ทริปนี้เดินทางตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2563 ตลอด 5 วัน 4 คืน แทบไม่มีแผนว่าจะไปไหนเลย ทริปนี้ก็เลยมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร และวัด
ป.ล. รูปเยอะมากๆ ต้องขออภัย
ป.ล.2 รูปทั้งหมดจากกล้องมือถือ
ป.ล.3 ถ่ายรูปติดใครมาต้องขออภัยด้วยครับ
***หากมีข้อมูลผิดอะไรในกระทู้นี้ ขอความกรุณาแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องด้วยครับ***
หลังจากห่างหายไปนาน และดองทริปนี้มา 1 ปี 1 เดือน เพราะไม่มีทริปเดินทางอื่นมาดันให้ขยัน
ทริปนี้ไร้แผน แต่ที่อำนวจเจริญมีแผนไปบ้าง เพราะยังไม่เคยไป ทริปนี้ขาไปเราเลือกเดินทางด้วยรถทัวร์นครชัยแอร์ มาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอุบลราชธานี 5:30 พอลงรถมาก็มายืนจิบกาแฟรอรถเข้าเมือง กาแฟโบราณเข้มดี ตื่นเลย
เราเลือกขึ้นรถบัสแอร์ที่วิ่งสถานีขนส่ง - สนามบิน - เข้าเมือง ในราคา 20 บาทตลอดสาย แอร์เย็น สะอาด พี่คนขับใจดี พูดคุยดีมาก เที่ยวแรกออกจากสถานีขนส่ง 6:10
เราลงรถที่ทุ่งศรีเมืองฝั่งศาลฯ เดินทะลุมาเจอแสงเช้าพอดี
ทะลุมาที่ศาลหลักเมือง เช้าๆ แบบนี้เพิ่งเปิดประตูเจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดอยู่ เราก็เลยยังไม่เข้าไปสักการะ
เดินต่อมาที่ริมแม่น้ำมูลติดกับตลาดใหญ่
เดินต่อมาอีกนิดจะเป็นทางขึ้นวัดหลวง เป็น วัดแห่งแรกของ เมืองอุบลราชธานี และถือได้ว่าเป็นวัดประจำเจ้าเมือง พระพุทธรูปสำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่องค์หลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร โดยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าครอบครองเมืองอุบลราช-ธานีองค์แรก ได้ให้ช่างชาวเวียงจันทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2324 เพื่อเป็นพระประธานประจำตัววัดหลวงประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง (ศาลาการเปรียญ) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของชาวเมืองอุบลราชธานีและเป็นพระพุทธรูปองค์แรกของเมืองอุบลราชธานี นานกว่า 223 ปีมาแล้ว และพระแก้วไพฑูรย์ เป็นพระแก้วเกิดจากหินธรรมชาติ
เดินต่อไปที่วัดทุ่งศรีเมือง มาเช้าๆ เงียบสงบมาก สันนิษฐานสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2356 ในยุคสมัยสมเด็จกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินหลายคน ยกที่ดิน (ที่ทำนา) ให้กับทางราชการ แรกๆ ชาวเมืองเรียกว่า "ทุ่งศรีเมือง" ต่อมาภายหลังจึงได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้น โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง โดยให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ ดำเนินการก่อสร้าง มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร หลังคาทรงไทยศิลปะเวียงจันทน์ ต่อมาได้สร้างเป็นเขื่อนกำแพงแก้วหอพระพุทธบาท มีสองชั้นรอบๆพระพุทธบาท ขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 32 เมตร พูนให้สูงเหมือนเป็นฐานรองรับหอพระพุทธบาท โดยได้ขุดเอาดินมาจาดสระด้านทิศเหนือ ซึ่งมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 24 เมตร ลึก 3 เมตร ซึ่งสระนี้ ต่อมาภายหลังได้สร้างหอไตรไว้กลางน้ำ จึงได้ ซื่อว่า "สระหอไตร"
