"มะละกา (Melaka)" เป็นเมืองหลวงของรัฐมะละกา 1 ใน 13 รัฐของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ และเป็นหนึ่งในสี่รัฐของมาเลเซียที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐ แต่จะมีผู้ว่าราชการรัฐแทน เป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกบนช่องแคบมะละกา ระยะทางจากกัวลาลัมเปอร์มายังมะละกา ประมาณ 90 กิโลเมตรครับ

ประตูทางเข้าเมืองมะละกามีหอคอย 3 หอ หอคอยทั้ง 3 ถือเป็นตัวแทนของคน 3 เชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในมะละกา คือ จีน ฮินดู และอิสลามครับ

ขอเริ่มที่จุดกำเนิดของการตั้งชื่อเมืองมะละกากันก่อนครับ

บริเวณนี้คือจุดเริ่มต้นของการตั้งชื่อเมืองมะละกา โดยเจ้าชายปาราเมิสวารา(PARAMASWARA) หรืออีกชื่อหนึ่งคือเจ้าชายปรเมศวร จากเมืองปาเล็มบัง อินโดนีเซีย แพ้พ่ายศึกสงครามจากอินโดนีเซียก็เลยอพยพเร่ร่อนมาจนถึงเมืองตูมาซิกหรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยตอนนั้นเมืองตูมาซิกตกอยู่ใต้อำนาจของสยาม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับสยาม เจ้าชายจึงดั้นด้นมาถึงเมืองนี้ ด้วยการที่ตัวเองถูกรุกรานจากข้าศึกจนพ่ายแพ้มา พระองค์จึงได้ทำการรวบรวมกำลังพลและตัดสินใจต่อสู้อีกครั้ง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เจ้าชายนั่งอยู่ ณ บริเวณนี้ แล้วมองเห็นกระจงที่กำลังจะโดนสุนัขจิ้งจอกขย้ำบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมะละกา แต่ด้วยความที่กระจงตัวเล็ก ไม่มีเขา แต่กระจงสามารถเอาชนะสุนัขจิ้งจอกได้จากความปราดเปรียวและความเฉลียวฉลาดของมันเอง โดยที่เจ้ากระจงได้เอาโหนกที่อยู่บนหัวของมันผลักสุนัขจิ้งจอกจนตกแม่น้ำมะละกาไป แรงบันดาลใจนี้ทำให้เจ้าชายลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้งเพื่อกอบกู้เอกราช จนได้รับชัยชนะกลับมา ท่านก็เลยกลับมา ณ จุดตรงนี้อีกครั้ง และมีความประสงค์อยากจะสร้างดินแดนแห่งนี้ให้เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน แต่จะตั้งชื่ออะไรนั้น ท่านเองยังนึกไม่ออก ระหว่างที่นึกอยู่นั้นก็มีผลไม้ตกลงมาที่ข้างๆ กายของท่าน ผลไม้ที่ร่วงมานั้นเป็นผลของต้นมะละกา ท่านเลยคิดตั้งชื่อเมืองที่ท่านกอบกู้เอกราชมาได้ให้ชื่อว่า “มะละกา” แท้จริงแล้วต้นมะละกา ก็คือต้นมะขามป้อมบ้านเรานั่นเองครับ

เจ้าชายปรเมศวรนับเป็นสุลต่านองค์แรกของมะละกาและมาเลเซีย ต่อมาภายหลังอังกฤษ โปรตุเกส ฮอลแลนด์ และญี่ปุ่น เข้ามารุกรานมะละกา ทำให้เจ้าชายปรเมศวรได้อพยพและทิ้งเมืองมะละกาไป ระบบสุลต่านก็เลยหมดไปตั้งแต่เจ้าชายได้ละทิ้งดินแดนไปครับ

“Dutch Square” หรือจัตุรัสแดง เป็นจุดเริ่มต้นการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมะละกา ที่หลายคนเรียกว่า Dutch Square เนื่องจากที่นี่เคยเป็นศูนย์กลางชุมชนดัตช์ในสมัยที่เข้ามาปกครองมาลายู แต่ละชนชาติที่มาปกครองดินแดนมะละกา เชื่อกันว่าถ้ามาปกครองดินแดนแห่งนี้แล้วจะนิยมสร้างสัญลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ไว้


