ความสุขกำลังดี ที่นี่โคกเมือง บุรีรัมย์
“เมืองทางผ่าน” ที่ใครๆ ก็เคยบอก มาวันนี้บุรีรัมย์กลายเป็นเมืองกีฬาระดับโลก โด่งดังจากฟุตบอล และการแข่งรถ MotoGP ในอีกมุมบุรีรัมย์ก็ขึ้นชื่อว่า เป็นอู่อารยธรรมแห่งอีสานตอนล่าง ของดีหลายอย่างมากระจุกรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ทั้งปราสาทหินขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ ถิ่นผ้าไหมงามอันลือชื่อ เมืองข้าวหอมมะลิชั้นดี อาหารรสแซ่บนัวไม่เป็นสองรองใคร แล้วอย่างงี้คนที่นี่เขาจะมีความสุขกันขนาดไหน
ว่าแล้วก็อดใจไม่ไหว ที่ลองไปแอ่วจังหวัดนี้สักหน่อย จะเที่ยวด้วยตัวเองก็คงไม่ถึงพริกถึงขิง เท่ามีเจ้าบ้านพาไปแอ่วหรอก ว่าแล้วก็มาชวนไปลิ้มรสแห่งความสุข ที่กำลังพอดิบพอดีที่บ้านโคกเมือง หมู่บ้านน่ารักๆ ที่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์แค่ 1 ชั่วโมง จะพานอนค้างอ้างแรมในหมู่บ้าน OTOP ระดับแชมป์ของประเทศ มีของให้ชม ช้อป และอิ่มท้อง มากมาย ม่วนซื่นชื่นใจ ตลอด 2 วัน 1 คืน เอาให้รู้กันไปว่า เมืองที่ไม่เคยร้างลาจากความสุขแห่งนี้ จะพาเราไปสำลักความสุขได้ขนาดไหน
แล้วบุรีรัมย์จะไม่ใช่เมืองทางผ่านอีกต่อไป... มา Let it นัว กันเลยย
- เรื่องเล่าของคนโคกเมือง
หมู่บ้านโคกเมือง ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2480 จากการอพยพย้ายหนีน้ำท่วมของชาวบ้าน จากจังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แรกเริ่มเดิมทีมาตั้งบ้านทางทิศใต้ของปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอารยธรรมขอมโบราณ แต่ถูกทิ้งร้างไป
จากที่มีบ้าน 30-40 ครอบครัว จนวันนี้ หมู่บ้านโคกเมืองกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่กว่า 700 ครัวเรือน เป็นชุมชนตัวอย่างที่ได้รับการยกย่อง และมีรางวัลการันตีมากมาย เวลา 2 วัน 1 คืนที่นี่ จะพาเราไปสัมผัสวิถีชีวิต และรับมิตรไมตรีจากคนที่นี่ ในฐานะญาติมิตรผู้มาเยือน
- เช็คอินที่บ้านโคกเมือง
ได้ออกจากบ้านหลังจากกักตัวไปนานกว่า 2 เดือน การเดินทางครั้งนี้จึงทำเอาหัวใจพองโต ตื่นเต้นนิดหน่อย มือสั่นเล็กน้อย ได้ออกไปเที่ยวเสียที เริ่มออกเดินทางตอนสายของวันหยุดสุดสัปดาห์ ผ่านไป 45 นาที จากดอนเมือง ก็มาถึงแล้ว บุรีรัมย์!
