เมื่อฤดูฝนมาเยือน ฤดูกาลทำนาก็เริ่มต้นขึ้น เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการขับรถกินลมชมกล้าข้าวต้นสีเขียวอ่อนที่เริ่มขึ้นให้เห็นเต็มท้องทุ่ง


วันนี้เราจึงเลือกขับรถออกไปเที่ยวอ่างทองกัน เหตุผลที่เราเลือกจังหวัดนี้ ก็เพราะพื้นที่กว่า 80% ของจังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข้าว ดังนั้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นทุ่งนาเขียวๆ เต็มไปหมด และหากใครอยากทำบุญไหว้พระ 9 วัด อ่างทองก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะมีวัดวาอารามเก่าแก่หลายร้อยปีอยู่ไม่ไกลกันหลายแห่ง




จุดหมายแรกของวันนี้คือ วัดไชโยวรวิหาร หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “วัดเกษไชโย” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ มีวิหารหลังใหญ่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโต





มาอ่างทอง สิ่งที่ต้องลองคือ ผัดไทย และที่วัดไชโยมีผัดไทยเจ้าอร่อย ซึ่งหากินได้ในตลาดข้างๆ ลานจอดรถของวัดนั่นเอง ปกติเรากินผัดไทยร้านไอ้น้อย แต่วันนี้ร้านปิด จึงเดินวนไปวนมากันอยู่สามรอบ ก่อนจะมาจบลงที่ร้านเจ๊แมว




ผัดไทยหน้าตาธรรมดา ราคาเบาๆ แต่รสชาติไม่ธรรมดาเลย เส้นเหนียวนุ่ม รสชาติกลมกล่อมเปรี้ยวอมหวานและเค็มนิดๆ กำลังดี พอตักถั่วสิลงบดใส่ลงไปยิ่งช่วยเพิ่มความหอมมันให้กับผัดไทยจานโตจานนี้ ซึ่งราคาแค่ 40 บาท แต่อิ่มจนถึงเย็น




วิหารและโบสถ์ของวัด ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมยุโรปมาผสมผสาน สังเกตได้จากกรอบประตูหน้าต่างเป็นทรงโค้งยอดแหลมแบบศิลปะโกธิค และการปูกระเบื้องลายกระดานหมากรุกสีดำสลับขาว อาจเพราะวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงอิทธิพลตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามา




องค์หลวงพ่อโต ซึ่งเดิมสร้างขึ้นโดยสมเด็จโต วัดระฆัง ต่อมาพังทลายลง รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่




น่าเสียดายวันที่เราไปโบสถ์ไม่ได้เปิดให้เข้าชม ทราบมาว่าภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากทีเดียว





หลังจากสักการะองค์หลวงพ่อโตวัดไชโยกันแล้ว เราก็ออกเดินทางต่อ



ผ่านกองธูปสวยๆ ที่ตากไว้ริมถนน


จุดหมายต่อไปของเราคือ วัดบ้านพราน ซึ่งตามคำบอกเล่าเชื่อว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย แล้วถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลากว่าร้อยปี จนกระทั่งถูกบูรณะขึ้นมาใหม่โดยพรานอ่ำ นายพรานผู้ตามล่าเนื้อมาจนถึงหน้าวิหารของวัดนี้ แล้วเกิดสำนึกบาป วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า วัดบ้านพราน




ลักษณะเด่นของวัดบ้านพราน คือ ตัวสถาปัตยกรรมที่ประดับด้วยเซรามิก เครื่องลายคราม และเครื่องเบญจรงค์ เข้าใจว่าน่าจะได้แนวคิดมาจากการตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบวัดโพธิ์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีนแต่ที่นี่มีเอกลักษณ์ตรงที่การเอาถ้วยจานเบญจรงค์ทั้งใบมาติดประดับไว้ โดยไม่ได้ทุบให้แตกเสียก่อน














ภายในโบสถ์ตกแต่งด้วยไม้สักทองและประดิษฐาน หลวงพ่อไกรทอง พระพุทธรูปปางสมาธิสร้างขึ้นด้วยศิลาแลง เชื่อกันว่าพระประธานองค์นี้อายุกว่า 900 ปีแล้ว




ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นวิหารทาสีเหลืองประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์ อยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์




วัดบ้านพราน เป็นวัดเล็กๆ เงียบสงบ คนไม่พลุกพล่าน อาจเพราะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่น


จุดหมายต่อไป เราปักหมุดไว้ที่วัดขุนอินทรประมูล เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอ่างทอง ระหว่างทางจากวัดบ้านพรานไปวัดขุนอินฯ ผ่านท้องนาสวยๆ จึงแวะลงไปถ่ายรูปสักหน่อย






วัดขุนอินทรประมูล ตามตำนานเล่าว่า ขุนอินทรประมูล ได้ยักยอกเงินหลวงมาสร้างวัดแห่งนี้ จึงถูกลงโทษจนตาย



เมื่อเข้ามาในเขตวัด ก็ต้องสะดุดตากับพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดยาวเป็นอันดับสองของประเทศไทย ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เนื่องจากวิหารที่สร้างครอบองค์พระไว้พังทลายลงหมดแล้ว เหลือเพียงเสาวิหารตั้งเรียงรายรอบองค์พระ

