หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในกรุงเทพฯ แบบที่ไปง่าย ใช้จ่ายไม่แพง เดินเล่น ถ่ายภาพ แวะชิมนั่นนี่แบบที่ไม่เหนื่อยร่างแหลก หนึ่งในตัวเลือก "การท่องเที่ยวชุมชน" ที่มีความคลาสสิคริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็คือ "กุฎีจีน" หรือ “กะดีจีน” ซึ่งเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน มอญ ฝรั่ง ศาสนาและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง อีกทั้งเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวไทยเชื่อสายโปรตุเกส นั่นเองงงง

ทริปนี้ ใช้ "ขนส่งสาธารณะ" ล้วน ๆ เลยล่ะ ซึ่งมีทั้งรถไฟใต้ดิน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเรือข้ามฟาก 
เริ่มการเดินเล่นนี้ด้วยการพาตัวเองขึ้น MRT มาให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะมาจากสถานีไหน แต่อย่าลืมลงที่ "สถานีอิสรภาพ" แวะกดแมพดูซักหน่อย เลยคิดว่าหากเดินไป น่าจะแห้งกรังคาถนนก่อน 

อะ.. งั้นเรียกวินมอเตอร์ไซค์ แล้วแจ้งว่าไป "วัดซางตาครู้ส" จ้าาาาา (ในแมพข้างบนเป็นเส้นทางสีน้ำเงิน)
ไม่นาน พี่วินก็พาเรามาแลนด์ดิ้งที่วัดคริสต์แห่งนี้ สุดทางแล้ว มากกว่านี้คือลงแม่น้ำเจ้าพระยา 
การเดินทางต่อจากนี้ คือการใช้พาหนะส่วนตัว คือการเดิน นั่นเอง (ในแมพคือโซนสีเหลือง)

เดินงง ๆ วนไป วนมาในชุมชน เนื่องจากวันที่ไป คือวันทำงานกลางสัปดาห์ คนก็จะโล่ง ๆ เงียบ ๆ เงียบมาก ๆ จนได้ยินเสียงลมโกรกผ่านตามตรอกเลยล่ะ 
ก็เดินวนเล่นไปเรื่อย จนมาพบที่แห่งแรกที่จะแวะ..

"พิพิธภัณฑ์กุฎีจีน" 

ที่แห่งนี้ เดิมที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยนี่แหละ ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นคนในพื้นที่ จึงต้องการบอกเล่าความเป็นมาของชุมชนไทยโปรตุเกสแห่งนี้ เลยปรับปรุงบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงของใช้ต่าง ๆ เรื่องราวในอดีต อีกทั้งการรีโนเวทบ้านที่โปร่งสบายแห่งนี้ให้สูงขึ้น และใต้ถุนบ้านปรับเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ ให้ได้นั่งชิลพักร้อนกัน 

แต่ละส่วน ของใช้แต่ละชิ้น มีการเก็บไว้อย่างดี พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งของ และชุมชนแห่งนี้ ผ่านข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกจัดวางไว้อย่างลงตัว 

เดินเล่น เดินอ่านกันบนบ้าน เสร็จแล้วลงบันไดอีกฝั่งมาใต้ถุนบ้าน ซึ่งตอนนี้ปรับปรุงให้เป็นร้านกาแฟ (แต่เครื่องดื่มอย่างอื่นก็มีนะ) มีขนมให้ได้นั่งเล่นเย็นใจ ใต้เงาต้นไม้ที่ร่มรื่นของบ้านแห่งนี้ และรับลมที่ผ่านเข้ามาตามช่องทางเดินต่าง ๆ สั่งพุดดิ้งมะพร้าวอ่อนมาอีก 1 ให้ชื่นใจซักนิด

ท้องอิ่ม ลมพัดเย็น ๆ นั่งอีกซักหน่อยน่าจะหลับ (แม้จะดื่มกาแฟมาแล้วก็เถอะ) 
เดินเล่นต่อดีกว่า

