...ช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นช่วงที่ผมมักเดินทางอยู่บ่อยครั้งและปีนี้ก็เช่นกันที่ภาพกระท่อมน้อยกลางทุ่งนาสีเขียวขจี มีไอหมอกไหลเอื่อยๆผ่านทิวเขาที่เป็นฉากหลังของทุ่งนาแห่งบ้านป่าบงเปียงกลับมาอยู่ในห้วงความคิดคำนึงของผมอีกครั้ง ผมเคยไปที่แห่งนี้เมื่อตอนปลายฝนต้นหนาวในเดือน พ.ย เมื่อ 3 ปีก่อนซึ่งเก็บเกี่ยวกันเกือบหมด เลยอยากเห็นทุ่งนาแบบสีเขียวที่โตเต็มที่ ที่เริ่มออกรวงไปทั่วท้องทุ่ง ผมเลยล็อควันไปในช่วงปลายเดือนกันยาหาตั๋วโปร รถเช่า ที่พัก ไว้ล่วงหน้า ออกเดินทางไฟร์ทเช้าสุดเพื่อที่จะได้มีเวลาท่องเที่ยวทั้งวัน ถึงสนามบินเชียงใหม่ประมาณ 8 โมง อากาศยามเช้าของตัวเมืองเชียงใหม่ต้อนรับผมด้วยไอหมอกและฝนพรำหน่อยๆ อากาศแบบนี้แหละที่ผมถวิลหา

1.วัดพระธาตุดอยคำ

สถานที่แรกที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนมาแล้วว่าจะหาโอกาสไปให้ได้คือ วัดพระธาตุดอยคำ จากสี่แยกสนามบินวิ่งเส้นเชียงใหม่-หางดงไปประมาณ 10 กิโลเลี้ยวขวาเข้าถ.สมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี เข้าไปทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ วัดจะอยู่ด้านหลังอุทยาน ตามรายทางของทางขึ้นวัดจะมีจุดขายดอกมะลิไว้บูชาหรือแก้บนหลวงพ่อทันใจอยู่เรียงราย มาเชียงใหม่ครั้งนี้จุดประสงค์หลักอย่างหนึ่งของผมคืออยากมาไหว้สักการะหลวงพ่อทันใจเพื่อเป็นสิริมงคลสักหน่อย และก็ไม่ลืมบนบานขอโชคขอลาภกับองค์หลวงพ่อไปตามระเบียบ กลับมาก็ถูกหวยรวยเบอร์เป็นรางวัลปลอบใจนิดๆหน่อย ^^

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่อายุอานามกว่า 1300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ ด้านหลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยพระนางจามเทวี โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้าง เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"

ตามตำนานกล่าวว่า ยอดเขาที่ตั้งพระธาตุดอยคำนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของยักษ์สองผัวเมีย ชื่อ จิคำและตาเขียวมาก่อน ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้เรียกยักษ์ทั้งสองนี้ว่า “ปู่แสะ – ย่าแสะ” ปู่แสะย่าแสะมีลูก 1 คน ชื่อว่า “สุเทวฤๅษี” เหตุที่ได้ชื่อว่าดอยคำ เนื่องจากศุภนิมิตที่ยักษ์ทั้งสองได้รับพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า แล้วเกิดฝนตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำฝนเซาะและพัดพาแร่ทองคำบนไหล่เขา และลำห้วยไหลลงสู่ปากถ้ำเป็นจำนวนมาก จึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า “ดอยคำ”เทวดาได้นำพระเกศาธาตุที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแก่ปู่แสะและย่าแสะ นำขึ้นมาฝังและก่อสถูปไว้บนดอยแห่งนี้ และต่อมาในปี พ.ศ. 1230 เจ้ามหันตยศ และเจ้าอนันตยศ 2 พระโอรสแฝดของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญชัยนครได้ขึ้นมาก่อเจดีย์ครอบพระสถูปเกศานั้นไว้ ส่วนพระเจดีย์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ทางทิศเหนือของดอยคำ คือพระธาตุดอยสุเทพ (source : wikipedia.org)