จากสนามบินนั่งรถต่อพอให้งีบพักเหนื่อย ก็มาถึงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบ้านโคกเมือง พอลงจากรถ คุณลุงคุณป้ายืนยิ้มแย้มรอต้อนรับ ทักทายสวัสดี ชักชวนให้แวะเช็คอินเข้าหมู่บ้านผ่านแอพพลิเคชั่น ‘ไทยชนะ’ และไม่ลืมหยดแอลกอฮอล์เจลล้างมือ
- รถอีแต๊ก หน่วยเคลื่อนที่เร็ว
อากาศยามบ่ายที่ว่าร้อน ยังร้อนไม่เท่าใจเรา จึงต้องเคลื่อนตัวด้วยชุดเคลื่อนที่เร็ว ให้รถอีแต๊กสีเฟี้ยวฟ้าว พาออกเดินทางไปท่องหมู่บ้านโคกเมือง อยากไปที่ไหนบอกพี่คนขับให้พาลุยไปได้ (เกือบ) ทุกสถานที่
- ผ้าหมักโคลนบารายพันปี
ผ้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีคนโคกเมืองมาช้านาน เมื่อเว้นว่างจากงานเกษตรกรรม ชาวบ้านจะมาล้อมวงย้อมผ้า ทอผ้า สั่งสมจนเกิดภูมิปัญญาที่ไม่มีใครเหมือน แขกไปใครมาบ้านนี้จึงต้องมาลองย้อมผ้า ป้าๆ ปราชญ์ชุมชนถ่ายทอดภูมิปัญญา เป็นผืนผ้าที่จะมีผืนเดียวโลกใบนี้ มะ! มาป้าๆ จะแนะนำให้ทำความรู้จักอุปกรณ์ สร้างสีสันบนผืนผ้า เริ่มจากการสร้างลวดลายบนผืนขาว โดยเอายาง เอาเชือก เอาไม้ รัด ให้เกิดเป็นลาย ใครชอบลายอะไรก็แล้วแต่จะจินตนาการมัดลายผ้าเสร็จก็เตรียมหย่อนผ้าลงหม้อต้มที่ผสมสีรอไว้แล้วมัดลายผ้าเสร็จก็เตรียมหย่อนผ้าลงหม้อต้มที่ผสมสีรอไว้แล้ว
มัดลายผ้าเสร็จก็เตรียมหย่อนผ้าลงหม้อต้มที่ผสมสีรอไว้แล้ว
สีผ้าย้อมผ้าของที่นี่มั่นใจว่าปลอดภัยล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นสีธรรมชาติ วัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติในหมู่บ้าน อย่างสีแดงมาจากแก่นฝาง สีเหลืองมาจากตอนดาวเรือง ให้สีสวยสดใส แถมปลอดภัยไม่มีสารเคมี ไม่ต้องกลัวเป็นอันตราย
ผ่านไป 15 นาที ผ้าที่ต้มไว้กินสีจะอิ่มสวยงามทั้งผืนแล้ว นำไปล้างน้ำ แล้วก็มาถึงขั้นตอนสำคัญของการย้อมผ้าคือ นำผ้าทีย้อมแล้วไปหมักในโคลน แต่โคลนที่ว่านี้ต้องนำมาจากบารายหน้าปราสาทที่มีอายุเก่าแก่เป็นพันปี
และนี่ก็คือผ้าหมักโคลนของเรา ที่มีผืนแค่เดียวในโลก สวยไหมล่ะ^^
- ผ้าไหมลายผักกูด
ศิลปะบนผืนผ้าไหม หัตถกรรมขึ้นชื่อของบ้านโคกเมือง วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวบ้านที่นี่ เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่ถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนาน ผ้าทอมือจากไหมเนื้อดีฝีมือแม่ๆ ป้าๆ ในชุมชน กลายเป็นงานศิลปะชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วประเทศ มี OTOP ระดับ 5 ดาวมาการันตี
ที่นี่เขามีลายผ้าของหมู่บ้านด้วยนะ ลายทอผ้าที่ถูกคิดค้น และถอดลายมาจากเสาติดผนัง และซุ้มประตูที่ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทหินโบราณคู่บ้านคู่เมืองของคนบุรีรัมย์ คือ ‘ลายก้านขด’ หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘ลายผักกูด’ จนเกิดเป็นลายอัตลักษณ์มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น
