“ลำพูน” เมืองเล็กๆ แห่งล้านนา ที่นี่!!! เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำหรับคนที่เลือกจะไปเที่ยวทางภาคเหนือ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเชียงใหม่ แต่ให้บรรยากาศที่สงบเงียบ แตกต่างจากเชียงใหม่โดยสิ้นเชิง แต่!!! ใครๆ ก็ว่าลำพูนเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ค่อยมีที่เที่ยวอะไรมากนัก วันนี้เราขออาสาพาทัวร์เพื่อให้ได้รู้จักกับเมืองลำพูนให้ดียิ่งขึ้นค่ะ

การทัวร์ลำพูนของเราในครั้งนี้ เราจะพาไปสัมผัสเมืองลำพูนกันแบบใกล้ชิด โดยการนั่งรถรางเที่ยวในตัวเมือง ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและดีมากๆ ค่ะ

ราคาค่าบัตรรถราง ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท จุดขึ้นรถรางจะอยู่ข้างกาดขัวมุง หน้าวัดพระธาตุหริภญชัยค่ะ ในหนึ่งวันจะมีบริการเพียง 2 รอบเท่านั้น รอบเช้า เวลา 09.30 น. และ รอบบ่าย เวลา 13.30 น. ใช้เวลาในการเที่ยวชมทั้งหมด 2 ชั่วโมงค่ะ
โดยจะมีเส้นทางวิ่งเป็นวงรอบ ระหว่างทางจะพาไปแวะเที่ยวชมจุดสำคัญๆ ด้วยกันทั้งหมด 11 จุด

ในการนั่งรถรางชมเมืองลำพูนนั้น จะมีคนขับรถทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย ให้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ไปตลอดเส้นทางด้วยค่ะ พร้อมแล้วเราไปกันเลยค่ะ

จุดแรก : พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน หรือ คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์
พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง ตั้งอยู่ในเมืองลำพูน ด้านหลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย โดยใช้พื้นที่ของคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเมืองลำพูน เมืองที่มีความศรัทธา ทางพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองจากอดีต จนถึงปัจจุบัน ร่วมเรียนรู้เมืองลำพูนผ่านภาพถ่าย ทั้ง บุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งที่นี่ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยที่มีชีวิตโดยมีการจัดแสดงภาพ เมืองลำพูน สิ่งของเครื่องใช้และวิถีชีวิตของ ชาวเมืองลำพูน ในอดีตได้อย่างงดงาม

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สวยงาม โดยมีการบูรณะปรับปรุงคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมครึ่งปูนครึ่งไม้ ที่มีความสำคัญของจังหวัด และนำมาใช้เป็นพื้นที่เเห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูน นักท่องเที่ยวสามารถเดินจากวัดพระธาตุหริภุณชัยหรือนั่งรถรางของเทศบาลเข้าเยี่ยมชมได้ โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก


1. พื้นที่ชั้นล่างอาคาร : จัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ครั้งสมัยเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ได้พำนักพร้อมครอบครัว บริวาร การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานของคุ้มตั้งแต่อดีตจนกระทั่งมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ชุมชนเมือง นอกจากนี้ยังนำแผนที่เก่ามาขยาย แสดงให้เห็นพัฒนาการของเมืองลำพูน และภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ของเมืองลำพูน เช่น ภาพวัดพระธาตุหริภุญชัย ในสมัยก่อน ภาพวิหารหลวงหลังเก่าของวัดพระธาตุฯ ภาพความเสียหายเมื่อวิหารหลวงหลังเก่าถูกพายุพัดพังเสียหายทั้งหลัง และภาพวิถีชีวิตคนเมืองลำพูนในอดีต ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ การประกวดนางงามซึ่งเมืองลำพูน มีสาวงามคือ คุณ ชีลา ศรีสมบูรณ์ สาวงามเมืองลำพูนที่ครองตำแหน่งนางสาวไทย เป็นคนแรก นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่า ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นแบบโบราณแบบที่ใช้น้ำมันก๊าด กล้องถ่ายรูป วิทยุแบบเก่า เตารีดแบบใช้ถ่าน ฯลฯ ที่น่าสนใจคือตู้เก็บสะสมสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีสลากแบบเก่าตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่ยังราคา คู่ละ 10 บาท มาจนถึงสลากยุคปัจจุบัน


