วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

   วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า "วัดใหญ่" หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ "วัดพระพุทธชินราช พิษณุโลก" แห่งนี้ นับเป็นแลนด์มาร์คอันดับหนึ่งที่ต้องไปเมื่อมาที่จังหวัดพิษณุโลกค่ะ ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก วัดนี้เป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชน อีกทั้งภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจศึกษาหาความรู้อีกหลายอย่าง วันนี้เราเลยจะอาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัดแห่งนี้ให้มากขึ้นค่ะ


ประวัติ : วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร 


   วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์
   ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า " ในราวพุทธศักราช 1900 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาที่ 1) เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้นและทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง"
   ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2458 ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร   

ณ เวลา 11.59 น.

   ในวันที่เรามาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) เป็นความโชคดีอย่างมาก ที่ได้มีโอกาสร่วมทำบุญกับทางวัด

ร่วมเป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ประจำปี 2566

   โดยเราได้ร่วมเป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ประจำปี 2566 กับทางวัด เมื่อทำบุญกรวดน้ำจิตใจผ่องใสเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาเที่ยวชมวัดใหญ่กันแล้วค่ะ    

จุดกราบสักการะ ด้านนอกพระวิหาร

   นี่เป็นครั้งแรกที่มาวัดนี้ เราเลยเริ่มต้นด้วยการไปยังจุดที่ทางวัดจัดไว้ให้ประชาชนที่ต้องการมากราบสักการะองค์พระพุทธชินราช ด้วยการบูชาดอกไม้ ธูปเทียน และปิดทอง ที่ "ศาลาปิดทองปฎิมาบูชาธิษฐาน" เพราะด้านในพระวิหารจะไม่อนุญาตให้ปิดทององค์ท่านค่ะ


สิ่งน่าสนใจ : ภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร


พระเหลือ

วิหารพระเหลือ

   ฝั่งตรงข้ามกับศาลาปิดทองปฎิมาบูชาธิษฐาน จะมีวิหารหลังเล็กๆ อีกหลังหนึ่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ วิหารที่ว่านั้นมีขนาดเล็กมากจริงๆ ค่ะ จนคนอาจเข้าใจผิดได้ แต่!!! วิหารหลังเล็กที่ว่านี้เป็นวิหารของ "พระเหลือ" นั่นเอง

   เหตุที่พระพุทธรูปในวิหารนี้ได้ชื่อว่า "พระเหลือ" ก็เนื่องมาจาก...เมื่อครั้งที่หล่อพระพุทธรูปสำคัญทั้ง 3 องค์ อันได้แก่ พระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดานั้น ก็ยังคงมีเศษทองสัมฤทธิ์หลงเหลืออยู่ พระยาลิไทจึงมีรับสั่งให้ช่างนำเศษทองนั้นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 1 ศอกเศษ และเรียกท่านว่า "พระเหลือ" ถึงกระนั้นเศษทองก็ยังเหลืออยู่อีก จึงได้หล่อพระสาวกขึ้นมาอีก 2 องค์ยืนอยู่ด้านข้างขององค์พระเหลือ

ต้นไม้ใหญ่ คือ ต้นโพธิ์ 3 ต้น

   ส่วนอิฐที่ใช้ก่อเตาสำหรับหลอมทองที่หล่อพระพุทธรูปนั้น ได้นำมารวมกันแล้วก่อเป็นฐานชุกชีสูง 3 ศอก ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราช พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชีนั้น แสดงว่าเป็นมหาโพธิ์สถานของพระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาทั้ง 3 องค์ จึงเรียกว่า "โพธิ์สามเส้า" และได้สร้างวิหารเล็กๆ ขึ้นมาระหว่างต้นโพธิ์นั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระเหลือและพระสาวก จึงเรียกชื่อว่า "วิหารพระเหลือ"

   ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการใหม่ว่า "พระเสสันตปฏิมากร" แต่ก็ด้วยชื่อของท่านนั่นเอง ที่ทำให้ผู้คนมักนิยมไปสักการะขอพรจากท่าน ด้วยเชื่อว่าจะทำให้มีเงินมีทองเหลือใช้เหมือนอย่างชื่อของท่าน

