สรรคบุรี...อัญมณีลุ่มเจ้าพระยา


สรรคบุรีเป็นอำเภอเล็กๆ ที่อยู่ในจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มากๆ ปัจจุบันนี้ ยังมีโบราณสถานล้ำค่าหลงเหลือให้เราได้ศึกษาเรียนรู้หลายแห่ง


แม้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่จะมิได้มีมากนัก แต่สิ่งที่สรรคบุรีมีอยู่ก็จัดได้ว่าพิเศษเหลือเกิน พิเศษจนน่าเสียดาย ที่เราจะมองข้ามไปเฉยๆ โดยไม่เห็นความสำคัญ


ความพิเศษที่ว่านี้มีอย่างไรบ้าง ผมจะขอเล่าให้ฟัง แต่ก่อนอื่นเลย ผมขอเล่าประวัติศาสตร์เมืองสรรคบุรีให้ทราบคร่าวๆ ดังนี้ครับ


สรรคบุรี เป็นเมืองโบราณซึ่งมีอายุร่วมกับอาณาจักรโบราณหลายยุคหลายสมัย และมีชื่อเรียกต่างๆ กันอีกหลายชื่อ อย่างในสมัยสุโขทัย จะเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองแพรก” เมืองแพรกเคยเป็นหัวเมืองของอาณาจักรสุโขทัยมาก่อน สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเจดีย์ทรงพุ่มข้างบิณฑ์องค์หนึ่งที่ วัดโตนดหลาย


มาในสมัยอยุธยา เมืองแพรก ถูกเรียกว่า “แพรกศรีราชาธิราช” บ้าง เรียกว่า “แพรกศรีราชา” เฉยๆ บ้าง เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางศิลปกรรมที่เหลืออยู่ ซึ่งจัดอยู่ในจำพวกศิลปะอู่ทองหรือละโว้ ก็เชื่อว่าเมืองแห่งนี้น่าจะเป็นเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโบราณในแถบลุ่มน้ำภาคกลางก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา


เมืองแพรก คงมีความสำคัญเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ขนาดที่พระมหากษัตริย์ส่งพระโอรสมาครองเมือง ดังพงศาวดารระบุว่าในสมัยพระนครินทราธิราช โปรดฯ ให้เจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา และเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท (หมายถึงพิษณุโลกในปัจจุบัน) ก็แสดงว่าเมืองแพรกศรีราชามีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง โดยมีความสำคัญรองจากสุพรรณบุรีที่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาส่งรัชทายาทไปครองเมือง


กระทั่งสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อกรุงสุโขทัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาอย่างสมบูรณ์ เมืองหน้าด่านของอาณาอยุธยาจึงขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่เมืองสองแควแทน ด้วยเหตุนี้ เมืองแพรกศรีราชาซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างสุโขทัยและอยุธยามาก่อน จึงลดความสำคัญลงมา จนกลายเป็นเพียงหัวเมืองชั้นจัตวาในช่วงอยุธยาตอนปลาย และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สรรคบุรี”


เมืองสรรคบุรีคงกลายสภาพเป็นเมืองร้างระยะหนึ่งในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ เนื่องจากอยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า ในช่วงนี้เองที่ปรากฏวีรบุรุษนาม “ขุนสรรค์” ผู้นำชาวบ้านในเขตท้องที่สรรคบุรี ที่ได้รวบรวมชาวบ้านจำนวนมากไปร่วมรบกับชาวบางระจันเพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า ทุกวันนี้ ถ้าผ่านไปผ่านมาแถวๆ ตัวอำเภอสรรคบุรี เราจะเห็นอนุสาวรีย์ขุนสรรค์ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอ



สรรคบุรีคงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก็เป็นเพียงหัวเมืองเล็กๆ มาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นแบบเทศาภิบาล สรรคบุรีถูกนำไปรวมอยู่กับมณฑลนครสวรรค์ ก่อนที่จะถูกลดฐานะเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาทในรัชกาลที่ ๖ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน


มาถึงตอนนี้ ท่านก็คงอยากจะทราบแล้วใช่ไหมครับว่า เมืองสรรคบุรีมีความพิเศษอะไร ผมจึงต้องพาทุกท่านมาทำความรู้จักเมืองนี้กัน เอาล่ะครับ ผมจะขอพาท่านมาชมเมืองสรรคบุรีกันเลยนะ


ที่แรกที่ผมจะพาทุกท่านมาเยี่ยมชม คือ วัดมหาธาตุ วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดใจกลางเมืองซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งบรรจุอยู่ ณ เจดีย์ประธานของวัดในความหมายของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาแบบลังกา


สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดของวัดพระมหาธาตุ ย่อมจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากองค์พระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันหักพังลงมาจนเหลือเพียงฐานสี่เหลี่ยม พิจารณาจากขนาดของฐานซึ่งใหญ่มากๆ คะเนว่าความสูงของพระมหาธาตุเมื่อครั้งสมบูรณ์ก็คงไม่ใช่ย่อยเลยทีเดียว สันนิษฐานว่ารูปแบบพระเจดีย์คงไม่หนีจากเจดีย์วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งนอกเขตกำแพงเมือง ห่างไปราว ๓ กิโลเมตร หรืออาจคล้ายๆ กับพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลที่พระนครศรีอยุธยา



