Day 2 ทดสอบความฟิตล่องแก่งภูเขาทอง

ติดตามการเดินทางตอนอื่น ๆ ได้ที่

"นราธิวาส" ยินดีที่ได้รู้จัก Day 1: สุดปลายด้ามขวานที่สุไหงโกลก

"นราธิวาส" ยินดีที่ได้รู้จัก Day 3: เที่ยวไปในบางนรา


ต้อนรับวันใหม่ด้วยการไปกินบะกุ๊ดเต๋ต้นตำรับกันที่ ร้านอ้วนบะกุ๊ดเต๋ ถ้าสั่งตามจำนวนคนที่ไปก็จะได้หม้อไฟขนาดใหญ่มา ใหญ่จนต้องร้องขอชีวิต กระดูกหมูแน่นมาก ตักเท่าไรก็ไม่ยอมหมด มีปาท่องโก๋จานใหญ่ไม่แพ้หม้อไฟมาอีกจาน แนะนำว่าเวลาไปสั่งแบบเอาจำนวนคนลบหนึ่งจะดีกว่า อิ่มกำลังดี


บรรยากาศเงียบ ๆ ของเมืองสุไหงโกลกยามเช้า


หลังจากเมื่อวานพลาดการเดินป่า พรุโต๊ะแดง วันนี้เราเลยจัดมาไว้เป็นโปรแกรมแรกเลย เพราะกลัวว่าถ้าไปล่องแก่งแล้วจะกลับมาไม่ทัน


ดินพรุเกิดจากการสะสมของซากอินทรียวัตถุ เช่น เศษใบไม้และไม้เป็นเวลานาน ทับถมกันเป็นชั้นหนา ปกป้องชั้นดินเดิม ซึ่งเป็นดินเลนทะเลมีสารประกอบกำมะถัน Pyrite ไว้ไม่ให้แพร่กระจายความเป็นกรดขึ้นสู่ชั้นดินด้านบนได้ ซึ่งดินอินทรีย์ที่ปิดหน้าดินเดิมนี้มีความหนาตั้งแต่ 0.5-5.0 เมตร


พืชในป่าพรุมีมากกว่า 470 ชนิด มีทั้งพืชที่ใช้ทำอาหารได้ (สาคู ผักกูด กระพ้อแดง) พืชสมุนไพร (ครี้ กรูเราะเปรี๊ยะ) พืชเศรษฐกิจ (ตังหน สะเตียว ช้างไห้ หมากแดง)

ในรูปด้านล่างนี้คือ หมากแดง


เห็นสีเขียว ๆ ต้นไม้เยอะ ๆ แบบนี้ เราคาดหวังว่าอากาศจะเย็นสบาย แต่ที่ไหนได้ ร้อนชื้นมาก


อันนี้หอคอยที่พี่ซันบอกว่าเคยมารับจ้างสร้างเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ตอนนี้ไม่เปิดให้ขึ้นแล้ว


สัตว์ต่าง ๆ ในที่นี้ที่เจอก็มีมดตัวใหญ่ งู ลิง ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าจะยังสามารถเจอลิงได้ในตามธรรมชาติอยู่อีก แต่มันจะเกาะอยู่บนต้นไม้สู๊ง สูง ถ่ายมาไม่เห็น


เดินเพลิน ๆ ใช้เวลาราวชั่วโมงนึงก็จะวนกลับมาทางออกที่จุดเดิม


นั่งรถไปต่อกันที่ อ.สุคิริน ผ่านรั้วลวดหนาม บังเกอร์ และด่านตรวจไปเรื่อย ๆ


แวะที่ พระตำหนักสุคิริน ซึ่งเป็นเรือนรับรองที่สมเด็จย่าได้เคยเสด็จมาประทับ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ. นราธิวาส



บรรยากาศก็เงียบ ๆ ไม่มีอะไร แต่ก็ยังมีทหารเฝ้ารักษาการณ์อย่างเข้มงวด


มี ย่านดาโอ๊ะ หรือ ใบไม้สีทอง ด้วย


ขับรถต่อไปกันอีกที่ ต.ภูเขาทอง ระหว่างทางด้านข้างทางจะมีป่าเฟิร์นเต็มไปหมด แสดงว่ามีความชุ่มชื้นมากจริง ๆ

แล้วเราก็มาถึง ฟาร์มไอร์ปาโจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการ ล่องแก่งภูเขาทอง ของพวกเรา


