เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดตรัง เราจะนึกถึงอะไรกันบ้างคะ..ไม่ว่าจะเป็นหมูย่างหนังกรอบๆติ่มซำสาระพัดสิ่งเค้กมีรูทะเลสวยๆที่เกาะกระดานหรือแม้แต่งานวิวาห์ใต้สมุทร .. เชื่อเหลือเกินว่าในหัวส่วนมากของทุกคนจะผุดเรื่องของกินสาระพัดที่ตรังออกมาเป็นอันดับต้นๆสมแล้วกับที่เป็นเมืองยุทธจักรแห่งความอร่อยนะคะ



บางคนให้ฉายาว่าเมืองตรังเป็นเมืองแห่งคนช่างกินกินกันได้ 24 ชั่วโมงเราก็ว่าไม่ได้พูดจนเกินไปเชื่อสนิทใจเมื่อไปตรังในครั้งนี้ค่ะ



การไปตรังครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของเราแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้ใช้เวลาถึง 7 วันที่นั่นมีโอกาสได้สัมผัสชีวิตของคนเมืองตรังในหลายๆแง่หลายๆมุมหลายๆมิติการท่องเที่ยวในหน้าโลว์ซีซั่นและในวันธรรมดาทำให้เราได้มีโอกาสสัมผัสเมืองตรังต่างไปจากทุกๆครั้งเพราะหากเป็นการไปเที่ยวในหน้าไฮซีซั่นเราคงมุ่งหน้าแต่จะออกไปสัมผัสความสวยงามทางทะเลเวลาทั้งหมดของเราคงไปอยู่ตามเกาะแก่งต่างๆที่สวยงามแต่เนื่องจากตอนที่ไปนี้อุทธยานแห่งชาติทางทะเลต่างๆปิดหมดแถมฝนตกพายุเข้าอีกต่างหากเราเลยมีโอกาสได้สัมผัสวิถีชีวิตที่สวยงามความสงบ ความเรียบง่ายและความอร่อย 24 ชั่วโมงของเมืองตรัง….



เราได้รับมอบหมายในภาระกิจของโครงการ“The Amazing Journey :Blogging Contestกับโครงการ12 เมืองต้องห้ามพลาด “ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมอบหมายให้ Blogger 12 ทีมออกไปค้นหา 12 เมืองต้องห้ามพลาดค่ะเพจ TamKarnwela และเพจ ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL ได้รับมอบหมายให้ทำรีวิวจังหวัดตรังซึ่งมี Concept ชัดเจนว่าเป็นยุทธจักรแห่งความอร่อยช่างเข้าทางเพจ Tamkarnwela จริงๆและดีใจยิ่งนักที่เพื่อนร่วมทีมคือเพจม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVELนับว่าเป็นส่วนผสมที่เข้ากันอย่างลงตัวรับรองว่ารีวิวตรังของเราทั้ง 2คนจะครอบคลุมทุกด้านของตรังอย่างกลมกล่อมนะคะ



เป็นกำลังใจให้ด้วยค่ะ.....



และสามารถติดตามผลงานอื่นๆได้ที่



https://www.facebook.com/Tamkarnwelatripsขอบคุณค่ะ



มารู้จักโครงการนี้กันซักนิดค่ะ


The Amazing Journey :Blogging Contest

เป็นการร่วมมือกันระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กับ เว็บไซท์ www.ttbn.co ซึ่งเป็นเครือข่าย blogger สายท่องเที่ยวของประเทศไทย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้เลือกตัวแทนของแต่ละทีมในการไปเยือน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ทีมเราT10 ( Tamkarnwela และม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL) ได้รับมอบหมายจังหวัดตรังยุทธจักรความอร่อยค่ะ



ถ้าหากรีวิวนี้ถูกใจ หรือ พอจะเป็นประโยชน์บ้าง รบกวนท่านที่มีแอคเคานท์เฟสบุ้คให้กำลังใจทีม T10 ตรังได้ที่ http://www.thethailandbloggernetwork.com/teams/detail/T10

จะขอบคุณมากๆเลยนะคะ

ก่อนจะไปชมรีวิวฉบับเต็มฝากชมคลิปสั้นๆคลิปนี้ก่อนค่ะ



การเดินทาง

ผู้สนับสนุนการเดินทางหลักของเราในครั้งนี้ คือ Nok Air ค่ะทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม มีไฟล์ทไป-กลับกรุงเทพ-ตรัง และตรัง-กรุงเทพ วันละ 6 เที่ยวบินแน่ะ อยากไปตอนไหนก็ตามสะดวกนะคะ

เราเลือกออกเดินทางเที่ยวบิน DD7406 ออกจากดอนเมือง 11.10 น.



ได้นั่งชั้นนกเปลี่ยนได้ Nok Flexiทั้งไปและกลับค่ะ



ข้อดีคือได้น้ำหนัก 20 กก.ปรับเปลี่ยนการเดินทางได้ตามใจ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมพร้อมอาหารว่าง ชา-กาแฟและเลือกที่นั่งล่วงหน้าฟรีค่ะ



ใช้เวลาเดินทางไม่นาน แค่ชั่วโมงกว่าๆเราก็มาถึงสนามบินตรังตอน12.25 น.ค่ะบรรยากาศที่สนามบินสบายๆแต่ดูพยากรณ์อากาศแล้วน่าจะเจอฝนทุกวันพร้อมค่ะ …



รถเช่า Thai Rent A Carกำลังจะเปิดเคานท์เตอร์ที่ตรังในเดือนสิงหาคมนี้ค่ะรอบนี้ใช้บริการรถเพื่อนค่า..ไปรอบหน้าได้ใช้ Thai Rent A Car แน่นอน



ตรังเป็นจังหวัดหัวเมืองชายทะเล มีประวัติอันยาวนานได้มีการตั้งเมืองตรัง ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ทรงแต่งตั้งพระอุไภยธานีเป็นเจ้าเมืองตรังคนแรก และได้มีการสร้างหลักเมืองตรังไว้ที่ ควนธานีจนต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสหัว เมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นเมืองตรังมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงโปรดฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง และสร้างความเจริญให้แก่ตรังอย่างมากมาย โดยย้ายเมืองตรังมาตั้งที่ อำเภอกันตัง ปากแม่น้ำตรัง โดยรวมเอาเมืองตรังและปะเหลียนเข้าด้วยกัน และพัฒนาเป็นเมืองท่าการค้าและยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราที่จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก



ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าที่ตั้งตัวเมืองตรังเดิม คือ เมืองกันตังไม่ปลอดภัยจากศัตรู ไม่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด ทั้งยังเป็นที่ลุ่มมาก น้ำทะเลท่วมถึง จะขยายตัวเมืองได้ยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังมาจนทุกวันนี้ และเมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๖ เมืองตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยมาจนทุกวันนี้ค่ะ

ที่พักที่ตรัง : ที่พักติดทะเล


Anantara Si KaoResort & Spa Hotelเป็นที่พักที่แรกๆที่นึกถึงเมื่อรู้ว่าจะมาตรังอยากมาพักที่นี่นานแล้วค่ะ แต่มีเหตุต้องแคล้วคลาดมาตลอดครั้งนี้ได้มาสมใจ

Anantara Sikao Resort & Spa Hotel เป็นโรงแรมที่ติดทะเล ตั้งอยู่ที่อำเภอสิเกานะคะ



ที่นี่ถึงแม้จะสร้างมานานหลายปีแต่ทุกอย่างในห้องยังดีงามครบครัน



ตื่นนอนแล้วเจอวิวแบบนี้ทุกวันคงดีไม่น้อยค่ะ



เราใช้เวลาที่นี่ 3 วัน 2 คืน ที่นี่มีกิจกรรมมากมายขออนุญาตแยกเป็นรีวิวเต็มๆภายหลังนะคะ



ช่วงที่ไปพายุเข้าฝนตกเรื่อยๆค่ะ แต่ที่สิเกาฝนตกไม่นานตกแล้วหยุด..แดดออก .. ฝนตกใหม่ สลับกันอยู่เช่นนี้นะคะ


ยังดีที่พระอาทิตย์ออกมาให้ชื่นใจบ้าง...

ขอบคุณวันเวลาดีดีที่ Anantara Si Kao Resort & Spa



: ที่พักในเมือง


นกฮูกเฮาส์เป็นเกสต์เฮาส์เล็กๆ น่ารัก ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ. ตรังเป็นเจ้าของเดียวกับโรงแรมศรีตรังนะคะ

เป็นที่นิยมของชาวไทยและชาวต่างชาติ



ราคาไม่แพงเลยค่ะ



แบบ Dorm ราคาเตียงละ 250 บาท



แบบเป็นห้องราคา 500-550 บาทนะคะ


จำนวนห้องไม่เยอะทำได้ดีทีเดียวค่ะ



:ที่พักใกล้สถานีรถไฟ


โรงแรมศรีตรังเป็นโรงแรมเก่าแก่อยู่ใกล้สถานีรถไฟค่ะ เสียดายที่ไม่ได้ขึ้นไปชมรู้แต่ว่าบรรยากาศคลาสสิคมากๆเลยนะคะมองเข้าไปที่นี่เก๋มากๆ

ไมตรี เฮาส์ Bed & Breakfast ที่พักอีกแห่งใกล้สถานีรถไฟ ตึกนี้ได้รับการรีโนเวทใหม่กิ๊กค่ะ



บรรยากาศโดยรวมทันสมัย



จำนวนห้องไม่มาก ราคา 500-1000 บาทค่ะ



อาหารการกิน



ตรังเป็นเมืองยุทธจักรความอร่อยใครมาตรังแล้วน้ำหนักไม่ขึ้นกลับไปถือว่าผิด...มาค่อยๆดูกันนะคะ เรา 2 คนไปเจออะไรที่อร่อยมาบ้าง



1.หมูย่างเมืองตรังถ้าจะไม่กล่าวถึงสิ่งนี้เลยคงจะแปลกหมูย่างเมืองตรังเป็นหมูย่างชนิดพิเศษไม่เหมือนใครที่ไหนรสชาติหวานนำ กรอบนอกนุ่มใน ผ่านกรรมวิธีการปรุง โดยใช้เคริ่องเทศที่มีเฉพาะในตรังเท่านั้น แล้วใช้น้ำผึ้งแท้ทาที่ตัวเนื้อ ใช้หมูขนาดที่ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป ใช่วิธีการย่างทั้งตัวค่ะ



หมูย่างตรังจะใช้เตาชนิดที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับย่างหมูย่างเมืองตรังโดยเฉพาะ สูตรการปรุงหมูย่างเมืองตรังแบบนี้ เกิดขึ้นในประเทศจีน ประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถัง การค้นพบวิธีการย่างหมูนั้นช่างเป็นการบังเอิญในขณะที่พ่อครัวในพระราชวังกำลังปรุงอาหาร ทำหมูชิ้นหนึ่งตกลงไปในเตาถ่าน จนเนื้อสุกและหนังไหม้ พ่อครัวลองหยิบมาชิม รู้สึกว่าหมูชิ้นนั้นมีรสชาติหอมกรอบอร่อย จึงทำให้เขามีความคิดว่า การนำหมูมาย่างเป็นอาหารจะอร่อยกว่าการนำไปใช้ทำอาหารอย่างอื่น ดังนั้นพ่อครัวจึงทดลองนำหมูมาย่างแล้วนำขึ้นถวายฮ่องเต้ ฮ่องเต้ทรงโปรดมาก เนื่องจากเมื่อย่างหมูพอสุกพอเหมาะ หนังหมูจะมีสีเหลืองดุจทองคำสุกอร่าม ฮ่องเต้จึงตั้งชื่อหมูย่างนี้ว่า หมูทอง หมูย่างเมืองตรังจึงถึงได้ว่าเป็นอาหารระดับฮ่องเต้เลยทีเดียว



เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนนี้ชาวจีนในมณฑลกวางตุ้งซึ่งอยู่ใกล้ทะเล ได้เริ่มอพยพออกจากประเทศโดยทางเรือเพื่อเสาะหาแผ่นดินทางทะเลใต้ คือ ประเทศไทย และมีบางส่วนได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยขึ้นฝั่งที่อำเภอกันตัง หรือปากแม่น้ำตรัง และได้มาบุกเบิกตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดตรัง ชาวจีนคนหนึ่งมาจากมณฑลกวางตุ้งชื่อนายซุ่น มีความสามารถในการย่างหมูมาก หมูที่ย่างจะมีรสชาติกลมกล่อมและหนังที่กรอบ



