เมื่อใจเรียกร้อง เราก็ต้องตามไป...

กับประโยคที่แวบขึ้นมาว่า "อยากจะลองไปเดินป่า ขึ้นเขา และนอนเต็นท์สักครั้งในชีวิต" ที่จริงแล้วการได้เดินป่า นอนดูดาวบนยอดดอย สัมผัสแสงพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกในวิวเมืองป่าธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ป่าคอนกรีต ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะทำมาตลอดแต่ยังไม่เคยได้ทำ ดังนั้นการดูรีวิวของนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติจากหลายๆท่าน จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ว่างเมื่อไหร่จะต้องหาดูเมื่อนั้น และไม่คิดว่าตัวเองจะได้ไปเที่ยวแบบนั้นเลย จนวันหนึ่งก็คิดได้ว่า "อยากไปก็ไปสิ จะรออะไร"

ย้อนกลับไปช่วงเดือนกันยายน 2560 ได้ตัดสินใจเอ่ยปากชวนเพื่อน พร้อมหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวสายธธรมชาติ และเดินป่า ในที่สุดก็มาจบลงที่ -ภูกระดึง- เนื่องด้วยตอนนั้นฤดูกาลเปิดภู กำลังจะมา และด้วยข้อมูลที่ค้นหาว่าภูกระดึงเป็นยอดดอยที่ถูกจัดในระดับปานกลาง ที่มือใหม่สามารถไปสัมผัสได้อยู่ จึงตัดสินใจไม่ยากที่จะไปที่นี่เลย บวกกับความที่อยากไปชิคๆชิลๆที่เชียงคาน ยิ่งทำให้ตัดสินใจว่าต้องไปให้ได้....การค้นหาข้อมูลเรื่องการเดินทาง ที่พัก และรวมถึงกำหนดวันที่จะไปก็ตามมา

ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2560 คือช่วงที่เรากับเพื่อนหาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับภูกระดึง รวมทั้งเชียงคาน แต่เนื่องด้วยช่วงเวลา และภาระของแต่ละคนไม่ตรงกัน จึงกลายเป็นว่า เราไม่สามารถไปกับเพื่อนได้ ตอนแรกกะว่าจะตัดสินใจไปคนเดียว แต่คิดว่าถ้ามีเพื่อนไปมันก็น่าจะดีกว่า หวยทั้งหมดทั้งมวลจึงต้องมาลงที่น้องสาว เพียงแค่ถามว่า "ไปภูกระดึงไหม" แล้วน้องถามกลับว่า "เหมือนคิชกูฏรึเปล่า" ตอนนั้นก็คิดนะว่ามันเหมือนกันรึเปล่า เพราะว่าไม่เคยไปภูกระดึง อ่านรีวิวต่างๆก็มีแต่คนไปดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก และใบเมเปิ้ลเปลี่ยนสี รวมทั้งตอนนั้นคิดว่าถ้าตอบว่าเหมือน ก็คงไม่มีเพื่อนไป จึงได้ตอบออกไปว่า "ไม่เหมือนหรอก"...นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของสองสาว ที่ไม่รู้มาก่อนว่าหนทางข้างหน้าจะมีทั้งหินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ เรียงรายให้ปีนป่ายไปตลอดทางก็ตาม

กำหนดวันลั้นลากันเถอะ...

การกำหนดวันเที่ยวถือว่าเป็นอีกสิ่งสำคัญหนึ่งที่จะต้องจัดการเป็นอย่างดี เนื่องจากเราที่ต้องเรียนป.โทไปด้วยและทำงานไปด้วย ส่วนน้องสาวก็กำลังเรียนป.ตรีอยู่ การที่ต้องกำหนดวันที่ไม่ตรงกับวันสอบ หรือยิ่งปิดเทอมได้ก็จะดี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับเราทั้งสองคน สำหรับวันที่เราเลือกกำหนด คือวันที่ 15-18 ธ.ค.2560 นอกจากจะเป็นช่วงเวลาปิดเทอมแล้ว ยังเป็นช่วงที่อะไรหลายๆอย่างบนภูกระดึงกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งอากาศที่จะหนาวเหน็บ ทั้งใบเมเปิ้ลที่กำลังจะเปลี่ยนสีอีกด้วย ถึงจะดูเหมือนมีเวลาเที่ยวหลายวัน แต่ที่จริงแล้วเรากลับมีเวลาเที่ยวสถานที่ละแห่งแค่อย่างละวันเท่านั้น -ภูกระดึง 1 วัน และเชียงคาน 1 วัน- ดังนั้นกิจกรรมก็จะแบบไปเร็วมาเร็ว แถบจะเคลมไม่ทันเลยทีเดียว

เดินทางกันอย่างไงดีล่ะ...