2.วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

ออกจากวัดพระธาตุดอยคำ เลี้ยวขวาไปแยกต้นเกว๋นเข้าสู่ ถ.เลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง ตรงยาวผ่าน อ.หางดง > อ. สันป่าตอง แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้น 108 เชียงใหม่-ฮอด ผ่าน อ. ดอยหล่อ จนเข้ามาถึง อ. จอมทอง หน้าวัดจะเป็นคิวรถสองแถวที่วิ่งมาจากตลาดประตูเมืองเชียงใหม่จะมาสุดสายที่หน้าวัดเลย

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง เป็นวัดประจำปีเกิดของคนเกิดปีชวดตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 บริเวณที่ตั้ง เป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่

วัดพระธาตุศรีจอมทอง เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณ เมล็ดพุทรา สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พศ.218 ปัจจุบันพระธาตุถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวืหารจตุรมุค ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสคล้ายพระเจดีย์ หรือ กู่ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2060 (source : wikipedia.org)

3.นาขั้นบันไดบ้านผาหมอน

ออกเดินทางต่อจากวัดพระธาตูศรีจอมทองขับย้อนออกมาเส้นทางเดิม จนเจอสามแยกเลี้ยวซ้ายจะไปดอยอินทนนท์ วิ่งตามเส้น 1009 จอมทอง-อินทนนท์ นี้ไปประมาณ 25 กม.ผ่านด่านตรวจดอยอินทนนท์จุดที่ 1 บอกไปแม่แจ่มจะไม่เสียค่าผ่านทางเส้นนี้จะมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายตามรายทางแต่ผมไม่ได้แวะ ขับไปประมาณ 30 นาทีกม. จะเจอป้ายทางเข้าบ้านผาหมอนอยู่ด้านขวามือ เลี้ยวขวาขับตรงเข้าไปตามทางถนนดินแดง จะมีคอนกรีตบางช่วง ไต่ไปตามไหล่เขาแคบๆ อีก 8 กม จะถึงบ้านผาหมอน.ระหว่างทางหากมองลงไปด้านขวามือจะมองเห็นวิวนาขั้นบันไดมุมสูง ขับต่อไปสัก 30 นาทีก็จะะถึงหมู่บ้าน รถธรรมดาก็สามารถวิ่งได้ถ้าฝนไม่ตกหนักจนทางเละเกินไป

ชุมชนบ้านผาหมอน เป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง แวดล้อมไปด้วยหุบเขาล้อมรอบไม่ไกลจากดอยอินทนนท์และบ้านแม่กลางหลวง ในอดืตประชาชนในละแวกนี้อพยพมาจาก อ.แม่สะเรียงและ อ.ปาย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ในชุมชนนี้มีโฮมสเตย์ที่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับนักท่องเที่ยวชื่อว่า Bamboo Pink House หรือบ้านผาหมอนโฮมสเตย์ ซึ่งได้ข่าวว่าจองยากมากๆในช่วง green season เพราะเป็นจุดชมทุ่งนาขั้นบันไดที่สวยงามจุดหนึ่งในละแวกนี้ที่ไม่ควรพลาด ผมเลยแวะเช้าไปชมสักหน่อย ตัวบ้านพักเป็นบ้านหลังใหญ่น่าจะจุคนเต็มที่ได้ไม่เกิน 10 คนตั้งอยู่บนเนินที่วิวเบื้องหน้าของตัวบ้านเป็น ทุ่งนาข้าวขั้นบันไดทอดยาวไปจนจรดตีนเขาอีกด้าน วิวโดยรอบงดงาม เงียบสงบ น่ามานอนพักสักคืนมากๆ

4.นาขั้นบันได บ้านแม่กลางหลวง

จากปากทางเข้าบ้านผาหมอนริมถนนเส้นจอมทอง-อินทนนท์ขับต่อไปอีก 3 กิโลกว่าๆจะเจอนาขั้นบันไดบ้านแม่กลางหลวง เลี้ยวซ้ายเข้าไปได้เลย ตรงบริเวณนี้จะมีทั้งโฮมสเตย์และรีสอร์ทหลายเจ้าไว้รองรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไว้ลำหรับติดต่อหากต้องการไกด์นำเที่ยวพาชมวิถึชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอบริเวณนี้ และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติพาชมน้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือเดินป่าเส้นทางละแวกนี้ก็ได้

