ในชีวิตนี้มีโอกาสหลายครั้งที่จะไปรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ก็ไม่ไปสักที เราคิดว่าเราอยู่ใกล้พระองค์ยังมีโอกาสอีกหลายครั้ง และเราก็ได้ไปในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นการรับเสด็จครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจคืออยากทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบแทนพระองค์
และเราก็ได้รับ "โอกาส" อีกครั้งจาก JetradarTH และ ReadmeTH ในการเดินทางตามรอยพ่อหลวง บทเรียนครั้งที่แล้วสอนไว้ว่า "อย่ามองข้ามโอกาสที่จะทำในสิ่งดีๆ" การเดินทางของเราจึงเริ่มขึ้น
แต่ก็ต้องคิดหนักอยู่ไม่น้อย โครงการต่างๆ ที่พระองค์ทรงทำไว้และสถานที่ที่พระองค์เคยเสด็จไปนั้นช่างมากมายเหลือเกิน เราจึงเลือกสถานที่ที่เราสะดวกเดินทาง มีเรื่องราวที่น่าสนใจสามารถไปแบบไม่ต้องลางานและไม่มีรถส่วนตัว จุดหมายปลายทางครั้งนี้จึงอยู่ที่ "บ้านหนองหล่ม ดอยอินทนนท์"
การเดินทาง
- คนขี่มอเตอร์ไซด์เก่ง ที่อาเขตฯ มีร้านเช่ามอเตอร์ไซด์หลายร้านสะดวกกับคนที่มาโดยรถทัวร์ แต่ถ้ามาโดยเครื่องบิน อย่างร้าน bikky มีบริการส่งรถที่สนามบินด้วยทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้า ถ้าลูกค้าไม่เยอะสามารถไปส่งรถที่สนามบินให้ได้ แนะนำว่าจองรถและควรไปให้ตรงเวลา ช่วงเทศกาลอาจจะต้องรอรถหน่อยเนื่องจากคนเช่ารถมอเตอร์ไซด์ร้านนี้เยอะค่ะ การจองรถล่วงหน้าสะดวกมากๆ เพิ่มเพื่อนใน Line : @Bikkychiangmai ก็จองได้เลย หรืออีกหนึ่งช่องทาง Facebook: Bikkychiangmai
- สำหรับคนที่ไม่อยากขี่มอเตอร์ไซด์ไกล นั่งรถสองแถวสีเหลืองจากประตูเชียงใหม่ไปจอมทอง ลงหน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ฝั่งตรงข้ามวัดจะมีร้านเช่ามอเตอร์ไซด์ Facebook: รถเช่าจอมทอง
- ถ้าขี่รถมอเตอร์ไซด์ไม่เป็น หน้าวัดพระธาตุฯ มีรถสองแถวขึ้นดอยอินทนนท์เหมาะกับการเดินทางหลายๆ คนทั้งในเรื่องของขนาดพาหนะและค่าใช้จ่าย
มาถึงจอมทองเข้าไปสักการะวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร หลังจากห่างหายจากการทำบุญมานานก็ค้นพบว่าตัวเรายังเข้าวัดได้
เราขี่มอเตอร์ไซด์มาจากเชียงใหม่ก้นและขาเริ่มเกิดอาการเหน็บชา อีกทั้งคนขี่ก็เริ่มง่วงเนื่องจากช่วงที่ไปอากาศดีมาก จึงหาร้านกาแฟเพื่อสนองความต้องการของหวานให้ตัวเอง (ไม่ได้เกี่ยวกับความง่วงหรือเหน็บชาใดๆ ทั้งสิ้น)
ร้าน Coffee Ngeggee (คอฟฟี เง็กกี่) ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ ซอยข้างร้านทองพูนสิน มีทั้งเครื่องดื่ม ขนม และอาหารว่าง ที่นั่งมีหลายโซนทั้งในร้าน นอกร้าน และในบ้านให้เลือกนั่งได้ตามความพอใจ ห้องน้ำสะอาด เครื่องดื่มและขนมราคาไม่แพงนัก เป็นจุดแวะพักที่กำลังดีก่อนขึ้นดอยอินทนนท์เราแวะทั้งขาไปและกลับเลยค่ะ
จากจอมทองสู่บ้านหนองหล่ม
***ก่อนขึ้นดอยอินทนนท์ตรวจสอบน้ำมันให้เรียบร้อย เพราะบนดอยอินทนนท์ที่เที่ยวเยอะมากๆ***
บ้านหนองหล่มอยู่ระหว่างทางขึ้นดอยอินทนนท์กิโลเมตรที่ 23 ให้สังเกตทางขวามือจะมีป้ายบอกทาง