พระพักตร์งดงามตามแบบพุทธศิลป์สุโขทัย





แม้จะอยู่กลางแจ้ง แต่บรรยากาศโดยรอบร่มรื่นดี มีต้นไม้ใหญ่เยอะ






เศษผ้าสีเหลืองที่ใช้มัดดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระเข้าด้วยกัน ถูกนำมาผูกไว้กับต้นไม้ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ น่าจะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3-4ปีหลังมานี้ เพราะเท่าที่จำได้ ตอนมาวัดนี้ครั้งแรกๆ ยังไม่เห็น ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นจากความเชื่ออะไร แต่เดาว่าคงเพราะเศษผ้าสีเหลืองนี้ดูคล้ายเศษจีวร คนจึงไม่อยากทิ้งลงถังขยะหรือวางทิ้งไว้กับพื้น เลยเอามาผูกไว้กับต้นไม้ เป็นการสร้างกิจกรรมสนุกๆ ให้คนที่มาวัด ดูน่ารักไปอีกแบบ เหมือนใครเอาฝอยทองมาห้อยไว้


วัดต่อมา คือวัดม่วง ซึ่งหลายคนคงรู้จักกันดี เพราะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศ (ที่สุดในโลกด้วยหรือเปล่านั้นไม่แน่ใจ) ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกลหลายกิโลเมตรก่อนถึงวัด




พระพุทธรูปองค์นี้ใช้เวลาสร้างรวม 16 ปี เพื่อถวายให้แก่รัชกาลที่ 9 ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งหมด 104 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม พระองค์นี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงขนาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีลักษณะและสรีระงดงามเป็นอย่างมาก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง นาสิกงุ้ม โอษฐ์แย้มยิ้ม งดงามตามแบบพุทธศิลป์สุโขทัย นิ้วพระหัตถ์อ่อนช้อย และพระอุระอวบอิ่ม







ธรรมเนียมปฏิบัติของการมาไหว้พระขอพรที่นี่คือ ให้ตั้งจิตอธิษฐานขอพร แล้วเอื้อมมือทั้งสองของเราไปจับนิ้วขององค์พระ




สิ่งที่เราสัมผัสได้เมื่อขึ้นไปไหว้ขอพร คือ ความสงบที่เกิดขึ้นในใจขณะเอื้อมมือไปแตะนิ้วองค์พระ มีสายลมเย็นพัดผ่านมาและรู้สึกเหมือนว่ามีแต่เราที่ยืนอยู่ตรงนั้น

แต่เมื่อลงมาเดินดูด้านล่าง เราก็ต้องตกตะลึงกับการใช้พื้นที่จัดวางประติมากรรมของวัดนี้ มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากบนลานพระใหญ่อย่างสิ้นเชิง มันดูเยอะไปหมดจนไม่รู้ว่าจะเริ่มดูจากตรงไหน ผลสุดท้ายเลยเลิกดูมันซะเลย





วัดสุดท้ายของวันนี้ คือ วัดสังกระต่าย เป็นวัดร้างที่มีโบสถ์ปกคลุมด้วยต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ 4 ต้น หลังคาอุโบสถหักพังลงหมดแล้ว เหลือเพียงผนังโบสถ์ ภายในมีผนังกั้นแบ่งเป็น 3 ห้อง เมื่อเดินเข้าประตูโบสถ์ไปจะเจอห้องแรก เป็นห้องขนาดเล็กประดิษฐานหลวงพ่อแก่น ห้องที่สองเป็นห้องขนาดใหญ่ที่สุดประดิษฐานหลวงพ่อวันดี หลวงพ่อศรี และหลวงพ่อสุข ส่วนห้องด้านหลังเป็นห้องว่าง




เหตุที่เป็นวัดร้าง เชื่อกันว่าบริเวณนี้เจ้าที่แรง พระสงฆ์จำวัดอยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องมีเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้งแตกคอกัน จนสุดท้ายย้ายหนีไปวัดไผ่ล้อมกันหมด ขนเอาไม้และอิฐจากวัดสังกระต่าย ไปสร้างกุฏิที่วัดไผ่ล้อมด้วย








ทำไมจึงได้ชื่อว่าวัดสังกระต่าย มันต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับกระต่ายสินะ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า แต่ก่อนแถวนี้มีกระต่ายอยู่เยอะ ชาวบ้านบางกลุ่มก็มาล่ากระต่ายเอาเนื้อไปกิน สุดท้ายได้รับผลกรรมคือมีลูกมีหลานออกมาพิกลพิการ

วัดสังกระต่าย เป็นวัดเล็กๆ เงียบสงบ และไม่ค่อยมีคนแวะเวียนมาสักเท่าไหร่ แต่ความสวยงามแปลกตาและความขลังไม่แพ้ที่ไหนเลยจริงๆ

เสร็จจากวัดสังกระต่ายก็เป็นเวลาสี่โมงเย็นแล้ว เราเริ่มหิวเพราะไม่ได้กินข้าวกลางวันกัน (ผัดไทยเมื่อเช้าอิ่มนานจริงๆ) ดังนั้น จึงได้เวลาไปหาอะไรดีๆ กิน เราไปแวะกินข้าวกันที่ร้านปิ่นโต ซึ่งเป็นทางผ่านกลับเข้ากรุงเทพพอดี ร้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวร้านตกแต่งด้วยข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ โดยเฉพาะปิ่นโต (เราไม่ได้ถ่ายรูปมา) อาหารรสชาติโอเค ราคาไม่แพงมาก ขณะนั่งรับประทานอาหาร ก็มีเจ็ทสกีขี่ผ่านมาโชว์ให้ดูเพลินๆ

กินข้าวเสร็จตอนเกือบหกโมง ได้เวลากลับบ้านแล้ว ลาไปด้วยภาพเมฆฝนดำครึ้มยามเย็นเลยล่ะกัน แล้วพบกันทริปหน้า


Tag AlonG

 วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เวลา 21.34 น.

ความคิดเห็น