หนังไม่เหนียว...อย่ามาเที่ยววัดหนัง

          วันหยุดแบบนี้ถ้าคุณอยากชวนครอบครัว คนที่คุณรัก ออกไปเที่ยวหรือออกไปทำบุญในวันสำคัญสักที่หนึ่งแล้วไม่รู้จะไปที่ไหน ผมว่าที่ที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้ จะตอบโจทย์ครบทุกอารมณ์ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากรู้ต่อ เราจะขออนุญาตพาทุกท่านไปยังศาสนสถานแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธน กรุงเทพมหานครกันครับ


          วัดหนัง สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๒๖๐ ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2024) ก่อนจะกลายเป็นวัดร้างนานกว่า ๒๐๐ ปี และกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเนื่องจากสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทรงให้บูรณะขึ้นใหม่ (MGR Online, 2552) วัดแห่งนี้จึงมีศิลปะผสมทั้งไทยและจีนให้เราได้เห็นอย่างชัดเจน

          อดีตวัดหนังตามข้อสันนิษฐานและคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาบอกว่า ที่ชื่อวัดหนังเพราะสมัยก่อนจะอาจมีพ่อค้าแผ่นหนังมาตัดเย็บซื้อขายกันบริเวณนี้ หรืออีกในนึงในช่วงที่มีงานเทศกาลจะมีหนังใหญ่มาฉายบริเวณที่วัดแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าวัดหนัง ( อ.ป้อม, 2024) เมื่อสมัยก่อนวัดตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกรุงเทพมหานครแล้ว


"อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ
อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ"

           หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร หรือ พระภาวนาโกศลเถระ ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ เมื่ออายุครบ ๒๒ ปี ก็บรรพชาอุปสมบท ที่วัดราชโอรสาราม และมาเป็นศิษย์ของหลวงปู่รอด วัดหนัง 

          จนในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่เอี่ยม ไปปกครองวัดหนังเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ซึ่งหลวงปู่เป็นที่เคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์เป็นอย่างมาก โดยหากเวลารัชกาลที่ ๕ เสด็จมาวัดหนังก็จะเดินทางมาทางเรือโดยขึ้นท่าบริเวณศาลาทางขวามือ หากหันหน้าเข้าวิหารหลวงปู่ในปัจจุบัน (ศาลาเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของวัดแห่งนี้)

         โดยเรื่องราวของหลวงปู่มีมากมาย แต่ก็จะมีเหตุการณ์สำคัญในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เมื่อตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ ) ต้องเสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับนานาประเทศ ก่อนไปก็ได้เข้าไปพบหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่ก็ถวายคำทำนายว่า การเสด็จไปครั้งนี้ จะทรงบรรลุผลสำเร็จในพระบรมราโชบายทุกประการ  แต่จะต้องประสบภัยสองครั้ง 

  • ครั้งแรกขณะเดินทางในทะเลจะมีน้ำวน หลวงปู่จะถวายผ้ายันต์ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้าและคาถากำกับ เมื่อถึงเวลาคับขันให้ทรงเสด็จไปยืนที่หัวเรือ แล้วภาวนาคาถากำกับผ้ายันต์แล้วโบกผ้านั้น จะเกิดลมมหาวาตะพัดให้เรือหลุดพ้นและปลอดภัย
  • ครั้งที่สองในโอกาสที่ทรงไปประทับ ณ ประเทศหนึ่งนั้น จะมีผู้ทดสอบพระองค์โดยนำสัตว์สี่เท้าที่พยศมาให้ หลวงปู่จึงถวายคาถาให้สำหรับภาวนาตอนเอาหญ้าให้ม้านั้นกิน ก็จะคลายพยศและสามารถประทับบังคับให้ทำตามพระราชหฤทัยได้"

ซึ้งทั้งสองเหตุการรัชกาลที่ ๕ พระองค์ก็ทรงผ่านมาได้อย่างปลอดภัย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เล่าลือกันมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง ปู่ย่าตายายได้เล่าสืบทอดกันมาอันมีส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต (ban-phra, 2564)