ในตอนนั้นคิดว่าถ้าจะเดินทาง ก็ต้องเดินทางไปถึงภูกระดึงโดยสะดวกที่สุด และจากการอ่านรีวิวจากหลายๆแหล่งข้อมูล จึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปโดยรถทัวร์ ส่วนขากลับจึงค่อยเดินทางกลับเครื่องบิน สำหรับการเดินทางโดยรถทัวร์ เราได้จองรถบัสของบริษัทซันบัส โดยจองขึ้นที่สถานีหมอชิต 2 เวลา 22.10 น. และจุดจอดคือ ผานกเค้า ช่วงประมาณเวลา 05.00 น. ส่วนขากลับเราจะกลับจากเชียงคานมายังท่าอากาศยานเลย โดยนั่งของแอร์เอเชีย เวลา 11.25 น. สำหรับการเดินทางช่วงระหว่างรอยต่อภูกระดึงมาถึงเชียงคาน ก็ไม่ได้ยากอะไรเลย คือ นั่งรถบัสจากจุดจอดผานกเค้า มายังเชียงคานได้เลย ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

ที่พักล่ะยังไงดี...

สำหรับที่พักบนภูกระดึง ก็จะมีด้วยกันสองแบบ คือ บ้านพัก และเต็นท์นอน โดยสำหรับบ้านพักอาจต้องจองก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 60 วัน (ถ้าสามารถดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของภูกระดึง) แต่เนื่องจากเรากับน้องสาวจองบ้านพักไม่ทัน จึงต้องไปทำการเช่าเต็นท์ของอุทยานฯ ส่วนสำหรับที่พักบนเชียงคาน เราได้จองผ่านเว็บไซต์อโกด้า ซึ่งช่วงนั้นราคาโรงแรมลดราคาเยอะพอสมควร เราได้เลือกโรงแรมพูลสวัสดิ์ เพราะเนื่องจากอ่านจากรีวิวเช่นกัน

พกของอะไรไปด้วยดีละ...

เนื่องจากเราคิดว่า เราจะไปเช่าเต็นท์ของอุทยานฯ ดังนั้น เต็นท์จึงเป็นสิ่งที่เราตัดออกไปจากการเตรียมของในการเที่ยวครั้งนี้ ดังนั้นสิ่งของที่เราเตรียมเป็นส่วนใหญ่จึงเป็นของเล็กๆที่สามารถยัดเข้าไปในกระเป๋าได้อย่างไม่ล้นออกมา มีดังนี้ 1.ไฟฉายขนาดเล็ก เพราะที่ภูกระดึง ไฟฟ้าส่องทางจะให้แสงสว่างน้อย จนเกือบจะมองไม่เห็นทางเลยทีเดียว 2.เสื้อกันฝน เตรียมไว้เถิดจะเกิดผล 3.ยากันยุงชนิดน้ำ พกพาสะดวกสบาย 4.ยาแก้แพ้ ยาแก้เมารถ ยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ (เคาเตอร์เพน) มึนๆปวดๆเจ็บๆกินเข้าไป ทาเข้าไปเลยจ้า 5.เสื้อผ้ากันหนาว ผ้าพันคอ ถุงมือ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะหนาวเข้าไปถึงตับเลยทีเดียว โดยเฉพาะถุงมือ ที่สำคัญมาก ไม่อย่างงั้นแล้วมือจะบวมและชามาก 6.เงิน เงิน เงิน นั้นสำคัญไฉน เพราะถ้าไม่พกไปจะไม่สามารถซื้ออะไรกินได้เลย ส่วนอุปกรณ์อื่นนอกนั้นก็แล้วแต่ความเหมาะสมจ้า เช่น ถุงกันทาก ผ้าใบรองเต็นท์หรือคลุมเต็นท์ เป็นต้น


Let's go to...

ตามหาแสงแรกที่ภูกระดึงกันเถอะ...

