วันหยุดว่างๆ หากไม่มีที่จะไป ไม่ต้องไปไกลค่ะ แค่เดินทางเข้าไปแถวเกาะรัตนโกสินทร์ก็มีที่ไปไม่ไกลแล้ว สถานที่ที่พี่ใหญ่กับหนูเล็กจะพาไปเที่ยววันนี้ ก็แค่นั่งเรือข้ามฟากไปแค่นั้นเอง ไม่ใช่ที่ไหนเลย "วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร" นั่นเอง

วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอัมรินทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามวัดโพธิ์ ฝั่งพระนคร สามารถเดินทางถึงกันโดยผ่านเรือข้ามฟากที่ท่าเตียน ค่าเรือข้ามฟากแค่คนละ 4 บาท เท่านั้นเองค่ะ ไปค่ะ ไปเดินเที่ยวกัน

เมื่อขึ้นจากเรือข้ามฟากและเดินเข้าไปในเขตวัดเราจะพบศาลาท่าน้ำทรงเก๋งจีน แต่ที่สะดุดตาคือยักษ์ยืนถือกระบอง 2 ตนที่ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ ยักษ์สีเขียวคือทศกัณฑ์ ส่วนยักษ์สีขาวคือสหัสเดชะ อันเป็นที่มาของตำนานยักษ์วัดแจ้งที่ต่อสู้กับยักษ์วัดโพธิ์

ทศกัณฐ์

เมื่อผ่านประตูซุ้มยอดมงกุฏเข้าไปและเดินเข้าไปที่ภายในพระอุโบสถของวัดอรุณราชวราราม ด้านในจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประธานที่มีชื่อว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ หรือ 1.75 เมตร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี กล่าวกันว่า รัชกาลที่ 2 ทรงปั้นวงพระพักตร์พระพุทธรูปองค์นี้ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ใต้พระพุทธอาสน์พระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลกนี้ยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ 2 อีกด้วย

ประตูซุ้มยอดมงกุฏ

ประตูซุ้มยอดมงกุฏหนึ่งเดียวที่นี่

พระอุโบสถของวัด

ระเบียงคต

ตุ๊กตาอับเฉา

พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานของวัด

วัดอรุณฯ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก (เรียกตามชื่อตำบลที่ตั้ง) เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีใหม่มายังกรุงธนบุรี พระองค์จึงเสด็จทางชลมารค ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยมาจนถึงหน้าวัดมะกอกถึงเมื่อรุ่งแจ้งพอดี ครานั้นจึงมีพระราชดำริว่า นับเป็นมงคลมหาฤกษ์นัก ครั้นแล้วจึงเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งไปถวายสักการะพระเจดีย์ (พระปรางค์องค์เก่า)

ครั้นต่อมาโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดแจ้งเพื่อระลึกถึงมงคลมหาฤกษ์ครั้งนั้น พร้อมกับสร้างพระราชวังขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง หากต่อมามีการขยายพื้นที่พระราชวังออกไปอีกจนถึงบริเวณวัด เป็นผลให้วัดแจ้งยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในพระราชวังในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาวัดแจ้งจึงไม่ได้เป็นพระอารามหลวงในเขตพระราชวังอีกต่อไป

วัดแจ้งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตามลำดับ จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับพระราชทานนามใหม่ตามนัยความหมายเดิมว่า “วัดอรุณราชวราราม” จากนั้นจึงได้รับการยกฐานะเป็น “พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร” และได้กลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ในเวลาต่อมาในที่สุด

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้ชื่อว่าเป็น “พระมหาเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่และสง่างามที่สุดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” และอยู่คู่กับวัดมาแต่ครั้งกรุงเก่า กระทั่งแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริโปรดฯ ให้สร้างพระปรางค์ขึ้นใหม่เพื่อให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นพระมหาธาตุแห่งพระนคร การก่อสร้างจึงเริ่มมาแต่บัดนั้น ทว่าเพียงแค่เริ่มต้นขุดขยายฐานรากพระปรางค์ออก รัชกาลที่ 2 ก็สวรรคตเสียก่อน ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 จึงสืบสานพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างต่อจนพระปรางค์แล้วเสร็จสมบูรณ์ ความวิจิตรพิสดาร งดงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่ได้อยู่เพียงแค่ขนาดและสัดส่วนที่ยิ่งใหญ่อลังการเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงงานประดับต่างๆ ทั้งกระเบื้องสีจากจีน ทั้งรูปพลแบก ได้แก่ ยักษ์แบก กระบี่แบก โดยรอบฐานพระปรางค์ และเทวดาแบกโดยรอบส่วนรองรับ

