ดอยอ่างขาง เป็นดอยที่อยู่ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าดูจากแผนที่ประเทศไทยแล้วจะพบว่า บางส่วนของดอยอ่างขางจะติดกับพรมแดนไทย-พม่าด้วย

หลาย ๆ คนอาจจะมาอ่างขางแบบไปเช้า เย็นกลับ บางคนพักสักคืนนึง แต่สำหรับพวกเรา ตัดสินใจพักที่นี่กันถึง 2 คืนเลยทีเดียว ตอนแรกก็กลัวว่าระยะเวลาที่ใช้บนอ่างขางถึง 2 คืน มันจะน่าเบื่อไหม แต่ผิดจากที่คาด พวกเรากลับรู้สึกว่าเวลาบนดอยอ่างขางนั้นเดินเร็วกว่าที่คิดเสียอีก

จากกรุงเทพบินมาลงเชียงใหม่ หลังจากนั้นเพื่อนร่วมทางก็ขับรถมารับพากันไปกิน ข้าวซอยอิสลาม แล้วมุ่งตรงไปทางเชียงดาวทันที



:::หนทางสู่อ่างขาง:::

แวะกันที่แรกที่ วัดถ้ำเชียงดาวค่ะ

ที่นี่นอกจากมีวัดแล้วก็จะมีถ้ำให้เราเข้าไปปีนป่ายกันพอให้ได้เหนื่อย


หลังจากนั้นก็แวะเติมพลังที่ เชียงดาวเนสท์ บรรยากาศเงียบ ๆ อากาศเริ่มเย็นนิดนึงแล้วค่ะ


ขับ ๆ ระหว่างทางก่อนขึ้นดอยอ่างขาง ถึง บ้านอรุโณทัย แวะอีกแล้ว อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ ซื้อขนมขบเคี้ยว เดินพักขาหน่อย เห็นใจคนขับค่ะ บรรยากาศช่วงนี้เป็นช่วงก่อนตรุษจีนพอดี เลยมีของประดับสไตล์จีนขายเยอะเลย


หลังจากขับขึ้นดอยมาได้สักระยะ ก็แวะตรง โรงเตี๊ยมถ้ำง้อบค่ะ จะมีจุดชมวิวเล็ก ๆ อยู่ มีต้นพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยด้วย แต่น่าเสียดายที่เป็นแบบที่ถูกตัดออกมาจากต้นเพื่อมาประดับให้สวย ๆ สังเวยนักท่องเที่ยวอย่างพวกเรา ถ้าเจ้าพวกนี้ยังอยู่บนต้นคงจะมีโอกาสได้โชว์ความสวยงามนานกว่านี้นะ และเป็นธรรมชาติมากกว่าด้วย เห็นแล้วก็หดหู่

เอ๊ะ! หรือว่ายิ่งตัดยิ่งออกดอกสวยเหมือนต้นหม่อนที่ยิ่งตัด ยิ่งออกลูกดี ขอเชิญผู้รู้มาอธิบายด้วยค่ะ

เจ้าดอกไม้ที่น่าสงสาร เหยื่อการท่องเที่ยวแท้ ๆ

ตรงจุดนี้มีพวกน้ำขิงร้อนขาย กินแล้วสดชื่นดีค่ะ ใครเริ่มเมารถก็น่าจะช่วยได้ พวกบ๊วยรสต่าง ๆ ก็มีให้เลือกมากมาย



:::พักกาย พักใจที่อ่างขางวิลล่า:::

เรามาถึงที่พักก็ช่วงบ่ายแก่ ๆ เริ่มเย็นแล้ว อากาศหนาวแตกต่างจากพื้นราบที่เราจากมามาก เช็คอินเสร็จต้องรีบไปหาเสื้อกันหนาวมาใส่เพิ่มเลย

ซอยเล็ก ๆ หน้าที่พัก จะมีขายพวกนมสดผสมน้ำผึ้งป่า น้ำขิงผสมน้ำผึ้งป่า น้ำเก๊กฮวยผสมน้ำผึ้งป่า น้ำโสม แบบต้มร้อน ๆ ใส่แก้วกระดาษขาย ดื่มช่วงอากาศแบบนี้แล้วฟินมาก ดื่มไปด้วย เอาไว้อังมือให้อุ่นด้วย

