พม่าเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนาน เป็นประเทศที่มีความรุ่งเรืองทางด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พุทธศาสนิกชนที่นี่จึงเปี่ยมล้นไปด้วยพลังศรัทธาที่สืบต่อกันมา แต่ปัจจุบันพม่าเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้ความเจริญต่าง ๆ เข้ามามากมาย มุมมองเก่า ๆ ของพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเยอะ พาหนะในการสัญจร ที่มีตั้งแต่วัวเทียมเกวียน รถม้า เดี๋ยวนี้เริ่มมีรถยนต์หรู ๆ รถบัสคันใหญ่ ๆ เข้ามาวิ่งขวักไขว่แทนที่ ถ้าคุณยังอยากเห็นวัฒนธรรมดี ๆ ที่พอหลงเหลืออยู่บ้าง ให้รีบเยือนพม่าซะก่อน ก่อนที่ความเจริญแบบทุนนิยมจะเข้ามาแทนที่ นี่คือเหตุผลหลักที่ผมอยากจะมาสัมผัสความเป็น “พม่า" ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป

สำหรับทริปพม่าทริปนี้ผมวางแผนจะเดินทางมาหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากติดขัดเรื่องตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กทม.-ย่างกุ้ง-กทม.สูงเฉียดหลักหมื่น อีกทั้งสมาชิกในทริปต่างว่างไม่ตรงกัน แผนทริปพม่าก็เป็นอันต้องพับลงทุกที จนเมื่อราว ๆ ต้นปี 2555 แอร์เอเซียออกโปรโมชั่น กทม.-ย่างกุ้ง-กทม. มา ในราคาประมาณ 3,000 บาท ผมเลยให้น้องในทริปพยายามจองตั๋ว แต่ก็ไม่สามารถจองตั๋วได้ จนหมดช่วงโปรฯ ไปแล้ว ผมเลยเข้าไปเช็คราคาตั๋วอีกรอบ ราคาตั๋วตอนหมดโปรโมชั่นอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาท ก็เลยตัดสินใจว่า คงไม่รอราคาให้ลดลงกว่านี้แล้ว เพราะเกรงว่า ยิ่งรอราคาจะยิ่งถีบตัวสูงขึ้นไปอีก ก็เลยรีบจับจองตั๋วไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางร่วม 10 เดือน เรียกได้ว่าจองแล้วลืมกันไปเลยครับว่ามีทริปพม่ารออยู่ช่วงปลายปี

จนเมื่อใกล้ถึงเวลาออกทริป กี้ซึ่งเป็น Staff ของทริปนี้ ทำการติดต่อกับ Land ของพม่าไว้อย่างเรียบร้อย ทำให้ทริปนี้ผมไม่ต้องคอยกังวลมากมายเหมือนกับทริปอียิปต์ครับ

แล้ววันเดินทางก็มาถึง เรานัดเจอกันที่สนามบินดอนเมืองเวลา 05.30 น. ทริปนี้มีสมาชิกทั้งหมด 7 คน คือ ผม กี้ หมอเจ หมอโชค ขาว และสมาชิกหน้าใหม่สำหรับผมคือ พี่แต๋น และหมอสายชล แต่ละคนมาจากแต่ละส่วนของประเทศไทยเลยครับ หลังจากทำการ Check in โหลดกระเป๋าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ไปนั่งรอที่ Gate เพื่อรอการเดินทางครับ ไฟล์ทของเราออกเดินทางกันเวลา 07.15 น. ถึงพม่าเวลา 07.55 น. ดูจากเวลาแล้วไม่ต้องตกใจว่าเครื่องบินบินเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 35 นาทีนะครับ อันที่จริงเวลาของพม่าช้ากว่าเวลาในประเทศไทยครึ่งชั่วโมงครับ ใช้เวลาบินจริง ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที

เมื่อมาถึงสนามบินย่างกุ้งเป็นที่เรียบร้อย ผ่านกรรมวิธีตรวจคนเข้าเมืองเสร็จ ผมก็เลยทำการแลกเงินที่สนามบินให้เป็นที่เรียบร้อย ก่อนเดินทางกี้เช็คข้อมูลว่า การแลกเงินในพม่า หากแลกเงินที่สนามบินจะได้เรทดีกว่าที่ตลาดมืด ช่วงที่ผมไป 1USD แลกได้ 846 จ๊าด การแลกเงินดอลลา เพื่อนำมาแลกเงินพม่านั้น ขอแนะนำว่า ให้แลกเงินดอลลา ที่เป็นแบงค์ใหม่เท่านั้น หากเป็นแบงค์เก่าจะมีปัญหาตอนมาแลกเงินจ๊าดที่พม่า เขาอาจไม่รับแลกครับ กลิ่นแบงค์พม่าแรงมาก ๆ ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะหมึกพิมพ์หรือกระดาษที่ใช้พิมพ์ อีกอย่างการใช้เงินในพม่า ถึงเป็นเงินจ๊าดก็ตาม เวลาที่เราจ่ายไป พ่อค้าแม่ค้าจะทำการเช็คเงินอย่างละเอียด ไม่ให้มีรอยขาด ดังนั้น เวลาที่เรารับเงินทอนมาจากพ่อค้าแม่ค้า ถ้าไม่ลำบากเกินไปก็ลองดูด้วยว่า แบงค์ที่ได้รับทอนมานั้นมันมีรอยขาดหรือไม่ เพราะถ้ารับมา อาจมีปัญหาตอนที่เราจะใช้แบงค์นั้นซื้อของในร้านต่อ ๆ ไปครับ

หลังจากที่ออกจากสนามบินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ของบริษัท Land ที่กี้ติดต่อไว้ก็มารอรับพวกเราครับ เขามอบเสื้อผ้าฝ้ายให้พวกเราไว้เป็นที่ระลึกด้วย รถที่มารับเป็นรถเก๋ง 2 คัน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่สะดวกในการเดินทาง ผมคิดว่าคงไม่มีการประสานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของบริษัทกับคนขับรถ เรื่องจำนวนของสมาชิกในทริปที่มี 7 คน กับรถเก๋ง 2 คัน เจ้าหน้าที่บริษัทจึงตัดสินใจโทรประสานกับบริษัทเพื่อนำรถตู้ให้มารับเราใหม่ ระหว่างรอรถมาสลับกัน ก็ให้เราไปนั่งรอที่ร้านอาหาร ชานเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นร้านคล้าย ๆ ร้านติ่มซำบ้านเราครับ

อาหารก็คล้าย ๆ บ้านเรา มีเหมือนไก่ทอดที่คาดว่าคงทอดไว้นานแล้ว เพราะผมลองกัดไปนิดหน่อย รู้สึกถึงความเย็นชืดของไก่ นอกจากนี้ยังมีบ๊ะจ่าง, ขนมที่คล้าย ๆ กับกะหรี่ปั๊บบ้านเรา ยัดไส้ผัก,หมั่นโถวที่ทานคู่กับกระดูกหมูตุ๋น อีกเมนูหนึ่งลักษณะคล้ายขนมจีบ มีพุดดิ้งเป็นของหวาน แต่ถ้าอาหารบนโต๊ะไม่ถูกปาก สามารถสั่งอาหารเสริมมาได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวราดแกง หรือก๋วยเตี๋ยวพม่าครับ เมื่อรถตู้มาถึง เราก็เริ่มออกเดินทาง มุ่งหน้าสู่เมืองหงสาวดีครับ

เมืองหงสาวดี หรือที่คนมอญเรียกว่า เมืองพะโค นั้น ในอดีตเป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองมอญโบราณที่ยิ่งใหญ่และ อายุมากกว่า 400 ปี หงสาวดีอยู่ห่างจากย่างกุ้งประมาณ 80 กิโลเมตร ถนนในช่วงแรก ๆ เป็นถนน 4 ช่องจราจร ลาดยางกันเป็นอย่างดี เรียกได้ว่า วิ่งได้เนี๊ยบดีทีเดียว ทำให้สมาชิกหลาย ๆ คนได้มีโอกาสพักสายตา หลังจากที่เมื่อเช้าต้องตื่นกันแต่เช้ามืดเพื่อเตรียมออกเดินทาง แต่เมื่อรถแล่นออกนอกเขตตัวเมืองไปได้สักพัก ถนนก็จะกลายเป็น 2 ช่องจราจร สภาพถนนเป็นลูกคลื่น ทำให้สมาชิกในทริปต่างหัวสั่นหัวคลอนไปตาม ๆ กัน อีกทั้งยังต้องช่วยกันลุ้นระทึกกันไปตลอดทาง เนื่องจากว่า การขับรถในพม่า ให้ขับชิดขวา แต่รถที่ผมนั่งมานั้น พวงมาลัยอยู่ทางขวาด้วยเช่นกัน เวลาจะแซงทีก็ลำบากยากเย็นซะเหลือเกิน รถที่ใช้ในพม่ามีทั้งรถที่มีพวงมาลัยซ้ายและขวา อยู่เต็มไปหมดครับ แต่รถรุ่นใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพวงมาลัยซ้ายกันหมดแล้ว

จุดหมายแรกที่คนขับรถพาเรามาเที่ยวคือ วัดไจ้คะวาย วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีพระภิกษุและสามเณรไปศึกษาพระไตรปิฏกจำนวนมากกว่า 1,000 รูปครับ อ้อ ผมลืมบอกไป การเข้าวัดในพม่าทุกแห่ง เราจะต้องถอดรองเท้า ถุงเท้าก่อนเข้าวัดด้วยนะครับ ถ้าจะให้ดีและประหยัดเงินค่าฝากรองเท้า ก็ถอดไว้ในรถที่เรานั่งมาเลยครับ

ผมมาที่วัดแห่งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกที่มา มาถึงเร็วกว่าเวลาที่พระฉันท์เพล สำหรับครั้งนี้ผมมาถึงช้ากว่าเวลาที่พระฉันท์ สรุปก็คืออดเห็นเวลาที่พระลงมาฉันท์เลยครับ

คงเห็นมีบางสำรับตั้งไว้ แต่รู้สึกว่าเป็นสำรับสำหรับอาหารว่างครับ

หลังจากผิดหวังกันไปแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่วัดที่สอง คือ พระเจดีย์ชเวมอดอร์ (Shwe Maw Daw) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ พระธาตุมุเตา พระมหาธาตุเก่าแก่อายุกว่า 1,200 ปี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของประเทศพม่าครับ

ปัจจุบันการเที่ยวในเมืองหงสาวดี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องเสียค่าเข้าชมแบบเหมาจ่าย 10 USD สามารถเข้าชมได้ทุกแห่งในหงสาวดีนะครับ และแต่ละวัดจะเก็บค่าถ่ายรูปเพิ่มเติมอีกต่างหาก ราคาอยู่ที่ 300 และ 500 จ๊าด แล้วแต่สถานที่ครับ สำหรับวัดนี้เสีย 300 จ๊าดครับ ที่ด้านหน้าของพระเจดีย์ชเวมอดอร์ จะมองเห็นสิงห์คู่ขนาบบันไดทางขึ้นด้านฝั่งทิศตะวันตก