“โบสถ์คริสต์มะละกา (Christ Church Melaka)” โบสถ์สีแดงในคริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ที่ตั้งเด่นอยู่กลางจัตุรัสแดง ผมว่าโบสถ์แห่งนี้น่าจะเป็นโลโก้ของมะละกาไปแล้ว เพราะใครที่มาเที่ยวที่มะละกาจะต้องไม่พลาดที่จะมาถ่ายภาพโบสถ์แห่งนี้ โบสถ์แดงนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปีที่ชาวดัตช์ปกครองมะละกา ใช้เวลาในการสร้างถึง 12 ปี แต่ภายหลังเมื่ออังกฤษเข้าปกครองได้เปลี่ยนโบสถ์ในนิกายแองกลิคันและมีการนำเครื่องวัดทิศทางลมรูปไก่มาติดไว้เหนือระฆังบนยอดโบสถ์ด้วยครับ ด้านข้างมีร้านขายของที่ระลึกมากมายครับ


หอนาฬิกาที่ตั้งอยู่ที่หน้าโบสถ์คริสต์เป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น หน้าจอนาฬิกาเคยเป็นยี่ห้อง SEIKO ของญี่ปุ่น แต่คนมะละกาแอนตี้ญี่ปุ่น เพราะสมัยก่อนคนที่ขัดขืนการปกครองของญี่ปุ่นจะโดนตัดหัวประจารบริเวณหอนาฬิกาแห่งนี้ พอมะละกาได้รับเอกราช คนดั้งเดิมของที่นี่ก็เลยมีอคติกับคนญี่ปุ่นด้วยการทำลายของทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น เช่นการเอาหน้าปัดนาฬิกา SEIKO ออกและเอาหน้าจอนาฬิกาปัจจุบันมาทดแทน

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองมะละกา นั่นก็คือรถสามล้อถีบครับ ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสมาที่มะละกา สามล้อส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลืองและมีดอกไม้ประดับประดาอยู่เต็มรถ แต่สามล้อ ณ ปัจจุบันเปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก มีหลากหลายสีสัน ทั้งสีเหลือง สีน้ำเงิน สีชมพู แถมรถแต่ละคันต่างแข่งขันประดับประดารถของตนเองด้วยตุ๊กตา ไม่ว่าจะเป็น Kitty, Olaf, Pikachu, Minions และอีกสารพัดชนิด ให้ความรู้สึกไม่ต่างจาก Disneyland เลยครับ

ระหว่างโบสถ์คริสต์และหอนาฬิกาจะเป็นน้ำพุหินอ่อนวิคตอเรียซึ่งเป็นตัวแทนประเทศอังกฤษ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1904 เนื่องในโอกาสพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปีของพระราชินีวิคตอเรียครับ

ฝั่งตรงข้ามถนนกับโบสถ์คริสต์ มีกังหันลม ซึ่งเป็นตัวแทนของฮอลแลนด์ครับ


“Church of St. Francis Xavier” เป็นโบสถ์เก่าแก่ รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบกอทิก ก่อสร้างโดยบทหลวงฟาร์ฟ (Farve) เพื่อต้องการอุทิศให้นักบุญฟรานซิส เซเวียร์ครับ ฝั่งตรงข้ามมีซากของฐานโครงสร้างตึกแดง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างตึกแดง แต่เนื่องด้วยเกิดศึกสงครามต่างๆ ทำให้เหลือแค่ฐานเพียงอย่างเดียวครับ


เดิมอาคารที่นี่มีสีขาว แต่ด้วยความที่ชาวอินเดียที่อพยพมาอยู่ที่มะละกาถูกอังกฤษไล่ต้อนมาเป็นข้าทาสบริวาร นิยมการเคี้ยวหมาก ชาวอินเดียมักบ้วนน้ำหมากทิ้งตามฝาผนังบ้านต่างๆ ทำให้เกิดความไม่สวยงาม อังกฤษเลยแก้ปัญหาด้วยการใช้สีแดงทาทับไป ตัวอาคารต่างๆ จึงกลายเป็นตึกแดงตั้งแต่นั้นมาครับ มะละกาได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์เมืองมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกในปี 2008

จาก Dutch Square ผมเดินขึ้นไปยังเนินเขาเซนต์ปอล เนินเขาเตี้ยๆ ที่อยู่ด้านข้างของ Christ Church Melaka ครับ

ด้านบนของเนินเขาเซนต์ปอลเป็นที่ตั้งของ “โบสถ์เซนต์ปอล (St. Paul’s Church)” ในยุคที่โปรตุเกสปกครองมะละกา โบสถ์แห่งนี้มีชื่อว่า Nosa Senhora แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น St. Paul เมื่อชาวดัตช์เข้ามาปกครอง

มีตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว นักบุญฟรานซิส เซเวียร์ (St.Francis Xavier) ได้สิ้นชีวิตไปเกือบ 1 ปี ศพได้ถูกฝังไว้ในมะละกา ต่อมาได้ทำการขุดศพของนักบุญฟรานซิสขึ้นมาเพื่อจะนำท่านไปฝังที่เมืองกัวร์ ประเทศอินเดีย แต่เมื่อขุดศพท่านขึ้นมาปรากฏว่าศพท่านเหมือนคนนอนหลับ จึงได้ทำการขอตำแหน่งนักบุญให้แก่ท่านจากพระราชวังวาติกัน แต่ทางพระราชวังได้ตอบกลับมาในอีก 16 ปี ขอให้ตัดแขนนักบุญฟรานซิสไปพิสูจน์ เมื่อตัดแขนปรากฏว่ามีเลือดไหลเหมือนยังมีชีวิตอยู่ จึงได้ประกาศให้เป็นนักบุญ St.Francis Xavier และในอีก 60 ปีผ่านไป มะละกาได้สร้างอนุสาวรีย์ของท่านที่แกะสลักด้วยหินอ่อนสีขาว ไว้ด้านหน้าโบสถ์เซนต์ปอล วันหนึ่งเกิดฟ้าผ่าลงมาถูกกิ่งไม้ใหญ่หักลงมาถูกแขนด้านขวาของรูปสลักท่านจนแขนขวาหักลง ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่แขนของศพที่ถูกตัดส่งให้พระราชวังวาติกันก็เป็นแขนขวาด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้เหลือเพียงผนังสี่ด้าน ไม่มีหลังโครงหลังคา เนื่องมาจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1934 ไกด์ของผมเล่าว่าแผ่นศิลาที่นำมาวางไว้โดยรอบผนังด้านในของโบสถ์นั้นเดิมเคยถูกติดไว้บนผนังของโบสถ์ แต่ภายหลังเกิดการหลุด อาจเนื่องมาจากผลของการเกิดไฟไหม้ จึงนำมาวางไว้ที่ผนังโบสถ์แทนครับ

ภายในโบสถ์ จะมีนักดนตรีมาเล่นกีตาร์ แบบเปิดหมวกพร้อมร้องเพลงเก่าๆ ด้วย เดินชมโบสถ์ไป ฟังเพลงไป มันได้บรรยากาศดีจริงๆ ครับ

ไกด์เล่าว่าตรงนี้คือแท่นพิธี ซึ่งด้านล่างของแท่นพิธีได้ขุดเป็นหลุมหลบภัยครับ


ด้านนอกของโบสถ์เซนต์ปอลยังสามารถชมวิวเมืองมะละกาได้อีกด้วย มองออกไปเห็นช่องแคบมะละกา ช่องแคบที่ผมเคยได้ยินชื่อมานานตั้งแต่สมัยเรียน สปช. ช่องแคบมะละกาเป็นช่องแคบที่อยู่ระหว่างแหลมมลายูและเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ส่วนที่แคบที่สุดมีความกว้าง 1.5 ไมล์ เป็นยุทธศาสตร์ทางการเดินเรือที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเห็น Taming Sari Tower หอคอยสูง 110 เมตร ซึ่งบนหอคอยใช้เป็นจุดชมทิวทัศน์ของมะละกาได้แบบ 360 องศาเลยครับ หอคอยแห่งนี้พิเศษตรงที่จะหมุนรอบตัวเองได้และเคลื่อนที่ไปในแนวดิ่ง ลักษณะคล้ายลิฟต์ครับ


อีกมุมหนึ่งมองเห็น Maritime Museum หรือพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในเรือสินค้าจำลองขนาดใหญ่ด้วยครับ



จากยอดเขาเซนต์ปอล เมื่อเดินลงมาอีกทาง จะพบ “ป้อมประตูซานติเอโก (Porta De Santiago) สร้างขึ้นโดยชาวโปรตุเกส ป้อมประตูที่เห็นเป็นส่วนที่หลงเหลือของป้อมเอฟาโมซาที่ถูกทำลายลงในระหว่างสงครามแย่งชิงมะละกาของโปรตุเกสและฮอลันดา จนเมื่อชาวดัตช์ได้เข้ามาปกครองมะละกา ป้อมเอฟาโมซาก็ได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ถูกทำลายอีกครั้งด้วยกองทัพเรืออังกฤษ คงเหลือไว้เพียงป้อมประตูซานติเอโกเท่านั้น