เดินย้อนมาสักการะศาลหลักเมืองอุบลราชธานี
เดินต่อมาที่ศาลากลางหลังเก่าที่ตอนนี้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เก็บภาพรอบๆ อาคารพิพิธภัณฑ์
เดินมาที่โรงแรมเดอะราชธานี เราขอ check-in ก่อนเวลา ทางโรงแรมก็ใจดีมากให้เข้าที่พักได้ตั้งแต่ 9:00 น. เราพักที่นี่ 2 คืน ที่เราเลือกพักที่นี่เพราะใกล้ของกิน
ต่อจากนี้จะไม่ได้เที่ยวคนเดียวแล้ว มีพี่ตามมา พอมาถึงก็เริ่มต้นกิน
เที่ยงก็กินก๋วยจั๊บ ร้านข้างทางธรรมดามาก แต่อร่อยและเยอะมาก
เดินมาแวะร้านกาแฟติดกับโรงแรมเลย Roof Coffee ร้านน่านั่งดี
อิ่มแล้วก็ขึ้นห้องไปนอน ตื่นมาก็เดินไปหาของกินอีกแล้ว แพนเค้กหน้าโรงเรียนอนุบาลฯ 10 บาทเท่านั้น
เดินเล่นในทุ่งศรีเมืองจนเย็นก็ได้เวลากินอีกแล้ว มื้อเย็นฝากท้องที่โต้รุ่งทุ่งศรีเมือง
กินอิ่มแล้วก็เดินย่อยอีกนิดหน่อย
เช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ตื่นเช้าหน่อยเพื่อเข้าตลาดใหญ่ใส่บาตร และหามื้อเช้าง่ายๆ กิน
เก็บแสงเช้าริมมูลอีกครั้ง
พี่ที่มาด้วยซื้อปลาหน้าเขียงมาปล่อยลงแม่น้ำมูล
วันนี้เราก็พาพี่ไปวัดหลวง และเดินเล่นรอบๆ เมือง เมื่อเที่ยงไปฝากท้องที่ร้านฉั่งโภชนา
เดินย้อนมากินกาแฟและขนมที่ร้าน Sarin Coffee เครปมะพร้าวอ่อนอร่อยมาก
ตกบ่ายแก่ๆ ก็พาพี่ไปวัดทุ่งศรีเมือง และก็มาฝากท้องที่ตลาดโต้รุ่งเหมือนเดิม แต่กินอีกร้านหนึ่ง
วันศุกร์มีถนนคนเดิน คืนนี้สนุกมาก ของกินก็มากมายแต่ที่ถูกใจก็ขนมต้มเสียบไม้ หอมและอร่อยมาก
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เข้าตลาดใหญ่ใส่บาตรอีกครั้ง และเหมือนเดิมมื้อเช้าในตลาด
วันนี้มีพี่อีกคนตามมาพาพวกเราไปอำนาจเจริญ ระหว่างทางก็แวะชมเรือโบราณ 200 ปี ที่วัดบ้านหนองช้างน้อย อำเภอม่วงสามสิบ นอกจากจะมีเรือโบราณอายุ 200 ปีที่ทำจากไม้ตะเคียนแล้วก็ยังมีของโบราณต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย
ออกจากเรือโบราณก็มาที่วัดพระเหลาเทพนิมิต พระอุโบสถของวัดมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีพระประธานคือ "พระเหลาเทพนิมิต” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบ มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.85 เมตร สูง 2.70 เมตร มีคำเล่าลือกันว่า ทุกคืนวันพระ 7 ค่ำ, 8 ค่ำ 14 ค่ำ, 15 ค่ำ องค์พระพุทธรูปพระเหลาเทพนิมิต จะแสดงพุทธานุภาพให้เกิด ลำแสงสีเขียวแกมขาวขจีลอยออกจากพระอุโบสถในเวลาเงียบสงัด
ออกจากวัดพระเหลาเทพนิมิตก็มาที่ลานเสมาพันปี ใบเสมาสมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ สร้างจากหินทรายขาว อายุประมาณ 1,000 ปี ราว พ.ศ. 1,200-1,300 ศิลปะขอมแบบไพรกเมง
มื้อเที่ยงก็ฝากท้องกับร้านก๋วยจั๊บเจอาร์ ใกล้ๆ ลานเสมาพันปี