การปลูกข้าวที่นี่จะเริ่มดำนากันเดือนมิถุนายนและเก็บเกี่ยวช่วงพฤศจิกายน ความงามของทุ่งนาก็สวยงามทุกช่วงแต่ช่วงพีคสุดจะเป็นช่วงต้นข้าวโตเต็มที่เขียวสดไปทั่วท้องทุ่งประมาณเดือนปลายเดือนก.ย-ต.ค และช่วงปลายตุลา-ต้นพฤศจิกาต้นข้าวจะออกรวงช่วงนี้ทุ่งนาจะเป็นสีทองอร่ามรอการเก็บเกี่ยว เราสามารถเดินเล่นไปตามคันนาได้แต่ระวังตกคันนาดั่งในภาพน่ะครับ (เจอนักท่องเที่ยวรุ่นใหญ่มาเที่ยวชมทุ่งนาเลยขอให้เป็นแบบให้หน่อย (^^!)

5.จุดชมวิวแม่แจ่ม

จากบ้านแม่กลางหลวงขับต่อมาเรื่อยๆสัก 10 กม.จะเจอด่านตรวจจุดที่ 2 ดอยอินทนนท์บอกไปแม่แจ่มก็จะไม่เก็บเงิน ออกจากด่านประมาณ 10 เมตรเลี้ยวซ้ายวิ่งเข้าเส้น 1192 แม่แจ่ม-ขุนยวม ทางที่จะไปแม่ฮ่องสอนนั่นแหละครับ เส้นทางช่วงนี้จะค่อนข้างคดเคี้ยวขึ้นเขาลงเขา แต่อากาศดีมากครับ มีหมอกลงเกือบจะตลอดเส้นทาง วิ่งมาเรื่อยๆอีกสัก 10 กว่าโลจะเจอสามแยกเข้าอ.แม่แจ่ม เป็นจุดพักรถและจุดชมวิวที่รู้สึกว่าเพิ่งจะสร้างเสร็จใหม่ๆไม่นาน จุดนี้จะอยู่หลังดอยอินทนนท์ มีเมฆหมอกพัดผ่านอยู่ตลอดเวลา มองขึ้นไปเห็นพระธาตุทั้ง 2 องค์อยู่ลิบๆ คาดว่าไม่นานจุดนี้คงทำเป็นนาขั้นบันได และกำลังมีการก่อสร้างร้านกาแฟ คงเป็นอีกจุดที่ได้รับความนิยมในอนาคตนี้แน่นอน

6.นาขั้นบันไดบ้านผานัง

เนื่องจากใช้เวลาในการแวะเที่ยวนู่นนี่นั้นนานเกินเลยต้องพับแผนที่ว่าจะเข้าตัวอ.แม่แจ่มและไปเก็บภาพทุ่งนาทางบ้านตีนผา กับบ้านป่าบงเปียง เพราะเริ่มเย็นมากแล้วคงไม่ทัน และผมจองที่พักไว้ที่โกวิทกระท่อมปลายนาซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจุดชมวิวแม่แจ่มแค่ 4-5 กิโลเลยเข้าที่พักไปเก็บภาพบรรยากาศที่พักและที่นี่ก็มีนาขั้นบันไดเหมือนกัน ติดตามชมบรรยากาศที่พักแบบเต็มๆได้ที่นี่ครับ โกวิทฟาร์มสเตย์