DAY 1 : 15/12/2560

การเดินทางมายังภูกระดึงในขามา เรามาโดยรถทัวร์ของบริษัทซันบัส โดยขึ้นที่สถานีหมอชิต 2 เวลา 22.10 น. สำหรับรถทัวร์ของบริษัทซันบัส เราว่าโอเคเลยคะ กว้างขวางพอสมควร มีจอทีวีขนาดเล็กสำหรับแต่ละเบาะไว้ดูหนัง ฟังเพลง แต่ว่าทางรถทัวร์จะไม่มีหูฟังให้คะ ต้องพกไปเองคะ และเนื่องจากเราไม่ได้พกหูฟังไป บวกกับกินยาแก้เมารถชนิดง่วง เราก็เลยตัดสินใจนอนเลยคะ ตื่นมาอีกทีก็ใกล้จะถึงจุดจอดผานกเค้าแล้วคะ

ภาพผ้าห่มผืนน้อยบนรถทัวร์คะ ถ้าใครขี้หนาว ผ้าผืนนี้เอาไม่อยู่นะคะ เพราะทั้งเล็กและบางคะ

DAY 2 : 16/12/2560

เวลา 05.00 โดยประมาณ : จุดจอดผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย

โดยบริเวณผานกเค้า จะเป็นแหล่งจุดจอดรถโดยสารต่างๆ สำหรับการเดินทาง โดยบริเวณนี้จะมีร้านเจ้กิม ไว้สำหรับรองรับการนั่งคอยไปภูกระดึงคะ มีทั้งอาหารเช้า ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ รองรับไว้ยังเพียงพอคะ

ของกินเติมพลัง : ไข่กะทะ ราคา 35 บาท ข้าวราดแกง 2 อย่าง ราคา 40 บาท เกาเหลาและข้าวเปล่า 50 บาท และน้ำเปล่า 1 ขวด ราคา 20 บาท (ราคาโดยประมาณ)

เวลา 06.30 น. : ขึ้นรถสองแถวโดยสาร ราคา 30 บาทต่อคน หรือจะเหมา 300 บาทต่อเที่ยวก็ได้คะ โดยก่อนที่จะถึงบริเวณอุทยานฯก็จะต้องเสียค่าเข้าบริการคนละ 40 บาท ก่อนนะคะ

เวลา 07.00 น. : เป็นเวลาที่ทางอุทยานฯได้ทำการเปิดแล้วคะ และก่อนที่จะขึ้นไปยอดภูกระดึง ก็ต้องทำการเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ คนละ 30 บาทต่อวัน ค่าเช่าเต็นท์ (สำหรับคนที่ไม่ได้เอาเต็นท์ไป) โดยค่าเต็นท์จะเสียในราคาที่ต่างกันตามขนาดของเต็นท์คะ โดยเราจองเต็นท์ขนาดที่สามารถนอนได้ 2-3 คนคะ ก็จะเสียค่าเต็นท์ละ 225 บาทคะ แล้วก็อย่าลืมซื้อประกันด้วยนะคะ เพียงคนละแค่ 6 บาทเองคะ


บริเวณด้านหน้าอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานฯ

ในระหว่างที่น้องสาวของเรากำลังต่อแถวเพื่อจัดการเรื่องต่างๆที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น ตัวเราเองก็เลยมาจัดการเรื่องสัมภาระที่จะให้ลูกหาบแบกขึ้นไปคะ(น้องสาวเราแบกขึ้นไม่ไหวจริงๆเพราะแค่แบกตัวเองก็ลำบากแหละ555) โดยการจัดการสัมภาระ ก็ต้องไปจัดการที่อาคารสัมภาระคะ เป็นอาคารหมายเลข 4 ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานฯ คะ

บริเวณหน้าอาคารหมายเลข 4 อาคารสัมภาระ

ซึ่งการฝากสัมภาระไปกับลูกหาบจะต้องมีใบแทร็คติดกระเป๋าก่อนนะคะ ซึ่งจำหน่ายเพียงใบละ 5 บาทคะ เขียนชื่อและเบอร์โทรของเราลงในใบแทร็คติดกระเป๋าให้เรียบร้อยด้วยนะคะ หลังจากนั้นจึงค่อยนำกระเป๋าไปให้เจ้าหน้าที่ช่างน้ำหนักคะ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเขียนเบอร์หมายเลขประจำตัวลูกหาบที่หาบของเราคะ ส่วนการเสียค่าบริการ คือ หลังจากที่ลูกหาบแบกของๆเราขึ้นไปบริเวณที่พักคะ สามารถเสียได้โดยตรงกับลูกหาบเลยคะ