ภายในปากของสิงห์ทั้งสองตัว ถ้ามองดี ๆ จะเห็นพระอุปคุตอยู่ข้างในด้วยครับ

พระธาตุมุเตา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหงสาวดี เรียกได้ว่าเจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของชาวหงสาวดีมาโดยตลอด ภายในพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ชาวมอญที่นี่จึงถือว่าพระธาตุแห่งนี้มีความสำคัญกว่าเจดีย์ชเวดากองเสียอีกครับ เอกลักษณ์ของวัดนี้คือปลียอดเจดีย์ที่หักตกลงมาตั้งแต่ 5 พ.ค. 2473 ด้วยน้ำหนักที่มหาศาลตกลงมายังพื้นล่าง แต่ยอดฉัตรกลับยังคงสภาพเดิมและไม่แตกกระจายออกไป พระเจดีย์นี้สูง 377 ฟุต ซึ่งสูงกว่าพระเจดีย์ชเวดากอง 51 ฟุต การก่อสร้างพระธาตุมุเตาทำเช่นเดียวกับพระเจดีย์ชเวดากอง คือจะใช้ทองคำแท้ตีเป็นแผ่น ๆ ปิดองค์เจดีย์ไว้โดยรอบเช่นกัน คำว่า “มุเตา" แปลว่า จมูกร้อน ด้วยความสูงใหญ่ของเจดีย์ เวลาที่เราจะมองเจดีย์ เราจะต้องแหงนหน้าขึ้น แล้วแดดก็จะเผาจมูกเราจนร้อน

เดิมทีเดียวเมื่อแรกสร้างพระมหาธาตุมุเตา องค์เจดีย์มีความสูงเทียบเท่าประมาณตึก 8 ชั้น แต่เมื่อพระมหากษัตริย์มอญทรงริเริ่มการถวายทองหนักเท่าพระองค์เพื่อหุ้มองค์พระธาตุ จึงทำให้ในปัจจุบันองค์พระมหาธาตุเลยสูงกว่าเดิมถึง 5 เท่า หรือเทียบเท่าประมาณตึก 38 ชั้น

มาที่นี่แล้วอย่าลืมมาดูต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่สืบหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยาด้วยนะครับ สังเกตได้ง่าย ๆ เพราะมีอยู่ต้นเดียว จุดเด่นของต้นพระศรีมหาโพธิ์ หากดูที่ใบ จะเห็นเส้นใบและเส้นแขนงใบ จะอยู่บนผิวใบด้านบน ซึ่งมีผิวมัน ซึ่งผิดกับต้นโพธิ์ทั่ว ๆ ไปที่เส้นใบและเส้นแขนงใบ จะอยู่บนผิวใบด้านล่าง ซึ่งมีผิวด้านครับ

เสาอิฐที่กล่าวว่าเป็นของเดิมสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ครับ

เสาหงส์แบบหงสาวดี เป็นเสาทรงเหลี่ยม บนยอดเสามีหงส์คู่ ตัวเมียยืนบนหลังตัวผู้ครับ

จากนั้นเดินทางกันต่อสู่จุดหมายที่ 3 พระราชวังบุเรงนอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดไจ้คะวายครับ

พระราชวังบุเรงนอง (Kanbawza Thardi Palace) เพิ่งเริ่มขุดค้นและปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้จำลองพระราชวังขึ้นโดยจินตนาการขึ้นเองทั้งหมด จากซากปรักหักพังที่ยังหลงเหลืออยู่ และความเร่งรีบที่จะหารายได้จากนักท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลพม่าสร้างวังใหม่ทับซากวังเก่าที่ยังขุดค้นไม่เสร็จ นึกแล้วก็น่าเสียดายนะครับ สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าบุเรงนอง ท่านผู้ที่ได้รับคำสรรเสริญว่าเป็นผู้ชนะสิบทิศ และยังเคยเป็นที่ประทับของพระนางสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งต้องตกเป็นเชลยศึกเมื่อต้องเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้ได้เหลือเพียงแต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ครับ

เมื่อขับรถเข้ามาในพระราชวังบุเรงนอง ตรงเข้ามาเรื่อย ๆ จะมีทางแยก ถ้าไปทางขวา จะเห็นท้องพระโรงที่ใช้ออกว่าราชการ ซึ่งถูกสร้างจำลองขึ้นมาแทนพระราชวังเดิม

โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมพม่าสีเหลืองทองอร่ามไปหมดทั้งภายนอกและภายใน ผมไม่แน่ใจว่าสมัยก่อนจะเป็นทองจริงทั้งหมดหรือเปล่า แต่ ณ ปัจจุบันกรมโบราณคดีพม่าใช้สีเหลืองทองในการทาตัวอาคารทั้งด้านในและด้านนอก และใช้การพ่นสีทองเพิ่มลวดลายลงไปในเสาแต่ละต้น ผมว่าความละเอียดอ่อนสู้บ้านเราไม่ได้ครับ

ด้านในพระราชวังจะทำคล้ายเป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวในอดีต โมเดลของพระราชวัง บานประตูไม้ เสาไม้สักขนาดใหญ่ของพระราชวังเดิมวางไว้ให้ชมด้วยครับ

ราชรถจำลอง

ห้องด้านหลังท้องพระโรง

แต่ถ้าหากเลี้ยวซ้าย ก็จะพบตำหนักผึ้ง ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานผึ้งมาก โดยท่านได้นำการต่อสู้ของผึ้งมาใช้เป็นยุทธวิธีในการรบด้วย เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้สร้างพระตำหนักแห่งนี้เสร็จก็มีผึ้งจำนวนมากมาอาศัยทำรังอยู่ที่นี่ด้วย

ภายในพระตำหนักจะพบที่ประทับของพระเจ้าบุเรงนอง ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้สร้างห้องกระจกปิดไว้ที่บัลลังก์ ทำให้การถ่ายรูปค่อนข้างยาก เนื่องจากเห็นเงาสะท้อนมากมาย ผมเองก็ก้ม ๆ เงย ๆ ถ่ายเพื่อให้เห็นเงาสะท้อนให้น้อยที่สุด จนเจ้าหน้าที่เขาคงสงสาร เลยมาเปิดห้องกระจกให้ และพยายามบอกให้ผมเข้าไปถ่าย แต่เอ๊ะ มันผิดสังเกตครับ เหมือนเขาพยายามชักจูงให้เราเข้าไปให้ได้ ผมก็เพียงแต่ส่งสำเนียง Free Free เขาก็ตอบกลับว่า Free Free ผมก็ชักไม่แน่ใจว่าอะไรมันจะฟรีได้ง่ายดายขนาดนั้น อีกอย่างผมกลัวเขาจะเสียน้ำใจ เลยชะโงกหน้าเข้าไปแล้วก็กดชัตเตอร์ซักเล็กน้อยเพื่อถนอมน้ำใจเขาครับ

แต่เขาก็พยายามจะให้ผมเดินเข้าไปตรงกลางให้ได้ โดยการเดินนำผมแล้วไปออกอีกประตูหนึ่ง แต่ผมก็เดินถอยกลับครับ เพราะคิดว่า ถ้าหากเดินไปออกอีกประตูหนึ่ง ผมคงจะต้องเสียเงินค่าทิปให้เขาแน่ ๆ อีกอย่างหากผมไปยืนถ่ายภาพตรงกลาง ก็เก็บรายละเอียดของบัลลังค์ได้ไม่หมดครับ เพราะตัวบัลลังค์ค่อนข้างใหญ่ แต่มีพื้นที่ที่ยืนห่างบัลลังค์เพียงนิดเดียว (ผมไม่รู้ว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่เขาทำให้ผมนั้น เกิดจากความบริสุทธิ์ใจจริงหรือเปล่า หรือต้องการเพียงทิปจากผม หากเขาทำเพื่อความบริสุทธิ์ใจจริง ผมคงต้องกราบขออภัยที่ดูถูกน้ำใจเขามา ณ ที่นี้ด้วยครับ) เมื่อเดินออกจากตัวตำหนักผึ้ง ด้านหน้าจะสามารถมองเห็นพระธาตุมุเตาได้ด้วยครับ

ที่ฐานของบัลลังก์จะมีรูปสลักของผึ้งอยู่เรียงรายเต็มไปหมด ซึ่งแตกต่างจากกษัตริย์องค์อื่น ๆ ที่จะเป็นรูปสลักสิงห์

ฝั่งตรงข้ามของตำหนักผึ้ง จะมองเห็นเหมือนหลังคาสังกะสีขนาดใหญ่สีเลือดหมู ซึ่งภายในหลงเหลืออยู่เพียงซากขอนไม้เท่านั้น เล่ากันว่าที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระสุพรรณกัลยา ซึ่งเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าบุเรงนองทรงสร้างตำหนักแห่งนี้ให้ประทับอยู่ด้านหน้าของตำหนักผึ้งครับ

จุดหมายที่ 4 ของผมอยู่ที่วัดพระนอนชเวทัลเยือง (Shwe Thal Yaung)

พระนอนแห่งนี้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์มอญ มีอายุราว 1,018 ปี มีความยาว 55 เมตร เป็นพระนอนไสยาสน์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของพม่า รองจากพระตาหวานเจาทัตยี (Kyauk Htatgyi Buddha) ในย่างกุ้ง ที่มีความยาวถึง 70 เมตร ลักษณะการนอนของพระไสยาสน์แห่งนี้เป็นท่านอนพักผ่อน พระเนตรยังเปิด แต่พระหัตถ์วางราบกับพื้นซึ่งต่างกับพระนอนตาหวานเจาทัตยีซึ่งพระเศียรจะวางบนพระหัตถ์ครับ

บริเวณบันไดที่จะขึ้นไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์จะมีร้านค้าขายของที่ระลึกจำนวนมาก สินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ผมว่าน่าจะเป็นงานไม้แกะสลัก ที่สลักจากไม้หอมเป็นรูปพระอุปคุตครับ ที่นี่เสียค่ากล้อง 300 จ๊าดครับ

จุดหมายที่ 5 พวกเรามุ่งหน้าสู่มหาเจดีย์ (Maha Zedi) กันครับ

มหาเจดีย์สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อจะนำพระเขี้ยวแก้วที่ได้มาจากศรีลังกา มาบรรจุไว้ที่เจดีย์แห่งนี้ แต่ภายหลังพระเขี้ยวแก้วโดนยึดไว้ที่เมืองสะกาอิง มัณฑะเลย์ บริเวณชุดฐานของมหาเจดีย์มีลักษณะคล้ายฐานเจดีย์ภูเขาทองที่พระนครศรีอยุธยา วันที่สร้างเจดีย์องค์นี้สำเร็จ พระมเหสีที่เป็นเจ้าหญิงอังวะ ได้ประสูติพระธิดาองค์หนึ่ง ถือเป็นฤกษ์ที่มงคลอย่างยิ่งเลยครับ