ฝั่งตรงข้ามของป้อมประตูซานติเอโกเป็นที่ตั้งของ “ตึกอนุสรณ์การประกาศเอกราช” สร้างในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองมะละกา ตามแบบสถาปัตยกรรมวิคตอเรียแต่ยังคงมีสัญลักษณ์ของอิสลามด้วยยอดโดมคู่สีทอง ใช้เป็นที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่ถูกปกครองโดยชาติตะวันตก

จากนั้นผมกลับมาเดินเล่นที่ Melaka River Walk ครับ

"Melaka River Walk” อยู่ติดกับจัตุรัสแดง เพียงแค่ข้ามฝากถนนก็จะเป็นแม่น้ำมะละกาแล้ว แม่น้ำมะละกาถือเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรของคนที่นี่ครับ


บางช่วงของ River Walk จะมี Cafe เล็กๆ อยู่ตลอดแนว ช่วงเย็นบรรยากาศคงดีมากๆ เลยครับ


มีบริการนั่งเรือชมเมืองด้วย


จะเรียก Melaka River Walk ว่าเป็น Street Art ก็คงไม่ผิดครับ เพราะตลอดแนวที่ผมเดินเล่นจะเห็นภาพวาดเก๋ๆ อยู่ตามอาคารบ้านเรือน แต่ผมว่าความเก๋ยังแพ้ Street Art ที่ภูเก็ตบ้านเราครับ


ผมเดินวกกลับมาจนถึง Maritime Museum ที่สร้างจำลองมาจากเรือสำเภาฟลอเดอรามาร์ (Flor de lama) เป็นเรือของโปรตุเกส ในสมัยที่มะละกาอยู่ภายในการปกครองของโปรตุเกส เรือลำนี้ได้ขนสมบัติจากวังสุลต่านมะละกาไปเต็มพิกัด หลังจากที่เรือออกจากมะละกาได้แล่นออกไปทางเกาะสุมาตราตอนเหนือและได้ล่มลงที่นั่นครับ

ก่อนจะไปเก็บแสงเย็น ขอรองท้องกันก่อนที่ร้าน “Seri Nyonya Resturant” ครับ

อาหารที่นี่จะเป็นอาหารจีนผสมมลายู หรือคนที่นี่จะเรียกว่า “บาบ๋า ย่าหยา” รสชาติอาหารถือว่าโอเคเลยครับ เมนูบางอย่างก็เหมือนยกมาจากเมืองไทยเลย อย่างผัดผักบุ้ง ผัดกะหล่ำปลี หรือเมนูบางอย่างก็คล้ายกับเมืองไทยมากๆ อย่างสะตอที่นี่จะผัดใส่ปลาจิ้งจั้ง หรือจะเป็นคล้ายๆ แกงคั่วกุ้งใส่สับปะรดก็อร่อยดี อีกเมนูหนึ่งคล้ายๆ ห่อหมกบ้านเรามากๆ ครับ


ปิดท้ายด้วยของหวานเป็นลอดช่องมะละกา ตัวลอดช่องจะไม่นิ่มเหมือนบ้านเรา ส่วนน้ำกะทิ ผมว่ามันติดกลิ่นไหม้ๆ ของน้ำตาล ไม่หอมเหมือนน้ำกะทิบ้านเราครับ

เสร็จสิ้นจากมื้อเย็น ผมตรงไปยังมัสยิดริมน้ำ จำได้ว่ารอบก่อนที่มามะละกา ประทับใจกับมัสยิดนี้มากเพราะตั้งอยู่ริมทะเล และจุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยอีกจุดในมะละกาครับ

“Melaka Straits Mosque” มัสยิดนี้ถูกสร้างบนเกาะ Pulay ซึ่งเป็นเกาะที่ทางรัฐบาลสร้างถมที่ขึ้นมาให้เป็นที่พักและตั้งสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมา มัสยิดในวันนั้นจนถึงวันนี้ยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือนักท่องเที่ยวที่มีมากขึ้น ในวันที่ผมมาที่นี่ครั้งแรก ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมที่นี่เลย แต่วันนี้กลับมีนักท่องเที่ยวมากมายที่มารอชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่นี่ครับ

เสียดายที่ผมมาถึงที่นี่ช้าไปหน่อย ชาวบ้านกำลังจะทำพิธีละหมาดพอดี ผมเลยไม่ได้เข้าไปชมด้านในมัสยิด คงทำได้เพียงชื่นชมแต่ภายนอกเท่านั้น