สมัยนั้นจังหวัดตรังมีผู้ที่ย่างหมูได้เพียงคนเดียวเท่านั้นและที่สำคัญจากการอ่านบันทึกในหนังสือ "สยามคือบ้านของเรา "ซึ่งเป็นบันทึกของมิชชันนารีอเมริกันที่มาใช้ชีวิตที่ตรัง มิสสซิส เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์เธอกล่าวไว้ว่า"ที่ตรังทำการเลี้ยงหมูจนหมูของที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นเนื้อหมูที่ดีที่สุดในดินแดนตะวันออกไกล ...เลี้ยงหมูเอาใจใส่หมูจัดหาที่อยู่ที่กินให้หมูดีกว่าลูกหลานเสียด้วยซ้ำ " แสดงว่าหมูที่ตรังต้องสุขภาพดีมากๆ



ต่อมาเมื่อนายซุ่นมีอายุมากขึ้นก็ได้ฝึกผู้ช่วยขึ้นมา วิชาการย่างหมูจึงได้แพร่หลายจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่นั้นมา หมูย่างเมืองตรังจึงมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เด่นไม่เหมือนใครไม่ต้องกินกับน้ำจิ้มและมีรสชาติติดปากคนที่ได้ลิ้มลองและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ



ปัจจุบันหมูย่างเมืองตรังได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการปกป้องการละเมิดลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาหมูย่างเมืองตรังได้มีการลอกเลียนแบบและนำชื่อเสียงของหมูย่างเมืองตรังไปติดป้ายขายในต่างจังหวัดจำนวนมาก โดยที่รสชาติและกรรมวิธีการทำไม่ได้เป็นไปตามสูตรของหมูย่างเมืองตรัง จึงอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและขาดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคค่ะ



ร้านหมูย่าง



ร้านพงษ์โอชาเป็นร้านอาหารเก่าแก่ของเมืองตรัง เปิดมานานแล้วร่วม30 ปีปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 สาขาค่ะ สาขา 1 อยู่ที่ถนนเพชรเกษม ข้างซอยห้วยยอด 3 ไม่ไกลจากสถานีรถไฟตรัง ส่วนสาขา 2 ปากซอยเพลินพิทักษ์ ค่ะ

ร้านนี้หมูย่างดูจะเด่นกว่าติ่มซำนะคะ



ขายแต่ช่วงเช้าสายๆก็หมดแล้ว


หมูย่างที่ทาน้ำผึ้งแล้วนำไปย่าง



ย่างกันจนหนังกรอบทองแบบนี้ค่ะ



เราสั่งหมูย่างมาชิม 1จาน


หนังกรอบ



แต่พวกติ่มซำเค้าเอามาลงให้ กินแค่ไหนคิดเงินแค่นั้นค่ะ



ร้านบัวบกตั้งอยู่ข้างๆร้านพงษ์โอชาเลยนะคะเด่นที่หมูย่างเช่นกัน



หมูย่างเหลืองทอง



ราคาหมูย่างส่วนมากจะพอๆกันนะคะ



ร้านตรังหมูย่างจาก รร ธรรมรินทร์ ธนา ตรงไปเรื่อยๆ ตามถนนห้วยยอด ก่อนถึงห้วยยอดซอย 10 ร้านตรังหมูย่างอยู่ซ้ายมือค่ะร้านนีก็มีหมูย่างขึ้นชื่อ



ขายดีกันทุกร้านเลยค่ะ



และร้านหมูย่างร้านสุดท้ายคือร้านหมูย่างในตลาดเดินกันงงๆว่าเจ้าไหนดี



สรุปว่าชอบเจ้าไหนหากจะซื้อกลับสั่งล่วงหน้าก็ดีนะคะจะได้ไม่พลาดของฝากประจำท้องถิ่น แบบเรา...



วิธีการกินหมูย่างแบบดั้งเดิมต้องทานกะ "อิ่วจาก้วย"แบบตัวยาวๆ(ร้านไหนๆก็ตัวสั้นกันนะคะ)ผ่าตรงกลางเอาหมูย่างใส่ เทซอสตามใจค่ะ



มีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า ทานหมูย่างแต่เช้าแล้วงานทุกอย่างตลอดวันจะราบรื่น กลายเป็นเรื่องหมูๆ ไปเลย อีกความเชื่อที่บอกกันว่า มื้อเช้าให้ทานอย่างราชานั่นเอง



ตอนนี้ทั้งเมืองตรังเหลือเจ้านี้เจ้าเดียวที่ทำอิ่วจาก้วยยาวๆค่ะ นอกนั้นตัวสั้นๆหมดเลยต้องมาซื้ออิ่วจาก้วยกันที่ร้านกุนเชียงแบบนี้



ร้านนี้สมัยก่อนทำกุนเชียงค่ะแต่ตอนนี้เลิกทำแล้วหันมาขายกาแฟยามเช้าสไตล์คนตรัง คือมีชากาแฟ แต่เตี้ยม อิ่วจาก้วยโจ๊ก



ทอดกันใหม่ๆค่ะอันนี้เรียก “อิ่วจาก้วย"



อันนี้เรียก “ปาท่องโก๋" ค่ะ



สั่งมาจิ้มสังขยาสังขยาที่นี่สีเป็นธรรมชาติมาก เหมือนกันทุกร้านไม่มีสังขยาสีเขียวสีส้มนะคะ


มาทานกับชา-กาแฟแต่จริงๆวัตุประสงค์หลักเราจะซื้ออิ่วจ่าก้วย ไปทานกะหมูย่างค่า



ปิดท้ายด้วยโจ๊กปลานิดนึงนะคะ



ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันไปเลยร้านนี้


2. ร้านติ่มซำ มาจากไหนกัน



เริ่มจากในอดีตที่การค้าขายเจริญรุ่งเรือง เป็นยุคทองของการค้า จีน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้ามาผูกสัมพันธ์ไมตรีด้านการค้ากับไทยมาแบบการค้าระยะสั้น ๆก็มีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองไทยไปเสียเลยก็มีจึงไม่แปลกที่วัฒนธรรมต่าง ๆ ของจีน จะถูกนำมาผสมผสานกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นไปโดยเฉพาะวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร จนอาหารบางชนิดกลายเป็นอาหารท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ หนึ่งในนั้นก็คือ 'ติ่มซำ'นั่นเองค่ะ

ตำนานติ่มซำเล่ากันว่าที่เมืองจีนมีผู้ใช้แรงงานในสมัยก่อนคนหนึ่งได้คิดที่จะทำอาหารไว้กินเล่น โดยนำแป้งมานวดแล้วก็ปั้นให้พอดีคำ เพราะว่าเป็นของแปลกใหม่ ทำให้ในสมัยนั้นขนมชนิดนี้จึงได้รับความนิยมมากในหมู่ชาวบ้าน ชื่อเสียงดังจนฮ่องเต้ทรงเรียกกรรมกรผู้นั้นไปทำให้เสวย แล้วก็ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้กรรมกรคนนั้นเข้ามาเป็นพ่อครัวประจำวังหลวงเลยทีเดียว และตั้งแต่นั้นมาก็ได้รับความนิยมไปทั่ว มีการดัดแปลงใส่ไส้ต่าง ๆ เพิ่มลงไป



หรือมีอีกตำนานว่าเมื่อก่อนมีคาราวานพ่อค้าเดินทางผ่านมาเส้นทางสายไหม และมักจะหยุดพักผ่อนตามร้านน้ำชาที่มีอยู่ทั่วไปบนถนนสายนี้ พอหยุดพักทีนอกจากดื่มน้ำชา แล้วก็ยังสั่งอาหารว่างเพื่อกินคู่กับน้ำชาอีกด้วย ทำให้บรรดาพ่อค้าร้านน้ำชาต้องคิดหาอาหารกินเล่นต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับ และนี่ก็ทำให้เป็นที่มาของติ่มซำที่กลายเป็นอาหารที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน



วิถีชีวิตของชาวตรังวันนี้ ก็ยังเหมือนในสมัยก่อนที่ชาวสวนยาง ต้องเริ่มกิจการธุรกิจสวนยางกันตั้งแต่หลังเที่ยงคืน เพื่อกรีดยาง จวบจนเช้ามืด รวมทั้ง พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยเชื้อสายจีนหลังจากเสร็จภารกิจค้าขายกันที่ตลาดสดยามเช้าแล้วก็เป็นเวลาที่ทุกคนต่างมีความสุขในการกินอาหารมื้อเช้าที่มากมายทั้งมานั่งคุยกันเรื่องราคายาง สาระทุกข์สุขดิบคล้ายๆเป็นสภากาแฟเลยค่ะ

ส่วนมากร้านอาหารเช้าจะมีทั้งติ่มซำ หมูย่าง โจ๊ก กาแฟ ไว้บริการค่ะ3 ร้านหมูย่างที่กล่าวถึงข้างต้นมีติ่มซำทุกร้านนะคะแต่ยังมีร้านติ่มซำอื่นๆอีก



ร้านเรือนไทยติ่มซำ ร้านนี้ใครๆที่ไปตรังต้องรู้จักแน่ๆค่ะร้านดังของเมืองเลยทีเดียวไม่มาถือว่าพลาดค่ะ



ที่ตั้ง :ถนนเพลิงพิทักษ์ (อยู่ตรงข้ามโชว์รูมฟอร์ด ตรัง) ตรัง , เมืองตรัง , ตรัง 92000



ติ่มซำทำเอง หลากหลายชนิดมากๆ



ละลานตาค่ะ



แป้งบางไส้เยอะ



ร้านนี้สั่งแล้วค่อยนึ่งนะคะชอบแบบนี้มากกว่าแบบนึ่งรอเราแล้วยกมาให้เลือกค่ะ ....อร่อยค่ะร้านนี้



ร้านเลตรัง2 ช่วงเช้าขายอาหารติ่มซำ ช่วงเย็นขายอาหารตามสั่ง อาหารพื้นบ้าน อาหารทะเล และอาหารจีนนะคะของทำเองทุกอย่าง สด สะอาดเจ้าของเป็นกำนันกะเจ้าของรีสอร์ทที่ปากเมงของสดๆจากทะเลมาจากปากเมงทุกวันค่ะ



ที่ตั้ง:อยู่ถนนไทรงาม แถวๆตลาดเก่า ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลราชดำเนิน อ.เมือง จ.ตรัง



ตรัง..ยุทธจักรความอร่อย



หมูย่างมีอยู่แล้ว


แต่ที่เด็ดกว่าสิ่งใดๆคือ หอยจ๊อโคตรปูค่ะ (ชื่อนี้ตั้งเองนะคะ )



ชิ้นละ 50 บาท แต่ปูมาเยอะมากกกกกกกกกกกกก



ก๋วยเตี๋ยวหลอดก็ทำสดๆด้วยค่ะตั้งแต่นึ่งแป้ง ใส่ไส้ เอามาม้วนตัด ราดน้ำ ..



