ทริปนี้เกิดขึ้น เพราะเราอยากไปเดินเล่นบนหลังวาฬแวกว่ายกลางพงไพรตามรอยพี่อิสร์กับน้องปอนด์จากลมไพรผูกรัก ลุกขึ้นมาจิ้มปฏิทินเลือกวันได้ ก็จัดแจงวางแผนทริป ยิ่งหาข้อมูลก็ยิ่งพบว่าบึงกาฬมีสถานที่ท่องเที่ยวอลังการงานสร้างมากมาย จนแทบอดใจรอให้ถึงวันเดินทางไม่ไหว

เราออกเดินทางจากกรุงเทพตอนห้าทุ่มด้วยรถบัสนครชัยแอร์ ไปถึงอุดรธานีเกือบเจ็ดโมงเช้า ลงรถที่สถานีขนส่งก็ต่อสามล้อไปรับรถเช่าที่สนามบินอุดรเนื่องจากบึงกาฬยังไม่มีระบบขนส่งที่รองรับการท่องเที่ยว การเช่ารถขับเที่ยวเองจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

รับรถเช่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปหาอะไรอร่อยๆ กินกันก่อน อาหารเช้าขึ้นชื่อของที่นี่ หนีไม่พ้นข้าวเปียก บาแก็ต และไข่กระทะเช้านี้เราไปฝากท้องกับร้านมาดามพาเท่ห์ (Madam Pahtehh) ร้านอาหารเช้าชื่อดังของอุดร สั่งอาหารแนะนำอย่างขนมปังไส้ปัตเต้หรือตับบด โรตีติดพัน เฝ๋อหมู และกาแฟสด

ร้านนี้เป็นร้านเล็กๆ แค่คูหาเดียว คนแน่นโต๊ะเต็มตลอดเวลา สาวเสิร์ฟก็อายุอานามรุ่นคุณป้า ออกจะดุๆ สักหน่อย แต่ก็บริการไม่ขาดตกบกพร่องอะไร

ขนมปังไส้ปัตเต้ถือว่าอร่อยใช้ได้ แต่ตับบดหยาบไปหน่อย เนื้อไม่เนียน

โรตีติดพัน ชื่อแปลกหู ตอนที่สั่งยังไม่รู้ว่ามันคือไส้อะไร พอลองกินดู มันคือไส้สลัดผักนั่นเอง อร่อยดี กินได้เรื่อยๆ

เฝ๋อหมู รสชาติโอเค แต่ไม่ค่อยถูกปากนัก เพราะไม่ชอบที่ใส่มะเขือเทศ ทำให้น้ำซุปมีรสออกเปรี้ยวๆ

ส่วนกาแฟสด รสชาติเข้มถูกใจ

กินมื้อเช้าเสร็จ แวะไปหนองประจักษ์เยี่ยมน้องเป็ดเหลืองกันหน่อย คราวนี้มีเซอร์ไพรสเจอแม่เป็ดเหลืองตัวใหญ่กลับมาลอยเล่นน้ำอยู่ใกล้ฝั่ง หลังจากผิดหวังจากทริปอุดรเมื่อปลายปีก่อนที่เราเจอแต่ลูกเป็ดสองตัว

กลับมาอุดรคราวนี้ เรารู้ว่าพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีเปิดให้เข้าเยี่ยมชมแล้ว จึงกะว่าจะแวะชมสักครึ่งชั่วโมง วนรถรอบสวนสาธารณะหนองประจักษ์หาทางเข้ากันสองสามรอบเพราะจีพีเอสเกิดเอ๋อปักหมุดมั่วไปหมด จริงๆ ต้องบอกว่ามันหาง่ายมากถ้าเราเชื่อในสายตาตัวเองมากกว่าจีพีเอส

พิพิธภัณฑ์นี้แบ่งเป็นสองอาคาร คืออาคารราชินูทิศ เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่สร้างในสไตล์โคโลเนียลแบบฝรั่งเศสซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศลาวและเวียดนาม อาคารแห่งนี้เคยเป็นโรงเรียนสตรีมาก่อน ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของจังหวัดอุดรธานี ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง ส่วนอีกอาคารหนึ่งสร้างขึ้นใหม่เพื่อจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งตอนที่เราไปไม่มีงานจัดแสดง นอกจากความคลาสสิคและชิคชิคของตัวอาคารทั้งสองแล้ว นิทรรศการด้านในก็มีความน่าสนใจและมีอะไรสนุกๆ ให้เล่นด้วย จากที่คิดว่าจะแวะสักครึ่งชั่วโมง ก็กลายเป็นชั่วโมงครึ่ง พิพิธภัณฑ์นี้ไม่เก็บค่าเข้าชม แต่ให้เราบริจาคค่าบำรุงสถานที่ได้ตามความสมัครใจ