คิดถึงเขา ก็ต้องไปหาเขา...ขึ้นเขากันเถอะ

หลังจากที่เรากับน้องจัดการเรื่องเต็นท์เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาที่จะเดินขึ้นเขากันแล้วคะ ก่อนขึ้นก็อย่าลืมเข้าห้องน้ำ ห้องท่าให้เรียบร้อยก่อนนะคะ เพราะหนทางข้างหน้านั้นช่างยาวไกลเหลือเกิน

มีป้ายบอกทางขึ้นเขาอย่างชัดเจนคะ จริงๆแล้วทุกระยะของการเดินทาง จะมีป้ายบอกตลอดในทุกๆจุดที่เป็นจุดใหญ่ๆคะ ไม่ต้องกลัวหลงทางเลยคะ

เดินจากป้ายทางขึ้นมาสักหน่อยก็จะเจอป้ายทางเข้าอย่างเป็นทาางการคะ ก่อนเข้าอย่าลืมยื่นบัตรค่าเข้าบริการ 40 บาท ที่เราเสียไว้ตั้งแต่แรกให้เจ้าหน้าที่ดูด้วยนะคะ พร้อมกับลงชื่อ กับเวลาขาเข้าด้วยคะ

ป้ายอุทยานฯก่อนขึ้นเขา

แหละนี่คือป้ายบอกระยะการเดินทางจากแต่ละจุด ไปยังอีกจุดคะ แค่เห็นระยะทางจากป้ายจุดพักแต่ละจุด นี่ก็เริ่มเหนื่อยขึ้นมาทันที555...


ป้ายแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ...เผื่อไว้ก็ดีนะเพื่อนๆ

จากด้านหลังป้าย จะเห็นได้ว่าเส้นทางการเดินก็จะเต็มไปด้วยทั้งรากไม้ หิน และทราย บวกกับความชันที่สูงเป็นระยะๆ ดังนั้นควรระมัดระวังในการเดินด้วยนะคะ

ในระหว่างเส้นทางการเดินเราก็จะพบกับลูกหาบทั้งขาขึ้น และขาลงตลอดเวลาคะ อยากจะบอกว่าพวกเขาเหล่านี้อย่างอึดคะ เส้นทางก็โหด ของก็หนัก แต่ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเปี่ยมเลยทีเดียวคะ ขอคารวะเลย

จุดพักที่ 1 ปางกกค่า ระยะทาง 800 เมตร สภาพทางมีความลาดชันเล็กน้อยถึงปานกลาง มีทั้งเป็นทางดิน และทางขั้นบันไดหิน

จุดพักที่ 2 ซำแฮก ระยะทาง 1,000 เมตร เป็นจุดพักที่พร้อมไปด้วยร้านอาหาร และร้านค้ามากมายคะ สำหรับใครที่ยังไม่ได้กินข้าวเช้ามา ถือว่าเป็นจุดพักเติมพลังได้ดีที่เดียวคะ

ของกินที่เติมพลัง - สปอนเซอร์ ราคาขวดละ 25 บาท 2ขวด และ น้ำเปล่า 0.6 ลิตร ราคาขวดละ 20 บาท 1 ขวด


จุดพักที่ 3 ซำบอน ระยะทาง 1,700 เมตร สภาพทางมีความลาดชันปานกลาง เป็นทางเดินดินเป็นส่วนใหญ่ มีเศษใบไม้แห้งที่หล่นเหมือนปูพรมตลอดทาง รวมทั้งรากไม้ขนาดใหญ่ที่ทั้งขวางทางเดินและเป็นตัวช่วยพยุงในการปีนป่ายไปพร้อมๆกันคะ



จุดพักที่ 4 ซำกกกอก ระยะทาง 2,140 เมตร สภาพทางมีความคล้ายเกือบเหมือนกับซำบอน ยังคงเดินง่าย รับกินลมชมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่คะ แค่เห็นสีเขียวของยอดต้นไม้ตัดกับสีของท้องฟ้า แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มสำหรับเรามากแล้วคะ