เดินออกจากบ้านแห่งนี้มา เลาะตามทางเดินมาราว ๆ 70 เมตร ยังไม่ทันเมื่อย 
ระหว่างทางก็เห็นบ้านไม้ที่ตกแต่งด้วยลายฉลุ และ กลิ่นหอม ๆ ของ "ขนมฝรั่ง" ที่ลอยมากับลมตามทางเดินเลยล่ะ 

"ขนมฝรั่งกุฎีจีน"
เป็นขนมลูกครึ่งจีน-ฝรั่ง สัมผัสเหมือนขนมไข่ แต่หน้าของขนมมีลูกเกด ฟัก และน้ำตาลทราย มีความกรอบ ๆ กว่าขนมไข่ทั่วไป และกลิ่นหอมที่อบอวลด้วยการอบในเต่าถ่าน ซึ่งในชุมชนแห่งนี้มี 3 ร้าน ร้านที่เราแวะคือ "ร้านธนูสิงห์" นอกจากนี้ยังมีร้านแม่เป้า และป้าอำพัน ด้วยนะ แอบกระซิบว่าเขามีให้เลือกว่าจะทานทันทีหรือซื้อกลับ ส่วนเราเลือกทานทันที กำลังอุ่น ๆ หอม ๆ เลยล่ะ 

ละสิ่งที่เราทำต่อมา คือเดิน เดินวน เดินไป เดินมา ทะลุตรอกนี้ ไปตรอกโน้น
คือก็อยากเดินดูว่าบ้านแถวนี้เป็นยังไงนะ 
ทางเดินชุมชนนี้ ส่วนมากจะเป็นทางเล็ก ๆ ที่มอเตอร์ไซค์พอขับผ่านไปได้ แต่สวนกันแทบไม่ได้ คิดถูกแล้วที่เดินทางด้วยขนส่งมวลชน 

ละก็เดินเลาะตรงนั้นตรงนี้ไปเรื่อย ๆ แน่สิ แรงเหลือสินะ  พุดดิ้งมะพร้าวอ่อนและขนมฝรั่ง ไม่น้อยเลยล่ะ เพราะงั้นเดินวนไปจนกว่าจะหายอิ่ม และก็วนเล่นจนมาถึงแลนด์มาร์คของชุมชนกุฎีจีน

"วัดซางตาครู้ส (วัดกุฎีจีน)" Santa Cruz Church 
โบสถ์คริสต์เก่าแก่นิกายคาทอลิคสีเหลืองนวลกับคิ้วสีชมพูแดงตุ่น สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคผสมเรเนซองส์ มียอดโดมแปดเหลี่ยมสูงแบบอิตาลี โบสถ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2313 เดิม ๆ เป็นไม้ทั้งหลัง แต่ก็เกิดไฟไหม้เสียหาย และได้บูรณะให้เป็นโครงสร้างปูน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีท่าเรืออยู่ตรงริมแม่น้ำ สามารถเดินชม ถ่ายรูปได้รอบโบสถ์ แต่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด 19 ไม่น่าไว้ใจ จึงปิดประตูงดเข้าชมภายใน (ว๊าาาา) ไม่เป็นไร เดินถ่ายเล่นดูข้างนอกก็เพลินแล้ว

จากนั้น เราก็เดินมาทางศาลาริมน้ำที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ออกมาตรงทางเดินเรียบแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายและเดินตามทางเดินไปเรื่อย ๆ โดยมีวิวเป็นบ้านเรือนอยู่ทางซ้ายมือ มีการปลูกต้นไม้ตกแต่งหน้าบ้าน เดินตามทางคอนกรีตที่มั่นคงขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็ไม่แคบจนระแวงว่าจะตกน้ำ ส่วนขวามือเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และใต้ท้องฟ้าที่ไร้เมฆในวันทำงาน 

ระหว่างเดินก็ดูนั่นนี่ไป จนสะดุดตากับบ้านไม้ขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ด้วยความสงสัยเลยค้นข้อมูลจากสมาร์ทโฟนในมือ นั่นคือ "บ้านวินด์เซอร์" เป็นมรดกตกทอดของ “ตระกูลวินด์เซอร์” ซึ่งเป็นเรือนขนมปังขิง สถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมของยุคนั้น มองจากริมแม่น้ำเข้าไปยังรู้ว่าบ้านแห่งนี้ใหญ่มาก และมีรายละเอียดมากเช่นกัน 