จากปากทางเข้าไป 3.5 กิโลเมตรจะถึงบ้านหนองหล่ม จากบ้านหนองหล่มไปอีก 3.5 กิโลเมตรเป็นบ้านผาหมอน ทั้งสองหมู่บ้านเป็นสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทรงงานและเยี่ยมเยือนราษฎรอยู่บ่อยครั้ง เส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง บางช่วงยังเป็นถนนดินทางสะดวกมีขรุขระบ้าง แล้วเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาล่ะ? เส้นทางคงลำบากกว่านี้มากแน่ๆ
การท่องเที่ยวที่บ้านหนองหล่มเป็น "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" คือชุมชนเป็นคนบริหารจัดการทุกคนในหมู่บ้านมีสิทธิเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้ามาแล้วต้องเคารพและให้เกียรติ กฎกติกาที่ชุมชนกำหนด รวมไปถึงประเพณี วัฒนธรรม และผู้คนในท้องถิ่น เราติดต่อจองบ้านพักไว้กับคุณโอ๊ต (ข้อมูลการติดต่อจะใส่ให้ที่ท้ายรีวิวนะคะ) ที่นี่ไม่มีจุดกางเต็นท์ ยังไม่เปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวบ้านต้องการความสงบ ในหมู่บ้านจึงมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดียวคือบ้าน "ยาเดอนา" ชื่อบ้านพักฟังแล้วออกไปทางภาษาฝรั่งเศส แต่ในภาษาปกาเกอะญอมีความหมายว่าที่น่ารักว่า "You & Me" บ้านอยู่บนเนินทำให้เราไม่ค่อยไปไหนเพราะจากถนนเดินขึ้นบ้านมีเหนื่อย รับนักท่องเที่ยวแค่ครั้งละหนึ่งกลุ่ม ไม่ว่าจะมาคนเดียว สองคน หรือเป็นกลุ่มไม่เกิน 6 คน ดังนั้นราคาที่พักขึ้นอยู่กับจำนวนคน
เราตื่นเต้นกับบ้านพักมากๆ ที่คิดไว้คือเป็นแนวโฮมสเตย์ไม่คิดว่าหมู่บ้านเล็กๆ จะมีที่พักสวยงามขนาดนี้ เป็นบ้านสองชั้น ชั้นบนมีสองห้องนอน 2 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องโถงนั่งเล่นนอนเล่นได้สบายใจ
ห้องน้ำและห้องอาบน้ำแยกกันเป็นสัดส่วน ถ้าหมุนฝักบัวอาบน้ำถูกจะมีน้ำอุ่นให้อาบ ซึ่งเป็นน้ำอุ่นจากพลังงานแสงอาทิตย์ เราไปกันสองคน คนหนึ่งได้อาบน้ำอุ่น คนหนึ่งได้อาบน้ำเย็น คนๆ นั้นคือเราเอง ^^
ชอบที่วางเครื่องเป่าผมมาก วันไหนจะทำต้มยำก็มาตัดไปใช้ได้ ^^
มาดูชั้นสองกันบ้าง... มองจากหน้าต่างออกไปจะเห็นวิวแบบนี้
ห้องนอนมี 2 ห้อง 3 เตียง ตกแต่งด้วยเครื่องจักสารได้สวยงามแปลกตา เราเกิดทันใช้ของพวกนี้หมดไม่ว่าจะเป็นซุ่มไก่ กระด้ง ไทรหรือลอบดักปลาเนี่ยแหละก่อนที่ภาชนะพลาสิกจะเข้ามาแทนที่ ทำให้คิดถึงบ้านย่าสมัยก่อน
ในบ้านพักไม่มีพัดลมเพราะอากาศเย็นสบายตลอด ไม่มีทีวี ไม่มี Wifi ทำให้เราได้ซึมซับกับบรรยากาศและผู้คนได้อย่างเต็มที่ ส่วนอาหารการกินของเรามีพี่จีเป็นคนทำให้ ครัวอยู่ข้างบ้านพัก เมนูอาหารก็ให้พี่จีเป็นคนแนะนำว่าอะไรอร่อย อยู่ที่นี่เรากินผักได้เยอะมากๆ เพราะเป็นผักที่ส่งโครงการหลวง ผักสดน่ากิน กับข้าวที่พี่จีทำให้เราสองคนจัดหนักจัดเต็มมากๆ และหมดเกลี้ยงทุกมื้อ ^^
มื้อเที่ยงที่พี่จีทำให้กินสำหรับสองคนค่ะ ผัดพริกหมู ต้มแซ่บ และผัดลูกซาโยเต้ (ฟักแม้ว, มะระหวาน) ซึ่ปกติเราไม่กินพริกหวานเลยค่ะ แ่ต่จานนี้เกลี้ยง ^^