   พระเหลือ ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและตที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

   ลักษณะทางพุทธศิลป์ พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอย วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีพระอัครสาวกทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาประกอบ


พระพุทธชินราช

สถานที่ประดิษฐานองค์พระพุทธชินราช

   ที่นี่ คือ สถานที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธชินราช ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัยที่มีความสง่างาม และยังคงสภาพสมบูรณ์มาก

   และการเข้าไปสักการะองค์พระพุทธชินราชนั้น ห้ามใส่กางเกงขาสั้น​ กระโปรง​สั้น​ เสื้อแขนกุด หรือเปิดไหล่ แม้แต่ผู้ชายก็ห้ามใส่กางเกงขาสั้นเช่นกันค่ะ แต่!!! ถ้าคนที่มานั้นแต่งกายไม่สุภาพ ทางวัดก็มีเสื้อผ้ากางเกงให้บริการยืมใส่อีกด้วยค่ะ

องค์พระพุทธชินราช

   องค์พระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดของเมืองไทย พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไทย กษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง สมัยสุโขทัย หรือเมื่อประมาณ พ.ศ. 1900 ในครั้งนั้นได้มีพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันอีก 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ซึ่งอีกสององค์นั้น ขณะนี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร ส่วนที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้เป็นองค์จำลอง

   พระพุทธชินราช ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

   ลักษณะทางพุทธศิลป์ พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับเบิ้องพระปฤษฎางค์ปราณีตอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น

   สำหรับใครที่จะถ่ายรูปภายในพระอุโบสถนั้น สามารถทำได้แต่!!! ​ห้ามยืนถ่ายรูปกับองค์พระ ต้องนั่งถ่ายรูปได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น​   

   ทางด้านขวามือขององค์พระพุทธชินราช ก็จะเป็นจุดสักการะองค์พระนเรศวร

จิตรกรรมฝาผนัง

   และอีกความงดงามในพระอุโบสถหลังนี้ คือ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งทางวัดได้มีการบูรณะดูแลไว้เป็นอย่างดี


ท้าวเวสสุวรรณ ปางประทับนั่ง 

องค์ท้าวเวสสุวรรณ

   ทางด้านซ้ายมือขององค์พระพุทธชินราช จะมีองค์ท้าวเวสสุวรรณที่เก่าแก่ ปางประทับนั่ง ถือคทาวุธัง สถิตถวายการอภิบาลอยู่ที่ฐานชุกชีรัตนบัลลังก์ ข้างพระชานุด้านซ้ายขององค์พระพุทธชินราชมายาวนาน ซึ่งอยู่ในท่านั่งเพียงองค์เดียวของประเทศไทย และเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรกันอีกด้วยค่ะ       


ระเบียงคต

ระหว่างทางที่เราเดินไปยังสถานที่ถัดไป ก็จะมีพระพุทธรูปเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียกว่า "ระเบียงคต" เมื่อเดินตามทางไปเรื่อยๆ ก็มาเจอกับ...

พระสังกัจจายน์

พระประธานประจำวิหาร : พระสังกัจจายน์

   พระสังกัจจายน์ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้น มีขนาดหน้าตักกว้าง 3ศอก อยู่บริเวณลานภายในระเบียงวิหารคตด้านทิศใต้ พระวิหารพระพุทธชินราช พิษณุโลก 

   วิหารพระสังกัจจายน์ ได้รับการบูรณะ หลังจากทรุดโทรมมายาวนานนับแต่ครั้งอะแซหวุ่นกี้เผาเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2318 บูรณะถวายโดย จีน หลวงอุดมไมตรี และนางทับ ภรรยา ในปี พ.ศ.2376 ในสมัยรัชกาลที่ 3 