2. พื้นที่ด้านหลังอาคาร : เป็นการจำลองโรงภาพยนตร์เก่าของลำพูน “หริภุญชัยรามา” และจำลองห้องเรียน ที่แสดงหนังสือที่ใช้ใน การเรียนการสอนระดับประถมศึกษา โต๊ะ เก้าอี้ไม้ และกระดานดำ ชอล์ก และโรงแรมแห่งแรกของเมืองลำพูน โรงแรมศรีลำพูน

3. พื้นที่ชั้นสองของอาคาร : เป็นพื้นที่เปิดโล่งใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ เช่น การสอนดนตรี พิณเปี๊ยะ แก่เยาวชนและผู้สนใจ ตามผนังอาคารยังประดับภาพของพ่ออุ้ยที่เคยเล่นพิณเปี๊ยะ ภาพที่น่าสนใจภาพหนึ่งคือ ภาพของนักวิจัยชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษา เรื่องพิณเปี๊ยะเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงแสดงภาพประวัติของเจ้าสัมพันธวงศ์ และอาคาร บ้านเรือนเก่าแก่ที่น่าสนใจในตัวเมืองลำพูน
🎯 : 10 ถนนวังซ้าย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น.
📱 : 084-6112250
☎️ : 053-511500
🌏 : https://maps.app.goo.gl/SfQt1K...
จุดที่ 2 : คุ้มเจ้ายอดเรือน

ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นอาคารที่เก่าที่สุดหลังหนึ่งในเขตกำแพงเมืองลำพูน เป็นเรือนพักอาศัย ซึ่งเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย สร้างขึ้นเพื่อมอบให้แก่ชายาเจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2470 ซึ่งมีความเก่าแก่และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วย อาคารเรือนไม้ ข่วง ลานดินกว้างหน้าบ้าน ต้นไม้มงคล ยุ้งข้าว บ่อน้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ
ปัจจุบันคุ้มเจ้ายอดเรือน เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแหล่ง ศึกษาหาความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูน เป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้มีสภาพ สมบูรณ์ และสามารถใช้เป็นสถานที่จัดแสดงอาคารโครงสร้างบ้านเก่า สิ่งของ เครื่องใช้พื้นบ้าน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เจ้าผู้ครองนครลำพูน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

ลักษณะตัวเรือนหลังนี้ ทำด้วยไม้สัก เป็นแบบเรือนสรไน ชั้นดียวใต้ถุนสูง หน้าจั่ว สรไน ที่สร้างด้วย ไม้กลึงท่อนเดียว อันเป็นเทคนิคโบราณหายากยิ่ง ทำให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีหลังคาทรงจั่ว ผสมปั้นหยา (มนิลา) มุงกระเบื้องคอนกรีต เรือนใหญ่มี 5 ห้อง เรือนรองมี 3 ห้อง มีชานใหญ่เปิดโล่งเชื่อมเรือนใหญ่และเรือนรองที่วางขนานกัน สุดชานมีเรือนเล็กเป็นห้องอาบน้ำและห้องส้วม บันไดขึ้นเรือนอยู่ด้านตะวันตกของเรือน มีเสาแหล่งหมาสูงรับหลังคาคลุมบันได ที่ต่อเป็นหลังคาสตูปคลุมชานบันได และเป็นทางเข้าห้องรับแขกและห้องเล็กต่อเนื่องจนถึงชานใหญ่

