
(อ่านตอนที่ 1 https://th.readme.me/p/41118)
หลังจากนั่งพักชิมขนมเกสรลำพูกันแล้ว น้องๆ ก็พามาชมพระที่นั่งสันติชัยปราการ แล้วก็นั่งพักชิลๆ ชมบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระราม 8 อาคารเก่าแก่ริมแม่น้ำ ที่ลานแอโรบิก ก่อนจะเดินขึ้นชมรอบฐานชั้นแรกของป้อมพระสุเมรุที่เป็นไฮไลต์ของกิจกรรมวันนี้
จะเป็นยังไง ตามมาเลยจ้าาาาา
สวนสันติชัยปราการ เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชนเมืองขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 8 ไร่
ถึงจะเป็นสวนสาธารณะเล็กๆ แต่ก็มีจุดเด่นตรงที่มีวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงาม ผู้คนเลยชอบมานั่งพักผ่อน ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น ชมวิวแม่น้ำที่ฝั่งตรงข้ามเป็นตึกโบราณ สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และเห็นสะพานพระราม 8 ได้อย่างชัดเจน
ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน สวนสันติชัยปราการแห่งนี้ก็ยังเป็นที่ที่คนนิยมมาชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคกันอีกด้วย

พระที่นั่งสันติชัยปราการ สร้างด้วยไม้ทั้งหมดและแกะสลักลวดลายสวยงามด้วยช่างฝีมือไทย
จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 5 ธันวาคม 2542
พระที่นั่งพระองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ในการทอดพระเนตร ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เฝ้า ฯ รับเสด็จที่พลับพลาที่ประทับในพระที่นั่งสันติชัยปราการแห่งนี้ด้วย
-------------------------
ประมวลภาพประวัติศาสตร์ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค https://www.bangkokbiznews.com/news/858066

พื้นที่สวนสาธารณะสร้างขึ้นในครั้งที่จัดสร้างพระที่นั่งสันติชัยปราการและมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ป้อมพระสุเมรุ (เป็น 1 ใน 2 ป้อมปราการสำคัญที่เหลืออยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ อีกป้อมคือ ป้อมมหากาฬ)
นอกจากจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังเป็นที่จัดงานต่างๆ อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม งานประเพณี และงานส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น งานครบรอบ 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์, ดนตรีในสวน, เทศกาลวันลอยกระทง ฯลฯ
คนในชุมชนนิยมมาทำกิจกรรมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานวันพ่อ วันแม่ งานประจำปี เทศกาลสงกรานต์จะมีการอัญเชิญพระพุทธบางลำพูมาให้ชาวบางลำพูสรงน้ำ
ลักษณะพิเศษของสวนสันติฯ คือ ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าติดถนน และอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์

ชมแสงพระอาทิตย์อัสดง
ลับลง ณ ชายคาพระที่นั่ง
ยอแสง ลดแรงร้อน อ่อนพลัง
ที่ริมฝั่งเจ้าพระยา พาเย็นใจ

ไกด์เด็กพาผู้ร่วมกิจกรรมมานั่งพักที่ลานแอโรบิก และเล่าความเป็นมาของสิ่งรอบๆ ตัว
ถ้ามองไปฝั่งตรงข้าม เราจะเห็นตึกโบราณสีเหลือง ซึ่งไกด์เด็กบอกว่า คือ "เจ้าพระยาพาลาซโซ" เป็นโรงแรมสไตล์บูติกเฮาส์ สมัยก่อนเป็นบ้านของพระยาชลภูมิพานิช (บ้านบางยี่ขัน) สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรม นายปานจิต เอนกวนิช ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 7 ก็โอนกรรมสิทธิที่ดินให้กลุ่มมุสลิมบางกอกน้อยเพื่อเปิดเป็น "โรงเรียนราชการุณ" เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนให้กับเด็กด้อยโอกาส แต่ก็ต้องปิดตัวลงเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี
ต่อมาก็ได้เปิดใหม่เป็น "โรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา" (โรงเรียนอาชีวะชื่อดังที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง 4KINGS) และถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน จนมีการบูรณะและเปลี่ยนมาเป็นโรงแรมเจ้าพระยาพาลาซโซ ที่แปลว่า คฤหาสห์ของพระยาชลภูมิพานิช

