ทริปไม่ลับจะไปพักลับแล

     ถ้าปัจจุบันโลกออนไลน์มี space ให้เราสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ งั้นถ้าเอาแบบที่ชอบ ๆ ก็ขออนุญาตแชร์เรื่องราวและแบ่งปันประสบการณ์จากการเดินทางล่าสุดผ่านบทความ โดยขอแบ่งออกเป็นตอน ๆ เหมือนในซีรีย์ (ภาพในหัวประมาณว่าหนังเรื่องหนึ่งที่กำลังดำเนินไป) ในแพลนแบบ “ทริป 5 คน รถ 1 คัน ด้วยเวลา 3 วัน กับท้องฟ้ามืดดำอีก 2 คืน” อย่าได้ช้าทีรถออกตีสี่อย่ามัวแต่นอน

ทริปไม่ลับ จะไปพักลับแล EP 1 : สะแกกรังธารา

  • นอกแผน

     ท้องฟ้าด้านนอกยังคงมืดไม่สว่างดี หัวหน้าทริปควบตำแหน่งสารถีพร้อมพาสมาชิกออกเดินทางไปตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าสู่เมืองหมาย ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เรากำหนดดังนั้นถ้าหากจะปรับแล้วด้นสดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนั่นก็คือแผนใหม่ (ก็ถ้าไม่ชอบงั้นก็มาขับเอง) หักรถเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 333 เพื่อออก “นอกแผน” เราจะแวะดินแดนลุ่มน้ำสะแกกรัง

  • ชีวิตติดอรุณ

     ตลาดสดยามเช้าเหมาะสำหรับฝากท้องในมื้อแรกของวัน สินค้ามากมายถูกจัดวางเรียงรายยาวไปจนสุดถนน มีทั้งของกินของใช้ ขนม นม เนย พืชผัก ผลไม้ หมู เห็ด เป็ด ไก่ ทั้งของสดหรือสุกก็มีให้เลือกกันมากมาย ผู้คนต่างมาจับจ่ายกันอย่างคึกคักทั้งพ่อค้า แม่ค้า และลูกค้า ด้วยความที่เป็นสายชอบเดินตลาดเช้าเราจะได้เห็นวิถีชีวิตของคนในละแวกนั้นประมาณว่าอยู่กันอย่างไร ชอบอะไร หรืออาหารอะไรเป็นที่ขึ้นชื่อรือชาที่เราพอจะเสาะแสวงหาไปเอามาลิ้มลอง

     ซึ่งจังหวัดแห่งนี้ อุทัยธานี เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำ มีหนึ่งในสินค้า GI ที่ไม่ควรพลาดและหาได้ยากจากกทม. “ปลาแรดแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง” ที่จะเอามาเป็นเมนูปลอบหัวใจพัง ๆ ให้ดีขึ้น แต่เราเคยกินแล้ว เลยเลือก ปลาบู่ แม่เอื้อยอ้าย สด ๆ จากลอบที่คิดว่าหากินได้ยากกว่าเหมาะสำหรับที่เราจะรังสรรเป็นเมนูลวกจิ้มในมื้อเย็น พูดมาเนิ่นนานอาหารเช้าของเราที่หาเติมพลังกันนั้นก็คือ โจ๊กหมู ณ ข้างร้านศรีอุทัยบาร์เบอร์ อยู่ริมถนนเส้นนอกถัดออกมาจากซอยตลาด กลิ่นของปลายข้าวที่เคี่ยวส่งกลิ่นไหม้อ่อน ๆ ควันลอยฟุ้งจากกระทะใบบัว โชยความหอมกรุ่นเตะจมูกเบา ๆ เชฟใหญ่คือคุณตาคนขายที่จำเมนูได้เก่งมาก ยืนบรรเลงอยู่หน้าเตาอย่างแคล่วคล่อง หากใครผ่านมาแนะนำไห้ไปลิ้มลองกันดู

