คะน้าน้อย' สวัสดีค่าาา ^O^
มาพาเที่ยวต่อแล้วน้าาา~ ใน Blog นี้คะน้ายังคงพาเดินเล่นอยู่ที่ Museum Siam นะคะ
ต่อจาก Blog ก่อนหน้า ที่คะน้าพาเดินชมนิทรรศการ
# คะน้า ในงาน "ถอดรหัสไทย" คิดถึง "ความเป็นไทย" คิดถึง "อะไรเอ่ย" #
ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 2 และชั้น 3 ภายในมิวเซียมสยามแห่งนี้ไปแล้วอย่างสนุกสนานบันเทิง
สำหรับ Blog นี้คะน้าการันตีว่าสนุกไม่แพ้กันเลยค่ะ จะต้องมีว้าวแน่นอน!!
ว่าแต่...มีใครอ่าน Blog "ถอดรหัสไทย" แล้วบ้าง สนุกมั้ยคะ
ถ้าสนุกและชื่นชอบกันล่ะก็ ตามคะน้ามาเดินต่อที่งานนี้เลยค่ะ
"สักสี สักศรี : Tattoo Color, Tattoo Honor"
แล้วทุกคนจะตะลึงไปกับศิลปะที่งดงามและความยิ่งใหญ่แห่งอารยะธรรมโบราณแน่นอน!!

ด้านหน้า Museum Siam จะมีป้ายตัวโต๊โตแบบนี้เลยค่ะ ทางเข้ามี 2 ทางนะคะ
ทางเข้าฝั่งตรงข้าม เยื้องขวามาจาก "วังจักรพงษ์" และทางเข้าจาก "MRT สนามไชย"
ซึ่งนิทรรศการนี้ จะจัดแสดงที่ชั้น 1 ณ อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยามค่ะ

เมื่อเข้ามาถึงแล้ว สามารถเดินตรงเข้ามาชมงานได้เลยแบบฟรีๆ!!
โอโหหหห! งานดีๆ และฟรีแบบนี้ อดใจไม่มากันไหวเหรอ?
งานนี้มีวิทยากรเป็นไกด์พาชมด้วยนะคะ ไม่ใช่ให้เราเดินเอง เรียนรู้เองแบบไก่กา
กลับบ้านไปนี่อัพสกิลประสบการณ์ชีวิตเลยนะจ้ะ

คะน้าพามาชมโซนแรกกันก่อนค่ะ
โซนนี้เป็นการแสดงประวัติและตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการสักลายในดินแดนต่างๆ
ที่แสดงถึงอารยะธรรมที่มีมายาวนานถึง 5,300 ปี!!
โดยมีหลักฐานยืนยันจากการค้นพบซากมนุษย์ในยุคโบราณ บริเวณธารน้ำแข็งอาเล็ทซ์ กลาเซียร์
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 5,300 ปีก่อน และหลักฐานจากมัมมี่โบราณแห่งอียิปต์นั่นเองค่ะ
แต่เนื่องจากลวดลายของรอยสักของคนในยุคโบราณ ยังไม่ปรากฏเหตุผลที่แน่ชัด
ว่าสักลายกันไปทำไม และเป็นรอยสักที่บ่งบอกความหมายถึงอะไรบ้าง
จึงได้มีการตั้งข้อสันนิฐานกันไว้ว่า...การสักลายเมื่อหลายพันปีก่อนนั้น ได้ทำเพื่อ
1. เป็นประเพณี 2. แสดงความเข้มแข็ง
3. เป็นความศักดิ์สิทธ์ 4. สร้างความน่าเกรงขามและสุนทรี
// แค่ฟังประวัติที่มาที่ไปของการสัก ก็ไม่ธรรมดาแล้วนะคะ
ใครชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับอารยะธรรมโบราณ การสักลายก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เลย
งานนี้ไม่ควรพลาดเลยจ่ะ ควรนั่งรถไฟฟ้ามาเดี๋ยวนี้ 555555