ออกมาหน้าตาแบบนี้ค่ะ



และสิ่งที่อร่อยมากอีกสิ่งคือเผือกหิมะค่ะ... รอนานนิด แต่คุ้มที่รอนะคะ



และอีก 1 เมนูใหม่ซึ่งเราได้ชิมก่อนใคร เมี่ยงคำ ค่ะ แตกต่างจากธรรมดาตรงที่มะพร้าวคลุกลงไปในน้ำเมี่ยงเลย



ขอบคุณร้านเลตรัง 2 นะคะ



3.ขนมจีน นอกจากที่ตรังจะทานติ่มซำ+หมูย่างเป็นอาหารเช้าแล้ว ขนมจีนเป็นอาหารเช้าอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตชาวตรัง และชาวใต้ค่ะ ทานกันง่ายๆเร็วๆราคาไม่แพง มีผักและเครื่องเคียงจัดเต็มทานกันไม่มีวันเบื่อ



ร้านขนมจีนหน้าวัดควนขัน ร้านเป็นแบบเพิงๆ แต่รสชาติละมุนลิ้นมากค่ะ มีแกงไตปลาให้เติมเองแบบไม่อั้น .. ต้องมากันแต่เช้าค่ะ 9 โมงหมดแล้ว



ไม่รู้ว่ามีชื่อร้านไม๊นะคะ รู้แต่ว่าเจ้าของร้านชื่อป้านีค่ะ



ที่นี่มีน้ำยากะทิ น้ำยาป่าน้ำพริกจานละ 20 บาทนะคะ



ผัก ไข่ต้ม และแกงไตปลาวางให้เติมบนโต๊ะได้เรื่อยๆแกงไตปลากะผักฟรีนะคะ แต่ไข่ต้มคิดตังค์ค่ะ



และที่เด็ดอีกอย่างคือข้าวยำ ละมุนลิ้นมากค่ะ



ร้านขนมจีนคุณปุ้มขอเรียกว่าขนมจีนใจป้ำเพราะว่าที่ร้านนี้ หยิบขนมจีนใส่จานให้ลูกค้าตักน้ำแกงเองค่ะตักมากแค่ไหนก็ได้ทานอะไรไปคิดเงินกันเอง บอกกันเองเชื่อใจลูกค้าสุดๆ



ที่ตั้ง : ตั้งอยู่เลขที่ 73/7 ถนนเวียนกะพัง ในเขตเทศบาลนครตรัง ใกล้กับสระกะพังสุรินทร์ สวนสาธารณะประจำจังหวัดตรัง



มีไก่ทอดผักทอดด้วยนะคะกินอะไรไปกี่จานกี่ชิ้นก็คิดเงินเอาค่ะ ชอบหน่อไม้ต้มกะทิที่เป็นเครื่องเคียงมากค่ะ



เนื้อปลาในหม้อไตปลาชิ้นโตๆไก่ในแกงไก่เยอะมากเราก็เลยถามคุณปุ้มว่าให้ตักเองแบบนี้จะคุ้มเหรอคุณปุ้มตอบว่า“ คนเราก็กินได้แค่อิ่มนั่นแหละ “...



ขนมจีนทั้ง 2 เจ้านี้สร้างความประทับใจได้ไม่แพ้กันเลยค่ะ4.ข้าวยำอีก 1อาหารประจำถิ่นของภาคใต้ ที่ชาวใต้นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า หรืออาหารกลางวันข้าวยำ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ให้สารอาหารที่หลากหลายแต่พลังงานต่ำ เป็นอาหารที่เหมาะกับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากผักในข้าวยำเป็นผักสดที่ไม่ต้องผ่านการปรุงใดๆ จึงทำให้ได้รับวิตามินต่างๆ ที่มีอยู่ในผักอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ในข้าวยำยังให้แร่ธาตุ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และมีใยอาหารสูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติค่ะนอกจากข้าวยำที่ร้านขนมจีนหน้าวัดควนขันที่ได้ชิมแล้ว ยังมีอีก 1 เจ้าที่ดังที่สุดในตรังร้านนั้นคือ ร้านข้าวยำทางเลือก



ร้านทางเลือกร้านอาหารสุขภาพในเมืองตรังเจ้าของร้านเป็นอดีตพยาบาลที่สนใจในเรื่องรักษาสุขภาพค่ะข้าวยำทางเลือกเป็นอาหาร ปักษ์ใต้ขนานแท้ อันมีส่วนผสมประกอบไปด้วย ข้าวกล้องที่หุงด้วยน้ำใบยอ กับใบผักสมุนไพรหั่นฝอย ที่มีทั้งใบยอ ชะพลู ขมิ้น กระพังโหม มะกรูดอ่อน เปราะ หมุย ตะไคร้ และถั่วฝักยาว โรยด้วยมะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่น งาดำคั่วป่น และพริกป่น ทุกอย่างที่ร้านคั่วเองป่นเอง หั่นเองทั้งหมดค่ะ

สำหรับรสเปรี้ยวของข้าวยำจะมาจากส้มโอ หรือตะลิงปลิง รวมทั้งมะม่วงเปรี้ยว หรือมะนาว แล้วราดด้วยน้ำบูดู ซึ่งเวลาทาน จะได้กลิ่นหอมของสมุนไพรต่างๆ และน้ำบูดู เมื่อยิ่งเคี้ยวก็ยิ่งอร่อย ดีต่อสุขภาพมากค่ะ



ที่ตั้ง : บนถนนเพลินพิทักษ์ ใกล้สามแยกวัดกุฎิยาราม ในเขตเทศบาลนครตรัง



5.หมูเกาหยุก หรือ เกาหยก เป็นภาษาเรียกของชาวไทยเชื้อสายจีน ถือเป็นอาหารที่ชาวจีนนิยมปรุงขึ้นโต๊ะอาหารในพิธีงานเลี้ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพ งานไหว้บรรพบุรุษ ในอดีตบ้านไหนหรือครอบครัวไหนที่ทำหมูเกาหยุกขึ้นโต๊ะอาหารเลี้ยงแขกในงาน จะถือว่าบ้านนั้นครอบครัวนั้นมีฐานะดี เพราะหมูเกาหยุกเป็นอาหารที่ทำยาก ใช้เวลานาน ต้องทำในกระทะใบใหญ่ และใช้จำนวนคนมาก จึงแสดงถึงฐานะของผู้จัดงานนะคะ ด้วยความที่เป็นอาหารพิเศษ การทำจึงต้องพิเศษไปด้วย เขาใช้เวลาในการทำถึง 2 วันมีร้านที่หลายๆคนแนะนำให้ไปชิมชื่อร้านสีฟ้าแต่เนื่องจากคิวแน่นมากๆ ไม่ได้ไปถึงร้านสีฟ้าแต่ได้ไปเจอในร้านข้าวต้มก็พอจะเข้าใจถึงหน้าตาและรสชาติของหมูเกาหยุกได้ค่ะ



ร้านกิม ข้าวต้มกุ๊ย ที่ตั้ง: ถนนกันตัง



หมูเกาหยุก หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ



รสชาติสัมผัสได้ว่ามีเต้าหู้ยี้เค็มๆ หวานๆค่ะ เป็นรสชาติเฉพาะตัวมากๆ



ที่นี่โดยรวมอาหารใช้ได้ทีเดียวค่ะ



6.ขนมเปี๊ยะไส้เผือกหอมเป็นของกินของฝากที่ไม่ควรพลาดหากไปตรังเป็นอีกผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานสูตร ขนมเปี๊ยะ ต้นตำรับจากฮ่องกง และตกทอดมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน



ร้านขนมเปี๊ยะ ซอย 9 เกิดขึ้นจากการคุณเอมอร เอี่ยมศรี ลาออกจากการเป็นคนทำขนมเปี๊ยะของร้านขนมเปี๊ยะยิ้ม โรงแรมธรรมรินทร์ธนาเมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้วออกมาทำขนมเปี๊ยะขายเองเปิดขายมานานเกิน 10 ปีแล้วค่ะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างมาก



ที่ตั้ง : ซอยห้วยยอด 9 นาตาล่วง , เมืองตรัง , ตรัง 92000



อร่อยและขายดีมากค่ะ บางช่วงถ้าไม่จองก่อนอาจไม่ได้ของนะคะ



มีผลิตภัณฑ์อื่นๆขายด้วยค่ะ



ร้านริชชี่เป็นร้านที่ทำให้เรารู้จักขนมเปี๊ยะไส้เผือกหอมของตรังก่อนร้านขนมเปี๊ยะซอย 9 เสียอีกครั้งแรกได้ทานที่สนามบินตรัง ติดใจในรสชาติ จนเพ้อไปอีกนาน



ที่ตั้ง : ถนนรัษฎาอุทิศ (ระหว่าง ซอยรัษฎา 5 และ 7) ทับเที่ยง , เมืองตรัง , ตรัง 92000



ตอนนี้ขอพูดถึงขนมเปี๊ยะไส้เผือกหอมก่อนค่ะ



ได้มีโอกาสเข้าไปดูการผลิตในโรงงาน



ลงมือทดลองทำด้วยนะคะ



คงต้องอาศัยความชำนาญอยู่มากในการห่อไม่ให้แตก



ขนมเปี๊ยะแบบนี้ต้องเอาไปทอดนะคะทานแบบร้อนๆอร่อยที่สุดค่ะ



ที่ร้านริชชี่ยังมีเด็ดอีกหลายสิ่ง ขออนุญาตลงในเรื่องอื่นๆต่อไป7.ร้านน้ำชา



ร้านน้ำชาชื่อว่า โกแจ้ง



ที่ตั้ง :ปัจจุบันร้านปิดลงไปแล้วเนื่องจากเจ้าของที่เอาที่คืนรอให้โกแจ้งหาที่เปิดร้านใหม่อยู่ค่ะร้านนี้เป็นร้านที่ตอนแรกคนตรังบอกว่าเราต้องไปห้ามพลาดก็งงกันว่าทำไมขนาดนั้นทั้งๆที่ร้านกำลังจะปิด โกแจ้งเก็บของหมดแล้วด้วยซ้ำแต่ด้วยความที่พี่ที่นั่นขอร้องให้โกแจ้งเปิดเพื่อให้เราได้มาชิมฝีมือชงชาของโกแจ้งโกแจ้งใจดียอมเปิดให้ค่ะประตูบานเฟี้ยมนี้จะเปิดต้อนรับเฉพาะคนที่โกอยากขายบางคนแวะมาโกแจ้งอาจจะบอกว่าร้านปิดก็ได้นะคะ



.....สุขอยู่ที่ว่า ชงให้ใคร...


โกแจ้งจะชงชาเสริฟให้เหมาะกับบุคลิกของแต่ละคน และยิ่งสนิทกับโกนะ โกจะมีแก้วที่เสริฟให้เฉพาะกับคนๆนั้นร้านชาอินดี้ค่ะคนที่รู้จักโก จะรู้ดี ของดีของเด็ดของที่นี่ก็คือ"น้ำชา"ที่โกแจ้งชง



ที่นี่มีชาดีหลากหลาย อาทิ ชาดำ ชามิ้นท์...และอีกมากมาย ถ้าอยากรู้เรื่องชาก็ปรึกษาโกได้..มีปัญหาอะไรเช่นนอนไม่หลับ โกก็จะชงชาให้ดื่ม..โก้แจ้งคือ "หมอชา"



เมื่อจิบชาคาโมไมล์แล้วละเลียดชาดำตามช้าๆ สลับกันไปตามคำแนะนำ รสชาติของชาแสดงตัวชัดกรุ่นทั่วปาก หอมหวานอบอวลอยู่ในลำคอ ความต่างของคุณหภูมิ อายุของชา รสสัมผัสในปากเราเมื่อครู่เป็นรสชาติพิเศษมาก คำว่าฝีมือ ดูจะชัดเจนกว่าคำใดๆ



โกแจ้งเล่าให้ฟังว่า เคยใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นพักใหญ่ กลับมาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการชงชา ศึกษาค้นหาจนเป็นความชอบ เลยตัดสินใจเปิดร้านชา เริ่มจากเครื่องดื่มราคาแก้วละ 10 บาท ผ่านมา 15 ปี ตอนนี้ปรับราคาเป็นแก้วละ 12 บาท ส่วนชาหนึ่งการาคา30 บาท ไม่เกินนี้ นอกจากชายังมีกาแฟรสละมุนที่ชงด้วยเครื่องไซฟอนเอาใจคอกาแฟอีกด้วย



การชงชาเปรียบประหนึ่งงานศิลปะ ต้องอาศัยใจและเวลาที่เหมาะสม หากมาแล้วบานเฟี้ยมไม่แง้มออก ขอให้หาโอกาสมาอีกครั้ง โกแจ้งบอกว่า “วันนี้ความสุขไม่ได้อยู่ที่ว่าขายได้เท่าไหร่ แต่สุขที่ว่า ได้ชงให้ใคร"


จะบรรยายสรรพคุณของร้านนี้อย่างไรก็ไม่เท่ากับไปนั่งดูโกแจ้งชงชาให้ดื่มด้วยตัวเอง..มันคือความสุขบนความเรียบง่าย สบายๆ

ร้านนี้เป็นร้านที่เด็กมานั่งมากกว่าสตาร์บัคส์ซะอีก



ชาผลไม้ของโกแจ้งเด็ดมากค่ะ หอมผลไม้หลากชนิดจนคิว่าชากาละ 30 บาทจะคุ้มค่าผลไม้หรือไม่



แบบเย็นก็มีนะคะ



ขอบคุณทุกท่านที่ทำให้วันนั้นเรามีโอกาสได้ดื่มชาฝีมือการชงชาและได้สนทนากับโกแจ้งรอวันที่โกแจ้งจะกลับมาเปิดร้านอีกครั้งนะคะ