เขาว่าเป็นสาวเมื่อไหร่จะได้ทอผ้า ยืนดูป้าๆ เขาทอผ้าอย่างชำนาญ ทอผ้าคงไม่น่ายาก ว่าแล้วเลยขอลองทอผ้ากันดูบ้าง ป้าๆ บอกว่าทอผ้าก็แค่ “สอดไหม เปลี่ยนขา แล้วตบให้แน่น” ทำทุกอย่างที่ว่านี้ให้สัมพันธ์กัน เอาเข้าจริงทุกอย่างป้าบอกไม่ง่ายเลย
- เสื่อกกยกลาย
“เสื่อ” พรมแบบบ้านบ้านของไทย อีก 1 ภูมิปัญญา ที่สั่งสมมานานของคนที่โคกเมือง ของใช้ประจำในบ้านที่เราเห็นจนชินตา วันนี้ลองมาดูกรรมวิธีการผลิตเสื่อ ของใช้สำคัญที่ทุกบ้านนั้นต้องมี กว่าจะเป็นเสื่อออกมา 1 ผืน นั้นมีวิธีการอย่างไร
เสื่อทำมาจากต้นกกหรือต้นไหล พืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เอามาผึ่งแดดให้แห้ง กรีดออกเป็นเส้น แล้วย้อมสีจากธรรมชาติล้วนๆ จึงไม่ต้องห่วงเรื่องสารตกค้าง มัดเก็บไว้ในที่แห้ง มีลมโกรกเท่านี้เราก็พร้อมจะทอเป็นผืนเสื่อแล้ว
ว่าแล้วก็จัดแจงเตรียมขึ้นประจำกี่ทอเสื่อ การทอก็ดูเหมือนจะไม่ยากแต่เทคนิคที่นี้ก็ล้ำสมัยขึ้นไปอีก ด้วยเทคนิคการทอคล้ายการทอผ้าขิด ซึ่งเป็นการสร้างลวดลาย ให้ลอยออกมาจากพื้นผิวอีกชั้นหนึ่ง จึงสามารถสร้างสรรค์ให้แปลกใหม่ได้หลายแบบ เช่น ลายประสาทเมืองต่ำ ลายผีเสื้อ ลายลูกแก้ว แล้วตอนนี้ก็ยังสามารถดัดแปลง จากเสื่อที่ใช้แค่ปูนั่งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ที่นำติดตัวไปที่ไหนๆ ได้อย่างสบาย
- ช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์ชุมชน
ดูของดีของบ้านโคกเมืองมาหลายอย่าง และแล้วก็ถึงเวลาทองของเหล่านักช้อป ที่จะได้หอบของฝากของที่นี่ กลับไปให้มิตรรักแฟนเพลงคนสนิท นอกจากผ้าทอมือที่ขึ้นชื่อแล้ว ก็ยังมีข้าวภูเขาไฟที่เป็นของขึ้นชื่อ เพราะปลูกจากดินภูเขาไฟที่มีแร่ธาตุสูงที่ปลูกรอบๆ หมู่บ้าน และผลิตภัณฑ์การเกษตรปลอดสาร ซื้ออันโน้น หยิบอันนี้อีกหลายชิ้น จนต้องหอบกลับบ้านเต็มไม้เต็มมือกันเลยทีเดียว
แม่ๆ ป้าๆ กลัวจะหิว เลยให้แวะเติมพลังด้วย ข้าวต้มด่างอาหารพื้นบ้านประจำถิ่นที่กินแล้วจะรักใคร่ปรองดองสามัคคีกัน รสเค็มๆ มันๆ ตบด้วยน้ำฝางเย็นๆ ที่มีฤทธิ์ช่วยขับความร้อนออกจากร่างกาย เติมพลังกันแล้วพร้อมลุยต่อ
- วิมานแห่งเทพบนโลกมนุษย์
ที่นี่ “ปราสาทเมืองต่ำ” ศาสนาสถานที่ถูกสร้างขึ้นมา ตั้งแต่เมื่อเกือบพันปีที่แล้ว ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อต้องอัญเชิญเทพเจ้าจากสวรรค์ ลงมาสถิตอยู่บนพื้นดิน เพื่อดูแลและปัดเป่าความทุกข์ให้แก่มนุษย์ผู้ทุกข์ยาก ปราสาทจึงถูกสร้างขึ้น ในรูปแบบการจำลองเขาพระสุเมรุ ที่เป็นแกนกลางของโลกและจักรวาล เพื่อเป็นที่สถิตของเหล่าทวยเทพ