   โดยผู้คนนิยมมากราบไหว้พระสังกัจจายน์ เพื่อมาขอพรให้อุดมไปด้วยโชคลาภ สตรีที่สมรสแล้วก็นิยมมาอธิษฐานของบุตรกัน อยากจะได้ผู้หญิงหรือผู้ชายก็มาอธิฐานขอพรกับพระสังกัจจายน์ แล้วตีระฆังใบใหญ่ที่แขวนไว้ เป็นสัญญาณแห่งการร้องขอต่อองค์ท่าน แล้วก็มีหลายคนสำเร็จสมปราถนากันไปเป็นจำนวนมากค่ะ


พระปรางค์วัดใหญ่

พระปรางค์

และตรงบริเวณลานหน้า วิหารพระสังกัจจายน์ เป็นอีกมุมนึงที่มองเห็นยอดเจดีย์ได้อย่างสวยงาม

   พระปรางค์วัดใหญ่ เป็นโบราณสถานสมัยสุโขทัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของวัด เดิมนั้นพระปรางค์วัดใหญ่น่าจะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ความสูงประมาณ 15 วา ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สมัยอยุธยาตอนต้น พิษณุโลกได้เป็นเมืองหลวงถึง 25 ปี จึงทำนุบำรุงพุทธศาสนานำเอาศิลปะแบบอยุธยาเข้ามาสร้างให้ มีเอกลักษณ์เพื่อเป็นขอบเขตอาณาจักร สัญลักษณ์ขอบเขตที่เป็นพื้นที่ๆ ห้ามรุกราน เจดีย์จึงได้บูรณะปรับปรุงให้เป็นพระปรางค์ตามยุคสมัย กลายเป็นพระปรางค์ทรงคล้ายฝักข้าวโพด


ถัดมาเป็น วิหารพระศรีศาสดา ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านทิศใต้ สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) พร้อมกับ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระเหลือ ภายในวิหารหลังนี้จะเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงพ่อดำ” กับ "พระศรีศาสดา"

พระพุทธเจ้าพระองค์ดำ

หลวงพ่อดำ

   เมื่อเราก้าวผ่านเข้ามายังวิหาร เราก็จะเจอกับ พระพุทธเจ้าพระองค์ดำ ก่อนเป็นอันดับแรก เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เนื้อปูนปั้น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โดยหลวงพ่อดำได้ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวิหารพระศรีศาสดาแห่งนี้มาตลอด
   เหตุที่เรียก “หลวงพ่อดำ” นั้น เข้าใจว่ามีผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำการปิดทองพระพุทธรูป แต่ไม่ทราบว่ามีสาเหตุใดจึงปิดทองไม่สำเร็จ ได้แต่ลงรักปิดทองเอาไว้ เมื่อประชาชนมากราบไว้แล้วเห็นองค์พระเป็นสีดำ จึงเรียกว่า "หลวงพ่อดำ" 


 พระศรีศาสดา

 ในส่วนของ พระศรีศาสดา ต้องเดินอ้อมไปทางด้านหลังของ หลวงพ่อดำ ถึงจะเจอกับประตูเข้าวิหารของพระศรีศาสดา สังเกตุจากป้ายชื่อด้านบนเลยค่ะ

พระประธานประจำวิหาร : พระศรีศาสดา

   พระศรีศาสดา ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือ พระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่า และที่สำคัญคือ การทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

   ลักษณะทางพุทธศิลป์ พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว


พระพุทธชินสีห์ 

พระประธานประจำวิหาร : พระพุทธชินสีห์

   พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดา และพระเหลือ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือ

   พระพุทธชินสีห์ ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

   ลักษณะทางพุทธศิลป์พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว


พระวิหารพระอัฏฐารส

พระอัฎฐารส

   บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฎฐารส ซึ่งเป็นพระนามของพระพุทธปฏิมา เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ปางห้ามญาติ ความสูง 18 ศอก (ประมาณ 10 เมตร) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หล่อในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1(พญาลิไท) สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่ แต่!!! วิหารได้พังไปจนหมดเหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 – 4 ต้น และเนินพระวิหารบางส่วน เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้จะหายทุกข์หายโศก


