สวัสดีครับ ผมมีโอกาสได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 คนที่ได้ร่วมเดินทางไปกับ พี่เล็ก Greasy Cafe เพื่อตามรอยเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของเราท่านได้ลงมาแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กับโครงการสานต่อที่พ่อทำ เมื่อวันที่ 20-22 พ.ย.59 ที่ผ่านมา เป็นโครงการที่คัดเลือกผู้โชคดีให้ได้มีส่วนไปรับรู้ รับทราบข้อมูลจากสถานที่จริงๆที่พระองค์ท่านทรงแก้ปัญหา เพื่อจะได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาบอกต่อ (โดยยังมีอีก 4 สถานที่นอกจากที่ปากพนัง-คีรีวงนี้คือ ดอยอ่างขาง, บ้านแม่ลาน้อย, ดอยอินทนนท์ และอ่าวคุ้งกระเบน) ผมต้องขอขอบคุณทางโครงการที่ให้โอกาสในครั้งนี้ครับ ที่มาตั้งกระทู้นี้ครั้งนี้ถือว่าเป็นตามความตั้งใจที่คิดไว้ก่อนร่วมเดินทางไปแล้ว แต่ที่ทำกระทู้ช้าเพราะติดธุระและเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใต้ครั้งใหญ่เลยขอชลอไปก่อน แต่วันนี้เหตุการณ์ทั้งหมดได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงอยากจะขอนำเรื่องราวที่มีโอกาสได้ไปพบเห็นมาเล่าสู่กันฟังในกระทู้นี้นะครับ ข้อมูลอาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้างผมต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ



พี่เล็ก Greasy cafe หนึ่งในผู้ร่วมทางในโครงการนี้ครับ บอกตามตรงว่าส่วนหนึ่งที่เลือกเดินทางไปที่นี่เพราะพี่เลย ฮิฮิ


ซึ่งพอได้สัมผัสกับพี่เล็กจริงๆ พี่เล็กเป็นคนใจดี สบายๆ และความคิดอ่านมีชั้นเชิงในการมองโลกสูงมากๆครับ



ฝากเพจด้วยนะครับ FB : เที่ยวไปดั่งนอแรด (อัพตามอารมณ์ครับ แหะๆ)


ขอฝากผลงานเก่าๆที่เคยเขียนไว้ด้วยนะครับ



[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้เมื่อผมไปเป็นอาสาสมัคร "ล่าแสงเหนือ" ที่ประเทศไอซ์แลนด์

https://pantip.com/topic/36064865



Australia 1 year - 1 ปี ในประเทศออสเตรเลียของผม -

https://pantip.com/topic/35421282



{เที่ยวไปดั่งนอแรด} พาเที่ยว Phillip Island เกาะรูปหัวปลาโลมาของออสเตรเลีย

https://pantip.com/topic/34492774



พาเที่ยว Cradle Mountain มรดกโลกแห่งเกาะ Tasmania เกาะที่ใหญ่ที่สุดของ Australia !!

https://pantip.com/topic/34368537



เมื่อผมไปดูหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ..Journey in the red centre of Australia..

https://pantip.com/topic/34229240



เด็ก WAH ขอแบ่งปันมุมมอง : 4 Month in Melbourne, Australia !

https://pantip.com/topic/33908485/comment58



17 Days in Myanmar. ภาพการเดินทาง 17 วัน ในประเทศพม่าของผม

https://pantip.com/topic/33130663



เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นขอเชิญติดตามครับวันที่ 1 (20 พ.ย. 59)



เรานัดพบกันที่สนามบินดอนเมืองตามที่ทางโครงการแจ้งเอาไว้ และเดินทางพร้อมกันที่ยัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยเครื่องบิน พอถึง จ.นครศรีธรรมราช ทางโครงการก็พาพวกเราไปไหว้ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่สุดของ จ.นครศรีธรรมราช เอาฤกษ์เอาชัยกันก่อนครับ



หลังจากไหว้พระทำบุญกันเสร็จและรับประทานอาหารเที่ยงกันแล้ว พวกเราจึงเดินทางต่อไปยัง อ.ปากพนัง ซึ่งในครั้งอดีตคือเมืองปากพนัง เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล และมีอ่าวภายในบริเวณปากแม่น้ำปากพนัง เหมาะแก่การเดินเรือและการกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองสำคัญอื่น ๆ ทำให้สภาพเศรษฐกิจในสมัยก่อนเฟื่องฟูมาก เนื่องจากมีสำเภาจากเมืองจีนและเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มาเทียบท่าและกระจายสินค้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ยังเคยเสด็จประพาสต้นมาที่นี่ด้วย



อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้จัก อ.ปากพนัง คือแหลมตะลุมพุก ซึ่งเกิดเหตุการณ์วาตภัยครั้งใหญ่โดยพายุโซนร้อนแฮเรียต เป็นพายุที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อปี พ.ศ.2505 เกิดความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชานุเคราะห์ผู้ประสบวาตภัยในครั้งนี้หลายๆ ประการ โดยโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ จดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2506 และพระราชทานเงินจำนวน 3 ล้าน บาท และให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิตกระจายข่าวให้ประชาชนร่วมบริจาคกับพระองค์ โดยในการรับบริจาคได้รับธารน้ำใจจากประชาชนชาวไทยร่วมบริจาคกันช่วยเหลือยอดถึง 11 ล้านบาท



หลังจากนั้นไม่นานที่ อ.ปากพนัง แห่งนี้ได้เกิดโครงการพระราชดำริที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 1 ล้าน 9 แสนไร่ คือโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพราะลุ่มน้ำปากพนังแต่เดิมที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย แต่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่เคยดูดซับไว้แล้วทยอยปล่อยลงในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาในช่วงฤดูแล้งลดลงด้วย น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดลงเหลือปีละ 3 เดือนเท่านั้น และเนื่องจากลักษณะของแม่น้ำปากพนังมีระดับท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีความลาดชันน้อย เมื่อน้ำจืดทางด้านต้นน้ำมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเป็นระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร นอกจากนี้ ตอนใต้ของลุ่มน้ำปากพนังยังมี “พรุควนเคร็ง" ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 200,000 ไร่ มีน้ำท่วมขังตลอดปี มีสารไพไรท์อยู่ในชั้นดิน ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด และมีปัญหาน้ำเปรี้ยว ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้ รวมทั้งน้ำเน่าเสียจากการทำนากุ้งได้ไหลลงในลำน้ำต่าง ๆ จนไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวนาข้าวและชาวนากุ้งอีกด้วย ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมีปริมาณฝนตกมาก แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มราบแบน มีความลาดชันน้อย อุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ยาก จึงทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง น้ำจืดขาดแคลน-น้ำเค็ม-น้ำเปรี้ยวและน้ำเสีย จึงเป็นปัญหาที่ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญ การทำนาไม่ได้ผล ผลผลิตต่ำ ราษฎรมีฐานะยากจน การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำปากพนังดังเช่นในอดีต



ภายในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เราได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และฝังวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับที่มาของโครงการพระราชดำริ และแนวความคิดการแก้ปัญหาของพระองค์ท่าน ที่น่าทึ่งที่สุดคือท่านสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้โดยไม่พระองค์ท่านไม่เคยเสด็จมาด้วยพระองค์เองแม้แต่ครั้งเดียว แต่ทรงแก้ปัญหา และวางแผนจากแผนที่จำนวน 4 แผ่นที่นำมาต่อกันเป็นแผ่นเดียวและทรงงานด้วยพระองค์เอง เป็นพระอัจฉริยภาพที่สุดจริงๆ นี่คือแผนที่แผ่นนั้น...



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่ววยเหลือราษฎรหลายครั้ง



- ครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2531 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน



- ครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม 2535 ณ สถานีสูบน้ำโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และสถานีสูบน้ำบ้านตอหลัง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและเก็บกักน้ำจืด พร้อมกับการก่อสร้างระบบคลองระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และระบบกระจายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง



- ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้พระราชทาน พระราชดำริเพิ่มเติมความว่า “...ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า เป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มและสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร... แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง หากแต่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด จากอันนี้จะทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และแยกออกมาเป็นโครงการฯ..."



