🏯 วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร

   มาถึงลำพูน คงพลาดไม่ได้ที่จะต้องมากราบสักการะ "วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร" ในอดีตเรียก "วัดเจดีย์หลวง" เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่โดยประมาณ 28 ไร่ 3 งาน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของลำพูนค่ะ ซึ่งเป็นวัดที่มีความเก่าแก่มาก มีรูปปั้น งานศิลปะ พระธาตุ และหอระฆังขนาดใหญ่สีทอง

ณ เวลา 09.45 น.

  พระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนาน ตั้งอดีตกว่าพันปี อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร มีถนนล้อมรอบสี่ทิศ คือ
✅️ ทางทิศเหนือ ติดกับถนนอัฏฐารส

✅️ ทางทิศใต้ ติดกับถนนชัยมงคล

✅️ ทางทิศตะวันออก ติดกับถนนรอบเมืองใน

✅️ ทางทิศตะวันตก ติดกับถนนอินทยงยศ

 ประวัติพระบรมธาตุหริภุญชัย

   สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยของพญาอาทิตยราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โดยที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชฐานของพระองค์ ซึ่งพระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัดพระธาตุฯ เพื่อเป็นพุทธบูชา หลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในบริเวณดังกล่าว และมวลสารผงจากองค์พระบรมธาตุหริบุญชัยใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา

   โดยวัดนี้มีกำแพง 2 ชั้น คือ รอบบริเวณวัดชั้นนอกชั้นหนึ่ง และก่อกำแพงทำเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยชั้นในอีกชั้นหนึ่ง ที่นี่เราจะพาทุกคนมาเที่ยวชม และศึกษาเรื่องราวของวัดแห่งนี้กันค่ะ  

   เริ่มจากเมื่อเข้ามาภายในบริเวณหน้าวัดด้านนอกเบื้องหน้าซุ้มประตู จะเห็นสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งอยู่บนแท่นประดิษฐานยืนเต็มเสมอกันทั้งสี่เท้า สิงห์คู่นี้ประดับด้วยเครื่องทรงและลวดลายยืนอ้าปากเป็นสง่างาม สูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นใน สมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม และถัดไปจะเห็นซุ้มประตูสีขาว ซุ้มประตูนี้ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายทางศิลปะวิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้น ๆ

จุดบูชาดอกไม้-ธูปเทียน-น้ำมันตะเกียง

   ก่อนที่เราจะผ่านซุ้มประตูเข้าไปในบริเวณของพระธาตุ จะมีจุดบูชาดอกไม้-ธูปเทียน-น้ำมันเติมตะเกียง เพื่อนำไปสักการะองค์พระธาตุ ซึ่งจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ และข้างๆ กันก็เป็นจุดจำหน่ายบัตรเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ ราคา 50 บาท/คน

แผนผัง 22 มหาสถาน

   ที่นี้ก็ได้เวลาไปทัวร์ "วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร" กันแล้วค่ะ มีด้วยกันทั้งหมด 22 มหาสถาน เราจะพาไปชมตามลำดับในแผนผังนะคะ จะได้ไม่งง 😆

1. วิหารหลวง : The Grand Hall (Vihara Luang)

   เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า "วิหารหลวง" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกขององค์พระธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้วกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2057 เป็นแบบพื้นเมืองทรงล้านนาสวยงามมาก เป็นวิหารหลัง ใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน และมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2466

   วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนากิจทุกวันพระ ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานของพระปฏิมาใหญ่ พระแก้วขาวพระเสตังคมณีศรีเมืองหริภุญชัยประทับนั่งอยู่เหนือบุษบกที่ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม 3 องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสน ชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์   


2. หอพระไตร (หอธรรม) : Tripitaka Building (Hor-Dhamma)