           เมื่อเราเข้ามายังวัดจอดรถบริเวณลานด้านหน้าเราก็จะพบกับอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ ทรงม้าอยู่ และด้านหลังพระรูปก็จะเป็น วิหารหลวงปู่เอี่ยม ผู้คนสามารถเข้ามาสักการะบุชากันได้ และสำหรับวัตถุมงคลของท่านเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ ไม่ว่าจะเป็นพระปิดตายันต์ยุ่ง หรือเหรียญเสมาซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ ของวงการ เป็นที่ไฝ่ถวิลหาของใครหลาย ๆ คนเป็นอย่างมาก (รวมถึงคนเขียนตอนนี้ด้วย)

พระอุโบสถ

           เมื่อเดินออกจากวิหารหลวงปู่ทางซ้ายมือจะเป็นที่เช่าวัตถุมงคล ถัดมาจะเป็นซุ้มประตูหากเดินเข้าไปทางซ้ายมือจะเป็นพระอุโบสถ ที่มีศิลปะแบบไทย (มีช่อฟ้า) ผสมจีน (หน้าบันที่มีการแกะสลักลายดอกโบตั๋นสีแดง) 

          ภายในพระอุโบสถมีพระประธานที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า หลวงพ่อสุโข หรือสุขโข ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ศิลปะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ และที่สำคัญบนฐานชุกชีของพระประธานมีขนาดสูงมากมีตามลำดับขั้นจะมีปัญจวัคคีย์ทั้งห้าของพระพุทธเจ้าอีกด้วย 

        ส่วนบริเวณที่ฐานของพระประธานจะมีข้อความบ่งบอกว่าสร้างสมัยพญาลิไท“แต่แรกตั้งพระเจ้าองค์นี้ พ.ศ. ๑๙๖๖ พ่อพระยาเจ้าไทย พ่อขุนพ่อเมดเจ้า ไว้ให้นายลก คงบำเรอเป็นข้าพระเจ้านี้ชั่วลูก… ต่อสิ้นศาสนาและพระเป็นเจ้าแล” ( ธนภัทร์, 2022)

       นอกจากนี้ฝาผนังพระอุโบสถจะเป็นลายดอกไม้ร่วงแทนภาพเขียนพุทธประวัติ เสมือนตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพานก็จะมีดอกไม้ร่วงหล่นลงมา และที่ผนังตอนบนจะมีกระจกประดับ (เดิมเป็นภาพวาดแบบจีนแต่ชำรุดเสียหายไปแล้ว) มีความเชื่อทางคติจีนที่ว่า กระจกจะสะท้อนสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากพระอุโบสถอีกด้วย

พระวิหารพระเจ้าห้าพระองค์ 

           ถัดจากซ้ายมาขวาสุด ก็จะเป็นพระวิหารที่มีการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระอุโบสถ (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระอุโบสถเก่ามาก่อนที่จะบูรณะ) แต่ตัวอาคารมีขนาดเล็กกว่าพระอุโบสถเล็กน้อย ภายในแบ่งเป็นสองห้องเป็นตอนหน้ากับตอนหลัง สมัยก่อนตอนหน้าเข้าได้ประตูเดียว ถ้าหากจะไปตอนหลังต้องเดินออกและอ้อมไปเข้าประตูด้านหลัง (ปัจจุบันเจาะสามารถเดินทะลุผ่านได้) 

          เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงเห็นพระประธานองค์ใหญ่เป็นพระศิลาทรายแดง (ปัจจุบันบูรณะทำปูนครอบลงรักปิดทองไว้ สันนิษฐานว่าเป็นพระพระตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น) นั้นอยู่ต่ำกว่าเพดานมากทำให้มองแล้วไม่บาลานกัน พระองค์จึงให้ก่อกำแพงกั้นพลางตาเอาไว้ และรอบองค์พระประธานยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานเรียงกัน ๕ องค์ (รายการวัดว้าวว้าว หนุ่มคงกระพัน, 2023) 