ข้อมูลเรื่องพระราชดำริจาก

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้http://www.rid.go.th/royalproject/index.php?option=com_content&view=article&id=137%3A2009-05-24-07-10-36&catid=66%3A2009-05-04-07-29-58&Itemid=9หลังจากรับข้อมูลและความรู้จากพี่วิทยากรเบื้องต้นแล้ว เราก็ได้ไปดู ประตูระบายน้ํา อุทกวิภาชประสิทธิ ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนํ้าจืดสำหรับใช้ในการเกษตร การอุปโภคฤดูแล้ง ปัญหานํ้าทะเลบุกรุกในฤดูแล้ง และปัญหานํ้าท่วมพื้นที่ทำกินของราษฎรเป็นบริเวณกว้างในฤดูฝน ดำเนินการก่อสร้างในปี 2539 - 2542 กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ ชนิดบานตรง สูง 9.00 เมตร กว้าง 20.00 เมตร จำนวน 10 บาน ระบายน้ำได้สูงสุด 1,430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหา “4 น้ำ 3 รส" จากน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และน้ำเปรี้ยว


จากน้ำที่เคยท่วม 3 – 4 เดือนก็เหลือแค่ 20 วัน ช่วงแล้งก็ปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ น้ำเค็มที่เคยรุกน้ำน้ำจืดจนเกิดปัญหาก็แยกน้ำ ปรับค่าน้ำ



สิ่งที่ได้รับทราบจากวิทยากรก็คือ แม้ในโครงการพระราชดำริเพื่อประชาชนของพระองค์ก็ยังมีปัญหา จากเดิมที่พระองค์ท่านทรงคิดว่าต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง แต่ในปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำที่สร้างเสร็จเพียงที่เดียวคืออ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ่างอื่นมีโครงการจะสร้างแต่ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะชาวบ้านยังเห็นแย้ง ยังไม่พร้อม พระองค์ก็ทรงรับฟังเสียงจากประชาชนเสมอ จึงเว้นไว้ก่อน รอให้ชาวบ้านพร้อม เนื่องจากในพื้นที่ อ.ปากพนัง ยังมีทั้งผู้ที่ทำเกษตรกรรมต้องการใช้น้ำจืด และผู้ที่ต้องใช้ประโยชน์จากน้ำเค็มเพื่อเลี้ยงกุ้ง แต่สุดท้ายพระองค์ท่านก็ทรงใช้ความเมตตา และความเข้าใจในพื้นที่ จนทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี โดยโครงการได้พัฒนาเพิ่มเติมต่อยอดขึ้นไปตามลำดับ



จากนั้นเราเดินทางต่อไปยังสวนส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์จากการแก้ไขจัดการน้ำจากโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน จนปัจจุบันเรียกได้ว่ามีรายได้เข้ามาเยอะมาก และส้มโอทับทิมสยามก็อร่อยมากจริงๆ



เหตุที่ส้มโอทับทิมสยามมีรสชาติดี ก็เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้อยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย ซึ่งเกษตรกรบอกว่าสมัยก่อนที่จะมีการจัดการน้ำพื้นที่บริเวณนี้ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่พอมีเขื่อนปากพนังจากโครงการพระราชดำริเข้ามาช่วยจัดการน้ำพวกเขาจึงได้ลืมตาอ้าปากได้จนทุกวันนี้



และคืนนั้นที่โรงแรมพวกเราก็ล้อมวงนั่งคุย แลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างมีอรรถรสมาก มีการพูดถึงความในใจที่มีต่อพระองค์ท่านซึ่งเรียกได้ว่าเรียกน้ำตาให้หลายคนได้เลย แต่ไฮไลท์หนึ่งที่ทุกคนเลือกมาโครงการนี้พร้อมกับพี่เล็กก็คืออยากเห็นพี่เล็กเล่นเพลงสดให้ฟัง แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะพี่เล็กมาตัวเปล่าจริงๆไม่ได้ติดกีตาร์มาด้วย เพราะพี่เขาบอกว่าตั้งใจมาทำงานมาเรียนรู้ตามจุดประสงค์ของโครงการ ทำให้ผมได้เห็นในความเอาจริงเอาจังของพี่เล็ก และทึ่งในความคิดอ่านของพี่เล็กในคืนนี้ด้วย ส่วนเรื่องอะไรนั้นขออุบไว้ละกันครับ



วันที่ 2 (21 พ.ย. 59)



เช้าวันที่สอง เราเดินทางไปยังหมู่บ้านคีรีวง หมู่บ้านที่เค้าว่ากันว่ามีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Thailand Tourism Awards) ประจำปี 2541 ประเภทเมืองและชุมชน เพราะเป็นชุมชนเข้มแข็งต้นแบบการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและสายน้ำ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตสุขสงบแบบเครือญาติ บรรยากาศจะเป็นแบบไหนนั้นตามมาดูกัน