ใกล้ๆ กับพระมหาธาตุ จะมีวิหารหลวงขนาด ๙ ห้อง (ช่วงเสา) ตั้งอยู่ วิหารแห่งนี้ทรุดโทรมเหลือเพียงเสา ๘ เหลี่ยมกับพื้น ไม่มีเครื่องหลังคา มีพระพุทธรูปประธานก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ชื่อ หลวงพ่อใหญ่ กับ หลวงพ่อย่อม ซึ่งมีขนาดเล็กลงมา ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารเคียงคู่กัน



ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด เมื่อไปเยือนวัดมหาธาตุ คือ พระปรางค์ยอดกลีบมะเฟือง ซึ่งหาชมยากมาก ในประเทศไทยมีพระปรางค์ทรงนี้เพียง ๒ แห่งเท่านั้น อีกที่หนึ่งคือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ส่วนยอดพระปรางค์ที่ทำเป็นกลีบมะเฟืองนั้นดัดแปลงมาจากปรางค์เขมร แต่แทนที่จะสร้างเรือนยอดเป็นชั้นๆ ลดหลั่นขึ้นไปที่เรียกว่า ชั้นเชิงบาตร กลับสร้างส่วนยอดเป็นแฉกๆ คล้ายผลมะเฟือง พระปรางค์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยละโว้หรืออู่ทอง (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนที่จะตั้งอยุธยาเป็นราชธานี) พิจารณาจากเทคนิคการก่อสร้างที่ก่ออิฐโดยไม่สอปูน (ไม่ใช้ปูนเชื่อมอิฐแต่ละก้อน) แต่ใช้ยางไม้มาสอแทน ทำให้อิฐแต่ละก้อนแนบสนิทแทบจนเป็นเนื้อเดียวกัน



สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพระปรางค์ คือ พระพุทธรูปลีลา พระพุทธรูปลีลานี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะสุโขทัยอย่างแท้จริง และเหลือปรากฏให้เห็นบนพระเจดีย์เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ในภาคกลางยิ่งพบได้น้อยมาก เพราะฉะนั้น การพบพระพุทธรูปลีลาบนพระปรางค์องค์นี้กับพระเจดีย์รายทรงแปดเหลี่ยมอีกหลายองค์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน จึงเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย



ถัดจากวัดมหาธาตุไปราว ๑ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดร้าง มีชื่อว่า วัดโตนดหลาย วัดแห่งนี้มีความพิเศษอยู่ที่เจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือที่เราๆ รู้จักในชื่อ "พุ่มข้าวบิณฑ์"


เจดีย์ทรงนี้เป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะสุโขทัยอีกเหมือนกัน เชื่อว่าเจดีย์ทรงนี้น่าจะเริ่มมีครั้งแรกขึ้นในสมัยพญาลิไท (พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๗) ดังนั้น เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของวัดโตนดหลายก็คงสร้างขึ้นในสมัยพญาลิไทเป็นอย่างเร็วที่สุด การปรากฏเจดีย์ทรงนี้ในวัดโตนดหลาย ช่วยยืนยันว่าเมืองสรรคบุรีน่าจะเคยเป็นlส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยจริง


ครั้งแรกที่ผมทราบว่ามีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ในเมืองสรรคบุรี ผมรู้สึกประหลาดใจไม่น้อย เพราะไม่คิดมาก่อนว่าจะพบเจดีย์ทรงนี้ในบริเวณภาคกลางตอนล่างแบบนี้ เคยแต่นึกว่าต้องเดินทางขึ้นเหนือไปยังแถบๆ สุโขทัยจึงจะพบ เจดีย์องค์นี้จัดเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ซึ่งยังไม่เคยเป็นที่รับรู้ของคนไทยทั่วไปมากนัก ดังนั้น ผมจึงคิดว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของวัดโตนดหลายเป็นของแปลก ซึ่งอาจจัดเป็น อันซีนอินไทยแลนด์ (unseen in Thailand) ได้เหมือนกัน ว่าไหมครับ


จากวัดโตนดหลาย ผมขอนำทุกท่านไปเยี่ยมชมวัดสำคัญแห่งที่สาม ชื่อว่า วัดพระแก้ว วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเดิมคงชื่อว่า "วัดป่าแก้ว" เป็นวัดสำคัญของพระสงฆ์ฝ่ายอารัญวาสี (สายพระป่า) เพราะตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ทำนองเดียวกับวัดป่าแก้วของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักในนามวัดใหญ่ชัยมงคล


วัดพระแก้วมีความพิเศษตรงที่เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งได้ชื่อว่างดงามที่สุดองค์หนึ่งของไทย จนได้รับสมัญญาว่า “ราชินีแห่งเจดีย์” พระเจดีย์องค์นี้ก่ออิฐไม่สอปูน บ่งว่าสร้างขึ้นในสมัยอู่ทองหรือละโว้อีกเช่นกัน