มหาเจดีย์ มีฐานเป็นทรงปิรามิดแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่มากเลยครับ เดิมองค์เจดีย์จะเหลือเพียงแต่ฐานเท่านั้น แต่ภายหลังรัฐบาลพม่าได้บูรณะขึ้นมาใหม่ จนมีรูปร่างเหมือนในปัจจุบัน ทั้ง 4 ด้านขององค์เจดีย์จะมีบันไดให้เดินขึ้นไปด้านบนด้วย แต่ผมไม่แน่ใจว่าเขาอนุญาตให้ขึ้นไปได้หรือเปล่า เพราะไม่เห็นมีคนปีนขึ้นไปข้างบนเลย ที่นี่เสียค่ากล้อง 300 จ๊าดครับ

จุดหมายที่ 6 ของเราอยู่ที่วัดกัลยาณี (Kalyani Sima)

พระเจ้าธรรมเจดีย์เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อต้องการฟื้นฟูพุทธศาสนาที่เสื่อมโทรมในยุคของท่าน โดยส่งพระภิกษุจำนวนหนึ่งไปศึกษาพระธรรมวินัยในเมืองลังกา เพื่อนำมาเผยแพร่ที่เมืองมอญ เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นบวชเรียนเสร็จก็เดินทางกลับหงสาวดี และพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ได้สร้างโบสถ์ขึ้นที่ชานเมือง แล้วให้ชื่อว่า วัดกัลยาณี ซึ่งเรียกตามชื่อลำน้ำกัลยาณีที่เป็นสถานที่ที่พระมอญได้รับการอุปสมบทที่ลังกา ภายในวัดดูเก่าและเงียบมาก ๆ แทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยววัดแห่งนี้เลย ที่ด้านหลังของวัดจะเห็นเหมือนศาลาเล็ก ๆ ที่ภายในบรรจุหลักศิลาจารึกที่จารึกเรื่องราวการเดินทางเข้ามาของพุทธศาสนาจากเมืองลังกาโดยเหล่าพระภิกษุที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ส่งไปศึกษาพระธรรมวินัยครับ

สำหรับจุดหมายที่ 7 ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายในหงสาวดีก่อนที่เราจะมุ่งหน้าสู่ย่างกุ้ง คือเจดีย์ไจ๊ปุ่นครับ

เจดีย์ไจ๊ปุ่น (Kyaik Pun Buddha) เป็นพระพุทธรูปปางประทับนั่งโดยรอบทั้ง 4 ทิศ หันหลังชนกัน สูง 30 เมตร ประกอบด้วยพระสมณโคดม (ทิศเหนือ),พระโกนาคม (ทิศใต้) , พระกกุสันโธ (ทิศตะวันออก) และพระมหากัสสปะ (ทิศตะวันตก) เล่ากันว่าสร้างโดยสี่สาวพี่น้องที่อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา โดยสร้างพระพุทธรูปแทนตนเองและสาบานตนว่าจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ชั่วชีวิต ต่อมา 1 ใน 4 สาวหนีไปแต่งงาน ร่ำลือกันว่าทำให้พระพุทธรูปองค์นั้นเกิดรอยร้าวขึ้นทันที ผมและสมาชิกคนอื่น ๆ ก็พยายามเดินดูว่าพระองค์ไหนมีรอยร้าว แต่เท่าที่สังเกตดูก็มีรอยร้าวนิดหน่อยที่องค์พระทั้ง 4 เลยสรุปไม่ได้ว่าพระองค์นั้นคือองค์ไหนครับ ที่วัดแห่งนี้เสียค่ากล้อง 300 จ๊าดครับ

หลังจากเยี่ยมชมวัดสำคัญในหงสาวดีเสร็จเรียบร้อย เราก็หาอาหารมื้อเย็นทานกันในเมืองหงสาวดี ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่สถานีขนส่งในเมืองย่างกุ้งเพื่อเตรียมเดินทางต่อไปยังเมืองพุกาม กี้บอกว่าเราจะใช้รถบัสเป็นพาหนะในการเดินทาง และใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง ผมเริ่มรู้สึกกังวลเล็ก ๆ ถึงสภาพรถโดยสาร เพราะการมาพม่าในครั้งแรกของผม ผมเห็นแต่รถทัวร์สภาพเก่า ๆ รวมถึงรถที่ผมเคยใช้ตลอดการเดินทางในครั้งนั้นด้วย ผมว่า รถ ป.2 บ้านเราบางคันยังสภาพดีกว่าเลยครับ นึกถึงรถเก่า ๆ ที่นั่งแคบ ๆ ผมก็เริ่มท้อแล้วครับ

เมื่อรถตู้เข้ามาในเขตสถานีขนส่งแล้ว ผมมองเห็นสภาพรถบัส มันไม่ต่างอะไรกับที่ผมกังวลเลยครับ เมื่อเช้าก่อนออกเดินทางมาพม่า ผมก็ตื่นตั้งแต่ตี 2 เพื่อเตรียมมาที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างบินก็นอนไม่หลับ เช้ามายังต้องตะเวนทัวร์ทั้งวัน คืนนี้ยังต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ในรถเก่า ๆ อีก โอ้ย แล้วเราจะไหวไหมเนี่ย ผมได้แต่นั่งนึกอยู่ในใจ จนรถตู้พามาจอดที่หลังรถทัวร์ ซึ่งเอ๊ะ ทำไมรถทัวร์ตรงนี้มันใหม่ซะมาก ๆ แถมดูโอ่โถงด้วย ได้แต่ถามกี้ว่า คันนี้หรือเปล่าที่จะเป็นพาหนะพาเราไปพุกาม กี้พยักหน้าแทนคำตอบ ความกังวลของผมเริ่มหมดไป แต่ก็ยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะคงต้องรอให้พนักงานขนกระเป๋ามาโหลดกระเป๋าลงใต้ท้องรถเสียก่อน ความกังวลถึงจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง ไม่นานนักพนักงานก็มารับกระเป๋าเราเพื่อไปโหลดใต้ท้องรถ เป็นอันว่า ผมหมดความกังวลไปได้แล้วครับ รถที่ผมใช้เดินทางในครั้งนี้เป็นรถของบริษัท Shwe Mandalar ราคาค่าตั๋วประมาณ 900 บาทครับ เสียดายที่ผมไม่ได้ถ่ายรูปสภาพรถมาฝาก เพราะว่าสภาพการจราจรบริเวณนั้นมันจอแจมาก ๆ แถมมืดอีกต่างหาก รถที่ผมนั่งล้อหมุนเวลา 19.00 น.ครับ

สภาพรถด้านในก็ใช้ได้เลยครับ สภาพเบาะดูใหญ่ นั่งสบาย แต่ที่สงสัยคือ มีหมอน 1 ใบ มาเสียบไว้ตรงพนักพิงศรีษะระหว่างเบาะทั้งสอง แปลว่า ถ้าใครขึ้นมาบนรถก่อน ก็มีสิทธิครอบครองหมอนใบนั้นไปหนุนได้ นอกจากนี้แต่ละเบาะจะมีหูฟังส่วนตัว และผ้าห่มอีกคนละผืน ขอบอกว่า บนรถแอร์เย็นมาก ๆ แถมไม่มีห้องน้ำให้เข้าด้วยครับ บนรถไม่มีของว่างเหมือนรถทัวร์บ้านเรา มีแต่น้ำดื่มให้ 1 ขวด ตลอดการเดินทาง ผมหลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้งคืน รถออกเดินทางมาได้สัก 3 ชั่วโมง ก็แวะพักให้ผู้โดยสารได้เข้าห้องน้ำ หาข้าวหาปลากินที่จุดจอดรถ ผมเองก็เพิ่งจะเริ่มหลับได้ที่ ก็ต้องมาตื่นเพราะเด็กรถขอร้องให้ลงไปข้างล่าง เขาคงจะพักรถจริง ๆ โดยการดับเครื่อง ปิดแอร์มั้งครับ เลยให้ผู้โดยสารลงจากรถทั้งหมด ช่วงระหว่างหยุดพักรถ เด็กรถจะแจกผ้าเย็น และชุดแปรงสีฟันครับ ไหน ๆ ก็ต้องตื่นแล้ว ผมก็เลยจัดแจงเข้าห้องน้ำล้างหน้าเพื่อเรียกความสดชื่นกลับมาเลย

พูดถึงจุดพักรถกันบ้างดีกว่า ผมว่ามันดูหรูหรากว่าจุดพักรถ บขส.บ้านเราแถวทับสะแกอีกครับ ที่นี่เขาทำดูดีมาก ๆ ใช้สีขาวเป็นสีหลักในการตกแต่ง ที่สำคัญมี Free Wifi ด้วย ด้านในก็มีร้านอาหาร แต่ถ้าใครจะกินอาหารค่ำก็คงต้องควักเงินเองนะครับ ไม่มีคูปองอาหารเหมือนบ้านเรา รถแวะให้เราลงไปยืดเส้นยืดสายครึ่งชั่วโมงแล้วเดินทางกันต่อครับ ช่วงใกล้ ๆ ปลายทาง รถจะหยุดส่งผู้โดยสารตามจุดจอดรถ ถ้าหากว่าปวดฉี่ก็สามารถขอให้เขารอเพื่อเข้าห้องน้ำได้นะครับ ประมาณ 04.30 น. ผมก็เดินทางถึงพุกามโดยสวัสดิภาพ กี้โทรประสานรถที่เราเหมาไว้ให้มารับ เราเข้าพักที่โรงแรม ล้างหน้าล้างตากันประมาณ 15 นาที ก็เริ่มออกทัวร์กันตั้งแต่ตี 5 เลยครับ

เมืองพุกาม (Bagan) เมืองแห่งประวัติศาสตร์และปัจจุบันได้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนามว่า “เมืองแห่งทะเลเจดีย์" หรือ “ดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์" ว่ากันว่าในป่าเจดีย์แห่งเมืองพุกามนี้ เคยมีเจดีย์รวมกันอยู่มากกว่า 4,000 องค์ ถึงแม้ว่าจะผ่านสงครามและแผ่นดินไหวใหญ่หลายครั้งในช่วงพันปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเหลือเจดีย์อยู่มากถึง 2,230 องค์ และฐานเจดีย์อีกราว 1,800 แห่ง จุดหมายแรกคือการไปดูแสงแรกของพุกาม เราเลือกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นกันที่เจดีย์ชเวสันดอร์ (Shwe Sandaw) ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าครับ

