"ดอยหลวงเชียงดาว" เป็นพื้นที่รับผิดชอบดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมียอดดอยหลวงเชียงดาว เป็นยอดดอยที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 2,225 เมตร ถือเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากดอยอินทนนท์ และดอยฟ้าห่มปก ทำให้หลายคนโดยเฉพาะผมเอง ไฝ่ฝันว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปพิชิตยอดดอยแห่งนี้ให้ได้ ทำไมที่นี่จึงที่นิยมอย่างมากสำหรับคนที่ชอบท่องเที่ยวแนวเดินป่าศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ด้วยระยะทางเดินเท้ากว่า 8.5 กม. จากหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วย แม่กอก (เด่นหญ้าขัด) ดูแล้วก็ไกลและเหน็ดเหนื่อยไม่น้อย

เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า แท้จริงแล้วไม่ได้เปิดเพื่อรองรับการท่องเที่ยว แต่บางพื้นที่ได้ผ่อนปรนบางส่วนให้เราได้เข้าไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศึกษาธรรมชาติได้ ทั้งนี้จะต้องเคารพกฏของเขตรักษาพันธุ์ฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมแล้วก็ตามอ้ายมาโล้ดเด้อ


ทริปนี้ 3 วัน 2 คืน จะได้เที่ยวได้ทั่วและไม่เหนื่อยจนเกินไป เพื่อนๆ สามารถวางแผนเที่ยวตามนี้ได้ครับ

(ภาพถ่ายจากการไปเที่ยว 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน และครั้งที่สองเดือนมกราคม)


-----------------------------------------------------------------------------------------------

Day 01 : เขตรักษาพันธุ์ฯ - หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) – ลานกางเต็นท์อ่างสลุง - ชมตะวันตกดินที่ยอดดอยหลวงเชียงดาว

-----------------------------------------------------------------------------------------------


เราเดินทางไปยังจุดเริ่มเดินเท้าด้วยรถกระบะที่ติดต่อเช่าไว้แล้ว ใช้เวลาประมาณ 1.30-2.0 ชม. จากเขตรักษาพันธุ์ฯ ถึงหน่วยฯ เด่นหญ้าขัด จากนั้นก็จัดแจงเตรียมสัมภาระต่างๆ แล้วเดินเท้าไปยังลานกางเต็นท์ อ่างสลุง ด้วยระยะทางราว 8.5 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 5- 6 ชั่วโมง ถ้าเราพร้อมไวก็เดินทางได้เลย จะได้ถึงจุดกางเต็นท์และมีเวลาขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตกดินบนยอดดอยหลวงเชียงดาว (สำหรับคนที่ยังมีแรงพอนะครับ ถ้าไม่ไปก็พักผ่อน เตรียมแคมป์ปิงพักผ่อนเอาแรง ค่อยไปชมอีกวันก็ได้)


จุดเริ่มเดินเท้า หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด)



ถือว่าเดินไม่ยากครับ เดินไปได้เรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก มีวิวสวยๆ มีร่มไม้เย็นๆให้เราได้นั่งพักให้หายเหนื่อย



มีวิวสวยๆ ภูเขาสลับซับซ้อนให้ดูตลอด


พอเราไต่ระดับความสูงมาสักระยะ เราจะได้เห็น “ดอกเทียนนกแก้ว” มันคือหนึ่งเดียวของที่นี่เลยละ เป็นพันธุ์ไม้หายากชนิดหนึ่ง พบตามใต้ร่มไม้ใหญ่ในป่าดิบเขาหรือบริเวณโขดหินปูนที่อยู่สูง จากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,500-1,800 เมตร ดอกจะบานราวเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน


เรามาถึงลานกางเต็นท์ประมาณ 16.00 น. รีบหาพื้นที่กางเต็นท์สำหรับพักแรม แล้วรีบบึ่งขึ้นเขาไปชมพระอาทิตย์ตกดินบนยอดดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งจะ ใช้เวลาเดินขึ้นเขาประมาณ 30 -45 นาที

การได้มาชมวิวบนยอดดอยหลวงเชียงดาว มันสุดยอดจริงๆ ทั้งวิวและลมดอยมันช่างทำให้เราหายจากความเหนื่อยล้าจริงๆ

ในแต่ละเดือนก็จะแตกต่างกันไป สภาพอากาศที่นี่แปรปรวนได้ตลอด อาจจะเจอฝน กลุ่มเมฆ จนไม่สามารถบอกได้เลยว่าช่วงไหนสวยที่สุด นี่แหละคือธรรมชาติ