แล้วพระอาทิตย์ก็ค่อยๆ ลาลับขอบฟ้าไป วันนี้ฟ้าค่อนข้างเปิด ยังแอบนึกในใจว่าคงได้เห็นฟ้าระเบิดเป็นแน่ๆ แต่ก็ได้เท่าที่เห็นครับ เป็นอันว่าวันนี้ผมปฏิบัติภารกิจเก็บแสงเย็นที่นี่ได้สมใจครับ

มัสยิดจะอยู่ค่อนข้างไกลจากแหล่งชุมชน และเท่าที่สังเกตไม่มีรถเมล์ผ่านด้วย หากใครจะเข้ามาชมมัสยิดแห่งนี้คงต้องเหมารถ Taxi เข้ามานะครับ

โปรแกรมมะละกาของผมยังไม่หมดแค่ตรงนี้ ไกด์เค๊กพามาเดินเล่นที่ถนนคนเดินยองเกอร์ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสแดงครับ

“ถนนคนเดินยองเกอร์ (Jonker walk)” เป็นถนนคนเดินที่มีเฉพาะวันเสาร์–อาทิตย์ ถือได้ว่าเป็นแหล่งของกิน ของฝากที่ไม่ควรพลาด หากมาตรงกับวันที่เปิดตลาดนะครับ 2 ข้างทางของถนนยองเกอร์จะเป็นบ้านเรือนเก่าสถาปัตยกรรมแบบชิโน – โปรตุเกส อารมณ์คล้ายๆ กับที่ภูเก็ตบ้านเรา ที่นี่ผมได้ของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับไปฝากเพื่อนๆ ที่เมืองไทยด้วย ขอแนะนำว่าหากใครต้องการของที่ระลึกประเภท Souvenir ให้หาซื้อกันที่นี่เลยนะครับ ราคาค่อนข้างถูกกว่าหาซื้อตามแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ๆ ราคาสามารถต่อรองได้อีกนิดหน่อยครับ

อีกหนึ่งสีสันของเมืองมะละกายามค่ำคืน ก็เห็นจะเป็นสามล้อถีบนี่แหล่ะครับ ช่วงกลางวันว่าอลังการแล้ว ช่วงกลางคืนอลังการยิ่งกว่า เพราะรถสามล้อถีบแต่ละคันต่างเปิดไฟประชันกันเป็นอย่างมาก เห็นแล้วตื่นตาตื่นใจไม่น้อยเลยครับ

สำหรับที่พักที่มะละกา แนะนำที่ Eco Hotel Melaka ครับ

Eco Hotel Melaka ไม่ได้ตั้งอยู่ใจกลางมะละกา แต่ห่างออกมาไม่ไกลนัก ข้างๆ โรงแรมมี 7-11 ด้วย บริเวณ Lobby ไม่ได้ดูโอ่โถงอะไรมากนักแต่มีที่สำหรับให้แขกได้นั่งพักระหว่างรอการ Check in/Check out พอสมควรครับ มี Welcome Drink ด้วยนะเออ

ห้องพักดูใหม่ สะอาดสะอ้าน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน พร้อม Free wifi ครับ


ตู้เสื้อผ้าจะอยู่ภายในห้องน้ำ บานประตูตู้เสื้อผ้าเป็นกระจกบานใหญ่ ในห้องน้ำแยกส่วนเปียกส่วนแห้งด้วยตู้กระจกครับ ห้องที่ผมพักน้ำฝักบัวไม่ค่อยแรงสักเท่าไร แต่ห้องของสมาชิกที่อยู่อีกคนละฝั่งน้ำกลับไหลแรงมากครับ


มีสระว่ายน้ำอยู่บนชั้นดาดฟ้า มองเห็นช่องแคบมะละกาด้วยครับ

ที่นี่จะมีอาหารเช้าไว้บริการด้วย เปิดให้บริการเวลา 06.00 น. ผมลงมาช้าแค่ 5 นาที ปรากฏว่าลูกค้าแน่นห้องอาหารเลย เลยไม่ได้เก็บภาพบรรยากาศในห้องอาหารมาให้ชมกันครับ

สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ของมะละกา ก็จะมีประมาณนี้ครับ เป็นหนึ่งเมืองในมาเลเซียที่ไม่ควรพลาดไปเที่ยวชมครับ

ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ


ความคิดเห็น