  • เรื่องบังเอิญเพราะความบังเอิญ

     โม้เล่าเรื่องตลาดมาตั้งนาน ตัดมาก่อนไปกินมื้อเช้า หากเป็นวันเสาร์ - อาทิตย์ ช่วงเวลา 7.00 น. ณ ริมน้ำแห่งนี้ยังมีกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ดี ๆ อย่างการตักบาตรริมน้ำ ณ ลานสะแกกรัง สัมผัสวิถีดั้งเดิมแบบชาวอุทัยธานี โดยหลวงพ่อท่านจะพายเรือตามลำน้ำมาเทียบท่ารอรับบาตรที่ริมโป๊ะ มีเจ้าหน้าที่ช่วยชักภาพเก็บความทรงจำ และอธิบายประวัติแห่งลุ่มน้ำนี้ให้เราฟรีอีกด้วย กิจกรรมของเทศบาลอันนี้สำหรับเรามันช่างตื่นตาตื่นใจและเจ๋งมาก ๆ เพราะถ้าเป็นชีวิตในเมืองหากเราจะใส่บาตรก็จะมีพระมารับเช่นกันแต่พาหนะจะเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไซค์แบบเทียบท่าหน้าบ้านสุด fast ยะถา - พะลัง… ไวจนเรายังไม่ทันได้ซึมซับแห่งพลังบุญกันเลย

  • ศาสนริมธารา

     กลิ่นอายวิถีชีวิตริมน้ำแบบสมัยก่อน อาจค่อย ๆ สลายหายเลือนลางไปตามกลไกลของเวลา แต่ ณ เวลาทศวรรตนี้ยังคงหลงเหลือเรือนแพที่ทอดไปตามโค้งน้ำให้เห็นอารยะสมัยก่อนให้พอได้ชม 

     ข้ามลำน้ำแห่งนี้ด้วยสะพานไม้สูงไปจะพบกับศาสนสถานที่มีอายุ 100 กว่าปี (แต่เราขับรถอ้อมไป) ตั้งอยู่บนเกาะเทโพ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและดำรงคงไว้ซึ่งพลังแห่งศรัทธา “วัดโบสถ์มโนรมย์” หรือ วัดอุโปสถาราม แต่ที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันชื่อว่า “วัดโบสถ์” และสิ่งขึ้นชื่อของวัดแห่งนี้ก็คือ ศิลปะภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่เริ่มประสูติจนถึงปรินิพพาน ส่วนในวิหารจะเป็นภาพที่ท่านเสด็จไปทรงโปรดเทพยดาบนสวรรค์ และภาพปลงสังขาร อีกหนึ่งไฮไลท์ก็คือด้านผนังหน้าวิหารเป็นภาพเขียนตอนถวายพระเพลิงศพพระพุทธเจ้า และภาพชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา นับว่าเป็นภาพเขียนที่มีอายุเก่าแก่มาก ๆ ที่นึงเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ เสด็จประพาสของ รัชกาลที่ 5 อีกด้วย เล่ามาเยื่อนยาวเดี่ยวจะเป็นสารคดีไปก่อน หากใครสนใจก็สามารถไปค้นคว้าหาอ่านกันได้ตาม google

  • ลาอุทัย

     จังหวัดแห่งนี้ถ้ามีโอกาสนับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่ามาเยียมเยือนซ้ำอีกครั้ง แสงแดดในยามสายมันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องเร่งรีบอะไรมากนัก วันสบาย ๆ ที่ปล่อยใจและกายให้ได้พักผ่อน เอาไว้จะวางแพลนมาเที่ยวใหม่แบบจริงจัง หากใครมีที่แนะนำก็สามารถพิมพ์บอกกันได้เลย แต่หากลีลาเดินวนไปวนมาจนสายแก่กว่านี้ เราจะไปที่หมายไม่ทันเอา เอ้าเก็บของแล้วออกเดินทางกันต่อ พบกับ EP. ถัดไปจุดหมายใหม่ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พบกับกานต์เดินทางครั้งก่อนได้ที่

https://th.readme.me/id/Np.pho...

เสือซ่อนยิ้ม

 วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 21.34 น.

ความคิดเห็น