ที่พักเราสองคืนนี้อ่างขางวิลล่า ต้องขับรถขึ้นเนินชันขึ้นมา

บรรยากาศภายนอกมีดอกไม้เมืองหนาวรอต้อนรับพวกเราเยอะแยะเชียว

เข้าไปดูข้างในกันบ้างดีกว่า ไล่มาจากด้านในสุดของตัวบ้านห้องน้ำ จะมีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ เวลาอาบน้ำอุ่นจนควันเต็มห้องเชียว เวลาอาบน้ำจะไม่อยากออกไปข้างนอกเลย เพราะข้างนอกหนาว

ส่วนของสุขา พื้นเป็นไม้ด้วย

ถัดออกมาเป็นห้องแยกสำหรับแต่งตัว มีที่วางของ ราวแขวนเสื้อ สะดวกสบายเลยทีเดียว อาบน้ำเสร็จก็ค่อยออกมาแต่งตัวข้างนอก

อ้าว! ลืมถ่ายบรรยากาศห้องนอนมาซะงั้น เป็นรูปเช้าของอีกวันนะคะ ห้องรกไปหน่อย ภายในห้องจะมีฟูกวางเรียงกันบนพื้นเรียงเป็นแถว มีทีวีด้วย

ลองมาเดินดูรอบ ๆ บ้านกันบ้าง มีที่ก่อกองไฟ สำหรับนั่งผิงตอนกลางคืนด้วย

ดอกไม้เมืองหนาวแข่งกันอวดสีสันใหญ่เลย

ต้นไม้ใบเขียวก็เขียวสดชื่นมาก




:::เดินสำรวจ:::

เก็บของเสร็จก็ได้เวลาออกไปเดินสำรวจรอบ ๆ กันค่ะ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

แน่นอนหล่ะว่ามาดอยแบบนี้ก็ต้องพวกบ๊วย ของดอง ของอบแห้ง ถั่วต่าง ๆ ที่เราชอบมากที่สุด จะเป็น เมล็ดอัลมอนด์อบเนย กลิ่นเนยหอมฟุ้งจรุงมาก แต่ไม่ได้มีถ่ายรูปติดมา

พวกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ ก็เยอะ สวรรค์น้อย ๆ ของคนที่รักการทำอาหารเลยหล่ะ

นอกจากนี้ก็ยังมีของกิน พวกเสื้อชาวเขา ของใช้ชาวเขา

ของกินเล่นที่ดูจะถูกใจพวกเราที่สุดน่าจะเป็นร้านนี้ เป็นพวกของทอด เห็ดทอด ข้าวเกรียบ โดยมีสูตรเด็ดที่ น้ำจิ้มโสม รสแซ่บ กินแล้วเข้ากับของทอดเป็นอย่างดี

เครื่องกันหนาว ทั้งหมวก ถุงเท้า ผ้าพันคอ เสื้อกันหนาว ชุดนอน ฯลฯ หลากแบบ หลากสีสันก็มีให้เลือก

เจอ สวรรค์น้อย ๆ ของคนรักการทำอาหารอีกแล้ว วัตถุดิบต่าง ๆ ดูสดมาก และก็ราคาไม่แพงด้วย

ไม่เคยได้ยินชื่อมันชนิดนี้เลย เค้าเขียนผิด หรือมันชื่อนี้จริง ๆ

ใบชาก็มีขายหลายร้าน ที่คนพื้นราบอย่างเราไม่ค่อยเห็นบ่อยก็คือ ต้นโสม เอาไว้ทำอาหารได้ค่ะ

กะหล่ำหัวใจ สดจริง ๆ เห็นแล้วคันไม้คันมือ อยากจับไปทอดน้ำปลา


สำรวจกันจนครบแล้ว พวกเราก็พากันไปกินข้าวเย็นในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกันค่ะ ได้ยินมาว่ามีอาหารแบบบุฟเฟ่ท์



:::บุฟเฟ่ท์สโมสรอ่างขาง:::

สำหรับคนที่พักบนดอยอ่างขาง สถานที่สำหรับกินตอนเย็นก็จะมีทั้งภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และร้านค้าข้างนอกให้เลือกมากมาย วันนี้เราจะลองเข้าไปกินที่สโมสรอ่างขางซึ่งอยู่ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางกันค่ะ