   อยู่ทางทิศใต้ของพระวิหาร เป็นที่บรรจุหนังสือใบลานจาด้วยอักขระพื้นเมือง เป็นหนังสือที่กล่าวด้วยเรื่องนิทานธรรมและประวัติของบ้านเมืองเป็นต้น ศิลปะแห่งการก่อสร้างเป็นฝีมือช่างโบราณทรงล้านนา มีลวดลายเป็นสมัยขอมปนศรีวิชัย ลวดลายตามเนื้อไม้แกะเป็นลายดอกยก มีภาพเทพบุตรที่ใบประตูชั้นบน

   ส่วนชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ซุ้มหน้าต่างประตูก่อเป็นลวดลายขอม หลังคามุงด้วยกระบื้องเงินและดีบุกมีช่อฟ้าและใบระกา และภายในหอซุ้มบนยังมีตู้หนังสือบรรจุอยู่หลายตู้ ส่วนใต้หอไตรมีบ่อน้ำปั้มรูปช้างหมอบไว้ตามปรากฎในตำนาน


3. เขาสิเนรุ หรือ เขาพระสุเมรุจำลอง : Sinaeru Mountain 

   เขาสิเนรุ หรือ เขาพระสุเมรุจำลอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย ด้านหน้าหอไตร มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ขนาดเล็กทรงกลม ก่ออิฐถือปูนแล้วนำมาประกอบเป็นทรงกลม ส่วนยอดทำลดหลั่นกันไป 7 ชั้น บนยอดหุ้มด้วยโลหะมีลวดลายและมีปราสาทประดิษฐานอยู่เบื้องบน ส่วนฐานที่รองรับยอดปราสาทที่อยู่ด้านบนสุด คือ สัตตบริภัณฑ์ มีแท่นบูชาอยูทางด้านทิศตะวันออก 


4. มุมหรดี, วิหารสะดือเมือง, ราหูทรงครุฑ 

South-west Corner (Moom Horadee),

City Navel Hall (Sadue Mueang Vihara),

Garuda-riding Rahu (Rahu Song Khrut)

คณะสะดือเมือง เดิมเรียก วัดสะดือเมือง เป็นที่พำนักของท่านเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน พระเทพรัตนนายก มีสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดลำพูนที่หน้ากุฎิท่านเจ้าอาวาส 

และมีพระราหูทรงครุฑไว้บูชา ซึ่งกลายเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ที่มาสักการะเป็นจำนวนมาก ตามคำบอกเล่าของหมอลักษณ์ฟันธงว่า...มีวังพญานาครักษาองค์พระธาตุฯ

   วิหารสะดือเมือง เป็นวิหาเล็กๆ ทรงงดงาม ถือว่าสถานที่นี้เป็นกลางใจเมืองลำพูน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสมัยเชียงแสน มีขนาดกลาง 10 องค์ 

และมีเสาสะดือเมือง หรือ หลักเมือง ประดิษฐานอยู่ภายในอีกด้วย


5. วิหารพระพุทธ : The Buddha Hall

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่

ลงรักปิดทอง เรียกว่า "พระพุทธ" ซึ่งหมายถึงตัวแทนพระพุทธเจ้า


6. วิหารพระบาทสี่รอย : The Hall of Phrabat Si Roi (Buddha's footprints)   

   ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง 

สร้างใหม่จำลองมาจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มาสร้างไว้เพื่อเป็นที่เคารพบูชาสำหรับท่านที่ไม้ได้ไปบูชาสถานที่จริง


7. พิพิธภัณฑ์วัดพระาตุหริภุญชัย : Wat Phrathat Hariphunchai Museum

▪︎ พิพิธภัณฑ์ 50 ปี 

   ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด งามสง่าเด่นมากค่ะ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. หยุดทุกวันจันทร์

   ภายในประกอบไปด้วยพระพุทธรูปต่างๆ มากมาย มีพระเครื่องเมืองลำพูนของจริงที่หาดูได้ยากไว้ให้ได้ชม และของโบราณอีกหลายหลากชนิดที่ชาวลำพูนนำมามอบไว้ใหเป็นจำนวนมาก