และสำหรับมุมนี้ เป็นการเล่าถึงประวัติและตำนานการสักลายของชาวไทยค่ะ
ในสมัยก่อนมีหลักฐานเกี่ยวกับการสักลายของคนไทย จาก จดหมายเหตุลาลูแบร์**
เล่าไว้ว่า "การสักแขน สักขา" ในสมัยก่อนนั้น เป็นการแสดงถึงเกียรติยศของผู้สัก
โดยแบ่งเป็น พระมหากษัตริย์ จะสักด้วยน้ำหมึกสีน้ำเงิน ตั้งแต่พระบาท ไปจนถึงพระนาภี
(ความหมายเช่นเดียวกับ สีน้ำเงิน บนธงชาติไทย ที่หมายถึงพระมหากษัตริย์นั่นเองค่ะ)
ส่วนบรรดาขุนนาง เสนาบดี ก็จะนิยมสักลายเพื่อทดสอบความอดทนของลูกผู้ชายค่ะ
หากเป็นการสักยันต์ ถือเป็นสักเพื่อความขลังและศักดิ์สิทธิ์
และสำหรับไพร่ที่มีสังกัดมูลนาย ก็จะทำการสักเลก หรือการสักที่ข้อมือ เพื่อระบุสังกัดค่ะ
โดยมีการสันนิฐานว่า การสักในประเทศไทย เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาค่ะ
(จดหมายเหตุลาลูแบร์** เป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยาม
ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230
โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส)

มาดูการวัฒนธรรมการสักของกลุ่มชนพื้นเมืองไทยกันบ้างค่ะ
ในงานนี้ได้เล่าถึงประวัติการสักลายของชนชาว "ลาว"
ลาว ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงประเทศลาวในปัจจุบันนะคะ (ตอนแรกคะน้าก็เข้าใจอย่างนั้น)
แต่สมัยก่อน "ชาวลาว" ในที่นี้ เป็นชื่อเรียกคนไทยที่อยู่ทางภาคเหนือ, อีสานของไทยนี่เองค่ะ
และยาวไปจนถึงชาวเมืองเวียงจันทร์, หลวงพระบาง (ประเทศลาวในปัจจุบัน)

ซึ่งชาวลาวจะแบ่งเป็นสองกลุ่มค่ะ คือ "ลาวพุงขาว"
เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองทางภาคอีสานของไทย หรือชาวล้านช้าง
และรวมถึงกลุ่มชนพื้นเมืองเวียงจันทร์, หลวงพระบาง
ซึ่งเอกลักษณ์ของชาวลาวพุงขาว คือการสักลายเฉพาะต้นขาถึงหัวเข่าเท่านั้น

และสำหรับชาวล้านนา หรือกลุ่มชนพื้นเมืองทางภาคเหนือของไทย จะเรียกว่า "ลาวพุงดำ"
โดยมีเอกลักษณ์การสักลายคือจากหน้าท้องยาวถึงหัวเข่าเลยค่ะ

ในงานจะมีการเล่าเรื่องตำนานต่างๆ เกี่ยวกับลายสักด้วยค่ะ
เช่น ลายมังกร ลายเสือ มีเรื่องเล่าตำนานมายังไงบ้าง ฟังแล้วตื่นเต้นดี บางเรื่องนี่ร้องว้าว!
แต่คะน้าขอไม่สปอยนะคะ อยากให้ทุกคนไปชมงานนี้กันเอง
ส่วนในภาพ เป็นหนึ่งลายที่คะน้าและพี่ช่างภาพชอบมากๆ ค่ะ
ชื่อว่าลาย "ปะลู" ลายนี้มีเรื่องเล่าตำนานตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงสะกอ
หรือ กะเหรี่ยงขาว เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มานานกว่า 100-200 ปี
เชื่อว่า หากสักลายปะลูนี้บริเวณเหนือข้อพับขาที่ด้านหลัง จะนำพาวิญญาณของเรา
ไปสู่ภพภูมิที่ดี และได้พบเจอกับบรรพบุรุษของเราในภพภูมินั้นค่ะ // ลึกซึ้งเข้าไปทุกทีนะฮะ

มาฝั่งนี้กันบ้างค่ะ ฝั่งนี้เป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมการสักลายของชนพื้นเมืองชาวไต้หวันค่ะ
และในงานนี้ที่ถูกจัดขึ้นมา นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และอารยธรรมพื้นเมือง
ของชาวไต้หวันแล้ว ยังจัดแสดงขึ้นเพื่อให้เกิดการยอมรับคนที่มีรอยสักในไต้หวันอีกด้วย
// น้องวิทยากรเล่าว่า ปัจจุบันการสักลายในไต้หวัน ยังไม่เป็นที่ยอมรับนั่นเองค่ะ
หากทว่า...ในสมัยก่อนนั้น รอยสักคือร่อยรอยแห่งเกียรติยศ มีค่ามากกว่าผู้ที่ไร้ร่องรอยใด