ทั้งนี้ ภายในห้องต่างๆ ของคุ้มเจ้ายอดเรือน ก็ยังมีข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยอดีตให้ชม รวมทั้งข้อมูลประวัติความเป็นมาของเจ้ายอดเรือนและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากความงามในด้านสถาปัตยกรรมของตัวเรือน ที่เก่าแก่และทรงคุณค่า คุ้มเจ้ายอดเรือน ยังเปรียบเสมือนสถานที่ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง และทำความรู้จักกันกับ เจ้ายอดเรือนในฐานะ ชายาเจ้าหลวงจักรคำฯ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย

แม้ในปัจจุบันเรือนหลังนี้จะมีอายุ 111 ปี ถือเป็นคุ้มเจ้าเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในเมืองลำพูน ถึงจะชำรุดไปบ้างไปตามกาลเวลา แต่!!! ยังคงความสวยงามไว้ให้ได้เห็น และยังไม่ได้ดูตกยุคแต่อย่างใด ถ้าเป็นสมัยก่อนคงสวยมากๆ
🎯 : 4 ถนนรถแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น.
🌏 : https://maps.app.goo.gl/KsoMRG...
จุดที่ 3 : อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ตำบลในเมือง บริเวณด้านหลังตลาดหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางทรงเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม เป็นนักรบที่มีความสามารถและกล้าหาญชาญชัย พระนางคือผู้นำพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาเผยแผ่ในดินแดนแถบนี้จนรุ่งเรื่องสืบมาจนถึงปัจจุบัน พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน

“พระนางจามเทวี” วีรสตรีปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชย มีปรากฏโดดเด่นอยู่ในตำนานต่างๆ ของล้านนา ที่กล่าวถึงพระนางกษัตริย์พระองค์นี้ว่าทรงเป็นสตรีที่มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม แต่ขณะเดียวกันก็ทรงมีความเด็ดขาด ถึงขนาดเคยนำกองทัพทหารออกรบด้วยพระองค์เอง แล้วยังสามารถชนะข้าศึกศัตรูได้ครั้งแล้วครั้งเล่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่สร้างความรุ่งเรืองให้บังเกิดบนแผ่นดินล้านนา และได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกนี้ยังทรงเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ หริภุญไชย ที่มีการสืบทอดครองราชย์ต่อเนื่องกันมากว่า 600 ปี จนถือเป็นรัฐที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศสยามครั้งอดีต
🎯 : 175/22 ถนน รอบเมืองใน ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง
🌏 : https://maps.app.goo.gl/vrBPr8...
จุดที่ 4 : วัดจามเทวี

วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดกู่กุด" ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1298 โดยใช้ช่างฝีมือ เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย ที่มีความสําคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์

และโบราณคดีตามหลักฐานที่ได้พบศิลาจารึกเชื่อว่า พระราชโอรส ของพระนางจามเทวีคือ พระเจดีย์มหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า "สุวรรณจังโกฏิ พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ" หรือ "พระเจดีย์จามเทวี" เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบ พุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ มีพระพุทธรูป ยืนปาง ประทานพรอยู่ในซุ้มพระทั้งสี่ด้านด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ แห่งนครหริภุญชัย

ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบแน่ชัดยอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า "กู่กุดพระเจดีย์" องค์นี้มีชื่อเป็น ทางการว่า "พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏิ" พระเจดีย์องค์นี้ ถือเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่มีความสําคัญในศิลปกรรมหริภุญชัย นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตรสูงถึงยอด 11.50 เมตร ตัวพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง 5 ชั้น แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนก่ออิฐถือปูนทั้งลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูป 8 เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป สามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารองรับองค์เรือนธาตุ โดยส่วนล่างของเรือนธาตุ ทําเป็นฐานลดท้องไม่ลงเล็กน้อยจากระดับผนังของเรือนธาตุ ส่วนเรือนธาตุมีผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ซุ้มมีลักษณะเป็นวงโค้งสามวง โบราณปูชนียสถานภายในวัดจามเทวีเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย



บรรยากาศภายในวัดก็ร่มรื่น สงบ ใครมีโอกาสแวะมาลำพูนก็เป็นอีกศาสนาสถานนึงที่ไม่ควรพลาด ต้องแวะมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลสักครั้ง และด้านในมีธูปเทียนดอกไม้ไว้ให้บริการ บายศรีก็มีค่ะ
🎯 : ถนน จามเทวี ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
📱 : 098-5140509
🌏 : https://maps.app.goo.gl/Dz1zk7...
จุดที่ 5 : วัดมหาวันวนาราม พระอารามหลวง (พระรอด)

วัดมหาวัน (มหาวันวนาราม) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1200 เป็นพระอารามหลวงของพระนางจามเทวี พระนางได้นำพระศิลามาประดิษฐานไว้ด้วย เป็นศิลาจารึกหินทรายรูปใบเสมาใหญ่ อักษรมอญโบราณ ภาษามอญ อายุพุทธศตวรรษที่ 17–18 ศิลากล่าวถึงการนิมนต์ ตชุอรหทีปนี ซึ่งน่าจะเป็นนักบวชผู้เป็นที่นับถืออย่างสูงในขณะนั้น มายังลำพูน และได้ทำบุญร่วมกับผู้ปกครองกับเจ้านายชั้นสูง


ในจารึกกล่าวถึงการสร้างเจดีย์ที่มีคูหา การบริจาคที่ดิน เงิน ทอง ข้าทาส ที่สำคัญคือกล่าวถึงพระนามพระพุทธรูป 2 องค์ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2437 อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง หอไตร ปูชนียวัตถุ พระพุทธรูปพระประธานสร้างด้วยอิฐถือปูน ศิลปะล้านนา เจดีย์วัดมหาวันเป็นที่บรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด
ตามตำนานนั้นกล่าวว่า พระรอด นั้นสร้างขึ้นพร้อมกับ พระคง โดย วาสุเทพฤาษี และ สุกกทันตฤาษี หลังจากที่มีการคาดการณ์ถึงศึกสงครามที่อาจมีข้าศึกมารุกรานเมืองหริภุญชัย จึงได้ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมืองแล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศ ตามด้วยว่านกว่า 1,000 ชนิด และเกสรดอกไม้มาผสมเข้าด้วยกัน จากนั้นก็ร่ายมนต์คาถาเพื่อสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 องค์ คือ พระคง เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชัยอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า พระรอด เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วย ไม้มะฮกฟ้า เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จากนั้นก็นำพระคงไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี และนำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน และเชื่อกันว่า พระรอดมีความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตรายและความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผลและคงกระพันชาตรี หากใครได้มากราบไหว้บูชาพระรอดก็จะพ้นภัยอันตรายทุกสิ่งปวง


ถือเป็นวัดเก่าแก่ อายุกว่า 1,300 ปี ภายในวิหารประดิษฐาน "พระพุทธสิกขีปฎิมากร" หรือ "พระศิลาดำ" สร้างในสมัยพระนางจามเทวี มีพระพุทธรูปปางนาคปรกที่อัญเชิญมาจากเมืองละโว้ กรุพระเครื่องชื่อดัง คือ "พระรอดมหาวัน" ถือเป็นแบบพิมพ์องค์พระรอดที่มีชื่อเสียง
🎯 : 52 ถนน จามเทวี ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
☎️ : 053-535633
🌏 : https://maps.app.goo.gl/KZ9fbo...
จุดที่ 6 : วัดศรีบุญเรือง