▪︎ พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว : Phra Muang Kaew Museum

   ตั้งอยู่ในศาลาบาตรด้านทิศใต้ติดกับวิหารพระพุทธ เป็นที่รวมลายหน้าบัน ลายมุขหน้าศาลาวิหาร แบบแกะด้วยไม้สัก

และยังมีสัตตภัณฑ์ล้านนาที่สวยงามหลายแบบหลายขนาด พร้อมด้วยลายไม้สักที่แกะสลักติดตามที่ต่างๆ ในวัดอีกหลากหลายรูปแบบ


8. วิหารพระเจ้าทันใจ : The Hall of Phrachao Tanjai

   ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระบรมธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสมัยเชียงแสนขนาดใหญ่ หล่อด้วยโลหะ เรียกว่า "พระเจ้าทันใจ" 

เชื่อกันว่า...มีเรื่อวด่วนเรื่องร้ายให้บูชาพระเจ้าทันใจ หรือมากราบขอกับองค์พระเจ้าทันใจ จะสามารถบันดาลให้ได้สมหวังดั่งใจหมาย


9. วิหารพระเจ้าพันตน : The Hall of Phrachao Panto

   ตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ ภายในวิหารบรรจุพระพุทธรูปต่างๆ มีจำนวนมาก มีหลากหลายลักษณะ จึงเรียกว่า "พระเจ้าพันตน" 

เชื่อกันว่า...บูชาพระที่วิหารนี้เท่ากับได้บูชาพระพุทธรูปนับพันกว่าตนในเวลาเดียวกัน


10. วิหารพระกลักเกลือ หรือ พระเจ้าแดง

   ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระวิหารพระทันใจ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทาด้วยสีแดง

เป็นสถานที่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ เมื่อฉันหมากสมอและทิ้งบ่อเกลือไว้ที่นี่ จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้น เรียกว่า "พระเจ้ากลักเกลือ" แต่!!!คนทั่วไปเรียกว่า "พระเจ้าแดง"


11. สุวรรณเจดีย์ หรือ เจดีย์ปทุมวดี : Pathumvadee Pagoda

   ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะการก่อสร้างแบบเดียว กับ เจดีย์สี่เหลี่ยมหรือเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูนองค์เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นเจดีย์รูปแบบพระปรางค์ 4 เหลี่ยม ทรงปราสาทมีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไป 5 ชั้นแต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ด้านละสามซุ้ม ภายในซุ้มจะประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประทับยืนประทับอยู่ ซึ่งมีร่องรอย ของการลงรักปิดทอง ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่องค์ 

   ส่วนบนสุดของเจดีย์เป็นกลีบบัวปูนปั้นหุ้มด้วยโลหะแผ่น ส่วนยอดปลายสุดทำเป็น กรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไปสุวรรณเจดีย์องค์นี้มีพระพิมพ์ที่สำคัญและ มีชื่อเสียงของเมืองลำพูนบรรจุอยู่ภายใน คือ "พระเปิม" เป็นสัญลักษณ์ของคู่บุญบารมีพระเจ้าอาทิตยราชเสมือนความรักที่ยั่งยืน 

   ว่ากันว่า...หนุ่มสาวคู่รักคู่ใดชวนกันมาไหว้พระธาตุหริภุญชัยและมาไหว้อธิษฐานที่เจดีย์ปทุมวดีในวันเดียวกัน ความรักจะยั่งยืนคู่กันตลอดทั้งชาตินี้และต่อไปอีกทุกภพทุกชาติ


12. วิหารพระไสยยาสน์ : The Hall of Phra Sai Yas

   ตั้งอยู่เหนือวิหารพระละโว้ เป็นวิหารขนาดเล็กๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนอน ปางไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง สร้างก่อน พ.ศ.2060 ถือเป็นพระนอนที่เก่าแก่องค์หนึ่งในจังหวัดลำพูน