8.ร้านกาแฟ



ตรัง..เป็นเมืองที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ดีมากค่ะ ภาพร้านกาแฟแบบดั้งเดิมเรายังสามารถพบเห็นได้ไม่ยากที่เมืองตรัง

ความพิเศษของร้านกาแฟ ไม่ใช่แค่เป็นที่นั่งดื่มกาแฟเท่านั้น แต่ร้านกาแฟยังเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆของชุมชน เพราะสมัยก่อนที่ยังไม่มีทีวี การจะรับข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะราคายางว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรก็ต้องฟังจากวิทยุ โดยเมื่อก่อนร้านรับซื้อยางกับร้านกาแฟจะอยู่คู่กัน

นอกจากเรื่องคุยหลักๆที่จะเป็นแค่เรื่องราคายาง ก็เริ่มพูดคุยเรื่องใกล้ตัวในชุมชน เศรษฐกิจ สังคม ข่าวสารเหตุการณ์ประจำวัน เรื่อยเปื่อยไปจนเรื่องการเมือง



เจ้าของร้านกาแฟจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะจะทำหน้าที่กระจายข้อมูลให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาในร้านได้รับรู้อย่างทั่วถึงทุกคนที่แวะเวียนมาคุยมาทักทายยก็จะทิ้งข่าวสารไว้เสมอ



ไม่แปลกที่ร้านกาแฟจึงกลายเป็นแหล่งรวมข้อมูลข่าวสารของชุมชน ในสมัยก่อนจะมีกระดานดำ สำหรับบอกข่าวไม่ว่าจะงานแต่ง งานบวช งานศพ หรือแม้แต่เป็นเรียงเบอร์บอกหมายเลขหวยแต่ละงวดว่าออกอะไร กระดานนี้จึงไม่เคยร้างลาร่องรอยของการขีดเขียน ปัจจุบันอาจพบเห็นโปสเตอร์งานศพติดตามเสาหน้าร้านกาแฟ ใครตาย สวดกี่วัน รู้กันทั่ว เสานี้จะมีโปสเตอร์หมุนเวียนเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ซึ่งวิถีชีวิตแบบไทยๆแบบนี้ยังคงดำเนินต่อไปค่ะ



ปัจจุบันตรังมีร้านกาแฟมากมายมีทั้งแบบคลาสิคและแบบสมัยใหม่แสดงให้เห็นว่าร้านกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวตรังนะคะ



ร้านแคลนวาน ....อยากชมของเก่า เล่าเรื่องความหลังต้องมาร้านนี้



ที่ตั้ง :ถนนกันตังตรงสี่แยกระหว่างตลาดเก่ากับตลาดใหม่



ลุงแก้วเจ้าของร้านน่ารัก คุยสนุกเป็นกันเอง นะคะร้านนี้คลาสสิคสุดๆ



ของเก่าในร้านถ้าสนใจขอซื้อได้ค่ะ



จิบกาแฟไปกินขนมเค้กรูของชาวตรังไปร้านเปิดตั้งแต่เย็นๆ-ประมาณ 4 ทุ่มนะคะ



ร้าน Grey 18 Cafe ร้านกาแฟของคนรุ่นใหม่



ทีตั้ง: 235/6 ถนนวิเศษกุล ทับเที่ยง ตรัง



บรรยากาศดี โล่งน่านั่งค่ะ



ขนมและเครื่องดื่มอร่อยชื่นใจ



อร่อยจริงๆ ต้องหักห้ามใจนะคะเพราะต้องชิมอีกเยอะ 555++



อีกร้านชื่อ ร้านต้นกล้า กาแฟ



ที่ตั้ง : ถนนวิเศษกุล ตรัง



อีก 1 ร้านกาแฟเล็กๆ ที่น่านั่ง



ยาคูลท์ปีโป้ชื่นใจค่ะ



9.เค้กมีรู เค้กตรัง



เค้กเมืองตรัง ของฝากขึ้นชื่อของ จ.ตรัง ถือกําเนิดหรือผลิตขึ้นครั้งแรกที่ ต.ลําภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยชาวจีนไหหลำ



เค้กตรังยุคแรกที่เป็นที่รู้จักกันคือ “เค้กขุกมิ่ง" ได้ชื่อจาก ขุกมิ่ง แซ่เฮง เจ้าตำรับขนมเค้กเมืองตรัง ที่อพยพเดินทางมาเมืองไทยโดยเรือ และทำงานที่ จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2472



ต่อมาเดินทางมาตั้งรกรากแต่งงานอยู่ที่ จ.ตรัง เปิดร้านกาแฟที่ ต.ลำภูรา ก็คิดทำขนมของตนเองเพื่อกินคู่กับกาแฟ โดยสังเกตวิธีทำเค้กมาจากร้านขนมที่ อ.ทับเที่ยง แล้วทดลองคิดค้นจนได้ขนมเค้กเมืองตรัง ที่กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนปัจจุบัน



ขนมเค้กเมืองตรัง เป็นขนมที่พัฒนามาจากขนมไข่ของคนจีน คนตรังยุคแรก เรียกว่า “ขนมไข่ไก่" ใช้ในพิธีแต่งงาน นิยมใส่ในขันหมาก แต่คิดรูปแบบใหม่ แทนที่จะทำเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ เหมือนขนมไข่ทั่วไป ก็คิดทำเป็นรูปแบบเค้กก้อนกลมใหญ่ ใส่กล่อง มีเครื่องแต่งหน้าและปรุงแต่งกลิ่นรสต่างๆ เป็นของว่างกินคู่กับกาแฟ ชาวจีนไหหลำเรียกด้วยสำเนียงตนเองว่า“ขนมเก็ก" ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นแบบขนมไข่ของคนจีน



ขนมเค้กเมืองตรัง เป็นขนมที่ใช้วัตถุดิบในการทำเพียงไม่กี่อย่างเป็นส่วนผสม ได้แก่ แป้ง เนย น้ำตาล สีผสมอาหาร ผงฟู และไข่ไก่ โดยกรรมวิธีในการทำจะค่อยๆ นำส่วนผสมแต่ละอย่างมาตีให้เข้ากัน แล้วนำไปเทลงแบบพิมพ์เค้กที่มีรูตรงกลางขุกมิ่งได้คิดแบบพิมพ์เค้กที่มีรูตรงกลางเพื่อเวลาอบเค้กจะได้สุกทั่วถึงกันในระยะเวลาที่พอดี พออบเสร็จก็จะได้ "ขนมเค้กเมืองตรัง" ที่มีเอกลักษณ์ตรงที่มีเป็นเค้กมีรู



ปัจจุบัน ที่ตรัง มีการทำขนมเค้กเป็นกิจการในครัวเรือนกันอย่างแพร่หลาย และพัฒนาจนมีรสต่างๆ มากมาย เช่น รสกาแฟ ใบเตย เค้กสามรส เค้กสี่รส เค้กนมสด เค้กมะพร้าว เค้กเผือก เค้กส้ม เค้กชาเขียว เค้กขนุน เค้กลิ้นจี่ เค้กเนย เค้กพุทรา เค้กผลไม้ เค้กงาดำ เค้กอบกรอบ ฯลฯนานาชนิดค่ะ



ร้านเค้กกุหลาบ ซินหยูเฮียง ที่นี่จะเรียกชื่อเค้กตามโลโก้ด้วยนะคะร้านนี้เก่าแก่ ทำเค้กมานานเป็นที่ยอมรับในรสชาติ

ที่ตั้ง :๑๙๒ ถนนห้วยยอด อำเภอเมือง ตรัง



เค้กที่นี่จะอบใหม่ๆในทุกๆวัน



ปัจจุบันพัฒนาแบบมีก้อนเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมาะแก่การซื้อชิมมากค่ะ



ร้านริชชี่ เค้กมะพร้างอ่อนที่นี่นำเอามะพร้าวอ่อนจากสามพราน มารวมกับเค้ดตรังสูตรดั้งเดิมจนออกมาเป็นเค้กมะพร้าวอ่อนนุ่มละมุนลิ้น



หอมมาก


ยิ่งตอนอบสุกใหม่ๆนะคะ



เป็นของฝากที่ซื้อกลับมาบ้านเยอะที่สุดในทริปนี้ค่ะ



ร้านเค้กศิริวรรณลำภูราร้านเค้กเล็กๆที่ลำภูราถิ่นกำเนิดเค้กรู



ที่ตั้ง : 145 หมู่ 10ถนนเพชรเกษมห้วยยอด ตรัง

ร้านนี้เราแวะกันโดยบังเอิญแต่ได้ชิมเค้กมีรูที่นุ่ม อร่อยมากค่ะ



10.ร้านอาหารอิตาเลียนน่าแปลกใจที่เมืองแห่งคนช่างกินอย่างตรังมีร้านอาหารฝรั่งดีดีแค่ร้านเดียว



ห้องอาหาร Aqua ที่โรงแรม Anantara Si Kao ถือเป็นสุดยอดร้านอาหารอิตาเลี่ยนของจังหวัดตรังค่ะร้านนี้สวยทั้งบรรยากาศ การตกแต่ง และดีงามในเรื่องอาหารช่วงที่เราไปพักที่ Anantara Si Kao พบว่าห้องอาหารนี้ถูกจองเต็มทุกวัน ลูกค้าหลายท่านขับรถมาจากในเมือง เพื่อมาทานที่ร้านนี้นะคะ



เชฟจะคอยสร้างสรรค์อาหารแปลกๆใหม่ๆมาเสริฟ์ให้แขกเสมอๆ



แค่เริ่มจากขนมปังก็อร่อยมากมายแล้วค่ะ



จานนี้เป็นชีสนมควายอร่อยจนต้องสั่งซ้ำ



เชฟจะคอยดูแลใส่ใจในทุกๆโต๊ะและอาหารอร่อยค่ะ



หอยเชลล์สดมาก



พาสต้ารสชาติจัดจ้านถูกปากคนไทยค่ะ



ของหวานเป็น panna cotta กับ Tiramisu และ chocolate lava ค่ะ



ปิดมื้อนี้ด้วย limoncello ที่เชฟทำเองค่ะ



อาหารอร่อย เชฟน่ารัก ....



11. บะหมี่ทำมือ



ร้านหม่านเซ่งหลุงร้านนี้เป็นร้านเก่าแก่กว่า65 ปีแล้วตำนานแห่งเส้นบะหมี่ทำมือแบบขั้นตอนโบราณทั้งหมดค่ะ

ที่อยู่ : 275 อาคาร บริเวณสถานีตำรวจหัวยอด ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด ตรัง

เครื่องจักรทุกตัวยังเป็นของดั้งเดิม



คุณป้านุ้ยเจ้าของร้านให้การต้อนรับและคอยอธิบายอย่างเต็มที่ค่ะ



ทีเด็ดของร้านนี้คือเกี๊ยวบางนิ่มนุ่มค่ะก๋วยเตี๋ยวที่นี่ชามละ 30บาทนะคะ


และผลิตภัณฑ์ใหม่คือบะหมี่งาดำค่ะ



12.ข้าวหมูแดงข้าวหมูแดงที่ทางภาคใต้ จะมีความแตกต่างกับข้าวหมูแดงที่ ภาคกลางหรือข้าวหมูแดงนครปฐม


ข้าวหมูแดงทางภาคใต้น่าจะเรียกว่า ข้าวหน้ารวมมิตร เพราะ เป็นข้าวสวยโรยหน้าด้วย หมูแดง ไก่ต้ม ตับหมู และ กุนเชียงที่ทำขึ้นมาพิเศษเฉพาะ บางร้านอาจจะมี หมูกรอบใส่มาด้วยค่ะ



ร้านหงษ์ชัย เปิดบริการข้าวหมูแดงมานาน

ที่ตั้ง : สี่แยกท่าจีน หัวมุมถนนห้วยยอด ซอย 2 (ถนนเก่า) ต. ทับเที่ยง อ. เมือง จ. ตรัง

ร้านนี้เปิดมานานหลายสิบปีแล้ว และคงรสชาติความอร่อยแบบดั้งเดิมของหมูที่หมักและย่างให้หอมฟืนและนอกจากหมูแดงแล้ว ร้านที่ใต้แบบนี้นี้มักจะขายไก่ตอน หมูกรอบ กุนเชียง และตับ ร่วมด้วย หากสั่งว่า "เอาข้าวหนึ่งจาน"จะได้ทุกอย่างรวมกันราดข้าวหรือหากอยากทานเฉพาะหมูแดง หรือไก่ ให้สั่งว่า ข้าวไก่ล้วน หรือข้าวหมูล้วนค่ะ



ที่นี่เวลาเสริฟ์จะมีแก้วแช่ช้อนมาให้ใช้ทานค่ะ



หมูแดง หมักเองย่างเตาถ่าน


น้ำราดที่นี่จะเป็นแบบใสๆ ไม่เหนียวๆข้นๆแบบที่คนกรุงคุ้นเคยค่ะ



ร้านฉันขายข้าวหมูแดง หมูกรอบ และรวม เหมือนร้านอื่นๆแต่ที่นี่อาศัยความชำนาญในการทำมาเกือบ 50 ปีแล้วย่อมการันตีความอร่อยที่อยู่ยาวนานนะคะ



ที่ตั้ง: 20 ถ.ไทรงาม (ใกล้ ร.พ.ราชดำเนิน), เมืองตรัง, จังหวัดตรัง



ข้าวหมูแดงร้านนี้มีทีเด็ดที่หมูแดงนี้แหละค่ะ หมูแดงสูตรโบราณนี้ ใช้การย่างกับเตาถ่านในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ส่วน หมูกรอบนานกว่านั้นคือย่างถึง 3 ชั่วโมงข้าวที่ใช้ก็ใช้ข้าวสารอย่างดี..



