กลับจากซาปาไม่ถึงเดือน มือเท้าเริ่มคันอีกแล้ว มันกระซิบบอกว่า “ไปต๊ะเล กันเถอะ” ก็ดีเหมือนกันนะ แต่คราวนี้ไม่อยากเดินทางไกล หาทะเลใกล้กรุงเทพฯ ที่ยังไม่เคยไปดีกว่า


ฝากติดตามเพจและเว็บไซต์ด้วยนะครับ

http://www.poppu.online

https://www.facebook.com/popputrip

(การเดินทางคือ "การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด")

นักเดินทางสำรอง


แล้วชื่อ “เกาะสีชัง” ก็ผุดขึ้นมาในความคิด ลอง search หาข้อมูลใน google ได้รีวิวมาเพียบเลย ทั้ง สะพานอัษฏางค์ ,เรือนเขียว ,พระจุฑารุชราชฐาน,ช่องอิศริยาภรณ์หรือช่องเขาขาด ,หาดถ้ำพังหรืออ่าวอัษฎางค์ ,ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ และ ไหล่คยาศิระที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง “ร่างกายต้องการทะเล หัวใจต้องการมีเธอ คลื่นลมไม่ฮาไม่เฮ ถ้าทะเลไม่มีเธอ โวโอๆๆ ฮืม ม.. โวโอๆๆ” คิดถึงทะเลทีไรต้องฮัมเพลงนี้ทุกที ^_^

ณ วันเดินทาง เราขับรถจาก กทม. ประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงศรีราชา ขับไปจอดในเทศบาลนครศรีราชาเสร็จ ก็ออกเดินเท้าไปท่าเรือจรินทร์ (ท่าเรือชั่วคราวระหว่างรอท่าเรือเกาะลอยปิดปรับปรุง) ค่าเรือ 50 บาท ได้นั่งเรือแอร์ 2 ชั้น นั่งชิลๆ ชมวิวประมาณชั่วโมงก็ถึงเกาะตอน 10 โมง วันนี้ฟ้าโปร่ง แดดดี เมฆสวย เหมาะแก่การแว้นยิ่งนัก เช็คเวลาเรือขากลับรอบสุดท้าย 19.00 น กันพลาด ก็ออกตามหามอเตอร์ไซค์คู่กายสำหรับการเที่ยววันนี้ “250 บาทต่อวัน น้ำมันเต็มถัง ใช้เสร็จมาจอดคืนที่เดิมพร้อมกุญแจ ไม่ต้องเติมน้ำมัน ถ้ารถหายโทรบอกพี่เบอร์นี้ พี่จะตามหาเองไม่ต้องกังวล” เป็นคำอธิบายของพี่สาวคนสวยเจ้าของรถมอไซด์ให้เช่าคันนี้ พูดเสร็จ นางยื่นมือมารับเงิน แล้วก็ส่งกุญแจพร้อมแผนที่เกาะสีชังให้ แล้วก็เดินสะบัดบ๊อบสวยๆ จากไป ว๊าว! เที่ยวสีชังมันง่ายขนาด น่าจะมาตั้งนานแล้ว

เด็กแว้นต้องเติมพลังก่อน เริ่มต้นด้วยราดหน้าทะเล ร้านอาหารตามสั่งแถวนั้น อิ่มหนำสำราญจ่ายไป 60 บาท แล้ววิญญาณนักบิดก็เข้าสิง จากแผนที่สถานที่ท่องเที่ยวใกล้สุดคือ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ (รีวิวครั้งนี้ จะไม่เขียนถึงจุดเช็คอินดังๆของเกาะสีชัง เพราะมีคนรีวิวไว้เยอะแล้ว ไปหาอ่านเอาเองเด้อ แต่เราจะเน้นที่ ยอดพระจุลจอมเกล้า ที่เดียวเลย)

เริ่มต้นเดินทางกัน

มีกระเช้าไว้บริการด้วยนะ

จุดชมวิวที่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่

มาถึงแล้วไหล่คยาศิระ

เราเริ่มต้นที่ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ แว้นต่อไปยังไหล่คยาศิระที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง นมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองเสร็จ (รอยพุทธบาทสามารถเดินขึ้นมาจากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ได้ แต่ขอบอกเลยต้องฟิต) ก็เดินวนหาจุดถ่ายรูป หลังจากนั้น มานั่งพักริมทางเดิน จากจุดนี้เอง เราสังเกตเห็นทางเดินรกๆ มีป้ายแนะนำว่า ยอดพระจุลเจ้าเกล้า จึงลองเดินไปถามพี่ชายขายดอกไม้ธูปเทียนและน้ำดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยว พี่ชายแนะนำว่า ควรจะไป เพราะเป็นจุดชมวิวสูงสุดของเกาะสีชัง และจะได้เห็นจารึกอักษรพระนามของพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วย พี่ชายบิ้วซะขนาดนี้ น้องชายต้องสนองสิครับท่าน

