หลงเสน่ห์วันวาน ย้อนตำนานเมืองอู่ทอง


อู่ทองเป็นชื่อเมืองโบราณที่คุ้นหูผมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กๆ เนื่องจากคุณครูวิชาสังคมฯ มักสอนว่า พระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง แต่แล้วความจำอันนี้ก็ต้องลบทิ้งไป เพราะหลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า ช่วงที่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองอู่ทองมีสภาพเป็นเมืองร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐๐-๓๐๐ ปี ฉะนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่พระองค์จะเสด็จมาจากเมืองนี้


โบราณว่าไว้ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" ความรู้ต่างๆ ที่เรียนผ่านตำรา มีหรือจะสู้การเห็นของจริงกับตาตัวเองได้ ฉะนั้นแล้ว ถ้าอยากเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของเมืองอู่ทองอย่างแจ่มแจ้งแล้วไซร้ ก็ต้องไปให้ถึงที่ ดังนั้น เมื่อปะเหมาะเคราะห์ดี ผมจึงไม่รีรอที่จะเดินทางไปทำความรู้จักเมืองโบราณอู่ทองอย่างที่ตั้งใจไว้


จะว่าไป การเดินทางไปยังเมืองโบราณอู่ทอง เป็นเรื่องง่ายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก เพราะที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีเพียง ๓๐ กิโลเมตร แถมอยู่ในละแวกเดียวกับตัวอำเภออู่ทองอีกต่างหาก จากตัวเมืองสุพรรณฯ ขับรถต่อไปตามถนนมาลัยแมน เพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวก็ถึง


ประสบการณ์ที่ได้รู้ได้เห็นมาระหว่างการเดินทางครั้งนี้มีสิ่งไรบ้าง จะขอเล่าให้ฟังดังนี้



"ความน่าทึ่งสุดๆ ของเมืองอู่ทองอยู่ตรงที่ว่า

ที่นี่สามารถพัฒนาตัวเองจากสังคมเกษตรกรรมจนเป็นสังคมเมืองที่รุ่งเรือง

ถึงขั้นจัดเป็นรัฐแห่งแรกบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ"



จากการศึกษาทางโบราณคดี พบว่า ในบริเวณเมืองอู่ทอง เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์อาศัยมาช้านานไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี เราพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เต็มไปหมด เช่น เครื่องมือหินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา หอก ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับเมืองอู่ทองไม่ใช่ตรงนั้น ความน่าทึ่งสุดๆ ของเมืองอู่ทองอยู่ตรงที่ว่า ที่นี่สามารถพัฒนาตัวเองจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมเมืองที่รุ่งเรือง ถึงขั้นจัดเป็นรัฐแห่งแรกบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่สำคัญในภูมิภาคเมื่อเกือบ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว คือ ตั้งแต่ยุคฟูนันเรื่อยมาจนถึงยุคทวารวดี กินระยะเวลาหลายร้อยปี


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เราพบเหรียญกษาปณ์โรมันสมัยพระเจ้าวิกตอรินุสอายุกว่า ๑,๗๐๐ ปีที่นี่ รวมทั้งพบลูกปัดหินคาร์เนเลียนอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย จากหลักฐานเหล่านี้ ถ้าจะตีความว่าเมืองอู่ทองเป็นนครรัฐรุ่นแรกของไทยที่เข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์ของเครือข่ายการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ก็คงไม่ผิดนัก



"ถ้าจะตีความว่าเมืองอู่ทองเป็นนครรัฐรุ่นแรกของไทย

ที่เข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์ ก็คงไม่ผิดนัก"



ไม่เพียงแค่นั้น ภายในเมืองอู่ทองยังพบโบราณวัตถุสถานในพระพุทธศาสนาจำนวนมากทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ บ่งบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งรับพระพุทธศาสนารุ่นแรกๆ ของไทย กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานตั้งมั่น ณ เมืองอู่ทองก่อนเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่นๆ ทั้งหมด


หลักฐานชิ้นเอกที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ ได้แก่ แผ่นดินเผารูปพระภิกษุสามรูปอุ้มบาตร ศิลปะอินเดียแบบอมราวดี อายุราว ๑,๗๐๐ ปี ซึ่งจัดเป็นศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีพระภิกษุสงฆ์ในดินแดนสุวรรณภูมิอีกด้วย


อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ธรรมจักรศิลา พร้อมแท่นรองและเสาครบชุด อายุระหว่าง ๑,๒๐๐-๑,๔๐๐ ปี ถือเป็นธรรมจักรศิลาที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะหาชมที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว นอกจากใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง แห่งเดียวเท่านั้น ธรรมจักรชุดนี้ช่วยไขปริศนาว่าธรรมจักรถูกประดิษฐานอย่างไร ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า "กงล้อธรรม" แห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้หมุนเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแล้ว



"ที่นี่เป็นแหล่งรับพระพุทธศาสนารุ่นแรกๆ ของไทย

ที่พระพุทธศาสนาประดิษฐานตั้งมั่น

ก่อนเมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งอื่นๆ ทั้งหมด"



โบราณวัตถุเลอค่าในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีอีกมาก เกินจะบรรยายได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป เครื่องประดับทองคำ จารึกโบราณ เหรียญกษาปณ์ ศิวลึงค์ ประติมากรรมปูนปั้นดินเผา ฯลฯ ทั้งนี้ มีหลายชิ้นที่มี “ความเป็นที่สุด” ต้องไปที่ พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง เท่านั้น จึงจะได้เห็น


ภาพซ้ายบน: เหรียญกษาปณ์โรมัน

ภาพขวาบน: สร้อยลูกปัดหินคาร์เนเลียน

ภาพซ้ายล่าง: แผ่นดินเผารูปพระภิกษุสามรูปอุ้มบาตร

ภาพขวาล่าง: ธรรมจักรศิลา พร้อมแท่นรองและเสา



บรรยากาศภายในห้องจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง


ชิ้นส่วนยอดเจดีย์โบราณ จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง



"มีโบราณวัตถุหลายชิ้นที่มี “ความเป็นที่สุด”

ต้องไปที่พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทองเท่านั้น

จึงจะได้เห็น"



นอกจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแล้ว เมืองอู่ทองยังมีโบราณสถานสมัยทวารวดีหลงเหลือให้เห็นเป็นสิบๆ แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถูปเจดีย์และวิหาร ที่พังทลายลงเหลือเพียงฐาน แต่กระนั้นก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตของเมืองอู่ทองได้เป็นอย่างดี ทั้งแฝงเร้นไปด้วยมนต์ขลังและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา ในขณะเดียวกัน ในเขตเมืองอู่ทองยังพบสิ่งก่อสร้างสมัยหลังลงมา เช่น สมัยอยุธยาบ้างประปราย


เจดีย์หมายเลข ๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่นอกคูเมืองด้านทิศเหนือ เป็นหนึ่งในเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ค้นพบในบริเวณเมืองเก่า แม้สิ่งที่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันจะเป็นเพียงซากฐานเจดีย์สูงเพียง ๒ เมตร แต่เชื่อไหมว่า ซากฐานเจดีย์เพียงเท่านี้ สามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้มากมาย เป็นต้นว่า เราสามารถรู้ว่าคนในแถบลุ่มน้ำภาคกลางสมัยทวารวดีไม่ได้กินข้าวเจ้า หากแต่กินข้าวเหนียวเป็นหลัก โดยพิจารณาจากลักษณะแกลบข้าวในเนื้ออิฐ ซึ่งเป็นพันธุ์เมล็ดอ้วนป้อม ผิดจากแกลบข้าวในเนื้ออิฐที่ปรากฏตามโบราณสถานสมัยถัดๆ มา ซึ่งมีลักษณะเรียวยาวกว่า หรือจะเป็นสีดำๆ เทาๆ ตรงแกนกลางของอิฐจำนวนมาก ซึ่งเป็นลักษณะของเนื้ออิฐที่เผาไม่สุกเต็มที่ ก็สามารถบอกเราได้ถึงวิทยาการการควบคุมความร้อนในสมัยนั้นที่ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก


เจดีย์หมายเลข ๒


รูปลักษณ์สันนิษฐานของเจดีย์หมายเลข ๒



"นักวิชาการสันนิษฐานว่า

อู่ทองอาจเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรทวารวดี

ที่เป็นต้นเค้าของอารยธรรมไทย"