ที่นี่มีก๋วยเตี๋ยวด้วยนะคะ



มีคนแนะนำให้สั่งบะหมี่แห้งแต่เสียใจตอนที่ไปบะหมี่หมดค่ะ เลยสั่งเส้นหมี่กะเกี๊ยวมา พบว่าที่นี่ปรุงอร่อยมากค่ะ



สาเหตุหนึ่งที่ของหมดเร็วค่ะ



สั่งข้าวมาชิม



เจ๊หยินผู้อยู่ในตำนานความอร่อยค่ะ



13.ก๋วยเตี๋ยว/เย็นตาโฟ



ร้านเขี้ยงชวนชิมร้านนี้เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่คู่ตรังมายาวนาน กว่า 50 ปี จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกร้านนี้เป็นร้านดั้งเดิมที่รุ่นลูกดูแลอยู่ค่ะ



ที่ตั้ง : อยู่ถนนวิเศษกุล4ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ตรัง 92000



สำหรับวิธีการทำก๋วยเตี๋ยวให้อร่อยขึ้นชื่อนั้น มีเคล็ดลับเด็ดอยู่ที่น้ำซุปสูตรเฉพาะ ที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการเคี่ยวนานกว่า 3 ชั่วโมง พร้อมทั้งการใส่เครื่องปรุงแบบเต็มสูตร ทั้งกุ้งกรอบตัวใหญ่ๆ และผักบุ้งต้นอวบอ้วน นอกจากนั้น ก็ยังมีมะนาวสดไว้บริการสำหรับลูกค้าที่ชอบความจัดจ้านอีกด้วยค่ะ



น้ำซอสเย็นตาโฟรสชาติเข้มข้นอร่อยมากและเครื่องมาเต็มๆแบบนี้ชอบที่สุดค่ะเป็นร้านหนึ่งที่ก่อนกลับตั้งใจจะกลับไปทานอีกครั้ง แต่แผนการล้มเหลวค่ะมื้ออาหารเต็มจริงๆครั้งหน้าจะเป็นร้านแรกที่ไปซ้ำถ้าได้ไปตรังอีกครั้งค่ะ.



นอกจากเย็นตาโฟอร่อยแล้ว น้ำส้ม น้ำมะนาวก็อร่อยชื่นใจอีกด้วยค่ะ



ร้านสายบัวก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟรสชาติเข้มข้นค่ะ อยู่กันตังบางคนขับรถมาจากในเมืองเพื่อมากินโดยเฉพาะ



ที่ตั้ง: ถนนรัษฎา (ตรงข้าม รร จุงฮัว) กันตัง , กันตัง , ตรัง



มาตอนเที่ยงอาจรอนาน เพราะค่อยๆทำนะคะ พิถีพิถันค่ะ



อร่อยจริงค่ะ



14.ร้านอาหารทะเลตรังมีทะเลสวยๆและพื้นที่ๆใกล้ทะเลมากมายอาหารทะเลสดๆจึงไม่ใช่สิ่งหายากค่ะ



ร้านโกเกี๊ยะ



ที่ตั้ง: ถนนสถลสถานพิทักษ์ (ใกล้แยกท่าเรือกันตัง) กันตัง , กันตัง , ตรัง



เปิด 2 ช่วงคือ เที่ยงวันถึงบ่ายสาม และห้าโมงเย็นถึงค่ำๆ หยุดขายวันจันทร์ค่ะ



ร้านนี้มีอาหารจานเด็ดๆหลายอย่างแต่เราตั้งใจมาชิมราดหน้ากันค่ะ



ราดหน้าทะเล จานกลาง เครื่องตู้มมาก



ไข่ตุ๋นเนื้อเนียน



ปูดองค่ะ จี้ดจ้าด



ที่นี่เป็นซีฟู้ดแบบอาหารจีนค่ะ



อีกร้านที่ขายอาหารซีฟู้ดในกันตังที่อยากชิมคือร้าน ล่อคุ้งนะคะดังซุปเปอร์ราดหน้าเหมือนโกเกี๊ยะค่ะวันที่ไปกันตังร้านปิดค่ะเลยอดเปรียบเทียบเลยร้านท่าไคลซีฟู้ดร้านอาหารบรรยากาศดี ติดริมแม่น้ำปะเหลียนเพิ่งเปิดได้ไม่นานอาหารซีฟู้ดแนวไทยค่ะ



ที่ตั้ง : 154/1 หมู่7 ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง(ซอยทุ่งกระบือ 17 ซอยเดียวกับโรงเรียนกีฬาตรัง)



บรรยากาศริมแม่น้ำปะเหลียน ค่ะสวยมาก ชิลล์มาก ที่นี่ตอนเย็นบรรยากาศน่าจะดีค่ะ



เลือกที่นั่งกันเลยค่ะ



เรามีเวลาที่นี่ไม่มากนัก เลยเลือกที่จะชิมอาหารที่แสดงความสดของวัตถุดิบค่ะ



ดีงามทั้ง 2 จาน



ร้านซีฟู้ด แหลมหยงสตาร์อาหารสดมากๆค่ะเป็นร้านเล็กๆไม่มีการตกแต่ง แต่อยู่ในทำเลที่วิวดีมากที่สุด



ที่ตั้ง: 276 หมู่ 4 ต.ท่าข้าม จ.ตรัง



หยงสตาร์ หรือชื่อเต็มว่า ตันหยงสตาร์ หมายความว่า แหลมที่ยื่นไปในทะเล (ตันหยงแปลว่าแหลม) มีที่มาจาก ลักษณะภูมิประเทศ ที่มีแหลมยื่นไปในทะเล โอบรอบหมู่บ้านไว้ เพราะพื้นที่ของตันหยงสตาร์ มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงสู่ทะเลอันดามันโดยมีแหลมหยงสตาร์อยู่ตรงปลายสุด ถ้ามองจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นชุมชนตันหยงสตาร์คล้ายหัวเผือก คือ คอดกิ่วด้านบนแล้วค่อย ๆ ป่องออกตรงกลางพอไปด้านล่างจะค่อย ๆ เรียวเล็กลงตรงจุดปลายแหลมค่ะ



ชุมชนบ้านตันหยงสตาร์เป็นชุมชนที่มีมาแต่โบราณนับพันปี และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศด้านชายฝั่งตะวันตก เช่น สิงคโปร์ ปีนัง และหัวเมืองชายฝั่งอื่นๆ ด้านคาบสมุทรมลายู การทำมาค้าขายย่อมอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์ จำเป็นที่จะต้องรู้ภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษามลายู ภาษาจีนเป็นต้น


ปัจจุบันเปลี่ยนไป อาชีพหลัของชาวบ้านแถวนี้จะเป็นการประมง ทำสวนยางพารานะคะ



เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยมากแห่งหนึ่งในตรังค่ะ



วันที่ไปมีมรสุมเข้าทางเจ้าบ้านบอกว่าของทะเลมีน้อยไม่ครบครันเพราะออกทะเลไม่ได้แต่สิ่งที่ทานกันวันนั้นอร่อยมากค่ะขนาดมีมรสุมนะคะ ต้มยำกุ้งมาแบบตัวโตมากน้ำข้นกลมกล่อมค่ะ



โชว์ความสดและความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นกุ้งเป็นกุ้ง....



ปูเป็นปู...



แกงไก่แบบใต้ คล้ายๆมัสหมั่น+แกงฮังเล แต่เผ็ดจัดจ้านต้องทานกับข้าวค่ะไม่แน่ใจว่าเรียกว่าแกงอะไรไก่เปื่อยอร่อยมากจริงๆ



15.วุ้นม้วนที่อื่นๆมีทองม้วนแต่ที่ตรังเราเจอวุ้นม้วนค่ะ



ร้านเจี่ยหล่งติ่นร้านนี้ขายขนมสาระพัดสิ่งทั้งขนมคนจีน /คนไทย ถั่ว งา กรอบเค็ม ขนมขบเคี้ยวแบบโบราณ ขนมในพิธีการต่างๆ ต้องยกให้ร้านนี้ค่ะ



ที่ตั้ง : 27 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง 92000



ขนมที่นี่อร่อยหลายอย่างนะคะใครรู้ชื่อขนมเหล่านี้ช่วยบอกทีค่า



แต่สิ่งที่ทึ่งและประทับใจที่สุดคือ...วุ้นม้วนค่ะ



มีที่นี่ที่เดียวและมีแค่ร้านเจี่ยหล่งติ่นที่ทำแบบนี้ได้ค่ะ เพราะม้วนยากนิดนึง วุ้นต้องนิ่มและแข็งพอดีเวลาทานจะเป็นวุ้นที่กรอบนิดๆ หวานหน่อยๆ ทานเพลินอร่อยดีค่ะ



16.ขนมจีบสังขยา



ถ้าพูดถึงอาหารขึ้นชื่อของเมืองตรังน่าจะเป็นหมูย่างเมืองตรังและขนมเค้ก ใครไปใครมาจะต้องซื้อมาฝากกัน หรือไม่ก็ต้องไปชิมถึงที่หากจะบอกว่า มีอาหารขึ้นชื่อของเมืองตรังอีกชนิดหนึ่งคือ ขนมจีบสังขยา ใครที่ไม่เคยรู้จักขนมชนิดนี้มาก่อน อาจจะงงว่า ขนมจีบสังขยา ก็น่าจะเป็นขนมจีบ แบบขนมจีบซาลาเปา แล้วสังขยาเกี่ยวอะไรด้วยใช่ไม๊คะ



พอเห็นหน้าตาขนมจริงๆ และได้ทดลองชิม ก็พบว่า เป็นขนมหน้าตาคล้ายกะหรี่ปั๊บ มีจีบโดยรอบ แต่ไม่ใช่ไส้ไก่ใส่เครื่องเทศเหมือนกระหรี่ปั๊บ แต่เป็นไส้สังขยาจริงๆ จึงเรียกว่า ขนมจีบสังขยาค่ะ



ร้านขนมจีบสังขยาป้าพิณเจ้าแรกที่ทำขนมจีบสังขยาในลำภูรา ซึ่งมีเรื่องประวัติความเป็นมาว่า คุณยายป้าพิณ เป็นเด็กที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เลี้ยงไว้ตั้งแต่เด็ก ต่อมาจัดให้แต่งงาน และส่งไปอยู่ปีนัง และปลูกพริกไทยที่ปีนังนอกจากนี้ยังมีญาติๆที่ยังอยู่ในมาเลเซียมากมาย และมีบางครอบครัว ก็ทำขนมจีบสังขยาสูตรเดียวกันนี้ขายที่มาเลเซีย โดยเฉพาะที่เมืองอีโปร์ อร่อยจนต้องมีผู้เข้าคิวในแต่ละวัน เลยนำมาทำขายเป็นของฝากที่ตรังค่ะ



ที่ตั้ง : 30 หมู่ 10 ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด ตรัง 92190



ขนมจีบในสมัยก่อนนั้นไม่เป็นที่นิยมเพราะว่าวิธีการอบต้องอบด้วยเตาถ่าน ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุ่งยากมาก ประมาณปี 2541 ของฝากจากเมืองตรังเริ่มเป็นที่นิยมป้าพิณจึงได้นำขนมจีบสังขยามาทำและปรับปรุงให้เข้ายุคสมัย และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน



ขนมจีบสังขยา มีลักษณะเหมือนกะหรี่ปั๊บ ตัวแป้งคล้ายกัน แต่มีไส้เป็นสังขยา ซึ่งหากทำออกมาใหม่ๆ จะกรอบนอก นุ่มใน และมีรสชาติหวานหอม ตัวแป้งทำมาจากแป้งสาลี ส่วนไส้ เป็นไส้สังขยา ที่มีส่วนประกอบของนม ไข่เป็ด น้ำตาลและน้ำมันพืช


ไข่เป็ด เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังขยาอร่อย ไข่เป็ดที่ใช้ ต้องเป็นไข่เป็ดจาก เป็ดไล่ทุ่งที่ป้าพิณจะต้องหามาจนได้ ไม่ว่าจะที่ ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ธานี บางครั้งไปถึงสุพรรณบุรี ค่ะเป็ดไล่ทุ่งก็คือเป็ดที่เลี้ยงตามท้องนาซึ่งปล่อยให้หาอาหารตามธรรมชาติ เป็ดก็จะได้แหล่งโปรตีนจากธรรมชาติ โดยจะเก็บหอย เก็บปู ปลา และรำ-ปลายข้าว ต่างจากไข่เป็ดที่ใช้หัวอาหารเลี้ยงมาก จึงทำให้สังขยามีกลิ่นและรสชาติที่หอมมันน่ารับประทานไข่แดงมัน วาว อร่อย นะคะ



ขนมจีบสังขยาป้าพิณ (ตัวกลม) เป็นการเปลี่ยนรูปแบบขนมจีบสังขยาใหม่ให้ป็นรูปกลม แต่ยังคงรสชาติและความอร่อยเหมือนเดิมค่ะ



ขนมจีบสังขยาแบบนี้ทานกับชาร้อนอร่อยที่สุดค่ะ



17.ของดีดีที่ห้วยยอดนอกจากร้านหม่างเซ่งหลุ่ง บะหมี่ทำมือขนมจีบสังขยาป้าพิณ (ตัวกลม)เค้กขุกมิ่งแล้วยังมีของดีดีอีกหลายสิ่งค่ะ สมแล้วที่มีคนบอกว่าที่ลำภูรา ห้วยยอดมีแต่ของอร่อย



ร้านโพธิ์ทองโอชา ร้านเก่าแก่อีกร้านของห้วยยอด อยู่ตรงข้ามร้านหม่าเซ่งหลุ่งนะคะ



นอกจากจะมีเค้กรูขายแล้ว บุกไปถึงหลังร้านได้เจอกำลังอบขนมปังสังขยา



ออกจากเตากันร้อนๆ



อบขนมเปี๊ยะ



เดินไปเรื่อยๆก็จะเจอร้านแบบดั้งเดิม



พบบ้านทำขนมเตรียมขนมถาดออกขายตอนบ่ายๆเย็นๆค่ะกำลังกวนเผือกกันค่ะ แอบชิมด้วย เผือกกวน เนียนอร่อย



น่าทานทุกถาด บอกเลย



เดินไปอีกนิดเจอคุณป้าร้านทำผมแต่ทำวุ้นขายด้วยค่ะ



และที่ชอบมากที่สุดซื้อแกลับมาบ้านด้วยคือขนมพองเค็มสูตรโบราณ ของก๋งลุ้งก๋งอายุ90 กว่าปีแล้วค่ะ ยังแข็งแรงมานั่งขายขนมทุกวันปัจจุบันมีหลานชายมาช่วยทำช่วยขาย



ที่ตั้ง : ถนน เพชรเกษม (ตลาดห้วยยอด ข้างเค้กสองพี่น้อง) ห้วยยอด , ห้วยยอด , ตรัง 92130



เป็นข้าวพองกรอบหวานเค็ม มีหอมเจียวโรยหน้า บรรจุใส่ถุง ร้านขนมพองเค็มก๋งลุ้ง ตอนเช้าร้านนี้จะขายโจ๊ก เกี๊ยวทอดไส้หมู ขนมจีบ เป็นร้านเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในอำเภอห้วยยอด ขนมพองเค็มจะเป็นสูตรดั้งเดิม เป็นสูตรของก๋งลุ้งที่มาจากเมืองจีน และยังมีขนมก้านบัวกรอบ ขนมหน้าแตก ราคาย่อยเยาว์ ประมาณ 35 บาท ต่อ 1 ถุงค่ะ


18. อาหารท้องถิ่นอาหารใต้เป็นอาหารที่คนทุกภาคนิยมบริโภคร้านไหนมีฝีมือทำอร่อยรับรองว่าขายดีอาหารใต้มีเครื่องเทศเยอะ รสชาติจัดจ้าน



ร้านแกงส้มร้านอาหารธรรมดาๆแต่รสชาติไม่ธรรมดาอร่อยทุกจานค่ะร้านนี้เป็นร้านที่คนตรังที่เจอเราจะต้องถามว่ามาทานรึยังทุกคนไม่ได้มีโอกาสมาทานจนถึงมื้อท้ายๆก่อนกลับบ้าน เสียดายมากที่เราเจอกันช้าไปไม่งั้นคงมีซ้ำนะคะ55



ที่อยู่ : 62/1 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ตรัง



ที่นี่อ่านเมนูแล้วนึกถึงอาหารทานที่บ้านซึ่งร้านนี้ใช่เลยค่ะ



อาหารที่นี่จานไม่ใหญ่ราคาไม่แพงดีจังสั่งได้หลายอย่าง เริ่มที่แกงส้มชื่อร้านว่าแกงส้มถ้าแกงส้มไม่อร่อยเสียชื่อแน่ๆค่ะถ้วยนี้ไม่ทำให้ผิดหวังแกงส้มของร้านนี้เป็นแกงส้มน้ำใสไม่ใส่ขมิ้นเหมือนแกงส้มชาวใต้ทั่วไป แต่ใช้พริกเหลืองจึงเพิ่มรสเผ็ดให้จัดยิ่งขึ้นค่ะ



วุ้นเส้นผัดไข่ หอมกระทะ ทานแก้เผ็ดแกงส้มได้ดีทีเดียว



ไข่ตุ๋น เนี้ยน เนียน



ยำมะเขือยาว+ไข่ต้ม



ห่อหมกทะเลทอด ต้นตำรับบอกว่าได้จากการตั้งใจทำห่อหมกตามปกติ เผอิญวันหนึ่งใบตองไม่มีห่อ คุณป้าเจ้าของร้านเลยจับปั้นทอดเป็นทอดมันเสียเลย


สะตอผัดกะปิกุ้งสีสันอาจไปเร้าใจแต่รสชาติอร่อยล้ำค่ะ



มะเขือยาวผัดเต้าเจี้ยวใส่โหระพาดูง่ายๆแต่อร่อยจัง



และจานสุดท้ายค่ะอร่อยทุกสิ่งจริงๆร้านนี้


ร้านริชชี่ร้านนี้เป็นร้านที่ครอบคลุมทุกสิ่งเป็นร้านอาหารร่วมสมัยประจำจังหวัดตรังค่ะ ถ้าไม่มีเวลาตระเวณทานหลายๆร้าน ขอให้แวะร้านริชชี่ค่ะมีทั้งเค้กสาระพัด อาหารคาว-หวาน อาหารพื้นเมืองและมีอาหารฝรั่งอีกด้วยค่ะ



ที่อยู่ ถนนรัษฎาอุทิศ (ระหว่าง ซอยรัษฎา 5 และ 7) ทับเที่ยง , เมืองตรัง , ตรัง 92000



บรรยากาศสบายๆร้านริชชี่เป็นร้านที่เจ้าของมีวิสัยทัศน์ที่อยากให้ตรังมีร้านที่รวมของอร่อยๆจากที่ต่างๆขนมเค้กที่นี่มีเค้กรูมะพร้าวอ่อนที่อร่อยมากและยังมีเค้กร่วมสมัยอื่นๆอร่อยไม่แพ้ร้านเค้กดังๆในกรุงเทพเลยนะคะ



ส่วนอาหารคาวก็หลากหลาย ทั้งฝรั่งทั้งไทยวันนั้นได้ชิมแต่อาหารพื้นเมืองกับอาหารไทยๆค่ะเส้นหมี่แกงปูใบชะพลูอาหารยอดนิยมในช่วงเวลานี้ค่ะ น้ำแกงเข้มข้นมาก



แกงส้มกุ้งยอดมะพร้าวรสชาติจัดจ้านไม่แพ้ใครค่ะ



น้ำพริก



ยำมังคุด อร่อยมาก ต้นแบบมาจากจันทบุรีที่ตรังก็มีมังคุด ร้านริชชี่ก็สามารถทำได้นะคะ



ใบเหลียงผัดไข่ เมนูนี้ปลื้มค่ะ



หน่อไม้ผัดพริกใส่ไข่ ทานกับข้าวสวยดีงาม



ส้มตำคอหมูย่าง



กุ้งแม่น้ำเผาก็มีนะคะที่นี่


เครื่องดื่มหลากหลาย



ขนมและเค้ก



และที่อร่อยสุดๆอีกสิ่งคือ ไอศกรีมค่ะทำเองทุกรสชาติใช้ผลไม้สดตามฤดูกาลค่ะทีเด็ดวันนั้นคือไอศกรีมทุเรียน



19.แถมท้ายร้านอาหารประเภทผับแอนด์เรสเตอรอง ตามคอนเสปที่ว่าตรัง อร่อยได้ 24 ชั่วโมงค่ะ



ร้านมันตราร้านนี้เป็นร้านย้อนยุคนิดๆ จะเน้นเพลงในช่วงพี่แจ้ พี่อ๊อดคีรีบูน แมคอินทอช อะไรประมาณนั้น กลุ่มเป้าหมายชัดเจนค่ะเปิด 17.00-24.00น.ค่ะ



ที่ตั้ง : ซอยห้วยยอด11 (ข้างตรังสปอร์ตคลับ) ตรัง , เมืองตรัง , ตรัง 92150



บรรยากาศร้านค่ะ



อาหารหลากหลายรสชาติโอเคค่ะ



น้ำหนักไม่ขึ้นไม่กลับค่ะ 555+++สิ่งน่าสนใจที่ตรัง



หมู่บ้านปากกัดตีนถีบ



ที่ตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีหมู่บ้านน่ารักๆที่ได้ชื่อว่าเป็น “ หมู่บ้านปากกัดตีนถีบ “ค่ะที่นี่เป็นแหล่งป่าจากที่ใหญ่ที่สุดของประเทศป่าจากเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชนซึ่งนำไปใช้สอยได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งผลิตสินค้า OTOP หัตถกรรมพื้นบ้าน ทำตับจาก ทุ่นลอยใช้จับสัตว์น้ำ และนำมาประกอบอาหารนะคะ



ที่ย่านซื่อมีป่าจากประมาณ 4-5 พันไร่ชาวบ้านแถวนี้ยังคงประกอบอาชีพเกี่ยวกับต้นจากมาต่อเนื่องกันนับ 100 ปีเลยค่ะเนื่องจากเป็นพืชมากประโยชน์ เพราะสามารถนำทุกส่วนมาใช้ได้ เช่น นำใบมาทำเป็นตับจาก นำลำต้นมาทำเป็นทุ่นลอยใช้จับสัตว์น้ำ นำผลมาทำเป็นอาหาร นำน้ำเลี้ยงมาทำเป็นน้ำตาลจาก และนำทั้งใบ หรือก้านใบ มาจักสานเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน



เราเริ่มกันที่การชิมน้ำจากต้นจากกันก่อนค่ะจากภูมิปัญหาของชาวบ้านเราได้ชิมน้ำจากต้นจากสดๆกระบอกที่รองได้รับการฆ่าเชื้อโดยการรมควันมาแล้วส่วนน้ำที่ได้สะอาดบริสุทธิค่ะ



ใส่น้ำแข็งดื่มอร่อยชื่นใจนะคะ



ไปดูกันค่ะว่าปากกัดตีนถีบยังไง



ปากจะกัดใบจากเอาไว้ แล้วเอาเท้ายันปลายอีกข้างเพื่อลอกใบจากออกมาค่ะ



ตากให้แห้งค่ะ



ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเอาไปมวนยาเส้นส่งออกไปยังมาเลเซียมากที่สุดค่ะ มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ



Street Artสมาคมโรตารี่ตรังใช้ผนังตึกบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นตัวตนของตรังให้เป็นจุดถ่ายรูป 3 จุดอยู่แถวๆถนนราชดำเนินค่ะ


ด้วยที่นี่เป็นเมืองพระยารัษฎาที่มีเอกลักษณ์ มีต้นศรีตรังจะไม่มีต้นศรีตรังในรูปได้อย่างไร

กำเนิดสวนยางพาราในประเทศไทย



ความคิดที่จะนำยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเดินทางไปดูงานในประเทศมลายู เห็นชาวมลายูปลุกยางกันมีผลดีมาก ก็เกิดความสนใจที่จะนำยางเข้ามาปลูกในประเทศไทยบ้าง แต่พันธุ์ยาง สมัยนั้น ฝรั่งซึ่งเป็นเจ้าของสวนยาง หวงมาก ทำให้ไม่สามารถนนำพันธุ์ยางกลับมาได้ ในการเดินทางครั้งนั้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 พระสถล สถานพิทักษ์ เดินทางไปที่ประเทศอินโดเซีย จึงมีโอกาสนำกล้ากลับมาได้ โดยเอากล้ายางมา หุ้มรากด้วยสำลีชุบนน้ำ แล้วหุ้มทับด้วยยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่งจึงบรรจุลงลังไม้ฉำฉา ใส่เรือกลไฟซึ่งเป็นเรือ ส่วนตัวของพระสถลฯรีบเดินทางกลับประเทศไทยทันที



ยางที่นำมาครั้งนั้นมีจำนวน ถึง 4 ลัง ด้วยกันพระสถลสถานพิทักษ์ ได้นำมาปลูกไว้ที่บริเวณหน้าบ้านพัก ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรังซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานเพียงต้นเดียว อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง และจากยางรุ่นแรกนี้ พระสถลสถานพิทักษ์ ได้ขยายเนื้อที่ปลูกออกไป จนมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 45 ไร่ นับได้ว่า พระสถลสถานพิทักษ์ คือ ผู้เป็นเจ้าของสวนยางคนแรกของประเทศไทย



จากนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้ส่งคนไปเรียนวิธีปลูกยางเพื่อมาสอนประชาชน นักเรียนของท่านที่ส่งไปก็ล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นท่านก็สั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำพันธุ์ยางไปแจกจ่าย และส่งเสริมให้ราษฎรปลูกทั่วไป ซึ่งในยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตื่นยาง และชาวบ้านเรียกยางพารานี้ว่า “ยางเทศา"

ขณะนี้มีการปลูกยางพาราไปทั่วทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 9 ล้านไร่ มีผู้ถือครองประมาณ 5 แสนครอบครัวและจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญรองลงมาจากข้าวทำรายได้ให้กับประเทศ ปีละนับหมื่นล้านบาทพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดีได้รับการยกย่องและให้เกียรติเป็นนบิดาแห่งยางพาราไทยด้วยเหตุนี้ค่ะ



ถ้ำมรกต เป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen Thailand คือ ถ้ำกลางท้องทะเลซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของ เกาะมุก อ.กันตัง จ.ตรัง ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมโด่งดังไปทั่วโลกค่ะ



อยากให้มีอีกเยอะๆ ทำให้ทั่วเมืองได้เลยก็ดีนะคะคนวาดวาดสวยและรูปภาพก็สื่อถึงความเป็นตรังได้เป็นอย่างดีค่ะชอบๆการแสดงหนังตะลุง



หนังตะลุงอยู่คู่กับคนปักษ์ใต้มานานเป็นเวลาหลายร้อยปีเป็นมรดกแห่งศิลปะการแสดงที่ควรอนุรักษ์ ของคนปักษ์ใต้ หนังตะลุง แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้ก็เรียกสั้นๆว่า "หนัง"แต่ที่มาของคำว่า "หนังตะลุง" สันนิษฐานกันว่า เริ่มใช้คำนี้เมื่อมีการนำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำ "หนังตะลุง" และ "หนังใหญ่" ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯ จึงเรียก "หนังพัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง" เชื่อกันว่า หนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง ในยุคแรกๆคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจากพิณพาทย์ ตะโพน มาเป็นทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้สมัยก่อนถ้าหากมีการจัดงานประเพณีต่างๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือหนังตะลุง และการแข่งขันหนังตะลุงก็เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน



หนังตะลุงเมืองตรัง มีลักษณะเด่นที่การว่ากลอนคมชัด ดำเนินเรื่องแสดงเร็ว มีมุขตลกโปกฮาเป็นที่ชื่นชอบ หนังตะลุงรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมเล่าขานของผู้คนมานานก็มีหลายคณะ ปัจจุบันหนังตะลุงยังเป็นที่นิยมของผู้ชม นายหนังของเมืองตรังจะมีอยู่ทั่วไปตามตำบลหมู่บ้าน เป็นหนังเล็กๆ ที่รับงานแก้บนหรืองานในพื้นที่ พอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็ได้รับการเรียกหาขยายวงกว้างไกลออกไปต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หนังที่มีชื่อเสียงของตรังในยุคปัจจุบัน เช่น หนังอาจารย์ณรงค์ จันทร์พุ่ม ตะลุงบัณฑิตศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2557 ค่ะเราได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมและพูดคุยกับอาจารย์ณรงค์เกี่ยวกับหนังตะลุงที่บ้านอาจารย์ที่อำเภอกันตังซึ่งเปิดเป็นศุนย์อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมและการแสดงพื้นบ้านใต้ด้วยนะคะและทุกปีจะมีเด็กจากจังหวัดต่างๆมาเข้าค่ายเรียนรู้ศิลปะที่นี่เพื่อไม้ให้วัฒนธรรมเราสูญหายไป



อาจารย์ณรงค์ ได้สร้างสรรค์ศิลปะเพื่อประชาชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสืบทอดศิลปะพื้นบ้านได้ทันยุคจากภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้อาจารย์หนังณรงค์ตระหนักและแสดงออกในการเล่นหนังตะลุงอยู่ตลอดเวลาได้สอดแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง การไปใช้สิทธิ ใช้เสียง การวางแผนครอบครัว โดยนำความรู้มาประสานกับลีลากลอน และบทบาทของเงารูปหนังตะลุงให้กลมกลืนเป็นที่เข้าใจง่าย เป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่นมาโดยตลอด พัฒนาหนังตะลุงให้เป็นที่นิยมของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งยังถ่ายทอดการแสดงของหนังตะลุง และเขียนบทหนังตะลุงให้แก่ผู้สนใจทั่วไป เพื่อส่งเสริมศิลปะการเล่นหนังตะลุง และการอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้เป็นมรดกไทยสืบไปค่ะกราบขอบคุณอาจารย์ค่า



มวยไทย



จังหวัดตรังดังเรื่องมวยไทยด้วยนะคะเพราะมีพุฒ ล้อเหล็กที่คนมวยทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ต่างร้องอ๋อกันทุกคนว่านี่คือหนึ่งในสุดยอดมวยไทยที่ลีลาชั้นเชิงยังตราตรึงใจผู้คนมิรู้ลืม นอกจากนี้แล้วลีลาลวดลายในด้านการชกสากลอาชีพก็ไม่ธรรมดา เคยครองแชมป์สากลเวทีราชดำเนิน และเป็นรองแชมป์โลกอันดับสูงมาแล้วด้วยค่ะ



ไหนๆเราก็มากันถึงบ้านเกิดของพุฒ แล้ว แวะมาค่ายมวยที่เคยเป็นของพุฒหน่อยละกันค่ะ



เป็นที่นิยมของชาวตรังมากค่ะกิจกรรมชกมวยไทยแบบนี้


skimboard คือ กีฬาทางน้ำประเภทบอร์ด(กระดาน) รูปทรงและหน้าตาคล้าย surf แต่มีขนาดเล็กกว่าและไม่มี fin ( หางเสือด้านหลังแผ่น ) skimboard ถูกออกแบบไว้ให้เล่นหรือเดินทางบนผิวน้ำตื้นประมาณ 1-2 นิ้ว โดยอาศัยแรงโมเมนตัมจากการวิ่งและน้ำหนักตัวของผู้เล่นทำให้มันสามารถไหลไปได้ไกลมากๆ



Flatland Skimboard เป็นการเล่นบนผิวน้ำตื้นที่พื้นเรียบๆ เล่นท่าที่ถูกพัฒนามาจากการเล่น skateboard สามารถเล่นได้ในทุกๆที่ ไม่จำเป็นต้องเล่นที่ทะเล ขอให้เป็นพื้นเรียบ และมีน้ำขังประมาณ 1-2 นิ้วพอ หรือเล่นที่ทะเล


ตอนนี้ที่ตรังมีก๊วนเล่น skimboard ที่หาดยาว ไปร่วมเล่นได้นะคะ



มัสยิดกลางประจำจังหวัดตรัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการประกอบศาสนกิจที่มีมาตรฐานรองรับชาวมุสลิมชาวจังหวัดตรังซึ่งมีกว่า 2 แสนคนนะคะ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วที่นี่จะเป็นสถานที่ที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งในจัวหวัดตรังเลยนะคะ



ที่ตั้ง: หมู่ที่ 1 บ้านนานิน ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว ในเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ติดกับโรงเรียนกีฬาจังหวัดตรัง



ทุกขั้นตอนในการก่อสร้างต้องมีการประชุมหารือจากคณะอิสลามประจำจังหวัดเพื่อความถูกต้องตามหลักศาสนาค่ะ



มีความโอ่โถงสวยงาม



รอดูตอนเสร็จสมบูรณ์อีกครั้งค่ะน่าจะสวยงามไม่แพ้ที่ไหน


สถานีรถไฟกันตังเป็นสถานีรถไฟสุดทาง ของทางรถไฟสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บนถนนหน้าค่ายตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายนพ.ศ. 2456 ตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาลแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ตัวอาคารและชานชาลา ด้านหน้าอาคารมีมุขยื่นประดับมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ประตูบานเฟี้ยมแบบเก่าคงเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีความสวยงามเป็นพิเศษปัจจุบันสถานีรถไฟกันตังได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากรแล้วค่ะ



สถานีรถไฟกันตังในอดีตถูกใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียมีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร จากตัวสถานีถึงท่าเทียบเรือกันตังซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านรุกล้ำที่และไม่มีรางรถไฟส่วนนี้แล้วค่ะ



สถานีรถไฟกันตังมีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีต มีความหมายยิ่งต่อวงการรถไฟไทยยุคแรก ๆ นั่นคือหัวรถจักรรุ่นต่าง ๆตลอดจนโบกี้รถไฟที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรืออินเดีย โดยจะมาทางเรือและขึ้นเทียบท่าที่กันตัง ก่อนออกวิ่งบนรางรถไฟต่อมายังกรุงเทพฯอีกที



เมื่อเวลาผ่านไปเส้นทางในการส่งสินค้าแปรเปลี่ยนไปตามแหล่งผลิตเช่นการที่รถไฟหันไปสั่งหัวรถจักรมาจากญี่ปุ่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เส้นทางรถไฟฝั่งอันดามันที่ต่อเชื่อมไปยังท่าเรือกันตังถูกทิ้งร้างลงดังเช่นทุกวันนี้



ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2456 ที่สถานีรถไฟกันตัง เปิดทำการเดินรถเป็นครั้งแรก ต้นทางจากสถานีกันตัง ปลายทางสถานีห้วยยอด นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 100 กว่าปีแล้วที่ สถานีรถไฟกันตัง เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ช่วยบอกเล่าความเป็นมาอันเก่าแก่ของเมืองกันตัง ที่เป็นเมืองท่าขนส่งสินค้า รวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆในอดีตที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านทาง สิงคโปร์ มาขึ้นท่าที่เมืองกันตังก่อนส่งต่อไปยังอำเภอทุ่งสง ชุมทางรถไฟสำคัญของภาคใต้ ทำให้การเดินทางและการขนส่งพัสดุภัณฑ์ต่างๆทางเรือจากภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล และปีนัง จะเข้ามารับส่งผู้โดยสารและสินค้าที่ท่าเรือกันตัง แล้วโดยสารรถไฟต่อไปยังที่อื่นๆค่ะ



