ไปชิล ไปชิม Fanpage

อ้วนเป็นหมี Fanpage


สังขละบุรี ในหน้าฝน ครั้งนี้เป็นการเดินทางไปที่นี่เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกไปเมื่อเดือน เม.ย. 2017 และครั้งที่2นี้ ไปเมื่อต้นเดือน ก.ย.2017

ครั้งนี้ไปกัน 4 คน เริ่มออกเดินทางจากกทม. ตั้งแต่ 6โมงเช้า ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 400 กม. ถึงที่พักเที่ยงกว่าๆ

เราพักที่ "บ้าน Cat & Oil" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งหมูบ้านมอญ เลือกเป็นห้องใหญ่ 1 ห้อง พักได้ 4 คน ราคา 2,500.- (พร้อมอาหารเช้า) แต่เมื่อไปถึงที่พักแล้วทางเจ้าของแจ้งว่าคนทำอาหารไม่อยู่ ทำให้ไม่มีอาหารเช้าจึงคืนเงินให้ 500.- สรุปคือได้ที่พักในราคา 2,000.- เท่านั้น

"บ้าน Cat & Oil" ติดกับแม่น้ำ และใกล้กับสะพานไม้ สะดวกสำหรับเดินเที่ยวในหมูบ้านมอญ หรือเดินไปสะพานไม้ อ้อ..ที่สำคัญ มีที่จอดรถด้วยค่ะ จอดได้ประมาณ 6-7 คัน

บ้าน Cat & Oil

หลังจากเก็บของเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว เดินออกมาหาข้าวเที่ยงทาน มื้อนี้เราฝากท้องกันที่ "ครัวบางบอน อาหารตามสั่ง" สั่งผัดฉ่าปลาคัง และพริกเผาหมูกรอบ หน้าตาน่าทาน รสชาติดี ราคาไม่แพง ระหว่างที่นั่งทานข้าวฝนตกลงมาอย่างหนัก หลังจากทานเสร็จก็ตกลงกันว่าเราจะไปนั่งเรือเที่ยวกันต่อ

ข้าวราดผัดฉ่าปลาคัง ไข่ดาว


ข้าวราดพริกเผาหมูกรอบ ไข่ดาว

"เที่ยวเมืองบาดาล" ราคาค่าเช่าเรือ เที่ยว 3 วัด 1-6คน ราคาอยู่ที่ 500.-/ลำ และระหว่างที่ต่อราคาเรืออยู่ฝนก็เริ่มเทลงมาอีกครั้ง สรุปต่อราคาได้ 400.- ไปกันทั้งเปียกๆ ฝนตกๆนี่แหล่ะ วันนี้เราโชคดีที่ได้เรือลำใหญ่ ซึ่งนั่งได้ถึง 15 คนเลยทีเดียว ลำใหญ่นี่ปกติราคาจะอยู่ที่ 800.-/ลำนะ


วัดแรก วัดศรีสุวรรณ ไปครั้งนี้ไม่ได้เห็นแม้แต่กำแพงโบสถ์ เพราะน้ำท่วมมิด มีเพียงธงที่ปักเอาไว้แสดงหมุดเท่านั้น ทำได้แค่ยกมือพนมไหว้แล้วเดินทางต่อ


วัดที่ 2 วัดสมเด็จเก่า สำหรับวัดนี้สามารถเดินขึ้นไปได้ ต้องขึ้นบันไดไปถึง 65 ขั้น และได้ไกด์ตัวน้อย 2 คนช่วยอธิบายประวัติความเป็นมาให้เราฟัง ทางเข้าโบสถ์อยู่ทางด้านใน บริเวณโดยรอบจะเห็นมีการนำหินมาเรียงต่อกันเป็นชั้นๆ ไกด์ตัวน้อยได้อธิบายให้ฟังว่า จำนวนหินที่เรียงก็จะมีความหมายแตกต่างกันไป


โฉมหน้าไกด์ตัวน้อย ที่อายุเพียง8ขวบแต่สามารถอธิบายประวัติความเป็นมาได้อย่างฉะฉาน


วัดที่ 3 วัดวังก์วิเวการามเดิม สำหรับในช่วงหน้าฝนนี้ก็ทำได้เพียงแค่ถ่ายรูปอยู่บนเรือ เพราะน้ำจะท่วมโบสถ์เห็นเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนหอระฆังก็เห็นได้เพียงส่วนยอด

กลับจากนั่งเรือเที่ยวชมเมืองบาดาลแล้ว กลับเข้าที่พักไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเพราะเปียกฝนระหว่างนั่งเรือ

