สิงห์เทินธรรมาสน์ วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ จังหวัดอุบลราชธานี ประติมากรรมรูปสิงห์ศิลปะแบบญวน

ช่วงนี้มีมีมประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ในวัดต่างๆ ที่ดูน่ารักแปลกตาให้ได้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ศิลปะที่แปลกตานี้เป็นศิลปะแบบ native art หรือศิลปะที่สร้างสรรค์โดยชาวบ้านที่ไม่ใช่ช่างศิลป์ ทำให้รูปลักษณ์ที่ออกมาดูมีลักษณะผิดแผกไปจากศิลปะแบบช่างหลวงอย่างเคยพบเห็นกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้มีคุณค่าทางศิลปะที่ลดหย่อนไปแม้แต่น้อย ซ้ำยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศิลปะที่สอดแทรกอยู่ในวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านอีกด้วย

วันนี้แอดหมีก็เลยนึกถึงงานศิลปะชิ้นหนึ่งขึ้นมาที่มีความน่าสนใจและแปลกตาอยู่ไม่น้อย งานนั้นก็คือสิงห์เทินธรรมาสน์ วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ อำเภอชีทวน จังหวัดอุบลราชธานี

พอพูดถึงประติมากรรมรูปสิงห์ในวัด หลายๆ คนคงนึกถึงสิงห์จีนตัวใหญ่พ่อแม่ลูก (มีลูกจริงๆ นะส่วนมากตัวพ่อจะเล่นลูกบอล ตัวแม่จะเลี้ยงลูกน้อยอยู่) ถ้าเป็นทางภาคเหนือก็จะทีสิงห์อีกแบบหนึ่ง วัดที่มีศิลปะทางขอมก็จะเป็นสิงห์อีกแบบหนึ่ง สิงห์แบบไทยก็มีให้เห็นบ้างนานๆ ที แต่ถ้าพูดถึงประติมากรรมรูปสิงห์แบบญวนล่ะ

สิงห์เทินธรรมาสน์ หรือ สิงห์เทินบุษบก

สิงห์เทินธรรมาสน์ หรือ สิงห์เทินบุษบก ที่วัดศรีนวลสว่างอารมณ์นี้ เป็นประติมากรรมรูปสิงห์ สร้างด้วยอิฐถือปูน ประดับตกแต่งตัวสิงห์ด้วยกระจกสีต่างๆ ยอดบุษบกเป็นเครื่องไม้ลดหลั่น สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2468-2470 โดยพระอุปัชฌาวงศ์ พรหมฺสโร เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้ให้ช่างชาวญวนหรือเวียดนาม ชื่อ เวียง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แกวเวียง (คนไทยบางพื้นถิ่นจะเรียกคนเวียดนามว่าแกว) ที่มาขออาศัยอยู่ภายในวัด เป็นผู้สร้างธรรมมาสสิงห์ในส่วนฐานจนถึงยอดธรรมมาส [1]

สิงห์เทินธรรมาสน์นี้อาจจะไม่ใช่ naive เนื่องจากเป็นการสร้างสรรค์จากช่าง แต่ก็เป็นช่างชาวเวียดนามทำให้สิงห์ดูแปลกตาไปจากงานช่างของไทยและแน่นอนว่าสามารถหาดูได้ที่เดียวในประเทศไทย

ช่วงที่แอดหมีไปทางวัดกำลังบูรณะซ่อมแซมศาลาอยู่ สังเกตได้จากโครงเหล็กนั่งร้านในภาพ แต่คิดว่าปัจจุบันนี้น่าจะบูรณะเสร็จแล้ว ถ้าลูกเพจคนไหนผ่านไปอุบลและอยากจะพบเห็นสิงห์เทินธรรมาสน์ตัวเป็นๆ ก็สามารถเสิร์ช วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ หรือ สิงห์เทินธรรมาสน์ในแมพได้เลยนะครับ อยู่ไกลออกมาจากตัวเมืองอุบลนิดเดียว

[1] ขอบคุณข้อมูลจาก ESAN INFORMATION @UBON RATCHATHANI, สารสนเทศท้องถิ่น ณ อุบลราชธานี www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=1792

ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Pira Story ได้ที่

Pira Story

 วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 19.37 น.

ความคิดเห็น