หลวงพ่อคง

พระประธานประจำวิหาร : หลวงพ่อคง

   หลวงพ่อคง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง อยู่ทางทิศเหนือของพระอัฏฐารสหลังวิหารพระพุทธชินราช ประดิษฐ์ฐานอยู่คู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหวิหาร (วัดใหญ่) นี้มาตั้งแต่เดิม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย 


หลวงพ่อขาว

พระประธานประจำวิหาร : หลวงพ่อขาว

   หลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่คู่วัดแห่งนี้มาแต่เดิม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ก่ออิฐถือปูน ขนาดหน้าตักกว้าง 2.63 เมตร ความสูง 3.39 เมตร เชื่อกันว่าหากผู้ใดได้บูชาจะเจริญรุ่งเรือง จิตใจผ่องใส ปราศจากโรคภัยและอุปสรรคอันตรายทั้งปวง


พระอุโบสถ หลวงพ่อโต

พระประธานประจำอุโบสถ : หลวงพ่อโต

   พระอุโบสถหลังนี้ มีขนาด 5 ห้อง สถาปัตยกรรมทรงโรง สมัยอยุธยา รอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีใบเสมาหินชนวนคู่ตั้งอยู่บนฐานเสมา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ด้านในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย มีพระพักตร์กลมป้อม งดงาม มีพระอุณาโลมและพระเกศเปลวเพลิงยาว 


   แต่!!! การเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) พิษณุโลก ในครั้งนี้เราพลาดไป 2 สถานที่สำคัญ คือ

   1. วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน  ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของพระวิหารพระศรีศาสดา ภายในวิหารประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” ซึ่งเป็นหีบบรรจุบรรจุพระพุทธสรีระจำลองของพระพุทธเจ้า ที่มีเพียงแห่งเดียวในไทย ทำจากศิลาลงรักปิดทอง ขนาดกว้าง 46 เซนติเมตร ยาว 160 เซนติเมตร สูง 45 เซนติเมตร บริเวณปลายหีบจะมีพระบาท 2 ข้างยื่นออกมา และพระมหากัสสปเถระนั่งนมัสการอยู่ด้วย เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้พรขอสิ่งใดมักสัมฤทธิผล

   2. รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่บนฐานสูงประมาณ 70 เซนติเมตร เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในมณฑปพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของวิหารพระอัฏฐารส   


   สำหรับใครที่มาเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก แนะนำว่าอย่าพลาดที่จะมาเยือน "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร" หรือ "วัดใหญ่" เพื่อมาสักการะพระพุทธชินราช แล้วก็อย่าลืมตามมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจุดอื่นๆ ของวัดกันด้วย ใครที่ไปพิษณุโลกแล้วไม่แวะก็เหมือนยังไปไม่ถึงพิษณุโลกน๊าา 😁 

   นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ กับวัดใหญ่ ก็ยังมีอีกวัดที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “วัดนางพญา” ไว้เดี๋ยวจะมารีวิวให้ครั้งถัดไปนะคะ 

🎯 : 92/3 ถนน พุทธบูชา ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000

⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-20.00 น.

☎️ : 055-258966

🌏 : https://maps.app.goo.gl/QHZscr...


🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต

ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄

❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️

https://www.facebook.com/TIEWD...

#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว 

#เที่ยวพิษณุโลก #พิษณุโลก #วัดพิษณุโลก 

#วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร 

#วัดใหญ่พิษณุโลก #โพธิ์สามเส้า #พระเหลือ

#พระเสสันตปฏิมากร #พระพุทธชินราช 

#ท้าวเวสสุวรรณ #ระเบียงคต 

#พระสังกัจจายน์ #พระปรางค์วัดใหญ่ 

#หลวงพ่อดำ #พระพุทธเจ้าพระองค์ดำ 

#พระศรีศาสดา #พระพุทธชินสีห์ 

#พระวิหารพระอัฏฐารส #หลวงพ่อคง 

#หลวงพ่อขาว #พระอุโบสถ หลวงพ่อโต 

#วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน #รอยพระพุทธบาท

เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว

 วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.04 น.

ความคิดเห็น