ที่นี่ยังคงทิ้งร่องรอยในอดีตที่แสนมีเสน่ห์ไว้ให้เราได้ศึกษากันมากมายค่ะ



มาถึงตรงนี้แล้วส่วนใหญ่คงไม่พลาดที่จะหาอะไรเย็นๆดื่มที่ร้านนี้ค่ะ..สถานีรัก


โรงงาน Plan Toys ผลิตของเล่นไม้เพื่อการศึกษาออกวางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ตราสินค้า " Plan Toys " มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ " สร้างสรรค์สื่อคุณค่า เพื่อพัฒนาเด็ก" โดยเลือกทำของเล่นจากไม้ยางพาราที่ปราศจากสารเคมีเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดและซึมซับคุณค่าของธรรมชาติ นอกจากนั้นยังเป็นวัสดุท้องถิ่นที่มีราคาถูกเป็นไม้ยางพาราที่อายุเกินแล้วทำให้ไม่เสียไม้ยางไปโดยไม่เกิดประโยชน์ค่ะ



ต้องการให้เด็กสัมผัสกับธรรมชาติและเกิดการเรียน รู้ที่เหมาะสม ได้ขยายไปสู่การผลิตของเล่นที่ได้มาตรฐานสูง ทั้งด้านความปลอดภัยต่อเด็กๆ และด้านสิ่งแวดล้อม



เป็นแนวความคืดที่ดีน่าสนับสนุนและของเล่นก็น่ารักมากค่ะตึกเก่า ในเมืองตรังนั้น ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยอาคารเก่าที่มีทั้งสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสตามสมัยนิยมของเมืองท่าทางการค้าในอดีต และห้องแถว สถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณนะคะ



แต่ก่อนอาคารเหล่านี้คงมีหลายหลังต่อเนื่องกันแต่ต่อมามีการรื้อออกและสร้างเป็นอาคารสมัยใหม่ในยุคนั้นๆแทรกอยู่


ห้องแถว 4 ห้องที่เรียงกันนี้มีถึง 4 ยุคสมัยด้วยกันค่ะเรียงจากขวามาซ้ายนะคะ



1.ยุคอั้งม้อเหลา ( อั้งม้อ = ฝรั่งเหลา = อาคาร )ช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกเข้ามาขุดแร่ดีบุกอาคารได้รับอิทธิพลการออกแบบสไตล์โคโลเนียล โอ่โถงแสดงอำนาจผนังปูนเท มีซุ้มโค้ง ปูนปั้นกรอบประตูหน้าต่าง



2.ยุคพ่อค้าจีนเป็นเรือนแถวเน้นค้าขายมีงานไม้ผสมลดต้นทุนการก่อสร้างได้มาก เพราะซีเมนต์สมัยก่อนต้องนำเข้าจากปีนังทั้งหมดค่ะ



3.ยุคปีนัง ใช้ซีเมนต์ในเกือบทุกรายละเอียด แม้แต่ช่องระบายลมอากาศจุดเด่นของรุ่นนี้ทั้งหมดนำเข้าจากปีนังตัวอาคารเน้นโล่งโปร่งแบบผู้ดีมาลายูมีรายละเอียดแบบงานฉลุไม้แต่แข็งแรงกว่าผนังอาคารเทซีเมนต์มีร่องรอยไม้กระดานบันไดกับโครงหลังคาใช้ไม้แผ่นหลังคาเป็นกระเบื้องว่าว



4. ยุคจอมพล ป .อาคารมีลักษณะเป็นกล่องแข็งๆ สไตล์ บาวเฮาส์ จากอิทธิพลมหาอำนาจทางการทหารเยอรมัน



ปัจจุบันจึงเหลืออาคารรูปทรงเก่ากระจายกันอยู่ทั่วไป เช่น ใน ย่านตลาดสด และย่านการค้าใกล้กับสถานีรถไฟ ฯลฯ สถานีรถไฟกันตังในอดีตคือแหล่งขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือกันตัง



จุดเที่ยวชม : อยู่ริมถนนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองตรัง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ระหวางแยกหอนาฬกา-แยกกวนกน-ถ.ราชดำเนิน-ถ.กันตัง(ขนานกับ ถ.สถานี)-ถ.พระราม ๖ พื้นที่ จะเป็นเหมือนสี่เหลี่ยมเดินเที่ยว หรือจะนั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือตุ๊กๆ เมืองตรัง(ทรงหน้ากบปากแหลม)



และหลายๆตึกในรูปที่โพสนี้มาจากห้วยยอดค่ะ



ช่องระบายลมแบบโบราณ



บ้านนี้ก็สวยมากแค่คาดว่าไม่มีคนอยู่ค่ะ



ตึกคหบดีเก่า


เดินเล่นดูบ้านเรือนไม่มีเบื่อเลย



ชุมชนซอยนี้ทาสีบ้านมีชีวิตชีวาดีค่ะ



สีสวยทุกหลังเลย



พิพิทธภัณฑ์มีชีวิต



ถนนสายหลักของเมืองตรังมีการร่วมใจทาสีอาคารให้สวยงามแล้วค่ะ



โบสถ์ของคริสตจักรตรังเมื่อวันที่11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1915มีพิธีถวายอาคารโบสถ์ถาวรของคริสตจักรตรังมีอักษรจารึกไว้เหนือบันไดทางเข้าข้างหน้าว่า“วิหารคริสตศาสนา สร้างค.ศ. 1915"



แต่เดิมนั้นหอระฆังเป็นเพียงดาดฟ้ามีลักษณะคล้ายกับป้อมทหารสมัยโบราณหลังจากนั้นมีปรับปรุงใหม่เนื่องจากระฆังที่อยู่ในหอระฆังชั้นที่สองดังก้องมากเกินไปจึงเพิ่มชั้นบนขึ้นเช่นที่เห็นในปัจจุบันค่ะ



วิหารหลังนี้ เปลี่ยนหลังคาจากกระเบื้องซีเมนต์แบบเก่าทรงสี่เหลี่ยม กลายเป็นกระเบื้องใยสังเคราะห์ยางอัลฟัลทาสีภายนอกและภายใน เพดานบุกระเบื้องยิบซัม พื้นปูคอมปานาสีขาวครีม ซ่อมแซมเมื่อกันยายน – ตุลาคมค.ศ. 1985 ต่อมาเมื่อเริ่มสร้างโบสถ์หลังใหม่ จึงเปลี่ยนกระเบื้องใยสังเคราะห์เป็นแผ่นไลสาดเพราะกระเบื้องใยสังเคราะห์เมื่อโดนแดดมาก ๆ จะบิดเสียรูปทำให้น้ำรั่วหน้าฝน และทำเวทีใหม่ลดต่ำลงมา


และหลังจากนั้น ได้มีการบูรณะฯใหม่ทั้งหลัง เมื่อปี 2007 สวยงามจนถึงปัจจุบันนะคะ



รถตุ๊กๆหัวกบ



ปัจจุบันในตัวเมืองตรัง ยังเหลือ รถตุ๊กตุ๊กหัวกบให้เห็นได้กว่า 300 คัน โดยมีการ รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นชมรมสามล้อเครื่อง เพื่ออนุรักษ์รถตุ๊กตุ๊กหัวกบให้อยู่ คู่เมือง ตรังต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจหากจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนตรังส่วนใหญ่โดย เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักจะไม่พลาดโปรแกรมนั่งรถตุ๊กตุ๊กหัวกบตระเวน รอบเมือง ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท แล้วแต่ระยะทาง หรืออาจเหมาเป็นวันก็ได้ค่ะ



เมื่อปี 2502 สมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมืองไทยเริ่มนำเข้ารถตุ๊กตุ๊กหัวกบจากญี่ปุ่นมาใช้เป็นครั้งแรก ตุ๊กตุ๊กญี่ปุ่นจะ แตกต่างจากตุ๊กตุ๊กไทยตรงที่ตุ๊กตุ๊กไทยจะมีคันบังคับแบบก้านจับสองข้างเหมือนแฮนด์ มอเตอร์ไซค์ คนขับจะนั่งหน้า ส่วนผู้โดยสารนั่งได้ด้านหลังเท่านั้น ส่วนตุ๊กตุ๊กญี่ปุ่น จะมีคันบังคับเป็นพวงมาลัยเหมือนรถยนต์ทั่วไป แถมผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับ หรือจะนั่งตอนหลังก็ได้ตามใจนะคะ



รถบรรทุกไม้


รถบรรทุกที่ทำจากไม้ เหลือเป็นคันสุดท้ายในตรังแล้วค่ะ ตอนนี้ทำหน้าที่เป็นรถส่งน้ำแข็ง คลาสิกสุดๆ

ถนนที่ตรัง


สิ่งที่ชอบมากคือที่นี่ต้นไม้เยอะถนนสวยด้วยต้นไม้ค่ะไม่ว่าจะนอกเมือง



ถนนเล็กๆ



วงเวียน



ถนนในเมือง


หรือแม้แต่ถนนหน้าบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้จริงๆ



7 วันของเราที่ตรังทำให้เราได้รู้จักตรังดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากได้มองเห็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ ได้รับรู้ในน้ำใจและไมตรีจิตมากมายจากชาวตรังที่ช่วยเหลือเป็นอย่างดีกับภาระกิจในครั้งนี้



ขอบคุณคุณชวน หลีกภัย/คุณกิจ หลีกภัย/ คุณระลึก หลีกภัย /พี่ปุ๊ก -พี่กัญ /พี่อุ้ม-หน่อย/โกเกี๊ยะ- พี่ตุ๋ย/ โกแจ้ง /พี่เฉิง /พี่เล็ก /น้องปาล์ม เลตรัง2/อจ.จุฑามาศ เชาว์พิพัฒน์ (อจ.เอ )ม.ราชภัฏสวนดุสิต / พี่เอ๋ง ร้านริชชี่/ หน่อย – พี่เซีย / พี่ต้อม โกนะ ร้านมิตรสาน /น้องฮาย-น้องเจี๊ยบ Anantara /เก๋-พี่หนาน/ เบิร์ด/เต่า/พี่ตุ้ม/ต้อม/กิ๊ฟ/ร้านขนมและอาหารทุกร้านและอีกหลายๆท่านที่อาจกล่าวไม่ครบนะคะ.............. ผู้มีส่วนร่วมในรีวิวนี้เยอะมากชาวตรังน่ารักจริงๆค่ะ



ฝากรีวิวอีก 1 ผลงานของทีม ตรัง ยุทธจักรความอร่อยด้วยค่ะ



รีวิวนี้จะทำให้รู้ว่าตรังไม่ได้มีแค่ทะเลสวยๆอาหารอร่อยๆแต่อย่างเดียวนะคะ ตรังยังมีภูผา น้ำตก และสายหมอกไว้คอยต้อนรับเราด้วย ตรังในมุมมองของ ม่วงมหากาฬ LIFE FOR TRAVEL สวยงามจริงๆค่ะ



http://pantip.com/topic/34035194



ออกไปเที่ยวเมืองไทยกันเถอะค่ะยังมีอีกหลายที่หลายสิ่งที่รอเราออกไปค้นหา



ขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จัดกิจกรรมดีดีสนุกๆแบบนี้



ขอบคุณ NokAir, Thai Rent A Car , KEEN , OUTDOOR INNOVATION



ขอบคุณทีมงาน วันทเวนตี้ทู ผู้จัดทำโครงการ The Amazing Journey Blogging Contest



ขอบคุณตามกาลเวลาที่ไปมาด้วยกันทุกที่ อ้วนก็อ้วนด้วยกัน



ขอบคุณ ม่วงมหากาฬ เพื่อนร่วมทีมที่ทำงานร่วมกันได้ดี มาช่วยกันเติมเต็มสิ่งที่อีกฝ่ายขาดไปอย่างลงตัวมากๆค่ะ



ขอบคุณ Pantip.com ที่มีพื้นที่ดีดีแบบนี้ให้แบ่งปันประสบการณ์



และสุดท้าย



ขอบคุณทุกท่านที่คลิ้กเข้ามาอ่านรีวิวนี้ค่ะทุกคอมเมนท์ กิ๊ฟโหวตล้วนเป็นกำลังใจแก่ผู้รีวิวทั้งสิ้น



หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารีวิวนี้คงมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อยค่ะฝากจังหวัดตรังไว้ในลิสต์การท่องเที่ยวของทุกท่านด้วยนะคะ



รักคนอ่านรีวิวค่ะ



Tamkarnwela



ความคิดเห็น