ในซุ้มจระนำหรือซุ้มคูหาทั้งสี่ของเรือนธาตุ ประดิษฐานพระอินทร์ทรงช้างสามเศียร (ช้างเอราวัณ) แทนการประดิษฐานพระพุทธรูปตามธรรมเนียมนิยม รวมทั้งประดับกระเบื้องสี ถ้วยชามกระเบื้องจากเมืองจีน เป็นลวดลายพรรณพฤกษาและหมู่กินรี งานประดับทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวโยงกับคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลทั้งสิ้น


ยักษ์แบก

ไม่เพียงเท่านั้น คติความเชื่อนี้ยังได้รับการตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการจัดวางตำแหน่งพระปรางค์ขนาดย่อม 4 องค์ ให้ทำหน้าที่เป็นเจดีย์บริวารประจำมุมของปรางค์ประธานเช่นเดียวกับการมีมณฑปประจำด้านทั้งสี่ด้าน ซึ่งพระปรางค์ประจำมุมและมณฑปประจำด้านจะหมายถึงทวีปต่างๆ ที่อยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุ

พระปรางค์ขนาดย่อม

มณฑปซึ่งมีสี่ทิศเช่นกัน จะสังเกตเห็นว่าเป็นเทวดาแบก

ทางวัดจะเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมความงดงามของพระปรางค์แบบใกล้ชิดได้เพียงชั้นเดียวเพราะบันไดมีความชันมากอาจเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้ เมื่อได้เดินชมอย่างใกล้ชิดจะเห็นถึงความสามารถของช่างไทยสมัยโบราณ ความละเอียดและฝีมือชั้นครูของสถาปัตยกรรมไทยที่ไม่แปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดต่างชาติถึงอยากมาเห็นและมาสัมผัสด้วยตาตนเองสักครั้ง

หากมีโอกาสขอแนะนำให้ไปเยือนอย่างน้อยสักครั้งค่ะ แล้วจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยของเราจริงๆ ค่ะ

หลังจากเดินเที่ยวจนร้อนจนเพลีย หนูเล็กข้ามกลับมาที่ฝั่งท่าเตียนอีกครั้ง เดินหาอะไรใส่ท้อง เห็นร้านหนึ่งก็ว่างๆ ดี แวะเข้าไปเสียหน่อยดีกว่า "Arom D Cafe / Arom D Hostel" เป็นร้านอาหารและที่พักเล็กๆ ย่านท่าเตียนที่จัดได้ว่ามีความสะดวกสบายในการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ในเขตพระนคร ทั้งวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ มิวเซียมสยาม ด้านบนเป็นที่พักแบบโฮสเทล ด้านล่างเป็นส่วนของคาเฟ่ สามารถมานั่งรับประทานอาหารได้แม้จะไม่ได้เข้าพัก


เอาเมนูมาดูส่วนใหญ่เป็นเมนูอาหารอิตาเลียน พี่ใหญ่กับหนูเล็กเห็นพ้องต้องกันว่าเราไปสองคน สั่งพิซซ่ามาสักถาดนึง น่าจะอิ่มกำลังดีก็เลยจัดไปอย่าให้เสีย ลองมาดูหน้าตาสิ่งที่เราสั่งกันว่าได้อะไรมาค่ะ

อิ่มอร่อยกำลังดีค่ะ รสชาติอร่อยใช้ได้ค่ะ แม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่บริการดี คุณภาพสมราคา หากผ่านมาแถวนี้ ที่นี่ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ

หมดเวลา หมดแรงพอดีค่ะ ได้เวลากลับบ้านล่ะวันนี้ เป็นการใช้เวลาหนึ่งวันที่คุ้มค่าและประหยัดด้วย ไว้พาเที่ยวใหม่ค่ะ


Piyai&Noolek

 วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เวลา 11.08 น.

ความคิดเห็น