กำแพงที่รัชกาลที่ 3 ทรงให้สร้างพลางตาพระประธานด้านหลัง

พระปรางค์

         ใจกลางที่ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถ และพระวิหาร  พระปรางค์องค์สูงใหญ่สร้างขึ้นตั้งสมัยรัชกาลที่ ๓ จากตัวองค์พระปรางค์มองไปด้านบนบริเวณเหนือครุฑขึ้นไปช่องที่ ๓ ภายในเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนบนสุดบริเวณฉัตรนั้นหลวงปู่เอี่ยมท่านเป็นผู้ยกไว้เองสมัยบูรณะในช่วงเวลานั้น (รายการวัดว้าวว้าว หนุ่มคงกระพัน, 2023) 

          ส่วนบริเวณหน้าพระปรางค์จะมีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ ๑ แท่น เรือนไฟหิน ๑ คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ ๑ คู่ โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ ๓ (ลุยกรุง & รอบกรุง, 2552)

พิพิธภัณฑ์

          สำหรับสถานที่นี่คือหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ก่อนอื่นต้องขิงความโชคดีของเราก่อน เพราะตอนเรามาได้พบกับผู้มีความรู้เกี่ยวกับวัดหนังแห่งนี้แบบเต็มสูตร ท่านนั้นคืออาจารย์ ป้อม ผู้เล่าเรื่องประวัติและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ภายวัดหนังในรายการหนุ่มคงกระพัน เราได้เจอแบบตัวเป็น ๆ และได้ความรู้เต็ม ๆ ขอบพระคุณอาจารย์ที่สละเวลาให้เราครับ

          ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเรือนไม้สองชั้น สถานที่แห่งนี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์อีกที่หนึ่งของวัด เพราะเป็นที่เก็บวัตถุมงคลรุ่นเก่า หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เอี่ยมขนาดเท่าองค์จริง (ภายในมีอัฐิของท่านบรรจุไว้ด้วย) ข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่ รวมถึงตาลปัตรงาช้างทั้งอันที่รัชกาลที่ ๕ ถวายให้หลวงปู่ อีกทั้งป้ายชื่อวัดหนัง (ป้ายเดิม) และระฆังใบสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยาอายุราว ๓๐๐ ปี รวมไปถึงอุปกรณ์ของใช้ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนคนธนบุรี อีกทั้งยังมีรูปถ่ายเก่า ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ  และสิ่งของอีกมากมายตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบันนั้น ถูกรวบรวมไว้ ณ ที่แห่งนี้ด้วย 

          โดยเราขออนุญาตลงรูปภายในพิพิธภัณฑ์บางส่วน ไม่ขอลงทั้งหมดเพราะอยากให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบทความนี้ ได้ไปเห็นกับตาตัวเองมากกว่า จะได้เห็นความสวยงาม ความคลาสสิก และความเข้มขลังแบบ 4K กันเลยทีเดียว   

ด้านบนชั้น 2 

          ส่วนการเดินทางมายังวัดหนังก็ง่ายมากเพียงขับรถแล้วเปิด GPS มา หรือจะนั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงสถานีวุฒากาศ พอลงมาจะมีรถกระป๋อสาย ตลาดพลู-วัดสิงห์ นั่งไปลงหน้าวัดนางนอง แล้วเดินเข้าซอยวัดเมื่อเดินข้ามสะพานลงมา ก็จะเจอวัดหนัง อยู่ทางขวามือ 

         ยังไงหากใครมีโอกาสลองแวะเวียนกันเข้ามาเที่ยวชมความสวยงาม เก็บเกี่ยวความรู้ และยังได้ทำบุญกับพระพุทธศาสนาอีกด้วย ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยเที่ยวให้สนุกความสุขมาก ๆ นะครับ ขอจบการนำเสนอด้วย เอวังประการฉะนี้

สวัสดี เสือซ่อนยิ้ม


ที่อยู่: 200 ซอย วุฒากาศ 42 แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150

พิกัด: วัดหนังราชวรวิหาร   

เวลาทำการ: ทุกวัน 06.00 - 18.00       

เสือซ่อนยิ้ม

 วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 09.30 น.

ความคิดเห็น