สายแล้วต้องรีบออกเดินทางไปบึงกาฬ เราขับรถข้ามจังหวัดเกือบสองร้อยกิโลตรงไปยังภูทอก ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสกลนคร ขับผ่านทุ่งนาต้นข้าวสีเขียวขจีไปตลอดทั้งเส้น ลบภาพสกลนครอันแห้งแล้งกันดารที่เคยมีในหัวของเราไปหมดสิ้น

ขับรถมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม เห็นเครื่องมือจับปลาขนาดยักษ์ที่คนอิสานเรียกสะดุ้งติดตั้งอยู่ริมตลิ่ง พ้นสะพานนี้ไปก็เข้าเขตจังหวัดบึงกาฬแล้ว

เรามาถึงภูทอกเกือบบ่ายสามโมง จึงมีเวลาเดินเที่ยวแค่สองชั่วโมงเท่านั้นเพราะภูทอกปิดตอนห้าโมงเย็น

การมาเยี่ยมชมภูทอก ต้องแต่งกายให้เรียบร้อยมิดชิดและสำรวมกายวาจาขณะเดินชม เพราะที่นี่เป็นสถานปฏิบัติธรรม

ทางเดินขึ้นภูทอกไม่ลำบาก เป็นบันไดไม้ขึ้นไปแต่ละชั้น แต่มีความลาดชันพอสมควร ต้องใช้ความระมัดระวังและมีสติในทุกก้าวย่าง การเดินขึ้นภูทอกคงเป็นวิธีการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งก็ว่าได้

ภูทอก ในภาษาอีสานหมายถึง ภูที่มีอยู่ลูกเดียวโดดๆ ไม่ได้มีลักษณะเป็นเทือกแถวสลับเรียงกันไป ภูทอกนี้แบ่งเป็นภูทอกใหญ่และภูทอกน้อย เป็นภูเขาสองลูกโดดตั้งอยู่ห่างกันไม่มาก แต่บริเวณที่มีศาสนสถานให้เราเข้าชมได้คือภูทอกน้อย

ภูทอกแบ่งออกเป็น 7 ชั้น แต่คนนิยมขึ้นไปถึงแค่ชั้น 6 เท่านั้น เพราะชั้น 7 เป็นพื้นที่รกร้างไม่มีสิ่งปลูกสร้างหรือจุดชมวิวแต่อย่างใด เราเดินผ่านชั้น 1 และ 2 มาอย่างรวดเร็วแบบงงๆ มารู้ตัวอีกทีถึงชั้น 3 แล้ว มีทางแยกซ้ายขวาให้เลือก เป็นทางขึ้นไปชั้น 4 ทั้งคู่ มีระยะทางต่างกันนิดหน่อย เราเลือกไปทางขวาเพราะดูท่าทางน่าจะเดินสนุกกว่า

บนชั้น 4 เริ่มมีทางเดินระเบียงไม้เวียนรอบเขา ความเสียวเริ่มมาเยือน ด้วยความที่แผ่นไม้แต่ละแผ่นดูสูงอายุซะเหลือเกิน จนเราแอบกลัวว่าจะรับน้ำหนักตัวเราไม่ไหว แถมแผ่นไม้ยังวางเรียงกันห่างๆ เป็นร่องมองเห็นด้านล่าง ยิ่งเพิ่มระดับความสั่นให้ขาของเรา ยอมรับเลยว่าเราเดินก้มมองเท้าตัวเองเสียมากกว่ามองวิวรอบๆ มีคุณลุงกับหลานชายที่เดินไปได้หน่อยนึงแล้วถอยกลับมาบอกว่าเดินไม่ได้ ใจสั่น แต่ถ้าใจสู้ก็ลองดู เราแอบหวั่นใจ แต่มีรึเราจะให้เรื่องแค่นี้เป็นอุปสรรค เราตัดสินใจค่อยๆ ก้าวย่างอย่างมีสติ พอพ้นมุมหินเท่านั้น โอ้วแม่เจ้า วิวมันช่างสวยสดงดงามที่สุด สักพักคุณลุงกับหลานชายก็เดินตามมา ทีนี้ล่ะตามรอยพวกเราเลย

เดินขึ้นมาถึงชั้น 5 มีทางแยกไปพุทธวิหาร ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนชะง่อนผาที่ยื่นออกไป เป็นวิหารแบบเปิดโล่งไม่มีผนัง ลมพัดเย็นสบาย ภายในมีพระพุทธรูปให้คนมากราบไหว้และสวดมนต์ แต่หากใครคิดจะมานั่งสมาธิตรงนี้คงยากหน่อย เพราะมีคนเดินแวะเวียนเข้ามาตลอดเวลา