7.น้ำตกแม่ยะ

ผ่านไป 1 วันหลังจากเข้าพักที่โกวิทกระท่อมปลายนา วันนี้ต้องเดินทางต่อไป อ.เชียงดาวซึ่งอยู่คนล่ะทิศกันเลยทีเดียว เลยตัดสินใจไม่เข้าแม่แจ่ม เพราะต้องใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 4-5 ชั่วโมงกว่าจะถึงเชียงดาว ขับรถย้อนกลับทางเก่าเส้น 1009 จอมทอง-อินทนนท์ เส้นนี้จะมีน้ำตกอยู่หลายแห่งให้แวะเข้าไปชมกัน แต่ผมเวลาไม่พอ เลยเลือกเอาน้ำตกแม่ยะ เพราะอยากเห็นความใหญ่โตของน้ำตกที่เมื่อก่อนเป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยที่สุดในประเทศก่อนที่จะพบน้ำตกทีลอซูดูสักหน่อย น้ำตกแม่ยะจะแยกจากเส้น 1009 เข้าไปอีกประมาณ 15 กม.และเดินต่อไปยังตัวน้ำตกอีกประมาณ 500 เมตร หากมีการเสียเงินที่ด่านอช.ดอยอินทนนท์แล้วอย่าทิ้งบัตร บัตรนี้สามารถนำมาใช้เข้าน้ำตกแม่ยะได้ฟรี วันที่ผมไปค่อนข้างเงียบเหงาไม่มีนักท่องเที่ยวเลย อีกอย่างสภาพน้ำที่นั่นช่วงหน้าฝนคงไม่มีใครเที่ยวกัน เพราะสีน้ำจะขุ่นจนเป็นสีโอวัลติน และตัวน้ำตกอาจจะปิดเมื่อมีน้ำป่ามา

8.บ้านแม่แมะ

ผมขับมาถึงเชียงดาวเมื่อตอนใกล้ค่ำ วิ่งเส้นเลียบคลองชลประทานมา กว่าจะหลุดพ้นตัวเมืองเชียงใหม่มาได้ ทั้งเรื่องการจราจรที่สาหัสพอๆกับกรุงเทพในช่วงเย็น ติดมันทุกไฟแดงเลย และมาเจอทางเบี่ยงทำถนนอีก ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะหลุดมาถึงเส้น 107 เชียงใหม่-ฝาง หรือถนนโชตนา เส้นนี้จะวิ่งผ่านอ.แม่ริม - แม่แตง เชียงดาว - ฝาง สิ้นสุดที่แม่จัน คืนนี้ผมเข้าพักที่ บ้านต้นไม้แม่แมะ ก่อนถึงตัวอ.เชียงดาว ตรง ต.แม่นะเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้ายบอกทาง ที่แห่งนี้เป็นอีกที่ที่อยากแนะนำ สภาพแวดล้อมอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของป่าไม้และลำธาร มีเสียงนกร้องมีเสียงน้ำไหล มีเสียงแมลงขับกล่อมยามค่ำคืน อากาศดีสุดๆ ติดตามชมบรรยากาศที่พักแบบเต็มๆได้ที่นี่ครับบ้านต้นไม้แม่แมะ


9.วัดถ้ำเชียงดาว

รุ่งเช้าของวันสุดท้าย ออกจากบ้านแม่แมะผมขับขึ้นไปยังตัวอำเภอเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางป้ายบอกทางที่ไปถ้ำเชียงดาว มองเห็นดอยหลวงเชียงดาวตั้งทะมึนอยู่เบื้องหน้านั่นแหละครับ ทางจะเป็นถ.คอนกรีต 2 เลนแคบๆพอสวนกันได้ วิ่งไปเรื่อยๆผ่านหมู่บ้านตรงเข้าไปอย่างเดียวก็จะเจอวัดถ้ำเชียงดาว

วัดถ้ำเชียงดาว ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำ ถนนเชียงใหม่-แม่จัน ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2310 มีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดถ้ำหลวงเชียงดาว การก่อสร้างเริ่มครั้งแรกโดยพระครูบาประธรรมปัญญา และพ่อแสนปี ต่อมา พ.ศ. 2430 พระยาอินต๊ะภิบาล มาทำบันไดขึ้นสู่ปากถ้ำ พร้อมเสนาสนะและศิลปวัตถุอื่นๆ ใน พ.ศ. 2456 มีฤาษีชื่ออุคันธะมาสร้างพระพุทธรูป จนถึง พ.ศ. 2477 ครูบาศรีวิชัย มาสร้างและบูรณะ นอกจากนั้นในสมัยหลังได้มีการสร้างและบูรณะเสนาสนะเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2514

มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับ "ถ้ำเชียงดาว" ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งอดีตสมัยเมืองพะเยารุ่งเรืองอำนาจ เจ้าผู้ครองนครพระนามว่า "เจ้าหลวงคำแดง" พระองค์โปรดการเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ครั้งหนึ่งได้เสด็จไล่ตามจับกวางงามตัวหนึ่ง พระองค์พยายามควบม้าไล่ตามอย่างกระชั้นชิดแต่ก็หาทันไม่ กวางได้วิ่งหนีไปจนถึงเชิงดอยอ่างสะลุงและหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในถ้ำเชิงเขา เจ้าหลวงพยายามจะตามจับให้ได้ ลงจากหลังม้าแล้วทรงวิ่งตามกวางเข้าไปในถ้ำ ส่วนไพร่พลสุดที่จะทัดทานได้และวิ่งตามไม่ทัน เจ้าหลวงคำแดงเข้าไปเที่ยวหากวางในถ้ำแต่ไม่พบ พบแต่สาวงามผู้หนึ่งได้สนทนากันจนเป็นที่พอพระทัย ได้ทรงทราบความจากสาวงามชื่อ "อินทร์เหลา" ว่านางถูกสาปให้มาอยู่ในถ้ำนี้ ถ้าออกนอกถ้ำจะกลายร่างเป็นกวางทันที เจ้าหลวงได้ทรงทราบมีความสงสารและเกิดความเสน่ห์าได้อยู่กินกับนางกวางในถ้ำ นั้นตลอดมา โดยไม่ยอมกลับไปบ้านเมือง แม้พวกข้าราชบริพารจะมาเชิญให้กลับก็ไม่ยอม พระองค์จะพานางไปอยู่ในเมืองก็ไม่ได้ เพราะนางจะกลายร่างเป็นกวาง ฉะนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอยู่กินกับนางจนตลอดชีวิต ชาวบ้านยังคงมีเชื่อว่าวิญญาณของเจ้าหลวงคำแดงกับนางอินทร์เหลายังคงสิงสถิตอยู่ในถ้ำเชียงดาวมาจนทุกวันนี้ (source : teeteawthai.com)

10.ขาหมูเชียงดาว

ใกล้เที่ยงแวะหาร้านอร่อยในตำนานในตัว อ.เชียงดาวสักหน่อย ผ่านมาแถวนี้ทีไรต้องแวะเวียนไปกินข้าวขาหมูเจ้าเก่าเจ้าแรกของอำเภอเปิดมาตั้งแต่รุ่นอากง อาม่า หากมาจากเชียงใหม่ตามถนนโชตนา เลี้ยวขวาเข้าตัวอำเภอ ร้านนี้จะอยู่ขวามือตรงหัวมุมสี่แยกเล็ก ร้านเป็นห้องแถวเก่า 3 ห้องภายในร้านตกแต่งด้วยของเก่า สภาพโต๊ะเก้าอี้นั่งเป็นโต๊ะกลมแบบโบราณ ร้านเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น นอกจากเมนูขาหมูที่ขึ้นชื่อแล้ว แล้วยังมีแกงฮังเล แกงไก่ ตือฮวน รสชาติดี และอาหารตามสั่งอีกหลายอย่างไว้บรืการอีกด้วย

11.วัดเด่นสลีศรีเมืองแกน

ขากลับวิ่งผ่านอ.แม่แตงแวะเที่ยววัดที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ วัดนี้ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 45 กม วิ่งเส้น 107 เชียงใหม่-ฝาง เลยแยกแม่มาลัย ผ่านสามแยกแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จากนั้นให้สังเกตป้ายทางเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลทางด้านขวามือ เลี้ยวขวาเข้าไปไม่ไกลมาก จะเจอซุ้มยินดีต้อนรับสู่เทศบาลเมืองแกน เมื่อลอดซุ้มแล้วให้เลี้ยวซ้ายซอยเล็ก ๆ ก่อนถึงสนามกีฬา แล้วก็ตรงไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ วัดนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัก 1 ชั่วโมงจึงจะเที่ยวได้ทั่ว เพราะพื้นที่วัดกว้างมาก และสถาปัตยกรรมก็มีความงดงามมาก และมีมุมถ่ายภาพสวยๆอยู่เยอะทีเดียว

วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน เดิมชื่อ "วัดหรีบุญเรือง" สร้างเมื่อ พ.ศ. 2437 บริเวณที่ตั้งเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ภายใต้เนินนั้นเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ จึงเรียกกันว่า "วัดบ้านเด่น" สภาพแวดล้อมประกอบด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย และศิลปะล้านนา ทำให้วัดแห่งนี้มีความสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นอย่างมาก แต่เดิมชื่อว่า วัดบ้านเด่นเฉย ๆ ตั้งแต่ท่านครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ จากที่ไม่เคยมีต้นโพธื์เลยสักต้นเดียว ก็มีต้นโพธิ์ขึ้นมากมาย โดยชาวเหนือเรียกต้นโพธิ์ว่า “ต้นสะหลี” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นมงคลดี ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อวัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัด อีกทั้งวัดยังตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าในสมัยโบราณที่ชื่อว่าเมืองแกน ชาวบ้านก็เลยเรียกชื่อวัดนี้เต็ม ๆ ว่า “วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน”

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างนั้นเป็นแบบล้านนาประยุกต์ ที่ผสมผสานกับแนวคิดของท่านครูบาเจ้าเทือง ที่เรียกว่า “แนวสถาปนึก” คือคิดจะใส่อะไรก็ใส่ จะทำอะไรก็ทำ แต่ต้องมีความมั่นคง

ท่านครูบาเจ้าเทืองต้องการให้เป็นการผสมผสานระหว่าง วัดบ้านกับวัดป่า เพราะมีความเชื่อว่าศาสนาอยู่ได้เพราะปฏิบัติ การแบ่งแยกไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ยึดหลักการสร้างตามบุญ คงเพราะการสร้างตามบุญนี่เองที่ทำให้ทุกวันนี้วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนจึงมีขนาดสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต และงดงาม

วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกนแห่งนี้ เกิดจากแรงศรัทธาในเรื่องของศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้ที่มาเยือนและผู้พบเห็น สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นเพียงวัดเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อท่านครูบาเจ้าเทือง นาถสีโล เกจิดังแห่งภาคเหนือที่จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ จึงพัฒนาจากวัดเล็ก ๆ ให้มีความใหญ่โตสวยงาม ทรงคุณค่าในงานพุทธศิลป์ถิ่นล้านนา (source : dooasia.com)

12.วัดพระธาตุดอยสุเทพ

ก่อนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ ตั้งใจแวะนมัสการองค์ครูบาศรีวิชัยและเที่ยวชมวัดสักหน่อย มาเชียงใหม่หลายครั้งแต่ไม่เคยขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุเลยสักครั้งเดียว อย่าว่าแต่สักการะเลย ในตัวเมืองเชียงใหม่ก็ไม่เคยได้เที่ยวชม ส่วนใหญ่จะออกไปตามจุดเที่ยวทางธรรมชาติในอำเภอรอบนอกซะมากกว่า

การเดินทางมายังวัดสามารถขึ้นรถสองแถวบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านถนนห้วยแก้ว บริการระหว่างเวลาประมาณ 05:00-07:00

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารแห่งนี้จัดเป็น พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา มีเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยมปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ลานเจดีย์เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ทางขึ้นเป็นบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พศ.1929 ในสมัยพญากือนากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนาราชวงศ์ล้านนา พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น ในปี พศ.2481 สมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ได้โปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และต่อมาเจ้าท้าวทรายคำ ราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ(source : wikipedia.org)

บทสรุป

เชียงใหม่ยังมีที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม ทั้งความเจริญและความเรียบง่ายของชุมชนท้องถิ่นรอบนอก หากมีเวลาผมมักเลือกท่องเที่ยวจังหวัดนี้เป็นอันดับแรกอยู่เสมอ ยิ่งในช่วงหน้าหนาวนี้นักท่องเที่ยวคงคับคั่งเหมือนทุกปี แล้วเพื่อนๆล่ะมีแปลนมาเที่ยวที่เชียงใหม่กันบ้างไหม มาแล้วอย่าลืมแชร์เรื่องราวท่องเที่ยวกันได้น่ะครับ...สวัสดี


-ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ได้เข้ามาชม และ กด like กด share เป็นกำลังใจน่ะครับ

-แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพูดคุย สอบถามข้อมูลการเดินทาง Fanpage : สตั๊ดดอยร้อยเรื่องราว

-ติดตามบทความเก่าๆ ได้ที่นี่ครับ ทริปเดินทางทั้งหมด



สตั๊ดดอย ร้อยเรื่องราว

 วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เวลา 09.57 น.

ความคิดเห็น