เจดีย์องค์นี้มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งพิเศษกว่าเจดีย์องค์อื่นๆ ในประเทศไทย เพราะผสมผสานระหว่างรูปแบบเจดีย์ทรงประสาทห้ายอดในบริเวณส่วนล่างกับเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมในบริเวณส่วนบนเข้าด้วยกัน


หากมองผิวเผินเจดีย์องค์นี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดตามแบบฉบับของศิลปะล้านนา เพราะประกอบด้วยเจดีย์บริวารขนาดย่อมๆ ๔ องค์ เรียกว่า สถูปิกะ ประดับอยู่เหนือเรือนธาตุทั้ง ๔ มุม ซึ่งปัจจุบันหักพังไปเกือบหมด กับยอดเจดีย์องค์ใหญ่ตรงกลางอีกหนึ่งยอดซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เข้าใจว่าสรรคบุรีน่าจะรับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงประสาทห้ายอดมาจากล้านนาผ่านสุโขทัยอีกทอดหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดแทบจะไม่มีให้เห็นเลยในแถบจังหวัดภาคกลาง ดังนั้น การพบเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดที่วัดพระแก้วแห่งนี้ จึงเป็นของแปลกและของหายากที่ชวนศึกษาเรียนรู้ พอๆ กับการพบพระพุทธรูปปูนปั้นปางถวายเนตร (ประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงประสานกันที่หน้าพระเพลา) ในซุ้มจระนำ ที่นานๆ จะพบสักทีหนึ่งในแถบภาคกลาง แต่พอมีให้เห็นบ้างในแถบภาคเหนือ



นอกจากพระเจดีย์ประธานแล้ว วัดพระแก้วยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่พระประธานนามว่า หลวงพ่อฉาย ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร พระพุทธรูปหินทรายองค์นี้มีความพิเศษอยู่ที่ลวดลายแกะสลักที่พระปฤษฎางค์ (แผ่นหลัง) ซึ่งจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณกลับหัวคล้ายลวดลายบนทับหลังตามอย่างศิลปะขอม เชื่อว่าเมื่อวัฒนธรรมขอมเสื่อมอำนาจ คงมีผู้นำแผ่นหินทรายจำหลักลายที่ว่านี้จากบริเวณใกล้เคียงมาแกะเป็นพระพุทธรูป แต่ช่างมิได้ทำลายลวดลายทิ้ง จึงคงเหลือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาในปัจจุบัน



เมืองสรรคบุรี ยังมีโบราณสถานให้เรียนรู้อีก ๒ แห่ง ได้แก่ วัดพระยาแพรก ซึ่งเป็นวัดร้างตั้งอยู่ประชิดกับกำแพงวัดมหาธาตุ ภายในกำแพงแก้วยังปรากฏให้เห็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ พิจารณาจากชื่อวัด เข้าใจว่าวัดนี้น่าจะเป็นวัดที่เจ้าเมืองสร้างขึ้น



อีกวัดหนึ่ง คือ วัดสองพี่น้อง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดโตนดหลาย ที่นี่มีเจดีย์ ๒ องค์ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน องค์ใหญ่องค์หนึ่ง องค์เล็กองค์หนึ่ง จึงดูเหมือนเป็นเจดีย์พี่น้องกัน องค์ใหญ่เป็นเจดีย์รูปทรงปรางค์ สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง/ละโว้ ความน่าสนใจของพระปรางค์องค์นี้อยู่ที่ลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรที่ประดับอยู่ในส่วนเรือนธาตุ ซึ่งยังคงเหลือให้มากพอสมควร ส่วนเจดีย์องค์เล็กมีรูปทรงแปดเหลี่ยม ไม่มีลวดลายใดๆ หลงเหลือแล้ว


ของดีในอำเภอสรรคบุรียังไม่หมดเพียงแค่นี้ สรรคบุรีได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะดินดีน้ำดี ทรัพยากรธรรมชาติและพืชผลทางการเกษตรจึงอุดมสมบูรณ์ ของดขึ้นชื่อของที่นี่ก็อย่างเช่น ปลาเค็มตากแห้งตัวโตๆ เนื้อหวานอร่อ อีกอย่างที่เด็ดไม่แพ้กัน คือ ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ที่รสชาติดีและราคาไม่แพง



ผมได้แนะนำสถานที่สำคัญในเมืองโบราณสวรรคบุรีไปพอสมควรแล้ว ทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผมว่า สรรคบุรี อำเภอเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเก่าแก่อายุกว่าพันปี มีมรดกล้ำค่าและมีความพิเศษหลงเหลือให้เราได้ศึกษาและร่วมภาคภูมิใจอยู่ไม่น้อย


สุดท้ายนี้ ขอฝากว่า หากท่านมีโอกาสผ่านไปแถวๆ จังหวัดชัยนาทหรือจังหวัดใกล้เคียง อย่าพลาดที่จะไปสัมผัสคุณค่าอัญมณีเม็ดงามนามสรรคบุรีเช่นเดียวกันกับผมนะครับ


ม่อน บางม้า

 วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 22.13 น.

ความคิดเห็น