บริเวณพุทธวิหารเป็นจุดชมวิวได้เกือบ 360 องศา เราเห็นภูทอกใหญ่ได้อย่างชัดเจนจากจุดนี้ และเมื่อหันหลังกลับมาก็จะเห็นระเบียงไม้ทางเดินของชั้น 6 เลาะเรียบไปตามผาสีแดงส้มของภูทอกน้อยอย่างน่าอัศจรรย์ หากคิดย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ด้วยวิศวกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยนั้นคงไม่มีเครื่องมือใดจะช่วยให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปมากกว่าแรงศรัทธาและความเพียรพยายามขั้นสูงสุด กว่าที่ไม้แต่ละแผ่นจะวางพาดลงเป็นทางคงต้องใช้ความกล้าหาญและความแน่วแน่ของจิตใจอย่างมหาศาล

ภูทอกเป็นภูเขาหินทราย เนื้อสัมผัสหยาบสาก เวลาเดินจึงไม่ค่อยลื่น แต่หากบริเวณไหนมีตะไคร่น้ำขึ้น ก็อาจลงไปนั่งพับเพียบได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ทางเดินชั้น 5 รู้สึกจะเดินสบายกว่าชั้นอื่น ด้วยความที่เนื้อไม้ดูใหม่ หนาและแข็งแรง แผ่นไม้ก็วางเรียงชิดกันไม่ค่อยเป็นร่อง จึงรู้สึกอุ่นใจเดินสบาย ชื่นชมทิวทัศน์เบื้องล่างได้อย่างเต็มที่

ขึ้นมาชั้น 6 เป็นเหมือนบทพิสูจน์ว่าความสวยงามผันแปรไปตามความยากลำบากและความสูง ผนังหน้าผาโค้งเว้ารับกับทางเดินได้อย่างงดงามไม่แพ้วิวด้านล่าง ขณะเดินบนชั้นนี้ รู้สึกว่าตัวเบาหวิวเหมือนกำลังลอยล่องอยู่บนแดนสวรรค์จริงๆ


น่าเสียดายที่เราไม่มีเวลาได้ซึมซับบรรยากาศบนนี้นานนัก เพราะใกล้เวลาปิดแล้ว จึงต้องรีบเดินลง หากมีเวลาสัก 3 ชั่วโมงน่าจะกำลังดี เก็บบรรยากาศรอบๆ ได้ครบ

สำหรับภูทอก เราคิดว่าเป็นสถานที่ที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมที่สุด ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจังหวัดบึงกาฬจึงยกให้ภูทอกเป็นสถานที่สำคัญประจำจังหวัด ถึงขนาดที่เป็นสัญลักษณ์ปรากฏอยู่บนตราประจำจังหวัด และขึ้นต้นคำขวัญประจำจังหวัดด้วยภูทอก

ลงจากภูทอก เราต้องรีบขับรถเข้าที่พักในตัวจังหวัดซึ่งอยู่ห่างออกไป 40 กว่ากิโลเมตร จบภารกิจวันแรกด้วยความประทับใจ

วันที่สอง เราแพลนจะเที่ยวน้ำตกกันทั้งวัน แต่วันนี้ตื่นสาย กว่าจะออกจากที่พักก็สิบโมงกว่าแล้ว แวะหาส้มตำไก่ย่างแซ่บๆ กินระหว่างทางสักหน่อย ก็ขับตรงไปยังอำเภอเซกาซึ่งอยู่ห่างตัวจังหวัดออกไป 60 กว่ากิโล ปักหมุดไว้ว่าจะไปน้ำตกถ้ำพระก่อน แต่ไหงมาโผล่ที่น้ำตกเจ็ดสีก็ไม่รู้ สอบถามเจ้าหน้าที่หน้าทางเข้าได้คำตอบว่าน้ำตกถ้ำพระไปอีกไกล งั้นก็เลยตามเลยล่ะกัน เที่ยวน้ำตกเจ็ดสีก่อนก็ได้ จึงจ่ายค่าเข้าคนละ 30 บาท และค่าเอารถเข้าไปอีก 40 บาท รวมเป็น 100 บาทพอดี สิ่งที่ดีงามคือเราสามารถเก็บบัตรเข้าชมไว้ใช้ที่น้ำตกถ้ำพระได้ด้วย จริงๆ ใช้ได้กับทุกน้ำตกที่อยู่ในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าวัวภู จากปากทางขับรถเข้าไปอีก 2 กิโล ก็ถึงลานจอดรถ มีร้านส้มตำและร้านขนมหลายร้านซึ่งขายของเหมือนๆ กัน เดินเลยเข้าไปหน่อยมีเจ้าหน้าที่ค่อยตรวจดูสิ่งของที่เรานำขึ้นไปบนน้ำตก หากมีขวดน้ำ ถุงพลาสติก ถุงขนม ถ้วยโฟม หรือสิ่งที่อาจเป็นขยะได้ จะถูกเรียกเก็บค่าประกันขยะชิ้นละ 40 บาท ตอนลงให้นำกลับลงมาแสดงต่อหน้าเจ้าหน้าที่และรับเงินคืน


