The Impressionists ชมศิลปะยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ จากเหล่าศิลปินหัวขบถแบบดิจิทัลอาร์ต ที่ River City Bangkok

The Impressionists ชมศิลปะยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ จากเหล่าศิลปินหัวขบถแบบดิจิทัลอาร์ต ถ้ารู้ว่าดีขนาดนี้ ตั้งใจเรียนวิชาศิลปะไปนานแล้ว!

ที่จริงพิระเคยได้ยินคำว่า “อิมเพรสชั่นนิซึม” (Impressionism) มาตั้งแต่วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตอนมอปลายค่ะ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนอะไรเนอะ อาจารย์ก็สอนเป็นทฤษฎี ไม่ค่อยได้เห็นภาพจรอง ซ้ำร้ายในชีทที่แจกยังซีรอกซ์เป็นขาวดำด้วยจ้า เลยไม่เข้าใจว่าศิลปะในยุคนี้แตกต่างจากยุคอื่น ๆ ยังไงเพราะมันก็ขาวดำเบลอๆ ไปทุกยุค 555

หลังจากได้รับการแนะนำจากพี่ๆ ก็เลยหาโอกาสมาชมนิทรรศการนี้ พอได้มาถึงเข้าใจว่า อ๋อ ศิลปะแบบอิมเพลสชั่นนิซึมคือมันว้าว มันพุ่ง มันแสบตาอย่างนี้นี่เอง แล้วยิ่งพอมารู้ประวัติความเป็นมา การต่อสู้ของศิลปินก็รู้สึกประทับใจมาก ๆ ค่ะ

วันนี้เลยอยากพาทุกคนไปชมความสวยงาม ซาบซึ้งกับความเป็นอิมเพลสชั่นนิซึม ย้อนเวลากลับไปมองดูความเป็นขบถทางศิลปะของศิลปินอิมเพลสชันนิสต์แต่ละท่าน และอิ่มเอมกับผลงานศิลปินระดับโลกกันค่ะ


🎨 Impressionists

นิทรรศที่รวบรวมการผลงานศิลปะของศิลปินในกลุ่มอิมเพลสชั่นนิสม์ ซึ่งถือเป็นยุคขบถของวงการศิลปะ จากศิลปินชื่อดังทั้ง 10 ท่าน ที่ต้องผ่านการต่อสู้เพื่อต่อต้านอุดมการณ์ของสุนทรียะแบบเดิม และนำเสนออุดมการณ์ทางศิลปะของตน เพื่อให้ศิลปะแบบอิมเพลสชั่นนิซึมได้รับการยอมรับในวงกว้าง


🗼‘ลัทธิประทับใจ’ หรือ ‘กลุ่มอิมเพรสชั่นนิซึม" (Impressionism)

ขอเล่าย้อนไปยังศตวรรษที่ 19 ตอนนั้นวงการงานศิลปะของประเทศฝรั่งเศสถูกครอบงำโดย ‘Academie des Beaux-Arts’(อะคาเดมี เดส์ โบซาส์) หรือ สถาบันวิจิตรศิลป์ (Academy of FineArts) แห่งกรุงปารีส เป็นสถาบันศิลปะที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ โดยสถาบันแห่งนี้จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของงานศิลปะ ว่างานศิลปะแบบไหนจึงจะได้รับการยอมรับ และสามารถนำไปจัดแสดงที่ซาลง หรือ ‘Paris Salon’ (ปารีส ซาลง)

ทำให้ผลงานที่ไม่เป็นไปตามอุดมคติของสถาบันวิจิตรศิลป์ถูกตีตราว่าเป็นงานศิลปะที่ด้อยค่าและไม่มีโอกาสได้จัดแสดงออกสู่สายตาสาธารณชน สถาบันแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเวทีค้าขายผลงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดที่เหล่าศิลปินทั้งหลายต่างใฝ่ฝัน

โดยในศตวรรษที่ 19 ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค (Neoclassicism) และโรแมนติค (Romanticism) กำลังได้รับความนิยม และมักจะได้รับการจัดแสดงเป็นนิทรรศการแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเคร่งครัดเพื่อคงสถานะนี้เอาไว้ โดยจะเป็นศิลปะที่เน้นไปที่การวาดภาพเทวดา ภาพบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ การลงสีเกลี่ยสีให้สวยงาม เน้นแสงเงา เราก็เลยมักจะพบว่าศิลปะแนวนี้จะประกอบไปด้วยสีดำที่เป็นสีของเงาเป็นส่วนประกอบใหญ่ของภาพ ศิลปินมักจะทำงานในสตูดิโอของตนเอง และจินตนาการภาพขึ้นมาในหัว


