การมาเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้ ....เราเดินทางมาหาความสุขกัน ค่ะ 1 ใน 38 เส้นทางความสุข โครงการหลวง คือ เส้นหางดง – สะเมิง ซึ่งจะผ่านโครงการหลวงที่เราจะแวะ คือ สวนกุหลาบ ห้วยผักไผ่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง , สถานีเกษตรหลวงปางดะ และพักที่ไร่สตอเบอรี่ชื่อดัง " ไร่ นภ-ภูผา " พร้อมแล้วลุยกันเลยค่ะ!!!

วันแรกหลังจากรับรถที่เราเช่าขับในตัวเชียงใหม่ แล้วเราก็มุ่งหน้าไปไหว้พระที่วัดพระธาตุดอยคำก่อน หลังจากไหว้พระแล้ว เราใช้เส้นทางด้านหลังอุทยานราชพฤกษ์ ลัดไปออกสะเมิงได้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที ก็ถึงสวนกุหลาบห้วยผักไผ่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง

สวนกุหลาบเป็นหน่วยงานย่อยที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ ทุ่งเริง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่เต็มไปด้วยแปลงกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์ ที่จัดไว้อย่างสวยงาม ทำเป็นซุ้มและทางเดินกุหลาบ และภายในสวนกุหลาบ ยังมีร้านอาหารออแกนิค อาหารเพื่อสุขภาพ ร้านกาแฟ อาหารว่าง และเครื่องดื่มหลายเมนู น้ำผักออร์แกนิคปั่น น้ำมะเขือเทศ น้ำมัลเบอร์รี่ น้ำเสาวรสโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวง นำมาผลิตและจำหน่าย ที่เราชอบมากคือ น้ำเสาวรสปั่น อมเปรี้ยว อมหวาน อร่อยดีค่ะ ราคาไม่แพง บรรยากาศภายในร้าน ซึ่งอยู่ในสวนกุหลาบ นั่งทานอาหาร จิบกาแฟไปชมวิวสวนกุหลาบไป ได้กลิ่นหอมอ่อนของกุหลาบอีกด้วย...คือดีนะ ^_^ เราใช้เวลาในการถ่ายรูปภายในสวน ได้เกือบครึ่งวันเลยทีเดียว และยังได้พบกับ หัวหน้าของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงด้วยค่ะ คุณประพันธ์ มาลาศรี เลยขออนุญาตสอบถามถึงความเป็นมาของที่นี่ หัวหน้า....เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จมาที่โครงการหลวงทุ่งเริง 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้มีชาวบ้านถวายฎีฏาขอให้ตั้งโครงการหลวงเพื่อช่วยพัฒนาชาวบ้านให้มีพื้นที่ทำกิน เนื่องจากชาวบ้านสมัยนั้นยังปลูกพืชไร่เลื่อนลอย พืชผัก ปลูกแบบตามมีตามเกิดรายได้พอประทังชีวิตไปวันๆ จนกระทั่งปี พ.ศ.2521 ในหลวงได้รับสั่งให้กรมพัฒนาที่ดิน และกรมชลประทาน จัดพื้นที่ทำกินให้กับเกษตรกร และกรมชลฯ จัดการด้านแหล่งน้ำตั้งแต่ปีนั้นมา จนถึงปี พ.ศ.2525 ทางโครงการหลวงได้ส่งบุคลากรเข้ามาโดยให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีมโดย อาจารย์สืบศักดิ์ นวจินดา ได้ทำการหาพืชพันธุ์ต่างๆ มาให้ชาวบ้านปลูก เช่น อโวคาโด เป็นไม้ผลที่นำมาปลูกในครั้งแรก ต่อมาปี พ.ศ.2542-2543 เริ่มมีการส่งเสริมปลูกพืชผักให้กับเกษตรกร ทำให้เริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี พ.ศ.2549 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นปลูกผักอินทรีย์ รายได้ต่อครัวเรือนประมาณ 20,000 บาท/ปี และต่อมาจนถึงปัจุบันเปลี่ยนเป็นปลูกผักในระบบโรงเรือน หลังจากนั้นมาชาวบ้านเริ่มมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิม เดิมจากปี พ.ศ.2549 เกษตรกรมีรายได้หลักหมื่นต่อครัวเรือน ปัจจุบันรายได้ต่อครอบครัวประมาณ 120,000.-บาท /ปี ภายในระยะเวลาแค่ 10 ปี ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์และการปลูกอะโวคาโดที่สำคัญของโครงการหลวง สามารถเข้าไปศึกษาดูงาน เรียนรู้ด้านการปลูกผักอินทรีย์ได้อีกด้วย หรืออยากชมสวนกุหลาบ การเพาะพันธ์ุกุหลาบ ก็สามารถมาดูได้เช่นกันค่ะ อีกทั้งทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงยังได้เข้าไปส่งเสริมพื้นที่ว่างเปล่าภายในหมู่บ้านห้วยผักไผ่ โดยเผยแพร่หลักวิชาการปลูกกุหลาบเมืองหนาวให้คนในพื้นที่อีกด้วย พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนมาถึงปัจจุบันสวนกุหลาบได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเข้าไปชื่นชมความงามภายในสวน แวะถ่ายรูป แวะทานอาหาร หรือซื้อสินค้าของโครงการหลวง ได้ทุกวันตั้งแต่ เวลา 08.00 น. - 20.00 น. สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สวนกุหลาบห้วยผักไผ่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงเบอร์โทรศัพท์ 099-135-1118