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นโครงการหลวงแห่งแรก โดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่คือ ท่านภีหรือหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระราชดำริ ดำเนินงานช่วยก่อตั้งโครงการหลวงให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ที่ไม่มีความเจริญเลย ชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น แต่ยังจน จึงทรงต้องการแก้ปัญหานี้

ท่านภีต้องใช้วิธีเข้าไปโน้มน้าวใจชาวเขาให้มาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น โดยเดินเท้าขึ้นดอยไปคนเดียวโดยมีของจำเป็นเพียงไม่กี่อย่างติดตัวไป ไปกินอยู่คลุกคลีกับชาวเขาจนสามารถโน้มน้าวให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อนำลงมาขายข้างล่างให้ได้ราคาดี

"พอคุ้นเคยกันแล้ว ผมก็เอาถั่วแดงหลวงไปให้เขาดู และบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวอยากให้ทดลองปลูกแทนฝิ่น และถ้าผลผลิตออกมาจะช่วยเรื่องขายให้ เขาก็บอกกลับมาว่า ปู่เขาปลูกฝิ่น พ่อก็ปลูกฝิ่น ตัวเขาเองก็ปลูกฝิ่น แต่ดูสิ เขายากจน ลูกเขาไม่มีอาหารกินอย่างเพียงพอ ดังนั้นเขาจะรับถั่วพระเจ้าอยู่หัวไปปลูก"

โครงการหลวงแห่งแรกนี้ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512



เนื่องจากเราจอดรถอยู่ไว้ตรงที่พัก แล้วขี้เก ียจเดินกลับไปเอา พวกเราเลยใช้การเดินเข้าไปที่สโมสรอ่างขาง ซึ่งระยะทางราว 1 กิโลเมตร แต่! เดินเข้าจริง รู้สึกว่ามันจะไกลกว่านั้นนะคะ อาจจะเป็นเพราะมีบางช่วงเป็นทางเดินขึ้นลงเนินด้วย

ยังดีที่มีวิวดอกไม้ ต้นไม้สวย ๆ ให้ดูเล่นระหว่างทางเพลิน ๆ




ทุ่งดอกลาเวนเดอร์ กลิ่นของดอกลาเวนเดอร์มีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลาย ลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ทำให้หลับดีขึ้น ไม่รู้ว่าคืนนี้จะหลับดีเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง เดินเยอะ หรือเพราะกลิ่นลาเวนเดอร์

เดินจนสงสัยว่าเราเดินมาถูกทางกันไหม

แวะค่ะ ตอนแรกเข้าใจว่าถึงแล้ว แต่ทำไมเงียบจัง สรุปแล้วคือไม่ใช่ ต้องเดินต่อไปอีก

เห็นแล้วค่ะ สโมสรอ่างขางอยู่ลิบ ๆ แถมมีต้นพญาเสือโคร่งยืนรอรับพวกเราอยู่ด้วย

อากาศค่อนข้างหนาวมาก ด้านนอกอาคารจะมีเตาไฟแบบนี้จุดไว้เป็นระยะ แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก เพราะหนาวจริง ๆ ช่วงที่ไปนี่ ตอนกลางคืน อุณหภูมิเลขตัวเดียวตลอด ส่วนข้างในอาคารก็มีเตาผิง

บรรยากาศของห้องอาหารตอนที่เราไปถึง คนยังไม่เยอะค่ะ

อาหารมีให้เลือกไม่เยอะเท่าไร

พวกอาหารเหนือ ข้าวเหนียว น้ำพริกก็มีค่ะ

ไม่ได้ถ่ายแบบซูมใกล้ ๆ มาเลย

ในบรรดาอาหารที่มีบาร์บีคิวดูน่ากินที่สุดแล้ว แต่ด้วยความที่ควบคุมไฟยาก ทำให้ย่างได้แบบไหม้บ้าง ดิบบ้าง ไม่พอดีสักที

บาร์บีคิวหมูกับไก่ พร้อมกินแล้ว

ส่วนอาหารอื่น ๆ ไม่ได้ถ่ายมาเลย กินอย่างเดียว

ลองมาดูของหวานกันบ้าง ลูกพีชลอยแก้ว

ถั่วแดงน้ำขิง

อาหารโดยรวมรสชาติพอใช้ ถ้าเทียบกับอีกมื้อที่มาสั่งกินตอนกลางวัน (เดี๋ยวจะมีพูดถึงในช่วงต่อไป) สั่งมาแบบเป็นจานอร่อยกว่าค่ะ และคิดว่าคุ้มกว่าด้วย