🎨ลัทธิอิมเพรสชั่นนิซึมเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มจิตรกร ได้แก่ โคลด โมเนต์ (Claude Monet) อัลเฟรด ซิสลีย์ (Alfred Sisley) และปิแยร์ ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre Auguste Renoir) เริ่มออกไปข้างนอกสตูดิโอเพื่อวาดภาพ "คนจริงๆ" ลงบนผืนผ้าใบ

เมื่อออกมาวาดภาพข้างนอก แต่ละภาพจึงต้องการความรวดเร็วในการวาดมากกว่าการสเก็ตช์ภาพในสตูดิโอ เพื่อให้สามารถเก็บภาพตรงหน้าได้อย่างรวดเร็ว ภาพที่ได้จึงไม่เน้นรายละเอียด แสง เงามากนัก แต่จะเน้นถ่ายทอดความงดงามของทัศนียภาพและวิถีชีวิตของผู้คน ตามความประทับใจ (Impress) ของตนเอง ไม่ใช่ภาพเทพเทวดาเช่นในอดีตอีกต่อไป ซึ่งพิระรู้สึกว่าเป็นภาพที่เจิดจ้า และมีชีวิตชีวามาก ๆ ฝีแปรงไม่ต้องเนี้ยบ ไม่ต้องละเอียดคมกริบ แต่มันสามารถบันทึกช่วงเวลานั้นเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ของศิลปินออกมาได้จริง ๆ

สิ่งที่พิระชอบที่สุดคือแสงค่ะ แสงของศิลปะแนวนี้ที่ไม่ได้เป็นแสงสีเหลืองสลัวแบบยุคก่อนแล้ว แต่เป็นแสงระยิบระยับที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา จึงไม่แปลกที่พบว่าศิลปินมักจะวาดภาพสถานที่เดิม ๆ แต่ใช้สีที่แตกต่างกันไปตามจังหวะของแสดงในช่วงเวลานั้น ๆ และน้อยครั้งมากที่ศิลปินจะใช้สีดำในภาพทำให้ภาพสว่างสดใสมาก

ด้วยลักษณะความเป็นอิมเพรสชั่นนิซึมแบบนี้ จึงทำให้ในช่วงแรก งานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิซึมไม่ได้รับการยอมรับจากสถาบันวิจิตรศิลป์

แต่ศิลปินที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของสถาบันวิจิตรศิลป์ก็ยังคงยืนกรานที่จะนำเสนอผลงานตามสไตล์ของตัวเอง และต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อคงอุดมการณ์ของตนเองเอาไว้ เพื่อพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นว่าผลงานศิลปะของตนก็มีคุณค่า สามารถทำลายแนวคิดความสุนทรียะที่เคยถูกนิยามและยึดเอาไว้ด้วยคนบางกลุ่มเดิม และสามารถโด่งดังและเป็นที่ยอมรับได้เช่นกันค่ะ


☕️คาเฟ่เชบัวส์ จุดรวมตัวของศิลปินอิมเพรสชั่นนิซึม

ในสมัยนั้น ศิลปินที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของสถาบันวิจิตรศิลป์ จำเป็นต้องใช้คาเฟ่หรือร้านอาหารเป็นสถานที่รวมตัวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งคาเฟ่เชบัวส์แห่งนี้ก็เป็นสถานที่สำคัญที่ทำให้เกิดศิลปะสมัยใหม่ขึ้นค่ะ


👨‍🎨เอดูอาร์ มาเนต์ (Edouard Manet) เป็นหัวหอกคนสำคัญที่นัดศิลปินมารวมตัวกันที่คาเฟ่เชบัวส์ทุกวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ โดยเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มบาติญอลส์” (The Batignolles Group) แม้ว่าแต่ละคนจะมีบุคลิกและทฤษฎีทางศิลปะที่แตกต่างกัน แต่การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกันนั้น ช่วยให้ความคิดเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนยิ่งขึ้น


🏫ค.ศ. 1874 จุดเริ่มต้นของนิทรรศการศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ครั้งแรกในโลก

หลังจากที่รวมตัวพูดคุยกันมานาน ในที่สุดนิทรรศการอิมเพรสชั่นนิสม์ก็ได้จัดครั้งแรกที่สตูดิโอของนาดาร์ (Nadar) โดยมีโมเนต์ (Monet) ปิสซาโร (Pissaro) เดอกาส์ (Degas) เรอนัวร์ (Renoir) ซิสลีย์ (Sisley) และ แบร์ โมริโซต์ (Berthe Morisot) ร่วมกันจัดแสดงผลงาน 165 ชิ้น จากศิลปิน 30 คน รวมถึงภาพ “Impression Sunrise” ของโมเนต์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อศิลปะแบบ “Impressionism” อีกด้วย โดยคิดค่าเช้าชมคนละ 1 ฟรังก์