จุดพักที่ 5 ซำกอซาง ระยะทาง 2,340 เมตร เป็นจุดพักที่มีร้านค้า และร้านขายของคะ แต่เราไม่ได้หยุดพักที่ซำนี้ในขาขึ้นเขาคะ แต่ในขาลงเขา เราหยุดพักเพื่อกินอาหารกลางวันคะ

ของกินที่เติมพลัง (ขาลงเขา) - ข้าวกระเพรา ราคาจานละ 60 บาท 1 จาน ไข่เจียว ราคาจานละ 50 บาท 1 จาน น้ำอัดลม ราคาขวดละ 30 บาท 1 ขวด และน้ำเปล่า ราคาขวดละ 20 บาท 1 ขวด


จุดพักที่ 6 พร่านพรานแป ระยะทาง 2,480 เมตร

จุดพักที่ 7 ซำกกหว้า ระยะทาง 2,920 เมตร เป็นจุดพักที่มีร้านค้า และร้านขายของคะ ซึ่งเป็นจุดพักกินข้าวกลางวันของเรากับน้องสาวในช่วงขาขึ้นเขา จำได้ว่ามาถึงซำนี้ก็ประมาณช่วง 10.30 - 11.00 น. แต่เนื่องจากเรากับน้องสาวกินข้าวเช้าช่วงประมาณ 05.30 - 06.00 น. แล้วก็กลัวว่าถ้าเดินขึ้นเขาไปอีก ไม่รู้ว่าซำต่อไปจะมีจุดพักที่ร้านค้า ร้านอาหารรึเปล่า ก็เลยตัดสินใจที่จะกินข้าวกลางวันที่ซำนี้เลย แต่ด้วยความที่ว่าเรากับน้องสาวยังไม่รู้สึกหิวเท่าไหร่ ก็เลยตกลงกันว่าสั่งข้าวมาหนึ่งจานแล้วกินด้วยกันคะ

ของกินที่เติมพลัง - ข้าวกระเพรา ราคาจานละ 60 บาท 1 จาน น้ำเปล่า ราคาขวดละ 20 บาท 1 ขวด และไอติมแท่งแบบเครื่องหมุน ราคา 3 ไม้ 20 บาท (ของหวาน)

จุดพักที่ 8 ซำกกไผ่ ระยะทาง 3,380 เมตร สมกับชื่อคะ ต้นไผ่เยอะมาก555


จุดพักที่ 9 ซำกกโดน ระยะทาง 3,680 เมตร เป็นจุดพักที่มีร้านค้า ร้านขายของ ร้านอาหาร พร้อมกับห้องสุขาที่ค่อนข้างโอเคเลยคะ


จุดพักที่ 9 ซำแคร่ ระยะทาง 4,130 เมตร ขอแนะนำว่าพักจุดนี้ให้นานๆ กินอาหารให้อิ่มๆ เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพราะหลังจากจุดนี้ไป อีก 1,300 ม. สำหรับเราคือโหดสุดแหละคะ

ของกินที่เติมพลัง - แตงโมผ่าเสี้ยว ชิ้นละ 25 บาท 1 ชิ้นและน้ำเปล่า ราคาขวดละ 20 บาท 1 ขวด



หลังจากซำแคร่ ทางเดินก็จะมีความชันมากขึ้น ต้องใช้คำว่าบางจุดต้องปีนป่ายกันเลยทีเดียวคะ มีทั้งโขดหิน ทั้งต้นไม้ รากไม้ ที่เราจะต้องพึ่งพวกมันใช้ในการพยุงตัวและปีนขึ้นไป ซึ่งต้องเดินขึ้นไปด้วยความระมัดระวังอย่างมากคะ เพราะถ้าเกิดสะดุด หรือล้ม จะมีอันตรายอย่างมากเลย บางช่วงก็จะมีบันได แต่เนื่องจากมันชันมาก ก็จะดูน่าหวาดเสียวหน่อยคะ




เวลาประมาณ 13.00 น. กว่าๆ ในที่สุดเราก็สามารถพิชิต 5,430 ม. ได้ เรามาอยู่จุดที่เรียกว่า "หลังแป" จากภาพอาจจะไม่ค่อยสวยเท่าไหร่นะคะ แต่จริงๆแล้วมันสวยมาก คุ้มกับความเหนื่อยเลยทีเดียว จากภาพแผนที่ ก็จะแสดงจุดท่องเที่ยวอีกหลายจุดที่เราสามารถไปเยือนได้คะ แต่เนื่องจากเรากับน้อง ต่างอยากพักแล้ว ไม่มีแรงจะเดินไปจุดไหนแล้ว แอบเสียดายเหมือนกันคะ ดังนั้นเรากับน้องก็เลยจะไปที่พักกันเลยคะ จากหลังแปเดินไปจุดกางเต้นท์ก็อีกประมาณ 3 กิโลเมตรกว่าๆได้คะ