ทางเดินเข้าน้ำตกเจ็ดสีเป็นลานหินขนาดใหญ่มีร่องรอยการกัดเซาะของน้ำลมเกิดเป็นลวดลายสวยงาม น้ำตกแบ่งเป็น 4 ชั้น สองชั้นล่างเป็นลำธารและแอ่งน้ำตื้นๆ น้ำไม่แรง เหมาะกับเด็กๆ ส่วนเราเดินบุกป่าฝ่าดงขึ้นไปชั้นที่ 3 กันต่อ

บริเวณชั้น 3 ค่อนข้างลื่นและอันตราย เป็นจุดที่ได้ผจญภัยมากที่สุดในการเที่ยวน้ำตกวันนี้ เราต้องเกาะเชือกที่ทางเจ้าหน้าที่โยงไว้ให้ และเดินไปบนแผ่นหินที่ปกคลุมด้วยกระแสน้ำไหลแรง ยิ่งไปกว่านั้นแผ่นหินยังมีตะไคร่น้ำเกาะหนาทั่วทั้งแผ่น ยิ่งทำให้เดินยากลำบากขึ้นไปอีก ถ้าพลาดอาจลื่นล้มและถูกกระแสน้ำพัดตกผาไปได้ ต้องมีสติ เกาะแน่นๆ ก้าวทีละนิด แล้วเราก็ผ่านไปได้ปีนป่ายข้ามก้อนหินลูกใหญ่ไปอีกหน่อย ก็มาถึงชั้นบนสุด เป็นผาน้ำตกสูงและแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เหมาะกับการเล่นน้ำที่สุด เห็นคน 2-3 คน เล่นสไลด์ตัวลงมาจากแผ่นหินใต้ผาน้ำตกกันอย่างสนุกสนาน แต่ขณะนั้นเรากลับรู้สึกไม่อยากเล่น เพราะเดินไปทางไหนก็ดูจะลื่นไปซะหมด แค่นั่งฟังเสียงน้ำตกเราก็มีความสุขพอแล้ว

นั่งเล่นอยู่บนนั้นประมาณ 15 นาที เราตัดสินใจเดินลงมาเพราะกลัวจะไปน้ำตกถ้ำพระไม่ทัน

การหาทางไปน้ำตกถ้ำพระยังคงเป็นปัญหาของเรา เพราะจีพีเอสจะพาเราเข้ารกเข้าพงตลอดเวลา เราจึงถอดใจเลิกใช้จีพีเอส และหันมาใช้วิธีดั้งเดิม คือเปิดกระจกถามทางไปเรื่อยๆ จนถึงท่าเรือที่ 1 ต้องบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราใช้วิธีถามทางในการเดินทางไปสถานที่เที่ยว

บริเวณท่าเรือ มีร้านขายของ ห้องส้วม และห้องอาบน้ำไว้บริการ เราซื้อตั๋วเรือคนละ 20 บาท ซื้อขนมตุนเสบียงเรียบร้อยก็ไปลงเรือกัน อยู่บนเรือต้องใส่เสื้อชูชีพไว้ตลอดเวลา เรือแล่นช้าๆ ไปตามโค้งน้ำ ผ่านสายลมเย็นและแนวไม้เขียวครึ้มไปตลอดทาง นี่แค่ทางเข้ายังสวยขนาดนี้แล้ว แล้วในตัวน้ำตกจะสวยขนาดไหน เรือแล่นมาประมาณ 10 นาที ก็ถึงจุดจอดเรือ ขึ้นจากเรือมาจะเจอโต๊ะจำหน่ายบัตรเข้าชม เรายื่นบัตรที่ซื้อมาจากน้ำตกเจ็ดสีให้ดู เจ้าหน้าที่ก็เชิญให้เข้าไปได้เลย เดินขึ้นบันไดผ่านป่าไปหน่อย เราถึงกับต้องร้องว้าวให้กับภาพที่เห็นตรงหน้า มันเป็นน้ำตกที่ธรรมชาติช่างสรรค์สร้างโดยแท้ เนินหิน แอ่งน้ำ ร่องน้ำตก ถูกจัดวางสลับไปมาอย่างเหมาะเจาะ ที่พิเศษสุดคือริ้วลายบนเนินหินและหน้าผาราวกับถูกขีดเขียนขึ้นมาอย่างบรรจง