13. สถานที่กักกันบริเวณครูบาเจ้าศรีวิชัย

นักบุญล้านนา : Detention Center for Khrubachao Sriwichai, the Buddhist Saint of Lanna 

   สถานที่กักนักบุญแห่งล้านนา อยู่ติดกับวิหารพระไสยาสน์ หรือวิหารพระนอนตรวหัวมุมศาลาบาตร มีสถานที่ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยเมื่อครั้งที่ท่านถูกข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะสงฆ์ที่ต้องขึ้นกับส่วนกลางท่านถูกข้อกล่าวหามากมาย ประกอบกับมีผู้คนเป็นจำนวนมากเคารพนับถือครูบา ทางการกับเจ้าคณะจังหวัดสมัยนั้นจึงนำท่านมากักบริเวณไว้ที่สัดพระธาตุหริภุญชัย และที่นี่!!! คือที่ท่านก็นั่งพำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำ เป็นเวลานานกว่า 1 ปี ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ก่อนนิมนต์ท่านไปยังเชียงใหม่ และส่งท่านไปยังกรุงเทพ เพื่อสอบสวนตามข้อกล่าวหา


14. องค์พระธาตุจำลอง : The Phrathat Republic 

   องค์พระธาตุจำลองที่สวยงาม ย่อส่วนมาได้อย่างลงตัว ปิดด้วยทองคำเหลืองอร่าม ปลายยอดฉัตรสร้างด้วยทองคำแท้ และจะเปิดให้สักการะบูชาได้ในวันสงกรานต์ ทางวัดจะนำองค์พระธาตุออกมาให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมสรงน้ำ เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่เมือง 

ปล. อันนี้เป็นภาพที่ถ่ายจากภาพถ่ายนะคะ เพราะยังไม่ได้เป็นช่วงที่เปิดให้สักการะ


15. วิหารพระอัฎฐารส : Payap Corner (The Hall of Phra Attaros)

   คณะอัฎฐารส (เดิมเรียกว่าวัดอัฎฐารส) มีวิหารพระอัฎฐารสแบบมณฑป ตั้งอยู่ประจำ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งก่อด้วยอิฐถือปูน ปางมารวิชัย สูง 18 ศอก พระเจ้าธรรมิกราชทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. 1660 

หน้าวิหารอัฎฐารสมีโบสถ์ภิกขุณี ซึ่งมีแต่สมัยโบราณตั้งอยู่ แต่!!! เสียดายตอนที่ไปทั้ง 2 จุดปิดให้เข้าชมภายในค่ะ


16. วิหารพระสังกัจจายน์ หรือ พระเจ้าปุ๋มผะหญา : The Hall of Phra Kajjai

   วิหารพระสังกัจจายน์ สร้างก่อน พ.ศ. 2060 ไม่ทราบว่าใครสร้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุงใหญ่ แต่ข้างในเชื่อกันว่ามีแต่ความคิดฉลาดอยู่ในพุง

  เชื่อกันว่า...ผู้ที่มาเคารพสักการะจักได้มีผญามีปัญญา คิดวิเคราะห์แก้ปัญหา เรียนหนังสือเก่ง คิดอะไรไม่ออกให้มาที่นี่!!! มาอธิฐาน เกิดสติ มีสมาธิ ปัญญา ก็จะเกิดตามมา คนที่นี่มักเรียกตามลักษณะรูปลักษณ์ชาวล้านนาว่า "พระเจ้าป๋มผะหญา"


17. เจดีย์เชียงยัน หรือ เจดีย์เชียงยืน : Chiang Yan Pagoda

   ตั้งอยู่นอกกำแพงทางทิศเหนือของพระบรมธาตุหริภุญชัย ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นโดยพระยาสรรพสิทธิ์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1679 เป็นต้นแบบของเจดีย์ต่างๆ หลายองค์ที่แพร่หลายไปในล้านนา ไกลไปถึงเชียงแสน 

   สำหรับเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบัน คือ ได้รับการปฎิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์ใหม่ ชื่อว่า "รัตนเจดีย์" แต่คนที่นี่เรียกว่า "เจดีย์เชียงยัน" ด้วยลักษณะทำสถาปัตยกรรมตรงส่วนของฐานล่างเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนขึ้นไปสี่ชั้น เหนือขึ้นไปทำเป็นบัวคว่ำและบัวถลาเป็นส่วนรองรับฐานสูงเหนือขึ้นไปเป็นธาตุเรือน ตัวเรือนธาตุทั่้ง 4 ด้าน ทำเป็นซุ้มจระนำ


18. วิหารพระละโว้ : The Hall of Phra Lawo

   ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุหริภุญชัย ตัววิหารสร้างใหม่ 

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เรียกว่า "พระละโว้"

พระเจ้าอาทิตยราช
พระนางจามเทวี

และภายในวิหารยังประดิษฐานพระเจ้าอาทิตยราช และ พระนางจามเทวี  


19. องค์พระบรมธาตุหริภุญชัย 

   พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติบัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ

  นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป และที่นี่! ยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกาด้วยค่ะ


20. หอกังสดาล :  Kang Sadarn Tower

   หอระฆัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นหอสำหรับแขวนระฆังและกังสดาลขนาดใหญ่ สร้างขึ้นโดย พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (ครูบาคำฟู) เมื่อ พ.ศ. 2481 ด้านบนแขวนระฆังขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นในสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 และชั้นล่างห้อยกังสดาลขนาดใหญ่ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2403 ฝีมือครูบาสูงเม่นโดยกัญจนมหาเถระ เจ้าอาวาส วัดป่าเมืองแพร่ และเจ้าหลวงเมือง เชียงใหม่ เป็นศรัทธาสร้างหล่อกังสดาลนี้ ในวัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่เพื่อไว้เป็นเครื่องบูชาพระธาตุหริภุญชัย


21. พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (หน้าวัด) : Pang Saiyas (The reclining Buddha)

   ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด บริเวณลานที่จอดรถ และสิ่งที่น่าสนชมในพระวิหารนี้ก็คือ "นาคทันต์" ด้านหน้าเอาไม้สักมาแกะเป็นรูปลิงมีท่าทางต่างๆ แบบเชิงชายพระวิหารไว้ นับเป็นศิลปะอันวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง

ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูน 


22. อุโบสถพระเจ้าทองทิพย์ : Phrachao Thongthip

   พระอุโบสถพระเจ้าทองทิพย์ มาที่นี่หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยเข้าไปสักที เพราะอุโบสถหลังนี้อยู่บริเวณลานจอดรถหน้าวัด เลยทำให้มองไม่เห็น ที่นี้ก่อนขึ้นรถกลับเมื่อเราเดินออกมาจากซุ้มประตูวัด ให้หันไปทางด้านซ้ายมือจะเห็นอุโบสถตั้งอยู่ด้านใน 

   อุโบสถหลังนี้มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นฝีมือของแสนสรรพช่างบ้านกอแงะ ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน พระอุโบสถมีขาดกว้างขวางใหญ่โตพอสมควร ขนาดบรรจุพระสงฆ์ได้ไม่ต่ำกว่า 150 รูป มีมุขยื่นออกด้านหน้า แบะมีระเบียงทั้งด้านเหนือและด้านใต้ ส่วนด้านหลังไม่มีมุขแบบหลังคา 2 ชาย

