เที่ยวศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง และไปชมดอกซากุระที่โครงการหลวงดอยผาตั้ง



หากย้อนกลับไป เมื่อ 20-25 ปี ที่แล้ว ตอนที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ ที่ โรงเรียนประจำอำเภอ เวียงแก่น ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงราย การล้อ หรือ ด่าเพื่อนว่า เป็นคนที่มาจากบ้านห้วยแล้ง เป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก เพราะ บ้านห้วยแล้ง เป็นหมู่บ้านชาวม้ง ที่ห่างไกลความเจริญ อยู่บนเขา หัวโล้นแทบจะไม่มีต้นไม้หลงเหลืออยู่แล้ว ดังนั้นใครโดนเพื่อนล้อว่ามาจากบ้านห้วยแล้ง นี่คือความอับอาย และน่าน้อยใจที่สุด

แต่เมื่อ 5 ปีที่ผ่าน ตอนนั้นผมได้ตัดสินใจ เดินทางออกมาจาก เมืองหลวง เพื่อกลับมาใช้ชีวิต อยู่บ้านนอก บ้านเกิดผม เพื่อช่วยเหลืองานที่บ้าน ตอนผมกลับมา ก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร จนมรเพื่อน ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของอำเภอ บอกว่า ลองขึ้นไปดู โครงการหลวงห้วยแล้งสิ เผื่อว่าจะได้ไอเดียบางอย่างมาปรับปรุงใช้กับที่บ้านผมได้ ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า บ้านห้วยแล้งนั่นเหรอ จะมีอะไรให้ดู ผมจึงชวนเพื่อน ที่มาจาก กทม เพื่อมาเที่ยวบ้านผมขึ้นไปด้วยกัน

การออกเดินทางในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นหลังตะวันคล้อยบ่ายไปสักนิด เพราะ ตั้งใจไปนอนค้างคืนที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ทำให้ต้องเตรียมอุปกรณ์ไปหลายอย่าง ระหว่างทางช่วงที่ขับรถไปออกไปจากบ้านผม ก่อนจะถึงบ้านห้วยแล้ง ก็ยังเห็นชาวบ้านแถวนั้นกำลังเตรียมพื้นที่จะปลูกถั่วแระ เลยขอเวลาเก็บภาพบรรยากาศท้องทุ่งนาหลังการเก็บเกี่ยว

ทางขึ้นไปที่ศูนย์ฯ ไม่ลำบากมากนัก ถนนหนทางค่อนข้างดีลาดยางตลอดสาย เมื่อก่อนบ้านห้วยแล้งเป็นถนนลูงรัง ดินโคลน หน้าฝน รถไม่สามารถเข้าได้เลย แต่ปัจจุบัน รถเก๋งทั่วๆไป ก็ขับขึ้นได้อย่างสบายๆ แต่ก็มีความชันนิดหน่อย แล้วก็มีหลายโค้งที่หักศอกแล้วขึ้นเนินชันๆ หลายจุด

ในที่สุดก็มาถึง การจะมาพักที่นี่ ทำได้สองอย่าง คือ นอนที่บ้านพักรับรอง หรือ นอนเต้นท์ แต่แนะนำว่าต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของทางศูนย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยแล้ง ตำบลท่าข้าม เมื่อนึกถึงอดีตตอนที่ยังเป็นเด็ก หากพูดถึงบ้านห้วยแล้ง ภาพตามจินตนาการทำให้นึกถึงความห่างไกล ความแห้งแล้ง ทุรกันดาน ถนนลูกรัง และ ชาวเขาเผ่าม้ง แต่ปัจจุบันหลังจากที่มีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง เข้ามาทำให้ความเจริญตามเข้ามาด้วย มีแม้กระทั่งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เจ้าดังหลากหลายเจ้า ทำให้ไม่ลำบากในการติดต่อสื่อสาร โครงการหลวงบ้านห้วยแล้งเกิดขึ้นจากการ ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริ ให้จัดตั้งโครงการหลวงขึ้นมา เพื่อพัฒนา และ แนะแนวทาง การทำการเกษตร ที่สูง แก่ชาวเขา และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง เพื่อพัฒนาอาชีพให้ยั่งยืน

ปัจจุบันที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้งแห่งนี้จะมีการปลูกพืชไว้อย่างหลากหลายในรูปแบบของแปลงสาธิต ทั้งผลไม้ พืชผักสวนครัว และดอกไม้อีกมากมายหลายสายพันธุ์ เราไม่รอช้ารีบมุ่งหน้าไปที่แปลงปลูกองุ่นซึ่งเป็นองุ่นไร้เมล็ด พลางพูดคุยกับชาวบ้านที่ดูแลอยู่จนได้ความว่าองุ่นที่ปลูกอยู่นี้สามารถเก็บขายได้ปีละสามครั้ง และผู้ดูแลพืชต่างๆในศูนย์ฯแห่งนี้ เป็นชาวบ้านที่ทางศูนย์ได้ว่าจ้างให้ขึ้นมาดูแลเกือบทั้งหมด และปัจจุบัน ชาวบ้านได้ ทำการปลูกองุ่นไร้เมล็ดกันอย่างแพร่หลาย จนทางอำเภอสามารถยกขึ้นมาเป้นสินค้าประจำอำเภอ และ มีงานเทศกาลองุ่นเวียงแก่น ทุกปี ช่วงเดือน ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเอาผลิตภัณฑ์องุ่นต่างๆ มาวางขายให้แก่นักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาผ่านไป หลังจากเดินชมแปลงองุ่นแล้วก็ออกมาชมแปลงดอกไม้ที่ทางศูนย์ฯ ปลูกไว้มากมายหลายสายพันธุ์เรียกว่าเดินถ่ายภาพกันไม่เบื่อ เสร็จแล้วก็เดินลงไปดูแปลงสาธิตไร่สตรอว์เบอร์รี และแปลงผัดสวนครัวไร้ยาฆ่าแมลง ซึ่งมีทั้ง กะหล่ำปลี บล๊อกโคลี่ ผักสลัดม่วง คะน้า ต้นหอมญี่ปุ่น ซึ่งสามารถซื้อกลับบ้านได้ด้วย