หลังจากแนะนำตัวพูดคุยกันได้สักพัก วิทยากรก็พาพวกเราเดินป่าเข้าไปชมสวนของชาวบ้านคีรีวง และเดินต่อไปเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางคือ วังปลา ซึ่งถือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านหมู่บ้านคีรีวง และชมความงามของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ยังมีชีวิตที่ผูกพันธุ์กับธรรมชาติมาก ช่วยกันดูแลความสะอาดและระบบนิเวศ เพราะเมื่อดินดี น้ำดี อากาศดี อะไรก็ดีไปหมด



เดินทางกันมาถึงวังปลาแล้ว ขอบอกว่าอากาศดีมากๆ (แต่แดดแอบร้อนไปบ้าง) ที่นี่เราจะเจอฝูงปลาพรวงเยอะมาก เรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรทีเดียว และชาวบ้านจะรู้กันว่าจะไม่จับปลาชนิดนี้มากิน ทำให้ประชากรพวกมันเพิ่มเยอะมากเลย



เมื่อคนเราอยู่กับธรรมชาติ ทุกคนย่อมมีมุมสงบของตัวเอง พี่เล็กก็เช่นกัน หุหุหุ



ชุมชมคีรีวงถือเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบของการพึ่งพาตนเอง มีการสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ ในวันนี้เราได้ดูหลายๆอย่างที่ถือเป็นอาชีพสร้างรายได้ของชาวบ้านเช่น การทำผ้าบาติกลายเทียน, การทำผ้ามัดย้อม และการทำดรีมแคชเชอร์ เป็นต้น



สาธิตการเขียนลายเทียน ซึ่งลายแต่ละลายไม่ซ้ำกัน มีอย่างละผืนในโลก เพราะเป็นจินตนาการจากศิลปินล้วนๆ



ผ้ามัดย้อม ก็เป็นอีกเอกลักษณ์ของที่นี่ เราได้ทดลองทำผ้าเช็ดหน้าลายมัดย้อมด้วยตัวเอง และได้ติดไม้ติดมือเป็นของฝากกันทุกคน



อีกกิจกรรมสุดท้ายทดลองทำดรีมแคชเชอร์ (ตาข่ายดักฝัน) ทำยากเหมือนกันนะเนี่ย



ความสงบ งาม ที่คีรีวง



คืนนั้นเป็นคืนที่สองที่เราได้ร่วมล้อมวงทำความรู้จักกันมากขึ้น เพราะเป็นคืนสุดท้ายแล้วที่จะได้อยู่ร่วมกัน วันนี้พี่ลภ พี่ใหญ่ในกลุ่มของเราได้แอบไปขอยืมกีตาร์จากผู้ใหญ่บ้านมา เป็นกีตาร์สายขาดที่เอามาซ่อมกันเองเพื่อจะขอให้พี่เล็กเล่นเพลงให้ฟังกัน เพราะเชื่อว่าทุกคนคงอยากฟังแน่ สุดท้ายพี่เล็กก็เล่นเพลงให้ฟังกัน ฟินกันทุกคนเลย อยากลงให้ฟังจริงๆแต่อัพโหลดวีดีโอไม่เป็น แหะๆ แต่ความรู้สึกคืนนั้นจะประทับในจิตใจของทุกคนตลอดไปแน่ ขอบคุณเพื่อนๆทุกคน



คืนนั้นผมนำภาพพี่เล็กที่ผมเคยถ่ายเมื่อครั้งพี่แกมาเล่นคอนเสิร์ตที่เชียงรายอัดมาแจกเพื่อนร่วมทางทุกคนด้วย ตอนแรกก็โคตรเกรงใจและกลัวด้วยว่าจะเป็นการรบกวนพี่มากไปไหม แต่สุดท้ายพี่ก็เซ็นให้แบบยินยอมที่สุด ขอบคุณมากนะครับ



วันที่ 3 (22 พ.ย. 59)



วันนี้เป็นวันสุดท้ายของโครงการ เราตื่นแต่เช้ามาวัดคีรีวง วัดประจำหมู่บ้านเพื่อร่วมบุญกับงานบุญใหญ่ประจำปี เพื่อรำลึกอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2531 วันที่ 22 พ.ย.ของทุกปี ที่นี่จะมีงานบุญเพื่อรำลึกถึงอุทกภัยครั้งใหญ่ที่หมู่บ้านคีรีวง โรงทานเยอะมาก ชาวบ้านยิ้มแย้มแจ่มใส น่ารักจริงๆ ในภาพขวามือจะเห็นยอดเขาหลวง ภูเขาสูงต้นน้ำ และเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของอุทกภัยที่เกิดขึ้น