ทางเดินเข้าจุดกางเต้นท์ ก็จะเป็นทางเรียบแล้วคะ เดินสบายๆแต่แอบไกลหน่อย555


บรรยากาศภาพจุดกางเต้นท์คะ ในภาพด้านขวามือคือ อาคารที่ทำการอุทยานคะ ซึ่งถ้าใครไม่ได้พกที่นอนหมอนมุ้งมา ก็ต้องไปติดต่อในอาคารนี่คะ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะสอบถามว่าจะเช่าหมอน ผ้าห่ม จำนวนเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่คะ หลังจากนั้นเราก็จะเสียเงินและได้บิลใบเสร็จมาคะ ซึ่งเราต้องเก็บไว้คะ เพราะสถานที่ที่เราต้องไปเอาหมอนและผ้าห่ม รวมทั้งเบาะรองนอน จะอยู่ด้านหลังอาคารนี่คะ เราต้องเอาบิลใบเสร็จไปยื่นเพื่อขอรับอุปกรณ์การนอนของเราคะ

ซึ่งภายในอุทยานฯ นอกจากจะมีอาคารอุทยานที่ทำการแล้ว ก็จะพร้อมสรรพไปด้วยห้องน้ำ ห้องสุขาที่รองรับอย่างเพียงพอคะ ส่วนร้านอาหารก็จะมีให้เลือกสรรเยอะพอสมควร แต่อย่างที่บอกคะ ว่าราคาก็จะสูงกว่าปกติคะ อย่างเช่น หมูกะทะ ก็จะขายในราคาชุด 500 บาทคะ ซึ่งจะขายในช่วงเวลาเย็นคะ แต่เรากับน้องสาวไปถึงที่พักก็ประมาณบ่ายสองโมงกว่าๆ และกว่าจะจัดการเรื่องที่นอนเสร็จก็บ่ายสามแล้วคะ แน่นอนว่าหิวมาก ดังนั้นจึงรอกินหมูกะทะไม่ไหว จึงขอกินส้มตำไปก่อนคะ ก่อนที่จะไปรับสัมภาระและชำระเงินค่าสัมภาระคะ และหลังจากนั้นเรากับน้องสาวต่างคนต่างพักผ่อนกันคะ

ค่าสัมภาระ - 390 บาท (กิโลกรัมละ 30 บาท )

ของกินที่เติมพลัง - ส้มตำไทยไข่เค็ม ยำหมูยอ น้ำตกหมู น้ำอัดลม 1.25 ลิตร 1 ขวด น้ำเปล่า 0.6 ลิตร 1ขวด และเครปญี่ปุ่น รวมราคาทั้งหมด 540 บาท (ได้หมูกะทะ 1 ชุด เลยนะเนี้ย555)

ของใช้ - สบู่ตรานกแก้ว ราคาก้อนละ 30 บาท (ณ จุดๆนี้ต้องอาบคะ เพราะทั้งกลิ่นเหงื่อที่สะสมมาทั้งวัน ไม่ไหวจริง555 หนาวแค่ไหนก็ต้องวัดใจคะ)

DAY 3 : 17/12/2560

เวลา 04.15 น. เราและน้องตื่นขึ้นมาล้างหน้า แปรงฟัน เพื่อที่จะเตรียมตัวไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ "ผานกแอ่น" คะ โดยการไปดูพระอาทิตย์ขึ้น จะมีเจ้าหน้าที่นำทางให้คะ ไม่สามารถที่จะไปโดยตามลำพังได้คะ เพราะเนื่องจากอาจเจอเจ้าสัตว์มีงวง ออกมาเดินเล่นเหมือนกันคะ โดยเวลาที่เจ้าหน้าที่นัดหมายคือเวลา 05.00 น. คะ และจากที่พักไปถึงผานกแอ่น เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรกว่าๆคะ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็จะถึงที่หมายคะ โดยบริเวณนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ขายเครื่องดื่มร้อนๆด้วยคะ...ลืมบอกคะ!!!ว่าอย่าลืมแต่งตัวกันความหนาวด้วยนะคะ หนาวมากขอบอก หนาวจนมือชาเลยคะ