สี่โมงเย็นอากาศที่นี่ก็เริ่มเย็นแล้ว เราขี่มอเตอร์ไซด์เข้าไปหาร้านค้าในหมู่บ้าน ถือโอกาสเป็นการสำรวจหมู่บ้านไปด้วย ก่อนถึงหมู่บ้านมีแปลงผักที่คลุมด้วยโดมพลาสติกพรุ่งนี้คงได้รู้ว่ามีผักอะไรบ้าง เราเห็นนาขั้นบันไดที่ผ่านฤดูการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ถ้ามาที่นี่ในฤดูทำนาคงได้เห็นนาขั้นบันไดสีเขียวๆ ชาวบ้านที่นี่ดูมีความสุขดี ตกเย็นอุ้นลูกหลานออกมาวิ่งเล่นสนุกสนานกันใหญ่
เรากลับมากินมื้อเย็นกันอีกครั้งทิ้งห่างจากมื้อที่แล้วไม่นานมากเนื่องจากพี่จีอยู่อีกหมู่บ้านเราไม่อยากรบกวนพี่จีจนดึก และอีกเหตุผลคือเรามีนัดจากคำเชิญชวนของพี่สิทธิ์ (สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์) ผู้ที่เป็นทั้งเกษตรกร, มัคคุเทศก์และนักวิจัยท้องถิ่นให้ไปพูดคุยที่บ้าน ค่ำคืนนี้พวกเราจะได้ฟังเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จมายังหมู่บ้านหนองหล่มและบ้านผาหมอน
มื้อนี้มีแต่ผักไม่มีเนื้อสัตว์เลยกะเพราเห็ดและผัดบร็อคโคลี่ เราไม่ทำให้พี่จีผิดหวังเพราะหมดเกลี้ยงอีกเช่นเคย อยู่ที่นี่หลายวันตัวต้องแตกแน่ๆ ผักก็ผักเถอะกินเยอะก็อ้วนได้ ดูช้างสิ
ประมาณหนึ่งทุ่มพวกเราก็เตรียมตัวไปบ้านผาหมอนตามคำเชิญชวนของพี่สิทธิ์ ระยะทางจากบ้านหนองหล่มไปบ้านผาหมอนเพียง 3.5 กิโลเมตร แต่เป็น 3.5 กิโลเมตรที่มืดสนิทไม่มีไฟทาง ระยะที่มองเห็นเท่ากับระยะไฟส่องสว่างจากรถมอเตอร์ไซด์ อากาศหนาวมาก มีบางช่วงที่คิดว่ามาทำอะไรเนี่ย? ความกลัวมีแต่ความอยากรู้มีมากกว่า เราลืมถามว่าบ้านพี่สิทธิ์อยู่ตรงไหน ถามทางมาเรื่อยๆ รอยยิ้มคงเป็นสิ่งที่แสดงให้คนที่นี่เห็นว่าเรามาดี
มาถึงบ้านพี่สิทธิ์กำลังทำกับข้าวและชวนกินข้าวอีกครั้ง เราบอกว่าทานมาแล้วแต่ก็ไม่ปฎิเสธ ฮ่าๆๆ วันนี้มีพี่ไก่และครอบครัวมาร่วมวงด้วย สิ่งที่เราต้องการเวลาไปเที่ยวคือการได้นั่งพูดคุยกับคนในพื้นที่ สิ่งนี้จะทำให้เราได้อะไรมากกว่าการมาเที่ยว อย่างน้อยๆ คือ "มิตรภาพ"
จากกาแฟต้นแรกสู่ความสุขที่พอดี
พี่สิทธิ์เล่าให้พวกเราฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมายังหมู่บ้านหนองหล่มปี พ.ศ. 2517 ยังไม่มีถนนต้องเดินเท้ามาเท่านั้น เป็นช่วงที่ดอยอินทนนท์เกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาทางการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมป่ารอบหมู่บ้านถูกทำลาย ปัญหาสังคมชาวบ้านติดฝิ่นจำนวนมาก พี่สิทธิ์เล่าต่ออีกว่าตอนเด็กลำบากมากได้กินข้าววันละมื้อเสื้อผ้ามีคนละชุด ไม่มีเสื้อกันหนาว พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ทรงถามคุณตาพะโย่ (ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น) ว่าที่นี่อยู่กันอย่างไร? ข้าวพอกินไหม? คุณตาพะโย่บอกว่าไม่พอต้องไปรับจ้างเพิ่ม พอพระองค์ทรงทราบว่ามีต้นกาแฟจึงให้พาไปดู ซึ่งต้องเดินเท้ากว่าครึ่งชั่วโมง ต้นกาแฟที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรนั้นมีอยู่ต้นเดียว และทรงรับสั่งให้ชาวบ้านปลูกกาแฟแทนฝิ่น
ชาวบ้านได้ถวายเมล็ดกาแฟให้พระองค์เพื่อนำไปเสวย แต่หลังจากนั้น 1 ปี เมล็ดกาแฟที่ชาวบ้านได้ถวายไปก็กลับมาเป็นต้นกาแฟให้ชาวบ้านได้ปลูก