วัดศรีบุญเรือง ก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2391 เดิมชื่อว่า วัดป่าแพ่ง เนื่องจากมีต้นแพ่งซึ่งเป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งขึ้นอยู่อย่างมากมาย ต่อมาวัดนี้ได้ร้างไป จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2438 เจ้าน้อยหมวก ณ ลำพูน ได้รับการสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำพูน รับพระราชทานยศปรากฏในสัญญาบัตรว่า เจ้าอินทยงยศโชติ ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงเจ้ารสแก้ว ได้สร้างคุ้มหลวงอยู่ใกล้กับวัดป่าแพ่งร้าง ทรงเป็นผู้มีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา พระองค์และพระชายา จึงได้ชักนำพวกเจ้านาย ข้าราชการและชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดป่าแพ่งขึ้นมาใหม่ จากนั้นได้อาราธนาครูบาพรหมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกของวัด และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น #วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 99 กับ 6/10 ตารางวา
▪︎ ทิศเหนือ จรด ถนน.อินทยงยศ ซอย.2
▪︎ ทิศใต้ จรด ที่ดินเอกชน
▪︎ ทิศตะวันออก จรด ถนน.อินทยงยศ
▪︎ ทิศตะวันตก จรด ที่ดินเอกชน

ภายในวัดมีเสนาสนะ ประกอบด้วย พระวิหาร พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์

ปูชนียวัตถุ มีเจดีย์ทรงทราวดี และพระพุทธรุ่งเรือง พระประธาน ณ พระวิหารวัดศรีบุญเรือง
🎯 : ถนน อินทยงยศ ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
☎️ : 053-511882
🌏 : https://maps.app.goo.gl/n2DMSe...
จุดที่ 7 : วัดพระคงฤาษี

วัดพระคงฤาษี หรือ วัดอนันทราม ตั้งอยู่ ต.ในเมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัย เมื่อปี พ.ศ. 1223 ในวัดนี้มี "พระคง" ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน เป็น 4 วัด 4 มุมเมือง ที่มีการจุดพบพระเครื่องของเมืองลำพูน เชื่อว่าพระเครื่องที่ขุดได้นี้เป็นเป็นพระคง ที่ วาสุเทพฤาษี และสุกกทันตฤาษี สร้างวัด จึงเรียกว่า วัดพระคงฤาษี แต่นั้นเป็นต้นมา วัดพระคงฤาษี เดิมชื่อ "วัดอาพัทธาราม" พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อ ถวายพระภิกษุที่มาจากลังกา ใช้เป็นที่พำนักและบำเพ็ญสมณะธรรมเป็นที่บรรจุ "พระคง"



ตามตำนานกล่าวว่า วาสุเทพฤาษี ได้ใช้ไม้เท้ากรีดพื้นเพื่อเขียนแผนผังเมืองลำพูนตรงพระเจีดย์นี้ พระนางจามเทวีจึงทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม แล้วให้นายช่างแกะสลักเป็นรูปพระฤาษีทั้ง 4 ตนไว้ แต่ละตนถือไม้เท้าในมือ รูปปั้นแกะสลักฤาษีสร้างด้วยศิลาแดงเมื่อทำเสร็จแล้ว ได้นำไป บรรจุไว้ภายในซุ้มประตูทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์ โดยทางทิศเหนือเป็นรูปวาสุเทพฤาษี ทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมฤาษี ทิศตะวันตกเป็นรูปของพระสมณนารคฤาษี ทิศใต้เป็นรูปของสุกกทันตฤาษี ซึ่งชาวลำพูนจะจัดประเพณีนมัสการและสรงน้ำ พระเจดีย์องค์นี้ภายหลังวันสงกรานต์
🎯 : 62 ถนน เจริญราษฎร์ ตำบล เหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
☎️ : 053-302500, 053-248604
🌏 : https://maps.app.goo.gl/hE5SSv...
จุดที่ 8 : วัดสวนดอก

วัดสวนดอก เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช 2282 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปีพุทธศักราช 2528 โดยมีเสนาสนะประกอบไปโดย พระวิหาร ศาลาการเปรียญ หอพระไตรปิฎก กุฏิสงฆ์ ห้องน้ำ โรงฉัน ห้องครัว ห้องเก็บของ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาปฏิบัตธรรม ศาลาบาตร