กราบขอบคุณ คุณประพันธ์ มาลาศรี หัวหน้าของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ที่ให้ข้อมูลและความรู้ เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการหลวงและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ ก่อนที่โครงการหลวงจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งทำกิน เพื่อให้มีรายได้ต่อครอบครัวดียิ่งขึ้น

( ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติเพื่อดำเนินการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้มีความรู้ และมีรายได้พอกิน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ ทดแทนการทำลายป่าจาก การทำไร่เลื่อนลอย ) ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง http://www.thairoyalprojecttour.com/

หลังออกจากที่นี่ เราก็มุ่งหน้าไป สภานีเกษตรหลวงปางดะ เป็นสถานีวิจัย 1 ใน 4 ของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นศูนย์การเรียนรู้การขยายพันธุ์ไม้ผล วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกเขตร้อน พืชผัก พืชไร่ ไม้ผลขนาดเล็ก ไม้ผลเขตหนาว ควบคู่ไปกับงานทดสอบสาธิต ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกร สิ่งที่เราได้เห็นเป็นอย่างแรกหลังจากที่เข้าไป ภายในสถานีฯ คือแปลงสาธิตการปลูกองุ่น ลูกโตและพวงสวย ที่ปลูกเรียงรายเต็มแปลง ใช้เวลาถ่ายรูปได้สักพักต้องรีบกลับออกมาเพื่อเข้าที่พัก ก่อนจะมืดค่ะ เพราะเส้นทางสะเมิง โค้งเยอะ และถนนค่อนข้างชัน จึงต้องระมัดระวังในการขับรถอย่างมาก

ถึงไร่นภ-ภูผา ก่อนค่ำพอดี ยังทันแสงเย็น ที่พักน่ารัก ๆ ราคาไม่แพง คืนละ 1000.-บาท ด้านหน้าที่พักเป็นไร่สตอเบอรี่ กว้างสุดตาเลยทีเดียว หากคิดถึงสะเมิง ต้องนึกถึงสตอเบอรี่......ไร่ นภ-ภูผา เปิดเป็นที่พัก และร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงมีไร่สตอเบอรี่ ให้นักท่องเที่ยว สามารถเก็บได้ โดยเก็บใส่ตะกร้าที่ทางไร่เตรียมไว้ให้ เสร็จแล้วนำมาชั่งกิโลด้านหน้า ขีดละ 30 บาท สนุกสนานไปอีกแบบ ได้ทั้งเก็บผลสตอเบอรี่ และถ่ายรูปชิลๆ ไปด้วย ส่วนเราขอเก็บช่วงเย็น และเช้า เพราะนักท่องเที่ยวด้านนอกกลับออกไปหมดแล้ว ที่เหลือก็จะมีแต่แขกที่เข้าพัก ทั้งไร่ก็มีแต่เรานี่ละ ^_^ บรรยากาศภายในไร่ค่ะ ด้านบนสามารถนั่งข้าวไปชมวิวไปฟินสุดๆ ลานสนามสามารถกางเตนท์ได้ด้วยค่ะ อากาศที่นี่กลางคืนค่อนข้างเย็น ถึงหนาว ควรเตรียมเสื้อกันหนาว มาให้พร้อมด้วยจะดีมากค่ะ

วันรุ่งขึ้น ขอเก็บภาพในไร่นภ ภูผาอีกสักนิดช่วงเช้าหมอกจางๆ กับอากาศเย็นถึงหนาวมาก กาแฟร้อนๆ สักแก้วก็ฟินจนเกินบรรยายแล้วค่ะ

ช่วงสายก็เตรียมตัวเก็บของเข้าเมือง วันนี้เราจะเข้าไปนอนในเมืองกันค่ะ ที่พักน่ารักๆ " เพลิน เพลิน เบด แอนด์ ไบค์ " รอเราอยู่คืนนี้ ^_^ แต่ระหว่างทาง ขอแวะระหว่างเรื่อยๆ ร้านกาแฟ กว่าจะกลับเข้าเมืองอีกทีก็มืดแล้ว ได้แวะไปที่อ่างเก็บน้ำใน มช. มาด้วย บรรยากาศช่วงเย็นดีมาก บอกเลย...

บรรยากาศยามเย็นของอ่างแก้ว ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงเย็นมีคนมาเดินเล่น ออกกำลังกายกันค่อนข้างเยอะค่ะ อากาศดี แถมโรแมนติกไปอีก..

ที่พักคืนนี้ของเรา " เพลิน เพลิน เบด แอนด์ ไบค์ " น่ารักตั้งแต่เจ้าของ ราคาห้องก็สบายกระเป๋า แถมจักรยานให้ปั่นฟรีอีก ดี๊ดีบอกเลย...เรามาเชียงใหม่ทีไรต้องแวะมาพักที่นี่ทุกครั้งค่ะ

วันรุ่งขึ้นเรารีบเก็บของแต่เช้า เพื่อคืนรถที่เราเช่ามาที่สนามบิน และรอ ขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ ทริปนี้เราต้องขอบคุณ #Jetradar ที่สนับสนุนตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพเชียงใหม่ ให้เราเดินทางไปตามหาความสุขกันที่ " สะเมิง "

ทริปนี้ทำให้เราคิดว่าสิ่งที่คนๆ หนึ่งทำเพื่อคนอื่นได้มากมายขนาดนี้ ต้องเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่มากๆ ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ " ในหลวงรัชกาลที่ 9 รักประชาชนของพระองค์ " นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ และเราจะสานต่อสิ่งที่พ่อหลวงทำไว้โดยการเป็นผู้ให้ และอยู่อย่างพอเพียงค่ะ

"ร่วมสนับสนุนการทำความดี ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อพ่อหลวงของเรา โดย "Jetradar.co.th" และ "Readme.me"

ความคิดเห็น