นั่งล้อมวงคุยกับผู้นำชุมชนเรื่องอุทกภัยครั้งรุนแรง เหตุเกิดจากฝนที่ตกติดต่อกันไม่หยุดถึง 7 วัน หลังจากนั้นน้ำป่าไหลบ่าลงมาจากเขาหลวงโดยที่ชาวบ้านไม่ได้ทันตั้งตัว น้ำพัดเอาตะกอน ต้นไม้ใหญ่ลงมาถล่มหมู่บ้าน มีหลายคนเสียชีวิตเกิดความเสียหายขึ้นเยอะมากไม่ใช่เพียงแต่ที่คีรีวงที่เดียว แต่แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็มีพระราชดำริให้เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ แก้ไข และป้องกันไม่ให้พื้นที่บ้านคีรีวงและบริเวณใกล้เคียงต้องได้รับความเสียหายอีก ในปี 2532 กรมชลประทานเข้ามาดำเนินงานสนองพระราชดำริ ทั้งงานขุดลอกและขยายความกว้างคลอง พร้อมก่อสร้างงานป้องกันลาดตลิ่งของคลองระบาย



เหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวคีรีวง คือหลังเกิดอุทกภัยทางราชการมีแนวคิดให้ย้ายชุมชนออกไปอยู่ที่อื่นเนื่องจากไม่มีพื้นที่ไหนในคีรีวงที่สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัย “แต่สุดท้ายเราก็บอกว่าเราจะไม่ย้ายไปไหน ขอตายกันที่นี่ นี่คือสิ่งที่บรรพบุรุษเราบอกและทุกคนก็ยืนยันที่จะอยู่ที่นี่ สุดท้ายรัฐก็ต้องยอม พลังของคนคีรีวงก็ยินดีร่วมกันให้ขุดลอกคลองและตลิ่ง ไม่มีที่ไหนที่ชาวบ้านยอมยกที่ดินให้ขุดลอกคลองและตลิ่งโดยไม่จ่ายเวนคืน มีที่นี่ที่เดียว นี่คือความเสียสละยิ่งใหญ่ของชาวคีรีวง"



จุดเด่นของคีรีวงที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความเป็นเครือญาติซึ่งปัจจุบันชาวคีรีวงทุกตระกูลเป็นเครือญาติกันหมด เนื่องจากว่ามีความเป็นเครือญาติสูงจะรวมกลุ่มทำกิจกรรมสิ่งใดก็สำเร็จทุกประการ ยกตัวอย่างที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนที่หายไปกับสายน้ำพร้อมหลักฐานต่างๆ แต่ทำไมกลุ่มออมทรัพย์ยังอยู่ได้ เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความรักสามัคคี ความซื่อสัตย์ไว้วางใจและเห็นอกเห็นใจกันของชาวคีรีวง



ข้อมูลความบางส่วนจาก

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000019973หลังจากจบการทำบุญ ตอนนี้เรายังพอมีเวลาเหลือก่อนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ เลยแวะเที่ยวชมความงามของคีรีวงกันครับ



ด้วยความที่เขาหลวงเป็นต้นน้ำจึงทำให้มีน้ำตกอยู่มากมาย เราได้มีโอกาสแวะไปน้ำตกแห่งหนึ่งโดยมีชาวบ้านพื้นที่พาไป


ว่าแต่น้ำตกนี้ชื่ออะไร ใครรู้วานบอกชื่อด้วย ๕๕๕๕๕+



"....ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย..."


พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2521



เดินทางกันมาจนจบกระทู้ ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีจากโครงการเดินทางพ่อสานต่อที่พ่อทำด้วยนะครับ

หวังว่าจะมีโครงการดีๆแบบนี้ออกมาอีกในปีต่อๆไปครับ มีประโยชน์มากจริงๆ

ขอยืมภาพจากเฟซบุค FB: เดินทางพ่อ : Walk of The King ด้วยนะครับ



แล้วหวังว่าเราจะพบกันใหม่ในโอกาสต่อๆไปครับ

Boy Anupong

 วันพฤหัสที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 22.15 น.

ความคิดเห็น