หลังจากนั้นก็มีโครงการต่างๆ จากภาครัฐได้เข้ามาพัฒนานำพืชผักต่างๆ มาให้ปลูกจนชาวบ้านมีอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่สิ่งที่หายไปคือความอดอยากและฝิ่น
ส่วนปัญหาข้าวไม่พอกิน ปี 2519 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานธนาคารข้าวโดยที่พระองค์นำมาให้ส่วนหนึ่ง และชาวบ้านทุกครัวเรือนมาช่วยกันออมใครจะบริจาคก็ได้ ส่วนคนที่มายืมข้าวหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวต้องนำข้าวมาคืนโดยมีดอกเบี้ยนิดหน่อย เช่น ยืมไป 5 ปี๊ป ดอกเบี้ย 1 ปี๊ป เป็นต้น
จากการพูดคุยกับพี่สิทธิ์เรามองเห็นการแก้ปัญหาของพระองค์ด้วยความยั่งยืน จากหมู่บ้านที่ข้าวไม่พอกิน ชาวบ้านทำไร่ฝิ่นและติดฝิ่น ป่าไม้ถูกทำลาย มาวันนี้กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีพืชผักให้ปลูกให้กินหลายชนิด สิ่งแวดล้อมสวยงาม มีการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง รายได้จากการท่องเที่ยวนำไปสู่การศึกษาและการพัฒนาชุมชน ชาวบ้านเลี้ยงตัวเองได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับธรรมชาติ ด้วยโครงการที่พระองค์ทำไว้ให้ สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือชาวบ้านที่นี่อยู่ด้วยความพอเพียง เลือกที่จะอยู่กับความสงบมีความสุขแบบพอดี...นี่คือความสุขที่สุดแล้ว
คืนนี้เราเห็นดาวชัดกว่าทุกคืน เช่นเดียวกันสิ่งที่เราสงสัยมาโดยตลอดว่าทำไมพระองค์ถึงต้องทรงงานหนัก สิ่งที่เราเพิ่งรับรู้มาก็ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น
มื้อเช้าพี่จีทำข้าวต้มไว้ให้เติมพลังก่อนลุย เพราะเราจะเดินไปดูกาแฟต้นที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาทอดพระเนตรโดยมีพี่จีเป็นคนพาไป
พี่จีถามเราว่าจะขี่รถมอเตอร์ไซด์หรือจะเดิน เราเลือกเดินค่ะเพราะความช้าน่าจะทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น
นี่คือกาแฟต้นแรก จุดกำเนิดของกาแฟต้นอื่นๆ ที่ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟและเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านที่นี่ เราคิดว่าคงไม่มีโอกาสเห็นแล้วเพราะเหตุการณ์นั้นผ่านมาตั้ง 43 ปี ชาวบ้านที่นี่รักษาต้นกาแฟต้นนี้ไว้เป็นอย่างดี คุณตาพะโย่ป่วยเราจึงไม่ได้พูดคุยเพราะไม่อยากรบกวนท่าน
ผลผลิตจากความรัก
ถ้ามาตรงกับช่วงที่บ้านใดบ้านหนึ่งทอผ้าก็จะมีโอกาสได้เข้าชม ที่นี่ไม่มีการจัดการทอผ้าขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยว เรากำลังเดินไปดูแปลงผักซึ่งอยู่ทางเข้าหมู่บ้านระยะทางเดินไม่ไกลมาก พ่อหลวงกิตติศักดิ์ (ผู้ใหญ่บ้าน) ผ่านมาพอดีจึงขับรถพาเราไปดูโรงเพาะเห็ดพอร์โทเบลโล ท่องชื่ออยู่นานเลยนะกว่าจะจำได้
พ่อหลวงกิตติศักดิ์อธิบายการเพาะเห็ดให้เราฟัง วิธีการค่อนข้างยุ่งยาก แต่ที่น่าเสียดายคือผลผลิตจากตรงนี้ส่งออก ถ้าโครงการนี้เป็นไปด้วยดีผลผลิตเยอะคนไทยคงได้กินเห็ดพอร์โทเบลโลที่ปลูกโดยคนไทย รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ทดลองปลูกค่ะ ในอินทนนท์มี 3 ที่ที่ทำโครงการคือ บ้านหนองหล่ม ขุนวาง และอ่างขาง