การล่องแก่งของที่นี่จะใช้ระยะเวลาถึง 2 ชั่วโมง ระยะทาง 7 กิโลเมตร พายเองตลอดทางนะคะ ดังนั้นแนะนำว่าควรกินข้าวให้เต็มอิ่มก่อนลงล่องแก่ง ราคาค่าล่องแก่งก็แสนถูกเพียง 200 บาทต่อคน แล้วจะมีคูปองคืนมาให้คนละ 50 บาทเพื่อเอาไว้ใช้ซื้ออาหารที่ร้านบริเวณนี้ได้


บรรยากาศดีมาก เสียดายอากาศออกจะอบอ้าวไปเสียหน่อย จนเห็นน้ำแล้วอยากจะกระโดดลงไปเสียจริง


เปลี่ยนเสื้อ นั่งรถต่อไปลงยังจุดเริ่มต้นในการล่องแก่ง


ที่นี่เค้าให้คนที่นั่งหลังพายคนเดียวนะคะ เพราะจะได้ไม่ไปขัดกับคนข้างหน้า บางช่วงก็จะเป็นแบบน้ำนิ่ง ๆ แบบในรูป พายกันเหนื่อยเลย แต่ช่วงที่เป็นแก่งน้ำไหล แก่งน้ำตก ก็จะสนุกดี ต้องคอยคัดไม่ให้เรือเราไปชนกับฝั่ง หรือไปติดแก่ง ติดต้นไม้ ครั้งที่ตื่นเต้นที่สุดก็คงเป็นครั้งที่พายไปชนฝั่งซึ่งมีตัวเงินตัวทองแลบลิ้นแปล่บ ๆ รออยู่บนฝั่ง แอบเสียวว่ามันจะกระโดดลงมาในเรือเรา รีบดันเรือหนีออกมาแทบไม่ทัน

มีอยู่ครั้งนึงที่นอนหลบต้นไม้ ยิ้มดีใจคิดว่าต้นไม้หนา ๆ ทำไมเราผ่านมาได้ง่ายจัง หันไปอีกที อ้าว...บัดดี้เราหล่นหายไปพร้อมกับเรือและไม้พาย ตกใจหมดเลย


ถ้าน้ำหนักเยอะ นั่งกันสองคนก็จะติดแก่งเยอะหน่อย เพราะช่วงนี้น้ำน้อย พายคนเดียวสบายที่สุด เวลาจะติดแก่งก็ให้นอนลงพาย ก็จะหลุดออกมาได้สบาย ๆ


ถ้าหมดแรงแขนก็แวะชมคนที่มาร่อนทองอยู่ระหว่างทาง



กว่าจะจบ 7 กิโลเมตรนี่ไม่ใช่ง่าย ๆ เลยนะ ขนาดมีคนช่วยพายบ้าง แต่ก็ชอบ เปียกชุ่ม สนุกสนาน เฮฮาดี แนะนำให้กินข้าวให้อิ่มก่อนลงล่องแก่งนะคะ ขึ้นมาหิวอีกรอบเลย


กว่าเราจะออกจากภูเขาทองก็ราว 4 โมงเย็นได้ ขับรถมาถึงสุไหงโกลก เจอร้านทุเรียน ทุกคนพร้อมใจกันบอกให้จอดแวะ ขอซื้อทุเรียนมากินเล่น ๆ สัก 4-5 โล มังคุดอีก 3 โล ให้ที่ร้านกางโต๊ะ แกะกินกันตรงนั้นเลยจ้า จริงจังกันมาก เพื่อไม่ให้เกรงใจพี่ซันจนเกินไป กวักมือเรียกพี่ซันมากินด้วยกันอีกคน


เริ่มมืดแล้วแต่เรายังขับไปไม่ถึงตัวเมือง แต่พวกเราอยากจะลองแวะกินที่ ร้านนัดพบยูงทอง ซึ่งอยู่ตรงสามแยกตากใบ-สุไหงโกลก จึงถามที่ซันว่าถ้าเราแวะกินแล้วค่อยกลับไปในเมืองจะปลอดภัยไหม เมื่อได้รับคำยืนยันว่าปลอดภัยเราเลยแวะกัน ตอนที่เราไปไม่มีลูกค้าในร้านเลย เงียบมาก จนเราสงสัยว่านี่คือร้านมีชื่อจริงหรอ