ประมาณ 6 โมงเย็น เราขับรถกลับไปฝั่งไทย (ที่นี่เขาเรียกกันว่า ฝั่งไทย กับฝั่งมอญ) เข้าไปที่ตลาดกะว่าจะไปเดินเล่นที่ถนนคนเดิน แต่ผิดคาด ไม่มีถนนคนเดิน สอบถามจากแม่ค้าแถวนั้น เขาบอกว่าถนนคนเดินจะมีตั้งขายอีกทีในช่วงเดือนต.ค. ด้วยความผิดหวังจึงเดินหาขนม และมื้อเย็นกันที่ตลาดแล้วกลับที่พัก

"ตลาดเย็นสังขละ" ถ้ามาเที่ยวสังขละฯเมนูที่พลาดไม่ได้เลยคือ หมูจุ่ม ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของที่นี่ถ้ามาแล้วไม่ได้ลองทานเหมือนมาไม่ถึง มีหูหมู ไส้ ลิ้น ตับ เนื้อ และส่วนต่างๆที่นำไปต้ม และนำมาหั่นเสียบไม้ ขายอยู่ที่ไม้ละ 1.- การทานก็จะมีน้ำจิ้มให้ 2 แบบ

แบบแรก เป็นน้ำจิ้มสีแดงๆรสชาติหวานๆเปรี้ยวๆ แบบที่ 2 เป็นน้ำจิ้มซีฟู้ด และมีถ้วยมาให้ 1 ใบสำหรับตักน้ำซุปมาซดร้อนๆ ถ้าชอบเผ็ดก็มีพริกขี้หนูไว้ให้แนมเพื่อเพิ่มรสชาติด้วย



ขนมทองโย๊ะ ขนมกะเหรี่ยงที่ไม่ได้หาทานได้ง่ายๆ ทำจากแป้งนำไปผสมกับงาคั่วป่น จากนั้นกดเป็นแผ่นกลมแล้วนึ่งให้สุก หั่นเป็นชิ้น แล้วทอดให้กรอบ ทานร้อนๆกับนมข้นอร่อยมาก

เดินต่อมาอีกหน่อยเจอ บาบีคิว ที่ส่งกลิ่นหอมชวนน่ารับประทาน จัดมา 4 ไม้ หมู 2 ไก่ 2 ราคาไม้ละ 15.-

ตัวน้ำซอสที่ใช้ทาตอนปิ้งรสชาติดี ถ้ามาที่นี่ก็เป็นอีกเมนูที่ไม่ควรพลาด



เดินเข้ามาในซอยกลางเจอ บัวลอยไข่เค็ม ที่กำลังเดือดปุดๆ สั่งมาลองชิมอย่างละถ้วย บัวลอยไข่เค็ม หวานกำลังดี แป้งบัวลอยสุกพอดีหนึบๆ ไม่หวานมาก ตัดด้วยความมันของไข่แดงเค็ม ซดร้อนๆในช่วงอากาศเริ่มเย็น และฝนกำลังตกปรอยๆ ส่วนบัวลอยไข่หวาน ไข่แดงสุกแบบตานี เข้ากันดีกับน้ำกะทิหวานมัน

บัวลอยไข่เค็ม

บัวลอยไข่หวาน


เช้าวันที่ 2 ...

วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในยามเช้าตรู่ บ้านพักแต่ละที่จะจัดแจงตั้งโต๊ะ นำชุดใส่บาตร "ใส่บาตรมอญในตอนเช้า" มาวางไว้ให้นักท่องเที่ยวได้จับจองซื้อหาใส่บาตร ส่วนใหญ่ก็ราคาชุดละ 99.- มีข้าวน้ำ อาหารแห้ง ขนม ดอกไม้สด และให้ยืมชุดมอญใส่ได้ฟรีๆ



หลังจากใส่บาตรเรียบร้อยแล้วก็ไปทานอาหารเช้ากันที่ ร้านโจ๊กนั่งยอง

เมนูที่ทุกโต๊ะต้องสั่งคือ โจ๊กหมูใส่ไข่ ปาท่องโก๋ราดนมข้น และแกงฮังเลโรตี สำหรับร้านนี้จะมีหมี่กรอบให้ตักเติมลงทานคู่กับโจ๊กได้แบบไม่อั้น วางไว้ทุกโต๊ะเป็นหม้อใหญ่ๆแบบไม่หวง