จากโรงเพาะเห็ดเราเดินไปดูแปลงผักกันต่อ ชาวบ้านที่นี่ปลูกซูกินี่ พริกหวาน มะเขีอเทศ ผักกาดหอม ฯ มีแปลงดอกยิปโซด้วย
เดินมาถึงแปลงผักกาดแก้ว หอมมากๆ อยากได้น้ำสลัดเดี๋ยวนั้นเลย
แปลงพริกหวาน
ดอกยิปโซน่ารักมากค่ะ คุณลุงคนที่กำลังดูแลต้นยิปโซก็น่ารักเช่นกัน อนุญาตให้เราถ่ายดอกไม้ได้ตามสบาย
เราเดินกลับเข้าหมู่บ้านได้ยินเสียงเพลงดังมาจากบ้านหลังหนึ่ง แม้ไม่ใช่ทำนองแบบต้นฉบับเราก็จำได้ว่าเพลงอะไร "น้ำฝนหลั่ง ลงมาจากฟ้าแดนไกล พืชพันธุ์ไม้ ชื่นยืนยง" ทำให้เราอดนึกถึงพระองค์ไม่ได้ น้ำพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 คงเป็นเหมือนดังสายฝนสำหรับที่นี่และทุกที่ที่ประชาชนของพระองค์อาศัยอยู่
เส้นทางแห่งความสุขที่ดอยอินทนนท์
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์
ดอยอินทนนท์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอีกมากมาย ช่วงที่เราไปดอกพญาเสือโคร่งที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์เริ่มบานพอดี เราไม่พลาดแน่นอน
การเดินทาง
เส้นทางเดียวกับทางขึ้นดอยอินทนนท์ ถ้ามาจากจอมทองขี่มาตามถนนเส้น 1009 ประมาณกิโลเมตรที่ 30 ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จะมีป้าย "บ้านขุนกลาง-บ้านขุนวาง" ทางขวามือ ให้เลี้ยวขวาเข้าสู้ถนนเส้น 1284 ตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 8 กิโลหน่อย ตามเส้นทางจะ โรงเรียนบ้านขุนกลาง ผ่านลานกางเต๊นท์ของอุทยานฯ ดอยชัวญ่ า เส้นทางคดเคี้ยวเล็กน้อยถนนดี ตรวจสอบน้ำมันรถให้ดีนะคะ เราขี่มอเตอร์ไซด์ไปน้ำมันเกือบหมด หลังจากเลี้ยวเข้าถนนเส้น 1284 มาแล้วปั้มน้ำมันหายาก ภายในมีอาหารทานเล่น และของที่ระลึกขาย มาเที่ยวต้องเคารพกฎของสถานที่ด้วยนะคะ ถ่ายรูปกับดอกไม้อย่าเด็ด อย่าดึง แบ่งปันความงดงามที่มีแค่ปีละครั้งให้แก่ผู้อื่นได้ชมด้วย
ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ นอกจากจะมีดอกพญาเสือโคร่งให้ชมแล้ว ยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีดอกกล้วยไม้รองเท้านารีสวยๆ ใช้ชมมากมาย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน
เปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00 - 16.00 น. ต้องมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง 200 บาทต่อไกด์ 1 คน เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและมากไปกว่านั้นตลอดการเดินศึกษาธรรมชาติจะได้รับความรู้ไปด้วย ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร รวมทั้งไปและกลับเราใช้เวลาในการเดิน 2 ชั่วโมง ทางเดินสะดวกสบายไม่ชันมากค่ะ แต่ถ้าเดินไม่พักเลยก็เหนื่อยน จุดที่เราชอบที่สุดคือทุ่งหญ้าเมืองหนาวสีท อง เพราะเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ สามารถมองเห็นวิวได้กว้างไกล
จุดชมทิวทัศน์ที่คนส่วนใหญ่มาแวะถ่ายรูป มองไปด้านหน้าจุดที่มีควันไฟคืออำเภอแม่แจ่ม
