วัดจุฬามณี พิษณุโลก

   วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของเมืองพิษณุโลก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ตามถนนบรมไตรโลกนาถประมาณ 5 นาที เป็นโบราณสถานก่อนสมัยสุโขทัย เคยเป็นที่ตั้งของเมืองสองแควเก่า 

   ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า...สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพารออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป โดยภายในวัดแห่งนี้มีโบราณสถานที่สำคัญน่าชม คือ 

🔸️กำแพงแก้ว : มีขนาดกว้าง 49 เมตร ยาว 113 เมตร สูง 1.6 เมตร ก่อด้วยอิฐสร้างล้อมศาสนสถานทั้งหมด

🔸️ปรางค์ประธานแบบขอม : ตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าก่อเป็นแบบตรีมุข ตั้งบนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ มีปูนปั้นประดับลวดลายตามขั้น 

   ตอนล่างแถบหน้ากระดานและบัวหน้ากระดานเป็นลายหงส์ เหมือนกับองค์ปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี สมัยที่ยังสมบูรณ์อยู่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใกล้เคียงกันมีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างขึ้น แผ่นจารึกหน้ามณฑปมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2221 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาท สลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของผู้คน


🔸️วิหาร : ตั้งอยู่ในกำแพงทิศตะวันออกของปรางค์ประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดกว้าง 8.9 เมตรยาว 27.56 เมตร ก่อด้วยอิฐและยังมีแนวผนัง

   ด้านหลังและผนังทิศใต้ สูง 3.75 เมตร วิหารแต่ละห้องเจาะเป็นช่องช่องเพื่อให้แสงผ่านเข้าได้ลักษณะศิลปะอยุธยาตอนต้น ตอนกลางเช่นวัดนางพญา 

   และหลักฐานพระราชพงศาวดารระบุว่า...สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ให้สร้างพระวิหาร วัดจุฬามณี ในปี พ.ศ. 2203 และมีการสร้างวิหารใหม่ทับลงไปในปี พ.ศ. 2495

   ภายในพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อเพชร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางขัดสมาธิเพชรบนฐานรองรับองค์ เดิมสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งศรีสัชนาลัย ทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีแห่งนี้ และเป็นผู้สร้างหลวงพ่อเพชรไว้ ต่อมาหลวงพ่อเพชรได้ชำรุด อดีตเจ้าอาวาสจึงนำปูนมาพอกไว้ หลังจากปูนหลุดกะเทาะออกมาจึงเห็นว่าพระพักตร์ชำรุด พระกรหัก ประชาชนจึงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์องค์หลวงพ่อขึ้นมาใหม่ ทำให้พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชรคล้ายศิลปะเชียงแสน และได้มีการนำเพชรมาประดับที่พระเนตรและเม็ดพระศก ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อเพชร" แต่เพชรได้ถูกขโมยไปปัจจุบันประชาชนจึงได้ช่วยกันอนุรักษ์องค์หลวงพ่อไว้ดังที่เห็นในปัจจุบัน   


บริเวณถัดมาซึ่งใกล้กับพระวิหาร จะมี

🔸️มณฑป : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ลักษณะทรงสี่เหลี่ยม ขนาดฐาน 12.30 น มณฑปมีขนาดกว้าง 5.30 เมตร มีเสาอยู่ด้านใน 12 ต้น รองรับหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านในมีฐานพระพุทธบาทมีมุขด้านหน้ายื่นออกมา แสดงถึงการรับซุ้มหน้าบันและหลังคา ซึ่งน่าจะลดหลั่นกันอย่างน้อย 2 ชั้น 

   ด้านหลังมีซุ้มเล็ก ส่วนบนหน้าบานลด 2 ชั้น ประดิษฐานศิลาจารึกลักษณะรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมอาคารและมุขเป็นลักษณะศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีประวัติฯ การสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้สร้างขึ้น โดยด้านหลังมณฑปมีหลักศิลาจารึก เขียนเรื่องประวัติฯ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ครองเมืองพิษณุโลก เรื่องกำเนิดรอยพุทธบาท เรื่องการสาปแช่งในการห้ามเคลื่อนย้ายหรือห้ามทำลายเมืองที่มีพุทธศาสนา