ด้วยเหตุที่มีโบราณวัตถุสถานสมัยทวารวดีตอนต้น ถูกค้นพบ ณ เมืองอู่ทองจำนวนมาก ทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองอาจเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรทวารวดี ที่เป็นต้นเค้าของอารยธรรมไทย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความรุ่งโรจน์ของเมืองอู่ทองน่าจะโรยราลงในช่วง พ.ศ. ๑,๕๐๐ - ๑,๖๐๐ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ที่ทำให้น้ำทะเลลดระดับลงจนชายฝั่งถอยร่นลงทางใต้ ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการค้าทางสมุทรที่อู่ทองเคยเป็นศูนย์กลางมานานหลายศตวรรษ


มาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งทึกทักว่าเมืองอู่ทอง มีแต่สถูปเจดีย์ร้างนะครับ ที่นี่ยังมีวัดวาอารามโบราณที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่หลายแห่ง ซึ่งล้วนควรค่าแก่การเยี่ยมชมทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดเขาพระ" ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระไม่ไกลจากตัวอำเภออู่ทองมากนัก ที่นี่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์คู่บ้านคู่เมืองพระนามว่า “หลวงพ่อสังฆ์ ศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในเพิงผาระหว่างทางเดินที่จะขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา และเชื่อว่าเป็นองค์เดียวกับที่ปรากฏในวรรณคดีพื้นบ้านเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ความว่า

“...ถึงเขาพระพี่เคยเข้ามาไหว้ พระสุกนี่กระไรดังหิ่งห้อย

ชี้บอกวันทองน้องน้อย พระจันทร์ฉายบ่ายคล้อยลงฉับพลับ...”

พระสุกที่กล่าวถึงก็น่าจะหมายถึงหลวงพ่อสังฆ์ ซึ่งปิดทองทั่วทั้งองค์จนดูสุกสกาวสว่างไสวนั่นเอง


นอกจากหลวงพ่อสังฆ์แล้ว ที่วัดเขาพระก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรค่าแก่การสักการะอีกหลายสิ่ง อาทิ รอยพระพุทธบาทหินทรายศิลปะสมัยทวารวดีตอนปลายภายในมณฑปบนยอดเขา รวมไปถึงเทวรูปแกะสลักนูนสูงรูปพระนารายณ์สี่กรพระนามว่า "เจ้าพ่อจักรนารายณ์" ศิลปะทวารวดีตอนกลาง ประดิษฐาน ณ ศาลบริเวณเชิงเขาตรงบันไดทางขึ้น


มณฑปบนยอดเขา วัดเขาพระ



หลวงพ่อสังฆ์ ศรีสรรเพชญ์ วัดเขาพระ


รอยพระพุทธบาท วัดเขาพระ


เจ้าพ่อจักรนารายณ์ วัดเขาพระ



ห่างจากวัดเขาพระไปเล็กน้อย ยังมีวัดที่สำคัญบนยอดเขาอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “วัดเขาทำเทียม” ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ทรงระฆังและโบสถ์สมัยอยุธยาตอนปลายบนยอดเขา กับเจดีย์หมายเลข ๑๑ ศิลปะสมัยทวารวดีตรงบริเวณเชิงเขา อันเป็นสถานที่ค้นพบธรรมจักรศิลาพร้อมแท่นรองและเสา ที่กล่าวถึงข้างต้น


ระหว่างเดินขึ้นไปยังยอดเขาเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น เราจะสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นเขียวขจีของแมกไม้นานาพันธุ์ สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างผม กว่าจะเดินถึงบันไดขั้นสุดท้ายได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยหอบอยู่เหมือนกัน แต่กระนั้นก็นับว่าคุ้มค่า เพราะทิวทัศน์ที่เห็นเบื้องล่างนั้นน่าเพลิดเพลินเจริญใจ จนทำให้ลืมความเหนื่อยล้าไปสิ้น


