เนื่องจากสภาพการณ์ในขณะนี้คงไม่เหมาะที่จะออกเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามที่ใจเราต้องการ แต่มันก็ไม่อาจห้ามความคิดถึงเมื่อนึกถึงภาพการเดินทางที่ผ่านมา รวมทั้งมีแพลนที่จะเดินทางเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ..ทิพย์นี้เป็นทริปการเดินทางเมื่อปี 61 ที่ผมได้เดินทางไปยัง"ปราสาทหินวัดพู"แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ซึ่งสถานที่แห่งนี้มีความน่าสนใจในเรื่องอารยธรรมโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีให้ศึกษามากมาย 

ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักไปทางใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร เราจะเห็นภูเขาลูกหนึ่งที่มีลักษณะแปลกๆ เหมือนกับหน้าอกของหญิงสาว โดดเด่นมาแต่ไกลเป็นที่มาของชื่อ"ภูนมสาว" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "ภูเกล้า"(พูเก้า) "เก้า"ในความหมายของชาวลาวลุ่มหมายถึง เกล้ามวยคือตามลักษณะของยอดเขาที่มีลักษณะเหมือนมวยผม (ภาษาลาว "ภ" จะใช้เป็น พ.พาน คำว่า "เกล้า" จะไม่มีอักษรควบกล้ำ)

“พูเก้า” เป็นแนวทิวเขาสูงบริเวณที่ราบลุ่มริมแม่โขง ในเขตจําปาสัก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวปรากฎร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่พัฒนาการขึ้นเป็นเมืองขนาดใหญ่ในนาม “เสดถะปุระ (เศษฐปุระ)” ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรเจนละ สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 ด้วยภูมิทัศน์ทางธรรมชาติอันโดดเด่น และรูปทรงของยอดเขาอันแปลกตา ที่มีส่วนปลายสูงโดดขึ้นมาคล้ายอวัยวะเพศชาย และถูกให้ความหมายเป็นศิวลึงค์ธรรมชาติ เชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ของพระศิวะ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูที่แผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางบนดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งตรงกับหลักฐานจารึกเรียก “พูเก้า” เป็นภาษาสันกฤตว่า “ลึงคปรวต | Lingaparvata” หรือลึงคบรรพต เปรียบได้กับเขาไกรลาส (Kailasha) อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ ตามแนวคิดจักรวาลวิทยาของศาสนาฮินดู

ปราสาทหินวัดพู แขวงจำปาสัก มรดกโลกแห่งที่ 2 ของลาว เป็นโบสถ์พราหมณ์ที่สร้างถวายพระศิวะในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตั้งอยู่เชิงเขาภูควาย ห่างจากตัวเมืองเก่าจำปาสักประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะของปราสาทเป็นเทวสถานขอม คล้ายกับเขาพระวิหาร ถือว่าเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ในอดีตที่ตั้งของวัดพู นั้นเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัยด้วยกัน คือ อาณาจักรเจนละในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 8 ค้นพบจารึกกล่าวถึงการฆ่าคนเพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ต่อมาเป็นยุคของอาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร (อังกอร์) ที่เลือกบริเวณนี้เป็นที่สร้างปราสาทหินในราวพุทธศตวรรษที่ 9 และสุดท้ายอาณาจักรล้านช้างได้เปลี่ยนเทวาลัยในศาสนาฮินดูให้เป็นวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทในราวพุทธศตวรรษที่ 12

ถนนทางเข้าสู่ตัวปราสาทปูด้วยพื้นหินทราย ขอบทางเดินมีเสาหินรูปดอกบัวตูมเรียกว่า "เสานางเรียง" ซึ่งเป็นตัวกำหนดขอบเขตทางเดินสำหรับกษัตริย์และชนชั้นสูงในสมัยนั้น ตัวเสาจะเรียงรายทอดยาวไปจนถึงเชิงเขาอันเป็นทางขึ้นสู่ตัวปราสาท เมื่อสิ้นสุดทางเดินจะเห็นตัวปราสาทที่หันหน้ามาทางทิศตะวันออก 2 หลังตั้งอยู่คู่กันตามแนวนอน เรียกว่า "โรงท้าว" กับ "โรงนาง"สัณนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ที่แยกระหว่างชาย (โรงท้าว) หญิง (โรงนาง) สิ่งที่หน้าสนใจของตัวปราสาทตรงจุดนี้อยู่ที่ภาพแกะสลักลวดลายบนหน้าบันและ ทับหลัง ที่เป็นรูป "อุมามเหศวร" หมายถึง พระศิวะประทับนั่งบนหลังโคนนทิโดยมีพระศรีอุมาเทวีประทับนั่งบนพระเพลาพระศิวะเหนือหน้ากาลที่กำลังคายพวงอุบะ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะแบบบาปวน

ถัดจากตัวปราสาท 2 หลัง จะมีทางเดินขึ้นไปตามแนวลาดชันของภู ซึ่งเสานางเรียงก็สิ้นสุดตรงทางขึ้นบันไดชั้นแรก มองไปด้านหลังของปราสาทหลังซ้ายมือมองเห็นซากปรักหักพังของโบราณสถานหลังนึงซึ่งในยุคสมัยนั้นเรียกว่าโรงวัวอุสุพะลาด หรือ วัวนนทิ ซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะ และจากโรงวัวแห่งนี้ มีเส้นทางโบราณไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านธาตุ มุ่งตรงไปยังนครวัด ประเทศกัมพูชาได้ จากนั้นเป็นบันไดหินชั้นที่ 2 มีกองอิฐของปราสาทเก่า และชั้นกำแพงหินป้องกันดินทรุดเป็นระยะๆ ตรงบริเวณเศษซากซุ้มประตูที่ยังหลงเหลืออยู่มีรูปปั้นทวารบาล ในสภาพมือขวากุมไม้เท้า มือซ้ายแนบหน้าอก เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ผ่านขึ้นไปยังปราสาทเบื้องบน เชื่อว่ารูปปั้นนี้คือ "พระยากำมะทา” ผู้ควบคุมการก่อสร้างปราสาทวัดพู

ถัดจากบันไดชั้นที่ 2 ไปมีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ 3 เพื่อขึ้นไปยังตัวปราสาทประธานหรือหอไหว้ สำหรับปราสาทองค์ประธานนี้ ประกอบด้วยพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ฝาผนังส่วนด้านหน้าห้องโถง ก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้า ๓ ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านทิศตะวันตกที่ติดกับผาหินเป็นที่ประดิษฐาน ศิวลึงค์ มีน้ำศักดิ์สิทธ์ จากเพิงผาหินน้ำเที่ยง ไหลตามร่องหิน เข้าสู่ปราสาททางด้านหลังไหลเข้ามาอาบรดศิวลึงค์อยุ่ตลอดเวลา แล้วไหลตามร่องน้ำออกมาทางผนังด้านเหนือ ปัจจุบันไม่มีศิวลึงค์อยู่ในห้องนี้แล้ว

ภายในปราสาทจะมีภาพแกะสลักนูนสูงทั้งบนผนังหน้าบันและทับหลังเล่าเรื่องเทพเจ้าในศาสนาฮินดู รวมทั้งนายทวารบาลและนางอัปสรา ส่วนพระพุทธรูปมาประดิษฐานภายหลังจากที่อาณาจักรขอมเสื่อมลง เจ้าราชครูโพนสะเม็ก หรือพระยาคูขี้หอม พระภิกษุระดับมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ในอาณาจักรล้านช้างเดินทางมาตั้งเมืองจำปาสักเป็นเมืองหลวงฝ่ายใต้ ราวๆพุทธศตวรรษที่ 23 (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย) ปราสาทวัดพูภายใต้วัฒนธรรมลาวก็ถูกปรับเปลี่ยนจากการเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู มาเป็นวัดในพุทธศาสนา และชื่อเรียกว่า “วัดพู” ก็คงเกิดขึ้นจากชาวลาวแถบนี้ที่เคารพปราสาทแห่งนี้ในฐานะพระอารามในพุทธศาสนาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

หากมองจากด้านบนลงไปเราจะเห็นวิวเขียวๆของที่ราบลุ่มยาวไปจนจรดแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านกลางแขวงจำปาสัก บริเวณทางขึ้น เราจะเห็นบาราย (สระน้ำ) ขนาดใหญ่เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้น้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นสถานที่พักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานตั้งแต่สมัยนั้นจนงปัจุบัน ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู หมายถึง มหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก ชาวลาวเรียกว่า “หนองสระ” สมัยก่อนเคยมีศาลารับเสด็จเจ้ามหาชีวิต (กษัตริย์ลาว) บนฐานหินเดิม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2500 ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไปแล้ว

จากด่านช่องเม็กไปปราสาทหินวัดพูระยะทางประมาณ 80 กม.ค่าเข้าประสาทหินวัดพูจะอยู่ที่ 50,000 กีบในวันธรรมดาส่วนในวันหยุดจะเป็น 55,000 กีบ จากทางเข้าวัดพู ไปจนถึงทางเดินขึ้นตัวปราสาทระยะทางค่อนข้างไกล จะมีรถกอลฟ์บริการรับส่งซึ่งรวมอยู่ในค่าผ่านประตูแล้ว 


-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด


สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว

 วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 18.27 น.

ความคิดเห็น