ของกินที่เติมพลัง - โกโก้ร้อน ราคาแก้วละ 25 บาท


เราอยู่บนผานกแอ่นเกือบจะ 7.00 น. จึงเดินทางกลับที่พัก เพื่อเตรียมตัวที่จะเดินลงเขาอีกครั้งหนึ่ง (แค่คิดก็ปวดขาแล้ว555

ของกินที่เติมพลัง - โจ๊ก ชามละ 60 บาท (ของเรา) และข้าวราดแกง 2 อย่าง จานละ 60 บาท (ของน้องสาว) น้ำเปล่า 2 ขวด ขวดละ 20 บาท รวม 40 บาท

ของฝากนานาจิตตังรวมๆแล้ว - 500 บาท


หลังจากที่เราเก็บสัมภาระ พร้อมกับฝากสัมภาระไปกับลูกหาบ รวมทั้งคืนเครื่องนอนให้กับทางอุทยาน เรากับน้องสาวก็ออกเดินทางจากที่พักทันทีในเวลา 09.00 น. และถึงข้างล่างอุทยานเวลาประมาณ 14.00 น. (รายละเอียดในการเดินลงเขาไม่ต่างกับขาขึ้น เราเลยขอไม่เล่านะคะ)

จะไปเชียงคานแล้วหน่า...

หลังจากที่เราลงมาภูกระดึงเรียบร้อย เราก็หารถสองแถว ซึ่งอยู่บริเวณหน้าอาคารอุทยานฯ ราคาก็จะเท่ากับตอนขามาเลยคะ ซึ่งรถสองแถวก็จะจอดที่จุดจอดผานกเค้าเช่นเดิมคะ

สำหรับรถที่จะไปเชียงคาน ก็สามารถติดต่อซื้อตั๋วได้บริเวณผานกเค้าเลยคะ ราคาตั๋วอยู่ที่ 101 บาทต่อคนคะ ซึ่งเป็นรถปรับอากาศ 1 ชั้น ขึ้นรถปุ๊ป หลับทันทีเลยคะ โดยเราขึ้นรถประมาณ 15.30 น. ถึงสถานีเชียงคาน เวลาประมาณ 18.00 น. กว่าๆคะ เพราะจำได้ว่าเกือบจะมืดแล้ว หลังจากนั้นเราก็ขึ้นรถมอเตอร์ไซต์ที่มีหลังคาพ่วงข้าง ไม่แน่ใจว่าเรียกว่าอะไรคะ ราคาอยู่ที่ประมาณ 40 - 50 บาทต่อคนคะ โดยจุดหมายของเราคือโรงแรมที่เราจองพักในเชียงคาน ซึ่ง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 - 15 นาที ก็ถึงแล้วคะ

สวัสดีเชียงคาน...

สำหรับโรงแรมที่เราจองพักไว้ มีชื่อว่า โรงแรมพูลสวัสดิ์ เป็นโรงแรมขนาดเล็ก อาคารไม้สองชั้น ซึ่งน่าจะมีห้องพักไม่เกิน 5 ห้อง ค่อนข้างเงียบสงบเพราะว่าไม่ได้อยู่บริเวณแถวถนนคนเดินคะ ตกแต่งน่ารักได้บรรยากาศย้อนยุคแบบอบอุ่นคะ ภายในห้องนอนค่อนข้างเล็กพอประมาณ เหมาะสำหรับนอน 2 คนคะ ภายในห้องน้ำก็คอนข้างเล็กเช่นกัน แต่สะอาด เพียบพร้อมทั้งเครื่องทำน้ำอุ่น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายคะ ถือว่าโดยรวมโอเคคะ แต่เนื่องจากมันเป็นพื้นไม้ เวลาเดินก็จะมีเสียงเอี๊ยดๆนิดหน่อย

ค่าโรงแรมต่อคืน - 600 กว่าบาท (จองผ่านเว็บไซต์อโกด้า)