ชนพื้นเมืองในไต้หวัน แบ่งออกเป็นสองกลุ่มค่ะ กลุ่มแรกคือ "ชาวไผวัน"
ชาวไผวัน คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ ของประเทศไต้หวันค่ะ
ชาวไผวัน จะมีเอกลักษณ์คือจะมีรอยสักที่หลังมือ แขน แผ่นหลัง และหน้าอก
หากเป็นผู้หญิง จะสักที่หลังมือค่ะ และรอยสักของชาวไผวันนั้น
ถือเป็นประเพณีที่สำคัญมาก เพราะรอยสักจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต


ความสำคัญของรอยสักชาวไผวัน จะใช้แสดงถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของผู้สัก
ซึ่งลวดลายจะมีการแบ่งแยกลายสักออกไปในแต่ละชนชั้น
เช่นลวดลายสำหรับชนชั้นสูง ผู้ที่สามารถจะมีรอยสักได้นั้น
จะต้องเป็นระดับหัวหน้าชนเผ่าและสมาชิกในครอบครัวของหัวหน้าเผ่า เป็นต้นค่ะ
หรือสำหรับคนที่มีตำแหน่งสำคัญในสังคม ก็จะได้รับรอยสักพิเศษต่างกันออกไป
ดังนั้น ผู้ที่มีรอยสัก จะเป็นผู้มีเกียรติ น่าเคารพและเกรงขาม
ซึ่งตรงกันข้ามกับทัศนคติของคนในยุคปัจจุบันมากๆ เลยค่ะ

คุณยายชาวไผวันคนนี้ ดูเท่มากๆ เลยนะคะ
ดูจากรอยสักบนหลังมือของคุณยายแล้ว ต้องเป็นผู้หญิงที่เก่งและแกร่งมากๆ เลย

และสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มที่สองค่ะ "ชาวไท่หย่า"
ชาวไท่หย่า คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ของประเทศไต้หวันค่ะ
ชาวไท่หย่าจะตรงข้ามกับชาวไผวัน ตรงที่ชาวไท่หย่าจะสักบนใบหน้าเท่านั้น
ซึ่งรอยสักของชาวไท่หย่า จะหมายถึง ระดับความสามารถของผู้ที่มีรอยสักค่ะ

รอยสักดั้งเดิมของชาวไท่หย่า มีทั้งหมด 3 ส่วนค่ะ คือสักหน้าผาก คาง และใบหน้า
สำหรับรอยสักบนหน้าผากนั้น จะสักทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ที่มีความสามารถค่ะ
ส่วนรอยสักเฉพาะของผู้ชาย คือรอยสักที่คาง กล่าวว่า เมื่อผู้ชายที่เป็นบุรุษนักรบ
สามารถนำศีรษะของศัตรูกลับมายังเผ่าได้ หรือนำชัยชนะกลับมา จะได้รับรอยสักที่คาง
เพื่อประกาศเกียรติยศของบุรุษผู้นั้นค่ะ และรอยสักเฉพาะของผู้หญิง คือรอยสักที่แก้ม
ไล่ยาวไปจนถึงติ่งหู เพื่อบอกถึงความสามารถในการถักและทอผ้าค่ะ
หากมีความสามารถในทอผ้าที่เก่งขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต ก็จะได้รับการประกาศความสามารถนั้น
ผ่านทางเส้นรอยสักที่เพิ่ม (ความหนาของลาย) ขึ้นทีละเส้นนั่นเองค่ะ สุดยอดไปเลย!!

ห้องต่อมาค่ะ เป็นห้องที่สอง ห้องนี้จะเล่ารายละเอียดถึงวิถีชีวิตและวิธีการสักลาย
ของทั้งพื้นเมืองชาวไทย และชาวไต้หวันค่ะ
ทั้งยังแสดงผ้าทอของไทย อันเป็นนวัตกรรมในปัจจุบัน ซึ่งได้นำลายสักในสมัยก่อน
มาเป็นลายพิมพ์ผ้า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะรอยสักโบราณให้สืบทอดต่อไปอีกนานๆ นั่นเองค่ะ
คะน้าชอบไอเดียนี้มากๆ เพราะคะน้าไม่ใช่คนสัก แต่ชื่นชอบลายของรอยสัก
คะน้าก็สามารถที่จะมีลายที่คะน้าชื่นชอบในรูปแบบของเสื้อผ้า กระเป๋าทดแทนได้ค่ะ
// ตอนนี้เล็งจะสั่งซื้อผ้าคลุมไหล่ลายปะลูอยู่นะ 5555555555