เราเดินข้ามเนินหินสูงไปยังผาน้ำตกชั้น 2 ซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ของน้ำตกแห่งนี้และเป็นจุดที่พี่อิสร์กับน้องปอนด์มาสวีทกัน เห็นคนปีนป่ายก้อนหินตรงใต้น้ำตก ส่งเสียงหัวเราะร่ากันอย่างมีความสุข เรากลัวๆ กล้าๆ อยู่สักพัก ก็ตัดสินใจค่อยๆ ลุยน้ำเดินไปทางน้ำตกที่พุ่งกระเซ็น น้ำตื้นและเดินง่ายจนน่าแปลกใจ จิตใจเริ่มฮึกเหิม ค่อยๆ กระดึ๊บๆ เข้าไปยืนตรงจุดที่น้ำกระทบหินแตกกระเซ็นเป็นฟอง มันสุดยอดมาก น้ำเย็นสะใจ แถมแรงน้ำที่กระแทกใส่ร่างของเราเป็นเหมือนเครื่องนวดคลายกล้ามเนื้อชั้นดี

นอกจากความสวยงามของน้ำตกแล้ว กิจกรรมสุดสนุกของที่นี่คือ เล่นสไลเดอร์ตามร่องหิน ซึ่งมีร่องที่เหมาะจะเล่นกระจายอยู่ทั่วน้ำตก ระดับความยากตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาลัย สำหรับเรา เลือกเล่นระดับประถมก็สนุกมากพอแล้ว

สำหรับใครที่จะเล่นสไลเดอร์ที่นี่ ต้องเตรียมใส่กางเกงหนาๆ มา ไม่งั้นกางเกงอาจตูดขาดได้ง่าย ขนาดเราใส่กางเกงยีนส์หนาๆ ยังไม่รอด

เล่นน้ำกันสนุกจนห้าโมงเย็นได้เวลาปิด เจ้าหน้าที่เดินต้อนคนออกจากพื้นที่ไปขึ้นเรือเที่ยวสุดท้ายกลับขึ้นฝั่ง

วันนี้เป็นวันที่สนุกมากจริงๆ น้ำตกก็สวยมาก ก่อนกลับเข้าเมืองเราตัดสินใจขับรถเลยไปหาดคำสมบูรณ์ริมบึงโขงหลง กะว่าจะไปดูพระอาทิตย์ตกสวยๆ ที่นั่น

ถนนทางไปค่อนข้างเปลี่ยว มีรถเราแค่คันเดียวขับทะยานผ่านสวนยางพาราสองข้างทาง ไปถึงหาดคำสมบูรณ์หกโมงกว่า เรารู้มาว่าหาดคำสมบูรณ์เป็นจุดชมวิวภูลังกาที่สวยที่สุดแต่เรากลับเจอบรรยากาศเงียบเหงาว่างเปล่าวังเวง จนไม่กล้าลงจากรถ บริเวณนั้นมีแต่ร้านอาหารแต่ไม่มีคน และเรามองหาจุดที่สามารถยืนชมวิวโดยไม่ต้องนั่งกินอาหารไม่ได้ บวกกับฟ้าเริ่มสลัวแล้ว จึงรีบหันหัวรถบึ่งกลับเข้าเมือง

ค่ำนี้ฝนตกกระหน่ำมืดฟ้ามัวดินอยู่เป็นชั่วโมง แต่เรานั่งกินหมูกระทะอร่อยๆ อุ่นๆ ฟินๆ ในร้านเจนหมูย่างรอฝนหยุดก็อิ่มพอดี จึงเข้าที่พัก

วันที่สาม

ออกจากที่พักตอนแปดโมงครึ่ง ไปกินมื้อเช้าที่ร้านต้นข้าวเปียก ร้านอาหารเช้ายอดนิยมของบึงกาฬ เราไม่ได้สั่งข้าวเปียก แต่โจ๊กและขนมปังที่นี่อร่อยดี เราซื้อขนมปังติดไปเป็นเสบียงอีกสองชิ้นด้วย