วัดแห่งนี้เชื่อกันว่าอาจเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกของประเทศไทย ฟังดูน่าตื่นเต้นใช่ไหมครับ ท่านอาจสงสัยว่าเราทราบได้อย่างไร สาเหตุที่หลายคนเชื่อไปเช่นนั้นก็เพราะว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน มีการค้นพบจารึกบนแผ่นหินในบริเวณวัดเขาทำเทียม เขียนเป็นภาษาสันสกฤตโบราณสมัยหลังปัลลวะ อ่านได้ว่า “ปุษยคีรี” ซึ่งแปลว่าภูเขาดอกไม้ เมื่อนำจารึกไปค้นคว้าต่อก็เกิดพบว่าคำไปพ้องกับศาสนสถานโบราณในเมืองสาญจี ประเทศอินเดีย นามว่า “ปุษปคีรีสังฆาราม” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช


นอกจากแผ่นจารึกปุษยคีรีแล้ว ธรรมจักรศิลา พร้อมแท่นรองและเสาที่พบในวัดนี้ เมื่อต่อเข้ากันแล้ว จะมีลักษณะใกล้เคียงกับ “เสาอโศก” ที่พระเจ้าอโศกโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในดินแดนต่างๆ ที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง


เมื่อพิจารณาควบคู่กับข้อความในคัมภีร์มหาวงศ์ของศรีลังกา ที่ระบุว่าพระเจ้าอโศกโปรดฯ ให้พระอุตตรเถระและพระโสณเถระเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะหมายถึงดินแดนในประเทศไทย ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าวัดเขาทำเทียมอาจเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย ซึ่งพระเถระทั้งสองเคยมาจำพรรษาอยู่ก็เป็นได้


อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานดังกล่าว ทุกวันนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากมีข้อสังเกตว่า เราไม่เคยพบจารึกสมัยพระเจ้าอโศกหลักใดเลยที่กล่าวว่า พระองค์เคยส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิ ส่วนคัมภีร์มหาวงศ์ของศรีลังกาที่กล่าวถึงเช่นนั้น ก็รจนาขึ้นหลังสิ้นรัชกาลของพระเจ้าอโศกนานกว่า ๗๐๐ ปี ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าพระอุตตรเถระและพระโสณเถระเคยเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิจริงหรือไม่


อีกทั้งหลักฐานซึ่งค้นพบ ณ วัดเขาทำเทียม ไม่ว่าจะเป็นแผ่นจารึกปุษยคีรีหรือชุดธรรมจักรศิลา ล้วนมีอายุหลังกว่าสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ อยู่มากโข กล่าวคือ แผ่นจารึกปุษยคีรีมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ธรรมจักรศิลาก็เช่นกันมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓


แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ความเชื่อความศรัทธาในเรื่องที่ว่านี้ ได้ก่อเกิดเป็นพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่จากความร่วมมือร่วมใจของสาธุชนชาวพุทธทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรีและทั่วประเทศในรูปแบบโครงการแกะสลักพระพุทธรูปบนหน้าผาใหญ่ที่สุดในโลก คือ “พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” หรือ “หลวงพ่ออู่ทอง” บนหน้าผามังกรบินภายในบริเวณวัดเขาทำเทียม แม้ในขณะนี้องค์พระจะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็นับว่าคืบหน้าไปมาก


"ความเชื่อความศรัทธา ได้ก่อเกิดเป็นพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ในรูปแบบ

โครงการแกะสลักพระพุทธรูปบนหน้าผาใหญ่ที่สุดในโลก คือ

“พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” หรือ “หลวงพ่ออู่ทอง”



พระเจดีย์บนยอดเขาทำเทียม


พระประธานภายในอุโบสถบนยอดเขาทำเทียม


คูหาใต้เพิงผา วัดเขาทำเทียม


ทิวทัศน์เมืองอู่ทองมองจากยอดเขาทำเทียม


พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือหลวงพ่ออู่ทอง วัดเขาทำเทียม



จารึกศิลา "ปุษยคีรี" ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ฯ อู่ทอง