หลังจากที่เราเก็บสัมภาระเสร็จก็พร้อมที่จะเดินลุยถนนคนเดินคะ เวลาอยู่ช่วงประมาณ 19.00 น. กว่าๆ ก็ถือได้ว่าเป็นช่วงที่คนกำลังออกมาเดินกันเลย ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงคนเยอะพอสมควร ก็อาจจะมีการเดินเบียดๆกันหน่อยแต่ยังถือได้ว่าไม่อึดอัด จราจรการเดินไม่ติดขัด

ของกินที่เติมพลัง - เห็ดย่าง 2 ไม้ ไม้ละ 10 บาท ข้าวเปียก ชามละ 40 บาทโจ๊ก (ของเรา) โจ๊ก ชามละ 30 บาท (ของน้องสาว) น้ำเปล่า 2 ขวด ขวดละ 10 บาท รวม 20 บาท ไส้กรอกวุ้นเส้น 1 ไม้ ไม้ละ 20 บาท

ของฝากนานาจิตตังรวมๆแล้ว - 500 บาทเช่นเดิม

ส่วนในตอนเช้า เราตื่นประมาณ ตี5 เพราะว่าจะไปทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว ซึ่งที่ถนนคนเดิน ก็จะมีทั้งร้านตั้งขายของบิณฑบาตร และคนเดินขาย ซึ่งเราก็ซื้อทั้งอย่าง รวมๆแล้วตักบาตรประมาณ 100 บาทคะ แต่สาธุตลอดทาง555

ซึ่งบรรยากาศในตอนเช้าแบบว่าดีมาก โอโซนสุด หนาวสุด ยิ่งบริเวณริมน้ำโขงในตอนเช้าบรรยากาศดีสุดเลยคะ ร้านค้าบางร้านของถนนคนเดินก็เริ่มตั้งบ้างแล้วคะ พอได้จับจ่ายนิดหน่อย

ของกินที่เติมพลัง - ติ๋มซำและโจ๊ก รวมๆแล้ว ประมาณ 250 กว่าบาท (ร้านตรงข้ามกับโรงแรมพูลสวัสดิ์ อร่อยใช้ได้ แนะนำเลยคะ)

หลังจากนั้นประมาณ 8.00 เราก็ออกเดินทางจากโรงแรมไปสถานีขนส่งนครชัย ซึ่งอยู่ใกล้เชียงคานคะ เพื่อขึ้นรถทัวร์ไปลงบริเวณท่าอากาศยานสนามบินเลยคะ จากโรงแรมไปสถานีขนส่ง ประมาณ 15 นาที รถที่เราโดยสารไปก็คือรถมอเตอร์ไซต์พ่วงข้าง เหมือนตอนขามาโรงแรมเลยคะ ค่าโดยสารเท่าเดิมไม่ว่าใกล้ ไกล สำหรับค่าโดยสารของรถทัวร์อยู่ที่ 61 บาทต่อคนคะ

และนี่ก็คือการเดินทางไปเที่ยวลำพังของเราสองคนพี่น้องคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ ถึงผลสุดท้ายแล้วการไปตามหาใบเมเปิ้ลจะไม่เป็นผล แต่ก็ดีใจที่ลองทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ถึงแม้จะไปเที่ยวปีที่แล้วแต่พึ่งคลอดรีวิวปีนี้ แต่คิดว่าก็เป็นวันเวลาที่ไม่ใกล้ไม่ไกลในช่วงเวลาสิ้นปี 2561 ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังจะไปเที่ยวจังหวัดเลยในช่วงปีใหม่ 2562 นะคะ...สวัสดีปีใหม่คะทุกคน

สรุปค่าใช้จ่ายต่อคนโดยประมาณ

ค่าเดินทางทุกอย่างต่อคน : 1,335 บาท (โดยค่ารถทัวร์และค่าเครื่องบินจองล่วงหน้า และจองช่วงโปร)

ค่ากินทั้งหลายแหล่ต่อคน : 825 บาท (กินเยอะได้โล่เลยทีเดียว555)

ค่าอื่นๆภายในอุทยานภูกระดึงต่อคน : 500 บาท

ค่าโรงแรมที่เชียงคานต่อคน : 300 บาท

ค่าของฝากต่อคน : 500 บาท (ส่วนใหญ่เป็นของเรา ของน้องสาวไม่ค่อยมี แต่คิดเฉลี่ยเพื่อความเข้าใจ)

รวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างต่อคน : 3,460 บาท


Natchayada Kantasit

 วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 17.46 น.

ความคิดเห็น