พอขึ้นรถ ก็มุ่งหน้าไปยังภูสิงห์ วันนี้จีพีเอสพาเราขับรถออกจากตัวเมืองมาอีกเส้นทางหนึ่ง สองข้างทางมีแต่ท้องนาป่าเขา ไม่เห็นแม้แต่ความเป็นชุมชน ขับไปประมาณ 20 กิโล เห็นป้ายบอกทางให้เลี้ยวเข้า ขับต่อเข้าไปอีก 5 กิโล ก็เห็นป้ายป่าภูสิงห์และทางเลี้ยวเข้า เราหยุดรถมองหน้ากันอย่างลังเลว่าจะเอายังไงดี เพราะในจีพีเอสบอกให้ขับตรงไปอีก 20 กิโลกว่าจะถึงจุดหมาย คราวนี้เราเลือกเชื่อเซ้นส์ของตัวเอง ปิดจีพีเอสและเลี้ยวหัวรถเข้าไปเลย

ขับต่อมาอีกหน่อยก็ถึงที่ทำการป่าภูสิงห์ เราจอดรถหน้าศูนย์บริการข้อมูล และลงไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อลงทะเบียนและเช่ารถขึ้นภูสิงห์ ทางขึ้นภูสิงห์ค่อนข้างวิบาก ต้องใช้รถกระบะโฟร์วิลยกสูงเท่านั้นจึงจะขึ้นไปรอด

ไปถึงที่นั่นประมาณสิบโมง ปรากฎว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวสองคนแรกของวัน จ่ายค่าเช่ารถกระบะขึ้นภูคันละ 500 บาทเรียบร้อย พี่หนู อาสาสมัครดูแลป่าไม้ ให้ข้อมูลการเที่ยวชมป่าภูสิงห์แก่เราว่า จุดแวะชมจะมีทั้งหมด 10 จุด ได้แก่ ลานธรรมภูสิงห์ หินสามวาฬ จุดชมวิวถ้ำฤาษี หินหัวช้าง ถ้ำใหญ่ หินช้าง กำแพงภูสิงห์ ประตูภูสิงห์ หัวใจภูสิงห์ และ ส้างร้อยบ่อ

แต่พี่หนูบอกว่าช่วงนี้หน้าฝน จึงเหลือแค่ 8 จุด ไม่แนะนำให้แวะหินหัวช้างและถ้ำใหญ่ เพราะทางเดินค่อนข้างลื่นและต้องเดินผ่านฝายชะลอน้ำเล็กๆ ด้วย เรามองหน้ากันอย่างรู้ว่าอีกฝ่ายคิดอย่างไร จึงถามพี่หนูไปว่าขอลองเดินไปได้ไหม ไหนๆ ก็มาแล้ว ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ถอย พี่หนูตอบโอเค ลองดูก็ได้ มันไม่ได้อันตรายมาก แค่มันแฉะและกลัวจะลื่นล้ม

คนที่จะขับรถและคอยดูแลเราวันนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน พี่หนูนั่นเอง พี่หนูให้เราเลือกว่าจะนั่งในรถหรือหลังกระบะ แน่นอนเราโดดขึ้นกระบะ

รถขับขึ้นมาช่วงแรกถนนยังดีอยู่ผ่านวัดและมาจอดที่ลานธรรมภูสิงห์ หยุดให้เราลงไปกราบพระขอพรสักแปบนึงก็ไปต่อ

ถนนเริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อ นั่งหัวสั่นหัวคลอนกลิ้งกระดอนไถลไปมากันอยู่ท้ายกระบะ พี่หนูถามว่าจะมานั่งข้างหน้าไหม แต่เรายังอยากสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดจึงขอนั่งข้างหลังต่อไป สองข้างทางเป็นป่าไผ่ซะเป็นส่วนใหญ่ มีชาวบ้านขึ้นมาขุดหาหน่อไม้ลงไปขายด้วย พี่หนูบอกเราว่าผมไม่ขุดหาเองหรอก รอซื้อจากเขาแค่ 20 บาท แกงได้หม้อเบ้อเร้อ ไม่ต้องเหนื่อยและเสี่ยงงูกัด ป่าไผ่เนี่ยเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของงูเหลือมงูจงอางเลย

นั่งรถขึ้นมาประมาณ 20 นาที ในที่สุดเราก็มาถึง หินสามวาฬ!!! จุดหมายปลายทางที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดทริปนี้

ลงเดินไปตามทางแคบๆ ขนาบด้วยป่าไผ่ ใจเต้นตึ๊กตั๊ก สายตาจับจ้องอยู่เพียงปลายสุดของแท่งหินผาที่ยาวยื่นออกไป พอพ้นแนวต้นไม้เท่านั้นแหละวิวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาก็ปรากฎเบื้องหน้าเรา ข้างล่างเป็นป่าไม้เขียวแน่นขนัด เห็นภูเขาและภูลังกาอยู่ไกลๆ เรากำลังเดินอยู่บนวาฬตัวพ่อ หันมองด้านขวาเป็นวาฬตัวแม่ และถัดไปอีกตัวเล็กๆ มุดหัวลงดิน คือวาฬตัวลูก เดินไปถึงปลายสุดของหินวาฬตัวพ่อ เราหยุดมองไปรอบๆ พยายามซึมซับความสวยงามบนหลังวาฬนี้ให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ได้เห็น ได้สัมผัส และรู้สึกไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่วาดฝันเอาไว้เลย