   ภายในพระอุโบสถมีซุ้มพระพุทธรูปประดิษฐาน ฝีมือโบราณประดับลวดลาย มีรูปเป็น 4 ซุ้ม บรรจุพระพุทธรูปขนาดกลางหล่อด้วยโลหะเรียกว่า "พระเจ้าทองทิพย์" เป็นพระพุทธรูปหล่อแบบสมัยเชียงแสนรุ่นกลางลงรักปิดทองสวยงามมาก พระอุโบสถนี้เป็นที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ในฤดูเข้าพรรษาและออกพรรษา พระภิกษุสงฆ์ตำบลในเมืองทั้งหมดต้องมาประชุมกันเป็นปกติ ถ้าท่านก้าวออกไปจากหน้าพระอุโบสถเพียงสัก 2-3 ก้าวก็จะได้แลเห็นสระหนึ่งซึ่งมีรูปยาวเป็นผืนผ้า มีความลึกพอสมควรก่อด้วยศิลาแลงล้วนเต็มรอบทั้งสี่ด้าน...เล่าว่าในขณะสร้างพระธาตุหริภุญชัยพวกแม่ครัวเลี้ยงอาหารคนงานแล้วเอาถ้วยชามมาล้างในสระนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า "สระน้ำแก๋ง"

   เป็นยังไงบ้างกับ 22 มหาสถาน วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ไม่คิดเลยว่าวัดแห่งนี้จะมีสถานที่ให้เราได้ชมความงามและเป็นสถานที่ใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย บรรยากาศก็ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ แต่!!! ที่สะดุดตา คือ ต้นนี้เลยค่ะ

ต้นสาระอินเดีย
ต้นสาระลังกา

   ต้นสาระอินเดีย กับ ต้นสาระลังกา สวยมากเลยค่ะ ทั้ง 2 ต้นจะอยู่บริเวณวิหารพระเจ้าทันใจ ใครรู้บ้างว่าต้นสาระทั้ง 2 ชนิดนี้แตกต่างกันตรงไหน??? ที่เรารู้คือสวยเหมือนกัน 😆😆😆 และอีกต้นที่มีดอกสวยงามอยากัอามาให้ชม

ดอกบัวสวรรค์

   ต้นบัวสวรรค์ อยู่หน้าวิหารพระเจ้าทันใจเลยค่ะ ดอกสีสันสวยมาก

   และทางวัดพระธาตุหริภุญชัย จะมีงานนมัสการประจำปี ในวันเพ็ญเดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา (งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย น้ำที่สรงนำมาจากบ่อน้ำทิพย์บนยอดดอยขะม้อ) ไว้ถ้าใครมีโอกาสแวะมาลำพูนอย่าพลาดที่จะมากราบสักการะที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร กันนะคะ

🎯 : หมู่ 1 ถนน รอบเมืองใน ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
☎️ : 053-563612
🌏 : https://maps.app.goo.gl/RHUfF4...
🚘 : ที่จอดรถหน้าวัด


🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต

ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄

❣️ ช่องทางการติดตามเพจเรา ❣️

https://www.facebook.com/TIEWD...

#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว 
#เที่ยวลำพูน #วัดลำพูน
#
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร 
#อ
งค์พระบรมธาตุหริภุญชัย #วิหารพระละโว้ 
#เจดีย์เชียงยัน #เจดีย์เชียงยืน 
#วิหารพระสังกัจจายน์ #พระเจ้าปุ๋มผะหญา
#วิหารพระอัฎฐารส #องค์พระธาตุจำลอง
#สถานที่กักกันบริเวณครูบาเจ้าศรีวิชัย
#สุวรรณเจดีย์ #เจดีย์ปทุมวดีวิหาร
#พระกลักเกลือ #พระเจ้าแดง #วิหารพระเจ้าพันตน
#วิหารพระเจ้าทันใจ #พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว
#พิพิธภัณฑ์50ปี #พิพิธภัณฑ์วัดพระาตุหริภุญชัย
#วิหารพระบาทสี่รอย #วิหารพระพุทธ #มุมหรดี
#วิหารสะดือเมือง #ราหูทรงครุฑ #เขาสิเนรุ
#เขาพระสุเมรุจำลอง #หอพระไตร
#หอธรรม #วิหารหลวง

เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว

 วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.07 น.

ความคิดเห็น