ก่อนกลับแวะดูของฝากที่ร้านโครงการหลวงกันสักหน่อย

พากันเดินกลับ คืนนี้มองเห็นดาวบนฟ้าเต็มเลย แต่ถ่ายไม่เป็น เก็บมาได้แต่ความทรงจำ

ดูอุณหภูมิวันนี้ต่ำสุด 4.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิยอดหญ้า 2.5 องศาเซลเซียส ราวกับว่าเดินเล่นอยู่ในตู้เย็นเลยทีเดียว

คืนนี้คิดให้ดีก่อนอาบน้ำนะคะ




:::แสงแรกของวันบนยอดดอย:::

อากาศตอนเช้ามืด หนาวมาก หนาวจนไม่อยากออกจากผ้าห่ม กว่าจะขุดแต่ละคนออกมาจากผ้าห่มได้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ใส่ถุงเท้าสองชั้นเดินบนพื้นไม้ในบ้านก็สะดุ้งแล้ว

เช้านี้พวกเราจะออกไปสัมผัสแสงแรกของวันที่ จุดชมวิวม่อนสน

กว่าจะมาถึง พระอาทิตย์ขึ้นไปแล้วค่ะ แต่คนยังอยู่ถ่ายรูปกันเยอะเลย

สำหรับคนที่เมื่อคืนกางเต็นท์นอนตรงนี้ จะได้อาบแสงแรกของวันไปเต็ม ๆ ค่ะ

ถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่มีหมอก แต่ก็สวยไปอีกแบบค่ะ

ไปต่อกันที่ จุดชมวิวฐานปฏิบัติการดอยอ่างขาง เห็นแดดแรง ๆ แบบนี้ ก็ยังหนาวสั่นเลยนะ


บ้านทหารม้า ตอนไปไม่เห็นม้า เจอแต่น้องหมาอาบแดด

แวะกินอาหารเช้ากันค่ะ มีโจ๊ก ซาลาเปา ปาท่องโก๋ น้ำขิง น้ำโสม มันปิ้ง ดูแสนธรรมดา แต่กินในบรรยากาศแบบนี้ อร่อยมาก ๆ

โจ๊กมาแล้ว

ไปสัมผัสแสงเช้ากันต่อที่ จุดชมวิวขอบด้ง มารับพลังเพื่อสังเคราะห์แสงกันค่ะ


วิวทิวเขาสวยมาก ๆ

ดอกไม้ข้างทาง หน้าตาเหมือนดอกไม้กระดาษเลย

ระหว่างทางเดินกลับไปที่จอดรถ

ล่อน้อย สำหรับขี่เดินเข้าไปชมวิว หรือถ่ายรูปคู่ก็ได้ เชื่องมาก



:::สุดชายแดนที่นอแล:::

หมู่บ้านนอแลเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในฐานปฏิบัติการชายแดนไทย-พม่า ชาวบ้านที่อยู่อาศัยที่นี่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปะหล่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือชาวปะหล่อง ถึงแม้ว่าพวกเค้าจะไม่ใช่คนไทยแท้ และก็ให้มีการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของชาวปะหล่องอีกด้วย

ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ค่ะ

ที่นี่เราจะออกเดินเที่ยวชมรอบ ๆ กันด้วยการนำของน้อง มัคคุเทศก์น้อย น้องคุยเก่งเล่าเรื่องได้ดี หลังจากเที่ยวเสร็จ อย่าลืมให้สินน้ำใจน้อง ๆ กันนะคะ