ตอนแรกในใจหวิวๆเลยละ เพราะไม่ค่อยมีคนขึ้นไป ก็ดูทางสิ

ต้นไม้ต้นนี้เจ้าของเยอะเนาะ อย่า!ทำแบบนี้นะครับ

เสาธงชาตินี้…แหละเรามาถึงแล้ว

เราเดินไปตามทางเดินรกๆ เหมือนไม่ค่อยมีใครใช้เส้นทางนี้ สักพักก็เจอบันไดหินมุ่งสู่ยอดเขา สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วออกเดินไต่ความสูงของบันไดขึ้นไปทีละขั้น ทางเดินไม่ลำบาก แต่ความสูงเอาเรื่องอยู่ทำให้ ต้องหยุดพักเป็นระยะ พ้นบันไดขึ้นมาก็พบป่ารก จากคำบอกเล่าของพี่ชายขายขายดอกไม้ธูปเทียน ด้านขวามือจะมีเสาธงและจารึกอักษร “จ.จ.จ.” สลักลงบนก้อนหิน ต้องไปให้เห็นด้วยตา เราต้องออกแรงปีนก้อนหินขึ้นไปจนกระทั่งพบรอยจารึกและพักเหนื่อยนิดหน่อย ไม่นานก็ไต่กลับลงมา เดินไปทางซ้ายตามคำบอกเล่าของพี่ชายอีกครั้ง จะพบยอดเขาเล็กๆ มีบันไดทางขึ้นประมาณ 20 ขั้นได้ เดินพ้นบันไดขึ้นไป จะเป็นลานซีเมนส์ มีฉัตรเล็ก 5 ชั้น สีทองปักบนฐานซีเมนส์และร่องรอยการวางหินของนักเดินทางทั้งหลาย


จากจุดนี้สามารถมองเห็นได้ทั่วทั้งเกาะเลยนะจ๊ะนะ สะพานอัษฎางค์ก็เห็น

เราสามารถมองเห็นวิวของเกาะสีชังได้ 300 องศา โดยประมาณ เนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่บังอยู่ด้านหนึ่ง พี่ชายขายดอกไม้ธูปเทียน บอกว่า ถ้าฟ้าเปิดอากาศดีๆ ใช้กล้องเลนส์ซูมดีๆ จะมองเห็นตึกธนาคารกสิกรไทย สาขาใหญ่ ซึ่งไม่รู้จริงหรือเปล่านะ บอกเลยว่าประทับใจมากที่ได้ขึ้นมา วิวที่เห็นคุ้มกับหยาดเหงื่อที่เสียไปที่สุด เป็น Unseen ของเกาะสีชังได้เลย น่าเสียดายที่ยอดเขานี้ขาดการดูแล แต่ได้ข่าวว่ามีคนจากภาครัฐเข้ามาสำรวจเมื่อไม่นานนี้ และจะชุบชีวิตยอดเขานี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อดื่มดำกับความงามและถ่ายภาพจนหนำใจแล้ว ก็ออกเดินเท้าไปที่อื่นต่อ ตามคนอื่นเคยรีวิวเอาไว้

สะพานอัษฎางค์

หาดถ้ำพัง

ประภาคาร เกาะสีชัง


ยอดพระจุลจอมเกล้า

วันที่ 14 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 110 (พ.ศ. 2434) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน โดยพระราชยานไปเสด็จขึ้นยอดเขาใหญ่ ซึ่งพระราชทานนามว่า “ยอดพระจุลจอมเกล้า” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเสาธงขึ้นไว้บนเขายอดพระจุลจอมเกล้า เสาธง สูง 14 วา 2 ศอก มีเสาขวางรยางค์บันไดพร้อม มีนายเรือเอกกูลเบิกในกรมทหารเรือ เป็นนายด้านผู้ทำการ ใช้สำหรับชักธงบอกสัญญาเรือเข้าออกในท่าเกาะสีชัง พระราชทานชื่อว่า “เสาธงอัษฎางค์” ทรงจารึกอักษร พระนาม จ.จ.จ. แลนามบอกเขาที่ศิลาเป็นเขามอ เป็นที่หมายว่า เสด็จพระราชดำเนินขึ้นยอดเขานั้นแล้ว อันเป็นยอดเขาสูงที่สุดในเกาะสีชัง ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเกาะสีชัง

***พระราชอุทยาน (วะนะ)อัษฎางคะวัน***

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 8 แผ่นที่ 22 หน้า 201-213

Buddha’s Sacred Footprint

On 14th August 110 R.E. (2534 B.E.X, King Chulalongkorn made a trip, by royal car, to the summit of a big hill which he named “Phra Chulachomklao Peak.,” and ordered that a flag pole, measuring 14 wah 2 sok in height, be put up on the top. The flagstaff, equipped with an axis and a ladder, served to display maritime signal flags to aid navigation of ships in Koh Si Chang Port. Lieutenant Gulberg of the Navy Department supervised its construction. This flag pole which the King named “Atsadang Flagstaff” bore his royal initiate “Jor. Jor. Jor.,” and the name of the hill “Khao Mor.,” the highest in the north of Koh Si Chang. This particular spot marked the highest point visited by the King.

Atsadangkhawan Royal Park

Source: Ratchakitchanubeksa (The Royal Thai Government)

Issue 8, Section 22, Page 201-203


ป.ล. ผมคัดมาจากป้ายที่ติดไว้ จะเห็นว่ามีตัวเลขที่ไม่ตรงกันของ

  1. พ.ศ. 2434 ในภาษาไทย และ B.E. 2534 ในภาษาอังกฤษ
  2. หน้า 201-213 ในภาษาไทย และ 201-203 ในภาษาอังกฤษ
  3. คำว่า สัญญา ในภาษาไทย แต่ภาษาอังกฤษใช้ Signal

ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าข้อความไหนถูกต้อง ดูภาพป้ายประกอบได้

POPPU

 วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เวลา 20.27 น.

ความคิดเห็น