วัดสวนดอก มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ 36 9/10 ตารางวาและมีที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง เนื้อที่ 100 ตารางวา เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในตัวเมืองจังหวัดลำพูน มีศิลปะและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่เดิมเป็นวัดอารามเก่าที่เป็นอารามร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ จึงไม่ได้รับการพัฒนาทำให้ทรุดโทรม ซึ่งศาสนสถานที่สำคัญแต่เดิมมีพระเจดีย์ซึ่งมีอายุนับพันปี ชำรุดมากมาย และภายในอารามประกอบด้วยสวนดอกไม้นานาพันธุ์ เป็นดอกไม้พื้นเมืองเป็นส่วนใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2282 มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งไม่ปรากฏนามได้นำคณะศรัทธา ญาติโยม จากที่ต่าง ๆ มาทำการแผ้วถางปรับปรุงบริเวณวัดและทำการบูรณะ

พระเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ของล้านนาผสมพม่า โดยรักษารูปทรงแบบเดิมเอาไว้ทั้งหมด และได้ตั้งชื่อว่า “วัดบุปผาราม” ตามภาษาบาลีที่ใช้ในยุคนั้น โดยชาวบ้านมักจะเรียกว่า วัดสวนดอก ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสวนดอก” มากระทั่งจนปัจจุบัน
🎯 : 57 หมู่ 6 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน, 51000 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
☎️ : 053-511290
🌏 : https://maps.app.goo.gl/DYrVBQ...
จุดที่ 9 : วัดสันป่ายางหลวง ครูบาอินทร พระครูปัญญาธรรมวัฒน์ จ.ลำพูน


เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดของลำพูน ที่บรรจุพระอัฐิธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานไว้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1074 เดิมชื่อ "วัดขอมลำโพง" เมื่อก่อนเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ ต่อมา มีพระเถระจากพม่า มาจำพรรษาที่วัด จึงได้เปลี่ยนมาเป็นวัด และเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาของดินแดนล้านนา

ภายในวัดยังมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นไว้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะด้านในเป็นที่ประดิษฐาน "พระวิหารพระโขงเขียว หรือ พระวิหารพุทธรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย" สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากประเทศลาว พม่า และไทย พระครูบาอินทรเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างและออกแบบลวดลายพื้นเมือง ผสมผสานระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่

วิหารพระเจ้าเขียวโขงเมื่อมองจากด้านหน้าจะมีหลังคา 5 ชั้นมีช่อฟ้า 5 ตัวหมายถึงพระเจ้า 5 พระองค์ ด้านหลังอีกสามหมายถึงศีลสมาธิปัญญา หมายถึงการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า เพื่อเดินเข้าสู่พระนิพพาน หน้า 5 รวมหลัง 3 เป็น 8 หมายถึงต้องปฏิบัติตามทางสายกลางคือมรรค 8 ได้ธรรมมัชฌิมา ทางสายกลางคือ 9 เป็นโลกุตรธรรม โดยภายในได้มีการแกะสลักลายปูนปั้นไว้ในพระวิหาร แม้กระทั่งมุมหน้าจั่ว เชิงเพดานหลังคาด้านต่างๆ รวมไปถึงเสาพระวิหารก็จะแกะสลักและลงรักปิดทองไว้ ทั้งวิหารเลนค่ะ ทำให้วิหารพระเขียวโขงแห่งนี้ สวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย


ภายนอกก็มีความสวยงามเช่นกันค่ะ ประติมากรรมต่าง ๆ ที่แกะสลักอยู่ทั่วทั้งพระอุโบสถ หรือจะเป็นวิหาร รวมถึงเชิงไม้ต่าง ๆ ที่รายล้อมอยู่มีการแกะสลักอย่างสวยงาม รวมถึงงานปั้นต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
🎯 : ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
☎️ : 053-563777
🌏 : https://maps.app.goo.gl/wRHDij...
จุดที่ 10 : โบราณสถานกู่ช้างกู่ม้า

กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่คู่กัน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งที่ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือ เมื่อต้องการ สมหวังในสิ่งใด ก็มักจะมา ขอพรกันที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นทั้งโบราณสถานที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนเป็น ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของคนในชุมชน ด้วยความเชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึก - ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี

กู่ช้าง ตามตำนานว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุ พระยาช้าง ชื่อ "ปู่ก่ำงาเขียว" ช้างศึกคู่บารมี ของ พระนางจามเทวี ปู่ก่ำงาเขียว เป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์วิเศษมาก เพียงช้างหันงาไปทางศัตรู ก็จะทำให้ศัตรูอ่อนแรง หรือหากงาช้างชี้ไปทางใด ก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติและผู้คนล้มตาย พระนางจึงโปรด ให้สร้างเจดีย์ทรงสูงครอบไว้โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นฟ้า

กู่ช้าง เป็นเจดีย์ฐานเขียงกลม ซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปห้าชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ องค์ระฆังเป็นทรงกลม แต่จะยืดสูงขึ้นไปกว่าปกติ ลักษณะคล้ายทรงกรวยก่อด้วยอิฐสูง ประมาณ 30 เมตร ยอดเจดีย์ไม่แหลมอย่างเจดีย์ทั่วไป แต่เป็นยอดตัดมีปล่องคล้ายบ่อน้ำด้านบน ลักษณะคล้าย เจดีย์บอบอคยีใน อาณาจักรพยู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า และ เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว ในเมืองพุกาม และเจดีย์บริวารรอบๆ เจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สันนิษฐานได้ว่ากู่ช้างได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพม่า

กู่ม้า ตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดหักพังทลายลงไปแล้ว

ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือกู่ช้างมาก มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้างไว้ในทางทิศตะวันออกใกล้กับองค์เจดีย์ด้านหน้า ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง มีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาสักการะ เชื่อกันว่าหากได้ลอดท้องพระยาช้างเชือกนี้ จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี จะมีงานรดน้ำดำหัว และบวงสรวงเจ้าพ่อ เพื่อขอขมาลาโทษ และขอพรให้ปกปักษ์รักษาประชาชนจากความทุกข์ทั้งปวง
🎯 : 38 ซอย กู่ช้าง ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
🌏 : https://maps.app.goo.gl/EMYXVD...
จุดที่ 11 : ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน Lamphun Thai Silk Learning Center

ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง โดยทางกลุ่มลำพูนผ้าไหมไทย ได้เริ่มรวมกลุ่มกันทอผ้ายกดอกเมื่อต้นปี พ.ศ.2535 และได้อนุรักษ์ลวดลายผ้าไหมยกดอกแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลำพูน เปิดเป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับการผลิตและการทอผ้าไหมยกดอกลำพูนโดยเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น ลายดอกแก้ว หรือลายพิกุลไว้ ทั้งยังได้คิดค้นลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสงานพระราชพิธีต่างๆ และงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยมีลวดลายให้เลือกหลายแบบทำให้วงการผ้าทอของลำพูนมีความก้าวหน้าได้ควบคุมคุณภาพผ้าทอให้ได้มาตรฐานเป็นเลิศ โดยคัดเลือกเส้นไหมไทยแท้รังเหลืองในการทอ เนื้อผ้าจึงแน่นหนามีน้ำหนัก คงทนสีไม่ตก ยิ่งใส่นานเนื้อผ้ายิ่งมีความนุ่มและเนียนไม่ร้อน ซักเหงื่อได้ดี ทั้งยังได้ปรับปรุงพัฒนางานผ้าไหมยกดอก ให้หลากหลายโดยเป็นผู้นำสีธรรมชาติ (NATURAL COLOUR) มาย้อมและล่าสุดทางกลุ่มลำพูนผ้าไหมไทยได้นำแทคโนโลยีนาโน (NANO TECHNOLOGY) มาใช้ในการย้อมเส้นไหมเพื่อให้ผ้าไหมยกดอกมีคุณสมบัติในการกันน้ำและกันเปื้อน ซึ่งเหมาะแก่งานผ้าไหมที่ใช้สำหรับงานตกแต่งภายใน (INTERIOR) และงานออกแบบลายผ้าจากนักออกแบบชั้นนำ (DESIGNER)


ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ประกอบด้วยแปลงหม่อนและโรงเลี้ยงหม่อนไหม เป็นจุดเรียนรู้ต้นกำเนิดของความเป็นไหมไทย มีกิจกรรมเรียนรู้วิธีการเก็บผลหม่อน โรงย้อมผ้าสีธรรมชาติและโรงทอผ้าไหม เป็นจุดเรียนรู้กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ เช่น แก่นฝาง แก่นไม้ประโหด ใบหูกวาง และดอกไม้ให้สี มีกิจกรรมให้ได้ทดลองย้อมสีธรรมชาติด้วยเทคนิคมัดย้อม การกรอไหมและการทอผ้าไหม ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์และพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมยกดอก เป็นแหล่งรวบรวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์จากหม่อน แยมหม่อน น้ำหม่อน ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมยกดอก
🎯 : 8/11 ถนน จิตตวงค์พันธ์รังสรรค์ ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น.
📱 : 081-1127893
☎️ : 053-510329
💻 : ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน Lamphun Thai Silk Learning Center
https://www.facebook.com/thais...
🌏 : https://maps.app.goo.gl/YQMeeL...

รถรางนำเที่ยวเมืองลำพูน ให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์)
รอบเช้าเริ่มเวลา 09.30 น. รอบบ่ายเริ่มเวลา 13.30 น.
▪︎ ผู้ใหญ่ 50 บาท
▪︎ ต่างชาติ 100 บาท
จุดบริการขึ้นรถและซื้อตั๋วอยู่บริเวณด้านหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน ข้างกาดขัวมุง
📣 สอบถามรายละเอียดที่ สำนักงานเทศบาลเมืองลำพูน
งานพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว โทร. 0-5351-1013 ต่อ 109, 110
และที่บูธจำหน่ายตั๋วรถนำเที่ยว โทร. 0-5353-0757
หรือติดต่อ : คุณอาคม เบอร์โทร : 082-7028345
ปล. แนะนำว่าก่อนไปให้โทรไปสอบถามและจองคิวล่วงหน้าก่อน หรือมาซื้อตั๋วก่อนเวลานะคะ
เราโทรไปจองได้คิวรอบบ่าย 13.30 น. รอบเช้าเจองานเหมาค่ะ
เป็นยังไงบ้างค่ะ เที่ยวเมืองรอง...ที่ไม่เป็นรองใคร อย่างจังหวัดลำพูน นี่!!! เป็นที่เที่ยวแค่บางส่วนเองน๊า ถ้าใครผ่านมาทางนี้ก็แวะเที่ยวกันได้
🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต
ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄
❣️ ช่องทางการติดตามเพจเรา ❣️
https://www.facebook.com/TIEWD...
#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว
#เที่ยวลำพูน #แอ่วเมืองเก่าลำพูน
#พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน #คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์
#คุ้มเจ้ายอดเรือน #อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี
#วัดจามเทวี #วัดมหาวันวนาราม พระอารามหลวง
#พระรอดลำพูน #วัดศรีบุญเรือง
#วัดพระคงฤาษี #วัดสวนดอก
#วัดสันป่ายางหลวง #โบราณสถานกู่ช้างกู่ม้า
#ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์การทอผ้าไหมลำพูน
#LamphunThaiSilkLearningCenter
เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว
วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 น.