เรามาถึงเจดีย์ชเวสันดอร์ประมาณ 05.15 น. มองขึ้นไปด้านบนเจดีย์ก็เห็นแสงแฟลชจากนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาก็เลยรีบจ้ำเท้าเดินขึ้นบันไดที่สูงชัน มืด ๆ แบบนี้ เพื่อไม่ให้พลัดตกลงจากบันไดก็เลยต้องใช้มือจับราวบันไดไต่ขึ้นไปถึงฐานเจดีย์ด้านบนครับ เมื่อเอามืออกจากราวบันได รู้สึกได้ถึงกลิ่นสนิมติดมือมาด้วย พอแหงนมือออกมาถึงกับต้องตกใจ เพราะคราบสนิมที่ติดมากับราวบันได เมื่อมาเจอน้ำค้างแรง ๆ มันก็เลยทำให้ติดมือเต็มไปหมดเลย โชคดีหน่อยที่ผมยังเก็บผ้าเย็นที่ใช้แล้วที่ได้รับแจกบนรถทัวร์ เลยเอามาเช็ดมือแต่ก็เช็ดไม่สะอาดหรอกครับ เอาไฟฉายส่องดูยังเห็นคราบสนิมติดมืออยู่พอสมควร แต่เวลานี้ผมคงรอช้าไม่ได้แล้ว เพราะใกล้สว่างแล้ว เลยรีบจัดแจงกางขาตั้งกล้อง รีบส่องหาเหลี่ยมมุมสวย ๆ เพื่อจะเก็บบรรยากาศแสงแรกของทะเลเจดีย์แห่งพุกามให้สวยเหมือนดังที่ผมตั้งใจครับ

ฟ้าเริ่มสว่างขึ้นมาบ้างแล้ว แต่แสงแรกก็ยังไม่ปรากฏขึ้นมา ดูท่าวันนี้โชคไม่เข้าข้างผมครับ บนฟ้ามีเมฆเยอะมาก ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการถ่ายแสงแรกเป็นอย่างมาก ตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจอย่างเดียวครับ

มองไปทางไหนก็สวยไปหมด

เสียดายที่เมฆเยอะไปหน่อยครับ

ประมาณ 06.30 น. เวลาที่ผมเฝ้ารอก็มาถึง ดวงอาทิตย์เริ่มโผล่ออกมาจากกลุ่มเมฆบ้างนิดหน่อย ถึงแม้แสงแรกจะมีกำลังไม่พอที่จะทะลุม่านเมฆออกมาให้พวกเราเห็นได้

แสงสีทองยามนี้เมื่อสาดส่องลงมายังกลุ่มเจดีย์ที่อยู่เบื้องหน้าผม ที่รายล้อมไปด้วยสายหมอกบาง ๆ มันช่างงดงามมากๆ ครับ ผมใช้เวลาตรงนี้อย่างคุ้มค่าด้วยการกดชัตเตอร์แบบไม่ยั้ง พยายามเก็บภาพให้ได้มากที่สุด แต่ภาพที่ออกมาผมว่ามันสวยงามไม่เท่าที่ตาเห็นเลยจริง ๆ ครับ

งามหยดเลยครับ

ผมนั่งซึมซับกับบรรยากาศดี ๆ อยู่บนเจดีย์ได้สักพัก ก็เห็นกลุ่มบอลลูนร่วม 10 ลูก ค่อย ๆ ลอยขึ้นจากพื้นดิน ผ่านพุ่มไม้และทะเลเจดีย์ มันก็สวยงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง

การขึ้นไปดูวิวของทะเลเจดีย์บนบอลลูนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่พอมีอันจะกิน เพราะราคาค่าขึ้นบอลลูนต่อหัว รู้สึกว่าราคาเกือบครึ่งหมื่นเหมือนกันครับ

ผมเลยเลือกขอนั่งดูบรรยากาศบนเจดีย์ดีกว่า ไม่เสียตังค์ด้วยครับ

บอลลูนจะไม่ลอยเข้ามาใกล้บริเวณทะเลเจดีย์นะครับ อยู่แต่เพียงด้านหลังเท่านั้น

หลังจากเต็มอิ่มกับการเก็บเกี่ยวบรรยากาศยามเช้าของทะเลเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ผมก็กลับไปตั้งหลัก ล้างหน้าล้างตา หาอาหารใส่ท้องกันก่อนที่โรงแรม

ก่อนเข้าโรงแรม พวกเราผ่านตลาดเช้า ก็เลยเข้าไปเดินชมวิถีชีวิตยามเช้าของคนที่นี่ครับ

ยังใช้ตาช่างกันแบบนี้อยู่ครับ

หลังจากตุนอาหารลงท้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มออกทัวร์ตามเจดีย์ต่าง ๆ การเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวในพุกาม นักท่องเที่ยวจะเสียค่าเข้าชมแบบเหมาจ่าย อยู่ที่ 10USD ครับ เข้าชมได้ 5 วัน พุกามแบ่งเมืองเป็น 3 ส่วน เมืองยองอู เมืองพุกามเก่าและเมืองพุกามใหม่ เมืองพุกามเก่าก็จะเป็นพวกเจดีย์ เกี่ยวกับโบราณสถานทั้งหมด ส่วนพุกามใหม่จะเป็นพวกเมืองใหม่ ที่นี่จะมีทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ ท่าเรือ ท่ารถบัส สำหรับจุดหมายที่ 2 ของเราในวันนี้คือ วิหารอานันทเจดีย์ครับ

ด้านนอกของวิหาร พื้นที่ด้านนอกค่อนข้างกว้างขวางมาก เนื่องจากการเข้าชมวัดในพม่าจะต้องถอดรองเท้าและถุงเท้า ดังนั้นการที่เดินรอบวิหารต้องระมัดระวังเรื่องเศษก้อนหินเล็กๆ และเศษหนามจากกิ่งไม้ให้ดี ๆ นะครับ เพราะผมเองก็เดินเหยียบหนามมาแล้วเหมือนกัน น้องอีกคนซิครับ เหยียบเศษหินเล็ก ๆ จนทะลุเข้าไปในเท้าเลย เลยต้องเดินเท้ากระเผกไปตลอดทริป 9 วันเลยครับ ด้านนอกนั้นจะเห็นรูปปั้นสิงห์ที่มี 1 หัวใน 2 ตัวครับ เหมือนสิงห์แฝดที่ใช้หัวร่วมกันนะครับ

ภายในอานันทวิหาร เราสามารถเดินเข้าไปข้างในได้ โครงสร้างของเจดีย์จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีมุขยื่น 4 ทิศ ประตูทางเข้าเป็นประตูโค้ง บางซุ้มประตูยังหลงเหลือจิตกรรมฝาผนังอยู่เลยครับ

ทั้ง 4 ทิศจะประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักจากไม้ ปิดทอง สูง 9.5 เมตร พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ประกอบด้วย ทิศเหนือ : พระกกุสันโธพุทธเจ้า ,ทิศตะวันตก : พระโคตมพุทธเจ้า (องค์ใหม่) โดยจะมีพระชินอรหันต์อยู่ข้าง ๆ ด้วย พระชินอรหันต์เป็นคนเอาศาสนาพุทธเข้ามาในพุกาม ,ทิศตะวันออก : พระโกนาคมน์พุทธเจ้า (องค์ใหม่) สร้างแทนองค์เดิมที่ถูกโจรกรรมไป (บางคนก็บอกว่าโดนไฟไหม้) และองค์สุดท้ายคือพระกัสสปพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ เป็นพระพุทธรูป 1 ใน 2 ที่ยังเป็นองค์เดิมอยู่

พระกัสสปพุทธเจ้า จะมีความพิเศษต่างจากองค์อื่น ๆ คือเมื่อเรายืนใกล้ ๆ องค์พระ จะรู้สึกเหมือนท่านมีสีหน้าเรียบเฉย

แต่เมื่อเดินห่างออกจากองค์พระไป สีหน้าที่เรียบเฉยก็จะกลายเป็นยิ้ม (แป้น) เลยครับ ถือว่าเป็นความอัจฉริยะของช่างในการออกแบบในการเล่นกับแสง ถ้าเราอยู่ต่างตำแหน่ง ก็จะเห็นท่านต่างออกไป ในวิหารแห่งนี้ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ประตูไม้บานใหญ่มากที่พระเจ้าบุเรงนองได้สร้างขึ้น มีอยู่เพียงประตูเดียวครับ

จุดหมายที่ 3 อยู่ที่วิหารติโลมินโล

วิหารติโลมินโล (Htilominlo) เป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ติโลมินโล หรือ เจดีย์ฉัตรตั้ง ถูกสร้างในสมัยพระเจ้านาตองมยา (Nandaungmya) เป็นเจดีย์ 3 ชั้น สูงประมาณ 46 เมตร สร้างด้วยอิฐสีแดง เจดีย์นี้ตอนที่กษัตริย์ของพุกามป่วย แล้วมีพระชายาองค์หนึ่งมาคอยดูแล แล้วกษัตริย์ก็รับปากกับพระชายาองค์นั้นว่าเวลาจะตั้งใครเป็นรัชทายาท ก็จะเอาลูกของพระชายาองค์นั้นมาพิจารณาด้วย แต่ตามธรรมเนียม ต้องตั้งลูกของพระอัครมเหสีไปเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป แต่ว่าเมื่อรับปากไว้แล้ว ท่านก็เลยใช้วิธีการเอาฉัตรมาเสี่ยงทาย ณ วิหารแห่งนี้ ฉัตรเสี่ยงทายได้ชี้ไปที่ลูกของพระชายาองค์นั้น ลูกของพระชายาก็เลยกลายเป็นกษัตริย์องค์ต่อมา เขาก็เรียกว่า “กษัตริย์ฉัตรตั้ง" กษัตริย์องค์ที่ได้รับการเสี่ยงทายก็เลยสร้างเจดีย์นี้ขึ้นมาเป็นอนุสรณ์ เจดีย์แห่งนี้ส่งอิทธิพลโดยตรงต่อวิหารและเจดีย์หลายแห่งในล้านนาไทย เช่นวัดเจ็ดยอดในจังหวัดเชียงใหม่

จิตรกรรมฝาผนัง สวยดีเหมือนกันครับ

เศียรพระดูแปลกตาจากบ้านเรามาก

เมื่อเดินเข้ามาในเขตของวิหาร แต่ยังไม่ต้องเข้าในตัววิหารนะครับ ให้เดินไปทางด้านขวาของวิหาร จะเห็นซุ้มประตู หากเดินผ่านซุ้มประตูนี้ออกไป เราจะเห็นวิหารองค์เล็ก ๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ จุดนี้เราสามารถเดินขึ้นไปดูวิวของวิหารติโลมินโลได้อย่างเต็มองค์ครับ แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปแล้วจะหลง เพราะจะมีพ่อค้า แม่ค้าชาวพม่า พยายามตื้อให้เราเดินขึ้นไปดูวิวให้ได้ และจะคอยเดินตามเราเป็นเงาตามตัว แต่เขาก็จะช่วยบอกทางขึ้นให้ผมเหมือนกัน เพราะผมหาบันไดทางขึ้นไม่เจอ บันไดทางขึ้นค่อนข้างลึกลับอยู่เหมือนกันครับ จุดประสงค์ของพ่อค้าแม่ค้าที่เดินตามเรามานั้น เพื่อที่จะให้เราช่วยซื้อสินค้าเขาบ้าง เพราะเขาถือว่า เขาพาเรามาดูวิวที่จุดนี้แล้ว อันนี้ถ้าหากใครไม่ต้องการซื้อสินค้าเขา ก็คงต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการตีชิ่งออกมานะครับ สำหรับผม ผมเดินทำหน้ามึน ๆ ออกมาครับ