นี่ไม่ใช่จอ Projector นะคะ นี่คือผ้าทอของชนพื้นเมืองชาวไผวันค่ะ
เนื้อผ้าหนามากกกกก~ และลายทอเหมือนภาพพิมพ์เลยค่ะ สวยงามมากจริงๆ

มุมนี้มีตู้จัดแสดงอุปกรณ์การสักลายในสมัยก่อนด้วยค่ะ
ยังคงความสมบูรณ์อยู่เลย

ในตู้นี้จัดแสดงอุปกรณ์การสักลายของชาวไต้หวันค่ะ
ที่เห็นเข็มๆ นั่น เป็นหนามของต้นไม้นะคะ
สมัยก่อนยังไม่มีเข็ม จะใช้กระดูกสัตว์ หรือหนามต้นไม้ค่ะ
ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นหัวเข็มอย่างด้านขวามือค่ะ


และนี่คืออุปกรณ์เข็มสัก ของไทยโบราณค่ะ เป็นด้ามแบบเปลี่ยนหัวเข็มได้
วิทยากรเล่าให้คะน้าฟังว่า หากสักด้วยเข็มแบบโบราณ เวลาตกสะเก็ดแผล
จะเป็นสะเก็ดแผลน้อยกว่าการสักด้วยปืนสักในสมัยปัจจุบันค่ะ

มุมนี้มีให้เราลองเล่นประทับรอยสักกันสนุกๆ ด้วยนะคะ
หากอยากรู้ว่าเวลาที่เรามีรอยสักขึ้นมาจริงๆ (กรณีคนไม่สัก เช่นคะน้านี่แหละ)
ก็ลองหยิบตัวปั๊มลายรอยสักมาประทับเล่นๆ ดูได้เลยค่ะ
บนโต๊ะมีคำอธิบายด้วยนะคะ ว่ารอยสักแต่ละรอย เป็นรูปสัญลักษณ์ของอะไรบ้าง
มีชื่อเรียกว่าอะไร และมีความหมายอย่างไร มุมนี้พี่ช่างภาพของคะน้าอดใจไม่ไหว
ปั๊มมาซะเต็มมือเลยค่ะ 5555555555

อันนี้โหดไป๊! คะน้าขอไม่ปั๊มนะ แต่ขอลองทาบๆ พอ
เอาตรงๆ นะ พอซูมแล้วกลัวตัวเองมาก 55555555

และภายในห้องนี้ ยังมีการจัดแสดงภาพยนตร์สั้น ออกแนวสารคดีแหละ
บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของการสักลายในชนเผ่าของไต้หวัน และมีให้ดูว่าเวลาสักเขาทำกันยังไง
คะน้าดูแล้วแอบหรี่ตานิดๆ เข็มสักสมัยก่อนคือมาเป็นแผงและใช้มือตอก ขุ่นพระ!!
เชื่อแล้วว่าการสักลาย คือการทดสอบความอดทนที่แท้ กว่าจะตอกเสร็จแต่ละลาย
ใครไหวไปก่อนเลยนะคะ ใครไม่ไหวมากองรวมกับคะน้าเลย 555555555

ถัดจากห้องเมื่อครู่นี้ เข้ามาถึงห้องสุดท้ายที่ด้านในค่ะ
ห้องนี้เป็นเวิร์คช็อป ให้เราปั๊มรอยสักที่ชื่นชอบใส่ลงกระดาษเปล่า
เพื่อทำเป็นโปสการ์ดที่ระลึกกลับไปค่ะ

เมื่อห้องก่อนหน้า เป็นตราปั๊มสำหรับใช้กับผิวหนัง คะน้าก็ไม่ทำ
มาห้องนี้ เป็นตราปั๊มสำหรับกระดาษ ดันมาปั๊มลงแขน
ทีมงานมองหน้าเลยนะคะ เล่นอย่างงี้ 55555555555