ที่มาของชื่อเมืองต่ำ เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากเป็นปราสาทที่อยู่บนพื้นราบ เมื่อเปรียบเทียบกับปราสาทพนมรุ้งที่อยู่บนภูเขา วัสดุที่เอามาใช้ก่อสร้างปราสาทมีอยู่ 3 อย่าง คือ ศิลาแลงสีน้ำตาลเข้ม หินทรายสีน้ำตาลอ่อน และอิฐ ศิลาแลงจะถูกใช้เป็นส่วนฐาน หินทรายใช้ส่วนอาคารและส่วนที่มีลายสลัก ส่วนอิฐนั้นจะใช้กับองค์ปราสาทที่อยู่ข้างใน
ปราสาทแห่งนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส มีกำแพงและประตูล้อมรอบ 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นกำแพงที่ประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน พอเราผ่านประตูทางเข้าจะพบกับ ลานขนาดใหญ่ที่มีสระน้ำทั้งหมด 4 สระ อยู่ที่มุม เป็นรูปตัว L สระน้ำทั้ง 4 นี้ ปูด้วยศิลาแลงเรียงเป็นขั้นบันได ขอบสระมีหินสลักเป็นรูปตัวพญานาค 5 เศียรทอดตัวไปตลอดแนวสระน้ำ เปรียบเสมือนมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบชมพูทวีป อันเป็นโลกสมมติที่มนุษย์อาศัยอยู่
เมื่อมาถึงใจกลางของปราสาท จะได้เจอกับปราสาทอิฐ 5 หลัง สัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล เรียงซ้อน 2 แถว ด้านหน้า 3 หลัง ด้านหลัง 2 หลัง แต่ทุกหลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทหลังตรงกลางถล่มลงมาแล้ว ส่วนหลังอื่นๆ ใช้ประดิษฐานรูปเคารพอื่น เช่น พระนารายณ์ พระพิฆเนศ เป็นต้น
บ่ายคล้อยพระอาทิตย์สาดแสงอ่อนเตรียมบอกลา จินตนาการว่าถ้าเป็นอยู่ตรงนั้นจะเป็นยังน้า แต่! รู้ตัวอีกทีก็ไปอยู่ตรงนั้นแล้ว บรรยากาศยามเย็นรอบหมู่บ้าน รีบสูดอากาศ แล้วบอกตัวเองว่าแฮปปี้มากกกกก
- มาเด้อ มากินข้าว นำกัน
เมื่อแขกจากต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือนถึงบ้าน ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ต้องต้อนรับด้วยมื้ออาหารในโตก พอได้เวลาอาหาร แม่ๆ ป้าๆ สำรับไว้รอเต็มโตก ที่ตกแต่งมาอย่างกระจุ๊กกระจิกน่ารัก ข้าวที่นี่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟ ทำให้ข้าวหอมและรสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร ยิ่งฝีมือปรุงอาหารจากเชฟชุมชน พร้อมเรื่องราวผ่านมื้ออาหาร ที่ทำให้เราได้เรียนรู้เอกลักษณ์และวิถีของชุมชนผ่านมื้ออาหาร ส่งให้มื้อนี้กลายเป็นมื้ออาหาร ที่อร่อยกว่ามื้อไหนๆ ที่เคยกิน
- บายศรีสู่ขวัญ
เมื่อเย็นย่ำค่ำลง อีกหนึ่งพิธีธรรมเนียมเมื่อมาอีสาน พิธีบายศรีสู่ขวัญ พานบายศรีระโยงรยางค์ด้วยสายสิญจน์ ถูกผูกร้อยโยงไปรอบศาลา คำสวดรับขวัญอวยพรจากพ่อใหญ
พร้อมผูกข้อมือเพื่อรับขวัญคนมาใหม่ อวยพรให้เกิดสิริมงคล และปลอดภัย อิ่มอกสบายใจกันถ้วนทั่วทุกคน
อิ่มหนำรับพรแล้ว ก็ถึงเวลาออกมาเต้น มีเท่าไหร่เตรียมใส่ให้หมด คุณป้าบอกว่าที่นี่เป็นเหมือนสามาคม ที่ชวนกันมาร้องมารำกันเกือบทุกครั้งเมื่อมีแขกมาเยือน
- บ้านโคกเมืองก็มีทะเล