จุดหมายที่ 4 อยู่ที่ วิหารอุบาลีเต็ง (Upalithein) คำว่าอุบาลี หมายถึงพระภิกษุในรัชกาลพระเจ้านันดวงมยา ส่วนคำว่า "เต็ง" แปลว่าอุโบสถ สิม หรือสีมา รวม ๆ แล้วหมายถึง สีมาแห่งพระอุบาลี ลักษณะโครงสร้างของวิหารแห่งนี้เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กประดับอยู่ตรงกลางหลังคา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ส่วนผนังและเพดานตกแต่งด้วยจิตรกรรมที่งดงาม โดยเล่าเรื่องพระอดีตพุทธเจ้า 27 องค์ รวมถึงพระโคตมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน วิหารแห่งนี้ถือว่าเป็นสุดยอดจิตรกรรมฝาผนังแห่พุกามเลยครับ ภายในวิหารไม่ใหญ่มาก และจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่เพราะข้างในห้ามถ่ายรูปครับ

จุดหมายที่ 5 ของผมคือพระธาตุชเวซิกอง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของประเทศพม่าครับ

เจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon) สำหรับความหมายของชื่อนั้น “ชเว" แปลว่าทอง “สิกอง" แปลว่าชัยชนะ “ชเวสิกอง" มีความหมายถึงทองแห่งชัยชนะ เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ต้นแบบพุทธศิลป์พม่า ถือว่าเป็นเจดีย์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นเจดีย์แรกที่สร้างในสมัยราชวงศ์แรกของพุกาม สร้างโดยพระเจ้าอโนรธามหาราชที่เป็นต้นราชวงศ์ของพม่าเลยครับ

เจดีย์นี้มีความสำคัญคือแสดงถึงชัยชนะที่ไปรบมอญได้ ที่เจดีย์แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 3 ส่วน คือ พระเขี้ยวแก้ว พระธาตุกระดูกไหล่ และพระธาตุพระนลาฎ (หน้าผาก) ชาวพม่าเชื่อว่ามีสิ่งอัศจรรย์ 9 อย่างที่เกิดในเจดีย์แห่งนี้ ประกอบด้วย

1. แม้ยอดเจดีย์จะอยู่สูงถึงเพียงนั้น แต่ก็ไม่ได้เสริมเหล็ก

2. แม้จะมีเงา แต่เงาของเจดีย์ก็ไม่ออกนอกฐานสี่เหลี่ยม หากวันใดที่เงาล้ำออกไปนั่นคือ ลางร้าย

3. แม้กระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่ปิดไว้บนยอดเจดีย์จะปลิว แต่ก็ไม่ปลิวพ้นฐานของเจดีย์

4. แม้มีผู้แสวงบุญมามากมายก็รองรับได้หมด

5. แม้จะเช้าสักเพียงใดก็ยังพบข้าวสุกใส่ไว้ในบาตรเพื่อเป็นทานอยู่ก่อนเสมอ

6. แม้จะตีกลองดังเพียงใด ฝั่งตรงกันข้ามของเจดีย์ก็ไม่ได้ยินเสียง

7. แม้เจดีย์จะตั้งอยู่บนพื้นราบ แต่ก็เกิดภาพลวงตาว่าตั้งอยู่บนที่สูง

8. แม้ฝนจะตกหนักเพียงใดน้ำก็ไม่ท่วมขัง

9. แม้จะเป็นเวลาใดต้นพิกุลก็จะออกดอกงามทั้งปี

เท่าที่ผมได้เดินสำรวจตามสิ่งอัศจรรย์ 9 อย่าง ผมเห็นได้อย่างเดียวครับ คือ ดอกพิกุลออกดอกทั้งปี นอกนั้นผมไม่รู้จะพิสูจน์ยังไงครับ

บริเวณใกล้ ๆ ฐานของเจดีย์ จะมีหลุมสมดุลเจดีย์ ซึ่งเป็นจุดสมดุลของการดูยอดเจดีย์ไว้สำหรับให้ช่างผู้สร้างเจดีย์ดูว่ามีความสมดุลหรือเปล่า บางตำนานเล่าว่าเพราะเจดีย์มีความสูงมาก จึงต้องทำหลุมไว้ให้พระมหากษัตริย์ที่เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลได้ทอดพระเนตรยอดเจดีย์ชัดเจน เนื่องจากหลุมมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 3 นิ้ว ดังนั้นหากยืนดูจะเห็นเงาสะท้อนได้ไม่เต็มองค์ แต่หากยิ่งคุกเข่าและน้อมตัวลงต่ำเสมือนแสดงความคารวะเบื้องหน้าองค์พระเจดีย์มากเพียงใด ภาพสะท้อนของเจดีย์ชเวสิกองก็จะยิ่งปรากฎให้เห็นเต็มองค์มากขึ้นเท่านั้น ผมดูแล้วผมก็ไม่รู้ว่าการจะดูให้สมดุลมันเป็นยังไง ใช้สิ่งใดเป็นหมุดอ้างอิง แต่ที่เห็นก็คือ เห็นเงาสะท้อนอย่างชัดเจนจริง ๆ ครับ

ม้ากัณฑกะ เป็นม้าของพระพุทธเจ้าครับ มีเรื่องเล่าว่า ดึกๆ ชาวบ้านระแวกนี้ได้ยินเสียงม้าวิ่ง ก็เลยต้องทำคอกมาล้อมไว้ครับ

คุณยายขายดอกไม้คนนี้ได้เป็นนางแบบลงในหนังสือ "60 วัด วัง สถานที่สำคัญในพม่า เล่ม 2 " ที่แต่งโดย ภภพพล จันทร์วัฒนกุล ด้วยครับ ตอนผมเห็นแกในหนังสือก็ไม่แน่ใจว่าใช่แกหรือเปล่า เลยเอาไปให้แกดู แกชี้นิ้วมาที่ตัวแก เลยต้องอุดหนุนดอกไม้แกมา 1 พวง และขอเก็บภาพเป็นที่ระลึกด้วยครับ

จากการที่ผมเดินเท้าเปล่าเข้าวัดต่าง ๆ ในช่วงเช้า ที่กินพื้นที่กว้างมาก แถมพื้นบางแห่งก็ไม่เรียบ เหมือนเราเดินบนก้อนหินสำหรับนวดเท้า นาน ๆ เข้าจึงรู้สึกปวดระบมที่เท้าไปหมดครับ แต่โชคดีหน่อยที่ผมเป็นเพียงข้างเดียว หากเป็นสองข้างคงเดินต่อไม่ไหวแน่นอน ยิ่งพื้นที่ภายในของพระธาตุชเวซิกองกินพื้นที่กว้างมาก ยิ่งทำให้เท้าผมระบมเข้าไปใหญ่เลยครับ

จุดหมายที่ 6 ของผมอยู่ที่วิหารสุลามณี (Sula Mani)

วิหารสุลามณี ได้สมญานามว่า “Crowning Jewel or Small Ruby" หรือหมายถึงสุดยอดแห่งอัญมณี วิหารแห่งนี้มีความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นการผสมผสานรูปแบบของวิหารสัพพัญญูและวิหารธรรมยางยี เป็นวิหารที่มี 2 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานที่กว้าง มองดูคล้ายปิรามิด มีเจดีย์เล็ก ๆ ตั้งอยู่แต่ละมุมของแต่ละชั้นเพื่อเป็นบริวารของยอดประธาน

ด้านนอกของวิหาร มีการก่ออิฐที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในพุกาม

มีการนำวัสดุที่คล้ายกระเบื้องเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการตกแต่งด้วย ปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นนะครับ แต่บางส่วนก็มีการชำรุดลงไปบ้างเหมือนกัน

ตามซุ้มประตูมีการแกะสลักลวดลายที่ถือว่าละเอียดอ่อนและสวยงามมาก ๆ ครับ

สำหรับด้านในจะมีจิตกรรมฝาผนังที่ถือว่ายังคงความสมบูรณ์อยู่มาก

ลวดลายดูเก่ามาก ๆ ครับ

ภาพนี้สวยดีนะครับ

ลวดลายโบราณดีจริง ๆ ครับ

ผมสังเกตว่าตามประตูต่าง ๆ จะมีการประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่แทบทุกประตู ทำให้เวลาที่แสงสาดเข้ามาตามช่องประตูสู่องค์พระ องค์พระจะดูเด่นมาก ๆ ครับ เพราะด้านในวิหารจะค่อนข้างมืด

ยิ่งบ่าย ก็ยิ่งร้อน และยิ่งเหนื่อยครับ ผมเลยมานั่งพักเอาแรง พักเท้า ใต้ต้นไม้ข้าง ๆ เจดีย์ นั่งได้สักพักก็เกิดอาการเคลิ้มได้เหมือนกัน คงจะเหนื่อยจากการเดินทาง และพักผ่อนไม่เพียงพอ แถมตั้งแต่เช้าก็ออกทัวร์วัดทั้งวัน ก็เลยต้องหาวิธีทำให้ร่างกายฟื้นตัว โดยการเดินเล่น ดูสินค้าที่พ่อค้าแม่ค้ามาวางจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณทางเข้าวัดครับ สินค้าจะเป็นประเภทงานหัตถกรรมทำมือเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาชัก รูปวาดต่าง ๆ หมวกสาน เสื้อ รวมถึงของที่ระลึกอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจากที่ร่างกายฟื้นตัวเรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางสู่จุดหมายที่ 7 คือวิหารธรรมยางยี (Dhammayangyi) ซึ่งเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดของพุกามครับ

ว่ากันว่า เจดีย์ทั้งหมดในอาณาจักรพุกาม ล้วนสร้างขึ้นด้วยความเต็มใจและแรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ของชาวบ้านทั้งสิ้น ยกเว้นอยู่เพียงเจดีย์เดียว คือวิหารธรรมยางยี ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างโดยพระเจ้านราธู กษัตริย์ที่โหดร้ายมาก ๆ เพราะพระเจ้านราธูฆ่าพระราชบิดา และพระเชษฐา เพื่อที่ท่านจะได้ขึ้นครองราชย์ แต่ภายหลังที่ได้ทำลงไปแล้วจึงรู้สึกสำนึกผิด ก็เลยอยากจะสร้างเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุด สวยที่สุดกว่าเจดีย์ใด ๆ ในอาณาจักรพุกามเพื่อไถ่บาป จะเรียกเจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ไถ่บาป ก็คงไม่น่าผิดนะครับ

นอกจากนั้นพระองค์ยังฆ่าพระมเหสี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงลังกาอีกด้วย ท้ายสุดพระเจ้านราธูทรงขึ้นครองราชย์ได้เพียง 4 ปี ก็ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ โดยพระบิดาของพระมเหสีได้ส่งนายทหารจากลังกามาปลงพระชนม์ครับ