ไกด์เด็กรุ่นพี่เตรียมส่งต่อไมค์ให้ไกด์เด็กรุ่นน้องแนะนำลานแอโรบิกสวนสันติชัยปราการ

#ไกด์เด็กบางลำพู ช่วยกันทำงานขยันขันแข็ง

มองเห็นสะพานพระราม 8 ตัั้งตระหง่าน
สะพานพระราม 8 สร้างขึ้นจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาล 9 ในครั้งที่ทรงเสด็จไปเยี่ยมสมเด็จย่าที่ รพ.ศิริราชแล้วเจอปัญหารถติด จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานแห่งนี้ในปี 2538
ทรงพระราชทานชื่อว่า "สะพานพระราม 8" เพื่อระลึกถึงในหลวง รัชกาล 8 โดยมีอนุสาวรีย์ รัชกาล 8 ตั้งอยู่ฝั่งโน้นด้วย

วิวแม่น้ำฝั่งสะพานพระราม 8
น้องๆ ไกด์เด็กเล่าว่า บริเวณสะพานพระราม 8 อีกฝั่ง ในอดีตเคยเป็นโรงสุราบางยี่ขัน ที่ดังมากๆ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1
สุนทรภู่เคยเขียนถึงโรงสุราบางยี่ขันไว้ในนิราศภูเขาทองด้วย
"ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน"

วิวแม่น้ำบริเวณลานแอโรบิค

ผู้ร่วมกิจกรรมวันนี้ นั่งฟังน้องๆ ไกด์เด็กบางลำพูเล่าเรื่องสวนสันติฯ อย่างตั้งอกตั้งใจ

วันนี้เป็นวันแรกที่มีการเปิดให้ขึ้นชมฐานแรกของป้อมพระสุเมรุ ซึ่งเปิดให้เฉพาะผู้ที่ร่วมกิจกรรมกับไกด์เด็กบางลำพูแค่ 2 วัน (25-26 มิ.ย. 65) เท่านั้น
พิเศษสุดๆ ดีใจที่สมัครมาร่วมกิจกรรมนี้
ชมวินาทีเดินขึ้นชมรอบฐานชั้นแรกของป้อมพระสุเมรุได้ที่นี่

ขึ้นมาอยู่บนฐานชั้นแรกของป้อมพระสุเมรุที่ไม่เคยเปิดให้ชมในทริปไหนมาก่อน
กรมศิลปากรกับ กทม.ร่วมกันบูรณะป้อมพระสุเมรุในปี 2524 โดยดูจากภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5








ปืนที่นำมาวางไว้ สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาประดับตอนที่บูรณะแล้ว เพราะในภาพถ่ายสมัยก่อนไม่มีปื








จบกิจกรรมเดินท่องเที่ยวชุมชนย่านบางลำพู “เสนาะเสียง เสน่ห์แสง แห่งย่านบางลำพู” ด้วยการถ่ายภาพร่วมกัน และไปรับของที่ระลึกที่พิพิธบางลำพู แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

แต่ละคนจะได้รับของที่ระลึกไม่เหมือนกัน แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าจะได้อะไร ... เราได้พวงกุญแจของดีบางลำพู 7 อัน ที่ทำจากไม้ น่ารักมากๆ
อยากขอบคุณและชื่นชมทีมงานไกด์เด็กบางลำพูทุกคน น้องเก่งกันจริงๆ นับถือเลยค่ะ
ที่สำคัญต้องขอบคุณทุกคนในชุมชนที่ส่งผ่านความรักชุมชนมาสู่เด็กๆ เพราะเราเชื่อว่าถ้าคนในชุมชนไม่มีความรักที่จะรักษามรดกของชุมชนไว้ให้ลูกหลาน เด็กๆ ก็คงจะไม่สนใจทำงานเพื่อชุมชนแบบนี้ได้แน่
ถ้าจะถามว่า #เสน่ห์บางลำพู ที่ดึงดูดให้เรายังมาที่ชุมชนแห่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คืออะไร
สำหรับเรา #เสน่ห์บางลำพู คือเสน่ห์ความรักของชุมชนที่ส่งผ่านมาจนถึงผู้สืบทอดหัวใจรักษ์ชุมชน #ไกด์เด็กบางลำพูค่ะ
Read.Trip หยิบใส่เป้
วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.51 น.