หลังจากอิ่มมื้อเช้าแล้ว เดินช็อปปิ้งกันต่อเพื่อซื้อของฝาก ของฝากที่นี่ก็มีทั้ง ทานาคาแบบต่างๆ ข้าวหอมพม่า ปลาหัวยุ่งแห้ง ปลาใบอ้อยแห้ง ผ้าถุง เข็มขัดเงิน เครื่องเงินต่างๆ หิน-หยก ชาพม่า รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่างๆของพม่าด้วย

ร้านขายของ

เครื่องเงิน

เครื่องประดับหิน-หยก

ปลาหัวยุ่งแห้ง


เดินมาเกือบๆถึงสะพานไม้ เจอร้านขนมแปลกๆ เรียกว่าขนมอะไรก็ไม่ทราบ ลักษณะคล้ายขนมครก แต่ก็มีส่วนผสมของมะพร้าวขูด โรยด้วยงาดำ ส่วนขนมอีกอย่างที่วางข้างๆกันจะคล้ายกับขนมถังแตกของบ้านเรา

ขนมพม่า

หลังจากเดินช็อปปิ้งจนพอใจแล้ว ก็ขึ้นไปถ่ายรูปบนสะพานไม้ "สะพานอุตตมานุสรณ์" มีเด็กๆชาวมอญมาคอยให้ปะแป้งทานาคา ราคาก็แล้วแต่จะให้ 5บาท 10บาท ก็แล้วแต่


เด็กๆชาวมอญ

เดินมาถึงกลางสะพาน มาเจอคุณป้านั่งขาย ซาโมซ่า เห็นมีน้ำจิ้มแปลกๆสีแดงๆซึ่งไม่เหมือนกับของบ้านเรา จึงซื้อมาลองชิม ถุงละ 20 บาทมี 5 ชิ้น คุณป้าพูดไทยไม่ได้เลย คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง ชูนิ้วได้อย่างเดียวเพื่อจะสื่อว่าถุงละ 20.- แป้งข้างนอกกรอบๆ ข้างในเป็นไส้มันผัดกับเครื่องเทศหอมๆ จิ้มกับน้ำจิ้มสีแดงรสชาติหวานๆเปรี้ยวๆก็อร่อยแปลกๆ แบบที่ไม่เคยทาน


เดินมาถึงฝั่งไทยมาแวะซื้อโปสกาสที่ร้าน AREE Coffee ใบละ 20.- เป็นที่ระลึก


11โมง ได้เวลาออกเดินทางต่อ แต่ก่อนจะกลับเราแวะไปทานมื้อเที่ยงที่ "แพมิตรสัมพันธ์"

เลือกสั่งเมนูแนะนำมาลอง ทั้งหมด 4 อย่าง และข้าว 1 โถ ซึ่งทั้ง 4 อย่างเป็นเมนูเด็ดที่ถ้ามาร้านนี้ต้องไม่พลาดสั่งมาลอง

น้ำพริกปลาย่าง

ปลาซิวแดดเดียว

ทอดมันปลากราย

ต้มยำปลาคัง

ทอดมันปลากราย ที่ใช้ปลากรายแท้ๆ ใส่ถั่วผักยาวน้อยๆ ปรุงรสชาติพอดี ทอดร้อนๆกับกะเพรากรอบ เนื้อเด้งหนุบหนับ ทานคู่กับน้ำจิ้มแตงกวาสด

ปลาซิวแดดเดียว ปลาซิวตัดหัวผ่าแบะ ตากแดด ทอดกรอบๆกับใบมะกรูด รสชาติเค็มแบบจางๆ

น้ำพริกปลาย่าง (เมนูนี้ชอบมาก) รสชาติกลมกล่อม เผ็ดพอดี ตำมาพอแหลก ทานคู่กับผักต้ม และแตงกวาสด

ต้มยำปลาคัง ปลาคังสดๆ ในน้ำต้มยำเผ็ดร้อน ใส่เห็ดออรินจิหั่นพอดีคำ ขอบอกว่าเด็ด

สำหรับมื้อนี้ ค่าเสียหาย 620.- ไม่แพงเลยค่ะ ถ้าเทียบกับรสชาติ และปริมาณอาหาร 4 คนที่ทานเหลือๆ


หลังจากทานมื้อเที่ยงเรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางสู่ "บ้านอีต่อง ปิล็อก"
Review : บ้านอีต่อง ปิล๊อก ในหน้าฝน

OPW's Story

 วันพฤหัสที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 เวลา 12.17 น.

ความคิดเห็น