ที่ด้านในของเจดีย์ หากสังเกตการเรียงอิฐของที่นี่ดี ๆ เขาบอกกันว่า จะเอาเข็มสอดเข้าไปในช่วงรอยต่อของอิฐแต่ละก้อนไม่ได้เลย มีตำนานเล่าว่า ถ้าหากช่างเรียงอิฐไม่สนิท แล้วเอาเข็มสอดเข้าไปได้ จะโดนพระเจ้านราธูตัดมือทันที

ด้านในเจดีย์ จะมีก้อนหินสี่เหลี่ยมสองก้อนใหญ่ ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นหินสำหรับตัดมือช่างที่เรียงหินไม่สนิทด้วยครับ เพราะสังเกตได้จากที่แท่งหินจะสลักเป็นร่องลึกลงไป เมื่อเอาแขนมาวางลงในร่อง แขนจะแนบสนิทกับร่องหินทันที แล้วเขาจะใช้มีดเพื่อตัดมือครับ เจดีย์ธรรมยางยี เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรพุกาม แต่เป็นเจดีย์ที่สร้างไม่เสร็จ และแทบไม่มีชาวบ้านมากราบไหว้บูชาตราบจนทุกวันนี้

ระหว่างทางที่จะไปวิหารเพชรตาจี เห็นเด็กเลี้ยงแพะกำลังต้อนแพะไปกินหญ้าครับ เลยเก็บภาพมาซะหน่อย

แล้วโปรแกรมที่ 8 ซึ่งเป็นโปรแกรมปิดท้ายวันนี้ของผมก็มาถึง เป็นเหมือนกิจกรรมภาคบังคับที่นักท่องเที่ยวทุกคนเฝ้ารอ นั่นก็คือการรอชมพระอาทิตย์ตกดินท่ามกลางกลุ่มเจดีย์กว่า 4,000 องค์ กล่าวกันว่าเจดีย์เกือบทั้งหมดในพุกามสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ ชาวพุกามถือว่า เจดีย์ คือสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่ชาวพุกามช่วยกันสร้างเจดีย์จนมากมายนับไม่ถ้วนเช่นนี้ เป็นการประกาศว่า พุกามคือดินแดนแห่งพระพุทธ

สำหรับสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกดินนั้น มีจุดแนะนำอยู่ 2 แห่งครับ คือ วิหารเพชรตาจี และวิหารธรรมยาสิกะ เผอิญผมมีเวลาอยู่ที่พุกามถึง 2 คืน จึงสามารถเลือกชมพระอาทิตย์ตกได้จากทั้ง 2 ที่ โดยในวันนี้ผมเลือกชมที่วิหารเพชรตาจีครับ

ผมไปถึงวิหารเพชรตาจีตั้งแต่สี่โมงครึ่ง เลยมีเวลานั่งพักผ่อนเอาแรงอยู่นานพอสมควร ช่วงเวลานี้นักท่องเที่ยวแทบไม่มีเลยครับ ผมเลยมีเวลาเดินหามุมสวย ๆ เพื่อรอช่วงแสงสุดท้าย

ได้มุมเหมาะแล้วก็รีบจับจองพื้นที่กันเลย

มองจากด้านบนของวิหารเพชรตาจี ออกไปด้านนอก เห็นพื้นที่ของพุกามค่อนข้างแห้งแล้ง ลักษณะดินเป็นดินปนทราย บางคนเชื่อว่าต้นไม้ในพุกามถูกตัดไปจนหมด เพื่อนำมาเผาอิฐ สร้างเจดีย์กว่า 4,000 องค์อย่างที่เห็น แต่ก็มีข้อแย้งว่า พุกามก็แห้งแล้งเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะมีการจัดให้พื้นที่เพาะปลูกออกไปอยู่นอกเมือง โดยเตรียมระบบชลประทานไว้เป็นอย่างดี

การชมวัดต่าง ๆ ในพุกาม ถ้าจะให้ได้บรรยากาศจริง ๆ ลองนั่งวัวเทียมเกวียนดูนะครับ

สักพักเห็นพ่อค้าเริ่มเอาสินค้ามาวางจำหน่ายกันบนจุดชมวิวเลยครับ

ใกล้เวลาที่พระอาทิตย์จะตกก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นมาที่จุดชมวิวแห่งนี้ แต่ดูเหมือนสภาพอากาศจะไม่อำนวยครับ ฟ้าปิดซะอย่างงั้น

แต่ผมก็ถือว่าไม่โชคร้ายไปซะทีเดียว พระอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนตัวลงต่ำ ได้เปล่งแสงส่องผ่านกลุ่มเมฆออกมา ทำให้แสงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าผมส่องแสงเป็นลำแสง สาดมายังเหล่าเจดีย์ที่อยู่เบื้องหน้า มันก็เป็นอีกภาพที่ติดตาผมซะจริง ๆ ครับ ผมอาศัยช่วงเวลานี้กดชัตเตอร์แบบไม่ยั้งเหมือนกัน แต่ภาพที่ได้มาก็ไม่สวยเท่าที่ตาผมเห็น และคิดว่า คงเป็นสิ่งเดียวที่ผมประทับใจในช่วงค่ำนี้ เพราะหลังจากลำแสงนี้หายไป ก็ไม่มีโอกาสได้เห็นดวงอาทิตย์ที่กำลังตกดิน และแสงสุดท้ายก็ไม่โผล่ออกมาให้เราเห็นครับ

แต่ไม่เป็นไร ผมยังมีโอกาสแก้ตัวพรุ่งนี้อีกวันสำหรับพุกาม หลังอาหารเย็น ผมรีบเข้าที่พักเพื่อนอนพักผ่อน หลังจากที่อดหลับอดนอนมาร่วม 2 วัน 1 คืน คืนนี้ผมพักที่ Arthawka Hotel ค่าที่พักน่าจะประมาณคืนละ 2,300 บาทครับ

โปรแกรมของเช้าวันที่ 3 ผมไม่มีแผนที่จะออกไปดูแสงแรก เลยตื่นสายได้ แต่ตื่นมาแล้ว รู้สึกเสียดายเป็นอย่างมาก ที่ผมไม่ได้ออกไป เพราะว่าวันนี้ฟ้าเปิดมาก ๆ ท้องฟ้ามีสีฟ้าเข้ม ปลอดเมฆด้วยครับ นึกแล้วยังเสียดายอยู่ไม่หาย เช้านี้เราประเดิมสถานที่แรกกันที่วิหารธรรมยาสิกะ ซึ่งเป็นจุดที่เราตั้งใจจะมาชมพระอาทิตย์ตกดินกันวันนี้ วิหารแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากที่เราพัก เราเลยขอมาสำรวจพื้นที่กันก่อนว่าเหมาะกับการมานั่งชมพระอาทิตย์ตกดินหรือไม่ ถ้าไม่ เราจะไปล่องเรือในแม่น้ำอิรวดีชมพระอาทิตย์ตกกันกลางน้ำ แต่มติของคณะคือ เย็นนี้เราจะมาเก็บแสงสุดท้ายกันที่วิหารแห่งนี้ครับ

เจดีย์ธรรมยาสิกะ (Dhamma Ya Zi Ka Pagoda) เป็นเจดีย์ฐานทรงห้าเหลี่ยมแห่งเดียวในพุกาม ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รับมอบมาจากกษัตริย์ศรีลังกา เจดีย์แห่งนี้มีพระพุทธรูปแทนอดีตพระพุทธเจ้าครบทั้ง 5 ภาคด้วยครับ ประกอบด้วย พระกุกกุสันโธ (พระพุทธเจ้าในภาคอดีต) พระโกนาคม (พระพุทธเจ้าในภาคอดีต) พระกัสสปะ (พระพุทธเจ้าในภาคอดีต) พระโคตรมะ (พระพุทธเจ้าในภาคปัจจุบัน) และพระเมตตรัย (พระพุทธเจ้าในภาคอนาคต) ฐานเจดีย์ก่ออิฐ ส่วนตัวเจดีย์ถูกตกแต่งด้วยสีทอง แต่เนื่องจากผ่านการบูรณะมาหลายปี ทำให้สีทองได้หลุดร่อนไปบ้างครับ

สำหรับการเดินขึ้นไปด้านบนเจดีย์ จะมีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ บันไดค่อนข้างแคบและชัน จะขึ้นด้านบนคงต้องใช้ความระมัดระวังกันด้วยนะครับ วิวด้านบนเป็นแบบนี้ครับ

มองได้รอบทิศเลยครับ

ที่นี่เคยมีผู้ถ่ายภาพเจดีย์แต่ติดวิญญาณนักรบโบราณ พลเอกขิ่นยุ่นต์ ผู้ที่เคยมาบูรณะเจดีย์แห่งนี้ด้วยครับ หากใครอยากเห็นภาพนั้นให้เดินไปทางด้านซ้ายของเจดีย์นะครับ จะเห็นศาลาเล็ก ๆ อยู่ศาลาหนึ่ง ด้านในจะมีภาพถ่ายติดวิญญาณครับ

หันแว๊บไปเจอทะเลเจดีย์ในแว่นพี่แต๋นครับ

ออกจากเจดีย์ธรรมยาสิกะ ก็มุ่งหน้าสู่จุดหมายที่ 2 เจดีย์โลกะนันทะ

เห็นแสงสวย ๆ เลยอดใจไม่ไหวครับ

จากลานจอดรถ เราต้องเดินขึ้นบันไดอีกเล็กน้อย เพื่อขึ้นมายังบริเวณของเจดีย์ ช่วงที่ผมไป เจดีย์อยู่ระหว่างบูรณะ ที่นี่เขาจะใช้วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่เอามาทำเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วจะเอามาสานให้เป็นแผ่น ๆ แล้วมาปิดรอบองค์เจดีย์ ลักษณะคล้าย ๆ สแลนกันแดดบ้านเราครับ ผมไม่แน่ใจว่าที่เขาไม่ใช้สแลนเพราะที่นี่อาจหาซื้อได้ในราคาแพงหรือเปล่า หรือเขายังอนุรักษ์ใช้ของจากธรรมชาติอยู่ บริเวณเชิงบันได มีแม่ค้าขายของอยู่พอสมควร แต่ที่สะดุดตาผมคือ ทอดมันกุ้งครับ อยากลองแต่ไม่กล้า อิอิ

เจดีย์โลกะนันทะ (Loka Nanda ) สร้างโดยพระเจ้าอโนรธา บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองเหมือนเจดีย์ชเวสิกอง รูปทรงเจดีย์คล้ายรูปน้ำเต้า เจดีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี ว่ากันว่าความรุ่งเรืองของการค้าในอาณาจักรพุกามสมัยนั้น พ่อค้าต่างแคว้น ทั้งมอญ ยะไข่ เมืองลังกา จะนำเรือล่องมาค้าขายในพุกามกันมากมาย พ่อค้าเหล่านี้จะอาศัยเจดีย์แห่งนี้เป็นจุดสังเกต หากเห็นเจดีย์สีทองอร่ามของเจดีย์โลกะนันทะ ก็แปลว่าเดินทางถึงพุกามแล้ว

