เห็น Facebook TAT Bangkok (https://www.facebook.com/tatbangkok) โพสต์ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเดินท่องเที่ยวชุมชนย่านบางลำพู “เสนาะเสียง เสน่ห์แสง แห่งย่านบางลำพู” สมัครร่วมกิจกรรม 8 รอบเท่านั้น พิเศษ! ได้ขึ้นชมฐานแรกของป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ วันที่ 25-26 มิย. 65 พบกัน พิพิธบางลำพู
ก็สมัครทันทีแบบไม่ลังเลใจ เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนเราเคยร่วมกิจกรรมเดินทัวร์ย่านบางลำพู โดยไกด์เด็กบางลำพู แล้วประทับใจมากกกกกกกก ทั้งที่ดูแล้วกิจกรรมครั้งนี้น่าจะน้อยกว่าครั้งก่อนและเสียเงิน 300 บาทด้วย (ครั้งก่อนฟรี)
แต่เป็นเงินที่เอาไว้สนับสนุนกิจกรรมของ "ไกด์เด็กบางลำพู" และที่สำคัญคือได้ขึ้นชมฐานป้อมพระสุเมรุที่ไม่เคยเปิดให้ใครขึ้นชมใาก่อนด้วยน่ะสิ แบบนี้จะพลาดได้ไง ก็เลยรีบสมัคร รีบโอน ก่อนที่จะเต็มซะก่อน เพราะเขารับรอบละ 20 คนเท่านั้นเอง
เราเลือกสมัครรอบที่ 3 เวลา 17.00 - 18.30 น. วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 เพราะช่วงบ่ายถึงบ่าย 3 ต้องไปร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ “เรียนรู้ศิลปะสมัยใหม่ของไทย สู่รากฐานการอนุรักษ์งานศิลปะ” แถวๆ นั้นอยู่แล้ว ก็เลยออกวันเดียวให้จบๆ
จบกิจกรรมตอนบ่าย 3 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตรงข้ามมาบุญครอง ก็นั่งรถเมล์สาย 15 ต่อเดียวมาถึงบางลำพูเลย ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง ... ตั๋วรถเมล์เลขสวยดี ไม่ได้ใบ้หวยน้าาา
มาถึงก่อนเวลา 1 ชั่วโมง หาอะไรกินก่อน
ก๋วยเตี๋ยวเป็ดแห้ง ร้านฮ่องกงนูดเดิ้ล อยู้ตรงหัวมุมแยกบางลำพู
กินเสร็จก็เดินไปที่พิพิธบางลำพู เพื่อลงทะเบียนก่อนเวลา 20 นาที (เขานัดไว้แบบนั้น)
ลงทะเบียนแล้วเข้าไปนั่งตากแอร์รอในพิพิธบางลำพู (https://www.facebook.com/pipitbanglamphu) ชั้นล่างเป็นส่วนที่ให้ชมฟรี
วันเวลาทำการ
วันอังคาร - วันศุกร์
8.30 - 16.30 น.
รอบเข้าชมรอบสุดท้าย 15.00 น.
วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
10.00 - 18.00 น.
รอบเข้าชมรอบสุดท้าย 16.00 น.
อัตราค่าเข้าชม
บุคคลทั่วไป บัตรราคา 50 บาท
เด็ก/นักเรียน อายุ 10-18 ปี บัตรราคา 20 บาท
บุคคลที่ยกเว้นค่าเข้าชม :
ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
ข้อมูลจาก http://banglamphumuseum.treasury.go.th/
แนวกำแพงเมืองอยู่ในส่วนของ "ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์"
ถึงเวลา 5 โมงเย็น รวมตัวกันที่หน้าประตูทางเข้าพิพิธบางลำพู ตรงจุดที่ลงทะเบียน
น้องๆ ไกด์เด็กบางลำพูเล่าประวัติของป้อมพระสุเมรุและพิพิธบางลำพู ตั้งแต่สมัยที่เป็นพระนิเวศน์ของรัชกาลที่ 1 ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่วังหน้าแล้วยกให้กรมหลวงจักรเจษฎา --> กรมธนารักษ์ --> กระทรวงศึกษาธิการเช่าพื้นที่เปิดโรงพิมพ์คุรุสภา
มีโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช เป็นโรงเรียนการพิมพ์แห่งแรกของไทยอยู่ที่นี่ด้วย น้องไกด์ฯ บอกว่ายังมีอาคารเหลือให้ชมอยู่ด้านใน ไว้วันหลังต้องมาชมแบบเจาะลึกสักทีละ
หลังโรงพิมพ์ถูกปิดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลก ที่นี่ก็กลายเป็นตึกร้างมานาน และจะถูกรื้อทิ้ง แต่ชาวบ้านแถวนี้ไม่เห็นด้วย เลยร่วมแรงร่วมใจกันมานั่งเรียกร้องคัดค้านการรื้ออาคารที่ริมถนน จนอาคารนี้ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร มีการบูรณะซ่อมแซมมาตลอดจนกลายมาเป็นพิพิธบางลำพูนั่นเอง
น้องๆ พาเดินไปที่ชุมชนเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ ระหว่างทางมีปั๊ม ปตท.ที่เคยเป็นโรงละครร้องแม่บุนนาค ที่ใช้นักแสดงหญิงล้วน แต่พอถึงยุคที่มีโรงหนังเปิดกันเยอะๆ โรงละครนี้ก็ปิดตัวลง กลายเป็นโรงถ่าน และปั๊มน้ำมัน
เริ่มที่ตรอกไก่แจ้กันก่อน
ชื่อชุมชนมาจากการที่คนเดินผ่านไปผ่านมาไม่รู้จะเรียกแถวนี้ว่ายังไง เลยเรียกชื่อตามกังหันบอกทิศทางลมรูปไก่แจ้ที่อยู่บนหลังคาบ้านพระนิติธานภิเษก
แต่ไม่ใช่หลังนี้นะ บ้านของพระยานิติธานภิเษกถูกรื้อไปแล้ว บ้านตระกูลอำพันเจอกังหันลมนี้ตอนปรับปรุงบ้าน ก็เลยเอามาติดให้ดูเป็นตัวอย่าง น่ารักจริงๆ
ภาพสตรีทอาร์ตชุดใหม่ "แม่เปี๊ยก บ้านปักชุดโขนชุดละคร"
แต่ก่อนไม่ใช่รู่ปนี้ แต่ต้องทำใหม่เพราะโดนบอมบ์งานจากคนเมา
ดูคลิปคำขอโทษจากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาพ่นสี
หรือที่เรียกว่า "การบอม" ทับงานภาพวาดชุมชน ... จากเพจเสน่ห์บางลำพู https://www.facebook.com/watch...
สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ผู้สนับสนุนไกด์เด็กบางลำพู
แผนที่บอกเล่าเรื่องราวของบางลำพู ใครไม่รู้จะเดินไปชุมชนไหน ก็มาดูแผนที่ตรงนี้ได้
ชุมชนในย่านบางลำพูมี 7 ชุมชน
- ชุมชนเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ (เด่นเรื่องการทำชุดโขน-ละคร)
- ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ (เด่นเรื่องการทำทอง)
- ชุมชนวัดสังเวช (เด่นเรื่องบ้านดนตรีไทยดุริยประณีต)
- ชุมชนวัดสามพระยา (เด่นเรื่องขนมข้าวต้มน้ำวุ้น)
- ชุมชนวัดใหม่อมตรส (เด่นเรื่องการแทงหยวกและเชิดสิงโต)
- ชุมชนบ้านพานถม (เด่นเรื่องการทำขันน้ำพานรอง)
- ชุมชนบวรรังษี (เด่นเรื่องการทำทองคำเปลว)
ภาพ "น้องประสิทธิโชค" และ "ขนมเกสรลำพู"
หัวโขนหนุมานแบบร่วมสมัย มีหุ่นยนต์อยู่ข้างใน เป็นการประยุกต์รวมของอดีตกับปัจจุบัน
กราฟิตี้ของทีมฟ้อนต์สวัสดี คำว่า "Banglamphu" (บางลำพู)
น้องๆ พาเดินเข้าซอยลับที่ทะลุออกชุมชนเขียนนิวาสน์ แต่ไม่แนะนำให้มาตอนมืดๆ นะ มันเปลี่ยว
บ้านแม่เปี๊ยกที่ปักชุดโขนชุดละครในภาพสตรีทอาร์ต อยู่ในชุมชนเขียนนิวาสน์ แต่ไม่ได้เข้าไป เพราะแม่เปี๊ยกอายุมากและไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าจะชมงานปักชุดก็ชมได้ที่แม่อ้อย (ลูกสะใภ้แม่เปี๊ยก) ที่ทำเวิร์กช็อปที่พิพิธบางลำพู
ชื่อชุมชนเขียนนิวาสน์มาจากชื่อโรงเรียนเขียนนิวาสน์ ที่ก่อตั้งโดย ม.ล.เติม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แต่ต้องยุบโรงเรียนเพราะไม่มีคนสืบทอด ตอนนี้เป็นหมู่บ้านจัดสรรไปแล้ว
ระหว่างทางเดินไปสวนสันติชัยปราการ มีซุ้มประตูวังเก่า แนวกำแพงพระนคร
ศาลที่เห็นนี้คือ ศาลกรมหลวงจักรเจษฎา (พระอนุชาของรัชกาลที่ 1) คนในชุมชนจะจัดงานประจำปีรำถวายให้กับท่าน
ตึกสีเขียวแดงทั้งหมดเป็นที่ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีร้านอาหารอร่อยๆ เรียงรายทั้งใหม่และเก่า เช่น ร้านพัวกี่ ร้านครัวนพรัตน์ ร้านมะตะบะ ฯลฯ
เดินขึ้นสู่สวนสันติชัยปราการ
ประติมากรรมวิถีชีวิตคนในย่านบางลำพูสมัยก่อนในแต่ละยุคสมัย
น้องๆ เล่าเรื่องที่มาของบางลำพูและต้นลำพู
ขนม “เกสรลำพู” ทำจากมันม่วง ข้างในเป็นไส้นม ใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล ที่พัฒนามาจากขนมไร้กังวลในซีรีย์จีน
แต่ละคนได้ลายไม่เหมือนกัน มีทั้งหมด 9 ลาย เป็นวัฏจักรของบางลำพู เราได้ลายป้อมพระสุเมรุ
น้องๆ รับพรีออเดอร์ที่เพจเสน่ห์บางลำพู https://www.facebook.com/sanae...
ภาพลายทั้ง 9 แบบจากเพจเสน่ห์บางลำพู คลิกดูรายละเอียดของขนมเกสรลำพูที่นี่ https://www.facebook.com/13754...
ติดตามเรื่องราวของพระที่นั่งสันติชัยปราการ บรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระราม 8 อาคารเก่าแก่ริมแม่น้ำ และประวัติความเป็นมาป้อมพระสุเมรุ พร้อมกับขึ้นชมรอบฐานชั้นแรกของป้อมพระสุเมรุที่เป็นไฮไลต์ของกิจกรรมวันนี้ได้ในตอนต่อไปน้าาาาา
(อ่านตอนที่ 2 https://th.readme.me/p/41598)
Read.Trip หยิบใส่เป้
วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 16.32 น.