บ่ายแล้วให้พี่ที่ตามมาเที่ยวได้พักก่อน ก็เลยเข้าที่พัก คืนนี้พักที่โรงแรมนครินทร์ ได้ตึกใหม่ ห้องใหญ่แถมมี router wifi ในห้องพักเลย ที่นี่มีอาหารเช้าให้ด้วย เป็นข้าวต้ม ขนมปัง และเครื่องดื่ม
บ่าย 3 ออกจากโรงแรมตรงไปที่วัดถ้ำแสงเพชร เป็นวัดที่มีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหารอยู่บนยอดเขาสูง ทางด้านทิศเหนือของวิหารมีถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระเหล่าเทพนิมิตร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2263 กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทน์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-22 ที่นี่เราชอบอุโมงค์ต้นไผ่ มาช่วงเย็นแสงตกกระทบสวยมาก แต่กล้องมือถือก็ไม่สามารถเก็บมาได้
ออกจากวัดถ้ำแสงเพชรก็มาต่อที่วัดสี่แยกแสงเพชร หรือวัดถ้ำแสงเพชรบน
ไปกันต่อที่วัดราสิยาราม วัดนี้มีสิมเก่าขนาดเล็ก ลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.20 เมตร ยาว 2.4 เมตร สูง 6.60 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นอีสาน หันหน้าชนกันกับสิมใหม่ เข้าออกทางเดียว มีมุขด้านหน้า โดยแบ่งเป็นส่วนมุขและส่วนตัวสิม หลังคาเดียวกัน มีประตูไม้สองบานเป็นทางเข้าออก เหนือประตูมีการเขียนฮูปแต้มสี ตอนที่ไปชมกำลังบูรณะโดยกรมศิลปากรอยู่
ฟ้ายังไม่มืดเราก็ไปต่อที่พุทธอุทยานและพระมงคลมิ่งเมือง พระมงคลมิ่งเมือง หรือพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบปาละของอินเดียเหนือ ที่แผ่มายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว และในปี พ.ศ. 2508 ได้สร้างคอนกรีตเสริมเหล็กครอบองค์พระพุทธรูปปูนปั้นเดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอํานาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจําภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลืองลออตา มีนามว่า "พระละฮาย" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "พระขี่ล่าย" หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทําฝายกั้นน้ำ เชื่อกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ประชาชนมักเดินทางมาขอพรอยู่เสมอ
ที่สุดท้ายในวันนี้ก็เป็นศาลหลักเมืองอำนาจเจริญ แต่มาถึงฟ้ามืด ศาลปิดแล้ว
เช้าวันที่ 1 มีนาคม 2563 ออกจากโรงแรมก็ตรงไปที่ออแกนิคฟาร์ม ไร่ภูตะวัน ที่นี่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดส่งผลิตภัณฑ์ออแกนิคให้แก่ Supermarket ใหญ่ๆ มาซื้อผักหน้าฟาร์มราคาไม่แพง
ออกจากฟาร์มก็มาเดินท้าแดดที่ลานผเวส
จากนั้นก็ไปที่อ่างเก็บน้ำห้วยสีโท และมาแวะกินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารริมอ่างเก็บน้ำ
ก่อนออกจากอำนาจเจริญก็มาปิดท้ายที่วัดยางช้า อำเภอลืออำนาจ สิม (อุโบสถ) วัดยางช้า นั้นสร้างโดยเจ้าอาวาสเพ็ง กันยวิมล และราษฎรผู้มีจิตศรัทธา ระหว่างปี พ.ศ. 2460 - 2475 เป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสาน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6.80 เมตร ยาว 10.70 เมตร สูง 8 เมตร โดยมีทั้งจิตรกรรมฝาผนังภายนอก และภายใน ซึ่งเป็นฝีมือของเจ้าอาวาสเพ็ง กันยวิมล ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐปูนทาด้วยสีทอง ลักษณะงานปั้นเหมือนที่วัดพระเหลาเทพนิมิต
