันทึกเก็บยิ้ม’

"อยากเที่ยวแล้ว อยากเที่ยวแล้ว"

ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาคงมีใครหลายคน กำลังคิดว่า . . . หากหลุดมาตรการโควิดแล้ว จะไปไหนเป็นที่แรกดี?

เราเอง ก็เป็นหนึ่งในคนที่มีคำถามนี้ ผุดขึ้นมาบนหัวตลอดเวลา

“ที่นั้นก็อยากไป” “ที่โน้นก็อยากไป” และจะไปไหนก่อนดี?

และ “ท้องฟ้าจำลอง” ก็เป็นคำตอบของข้อนี้ สถานที่ในตัวเมืองกรุงเทพ (เนื่องจากเราเป็นเด็กปริมณฑล) แถมยังได้บรรยากาศ ย้อนวัยเด็ก ช่วงประถมศึกษา จำความได้ว่า โรงเรียนเคยพาเด็กนักเรียนตัวน้อยๆ พาไปนอนดูดาวตอนกลางวัน

วันนี้สามสาวพี่น้องตระกูลผลไม้ (มะขาม มะปราง แตงโม) ตื่นแต่เช้ากว่าวันไหนๆ ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นใด แต่หลังจากที่ศึกษาข้อมูลก่อนออกเดินทางทริปนี้ ด้วยการอ่านคอมเม้น ในเพจเฟสบุ๊ค “ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ-Bangkok Planetarium” แล้วนั้น บัตรเต็มเร็วมากกกกกกก หากไม่ออกเดินทางแต่เช้า มีหวังว่าเราสามคนคงไปเก้อแน่ๆ งานนี้)

การเดินทางที่ง่ายที่สุด สำหรับคนชานเมืองอย่างเรา เพื่อจะเดินทางไปยังสถานที่ในเมืองหลวง คงหนีไม่พ้น การนั่งรถไฟฟ้า (BTS) ไปลงสถานี เอกมัย วิธีนี้ขอแนะนำว่าง่ายและสะดวกสุดๆ ไปเลยค่ะ

การไปเที่ยวแบบ new normal ในครั้งนี้ “ดิฉัน ขอเรียนแจ้งให้ทุกท่านที่จะเดินทางไปยังสถานี ท้องฟ้าจำลอง ใส่แมส พกเจลแอลกอฮอล์ ไปด้วยนะคะ”

สถานีต่อไป . . . ท้องฟ้าจำลอง
next station Bangkok Planetarium

ก่อนจะมุ่งหน้าไปซื้อบัตร เพราะกลัวบัตรจะหมดนั้น ทางท้องฟ้าจำลองก็ได้มีมาตรการที่ต้องผ่านจุดคัดกรองไปก่อน เพื่อความปลอดภัยของทุกท่าน และเราจะได้สนุกกันอย่างปลอดภัย ก็ต้องสแกน “ไทยชนะ” ด้วยนะคะทุกคน

ได้บัตรมาแล้วววววววววว

บัตรเข้าชม จะมี 2 ส่วน ด้วยกัน บัตรแรกเป็น บัตรชมการแสดงท้องฟ้าจำลอง 1 รอบ/ชั่วโมง และบัตรส่วนที่สองเป็นบัตรเข้าชมนิทรรศการ ทั้ง 3 อาคาร (อาคาร 3 โลกใต้น้ำ, อาคาร 4 ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาคารตระหนักรู้ด้านพลังงาน) ซึ่งเข้าชมได้ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. – 16.00 น. ราคาบัตรทั้ง 2 บัตร ราคาเท่ากัน คือ เด็ก 20 บาท และ ผู้ใหญ่ 30 บาท มาทั้งที เราสามคนทุบหน้าตักเหมาหมดทุกบัตรไปเลย

“ผู้ที่เข้าชม รอบ 10 นาฬิกา มาเข้าแถวยื่นบัตรได้เลยครับ” หลังจากที่พวกเราสามสาวยืนถ่ายรูปเล่นกันอยู่พลางๆ เสียงเจ้าหน้าที่ก็ดังขึ้น ประหนึ่งเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ได้เวลาสนุกแล้วสิ

ภายในห้องสี่เหลี่ยมรายล้อมไปด้วยที่นั่งเต็มไปหมด แต่ที่ยังคงโดดเด่นอยู่ตรงกลางนั้น คือกล้องฉายดาว ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านเลยไปนานแค่ไหน มันก็ยังคงตั้งอยู่อย่างนั้น หากจะเปลี่ยน เพราะถูกเปลี่ยนเลนส์กล้องฉายใหม่ แต่ผู้มาเยี่ยมชมที่ห่างเหินแบบเรา ก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมานั้น มันถูกเปลี่ยนไปแล้วกี่ครั้ง ซึ่งในช่วงมาตรการโควิดนี้ การแสดงแต่ละรอบนั้น รับผู้เข้าชมรอบละ 100 ท่าน เท่านั้น ทำให้การนอนดูดาวในครั้งนี้ ไม่ดูพลุกพลานจนเกินไป