และเราก็เดินไปเรื่อย ๆ จนถึง "ศาลเจ้าเกียนอันเกง"
ศาลเจ้าแม่กวนอิมริมแม่น้ำที่เก่าแก่ที่สุดของฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นไม้สลักที่มีรายละเอียดเยอะและสมบูรณ์มาก ๆ มีจิตรกรรมฝาผนังภาพนูนต่ำ มุงกระเบื้องแบบจีนเดิม ๆ จากเดิมที่ชาวฮกเกี้ยนที่เข้ามาอยู่ในไทยมีวัดแห่งนี้ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ พอย้ายเมืองหลวงไปฝั่งพระนคร ชาวฮกเกี้ยนจึงได้ย้ายไปด้วย และศูนย์รวมจิตใจจึงย้ายไปอยู่ที่ศาลเจ้าโจวซือกงแห่งตลาดน้อย (ติดตามได้จาก ถ่ายรูปเล่น "ตลาดน้อย" เดินเล็ก ๆ แต่ได้ไม่น้อย | README.ME) ด้วยความที่ปัจจุบัน สามารถเข้าไปไหว้ขอพระ แต่ "งดถ่ายภาพ" เราจึงได้แต่ยืนถ่ายภาพจากข้างนอกเท่านั้น

นอกจากรายละเอียดงานไม้แกสลักอลังการข้างนอกแล้ว ภายในคือเทพเจ้า และงานจิตกรรมฝาผนังโบราณจากช่างจีนแท้ ๆ ที่หาดูได้ยาก โดยเป็นเนื้อเรื่อง ละหนึ่งในนั้นคือเรื่อง "สามก๊ก" ที่เรา ๆ คุ้นเคยกัน ณ ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้มีการดูแลในส่วนนี้ หากไปแล้วไม่ต้องเสียใจที่ไม่ได้เก็บภาพไว้ ดูด้วยตาแล้วให้บันทึกในความทรงจำแล้วกัน

จากนั้น เราก็เสี่ยงเซียมซี หยอดเงินบำรุงไว้สักหน่อย และเดินออกจากศาลเจ้าแห่งนี้มา
เดินเลาะทางซ้ายไปเรื่อยจนถึงท่าเรือ "วัดกัลยาณมิตร" เพื่อรอเรือข้ามฟากไปทำธุระฝั่งพระนคร

ชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีที่ให้เยี่ยมชมเพียงเท่านี้ แต่เราไม่ได้แวะเนื่องจากเงื่อนไขเรื่องเวลา 
หากใครแวะเวียนมา ลองเดินต่อ เยี่ยมชม ดูสถานที่อื่น ๆ สิ เช่น...

  • วัดกัลยาณมิตร หรือวัดกัลยา มีหลวงพ่อซำปอกงหรือหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ มากราบไหว้ขอพรกัน
  • เรือนพระยาราชานุประดิษฐ์ (นาค)
  • มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) มัสยิดทรงไทยศูนย์รวมจิตใจของชาวอิสลามในชุมชนกุฎีจีน

ส่วนการเดินทางนั้น สามารถมาได้ทั้งขนส่งมวลชนและรถส่วนตัว

  • รถเมล์ สาย 3, 6, 9, 40, 42, 43, และ 56 ผ่านหน้าโรงเรียนศึกษานารี จากนั้นเดินเข้าซอยกุฎีจีน
  • BTS สถานีสะพานตากสิน ลงทางออก 2 ต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ธงสีส้ม ลงท่าสะพานพุทธเดินข้ามสะพานพุทธไปยังวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
  • MRT สถานีอิสระภาพ แล้วนั่งมอเตอร์ไซค์หรือเดินเข้ามา
  • เรือข้ามฟาก ลงท่าเรือวัดกัลยาณมิตร
  • จอดรถ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือวัดกัลยาณมิตร

JOURNEYMEJOURNEYYOU on Facebook

JOURNEYMEJOURNEYYOU on Instagram

Journeyme Journeyyou

 วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 14.22 น.

ความคิดเห็น