ชื่นชมทิวทัศน์จนเต็มอิ่ม เราก็วิ่งไปมาระหว่างวาฬพ่อกับวาฬแม่หามุมถ่ายรูปกันอย่างสนุก ที่พิเศษสุดๆ คือวันนั้นเป็นวันธรรมดา ไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นเลย จึงรู้สึกเหมือนทั้งป่านี้เป็นของเรา

ถ่ายรูปกันจนไม่รู้จะถ่ายท่าไหนแล้ว เลยขอพี่หนูให้พาไปเดินบนวาฬลูก พี่หนูเลิกคิ้วถลึงตาทำหน้าตกใจนิดนึงและบอกว่าได้ แต่นี่ไม่มีใครเค้าไปกันเลยนะ เพราะมองไม่เห็นวิวอะไร และทางมันค่อนข้างลื่น เรายังยืนยันจะไปเพราะไม่อยากค้างคาใจ พี่หนูจึงพาเดินลัดป่าไผ่ไปยังวาฬลูก ตอนที่เดินฝ่าดงไผ่แอบภาวนาในใจว่าขออย่าให้เจองูจงอางเลย หลุดออกมาจากดงไผ่ได้ค่อยหายใจหายคอสะดวก แต่กลับโดนพิษใบไผ่เล่นงานคันคะเยอไปทั้งตัว เดินขึ้นมาบนวาฬลูกได้มุมมองสวยแปลกตาไปอีกแบบ ได้ถ่ายรูปกับวาฬครบทั้งสามตัว และยังเจอขี้อีเห็นอีกด้วย รู้สึกว่าเราคิดถูกแล้วที่ขอให้พี่เค้าพาเดินมา


จากหินสามวาฬ เราเดินต่อไปยังจุดชมวิวถ้ำฤาษีซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ที่เรียกว่าถ้ำฤาษีเพราะปลายสุดของหน้าผามีชะง่อนหินและถ้ำซึ่งเคยมีฤาษีอาศัยอยู่จริงๆ

จุดชมวิวถ้ำฤาษีมีลักษณะเป็นหน้าผาเปิดโล่งทอดยาว ไม่มีต้นไม้บดบังทัศนียภาพ จึงนั่งนอนชมวิวกันได้อย่างจุใจ ยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปมุมไหนก็สวย ข้างล่างเป็นป่าเขียวผืนใหญ่กว้างไกลสุดสายตา เหมือนใครเอาพรมสีเขียวนุ่มมาปูไว้ มีเงาเมฆพาดทับเป็นหย่อมๆ ทำให้พรมผืนนี้ดูมีลวดลายมีมิติมากขึ้น เราแอบประทับใจวิวตรงนี้มากกว่าตรงหินสามวาฬด้วยซ้ำ แต่ขอบอกว่าแดดวันนั้นแรงมาก นอนเงยหน้าถ่ายรูปหน้าแทบไหม้ ทั้งจากเปลวแดดที่ส่องมาและไอร้อนบนก้อนหิน

จุดต่อไปคือหินหัวช้าง ซึ่งเป็นจุดที่พี่หนูไม่แนะนำให้ไปในตอนแรก ทางเดินมีลื่นบางจุด แต่ถ้าเดินอย่างระวังก็ไม่มีปัญหา ถ้าเทียบกับน้ำตกเจ็ดสีเมื่อวาน อันนี้ถือว่าจิ๊บๆ

หินหัวช้าง เป็นหน้าผา มีรูปร่างคล้ายหัวช้างที่มองจากด้านหลัง เวลาเดินขึ้นไปบนหน้าผาจึงให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินจากหลังช้างขึ้นไปเหยียบหัวช้าง วิวที่เห็นจากบนหัวช้างเป็นอีกจุดที่เราร้องว้าวออกมา