แม่น้ำอิรวดี ช่วงที่ผมไปน้ำเริ่มแห้งเหมือนกันครับ

จากนั้นออกเดินทางสู่จุดหมายที่ 3 วิหารมนูหะ ครับ ระหว่างทางเห็นรถโดยสารที่มีทั้งพระทั้งเณรโหนรถกันแบบน่าหวาดเสียวครับ

เมื่อเกือบ 5,000 ปีก่อน ดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าเคยเป็นของชาวมอญ แต่พออาณาจักรพุกามถือกำเนิดขึ้น กษัตริย์พุกามพระองค์แรกได้ยกทัพไปตีเมืองหลวงของชาวมอญจนเหลือแต่ซาก โดยอ้างว่าเพื่อนำพระไตรปิฎกมาไว้ที่พุกาม พระเจ้ามนูหะ (กษัตริย์มอญ) และพระอัครมเหสี ถูกนำมาคุมขังไว้ทางใต้ของกรุงพุกาม ณ ที่แห่งนั้น กษัตริย์พุกามทรงมีพระราชานุญาตให้กษัตริย์มอญสร้างวัดขึ้นเพื่อทรงใช้เป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศล วัดดังกล่าวคือวิหารมนูหะครับ

กษัตริย์มอญจึงทรงถือโอกาสนี้ระบายความรู้สึกระหว่างถูกคุมขัง ด้วยการสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่โตจนคับวิหาร เพื่อประชดกษัตริย์พม่า เรียกขานกันว่า “พระอึดอัด" มาตราบจนทุกวันนี้

ขนาบข้างด้วยพุทธสาวก ก็สร้างให้อึดอัดเหมือนกัน องค์พระทุกส่วนสร้างติดผนังทั้งหมด ดูแล้วก็อึดอัดแทนจริง ๆ ขนาดผมตัวเล็ก ๆ เนี่ย ยังแทบเดินผ่านองค์พระกับผนังวิหารไม่ได้เลยครับ

ทางด้านหลังของวิหาร ยังมีพระอีกหนึ่งปาง เรียกว่าพระไสยาสน์ปางปรินิพพาน พระหัตถ์ขวาของพระองค์จะวางราบกับพื้น ซึ่งพระไสยาสน์แบบปกติจะไม่วางพระหัตถ์แนบกับพื้น เขาก็เลยตีความกันว่า ปางไสยาสน์แบบนี้เป็นปางไสยาสน์แบบปรินิพพานครับ ที่พระโอษฐ์มีรอยยิ้ม เชื่อว่าพระเจ้ามนูหะพยายามจะสื่อความหมายว่ามีแต่ความตายเท่านั้นที่จะทำให้ท่านได้อิสรภาพ

ด้านข้างของวิหารวัดมนูหะมีอาคารประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระเจ้ามนูหะและพระอัครมเหสีที่ถูกจับมาจองจำไว้ด้วยกัน

หากเดินเลยจากวิหารมนูหะเข้าไปอีกนิดหน่อย ก็จะถึงจุดหมายที่ 4 คือวิหารนันปะยา (Nanpya) ครับ

ปัจจุบันโครงสร้างของวิหารน่าจะมีการทรุดตัวลงมาบ้าง เพราะด้านในมีการใช้เหล็กทำเป็นโครงสร้างเพื่อช่วยค้ำยันไม่ให้วิหารทรุดลงมามากกว่าเดิมครับ

วิหารนันปะยา ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเพื่อเป็นตำหนักไว้จองจำพระเจ้ามนูหะ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า วิหารนันปะยาน่าจะเป็น ศาสนสถานมาตั้งแต่แรก เพราะภายในคูหามีแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะว่างเปล่าแต่ขนาดของแท่นเหมาะแก่การประดิษฐานพระยืนตามแบบพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม จุดที่น่าสนใจภายในคูหาวิหารแห่งนี้ คือเสาใหญ่สี่เหลี่ยมสี่ต้นที่เป็นโครงสร้างหลักรองรับส่วนบน โดยเหลี่ยมของเสากรุด้วยศิลาและมีภาพแกะสลักนูนต่ำเป็นภาพบุคคลมีสี่หน้าประทับบนแท่นดอกบัวในมือถือดอกบัว ทำให้มีการตีความหมายว่าเป็นพระพรหม เทพชั้นสูงในศาสนาฮินดู และวิหารนันปะยาอาจเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์สมันตมุข (พระโพธิสัตว์ที่มีพระพักตร์อยู่โดยรอบ เช่นเดียวกับปราสาทบายนในเขมร)

จุดหมายที่ 5 ของผมอยู่ที่วัดมะยะเจดีย์

วัดมะยะเจดีย์ (Maya Zedi) สร้างโดยเจ้าชายรัชกุมาร พระราชบุตรของพระเจ้าจันสิตตา ที่นี่มีหลักศิลาจารึกเรื่องราวของพระราชบิดาและของพระองค์เอง จารึกเป็น 4 ภาษา คือ พม่า มอญ ปยู และบาลี

พระประธานภายในวัดมะยะเจดีย์

ด้านข้างขององค์เจดีย์จะมีร้านขายของมากมาย พ่อค้าแม่ค้าที่นี่ บางคนพูดภาษาไทยได้ด้วยนะครับ มีพ่อค้าขายมะขามกวนคนนึง กำลังนั่งสาละวนปั้นมะขามกวนอยู่ เขาก็พูดทักทายเป็นภาษาอังกฤษ เราก็เผลอพูดภาษาไทยใส่เขาไป เขาก็บอกว่าเขาพูดไทยได้นิดหน่อย แล้วเขาก็ให้เราลองชิมมะขามดู เป็นจังหวะที่พี่ในกลุ่มผมเดินเข้ามาพอดี แล้วก็ลองชิมมะขาม พี่แกก็พูดออกมาว่า ไม่อร่อยเลย พ่อค้าได้ยินก็หน้าตาเจื่อน ๆ ไป ผมเลยกระซิบบอกพี่แกว่า พี่ครับ พ่อค้าเขาฟังภาษาไทยออกนะครับ เท่านั้นแหล่ะครับ เลยต้องควักเงินช่วยอุดหนุนมะขามแกมานิดหน่อยแล้วรีบเดินออกจากร้านโดยทันที มาประเทศเพื่อนบ้านแบบนี้คงต้องระวังครับ จะพูดอะไรต้องดูหน้าดูหลังนิดนึง เพราะคนแถวนี้เขาไปทำงานบ้านเราก็เยอะครับ

เดินถัดออกมาจากวัดมะยะเจดีย์ ก็ถึงจุดหมายที่ 6 คือวิหารกู่เป้าจี

วิหารกู่เป้าจี (Gu Byauk Gyi) วิหารแห่งนี้ออกแบบให้แสงภายนอกส่องเข้าหาองค์พระพุทธรูป ทำให้ดูสวยงาม ที่นี่ถือว่าเป็นสุดยอดจิตกรรมฝาผนังครับ เพราะภายในยังมีจิตกรรมฝาผนังยุคแรกของพุกามเหลือมากที่สุด เป็นภาพพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพครับ

จุดหมายที่ 7 ของผมคือ มิงกาลาเจดีย์

มิงกาลาเจดีย์ (Mingala Zedi) แปลว่า “เจดีย์แห่งความเป็นสิริมงคล" อยู่ทางตอนใต้ของเมืองพุกามเก่า จัดเป็นประเภทเจดีย์ก่ออิฐตัน หรือ สถูป ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ประดับลวดลายปูนปั้นเล่าเรื่องชาดก กึ่งกลางแต่ละด้านมีบันไดทอดขึ้นไปยังชั้นที่สูงขึ้น และมีสถูปทรงหม้อน้ำตั้งประจำอยู่ที่มุมทั้ง 4 ของฐานแต่ละชั้น กษัตริย์ผู้สร้างคือพระเจ้านรสีหปติ ใช้เวลาในการสร้างถึง 6 ปีเต็ม ทรงปรารถนาจะสร้างให้ยิ่งใหญ่เทียบเคียงเจดีย์ชเวสิกอง โดยท่านให้ทหาร 2 นายไปวัดสัดส่วนจากของจริง เจดีย์ทั้งสองจึงต่างกันแค่ขนาดของอิฐที่ก่อเท่านั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งสร้างเจดีย์นี้ได้ระยะหนึ่ง ได้มีเสียงล่ำลือว่า หากการก่อสร้างเจดีย์นี้สำเร็จลุล่วงเมื่อใด อาณาจักรพุกามจะถึงกาลอวสานเมื่อนั้น คำล่ำลือเข้าถึงพระกรรณของพระเจ้านรสีหปติ พระองค์ทรงหวาดหวั่น จึงโปรดให้ระงับการสร้างเจดีย์นี้เลย หลายปีต่อมา ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิพระเจ้านรสีหปติ ว่าทรงเป็นถึงเจ้าแผ่นดินพุกามอันเกียงไกร ไฉนจึงขลาดด้วยคำล่ำลือได้ จนต้องละทิ้งการสร้างคุณงามความดีทะนุบำรุงพุทธศาสนาเช่นนี้ พระเจ้านรสีหปติ เมื่อทรงได้ยินดังนั้นจึงทรงคิดได้ และตัดสินพระทัยเริ่มงานก่อสร้างเจดีย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ไม่นานนักเจดีย์นี้ก็สร้างเสร็จ แต่หลังจากที่เจดีย์มงคลสร้างเสร็จได้ไม่ถึง 10 ปี ทัพมองโกลก็เข้ารุกรานพุกาม จนนำไปสู่ความล่มสลายของอาณาจักรพุกามและกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด ด้วยเหตุที่พระเจ้านรสีหปติทรงนำความล่มสลายมาสู่อาณาจักรพุกาม มิงกาลเจดีย์จึงไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างดีเท่าชเวสิกอง แต่ก่อนมิงกาลาเจดีย์ใช้เป็นสถานศึกษาและมีพระมาจำพรรษาเป็นจำนวนมากครับ

ลวดลายบนเจดีย์ครับ

เมื่อเดินขึ้นไปด้านบนเจดีย์ สามารถชมวิวมุมสูงได้ด้วยครับ

ช่วงที่ผมไป ด้านบนกำลังอยู่ระหว่างบูรณะกันอยู่ ทำให้พื้นเต็มไปด้วยเศษปูนและไม้ ทำให้เวลาเดินเท้าเปล่าค่อนข้างลำบากครับ เจ็บเท้ามาก ๆ แถมร้อนเท้าอีกต่างหาก

ผมแวะทานข้าวเที่ยงที่ร้าน จีจี้ ซึ่งร้านนี้หนังสือ Lonely Planet เขา recommend ว่าเป็นร้านอาหารพื้นเมืองที่ไม่ควรพลาดครับ

