มาชวนไปเที่ยววังกันค่ะ


วังบางขุนพรหม เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุลบริพัตรและสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา วังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เงินจากพระคลังข้างที่เพื่อไว้ให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส วังบางขุนพรหมอยู่ในเนื้อที่ 33 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีตำหนักรวม 2 ตำหนัก ได้แก่ ตำหนักทูลกระหม่อมหรือตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ โดยตำหนักทูลกระหม่อม ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 โดยการออกแบบของคาร์ล ซันเดรสกี สถาปนิกชาวเยอรมัน แต่ไม่แล้วเสร็จ จึงได้มารีโอ ตามาญโญ สถาปนิกที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลี มาดำเนินการออกแบบจนแล้วเสร็จ มีความโดดเด่นของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะบาโรค (Baroque) ศิลปะเรเนอซองส์ (Renessance) และศิลปะแบบร็อกโคโค (Rococo) ที่มีความงามโดดเด่นไปด้วยลวดลายปูนปั้นอันละเอียดละออ โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน ผนังรับน้ำหนัก มีโครงสร้างหลังคาไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องว่าว หลังคาเป็นทรงมังซาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นหลังคาสองชั้นซ้อนกันโดยมีความลาดของหลังคาแต่ละชั้นไม่เท่ากัน หลังคาชั้นล่างมีหน้าต่างเล็ก ๆ อย่างที่เรียกว่า ดอร์เมอร์ ยื่นออกจากหลังคาห่างกันเป็นระยะเท่า ๆ กัน


ส่วนตำหนักสมเด็จ เป็นตำหนักที่เพิ่มเติมติดกับตำหนักใหญ่ ได้รับการออกแบบโดยคาร์ล เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมัน ในปี พ.ศ. 2454 เดิมเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมทั้งเป็นที่ประทับของฝ่ายในคือเจ้านายฝ่ายสตรีของวังบางขุนพรหม ลักษณะการก่อสร้างจึงงดงามอ่อนหวานแบบนวศิลป์ของเยอรมัน ภายในตกแต่งโดยเน้นการแกะสลักไม้ลวดลายพรรณพฤกษาและลายเรขาคณิต ปัจจุบันตำหนักสมเด็จยังไม่ได้เปิดให้เข้าชม

ในอดีตวังบางขุนพรหมได้ถูกใช้เป็นสถานที่ราชการหลายครั้ง จนเมื่อปี พ.ศ.2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการจนกระทั่งปรับปรุงให้มาเป็น “พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย” จนถึงปัจจุบัน

การเข้าชมนั้น เจ้าหน้าที่จะนำสู่ห้องฟังบรรยายเพื่อให้รับทราบภาพรวมก่อน จากนั้นจะค่อยๆ นำชมห้องต่างๆ ทีละห้องตั้งแต่ “ห้องประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่อธิบายประวัติความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการทำความรู้จักกับธนาคารแห่ประเทศไทยให้มากขึ้น “ห้องเชิดชูเกียรติ” ที่รวบรวมประวัติและของที่ระลึกจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่คนแรกจนถึงปัจจุบัน

ไฮไลต์สำคัญของการมาชมคือห้องที่งดงามที่สุดในวังบางขุนพรหม นั่นคือ “ห้องสีชมพู” ในอดีตเคยเป็นท้องพระโรงหลักสำหรับต้อนรับแขกสำคัญ ตลอดจนใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระและพิธีการต่างๆ ด้านในห้องทาสีชมพู ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเดินลายทองทั้งที่ผนัง กรอบช่องเปิด และฝ้าเพดาน ด้านในมีพระบรมรูปเขียนสีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประดิษฐานเป็นภาพประธานของห้อง และยังมีภาพเขียนสีน้ำมันของพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ อีก ห้องนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าไปชมภายใน แต่สามารถมองผ่านกระจกจากภายนอกได้ ในวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปีจะมีการจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องจากเป็นวันครบรอบวันประสูติท่านเจ้าของวัง ซึ่งในปี 2560 นี้ จะครบรอบ 136 ปี

ที่อยู่ติดกับห้องสีชมพูคือ “ห้องสีน้ำเงิน” เดิมใช้เป็นห้องรับรองอาคันตุกะของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายา ที่เรียกห้องสีน้ำเงินนั้นหมายถึงตัวแทนของกษัตริย์ หาได้มีสีน้ำเงินเหมือนชื่อห้องแต่อย่างใดไม่ ปัจจุบันห้องนี้ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระราชทานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องนี้ก็ให้รับชมผ่านกระจกเช่นกัน

ใกล้ห้องสีน้ำเงินคือ “ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์” เป็นห้องที่ต่อเติมขึ้นภายหลังจากสร้างตำหนักทูลกระหม่อมแล้วเสร็จ เดิมเป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องจากพระชายาทรงพระประชวรด้วยโรคปอด และส่วนนี้เป็นส่วนที่อากาศถ่ายเทได้ดี ต่อมาเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เป็นที่ทำการ ห้องนี้ก็ใช้เป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่พระองค์แรก จนถึงผู้ว่าการคนที่ 10

อีกห้องหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยก็คือ “ห้องบริพัตร”ห้องนี้จะจัดแสดงพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมถึงของใช้ที่มีตราประจำพระองค์ และความสนพระทัยในด้านต่างๆ อาทิ เครื่องลายคราม หุ่นจำลองวงปี่พาทย์ โน้ตเพลงลายพระหัตถ์ เป็นต้น ตรงกลางห้องมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าพระองค์จริงฉลองพระองค์ในชุดเต็มยศ ดูสง่า สมพระเกียรติ ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายของพระชนม์ชีพ


การเข้าชม

เขาเปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 แล้วค่ะ สามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. ให้บริการเข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยต้องจองวันเวลาเข้าชมล่วงหน้า และทำหนังสือขออนุญาตเข้าชม วันเสาร์ เวลา 10.30 - 16.00 น. ให้บริการประชาชนทั่วไป (Walk-in) โดยไม่ต้องจองล่วงหน้า (รอบเช้าเวลา 10.30 น. และ 11.30 น. รอบบ่ายเวลา 13.30 น. และ 14.30 น.) หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพียงนำบัตรประชาชน บัตรนักเรียน/ใบขับขี่/หรือหนังสือเดินทาง แสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อแลกบัตรเข้าสู่บริเวณพิพิธภัณฑ์ ด้านในห้ามถ่ายภาพ และการเข้าชมต้องแต่งกายสุภาพค่ะ

ถ้าวันเสาร์ไหนว่าง แวะไปชมวังเก่างามๆ กัน แล้วจะพบว่า วังของเราก็งดงามไม่แพ้วังที่ใดๆ ในโลกเลย

https://www.facebook.com/TravelWithPiyaiAndNoolek/

Piyai&Noolek

 วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เวลา 20.40 น.

ความคิดเห็น