ถึงจะมีผู้เข้าชมมากกว่า 3,500 คน แต่การตอบรับก็เป็นไปในทางลบ เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็เย้ยหยัน หัวเราะเยาะ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือพิมพ์อีกด้วย

ไฮไลต์ภายในงาน

🎨โซนที่ 1 พาเราย้อนเวลากลับไปที่กรุงปารีสในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันศิลปะ Académie des Beaux-Arts หรือสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงปารีส ที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานงานศิลปะในประเทศฝรั่งเศสสมัยนั้น


🎨โซนที่ 2 พาเราไปรู้จักกับขั้วขบถทางศิลปะ เมื่อศิลปินผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของสถาบันวิจิตรศิลป์เริ่มลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์ และความคิดความเชื่อของตนเอง


🎨โซนที่ 3 จำลองคาเฟ่เชร์บัวส์ (Café Guerbois) สถานที่ที่ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ใช้เป็นที่นัดหมายรวมตัวกัน ก่อนที่จะสร้างสรรค์ผลงานซึ่งถูกตีตราว่า “ไม่ใช่งานศิลปะที่ได้รับการยอมรับ” ในสมัยนั้น


🎨โซนที่ 4 แสดงผลงานศิลปะของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ 10 ท่าน ที่ปัจจุบันกลายเป็นผลงานที่โด่งดัง และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างงานศิลปะอันทรงคุณค่าอยู่เสมอ


🎨โซนที่ 5 สะพานในสวนญี่ปุ่นของโมเนต์ (Monet’s Bridge) ภาพวาดชิ้นสำคัญของ โคลดโมเนต์ (Claude Monet) ซึ่งวาดภาพสวนในบ้านของตัวเองทุกวัน ทุกช่วงเวลา เพราะแค่ช่วงเวลาต่างกัน แสงต่างกัน ก็ทำให้สวนที่เห็นอยู่ตรงหน้านั้นดูเปลี่ยนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่โซนนี้เราจะได้ชมภาพวาดสวย ๆ พร้อมภาพเคลื่อนไหวและบทเพลงที่พาเราล่องลอยไป ราวกับกำลังอยู่ในสวนของโมเนต์จริง ๆ


🎨โซนที่ 6 แสดงผลงานของศิลปินอิมเพรสชั่นนิซึมทั้ง 10 ท่านที่สับเปลี่ยนกันมาให้ชมในรูปแบบของดิจิทัลอาร์ตสุดตระการตา

โซนนี้เป็นโซนที่พิระทั้งนั่งดู ยืนดูอยู่นานมากค่ะ เพราะลำพังภาพของกลุ่มอิมเพรสชันนิซึมก็เจิดจ้าอยู่แล้วพอนำเสนอในรูปแบบของดิจิตอลอาร์ตก็เป็นการขับเน้นความสดใสของภาพ

ภาพทุกภาพที่เคลื่อนไหว เสียงเพลงทุกเพลงที่ดังขึ้นมา เหมือนสะกดจิตให้เราอยู่ในภวังค์เลยค่ะ สุดยอดมาก ๆ ชอบโซนนี้มากเลย อยากให้ทุกคนลองมายืนในห้องนี้ด้วยกันจริง ๆ ค่ะ


ทำความรู้จักและอิ่มเอมไปกับเสน่ห์ของงานศิลปะยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ได้ที่ MODA Gallery (พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลแห่งแรกของกรุงเทพ) ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (River City Bangkok)

📌แผนที่: https://goo.gl/maps/18SyaYG3mQ8qbmpb8

💰ค่าเข้าชม: คนละ 350 บาท ไม่จำกัดเวลา ซื้อบัตรได้ที่ http://www.zipeventapp.com/e/theimpressionists

🖼️ระยะเวลาจัดงาน: ตั้งแต่วันนี้ - 18 เมษายน 2564

🗓️วันและเวลาเปิดให้เข้าชม:
วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 11.00 – 20.00 น.
วันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา 10.00 – 20.00 น.

======================================

ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Pira Story ได้ที่

🔵 Facebook: https://www.facebook.com/PiraPiraStory/
🟢 Twitter: https://twitter.com/PiraPira_Story
🟣 Instagram: https://www.instagram.com/pirapirastory/
🟡 Blog: https://pirastory.com/

Pira Story

 วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 23.23 น.

ความคิดเห็น