ดูจากสภาพร้าน เห็นตอนแรกถึงกับตกใจเหมือนกันครับ แต่พอได้ลองชิมรสชาติอาหารแล้ว ก็ถือว่าโอเคอยู่ครับ มีกุ้งแม่น้ำด้วยนะครับ ราคาไม่แพงมากด้วยครับ ที่ร้านเขาจะมีของหวานตบท้ายให้ฟรี เป็นน้ำตาลปึกก้อนเล็ก ๆ ครับ

จุดหมายที่ 8 ของผมคือ ปิตะกะไต้ (Pitaka Taik) เป็นสถานที่ที่เก็บพระไตรปิฎกมอญ เนื่องจากอากาศค่อนข้างร้อนและบริเวณทางเข้าของปิตะกะไต้ค่อนข้างรก คิดว่าการเดินเท้าเปล่าเข้าไปด้านในอาจจะเจ็บเท้าได้ ผมเลยเก็บภาพมาแต่ด้านนอกวิหารเท่านั้นครับ

จากนั้นมุ่งหน้าสู่จุดหมายที่ 9 วิหารสัพพัญญู

วิหารสัพพัญญู (Thatpyinnyu) เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจดีย์แห่งความรอบรู้ เจดีย์แห่งนี้สูงที่สุดในพุกาม สูงถึง 61 เมตร ถือเป็นแม่แบบของสถาปัตยกรรมแบบพม่า สร้างขึ้นตามศิลปะแบบปาละของอินเดีย โดยกษัตริย์อลองสิตู (King Alongsithu) รูปทรงคล้ายอานันทเจดีย์ แต่แผนผังไม่ได้เป็นรูปกากบาทด้านเท่า วิหารสัพพัญญูมีทั้งหมด 5 ชั้น เจดีย์ 2 ชั้นแรกเคยเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ชั้น 3 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้น 4 เป็นหอพระไตรปิฎก ส่วนยอดสถูปเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่เดิมเคยเป็นจุดที่ให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปชมทะเลเจดีย์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ภายหลังเกิดรอยร้าว จึงไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปด้านบนอีก เนื่องจากวิหารแห่งนี้เป็นวิหารที่สูง จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นวิหารแห่งนี้ปรากฎอยู่ในโปสการ์ดที่มีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านค้าครับ

เท่าที่สังเกต วิหารส่วนใหญ่ในพุกามจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่ประตูทั้ง 4 ทิศ พอเราเดินรอบวิหาร ก็จะพบพระพุทธรูปอยู่ทั้ง 4 ด้าน ประจำทิศด้านเหนือ ใต้ ออก ตก เพราะเขามีความเชื่อว่า มีพระพุทธเจ้าทั้งหมดในโลก 4 พระองค์เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ว่าองค์ที่ยังไม่มาก็คือ พระศรีอารย์ ทิศเหนือจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

ถัดจากวิหารสัพพัญญูมานิดหน่อย ก็จะถึงจุดหมายที่ 9 วิหารนัตลองจอนครับ

วิหารนัตลองจอน (Nath Laung Kyaung) ถือว่าเป็นวิหารฮินดูที่ยิ่งใหญ่แห่งเดียวในพุกาม วิหารมีขนาดเล็ก เชื่อกันว่าสร้างโดยพระเจ้าทาวตูจีเพื่อถวายพระวิษณุ ก่อนที่พุกามจะรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามา ภายในห้องบูชาแต่เดิมเคยมีเทวรูปพระวิษณุทรงครุฑประดิษฐานอยู่ แต่ปัจจุบันเทวรูปตกไปเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ดาห์เลมในกรุงเบอร์ลินไปแล้วครับ

เมื่อเดินออกมาข้างนอกวิหาร ด้านข้างก็จะพบจุดหมายที่ 10 เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว

เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว (Nga Kywe Na Daung) เป็นเจดีย์รูปทรงเก่าแก่ในพุกามครับ ด้านข้างก็จะมีเจดีย์ที่ผมไม่เคยเห็นเจดีย์รูปแบบนี้ในพุกามเลยครับ เจดีย์นี้ผมไม่สามารถหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังได้นะครับ

เดินถัดเข้าไปอีกนิด ก็จะถึงจุดหมายที่ 12 วิหารปะเตโลเปครับ

วิหารปะเตโลเป ภายในวิหารค่อนข้างมืด เมื่อเดินเข้าไปแล้วก็จะพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่ สำหรับวิหารนี้ผมพยายามหาข้อมูลจากเน็ตแล้ว แต่หารายละเอียดไม่ได้เลยครับ สงสัยไม่ค่อยมีคนนิยมมาเยี่ยมชม ผมนั่งหลบร้อนอยู่ข้างในสักพัก

ผมจัดแจงจุดเทียนที่ซื้อมาจากวัดมนูหะ แล้วให้พี่แต๋น สาวสวยคนเดียวในทริปนี้ มองดูข้างหลังคล้ายสาวพม่าอยู่เหมือนกัน ไปนั่งเป็นแบบให้ผมครับ

จากนั้นเดินทางสู่จุดหมายที่ 13 วิหารกอว์ดอว์ปะลินครับ

วิหารกอว์ดอว์ปะลิน (Gawdaw Palin) เป็นอีกเจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี เจดีย์แห่งนี้สร้างโดยพระเจ้านรปติสิทธุ เลียนแบบเจดีย์สัพพัญญู เป็นอีกเจดีย์ที่สวยงาม แต่เสียหายหนักเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวปี 1975 โปรแกรมช่วงท้าย ๆ ของวัน ผมเริ่มหมดแรงกันแล้วครับ อาการกำเริบของการเจ็บเท้าก็มีมาไม่ขาดสาย เลยไม่ค่อยได้เดินเก็บรายละเอียดอะไรมากมายเลย

จุดหมายที่ 14 ของผมอยู่ที่มหาโพธิ์เจดีย์ (Maha Bodhi Zedi)

มหาโพธิ์เจดีย์ (Maha Bodhi Zedi) สร้างในสมัยพระเจ้าติโลมินโล รูปทรงองค์เจดีย์แตกต่างจากเจดีย์ทุกองค์ในพุกาม เนื่องจากเป็นเจดีย์ที่พระเจ้าติโลมินโลทรงโปรดให้จำลองแบบมาจากวิหารมหาโพธิ์ แห่งเมืองคยา ประเทศอินเดีย เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ตามสมัยนิยมแบบคุปตะ สำหรับความแตกต่างที่ทำให้องค์เจดีย์มหาโพธิ์ที่พม่า กับวิหารมหาโพธิ์ที่ เมืองคยา คือส่วนปลายยอดเจดีย์มหาโพธิ์ของพุกามเรียวแหลมกว่าครับ

พ่อ แม่ ลูก ดูอบอุ่นจังเลยครับ

จุดหมายสุดท้ายของผมตั้งใจไว้ว่าจะมานั่งพักผ่อนกันที่เจดีย์บูปะยา (Bupaya) เพื่อเก็บบรรยากาศริมน้ำก่อนที่จะไปดูพระอาทิตย์ตกดินกันที่ธรรมยาสิกะครับ แต่พอมาถึงปรากฏว่า เจดีย์กำลังอยู่ระหว่างบูรณะ มีการนำวัสดุจากไม้ไผ่มาปิดไว้เหมือนที่เจดีย์โลกะนันทะเลยครับ เจดีย์แห่งนี้มีรูปทรงคล้ายน้ำเต้า ซึ่งเป็นรูปทรงเจดีย์ที่ได้รับความนิยมในสมัยก่อนตั้งอาณาจักรพุกาม จึงได้ถูกเรียกอีกชื่อว่า เจดีย์น้ำเต้า ตั้งโดดเด่นอยู่ริมน้ำอิรวดี จุดนี้สามารถมานั่งดูพระอาทิตย์ตกดินได้เช่นกัน โดยมีฉากหน้าเป็นลำน้ำอิรวดีครับ

บรรยากาศตอนนี้ไม่เหมือนกับที่ผมคิดแล้ว เพราะเจดีย์กำลังบูรณะอยู่ ก็เลยตัดสินใจกลับไปพักที่โรงแรมก่อน เพื่อรอช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ระหว่างเส้นทางกลับ ก็แวะเที่ยวอีกหนึ่งจุด ซึ่งเป็นจุดที่ 16 ของผมนั่นคือ วิหารอเภยะทะนะ (Apeyadana) ด้านในมีภาพเขียนที่เก่าแก่ครับ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ แต่ผมไม่เห็นป้าย เพราะป้ายมีขนาดเล็กมาก แถมติดอยู่บนผนังสูงที่ค่อนข้างมืด ถ่ายเสร็จถึงมีป้าเดินมาบอกว่า ห้ามถ่ายภาพครับ

ออกจากวิหารอะเภยะทะนะ ก็ตรงเข้าสู่โรงแรมเพื่อพักเหนื่อยกันสักพัก แล้วปิดท้ายโปรแกรมของพุกามด้วยการไปชมพระอาทิตย์ตกดินกันที่เจดีย์ธรรมยาสิกะกันอีกครั้งครับ

ผมไปถึงตั้งแต่ประมาณ 5 โมงเย็น เพื่อรีบไปจับจองทำเลเหมาะ ๆ ตามที่มาดูสถานที่ไว้ตั้งแต่เมื่อเช้า ขึ้นไปก็เห็นมีฝรั่งอยู่ 2 คน นั่งอยู่ตรงทำเลที่ผมเล็ง ๆ ไว้แล้ว แต่ไม่เป็นอุปสรรคครับ เพราะยังพอมีพื้นที่เหลืออยู่อีกบ้าง ระหว่างรอพระอาทิตย์ตกดินก็ส่องเก็บภาพบรรยากาศไปเรื่อย ๆ วันนี้ท้องฟ้าโปร่งไร้เมฆครับ แต่เท่าที่มองรูปการแล้ว ผมอาจไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ยามอ่อนแสงเหมือนไข่แดงดวงโต ๆ เพราะว่าพระอาทิตย์คงตกหลังเขาอย่างแน่นอนครับ

บรรยากาศยามเย็นครับ

มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาบนเจดีย์นี้เพื่อมาดูพระอาทิตย์ตกเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายสุดเมื่อพระอาทิตย์ตกไปแล้ว แสงสุดท้ายได้มาเท่าที่เห็นในรูปครับ ไม่สวยอย่างที่ผมคิดเลย ถือว่าผมปิดทริปในพุกามอย่างเต็มสูตร กับ 24 วัดในพุกาม เล่นเอาเดินเข้าออกวัดกันขาลากเลยทีเดียว

ก่อนกลับโรงแรม ขอเก็บภาพเจดีย์ธรรมยาสิกะช่วงสิ้นแสงตะวันซะหน่อยครับ

หลังจากแสงสุดท้ายหมดลง ก็หาอาหารค่ำและรีบเข้าโรงแรมเพื่อพักผ่อน เตรียมพร้อมจะบินไปมัณฑะเลย์ในวันรุ่งขึ้นครับ

ตามไปเที่ยวมัณฑะเลย์กันต่อที่ Myanmar Now or Never # 2 : Mandalay

https://th.readme.me/p/1357

ความคิดเห็น