เธอเห็นเหมือนฉันไหม บี1 บี2 ฮ่าๆ เธอคงเห็นแล้วว่าบนเพดานนั้น เราต้องสแกนแอพไทยชนะก่อนด้วย แต่เพื่อความปลอดภัยของเรา ก็สแกนสิคะ รออะไร

“เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้เข้าชมท่านอื่น ขอให้ทุกท่านงดการถ่ายภาพ เพื่อไม่เป็นการรบกวนการดูดาวในครั้งนี้” เสียงเล็กๆ ของเจ้าหน้าที่ผู้หญิงท่านหนึ่งจากมุมใดมุมหนึ่งของห้องก็ดังขึ้น เป็นสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่า การนอนดูดาวตอนกลางวันในครั้งนี้ ไม่สามารถถ่ายรูปหมู่ดาว บนท้องฟ้ากว้างนี้ได้ เสียดายจังเลย เลยอยากให้ทุกท่านที่กำลังอ่านรีวิวนี้อยู่ ได้ออกเดินทางมานอนดูดาวแบบนี้ สักครั้งหนึ่ง เพราะไม่ว่าภาพในความทรงจำครั้งนี้ จะสวยงามแค่ไหน แต่เชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าเราจะฟังเรื่องเล่าจากใครมาเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง ก็ไม่เท่ากับที่เรา มาสัมผัส ด้วยดวงตาของเราเองเลยล่ะ แล้วเพลงในหัว ก็ดังขึ้นมาประกอบกับภาพหมู่ดาวตรงหน้า

. . . ดาวนับล้านที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า จะมีไหมหนาที่ลอยอยู่เองเฉยๆ ไม่ยอมโคจรหมุนไปไหนเลย ไม่เคย ไม่เห็นเลยสักดวง . . .

ภาพหมู่ดาวชัดเจนขึ้น และจางลง เราเพลิดเพลินไปกับการโชว์ตัวของหมู่ดาวน้อยใหญ่เกือบครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา ก่อนที่เราจะได้รับชมภาพยนตร์ประจำเดือนในเดือนมิถุนายนนี้ เรื่อง “กว่าจะบินได้” โดยในเดือนกรกฎาคมนี้ หากใครมาเยือนท้องฟ้าจำลอง ก็จะได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง “ขอบฟ้าแห่งใหม่”

แสงไฟในห้องเริ่มสว่างขึ้นเล็กน้อย เป็นสัญญาณบอกให้ทุกคนในห้องที่อาจจะกำลังงัวเงียจากการได้นอนในช่วงสาย หรือใครบางคนที่อาจกำลังเพลิดเพลินกับภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ รู้ว่า การนอนดูดาว ตอนกลางวัน ในรอบสิบโมงนี้ ได้จบลงแล้ว แล้วพวกเราสามคน ก็ค่อยๆ ลุกเดินออกจากห้อง

เอาล่ะ ตื่น ตื่น ตื่น ได้เวลาใช้บัตรใบที่ 2 ไปชมนิทรรศการทั้ง 3 อาคาร กัน แต่หากใครมาช่วงนี้ ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ ที่ทุกท่านรวมถึงเราด้วย จะไม่ได้เข้าชมนิทรรศการในอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เพราะช่วงนี้ เขากำลังปิดปรับปรุงอยู่ ซึ่งเครื่องเล่นวิทยาศาสตร์บางส่วนจะจัดแสดงอยู่ที่อาคาร 4 ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเมื่อทุกท่านพร้อมเดินทางต่อแล้ว เราก็ได้เก็บบรรยากาศของแต่ละอาคาร มาฝากกัน!

ภายในอาคารนอนดูดาวตอนกลางวัน

ภายในอาคาร 3 โลกใต้น้ำ

อาคารตระหนักรู้ด้านพลังงาน
อาคาร 4 ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เวลายังคงเดินทางต่อไปเรื่อยๆ อาจมีความทรงจำบางส่วนอาจกำลังค่อยๆ จางลงไป ทีละเล็ก ทีละน้อย แต่การได้มาเที่ยวท้องฟ้าจำลองในวันนี้ กลับทำให้ความทรงจำที่อาจจะกำลังหายไป กลับขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่าเราจะโตแค่ไหน แต่ทุกคนก็ยังมีความเป็นเด็ก อยู่ในตัวเสมอ . . .

ขอบคุณการเดินทางเเละเพื่อนร่วมเดินทางในครั้งนี้
แล้วเจอกันใหม่ทริปหน้านะ


พบกันได้ในโลกโซเชียล ณ เฟสบุ๊ค : บั น ทึ ก เ ก็ บ ยิ้ ม

https://www.facebook.com/keptyoursmile/

เ ขี ย น บ า ย : มนุษย์ตัวเล็ก


มนุษย์ตัวเล็ก

 วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 21.08 น.

ความคิดเห็น