ท๊าดาาาาา~~
แหมมมม! สนุกกว่าใครเค้า คือคะน้านี่แหละ 555555
ดูลายของรอยสักแต่ละรอยสิคะ คะน้ามางานนี้ทั้งๆ ที่เรื่องการสักลายเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ เลย
เพราะคะน้าไม่ใช่คนสัก แต่พอคะน้าได้มาเที่ยวชมงานนี้แล้ว คะน้าเปิดโลกใหม่มากเลยนะคะ
ลองนึกภาพของ อักษรเฮียโรกลิฟิค (Hieroglyphic) (อักษรอียิปต์) ก็ได้ค่ะ
เราอ่านกันไม่ออก แล้วมันก็ดูน่าสนใจ ดูลึกลับดีใช่มั้ย เปรียบได้กับในงานนี้อ่ะ
เมื่อรอยสักโบราณก็เหมือนเฮียโรกลิฟิค นี่แหละ! น่าสนใจตรงที่แต่ละลายนั้นมีตำนานของตัวเอง
รอยสักเป็นภาษาภาพ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่มีความหมายลึกซึ้ง มันเจ๋งมากอ่ะ!!
คะน้าอยากให้ทุกคนมาดู มาชมงานนี้ด้วยตัวเองมากๆ ค่ะ ลองมากันนะ ^^

ปั๊มลงกระดาษเปล่า คะน้ากลัวหาย คะน้าเลยปั๊มใส่สมุดบัตรในงาน "ถอดรหัสไทย" แทน
// อ่าน Blog งาน "ถอดรหัสไทย" กันด้วยนะคะ รับรองยิ้มตามตลอดงานแน่นอน อ่ะ! ขายเก่งงง~

เมื่อเดินชมงานจบแล้ว ออกมาด้านนอก จะเห็นตู้ผลิตเหรียญที่ระลึกแบบนี้ค่ะ
แต่เป็นแบบอัตโนมัติ แค่หยอดเหรียญ แล้วกดปุ่มเลือกลายที่ชอบ
เครื่องนี้ก็จะปั๊มเหรียญออกมาให้เราค่ะ
// ถ้าใครอ่าน Blog สิงคโปร์ ของคะน้า ที่เซนโตซา ตู้แบบนี้จะเป็นอัตโนมือนะ 55555 > <

และนี่คือโฉมหน้าพี่ช่างภาพที่อยู่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นศัตรูป่วนคะน้ามาตลอดทั้งวัน
คนอะไรขำกันอยู่ได้ ก่อนจะมาเที่ยวควรพากันไปหาหมอก่อนอ่ะ เอาจริง 55555555
ขอบคุณ พี่เอส (Est Foto) ที่มาถ่ายรูปสวยๆ ให้คะน้าน้อยนะคะ ^^ ไหว้ย่อ
// ถ่ายรูปสวยมาก จ้างได้ ถ้าบอกว่ามาจากคะน้า จะได้รับแพ็คเกจถ่ายรูป
ลดราคา 0% ผ่อนก็ไม่ได้ ต้องจ่ายสดเท่านั้น // หยอกๆ 55555555

การเดินทางมา มิวเซียมสยาม (Museum Siam) เดี๋ยวนี้ก็ง่ายแล้วนะคะ
สามารถนั่งรถไฟฟ้า MRT สนามไชย มาได้เลย
แต่ถ้าจะขับรถมา ที่นี่มีที่จอดรถจำกัด แนะนำให้มา MRT สะดวกสุดค่ะ

จบจากงาน Tattoo Color, Tattoo Honor ที่ชั้น 1 กันแล้ว
ตามคะน้าขึ้นมาที่ชั้น 2 และชั้น 3 เพื่อเดินเที่ยวไป ฮาไปกันต่อได้ที่งาน...
# คะน้า ในงาน "ถอดรหัสไทย" คิดถึง "ความเป็นไทย" คิดถึง "อะไรเอ่ย" #
รับรองว่างานนี้ทุกคนจะได้อัพเลเวลความเป็น "คนไทย" ไปอีกเท่าตัวค่ะ!!
และสำหรับ Blog นี้คะน้าพาเดินชมจนทั่วแล้ว ชอบงานนี้กันมั้ยคะ ถ้าชอบ ต้องไปนะห้ามพลาด!!
ถึงตรงนี้คะน้าขอขอบคุณ คุณเล็กและพี่ๆ ที่มิวเซียมสยามทุกคนเลยค่ะ
ดูแลคะน้าดีมากๆ แฮปปี้มากเลย นิทรรศการหน้า เจอคะน้าแน่นอน เดี๋ยวไปป่วนอีก 555555
และขอบคุณทุกคนด้วย ที่ติดตามกันมาถึงตอนนี้นะคะ // ไหว้ย่อ
แล้วเราจะพบกันใหม่ค่ะ // คะน้าน้อย ❤
คะน้าน้อย
วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 18.14 น.