ต่อไปคือถ้ำใหญ่ ซึ่งแต่ก่อนถูกใช้เป็นสถานพยาบาลคนเจ็บของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ต้องเดินเข้าไป 200 เมตร แต่เนื่องจากเมื่อคืนก่อนฝนตกหนักทำให้มีน้ำขังเป็นแอ่ง ต้องเดินหลบ กระโดดข้ามแอ่งน้ำ พ้นบ้างไม่พ้นบ้าง สุดท้ายเท้าเปียกอยู่ดี ทางเดินไปถ้ำใหญ่ค่อนข้างลำบากกว่าจุดอื่น ต้องเดินขึ้นลงบันไดและเนินดินหลายตอน ที่พีคสุดคือต้องคลานมุดซุ้มดงไผ่ออกไปเจอฝายชะลอน้ำ แต่พอไปถึงแล้วกลับเฟลที่สุด คือมันไม่มีอะไรให้ดูเลย ไม่ต้องมาก็ได้ แต่ยังไงก็ถือว่าได้มาเดินผจญภัยสนุกๆ ล่ะกัน

จุดแวะต่อๆ ไป เป็นจุดเล็กๆ เราจึงแค่ลงไปถ่ายรูปกันประมาณจุดละห้านาที

หินช้าง

กำแพงภูสิงห์

ประตูภูสิงห์

หัวใจภูสิงห์


ส้างร้อยบ่อ

จบการทัวร์ภูสิงห์ เราใช้เวลาไปสี่ชั่วโมงกว่า นานกว่าชาวบ้านเค้าอีกแล้ว ลงไปถึงข้างล่างเห็นนักท่องเที่ยวอีกสองกลุ่มที่มาทีหลังเรา แต่ลงมาก่อนเรากำลังนั่งกินบะหมี่อยู่ พี่หนูบอกว่าคนส่วนใหญ่เที่ยวประมาณสามชั่วโมงก็เสร็จ บางคนไปแค่หินสามวาฬที่เดียว

นั่งพักกินน้ำกินขนม และเข้าห้องน้ำแล้วก็ไปต่อ เราตกลงกันว่าจะไปแก่งอาฮง เพราะเป็นทางผ่านไปออกหนองคายและตัดเข้าอุดรธานีเลย

ขับรถมาเรื่อยๆ เกือบ 50 กิโล พอมาถึงหน้าวัดอาฮงศิลาวาส ฝนกระหน่ำไม่มีปีมีขลุ่ยซะงั้น เราจึงหาที่หลบฝนที่ร้านอาหารข้างวัด สั่งลาบส้มตำมากินซะเลย อาหารร้านนี้รสชาติพื้นเมืองมาก เป็นรสที่เราไม่ค่อยคุ้น แต่ก็อร่อยแบบแปลกๆ

พอฝนหยุด ก็ขับรถเข้าวัด ยืนดูแม่น้ำโขง ฉากหลังเป็นทิวเขาฝั่งประเทศลาวมีเมฆลอยละบดบังยอดเขา เนื่องจากเป็นหน้าฝน น้ำหลาก เราจึงไม่เห็นแก่ง แต่เห็นกระแสน้ำไหลสวนทวนกันอย่างน่าอัศจรรย์ บางช่วงมีน้ำวนให้เห็น จุดนี้เป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ลึกกว่า 200 เมตร จึงถูกเรียกว่า สะดือแม่น้ำโขง

ยืนดูแม่น้ำอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องรีบขับรถกลับอุดรธานี ตลอดทางจากตัวจังหวัดบึงกาฬไปจนสุดเขตจังหวัด ไม่มีปั๊มน้ำมันสักปั๊มเดียว แต่พอเข้าเขตหนองคายเท่านั้นแหละ เจอปั๊มใหญ่เลย ตลอดเส้นทางในเขตจังหวัดหนองคายมีความเป็นเมืองค่อนข้างสูง ต่างจากถนนในบึงกาฬที่สองข้างทางมีแต่ป่า นา เขา ดังนั้นใครที่จะขับรถเที่ยวในบึงกาฬ ควรตรวจดูระดับน้ำมันก่อนวิ่งออกจากตัวจังหวัดด้วย

เรามาถึงอุดรตอนทุ่มครึ่ง แวะกินวีทีแหนมเนืองก่อน

แล้วจึงค่อยนำรถไปคืนที่สนามบินตามเวลานัด และไปนั่งรอขึ้นเครื่องบินกลับดอนเมืองตอนสี่ทุ่ม เป็นอันจบทริปบึงกาฬพร้อมเก็บความประทับใจกลับบ้านมาเต็มกระเป๋า

ในความรู้สึกของเราตอนนี้ บึงกาฬเบียดขึ้นมาเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ในใจเราไปแล้ว ทุกสถานที่เที่ยวในจังหวัดนี้ล้วนแต่งดงามอลังการ ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เงียบสงบ และมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก นักท่องเที่ยวก็ยังไม่มาก หากมีโอกาสอยากจะมาดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกดิน และทะเลหมอกบนหลังวาฬอีกสักครั้ง

Tag AlonG

 วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 14.05 น.

ความคิดเห็น