จากนั้นมุ่งหน้ากลับอุบลราชธานี วันนี้เราพักที่โรงแรม ณ ฮานานิ ที่นี่มีกราฟิตี้เก๋ๆ เยอะ มีหลายมุมให้สนุก อาหารเช้าก็มีให้เลือกหลายแบบ ในห้องพักมีปีโป้ให้ด้วย
ออกจากที่พักมาที่วัดพระธาตุหนองบัว พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือที่ชาวอุบลเรียกกันว่า “พระธาตุหนองบัว” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นี้ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เดิมมีความกว้างด้านละ 6 เมตร องค์พระธาตุทั้ง 4 ด้านแกะสลักพระประจำวันเกิด และกลีบบัวประดับ ฐานล่างแกะรูปพระพุทธเจ้าปางประสูติ ตรัสรู้ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ต่อมาได้ทำการก่อสร้างพระธาตุองค์ใหญ่ครอบพระธาตุองค์เล็กไว้ โดยมีฐานรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร ส่วนยอดฉัตร 4 ชั้น ลงรักปิดทอง ที่ยอดฉัตรเป็นรูปดอกบัวตูม ทำด้วยทองคำหนัก 31 บาท ฐานตอนล่างสุดเป็นรูปมารยกฐานไว้ ถัดขึ้นไปเป็นรูปพระสงฆ์สาวกยืนในซุ้มด้านละ 8 องค์รวม 32 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติสลักเป็นช่อง ๆ 1 ช่อง ต่อ 1 เรื่อง รวมทั้งหมด 10 ช่องและเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปอีกเป็นลายรัดประคตรูปเทพนั่งบนแท่นสลับกับลายกนก ถัดขึ้นไปอีกประดับลายปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าในปางต่าง ๆ สูงจนถึงยอดเจดีย์ ที่มุมฐานทั้งสี่ที่อยู่ด้านล่างเป็นรูปครุฑแบก เหนือขึ้นมาเป็นนาค 7 เศียร
ออกจากวัดพระธาตุหนองบัวก็เข้าเมืองมากินข้าวต้มที่ร้านสันติโภชนา
ข้ามถนนมากินบัวลอยไส้ทะลัก ที่ร้านมีน้องมะลินั่งมองลูกค้าอยู่ เหมือนวันที่เราไปน้องจะหงุดหงิด
พออิ่มก็ไปเดินถนนคนเดินอีก ไปซื้อของเพิ่มอีกหลายอย่าง และปิดท้ายด้วยข้าวเหนียวมะม่วงที่ตลาดโต้รุ่ง เรากินทุกคืนที่อยู่อุบลราชธานี
วันที่ 2 มีนาคม 2563 วันสุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ วันนี้ฟรีเดย์มาก ไม่ทำอะไรเลย คลุกตัวอยู่ตามร้านกาแฟทั้งวัน เริ่มที่ร้าน Sarin Coffee ติดใจเครปมะพร้าวอ่อน
มื้อเที่ยงเป็นราดหน้าเนื้อหม้อดิน
เดินมานั่งร้าน S.P. house
พอเย็นก็ออกเดินมาที่ตลาดโต้รุ่ง ระหว่างทางแวะถ่ายรูปอาคารเก่าหลังนี้ อยู่ที่ในเมืองอุบลราชธานี อายุไม่น่าจะต่ำกว่า 50-60 ปี เดิมเป็นของคหบดี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเจ้าของแล้ว และใช้ทำเป็นที่ทำการภาคของธนาคารแห่งหนึ่ง
มื้อเย็นก่อนกลับกรุงเทพฯ เป็นแหนมเนือง
ขากลับต้องขอบคุณพี่แท็กซี่ด้วยที่พาเรากลับไปเอากระเป๋าที่ฝากไว้ที่โรงแรมและไปส่งสนามบินทันเวลา ทริปนี้เที่ยวหลวมมาก ต้องบอกว่าไปเปลี่ยนที่กิน-ที่นอน-ที่เดินเล่นจริงๆ แล้วพบเจอกันใหม่เมื่อเราเดินทาง
ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว
วันพฤหัสที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23.52 น.