ไม่ไกลจากตัวอำเภออู่ทองมากนัก ยังมีศาสนสถานโบราณบนยอดเขาที่น่าไปสักการะอีกแห่งหนึ่ง คือ วัดเขาดีสลัก ณ ที่นี้มีรอยพระพุทธบาทศิลาทราย สร้างในสมัยทวารวดีตอนปลาย ที่จัดว่าแปลกกว่าที่อื่น คือ รอยพระพุทธบาทแกะเป็นภาพนูนต่ำ แทนที่จะแกะเว้าลึกลงไปในเนื้อผิวศิลาดังเช่นรอยพระพุทธบาททั่วไป สถานที่นี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ทัศนียภาพกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาของท้องไร่ท้องนาอันเขียวชอุ่ม แต่ทว่า เมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาถึง เรือกสวนไร่นาเหล่านี้ก็จะพร้อมใจกันเปลี่ยนเป็นสีทองเหลืองอร่าม ให้บรรยากาศที่น่ายลไปอีกแบบหนึ่ง


มณฑปและวิหารโถงบนยอดเขา วัดเขาดีสลัก



รอยพระพุทธบาทจำลอง วัดเขาดีสลัก


ทิวทิศน์รอบวัดเขาดีสลัก


ศาสนสถานแห่งสุดท้ายที่อยากแนะนำ คือ ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร ซึ่งตั้งอยู่ในตัวอำเภออู่ทอง และนับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกสิ่งหนึ่งของชาวอู่ทอง


ขอสารภาพว่า ครั้งแรกที่ได้เห็นตัวศาลเจ้าในสถาปัตยกรรมจีน ผมเข้าใจว่าเจ้าพ่อพระยาจักรเป็นเทพเจ้าจีน ที่ไหนได้ พอเข้าไปสักการะด้านในจึงได้รู้ว่า ที่แท้ท่านเป็นเทพเจ้าแขก ที่ว่าเป็นเทพเจ้าแขกนั้น ก็เพราะเทวรูปที่สถิตอยู่ภายในศาล คือ พระนารายณ์สี่กรในท่าประทับยืน สลักจากศิลาเป็นภาพนูนสูงศิลปะสมัยทวารวดี


ตำนานเล่าสืบต่อกันว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพ่อพระยาจักรได้ลอยตามลำน้ำจระเข้สามพันมาติดพงหญ้าบริเวณตลาดอู่ทอง จากนั้นชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นแล้วสร้างศาลเจ้าถวาย และพากันเรียกว่า “เจ้าพ่อพระยาจักร” เนื่องจากลักษณะของเทวรูปที่มีพระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงจักรนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ศาลเจ้าที่เห็นในทุกวันนี้ เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ได้เพียง ๓๐ กว่าปี ห่างจากจุดเดิมราวๆ ๕๐ เมตร ส่วนที่สร้างเป็นศาลเจ้าแบบจีนนั้น ก็คงสัมพันธ์กับชุมชนรอบข้างศาลเจ้า ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่


เชื่อกันว่าเจ้าพ่อพระยาจักรนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก ครั้งหนึ่งเมื่อราว ๕๐ ปีก่อน เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ในตลาดอู่ทอง มีบ้านเรือนวอดไปเป็นร้อยๆ หลัง แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ตัวศาลเจ้าพ่อพระยาจักรกลับไม่เสียหายอะไรเลย สร้างความอัศจรรย์ใจแก่ชาวบ้านเป็นอันมาก



"ครั้งแรกที่ได้เห็นตัวศาลเจ้าในสถาปัตยกรรมจีน

ผมเข้าใจว่าเจ้าพ่อพระยาจักรเป็นเทพเจ้าจีน

ที่ไหนได้ พอเข้าไปสักการะด้านใน

จึงได้รู้ว่า ที่แท้ท่านเป็นเทพเจ้าแขก"



ศาลเจ้าพ่อพระยาจักร



เจ้าพ่อพระยาจักร ประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีน


หลังจากได้สักการะองค์เจ้าพ่อพระยาจักรเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางกลับบ้าน แต่ผมไม่ได้กลับมาตัวเปล่า ผมได้หอบเอาความสุขกองโตกลับมาด้วย


การเดินทางไปเที่ยวชมเมืองโบราณอู่ทองครั้งนี้ นับเป็นการเดินทางที่น่าประทับอีกครั้งหนึ่งของผม เพราะนอกจากจะรู้สึกซาบซึ้งในมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแล้ว ยังเกิดความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็นพะเรอเกวียน


ถ้ารู้ว่าไปเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองดี๊ดีอย่างงี้ ไปเที่ยวเสียตั้งนานแล้ว!!!!


ความคิดเห็น