เมื่อตะวันเริ่มคล้อยต่ำ เป็นเวลาเกือบ 5 โมงเย็น จึงได้เวลาไปเตรียมตัวกางเต้นท์ และเก็บฟืนมาก่อไฟต้อนรับความหนาว

ที่กำลังจะมาเยือนพร้อมกับความมืดมิดในค่ำคืนนี้



บนยอดดอยที่ไร้ผู้คน ทุกย่างรอบตัวดูเงียบสงบมากเราก่อไฟ ต้มน้ำ ล้อมวงนั่งทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและไส้กรอกที่เตรียมไป ท่ามกลางอุณหภูมิ ประมาณ 12 องศา นั่งคุยกันไปได้สักพัก ก็มีรถกะบะวิ่งขึ้นมาจอดใกล้ๆ กับที่ลานกางเต้นท์ และมีเจ้าหน้าที่เดินมาแนะนำและมาร่วมวงพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ให้พวกเราได้ฟังพร้อมแนะนำให้พวกเราอย่าลืมให้เงยหน้ามองดูทะเลดาว ก่อนที่รุ่งเช้าจะตื่นขึ้นมาดูทะเลหมอก



พวกเราตื่นขึ้นมาเวลาประมาณ ตี 5 กว่าๆ เนื่องจาก อากาศเย็นมาก ไม่สามารถนอนต่อได้ จึงออกไปรอพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นสมใจ แต่โชคไม่เข้าข้างวันนี้มีทะเลหมอกไม่หนานัก แต่ก็ไม่เป็นไรภาพบรรยากาศตอนนี้ก็พอทดแทนกันได้



พวกเราเริ่มกับเต้นท์และทำความสะอาดบริเวณกางเต้นท์ ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปชมวิวที่ผาตั้ง และ โครงการหลวงบ้านผาตั้ง ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้งที่นี่ไปอีก 20 กิโลเมตร

หลังจากลงมาจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้งแล้ว เรามุ่งหน้าไปดอยผาตั้งเพราะจะได้ไปเก็บบรรยากาศทะเลหมอก 360 องศา



แต่ปรากฏว่ามีสิ่งที่ทำให้พวกเราต้องจอดก่อนที่จะขึ้นไปถึงจุดชมวิว และใช้เวลาอยู่นาน กับสิ่งนั้นก็คือภาพที่สีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่งตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้าบนดอยผาตั้ง บริเวณทางเข้า โครงการหลวงบ้านผาตั้ง และ บริเวณ โรงเรียน บรรพตวิทยา

ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเห็นเพราะคิดว่ายังไม่บาน แต่เมื่อได้เห็นก็ประทับใจ เดินไปถ่ายรูปไป ใช้เวลาอยู่ที่นี่นานมาก ก็มุ่งสู่จุดชมวิวผาบ่องซึ่งบนยอดผาบ่องนี้มีพระพุทธรูปให้ไหว้ขอพรด้วย

ที่ดอยผาตั้งแห่งนี้นอกจากมีดอกนางพญาเสือโคร่งแล้ว ตอนนี้เริ่มมีการปลูกต้นเมเปิ้ลกันบ้างแล้ว แต่ยังต้นเล็กและใบยังไม่เป็นสีแดง แต่อีกหน่อยคงสวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกมากโขมา หากเดินทางมาถึงผาตั้ง ก็อย่าลืมมาดูทะเลหมอก ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของการมาเยือนที่นี่

โครงการหลวงบ้านผาตั้ง แยกออกมาจาก โครงการหลวงบ้านห้วยแล้ง เพื่อมาพัฒนา การปลูกพืชเกษตรที่สูง บนดอยผาตั้ง แต่ที่นี่ จะเน้นปลูกดอกไม้เมืองหนาว ผลไม้เมืองหนาว และเมล็ดกาแฟ มากกว่า แต่ องุ่นและผักเกษตรอินทรีย์ ก็มียังเหมือนกัน รวมถึงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำงาว แม่น้ำสำคัญของอำเภอเวียงแก่น เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปี

จากการที่มีโครงการหลวงเกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบัน บ้านห้วยแล้ง ไม่ได้แล้งแบบ 20 ปี ที่แล้ว ชาวบ้าน อยู่กันได้อย่างมีความสุข มีอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้จากการทำตามคำแนะนำของโครงการหลวง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว สำคัญของจังหวัดเชียงราย และ คำสอนของพ่อหลวง ผู้ที่ริเริ่มจัดตั้งโครงการหลวง จะคงอยู่ในใจของชาวบ้าน และประชาชนทุกคนตลอดไป จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป

...กราบแทบฝ่าพระบาท ขอร่วมน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคคาลัย...

ข้าพพระพุทธเจ้า นายชูเวช อินเทพ ผู้เขียน



สอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย TAT Call Center 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือ www.tourismthailand.org

แบกเป้เท่ทั่วโลก

 วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เวลา 16.27 น.

ความคิดเห็น