ถ้าโชคดี อาจได้เจอทะเลหมอกยามตะวันตกดินแบบนี้

อย่าลืมพกไฟฉายมาด้วยนะครับ และเสื้อกันหนาว หลังตะวันตกดินอากาศจะหนาวมากๆ


ได้เวลากลับแคมป์ กินข้าว ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมทริปกันพอหอมปากหอมคอและพักผ่อนเอาแรง เช้าวันต่อไปเราจะไปชมแสงแรกและทะเลหมอกสวยๆ ที่กิ่วลมใต้กัน คืนนี้นอนชมดาวสวยๆ กันนะ

ดาวล้านดาว กับความหนาวเหน็บ อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา กันเลยทีเดียว



-----------------------------------------------------------------------------------------------

Day 02 : ลานกางเต็นท์อ่างสลุง – ชมแสงแรกและทะเลหมอกที่ ยอดดอยกิ่วลมใต้ - ชมพระอาทิตย์ตกดินรอบที่ 2 ที่ยอดดอยหลวงเชียงดาว

-----------------------------------------------------------------------------------------------

สิ่งที่ไม่ควรพลาด ของการมาเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว คือการได้มาชมแสงแรกและทะเลหมอกสวยๆ ที่สุดลูกหูลูกตา ที่ยอดดอยกิ่วลมใต้ โดยเราจะเดินเท้าจากลานกางเต็นท์อ่างสลุงประมาณ 45- 60 นาที มีปีนป่าย ค่อยๆ ไต่ระดับความชัน แถมลื่นด้วย ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยนะครับ ควรพกไฟฉายและเตรียม น้ำดื่ม ขนม มาม่า กาแฟ ไปด้วย เพราะกว่าจะกลับถึงลานกางเต็นท์อาจหิวได้

ความโชคดีของผม ที่จะได้เจอทะเลหมอกสุดอลังในเบื้องหน้านี้ ขอบคุณรางวัลจากธรรมชาติครับ

เริ่มสว่าง ยิ่งเห็นทะเลหมอกได้ชัดเจน ดวงดาวก็เริ่มเลือนหายไป

ส่องลงไปยังลานกางเต็นท์อ่างสลุง ก็จะเห็นแคมป์เรา

(ภาพเดือน พ .ย.)

ภาพเดือน ม.ค.

นอกจากจะได้เห็นความสวยงามของทะเลหมอกที่อาบแสงอาทิตย์สีทองสวยงามแล้ว ยังมีพันธุ์ไม้แปลกตา สวยงามให้เราได้ชมอีกมากมาย โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน


"ฟองหินเหลือง" Sedum susanae Hamet ขึ้นอยู่บนหิน พบได้ตั้งแต่ทางขึ้นป่าดงดิบก่อนเข้าอ่างสลุง ยอดดอยหลวง


"กระดูกไก่น้อย"
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthaceae Justicia diffusa Wild.


"แสงแดง" Coliquhounia coccinea Wall. var. mollis Prain
พบบนยอดดอยหลวงเชียงดาวและกิ่วลม ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์


"หนาดคำ"

ชื่ออื่นๆ : หญ้าฮากเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmodium oblongum

วงศ์ : FABACEAE

"ชมพูเชียงดาว" Pedicularis siamensis Tsoong พบบนยอดดอยหลวงเชียงดาวและกิ่วลม ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม


"มุกมังกร"


"เทียนเชียงดาว" Impatiens chiangdaoensis T.Shimizu


"ฟอร์เก็ตมีน๊อทป่า"


"หญ้าดอกลาย" Swertia striata Coll. & Hemsl.
พบบนยอดดอยหลวงเชียงดาวและกิ่วลม ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์


จากนั้นเราก็กลับไปยังลานกางเต็นท์ เพื่อกินข้าว พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์สนุกนานกับเพื่อนร่วมทริปและนอนพักผ่อนเอาแรง เพื่อขึ้นไปดูตะวันตกดินอีกครั้ง ขยันจังเลย ฮ่าๆๆ ไปแล้วไปอีก แน่นอนว่า มันต้องมีอะไรให้เราได้ตื่นเต้น และแตกต่างจากวันอื่นแน่นอน นี่แหละคือธรรมชาติ

คืนนี้ฝันดีครับ


-----------------------------------------------------------------------------------------------

Day 03 : ลานกางเต็นท์อ่างสลุง – ชมแสงแรกและทะเลหมอกที่ยอดดอยหลวงเชียงดาว วิว 360 องศา – เดินทางกลับ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