เห็นธงโบกสะบัดอยู่ไกลลิบนั่นไหม ธงพม่าค่ะ

มีบังเกอร์อยู่หลายจุด

ปกติชายแดนตรงนี้ก็สงบดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร

เดินไปแอบดูฝั่งพม่ากันค่ะ


หลังจากเดินชมรอบ ๆ แล้ว สุดท้ายเราก็ไปช้อปปิ้งซื้อเสื้อชาวเขา กับผ้าทอ

ถ้าเป็นแบบที่ชาวเขาเค้าใส่กันจริง ๆ แต่ละแบบจะมีตัวเดียวในโลก และมีราคาแพงกว่าแบบทั่วไปที่ขายนักท่องเที่ยวนะคะ เพราะแต่ละบ้านเค้าทำกันเอง จะมีรายละเอียดไม่เหมือนกันเลยสักตัว ขนาดผ้าถุงที่น้องเค้าใส่ ที่มีสีแดงลายขวางธรรมดา แต่ละบ้านก็ตัดเย็บรายละเอียดไม่เหมือนกัน ต้องลองถามดูหลาย ๆ ร้าน เลือกดูว่าแบบไหนถูกใจเราที่สุด



:::ชิมสตอเบอร์รี่สด:::

ความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวหลายคน เวลามาเที่ยวที่อากาศหนาว ๆ ก็มักจะต้องนึกถึงสตอเบอร์รี่เป็นธรรมดา มาถึงขนาดนี้แล้ว จะพลาดไปชมไร่สตอเบอร์รี่ได้ยังไงกันล่ะคะ

แต่! พอจอดลงมาเจอน้องหมาผอมโซ ขาเดินกระเผลก ๆ อยู่ สงสารน้องหมา ทำให้ความอยากสตอเบอร์รี่ลดลงไป 50% เลยทีเดียว เราก็ไม่รู้ว่าจะช่วยน้องหมายังไงดี น้องผอมจนกระดูกโปนขึ้นมา เราเลยรีบวิ่งไปหาซื้อของกินมาให้น้องหมา เจอแค่ไข่ต้มเอามาแกะให้กิน

ตอนแรกเราก็แกะแบบให้ทั้งเปลือก เพื่อเสริมแคลเซียม เหมือนเวลาเราให้หมาที่บ้าน ปรากฎว่าน้องไม่กินอ่ะ

ต้องแกะเปลือกให้ด้วยถึงยอมกิน คุณหนูนะเรา

ได้แต่หวังว่าน้องจะมีชีวิตรอดปลอดภัย ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ อีกจนชั่วอายุขัยนะ

เดินไปไร่สตอเบอร์รี่กันค่ะ ถ่ายรูปได้ แต่ห้ามเก็บนะคะ

เท่าที่เจอมีแต่ลูกสีขาวทั้งนั้นเลย

แบบที่กินได้แล้ว สีก็ไม่ค่อยแดงเท่าไรนะคะ ยังดูขาว ๆ อยู่ แต่หวานกรอบดี เพิ่งรู้ว่ากินสตอเบอร์รี่แบบไม่ต้องล้างนี่ได้รสชาติกรอบอร่อยมาก ถ้าล้างแล้ว ถึงแม้จะกินทันทีเลย ก็ยังรู้สึกว่าเนื้อยุ่ย ๆ หน่อย

คนขายบอกว่า กินได้เลย เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี จริงหรือเปล่าไม่รู้นะ ตอนไปเจอเค้าขายสตอเบอร์รี่อีกทีที่ไร่ 2000 เค้าก็บอกว่าไม่ใช้สารเคมีเหมือนกัน กินได้เลย

ก่อนกลับเห็นมีรถจอดแล้วคงมุงกันเต็ม เลยมาขอมุงบ้าง เค้ากำลังเลือกเมล็ดกาแฟกันค่ะ กลิ่นหอมฟุ้งเชียว



:::ไร่ชา 2000:::

บริเวณไร่ชาจะมี กังหันลมผลิตไฟฟ้าระบบไฮบริดให้กับโรงงานผลิตชา กังหันลมนี้ผลิตพลังงานได้จากทั้งลมและแสงอาทิตย์ หลังจากนั้นก็จะแปลงพลังงานที่ได้ผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งต่อเข้าไปในระบบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอฝาง สำหรับใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการในโรงงานแปรรูปชาทั้งหมด

ตอนที่นั่งอยู่นี่ เข้าใจเลยค่ะว่า ทำไมเลือกที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ลมก็แรง แสงแดดก็แรงจริง ๆ

ที่นี่มีร้านขายชา ให้ชิมชาไป ชมวิวไร่ชาขั้นบันไดไป ได้บรรยากาศที่ผ่อนคลายมากเลยค่ะ