🔸️อุโบสถหลังเก่า : ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของปรางค์ในเขตกำแพงแก้ว ฐานขนาดกว้าง 9.3 เมตร ยาว 17.20 เมตร ส่วนผนังพังทลายไปแล้วเหลือเฉพาะส่วนพื้น ภายในมี "หลวงพ่อขาว" พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่ ซึ่งในสมัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอัญเชิญหลวงพ่อขาวมาจากมูลดินอินทรารามในค่ายทหาร และมีใบเสมาหินชนวนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่โดยรอบ 8 ทิศ ปักในลักษณะใบเสมาคู่


🔸️อุโบสถ์หลังใหม่ : ทรงจัตุรมุขที่หน้าจั่ว ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร
   พุทธศิลป์ที่อ่อนช้อยแบบสุโขทัย แต่ปางขัดสมาธิเพชร มีใบเสมาบนฐานที่มียักษ์แบก กำแพงแก้วมีนางฟ้าเทวดาพนมล้อมอุโบสถ์ 

   บริเวณซุ้มประตูที่บูรณะมีลายไทย ทุกทางเข้ามีพระอินทร์ที่ดูแลชั้นจุฬามณีตามชื่อ สวรรค์ชั้นสูงสุด ทุกซุ้มที่ทำใหม่โดยนำลายเดิมจากองค์ปรางค์มาสร้าง


นอกจากนี้ยังมี🔸️พระวิหารเก่า : เป็นอาคารแบบทรงโรง ศิลปะสมัยอยุธยาลักษณะคล้ายพระอุโบสถของวัดราชบูรณะ และมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์อยู่ภายในวัดจุฬามณี อย่างเช่น "หลวงพ่อคง" พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย องค์สีเหลือง ศิลปะสุโขทัย ที่ประดิษฐานเดิมปรักหักพัง ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันสร้างพระวิหารหลังเล็กขึ้นมาใหม่เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อคง ด้านขวาขององค์หลวงพ่อคงมีหลวงพ่อดำที่อัญเชิญมาจากวัดจูงนาง

   สำหรับ "หลวงพ่อดำ" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นเนื้อสีดำ ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา ตามประวัติชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อดำมาทางเรือจากวัดจูงนาง เดิมหลวงพ่อดำมีสภาพชำรุด ต่อมาครูทิว บูรณเขต เป็นผู้บูรณะ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลังเล็กเช่นเดียวกับหลวงพ่อคง
   

🎯 : 50/3 หมู่2 ริมแม่น้ำน่าน ตำบล ท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก 65000

📱 : 090-0607121

🌏 : https://maps.app.goo.gl/e65peb...


   ก่อนจบทริปพิษณุโลก เราเลือกปิดท้ายกันที่วัดแห่งนี้ค่ะ มาแวะสักการะก่อนเดินทางกลับเชียงใหม่ ใคร!!! ที่มาเยือนพิษณุโลก ต้องไม่พลาดที่จะมาแวะวัดนี้กันด้วยนะคะ ที่สำคัญอีกอย่างมากราบไหว้ขอพร "หลวงพ่อเพชร" เพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ 🙏

🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต

ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄

❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️

https://www.facebook.com/TIEWD...

#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว 

#เที่ยวพิษณุโลก #พิษณุโลก

#วัดจุฬามณีพิษณุโลก #กำแพงแก้ว 

#ปรางค์ประธานแบบขอม #วิหาร 

#หลวงพ่อเพชร #มณฑป #หลวงพ่อขาว 

#อุโบสถหลังเก่า #อุโบสถ์หลังใหม่ 

#พระวิหารเก่า #หลวงพ่อดำ

เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว

 วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 08.40 น.

ความคิดเห็น