เช้าวันสุดท้ายของทริป ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาชมแสงแรกที่ดอยหลวงเชียงดาว เชื่อว่าแรงยังเหลือพอ นับแล้วการขึ้นมาชมวิวบนยอดดอยหลวงเชียงดาว ทั้งแสงเย็นและเช้าก็ครบ 3 รอบพอดีสำหรับทริปนี้ อย่าเลียนแบบนะครับ ถ้าปวดเมื่อยขาก็พักผ่อนเอาแรงไว้เดินลงเขาขากลับดีกว่า ถ้าใครไหวก็ลองเปลี่ยนมาชมวิวตอนเช้าที่ยอดดอยหลวงเชียงดาวบ้าง มันก็สวยงามไปอีกแบบเด้อกับวิว 360 องศา แบบนี้ พร้อมแล้วตามมา

ไม่รู้จะพูดยังไง ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้มาอยู่จุดสูงสุดยอดดอยหลวงเชียงดาว ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มันช่างสวยงาม อลังการมาก


:::การเตรียมตัวและใช้ชีวิตบนดอยหลวงเชียงดาว:::

- น้ำ : สำหรับดื่ม หรือทำกิจกรรมของตัวเอง เพราะด้านบนไม่มีแหล่งน้ำ

- เครื่องกันหนาวและกันฝน : สำคัญมาก เนื่องจากพื้นที่ด้านบนมีมีสภาพอากาศแปรปรวน อาจจะเจอทั้งหนาวมากหรือฝนตก (ถุงเท้า หมวกกันหนาว ผ้าพันคอ เสื้อกันฝนและเสื้อกันหนาว)

- ทิชชูแบบแห้งและเปียก : เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แม้ทิ้งแค่ชิ้นเดียวแต่หลายคนก็หลายชิ้น ส่งผลทำลายระบบนิเวศน์และเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าหากเค้ากินเข้าไป ทุกคนควรพกถุงขยะหรือถุงพลาสติกติดตัว เพื่อเก็บกลับลงมาทิ้งด้านล่าง

- ถุงมือ : ใช้ระหว่างการเดินทางได้ เพราะเราอาจต้องใช้จับไม้เท้า จับหินที่แหลมคม ใบหญ้าเพื่อยึดเกาะตามทางเดิน และกลางคืนสามารถใช้ใส่กันหนาวได้

- รองเท้า : ควรเป็นรองเท้าห้มส้น มีดอกยางกันลื่น เพราะพื้นที่มีทั้งทางราบ ทางลาดชันและหินที่แหลมคม

- แก้วน้ำและกล่องข้าว : เพื่อลดการใช้ขยะจากกล่องโฟมและถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง - ถุงขยะ : ขยะทุกชิ้นที่เรานำขึ้นไป ควรนำกลับลงมาให้หมด ร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม


:::หมายเหตุ:::

- เขตรักษาพันธุ์ฯ เปิดให้เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เฉพาะศุกร์ เสาร์ (เดินทางกลับในวันอาทิตย์) และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับปีนี้ 2560 เริ่ม 3 พ.ย.2560 - 11 ก.พ. 2561

- เก็บค่ามัดจำขยะ 1,000 บาท/กลุ่ม - การจองทริป ติดต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ตามรายละเอียดและเบอร์ติดต่อที่เฟสบุคเพจ"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว"

- อัตราค่าบริการ ค่าธรรมเนียมเข้าเขตฯ ผู้ใหญ่คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 200 บาท เด็กคนไทย 10 บาท ต่างชาติ 100 บาท ค่าธรรมเนียมนำรถเข้าเขตฯ 30 บาท/คัน ค่าธรรมเนียมพื้นที่กางเต็นท์ 30บาท/คน/คืน ค่าลูกหาบ 500 บาท/วัน ค่ารถกระบะรับจ้างไปยังจุดเดินเท้า เด่นหญ้าขัด 1,200 บาท/บาท


ผม "อ้ายกึ่ม" ทำได้เพียงนำเสนอผ่านภาพถ่าย การเล่าถึงความสวยงาม บรรยากาศต่างๆ อาจยังไม่ละเอียดพอ อยากให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพถ่ายแล้วอยากออกไปสัมผัสด้วยตัวเอง แล้วเราจะรู้ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนกับการเสียพลังกาย เอาชนะความเหนื่อยล้าพาตัวเราตะกายมาดูสิ่งสวยงามในเมืองไทยเราแล้วกลับมาบอกใครๆ ว่า เมืองไทยเรามีดีแค่ไหน ยังมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่เคยเห็นไม่เคยได้สัมผัส


"ประสบการณ์ใหม่ ไม่ออกไปหา ไม่มีทางเจอ" Life is a journey

ผมมีเพจเล็กๆ ฝากติดตามและให้กำลังใจพวกเราด้วยนะครับ เพราะพวกเรา "ดีแต่เที่ยว"

https://www.facebook.com/travelwithphotographer/ มีทริปสนุกๆ ชวนผมด้วยนะครับ นะนะ^^"







ความคิดเห็น