ที่ไร่ชา 2000 นอกจากจะมีไร่ชาแล้ว ยังมีโรงงานชาที่ใช้วิธีการผลิตชาแบบอินทรีย์ ชาที่ปลูกมี 2 ชนิดคือ พันธุ์ก้านอ่อน และพันธุ์เบอร์ 12 ผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFOAM



:::นมัสการพระธาตุดอยอ่างขาง:::

ทริปการมาเที่ยวดอยอ่างขาง มีนักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะได้มานมัสการพระธาตุดอยอ่างขาง

ปกติจะไปนมัสการองค์พระธาตุต้องเดินขึ้น ที่นี่เราต้องเดินลงค่ะ

พระธาตุดอยอ่างขางสร้างเนื่องมาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระราชทานพระบรมธาตุให้สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จึงได้มีการรวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาสร้างธรรมศาลานี้ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา

บรรยากาศโดยรอบเป็นป่า ถ้ามากันคนเดียว หรือสองคนก็คงจะวังเวงน่าดู

เหนื่อยตอนเดินกลับนี่หล่ะค่ะ ต้องรีบไปหาอะไรกินกันแล้วสิ



:::เมนูโครงการหลวง:::

หลังจากเมื่อคืนกินอาหารใน สโมสรอ่างขางยังไม่หนำใจ ยังไม่ได้ลิ้มรสปลาสเตอร์เจี้ยน เป็ดอี้เหลียง เลยเป็นเหตุให้วันนี้พวกเราขอกลับไปแก้ตัวกันอีกรอบด้วยการกินมื้อกลางวัน

ว่ากันด้วยอุณหภูมิของวันนี้ อุณภูมิช่วงกลางวันกำลังเย็นสบายเลย ส่วนตอนเย็นกับตอนเช้านั้น หนาวมาก ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ระหว่างรออาหารก็เดินชมสวนถ่ายรูปเล่น

อาหารมาเสิร์ฟแล้วค่ะ แต่ไม่ได้ถ่ายมาทั้งหมด เนื่องจากตอนนั้นหิวมาก กินแล้วชอบมากกว่าตอนกินบุฟเฟท์เมื่อคืนนะคะ

กินเสร็จก็พากันไปอาบน้ำค่ะ อาบน้ำตอนบ่ายนี่ล่ะค่ะดีแล้ว หนาวแบบเมื่อวานอาบตอนเย็นไม่ไหวแน่



:::ตะลุยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง:::

หลังจากได้ไปอาบน้ำ นอนพักพุงกันมาสักครู่แล้วก็ออกมาเที่ยวกันต่อค่ะ บ่ายแก่ ๆ แล้วยังไม่ได้เข้าไปดูในสถานีเกษตรหลวงแบบจริงจังซะที

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จุดท่องเที่ยวบนดอยอ่างขางที่ห้ามพลาด ตัวเราเองเคยมาเมื่อครั้งสมัยเด็ก ๆ ภาพที่จำติดตาก็คือ ภาพดอกท้อ ดอกบ๊วย และอากาศหนาว ๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่เคยอ่านสมัยเด็ก ๆ จากในหนังสือนิตยสาร ที่เมื่อไรถ้าพูดถึงดอยอ่างขาง เราจะต้องนึกถึงก็คือ ในหลวง และหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

เราแวะจุดแรกที่ เรือนดอกไม้ เป็นเรือนที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากสีไว้ในโรงเรือน รออวดโฉมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชื่นชม


เรือนวิจัยกุหลาบ มีดอกกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์ แข่งกันออกดอกที่ทั้งสวย ทั้งหอม ขนาดคนที่ปกติเฉย ๆ กับดอกกุหลาบอย่างเรา ยังอดตื่นเต้นไม่ได้


สวนดอกไม้ เป็นสวนกลางแจ้ง ปลูกดอกไม้นานาชนิด



สวน 80 ภาพจะมีทั้งตอนมืดและสว่างนะคะ เพราะแวะหลายรอบ จุดเด่นในสวนนี้ก็จะเป็นแปลงพืชพวกกะหล่ำขนาดใหญ่ ใหญ่และสวยมากเสียด้วย นอกจากนี้ก็มีต้นซากุระพันธุ์ต่าง ๆ พญาเสือโคร่ง มีป้ายอธิบายรายละเอียดความแตกต่างไว้ด้วยค่ะ