บารายเมืองต่ำนี้มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวถึง 1 กิโลกว่าๆ และกว้างถึง 500 เมตร ดูจากขนาดที่ใหญ่โตนี้ ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า ‘ทะเลเมืองต่ำ’ บารายหรืออ่างเก็บน้ำ สร้างอยู่ติดกับปราสาทเมืองต่ำ ถ้าเราไปชมปราสาทเขมรเราก็มักจะพบว่า ด้านหน้าของปราสาทมันจะมีการสร้างบารายไว้คู่กับ เพื่อสำหรับใช้สำหรับประกบพิธีกรรมหรือสำหรับเป็นแหล่งน้ำให้ชุมชนได้ใช้กัน
ตอนเช้า มาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่นี่มันก็ดีไปอีกแบบ
- เส้นทางสายศรัทธาแห่งชัยวรมันที่ 7
‘กุฎิฤาษีโคกเมือง’ เป็นอีกหนึ่งปราสาทหินเก่าแก่ในชุมชน อายุประมาณ 700 -800 ปี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของบารายเมืองต่ำ เป็นกลุ่มปราสาทมีปรากฏในจารึก ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พระองค์ให้สร้าง ‘อโรคยศาลา’ เพื่อเป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาลตามถนนสายโบราณ ที่ออกจากเมืองพระนครในอาณาจักรขอม ไปยังหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นอาณาเขตของพระองค์ ในไทยเองก็มีปราสาทแบบนี้อยู่หลายหลัง
- นอนโฮมสเตย์
นอนโฮมสเตย์ เอาจริงๆ นะ นอนสบาย เย็นมากไม่ต้องพึ่งแอร์เลย หัวถึงหมอนหลับไปเมื่อไหร่ไม่รู้ตัวเลย ตื่นเช้าอีกทีแบบสดชื่น ไม่ต้องให้โทรศัพท์มาปลุกเลยแหละ
รับเช้าวันใหม่ด้วยอาหารเช้ามื้อสำคัญ เติมพลังความพร้อมก่อนออกไปท่องชุมชน
- สองล้อพาท่องชุมชน
ออกไปเติมออกซิเจนกันให้เต็มปอดก่อนกลับบ้าน ชุมชนโคกเมืองเขามีจักรยาน ให้ยืมปั่นเที่ยวรอบหมู่บ้าน จึงไม่พลาดขอยืมไปแง๊น ปั่นเล่นกินลมชมวิวรอบหมู่บ้าน ออกไปสัมผัสได้ถึงความสวยงามทางธรรมชาติ ในเมืองโบราณแห่งนี้ และเรียนรู้ดูวิถีของคนละแวกนี้
ระหว่างทางก็เจอน้องวัวเดินเรียงหน้ากระดาน ทำหน้าขึงขัง แต่น้องใจดีหลีกทางให้ปั่นจักรยานต่อ
แวะกินลมบนคันบาราย หันไปเจอน้องนอนแช่น้ำสบายใจ
ได้แวะทักทายนกกระสาปากห่างฝูงใหญ่ ที่มารวมปาร์ตี้เริ่งร่าอยู่ในบาราย
- ได้เวลาต้องล่ำลา
แล้วก็ถึงเวลาต้องบอกลาโคกเมืองกลับสู่เมืองใหญ่ ทริป 2 วัน 1 คืน ที่นี่ลุงๆ ป้าๆ พาม่วนซื่นท่องชุมชน สนุกสมใจกับที่รอคอยมาหลายอย่างเขาว่าจริงๆ การเดินทางครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ไปเที่ยวเล่นแค่ให้สนุกสนาน แต่ยังได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์แปลกใหม่ เก็บไว้เป็นความทรงจำ ความประทับใจไม่รู้จบจริงๆ
สามารถแวะไปเยี่ยมเยือน แลพูดคุยกันกับเราได้ที่
https://www.facebook.com/whenigoout/
อย่าหาเหตุผลที่จะเริ่มออกเดินทาง มันก็แค่นั้นแหละ...แค่อยากออกไป
แค่อยากออกไป
วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 21.42 น.