ตรงผาแง่มน้อย ถ้าเราโชคดีจะสามารถมองเห็นกวางผาเป็นสัตว์สงวนหายากใกล้สูญพันธุ์
กุหลาบพันปีสีแดงจะออกดอกให้ชมในช่วงฤดูหนาว
อีกจุดชมวิวหนึ่งก็สวยงามไม่แพ้กันเราสามารถมองเห็นพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและนภพลภูมิสิริทั้งสององค์ได้แบบชัดเจน
เราถามพี่ลูไกด์ท้องถิ่นของเราว่า "พระมหาธาตุเจดีย์อันไหนของในหลวง อันไหนของพระราชินิ" พี่ลูตอบกลับมาว่า "อันบน (สีน้ำตาล) ของพ่ออีกอันของแม่" จากเรื่องราวที่บ้านหนองหล่ม เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนที่นี่ถึงเรียกในหลวงและพระราชินิว่า "พ่อและแม่"
พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและนภพลภูมิสิริ
อยู่ไม่ไกลจากเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ขี่ย้อนลงมาหน่อยจะพบทางเข้า เสียค่าเข้าชมคนละ 50 บาทค่ะ พระมหาธาตุเจดีย์ทั้งสององค์กองทัพอากาศได้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระรบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนพรรษาครบ 5 รอบ
พระมหาธาตุนภเมทนีดลมีความหมายว่า "พระสธูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจรดดิน" สร้างถวายให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 9
พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูสิริมีความหมายว่า "เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริแห่งดิน" สร้างถวายให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
แสงของพระอาทิตย์ตกสาดกลับมายังพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูสิริสวยงามมากๆ เราจึงนั่งดูพระอาทิตย์ตกที่นี่
******************************************************
จากแผ่นดินที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ความอดอยากของประชาชน ข้าวไม่พอกิน ป่าไม้ถูกทำลาย ผ่านมา 43 ปี ผลผลิตจากสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พระองค์และชาวบ้านที่นี่ทำให้เราเห็นว่า การใช้ชีวิตที่พอเพียง เสียสละเพื่อส่วนรวม แค่นี้ก็ทำให้มีความสุขแล้วเป็นสิ่งเราจะนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน
....ความสุขแบบพอดี พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น...
ขอขอบพระคุณ พี่สิทธิ์ พี่จี พี่โอ๊ต พี่ไก่ และทุกคนที่บ้านหนองหล่ม บ้านผาหมอน
ขอบพระคุณ JetradarTH และ ReadmeTH ที่เปิดโอกาสให้สิ่งดีๆ เพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9
ขอบคุณทุกคนที่ร่วมเดินทางและอ่านรีวิวของเราจนมาถึงตรงนี้
ร่วมสนับสนุนการทำความดี ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อพ่อหลวงของเรา
โดย "Jetradar.co.th" และ "Readme.me"
******************************************************
ติดต่อจองบ้านพักได้ที่ 081-166-4344 คุณโอ๊ต หรือทาง Facebook: บ้านผาหมอน ดอยอินทนนท์
และติดตามการเดินทางของเราได้ที่ Keep Going
แป้งเจอนี่เจอนั่น
วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 00.13 น.