ซากุระ และพญาเสือโคร่งระหว่างทาง ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจะมีทั้งต้นซากุระและพญาเสือโคร่งขึ้นระหว่างทาง สามารถแวะจอดถ่ายรูปได้ค่ะ


แปลงรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว เป็นส่วนที่เราชอบมากที่สุดเลย เพราะทั้งเรือนเพาะนี้จะถูกอัดแน่นไปด้วยพืชผักเมืองหนาวกินได้เต็มไปหมด บางอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนเลยด้วย เช่น ดอกกะหล่ำม่วง ผลฟิกซ์สด และอื่น ๆ อีกหลายอย่างเรียกชื่อไม่ถูกเหมือนกัน เดินกรี๊ดกร๊าด วี้ดว้าย กระตู้วู้ สำรวจมุมนู้น มุมนี้ มีความสุขมาก

กะหล่ำปลีที่สดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว อยากดึงกลับบ้านไปด้วยจัง

พวกผักแบบนี้ปลูกเป็นไม้ประดับยังสวยเลย เคยปลูกเองไม่เห็นอวบแบบนี้

อุต๊ะ มีดอกกะหล่ำม่วงด้วย

อุ๊ย อุ๊ย มีอวดโฉม อยากกลับไปด้วยหล่ะสิ


สวนบอนไซ เป็นสวนที่รวบรวมบอนไซทรงแปลก ๆ ไว้มากมาย


สวนกระบองเพชร และปาล์ม บรรยากาศเหมือนหลุดไปอยู่ในจูราสสิกปาร์ค



แปลงบ๊วย ต้นไม้รูปร่างประหลาดที่เราชอบ เวลาเข้าไปถ่ายรูปในนี้เหมือนกับหลุดไปอีกโลกนึง


แปลงพีช เนคทารีน พลัม พวกเราขับรถผ่านเห็นคนถ่ายพรีเวดดิ้งกันอยู่ เลยเข้าไปถ่ายด้วย ตอนดูใกล้ ๆ ดอกสวยมาก



:::อาหารอุ่นบนยอดดอย:::

คืนสุดท้ายบนดอยอ่างขาง พวกเราเลือกที่จะไปหม่ำสุกี้ยูนนานค่ะ อากาศหนาว ๆ แบบนี้กิน สุกี้ยูนนานรู้สึกอุ่นดีจัง แถมมีทั้งผักสด ๆ และเต้าหู้ยัดไส้ กินแล้วรู้สึกสุขภาพดีจริง ๆ

หลังจากนั้นก็ตบท้ายด้วย ชาปากี และโรตีดอย

ชารสมัน ๆ เข้มข้นดีค่ะ



:::โบกมือลาอ่างขาง:::

ในที่สุดพวกเราก็ต้องโบกมือลาดอยอ่างขางเสียที อยู่มาถึงสองคืนเต็ม ไม่คิดว่าเวลาจะผ่านไปรวดเร็วขนาดนี้

ขากลับพวกเรามาพักชมวิวและเข้าห้องน้ำกันที่ จุดชมวิวดอยผาแดง

หลังจากนั้นไปแวะกินอาหารกันที่ ร้านภิรมย์ บะหมี่เกี๊ยวยูนนาน บ้านอรุโณทัย

วัตถุดิบร้านนี้ทำกันสด ๆ ในร้านเลยทีเดียว

ทุกจานจะมีผักดองมาให้กินแกล้มด้วย เปรี้ยวแซ่บอร่อยดี

กินกันอีกครั้งที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว


ขนมจีนน้ำเงี้ยว อร่อยดีค่ะ จานใหญ่มากด้วย ลองเทียบกับหน้าดู

นอกจากนี้ยังมีสวนผักสวย ๆ ให้ไปถ่ายรูปด้วย

ลองดูพวกผักสลัดที่โคนต้นไม้สิคะ ขนาดปลูกเป็นไม้ประดับเหมือนไม่ตั้งใจปลูก ยังงามมากเลย

หลังจากนี้พวกเราก็แวะกินระหว่างทางไปเรื่อย จนไปถึงตัวเชียงใหม่ก็เที่ยวอีกนิดหน่อยค่ะ กลับไฟล์ทกลางคืน

แล้วพบกันใหม่ทริปหน้านะคะ


ความคิดเห็น