เข้ามาในร้านเห็นรูปถ่ายของบุคคลสำคัญ และดาราหลายคนที่เคยได้มาที่ร้านแห่งนี้


รวมทั้งสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งทางร้านเก็บทั้งชุดอาหาร และเก้าอี้พระที่นั่งไว้เป็นที่ระลึกจนทุกวันนี้


เมนูของทางร้านจะเป็นอาหารใต้รสเด็ด อร่อยมากทุกอย่าง โดยเฉพาะ น้ำพริกบูดู จิ้มกับผักสด ๆ ที่หน้าตาไม่คุ้นเคยอย่างผักเปาะ และสะตอเผา


ปิดท้ายค่ำคืนนี้ด้วยมื้อบังคับ มาภาคใต้ทั้งทีต้องไม่พลาดร้านน้ำชาค่ะ เราแวะ ร้านแอโรตี เพราะเห็นว่าเป็นร้านเดียวที่ยังเปิดอยู่
เพื่อน ๆ โบกมือลา เบือนหน้าหนีกันทุกคน เหลือให้เราลิ้มลองโรตี ชาร้อนอยู่เพียงผู้เดียว


บรรยากาศอันแสนคึกคักหน้าร้านน้ำชา ตอนนั้นในใจเรากินไปก็กลัวไปเหมือนกันนะ กลัวเจอแบบในข่าว


ชาร้อน ที่สั่งว่าหวานน้อย แต่หว๊าน หวาน ได้แคลอรี่ไปถึงอาทิตย์หน้า



โรตีกล้วย อิ่มแล้วก็ยังฟินได้อี๊กกกก



แวะชม หอนาฬิกาเปลี่ยนสี ช่วงรอเพื่อนไปซื้อยา

ระหว่างขับผ่านจุดเกิดเหตุตรงไหน พี่ซันก็จะเล่าว่าเคยเกิดเหตุเมื่อไร ปัจจุบันยังมีคนกลับมาอาศัยอยู่ไหม หลายจุดอยู่นะ เฮือกกกกก



สำหรับที่พักของเราในคืนนี้คือ โรงแรมภัคสินาโฮม ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในตัวเมืองย่านตลาด แต่ด้านหน้าทางเข้ามีคาราโอเกะ และ 7-11 คึกคักมาก

ภายนอกห้องพักตอนกลางคืนเปิดไฟแค่ดวงน้อย ๆ ริบหรี่ มองแทบไม่เห็นทาง

ภายในห้องพักไม่กว้างมาก มีจุดที่ไม่ชอบคือไฟในห้องไม่ค่อยสว่าง สีส้ม ๆ กลางคืนห้องเราอยู่ใกล้เครื่องปั๊มน้ำ ทำให้ได้ยินเสียงเสียงปั๊มน้ำทั้งคืน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา



ปัญหาคือแอร์หนาวมาก และผ้าก็ไม่อุ่น แต่คุณเพื่อนบอกว่าเธอเย็นกำลังดีนอนสบาย กำลังดีอะไรตั้งอุณหภูมิไว้ 18 องศา หรือปกติคุณเพื่อนเธอนอนในช่องแช่ผักทุกวันก็ไม่รู้ มันหนาวจนทำให้เรานอนไม่หลับตั้งแต่ตีสาม แล้วตาสว่างยันรุ่งเช้า

ส่วนห้องของเพื่อนอีกคู่ บอกว่าห้องอยู่ใกล้ครัวร้านคาราโอเกะพอดี ได้ยินเสียงเค้าทำครัวทั้งคืน มีทำกะทะตกแล้วร้องกรี๊ดด้วย



ห้องนำ้ค่อนข้างแคบ และน้ำไหลไม่แรง เราเลยต้องดองหัวเน่า ๆ ไว้กลับไปสระที่กรุงเทพ

แต่อย่างไรก็ดีราคาห้องก็ถูกกว่าห้องเมื่อคืนก่อนเกือบครึ่งค่ะ อย่าคิดมาก



บรรยากาศภายนอกห้องพักยามเช้า



มีภาพวาดฝาผนังน่ารักด้วย พนักงานก็บริการดี ยิ้มแย้มแจ่มใสน่ารักค่ะ



พบกันอีกครั้งในตอนต่อไป ตอนสุดท้ายแล้วนะคะที่เราจะเที่ยวกันในนราธิวาส

ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ

หากเพื่อน ๆ มีคำถาม หรือข้อแนะนำ เข้าไปเจอกันได้ที่เพจ GoNeverStop นะคะ

ความคิดเห็น